จากปีที่แล้ว ที่ Apple ได้เปิดตัวและวางจำหน่าย iPad mini ซึ่งนับเป็นผลิตภัณฑ์ไลน์ใหม่ ไม่เชิงว่าเป็นการย่อส่วน iPad ตรงๆ ซึ่งกระแสตอบรับจากตลาดจัดว่าดีมาก เนื่องด้วยจุดเด่นของมันคือขนาดที่พกพาง่าย น้ำหนักเบา แถมยังได้ประสบการณ์การใช้งานที่ไม่แตกต่างจาก iPad มากนัก (รีวิว iPad mini รุ่นแรก) มาในปีนี้ก็เป็นรุ่นที่สองของ iPad mini แล้ว โดยมาในชื่อเรียกว่า iPad mini with Retina Display หรือที่เข้าใจง่ายๆ ก็คือ iPad mini 2 ซึ่งเป็นรุ่นต่อยอดโดยการเพิ่มสิ่งที่หลายคนเรียกร้อง (และเป็นแผนของ Apple อยู่แล้ว) นั่นคือหน้าจอความละเอียดสูง Retina Display เข้ามา ในคราวนี้เราจะมาชมรีวิว iPad mini with Retina Display กันครับ ว่าการอัพเกรดของ Apple รอบนี้จะทำให้ iPad mini น่าใช้งานขึ้นขนาดไหน
ด้วยความที่รูปร่างหน้าตาของ iPad mini with Retina Display ไม่ได้แตกต่างจากรุ่นแรกมากนัก ทำให้หน้ากล่องและชื่อที่เขียนด้านข้างยังคงเป็นแบบเดิมอยู่ จึงอาจจะสังเกตความแตกต่างได้ยากซักหน่อย ถ้าเพื่อความมั่นใจ ลองพลิกมาดูด้านหลังกล่องครับ ตรงฉลากด้านล่าง ถ้าเป็นเครื่องศูนย์ไทยจะมีประโยคว่า “สิ่งที่รวมมาด้วย: iPad mini ที่มีจอแสดงผล Retina” อยู่ ส่วนถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็จะมีประโยคว่า “Includes: iPad mini with Retina Display” อยู่บนฉลาก
?สำหรับใครที่ต้องการรับชมวิดีโอ Keynote งานเปิดตัว iPad mini with Retina Display จาก Apple ก็คลิกที่ด้านล่าง แล้วเลือกไปช่วงเวลาประมาณ 1:15:00 ที่อยู่ช่วงท้ายๆ คลิปได้เลย
สเปค iPad mini with Retina Display
- ชิปประมวลผล Apple A7 Dual-core ความเร็ว 1.3 GHz รองรับ 64 บิท พร้อมชิปกราฟิก PowerVR G6430 (ชิปตัวเดียวกับ iPhone 5s)
- แรม 1 GB
- หน้าจอขนาด 7.9 นิ้ว ความละเอียด 2048 x 1536 ระดับ Retina Display เท่ากับ iPad Air แต่มีความหนาแน่นพิกเซล (PPI) สูงกว่า
- มีให้เลือก 4 ความจุได้แก่ 16, 32, 64 และ 128 GB
- ติดตั้งชิป M7 สำหรับช่วยประมวลผลด้านการเคลื่อนไหวมาให้เช่นเดียวกับ iPhone 5s และ iPad Air
- กล้องหลัง (iSight) ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล
- กล้องหน้า (FaceTime) ความละเอียด 1.2 ล้านพิกเซล
- มาพร้อม iOS 7
- แบตเตอรี่ Li-Polymer ความจุประมาณ 6400 mAh
- น้ำหนัก 331 กรัม (รุ่น WiFi) หรือ 341 กรัม (รุ่น Cellular)
- รุ่น Cellular ใช้ซิมแบบนาโนซิม รองรับซิมเดียว สามารถใช้งาน 4G LTE ในไทยได้
- ราคาเริ่มต้นที่ 13,400 บาท
- สเปค iPad mini with Retina Display WiFi
- สเปค iPad mini with Retina Display Cellular
ด้านของสเปค iPad mini with Retina Display นั้น ปีนี้ถือว่า Apple จัดเต็มมาเลยทีเดียว เพราะมันใช้สเปคที่เท่ากับ iPhone 5s และใกล้เคียงกับ iPad Air ที่เป็นผลิตภัณฑ์ไลน์สูงกว่าเลย แต่จะด้อยกว่าเรื่องความเร็วของชิปประมวลผล ซึ่งถ้าในรูปแบบการใช้งานทั่วๆ ไปคงไม่เห็นความแตกต่างมากนัก ดังนั้นปีนี้คงเป็นปีที่ลูกค้าเลือกค่อนข้างยากทีเดียวครับ ว่าจะซื้ออะไรดีระหว่าง iPad Air กับ iPad mini with Retina Display ซึ่งในรีวิวนี้จะมีฟันธงตอนท้ายด้วยว่าควรเลือกอะไรดีสำหรับสองรุ่นนี้
แกะกล่องรีวิว iPad mini with Retina Display
