สาย USB On-To-GO หรือที่คนนิยมเรียกกันว่าสาย OTG เป็นสายที่หลายๆ คนที่ใช้มือถือระบบ Android รู้จักกันดี รวมไปถึงของระบบ iOS เองในตอนนี้ ก็มีสาย USB OTG ออกมาให้ใช้งานกันบ้างแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีหลายคนที่รู้จักอยู่แล้วก็ตาม แต่ก็มีอีกหลายคน ที่ยังไม่ได้เคยได้ยิน และยังไม่รู้ว่าสาย USB OTG คืออะไร และเอามาใช้งานเพื่ออะไรได้บ้าง รวมไปถึงการเช็คว่ารุ่นไหนสามารถใช้งานได้บ้าง และใช้ทำอะไร
สำหรับคนที่ไม่รู้ หรือไม่เคยได้ยินมาก่อนว่าสาย OTG คืออะไร วันนี้ทาง Specphone จะมาบอกเรื่องของสาย USB On-To-GO หรือ OTG ให้ได้รู้กันแบบคร่าวๆ ว่าสาย OTG คืออะไร และเข้าใจการทำงานเบื้องต้นของสาย OTG ซึ่งจะไม่ได้ลงรายละเอียดลึกมากให้อ่านยากจนเกินไป แต่ก่อนจะไปทำความรู้จักกับเจ้าสายนี้ เราจะมาพูดถึงปัญหาของการใช้มือถือ กับการเชื่อมต่อข้อมูลกันก่อนเล็กน้อย ยกตัวอย่างในกรณีที่เรามีอุปกรณ์ ที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับช่อง USB เพื่อเสียเข้ากับคอมฯ ได้โดยตรง และส่งข้อมูลกันได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าอยากส่งข้อมูลจากอุปกรณ์เหล่านั้นโดยตรงผ่านมือถือเลยล่ะ? ในเมื่อคอมฯ เชื่อมต่อได้ มือถือที่ใช้งานอยู่ก็ต้องเชื่อมต่อได้เช่นกัน สาย OTG จึงเกิดขึ้นมา เพื่อให้เราได้เชื่อมต่อส่งข้อมูลกับอุปกรณ์เหล่านั้น ได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
สาย OTG คืออะไร
มาเริ่มกันเลยดีกว่า สาย USB On-To-Go หรือ USB OTG คือสายที่หลายคนอาจจะเคยเห็นกันอยู่แล้ว แต่อาจจะไม่รู้ว่ามันเรียกอะไรกันแน่ บางคนก็เรียกสายต่อ เข้ากับมือถือนู่นนี่นั่น แล้วแต่ว่าอยากจะเชื่อมต่อกับอะไร ซึ่งสาย OTG นั้น ได้ออกแบบมาเพื่อให้เราได้ใช้งาน ผ่านการเชื่อมต่อมือถือเข้ากับอุปกรณ์ต่างๆ อย่างเช่น Mouse, Keyboard, Flash Drive, Card Reader ฯลฯ และในด้านที่เสียบเข้ากับมือถือ จะเรียกกันว่าเป็น Host ส่วนสิ่งที่จะนำเข้ามาต่ออีกด้านนั้น จะเรียกว่าเป็น Client (บางคนเรียก Slave) ก็จะคล้ายๆ กับที่เราเอา Flash Drive ต่อเข้ากับคอมฯ แล้วคอมฯ จะมีหน้าที่เป็น Host และ Flash Drive จะเป็น Client นั่นเอง
ความแตกต่างของสาย OTG และสาย USB ทั่วไปนั้น จะมีความต่างกันคนละแบบไปเลย เนื่องจากสาย OTG นั้นจะมีการแบ่งการทำงานของ Host และ Client ชัดเจน จึงทำให้ตัวที่เป็น Host หรือมือถือนั้น จำเป็นต้องจ่ายไฟไปสู่ Client ด้วย หลายครั้งจึงอาจทำให้แบตลดค่อนข้างไว หากเชื่อมต่อเอาไว้นานๆ ก็อาจทำให้แบตหมดได้เลยทีเดียว โดยเฉพาะตัว Client ที่กินกำลังไฟสูงมากๆ วิธีแก้ก็คือต้องซื้อตัวจ่ายไฟแยก เพื่อให้สามารถเชื่อมเข้าหากัน และมีตัวคอยเลี้ยงไฟเอาไว้ไม่ให้แบตในมือถือหมดไว ซึ่งในตอนนี้ ก็ไม่ได้หาซื้อยากเหมือนสมัยก่อนแล้ว หรืออีกวิธีก็คือการชาร์จแบตผ่าน Wireless Charging ก็สามารถชาร์จไปด้วย และเชื่อมต่อ OTG ไปด้วยได้ ส่วนมือถือบางรุ่นนั้น ก็จะมีช่องให้ชาร์จด้านข้างได้ด้วย อย่างพวกตระกูลมือถือเล่นเกมทั้งหลาย ก็สามารถทำได้เช่นกัน