ที่จริงทางเราเคยมีบทความพรีวิวแกะกล่อง iPad mini with Retina Display ตั้งแต่รับจากมือ DHL มาแล้วรอบหนึ่งนะครับ ใครอยากชมก็คลิกที่นี่ได้เลย
>>?พรีวิวแกะกล่อง iPad mini with Retina Display WiFi เครื่องศูนย์ไทย สีดำ Space Grey <<
เมื่อเปิดกล่องขึ้นมา ก็จะพบกับตัวเครื่องอยู่ในห่อพลาสติกด้านบนสุดของกล่อง โดยเราสามารถดึงเครื่องขึ้นมาแบบง่ายๆ ด้วยการดึงลิ้นของซองพลาสติกที่อยู่บริเวณปุ่มโฮมขึ้นมาได้เลย ไม่ต้องไปแงะมุมหรือคว่ำกล่องลงมาให้ลำบาก
ตัวเครื่องเมื่อแกะห่อพลาสติกแล้วครับ ขนาดเกือบพอดีกล่องเลย โดยเรื่องของตัว iPad mini 2 จะพูดถึงในภายหลัง
มาดูภายในกล่องกันต่อ เมื่อยกเครื่องออกไปแล้วก็จะพบกับซอง ซึ่งภายในจะมีเอกสารคู่มือ การรับประกันและสติ๊กเกอร์โลโก้ Apple อีกสองดวงตามปกติ ส่วนด้านล่างเป็นอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ ทั้งหมดเป็นสีขาวแบบเดียวกับเนื้อกล่องเลย
พอหยิบซองเอกสารออก ก็จะเห็นสาย Lightning ซ่อนอยู่ภายในช่องที่ออกแบบมาให้พอดีๆ ทั้งนี้ สินค้าในกลุ่ม iPad จะไม่แถมหูฟังมาให้นะครับ อยากใช้งานต้องหาซื้อเพิ่มเอง หรือถ้ามีหูฟังที่ใช้แจ็คขนาด 3.5 มิลลิเมตรตามปกติอยู่แล้วก็สามารถนำมาใช้งานได้เลย
กลับมาที่เรื่องอะแดปเตอร์ชาร์จไฟกันหน่อย จากใน iPad mini รุ่นแรกของเมื่อปีก่อน ถ้าใครซื้อเครื่องศูนย์ไทย ก็จะได้อะแดปเตอร์เป็นแบบแท่งสี่เหลี่ยม มีขาปลั๊กเป็นแบบแบน 2 ขา ซึ่งสามารถจ่ายไฟมาชาร์จได้แค่ 5W เท่ากับของ iPhone แต่ใน iPad mini with Retina Display ทาง Apple ได้เปลี่ยนมาใช้เป็นอะแดปเตอร์แบบแยกเป็นสองส่วนคือส่วนตัวแปลงไฟ และส่วนหัวปลั๊ก (Duckhead) ที่มีสองขาแบน สามารถใช้งานได้กับปลั๊กได้แทบจะทุกทีในเมืองไทย และที่พิเศษไปกว่านั้นก็คือมันสามารถจ่ายไฟมาชาร์จให้ได้เป็น 10W แล้ว ซึ่งก็จะทำให้สามารถชาร์จไฟได้เร็วขึ้น เหมาะสมกับปริมาณแบตเตอรี่และความต้องการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้นของ iPad mini 2 อันเนื่องมาจากหน้าจอ Retina Display
และถ้าสังเกตดีๆ มันก็คืออะแดปเตอร์แบบเดียวกับใน iPad รุ่นเก่าๆ นั่นเองครับ (ปัจจุบัน iPad ใช้อะแดปเตอร์ 12W)
ตัวเครื่อง iPad mini with Retina Display
ด้านของบอดี้ iPad mini with Retina Display โดยเฉพาะส่วนหน้าจอจะดูไม่แตกต่างจาก iPad mini รุ่นแรกมากนัก ถ้าดูผ่านๆ อาจจะแยกรุ่นแรกกับรุ่นสองออกได้ยากซักหน่อย
ปุ่มโฮมก็ยังคงเป็นปุ่มกดธรรมดาแบบเดิม ยังไม่มีการติดตั้งเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ Touch ID มาให้อย่างใน iPhone 5s ซึ่งถ้าคาดการณ์แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่ามันน่าจะได้รับการติดตั้งมาในปีหน้า ปีของ iPad mini 3 ซึ่งคงมีการปรับเปลี่ยนหน้าตาไปจากนี้ด้วย (เดาล้วนๆ) โดยปุ่มโฮมของ iPad mini with Retina Display ก็กดไม่ยากนัก ผิวสัมผัสของปุ่มจะโค้งเว้าลงไปเล็กน้อยรับกับนิ้วได้ดี ใครที่ใช้งานสลับกันกับ iPhone 5s คงรู้สึกถึงความแตกต่างได้ชัดเจนครับ เพราะปุ่มโฮมของ iPhone 5s จะเป็นแบบแบนราบเสมอกัน
ส่วนตัวผมที่ได้รีวิว iPhone 5s ไปก่อนหน้านี้ พอมารีวิว iPad mini with Retina Display รวมถึงรีวิว iPad Air ด้วย รู้สึกคิดถึงปุ่มแบบ Touch ID เพราะมันช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานได้จริงๆ
ด้านบนสุดก็จะมีกล้องหน้า (FaceTime) ติดตั้งอยู่ เยื้องไปทางซ้ายของกล้องก็จะมีเซ็นเซอร์วัดแสงติดตั้งอยู่
ส่วนที่เห็นว่ามีวงกลมล้อมรอบกล้องหน้าอยู่ อันนั้นเป็นช่องว่างของฟิล์มกันกระแทก Focus Antishock ที่ติดป้องกันหน้าจอไว้นั่นเองครับ ซึ่งตัวฟิล์มจะเว้นช่องไว้ให้สำหรับกล้องหน้าและปุ่มโฮมโดยเฉพาะ และเนื้อฟิล์มมีความใส ไม่ลดทอนสีของจออีกด้วย
>> รีวิวฟิล์มกันกระแทก Focus Anti-shock <<
หน้าจอ iPad mini with Retina Display
ส่วนของหน้าจอ เป็นจุดที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดของ iPad mini with Retina Display เลยทีเดียว โดยในช่วงแรกๆ มีหลายคนตั้งตารอมันมาก เนื่องจากความละเอียดหน้าจอที่เท่ากับ iPad Air แต่เนื่องด้วยขนาดหน้าจอที่เล็กกว่า จึงทำให้ความหนาแน่นของเม็ดพิกเซล (PPI) สูงกว่า iPad Air ซึ่งก็จะทำให้ภาพดูสวย เนียนตากว่ามากๆ จึงมีคนตั้งตารอชมว่าภาพบนจอ iPad mini with Retina Display จะสวยขนาดไหน
ซึ่งจากที่ใช้งานมา ก็พบว่าหน้าจอของ iPad mini with Retina Display ให้ภาพที่สวยงาม เนียนตาดีมากๆ เทียบความแตกต่างกับ iPad mini รุ่นแรกแล้วก็จะเห็นความแตกต่างแบบชัดเจนว่า iPad mini 2 จอสวย ภาพละเอียดเนียนตากว่าจริงๆ สีสันต่างๆ ก็จัดว่าออกมาดีกว่าแท็บเล็ตทั่วๆ ไปตามมาตรฐานของ Apple แต่ถ้าเทียบกับ iPad Air อันนี้คงต้องบอกว่าไม่เห็นความแตกต่างมากนัก มันก็เนียนตาพอๆ กัน ต้องเอามาจ้องแบบจับผิดใกล้ๆ นั่นล่ะครับ ถึงจะแยกความแตกต่างได้ว่าเม็ดพิกเซลของ iPad mini with Retina Display มีขนาดเล็กกว่า แต่ถ้าในการใช้งานจริงทั่วไป คงไม่เห็นความแตกต่าง เพราะมันจัดว่าละเอียดมากทั้งคู่อยู่แล้ว
ด้านความกว้างของมุมมองภาพ จอ iPad mini with Retina Display ยังทำออกมาได้ดี คือมีมุมมองที่กว้าง สามารถมองจากด้านข้างได้โดยที่สีไม่ผิดเพี้ยนไปมากนัก เรื่องความสว่างจอก็ทำออกมาได้ดี สามารถเร่งได้สว่างมากในที่ร่ม และเพียงพอต่อการใช้งานกลางแจ้งครับ แต่ถ้าไปเจอแดดส่องตรงๆ ก็ลำบากอยู่เหมือนกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตส่วนใหญ่ในท้องตลาด อย่างในการถ่ายรูปรีวิว iPad mini 2 ครั้งนี้ในร้านกาแฟ โดยนั่งอยู่ริมกระจกที่มีแสงส่องจากภายนอก ก็สามารถใช้งานได้สบายมากๆ ระบบปรับแสงสว่างอัตโนมัติทำหน้าที่ได้ดี
ส่วนเรื่องสีสัน จะมีการเปรียบเทียบกับจอ iPad Air โดยขอยกไปส่วนหลังนะครับ เพราะมีรูปเยอะมาก ตอนนี้ดูแต่เรื่องตัวเครื่องกันก่อน
บริเวณขอบมุมของเครื่องก็จะใช้การเจียให้เป็นขอบตัดมันวาวในลักษณะเดียวกับที่เราเห็นใน iPad mini รุ่นแรก ช่วยเพิ่มความสวยงาม ความหรูหราให้กับตัวเครื่องได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเวลาที่มันสะท้อนแสงออกมา
ฝาหลัง iPad mini with Retina Display ก็ยังคงใช้เป็นรูปทรงเดิมครับ นั่นคือเป็นแผ่นแบนราบ ตรงขอบทั้งสี่ด้านมนรับกับมือเวลาจับเครื่องเป็นอย่างดี ซึ่งดีไซน์นี้ก็ถูกนำไปปรับใช้กับใน iPad Air ด้วย
แต่สิ่งที่ปรับเปลี่ยนไปในฝาหลัง iPad mini 2 ก็คือโทนสี ซึ่งเปลี่ยนไปเป็นสีเทา Space Grey เช่นเดียวกับ iPhone 5s และ iPad Air แทนที่สีดำอมน้ำเงินที่เปิดตัวมาครั้งแรกในปีที่แล้ว (และก็หายไปเลยในปีนี้) ซึ่งโทนสีใหม่นี้ทำให้ตัวเครื่องดูสว่าง ดูหรูหราขึ้นกว่าสีดำแบบเดิมมากๆ ทั้งยังให้เนื้อสัมผัสของพื้นผิวที่เรียบเนียนกว่าด้วย ก็คงจะเนื่องมาจาก Apple ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพดีขึ้น หลังจากได้รับเสียงบ่นมามากในปีที่ผ่านมาทั้งปี ส่วนถ้าเป็นเครื่องสีขาว ก็ยังคงเป็นแบบเดิมอยู่ครับ คือฝาหลังสีเงินตามปกติ สำหรับใครที่สงสัยว่าใช้งานไป สีจะลอกแบบ iPad mini และ iPhone 5 มั้ย อันนี้ก็ยังตอบไม่ได้ครับ คงต้องใชระยะเวลาอีกซักพัก แต่เท่าที่ผมใช้งานระหว่างรีวิว iPad mini 2 แบบไม่ใส่เคสมาระยะหนึ่ง ก็ยังไม่มีจุดไหนเป็นรอยถลอกหรือลอกร่อนเลย
ส่วนบนของฝาหลังจะมีจุดช่วยสังเกตเพื่อแยกความแตกต่างระหว่าง iPad mini 2 กับ iPad mini รุ่นแรกอยู่ นั่นก็คือช่องรับเสียงของไมโครโฟนด้านหลังที่ใช้ในการรับเสียงเมื่อถ่ายวิดีโอ โดยจะมีด้วยกันสองช่อง ส่วน iPad mini รุ่นแรกจะมีช่องเดียวที่อยู่ด้านบนเท่านั้น ทำให้เคส iPad mini รุ่นแรกอาจจะทำให้ใช้งาน iPad mini 2 ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพนะครับ เนื่องจากเนื้อเคสจะไปปิดช่องรับเสียงด้านหลัง ทางที่ดีก็คงต้องซื้อเคสใหม่ หรือจะเจาะช่องให้เคสเก่าก็ยังได้ ส่วนใครที่คิดว่าคงไม่ได้ใช้ประโยชน์จากไมค์ด้านหลัง จะใช้เคส iPad mini รุ่นแรกก็ได้
ริมๆ ก็เป็นตำแหน่งของช่องเสียบแจ็คหูฟังที่ยังคงไว้จุดเดิม เมื่อเสียบแจ็คหูฟังเข้าไปแล้ว จะมีส่วนที่เป็นโลหะเกินมาจากขอบเครื่องเล็กน้อยนะครับ แต่ไม่มีปัญหาอะไรแน่นอน ขอแค่เสียบลงไปให้สุด แค่นั้นก็ใช้งานได้สบายๆ แล้ว
ส่วนโมดูลกล้องจะราบเรียบไปกับแผ่นฝาหลังเลย มีขอบโลหะตัดเป็นวงกลมช่วยแยกชิ้นออกมาจากฝาหลังด้วย
ดูด้านข้างของเครื่องกันบ้างครับ ริมซ้ายสุดในรูป (ด้านขวาเวลาหันจอเข้าตัว) ก็คือปุ่ม Power ตามปกติ
ส่วนด้านล่างจะมีพอร์ต Lightning อยู่ตรงกลาง ขนาบข้างด้วยลำโพงทั้งสองจุด ให้เสียงแบบสเตอริโอ ซึ่งจากเท่าที่ลองฟังมา ส่วนตัวผมว่ามันให้เสียงที่ค่อนข้างอับแน่นไปหน่อยเมื่อเทียบกับ iPad mini รุ่นแรก โทนเสียงที่ออกมาก็เน้นที่โทนเสียงร้อง เสียงกลางตามปกติของลำโพงมือถือ แท็บเล็ต ตำแหน่งการวางลำโพงจัดว่าออกแบบมาให้เหมาะกับการฟังเพลงในขณะที่ถือเครื่องในแนวตั้งมากกว่าครับ เพราะถ้าถือเครื่องในแนวนอนทั้งสองมือ อุ้งมือจะเข้ามาบังช่องลำโพงแน่นอน อาจจะให้อรรถรสในการเล่นเกมได้ไม่ดีนัก ซึ่งก็เป็นปัญหาที่ผู้ใช้ iPhone พบเจอกันมาอยู่แล้วบ้างแน่ๆ
ส่วนฝั่งขวาของเครื่อง (หันหน้าจอเข้าหัาตัว) จะเป็นด้านที่รวมปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง และสวิตช์สลับโหมดการทำงานเอาไว้อยู่ ซึ่งใน iPad จะสามารถตั้งค่าสวิตช์ได้ว่าจะให้ทำหน้าที่อะไร ระหว่างสลับกันระหว่างเปิด/ปิดเสียง หรือสลับกันระหว่างการเปิด/ปิดโหมดหมุนหน้าจอตามลักษณะการถือเครื่อง
ในด้านของตัวปุ่มที่รวมไปถึงปุ่ม Power และสวิตช์นั้น เครื่องที่ผมซื้อมาและใช้รีวิวดูเหมือนว่าปุ่มมันจะไม่ค่อยแน่นเท่าไหร่ครับ เวลาเขย่าแล้วมีเสียงก๊อกแก๊ก ส่วนเวลาจับที่ปุ่มก็พบว่าสามารถโยกได้เล็กน้อย รู้สึกว่ามันไม่ค่อยแน่นหนาเหมือนรุ่นแรกเลย
เปรียบเทียบ iPad mini with Retina Display กับ iPad Air
เปรียบเทียบขนาดระหว่าง iPad mini 2 (จอ 7.9 นิ้ว) กับ iPad Air (จอ 9.7 นิ้ว) ดูครับ ถ้ามองที่หน้าจอก็จะเห็นว่ามันมีขนาดต่างกันมาก ทำให้จุดนี้ iPad Air ดูน่าใช้งานกว่า เนื่องจากหน้าจอมีขนาดใหญ่ ใช้งานได้สะดวกสบายตามากกว่า iPad mini with Retina Display แถมน้ำหนักและรูปร่าง iPad Air ยังทำออกมาได้บางเบา พกพาง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนด้วย
ลองเทียบความหนาระหว่าง iPad mini with Retina Display กับ iPod Classic 120 GB แบบคร่าวๆ ดูครับ ถ้าดูภาพตัดขวางจริงๆ พบกว่า iPad mini 2 บางกว่า iPod Classic ราวครึ่งต่อครึ่งเลย
เทียบขนาด iPad mini with Retina Display กับ Nexus 5
ทีนี้ก็จับมาเทียบกับ Nexus 5 ที่ใช้งานอยู่บ้าง พบว่า Nexus 5 ยังหนากว่าเล็กน้อย ส่วนเรื่องของขนาดเครื่อง ถ้าประมาณคร่าวๆ Nexus 5 สามเครื่องน่าจะมีขนาดพอๆ กับ iPad mini with Retina Display พอดีๆ
เทียบสี iPad mini 2 กับ MacBook
เมื่อลองเทียบโทนสีของ iPad mini with Retina Display กับ MacBook รุ่นอะลูมิเนียม ยูนิบอดี้ พบว่าสีของฝาหลัง iPad mini 2 จะดูทึมๆ และออกโทนสีแดงกว่าพอสมควร
กล้องหลัง iPad mini with Retina Display
ด้านของกล้องหลัง iPad เท่าที่ผ่านๆ มานั้น ก็จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่พอไปวัดไปวา คือใช้ถ่ายรูปได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ถึงระดับสมาร์ทโฟนรุ่นท็อปหลายๆ รุ่น ไม่ว่าจะในแง่ของความละเอียดเชิงปริมาณ และด้านเชิงคุณภาพ ซึ่งตัวของ iPad mini with Retina Display ก็ไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนักครับ อยู่ในระดับที่ถ่ายเก็บภาพได้ แต่อาจจะตอบสนองต่อสภาพแสง และระบบการปรับชดเชยต่างๆ ไม่ดีถึงระดับ iPhone 5s
ตัวอย่างภาพถ่ายจาก iPad mini with Retina Display
เปรียบเทียบหน้าจอ iPad mini with Retina Display กับ iPad Air
มาถึงส่วนที่หลายๆ ท่านคงอยากทราบกันแล้วนะครับ นั่นคือหน้าจอ iPad mini with Retina Display มันสีเพี้ยน คุณภาพแย่กว่า iPad Air จริงหรือ? ทางเราก็เลยจัดการถ่ายภาพหน้าจอของทั้งสองเครื่องเทียบกันให้เห็นในรีวิวนี้ไปเลย โดยเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ และชัดเจน ไม่ต้องมาพูดกันถึงเรื่องทฤษฎีสีแต่อย่างใด ใช้ตามองให้เห็นความแตกต่างกันเลยครับ ง่ายสุดแล้ว
ภาพชุดนี้เป็นการถ่ายภาพในห้องมืด ทั้งสองเครื่องเปิดความสว่างในระดับเดียวกัน (ปรับอัตโนมัติ) โดยหน้าจอของ iPad Air (จอขวา) เป็นจอที่ให้สีสันได้ตรงกับความเป็นจริงในระดับที่ใช้สายตาเปล่าจำแนกได้ เทียบกับจอ iPad mini 2 (จอซ้าย)
จาก 4 ภาพด้านบน จะเห็นว่าจอของ iPad mini 2 (ซ้าย) ให้โทนสีที่ออกเหลืองกว่าอย่างชัดเจน โดยเฉพาะภาพสุดท้ายที่สีของทุ่งหญ้าแตกต่างจากในจอ iPad Air มากๆ เรียกว่าเป็นสีเหลืองแทนที่จะเป็นสีเขียวเลยก็ว่าได้ โทนสีของท้องฟ้าก็ดูกลืนๆ กันไปหมด ต่างจากใน iPad Air ที่สามารถแยกสีระหว่างท้องฟ้ากับเมฆได้ง่ายกว่า
ภาพด้านล่างนี้ iPad Air อยู่ทางซ้ายและ iPad mini with Retina Display อยู่ทางขวา เปิดภาพที่อัตราส่วน 16:9 จึงมีขอบดำ
5 ภาพนี้ก็ให้ผลใกล้เคียงกันครับ คือจอ iPad mini 2 ให้สีที่ติดโทนเหลืองมากกว่า iPad Air ทั้งยังมีความหลากหลายของสีที่น้อยกว่าอยู่นิดหน่อย ซึ่งถ้ามองด้วยตาเปล่าจะสังเกตเห็นได้ง่ายกว่ามองจากภาพถ่ายครับ
รวมๆ แล้ว เรื่องที่จอ iPad mini with Retina Display ให้สีสันที่ไม่ดีเท่าจอ iPad Air ก็เป็นเรื่องจริงครับ จากเท่าที่สังเกตได้ด้วยตาเปล่า ถ้าสำหรับใครที่จำเป็นต้องใช้สีสันของจอที่เที่ยงตรงก็อาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ถ้าคิดว่าการใช้เป็นรูปแบบทั่วๆ ไป อ่าน e-book?เล่นโซเชียล เล่นเกม ดูหนังแบบเพลินๆ ตรงจุดนี้ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาเท่าไรนัก ประกอบกับนิยามของคำว่า Retina Display ก็กล่าวถึงแค่เรื่องของความละเอียดที่มากพอจะทำให้ไม่สามารถมองเห็นเม็ดพิกเซลด้วยตาเปล่าเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงคุณภาพการแสดงผลของสี สำหรับใครที่จำเป็นต้องใช้ iPad แบบเน้นเรื่องสีจอให้สีสันตรงกับความเป็นจริง หรือจริงจังเรื่องการแสดงภาพบนจอ แนะนำว่าซื้อ iPad Air จะดีกว่า
iOS 7 บน iPad mini with Retina Display
ส่วนของระบบปฏิบัติการที่ติดตั้งมาใน iPad mini with Retina Display จะเป็น iOS 7.0.3 ซึ่งสามารถอัพเดตเป็น iOS 7.0.4 ได้ในทันทีหลังเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตและมีแบตเตอรี่มากกว่า 50% มาพร้อมกับเนื้อที่เหลือให้ใช้งาน 12.9 GB จาก 16 GB ตามสเปค ซึ่งการแสดงผลต่างๆ ก็ไม่ได้ต่างไปจาก iPad Air ครับ แค่สเกลขนาดลงมาให้เล็กลงตามขนาดหน้าจอเท่านั้นเอง ยังอยู่ในระดับที่สามารถแตะเลือกได้สบายๆ ใครที่เคยใช้งาน iPad mini รุ่นแรกมาก่อนก็ใช้งานได้สบายๆ อาการหน่วง อาการกระตุกก็ยังพอมีให้เห็นอยู่บ้างเล็กน้อย โดยผมลองเอาเครื่องให้เพื่อนที่ใช้งาน iPad mini รุ่นแรกบน iOS 7 และไม่เคยจับ iPad mini 2 ลองใช้งานดู แล้วถามว่าเป็นยังไงบ้าง คำตอบก็คือระบบมันดูเร็วขึ้น (ชิปประมวลผลต่างรุ่นกันเป็นปีๆ) จอละเอียดขึ้นจริง ส่วนน้ำหนักและการจับถือไม่แตกต่างจากเดิมนัก แต่รวมๆ แล้วมันบอกว่าคงไม่ซื้อครับ เพราะเครื่องเก่าก็ยังตอบสนองการใช้งานส่วนตัวได้อยู่ นั่นคือการอ่าน e-book เล่นโซเชียลเน็ตเวิร์คและการดู YouTube ก่อนนอน
ส่วนในภาพนั้น ผมลองอัพเดตเป็น iOS 7.1 beta ที่ยังเป็นเวอร์ชันทดสอบอยู่เข้าไปครับ ซึ่งก็สามารถใช้งานได้ค่อนข้างปกติ มีบั๊กอยู่บ้างตามประสาซอฟต์แวร์เวอร์ชันทดสอบที่ยังไม่เปิดให้ใช้งานอย่างเป็นทางการจริงๆ เช่นอยู่ดีๆ แอพก็ปิดตัวไปเอง เท่าที่ใช้มามีอาการเครื่อง restart ตัวเองไปหนึ่งรอบด้วย แม้ว่าเรื่องประสิทธิภาพบางอย่างจะเร็วขึ้น เช่นการเปิดหน้าเว็บไซต์ที่เป็นภาษาไทย (แต่ปัญหาอาการดีเลย์ตอนสลับภาษาคีย์บอร์ดก็ยังมีอยู่) ดังนั้นถ้าไม่ได้จำเป็นต้องทดสอบอะไร ก็ใช้งาน iOS 7.0.4 ไปก่อนจะดีกว่าครับ
ผลทดสอบประสิทธิภาพ iPad mini 2
ส่วนของคะแนนการทดสอบประสิทธิภาพนั้น iPad mini 2 สามารถทำได้อยู่ในระดับบนๆ ของอุปกรณ์ในปัจจุบันอยู่เหมือนกันครับ ตามนี้
- SunSpider ใช้เวลา 401.6 ms ในขณะที่ iPad Air ใช้เวลา 378.8 ms (ยิ่งน้อยยิ่งดี)
- BrowserMark ได้คะแนน 3,648 คะแนน ส่วน iPad Air ทำได้ 3,809 คะแนน (ยิ่งมากยิ่งดี)
- GFXBench 2.5 Onscreen ทำเฟรมเรตได้ 48 fps ส่วน iPad Air ทำได้เฉลี่ย 48.8 fps (ยิ่งมากยิ่งดี)
- GFXBench 2.5 Offscreen ทำเฟรมเรตได้ 63 fps ส่วน iPad Air ทำได้เฉลี่ย 63 fps (ยิ่งมากยิ่งดี)
- GeekBench 3 ทำคะแนนได้ 1,391 (single-core) และ 2,509 คะแนน (multi-core) ในขณะที่ iPad Air ทำได้ 1,479 และ 2,688 คะแนนตามลำดับ (ยิ่งมากยิ่งดี)
- 3DMark (Unlimited) ทำคะแนนได้ 14,488 คะแนน ส่วน iPad Air ทำได้ 14,832 คะแนน (ยิ่งมากยิ่งดี)
ถ้าพิจารณาจากคะแนนผลการทดสอบต่างๆ แล้ว พบว่า iPad Air จะมีคะแนนประสิทธิภาพด้านการคำนวณ การประมวลผลโดยรวมที่เหนือกว่า iPad mini 2 เนื่องมาจากชิปประมวลผล (CPU) มีความเร็วสูงกว่าเล็กน้อย ซึ่งจะเห็นผลต่อเมื่อเปิดใช้งานหลายๆ แอพ หรือแอพมีการใช้งานการประมวลผลที่ค่อนข้างหนัก แต่สำหรับแอพธรรมดาทั่วไปจะไม่แตกต่างกันมากนัก
ส่วนด้านของกราฟิก จากการทดสอบด้วย GFXBench และ 3DMark ผลที่ออกมาจัดว่าไม่แตกต่างกันมากนัก เนื่องจากชิปกราฟิกที่ใช้เป็นตัวเดียวกัน แถมความละเอียดจอก็ยังเท่ากันอีกด้วยครับ ดังนั้นเรื่องการเล่นเกมก็จะไม่แตกต่างกันมากนักระหว่าง iPad Air กับ iPad mini with Retina Display อยู่ที่ว่าผู้ใช้อยากเล่นเกมบนจอใหญ่ๆ หรือเล่นบนจอเล็กแต่พกพาได้สะดวกมากกว่ากัน
ด้านของระบบ 64 บิท ในขณะนี้อาจจะยังไม่เป็นที่เห็นความแตกต่างได้ชัดครับ เนื่องด้วยปัจจัยหลักที่จะทำให้การทำงานแบบ 64 บิททำได้สมบูรณ์ก็คือแอพพลิเคชันต้องออกแบบมาให้รองรับการประมวลผลแบบ 64 บิทด้วย จึงจะสามารถดึงพลังออกมาได้เต็มที่ แถมแรมในเครื่องยังมีแค่ 1 GB อีก ก็อาจจะต้องรอกันอีกซักหน่อย จึงจะเห็นความแตกต่างระหว่าง 64 บิทกับ 32 บิทที่ใช้ในปัจจุบันได้อย่างเห็นได้ชัด (ตอนนี้ก็ยังใช้งานทุกแอพได้ตามปกตินะครับ)
ในระหว่างการใช้งานจริง ถ้าใช้งานที่มีการประมวลผลหนักๆ หน่อย เช่นการเล่นเกมกราฟิกสวยๆ ตัวเครื่องฝั่งขวา (ถือเครื่องในแนวตั้ง หันหน้าจอเข้าหาตัว) จะมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นมาเล็กน้อย ทำให้อุ่นมือในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากตำแหน่งดังกล่าวมีกลุ่มของเหล่าชิปประมวลผลต่างๆ อยู่นั่นเอง
อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือชิปประมวลผล M7 ที่ติดตั้งมาเพื่อจัดการประมวลผลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว (motion) ต่างๆ ของผู้ใช้ เช่นการจับก้าวเดิน ซึ่งมาลดภาระการทำงานของชิปประมวลผลหลักอย่าง A7 ลง ซึ่งในตัว iPad mini with Retina Display ก็มีติดตั้งมาให้ใช้งานด้วยเช่นกัน จากเท่าที่ลองดาวน์โหลดแอพที่เรียกใช้งานชิป M7 บน iPhone 5s ได้มาลองดู ปรากฏว่ามีแต่แอพ Runtastic Pro ที่สามารถเรียกใช้งานได้เท่านั้น ส่วนแอพอื่นๆ จะมีเตือนว่าไม่สามารถเรียกใช้งานชิป M7 ได้ ก็คงต้องรอให้มีการปรับปรุงและส่งแอพพลิเคชันในลักษณะนี้สำหรับ iPad โดยตรงออกมาก่อน ถึงจะเรียกใช้งานได้เต็มที่ครับ
ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่
เนื่องด้วยการขยับมาใช้จอความละเอียดสูงระดับ Retina Display พร้อมๆ กับการอัพเกรดสเปคให้แรงขึ้น ทำให้ iPad mini with Retina Display จำเป็นต้องเพิ่มความจุแบตเตอรี่เพื่อให้สอดคล้องกับระดับการใช้พลังงานของเครื่อง และเพื่อให้สามารถใช้งานได้ยาวนานโดยไม่ต้องชาร์จแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นจุดเด่นของ iPad อยู่แล้วในด้านระยะเวลาการใช้งานได้ยาวนาน
ซึ่งจากการรีวิว iPad mini with Retina Display ก็พบว่าความรู้สึกเรื่องระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ไม่ได้แตกต่างไปจากตอนใช้ iPad mini รุ่นแรกเลยครับ จากรูปแบบการใช้งานเป็นช่วงๆ ช่วงละไม่นานมากนัก กับใช้งานทั่วไปเช่น Facebook, Twitter, เล่นเกมบ้าง, อ่าน e-book และเปิดหน้าเว็บไซต์ทั้งจาก Chrome และ Safari ผ่าน WiFi ก็สามารถใช้งานได้หลายวันอยู่ เรียกว่าการใช้งานและการชาร์จไฟแทบไม่ต่างจากเดิมเลยก็ว่าได้
สรุปรีวิว iPad mini with Retina Display
ปิดท้ายการรีวิว iPad mini 2 ด้วยการสรุปซักเล็กน้อยนะครับ สำหรับใครที่อยากรู้ว่า iPad mini with Retina Display มันดียังไงก็ตามนี้
ข้อดี
- จอคมชัด ภาพเนียนตาในระดับ Retina Display มุมมองจอค่อนข้างกว้าง
- การทำงานเร็วขึ้น แรงขึ้นตามสเปคที่อัพเกรดจากรุ่นแรก
- ใช้งานแบตเตอรี่ได้นาน
- ตัวเครื่องบางเบา พกพาได้สะดวก ขนาดหน้าจอกำลังพอดีกับการใช้งานทั่วไป
- สีเทาเฉดใหม่ทำให้ตัวเครื่องดูสวยงาม และน่าจะไม่ลอกแบบเดียวกับสีดำของรุ่นแรก
ข้อสังเกต
- คุณภาพของหน้าจอต่ำกว่า iPad Air เล็กน้อย (เมื่อสังเกตด้วยตาเปล่า)
- ราคาสูงขึ้นกว่ารุ่นเก่าเป็นหลักพัน
- iOS 7 ยังมีปัญหาอยู่ หวังว่าจะได้รับการแก้ไขโดยเร็ว
จะซื้อ iPad Air หรือ iPad mini with Retina Display ดี ?
หลังจากชมรีวิว iPad mini 2 แล้ว ส่วนตัวผมก็ขอสรุปเลือกการเลือกซื้อ iPad ประจำปีนี้-ปีหน้าได้ดังนี้ครับ
- เลือก iPad Air ถ้าหากต้องการใช้งานจอใหญ่ๆ จอสวย ใช้งานได้สบายตา ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องการเก็บเครื่องและการหยิบมาใช้งาน ก็จัดไปได้เลย เนื่องจากน้ำหนักเบาลงกว่ารุ่นเก่ามากๆ ถ้าใช้งานติดต่อกันนานๆ ก็ยังมีอาการเมื่อยอยู่บ้าง แต่เมื่อยช้าลงกว่าเดิม
- เลือก iPad mini 2 ถ้าหากต้องการเน้นเรื่องการพกพา หยิบง่าย เก็บคล่อง กับประสบการณ์การใช้งานที่แตกต่างจาก iPad Air คือเรื่องขนาดจอ ซึ่งอาจจะดูเล็กไปหน่อย เหมาะกับการใช้อ่าน e-book หรือใช้งานติดต่อกันนานๆ สามารถใช้งานมือเดียวได้สบาย
แต่ถ้างบเหลือ อยากใช้งานไปนานๆ ส่วนตัวแนะนำว่าซื้อ iPad Air ไปเลยดีกว่าครับ จอใหญ่ สบายตากว่าเห็นๆ ความยากง่ายในการพกไม่ได้แตกต่างจาก iPad mini เท่าไหร่เลย
ใช้ iPad mini รุ่นแรกอยู่ จะเปลี่ยนมาใช้รุ่น Retina ดีมั้ย ?
ถ้าคิดว่า iPad mini รุ่นแรกยังตอบสนองการใช้งานของเราได้ดีอยู่ ก็ยังไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้รุ่นใหม่ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ายังโอเคกับหน้าจอความละเอียดแบบเดิมอยู่ เพราะถ้าหากเปลี่ยนมาใช้งานระดับ Retina Display แล้ว อาจจะจะติดใจจนติดตาไปเลยก็ได้ (ฮา)
ในด้านสเปค รุ่น Retina มันแรงกว่าก็จริง แต่ตัวที่เป็นปัญหาก็คือ iOS 7 ซึ่งก็เป็นปัญหาด้วยกันหมด แนะนำว่ารอการอัพเดตเวอร์ชันใหม่จากทาง Apple ก่อนจะดีกว่าครับ เผื่ออัพเดตมาแล้วเครื่องกลับมาลื่นเหมือนตอน iOS 6 ซึ่งถ้าทำได้จริงก็แทบจะเหมือนซื้อเครื่องใหม่กันแน่นอน
ปิดท้ายด้วยประเด็นเรื่องราคา เนื่องจาก iPad mini with Retina Display เปิดมาในราคาที่สูงขึ้นกว่ารุ่นเก่าร่วมสองพันกว่าบาท จึงอาจจะทำให้แผนการอัพเกรดรุ่น iPad mini ของหลายๆ ท่านชะลอออกไป ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่าถ้าไม่มีความจำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็รอไปก่อนก็ได้ครับ ไม่ได้ใช้ iPad mini Retina ก็ไม่ได้หมายความว่าพลาดอะไรไปแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเครื่องเก่ายังใช้งานได้ดีอยู่