อีกเรื่องที่หลายคนสงสัยคือ แล้วถ้าเอาสาย OTG นี้ ต่อมือถือเข้ากับหน้าจอ TV แล้วดูหน้าจอใหญ่จะทำได้หรือไม่ คำตอบคือมันเป็นคนละแบบกันนะ อันนั้นจะเป็นอีกแบบนึงที่สามารถต่อเข้ากับหัว HDMI ได้ และจะเรียกกันว่า MHL หรือ Mobile High-Definition Link และในบางรุ่นก็ไม่สามารถเชื่อมต่อกับ MHL ได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าทั้งสองตัวนี้ จะสามารถเชื่อมต่อได้เหมือนกัน แต่การทำงานนั้นจะแตกต่างกันเยอะเลยนะ อย่าสับสนหรือไปซื้อของแล้วบอกชื่อผิด เดี๋ยวจะใช้ไม่ได้ตามที่คิดไว้
วิธีเช็คมือถือที่ใช้สาย OTG ได้
ในมือถือรุ่นใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น Android หรือว่า iOS ในระดับเรือธงนั้น ส่วนใหญ่จะมีฟังก์ชัน ที่สามารถเชื่อมต่อกับสาย OTG ได้อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายรุ่น ที่ยังไม่ได้รองรับการเชื่อมต่อนี้ ซึ่งวิธเช็คว่าเครื่องที่ใช้งานอยู่นั้น สามารถเชื่อมต่อสาย OTG ได้หรือไม่ จะมีวิธีเช็คอยู่ 2 แบบ นั่นก็คือการเช็คด้วย Software (แอปฯ) และการเช็คด้วย Hardware มีวิธีการเช็ตได้ดังนี้
เช็คด้วย Software (แอปพลิเคชัน)
วิธีนี้จะบอกว่าง่ายก็ได้อยู่เหมือนกัน เพราะเพียงแค่โหลดแอปฯ มาก็สามารถเช็คได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องซื้อสายมาทดลองเสียบก่อน โดยแอปฯ ที่สามารถเช็คได้ดีในตอนนี้จะมีอยู่หนึ่งแอปฯ ที่คนนิยมใช้กันค่อนข้างหลากหลาย นั่นก็คือ USB OTG Checker (กดดาวน์โหลด นี่ที่) เมื่อกดติดตั้งเรียบร้อยแล้ว ก็ให้กดเข้าไปในแอปฯ และเช็คข้อมูลของมือถือที่ใช้งานอยู่ได้เลย แต่ถึงแม้ว่าวิธีนี้จะง่ายที่สุดก็จริง แต่สำหรับบางรุ่น ที่ทางแอปฯ ไม่ได้อัพเดทขึ้นไปในแอปฯ ก็จะไม่สามารถรู้ข้อมูล หรือทำให้ข้อมูลผิดพลาดได้เช่นกัน ดังนั้นอาจจะต้องใช้ Hardware ในการเช็คร่วมด้วย
เช็คด้วย Hardware
ถึงแม้ว่าวิธีนี้ อาจจะต้องลองโดยการใช้สายมาเสียบก่อน แต่ก็สามารถเช็คได้อย่างแม่นยำ และทำให้รู้ได้ในทันทีเลย ว่าเครื่องที่เราใช้อยู่นั้น สามารถใช้งานร่วมกับสาย OTG ได้หรือไม่ เพียงแค่นำสาย OTG มาเสียบเข้ากับมือถือและตัว Client ไม่ว่าจะเป็น Mouse หรือ Keyboard ก็ได้ แล้วดูว่าสามรถใช้งานได้ปกติหรือไม่ ถ้าหากว่าใช้งานได้ ก็หมายถึงมือถือที่ใช้อยู่นั้น สามารถต่อกับสาย OTG ได้แล้ว ง่ายมากๆ แต่ไม่แนะนำให้ลองกับ Flash Drive นะ เนื่องจากการเชื่อมต่อข้อมูลผ่าน Flash Drive นั้นต้องใช้โปรแกรมหรือแอปฯ ของทาง Flash Drive เองในการเชื่อมต่อด้วยทุกครั้ง ถ้านำมาลองแล้วอาจจะไม่มีข้อมูลอะไรขึ้นเลยก็ได้ และจะทำให้คนใช้อย่างเรานั้นสับสนว่าเครื่องตัวเองใช้สาย OTG ไม่ได้ไปด้วย
ใช้สาย OTG กับอะไรได้บ้าง?
อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ ในเรื่องของการเช็คว่ารุ่นไหนสามารถใช้งานได้บ้างนั้น ก็เกี่ยวเนื่องมาถึงเรื่องของการใช้งานของ Host กับ Client ด้วยเหมือนกัน เนื่องจากการเชื่อมต่อของ Hardware นั้น จะแบ่งเป็นสองแบบ นั่นก็คือแบบที่สามารถเสียบเชื่อมต่อกัน แล้วสามารถใช้งานได้เลยในทันที ซึ่งแบบนี้ในมือถือนั้นจะเขียนโปรแกรมมา ให้สามารถใช้งานได้ในตัวอยู่แล้ว กับอีกแบบนึง ก็คือการที่ต้องใช้ตัวช่วยในการใช้งานด้วย นั่นก็คือการใช้แอปฯ ที่มีคนเขียนขึ้นมาเพื่อรองรับกับการใช้งานร่วมกันได้ อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อได้ที่เราจะมาบอก จะเป็นอุปกรณ์ที่คนส่วนใหญ่ใช้งานกันอยู่เท่านั้น มาดูกันเลยว่ามีอะไรที่สามารถใช้ร่วมกับสาย OTG และมือถือได้บ้าง
อุปกรณ์ที่ไม่ต้องใช้แอปฯ
มาเริ่มกันที่แบบแรกกันก่อนเลย ที่เป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อ และสามารถใช้งานได้ทันที (ไม่ใช่ทุกเครื่องจะใช้งานได้ทั้งหมด) ซึ่งส่วนใหญ่นั้น จะเป็นของ Hardware ประเภทที่ไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูล หรือการเปิดข้อมูลเพื่อดูรายละเอียดลึกๆ ลงไป แต่จะเป็นของที่สามารถใช้ได้เลยในทันที มีดังนี้
เชื่อมต่อกับ Mouse
การเชื่อมต่อกับ Mouse นั้นจะเป็นวิธีที่สามารถเช็คข้อมูล ว่ารุ่นของเรารองรับการใช้งานได้หรือไม่ได้ด้วย และเมื่อเสียบแล้วจะมี Cursor ขึ้นมาบนหน้าจอให้ใช้งานได้ในทันที
เชื่อมต่อกับ Keyboard
เหมือนกับการเชื่อมต่อกับ Mouse การเชื่อมต่อกับ Keyboard นั้น ก็จะสามารถใช้งานได้ในทันทีเช่นกัน โดยไม่ต้องติดตั้งอะไรก่อน ก็จะสามารถใช้งานได้ในทันทีเช่นกัน
เชื่อมต่อกับ อุปกรณ์เล่นเกม
การเชื่อมกับอุปกรณ์เล่นเกม อย่างเช่นจอยเกม หรือรูปแบบอื่นๆ นั้น จะสามารถเชื่อมต่อและใช้งานได้ในทันที ซึ่งในมือถือที่เป็นพวกเกมมิ่ง ก็มักจะมีอแดปเตอร์ ที่ช่วยเชื่อมต่อกับจอยเกมได้ในทันทีเลยด้วย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจอยเกมทุกรุ่นจะสามารถเชื่อมต่อได้นะ ยังคงมีบางรุ่นที่เป็นจำพวกเฉพาะเครื่องเล่นอยู่เหมือนกัน แต่ถ้ารุ่นไหนรองรับ ก็จะสามารถเชื่อมต่อและใช้เล่นเกมได้ในทันที
เชื่อมต่อกับ USB Hub
USB Hub หรืออุปกรณ์ที่ช่วยให้เชื่อมต่อสาย USB ได้หลายๆ ช่องนั้น ก็เป็นหนึ่งอุปกรณ์เชื่อมต่อที่หลายคนนิยมใช้กันมาก เนื่องจากการเชื่อมต่อข้อมูลบางครั้ง ไม่ได้มาจากอุปกรณ์อันเดียวกัน แต่เมื่ออยากได้ทุกข้อมูลมารวมกันอยู่ที่เดียว การต่อ USB Hub ก็ยังจำเป็นอยู่เสมอ
เชื่อมต่อกับ Air Card
ถึงแม้ว่าในสมัยนี้ การใช้งานมือถือและแท็ปเล็ตทั่วไปนั้น จะสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับมือถือ ด้วยการเปิด Hotspot แล้วเชื่อมต่อได้เลย แต่ก็ยังมีบางคน ที่ยังคงใช้งาน Air Card กันอยู่ (ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะใช้กับโน๊ตบุ๊คหรือ PC ก็เถอะ) ซึ่งการเชื่อมต่อด้วยสาย OTG ก็สามารถเชื่อมต่อและใช้งานได้เลย รวมไปถึงการเชื่อมต่อกับสาย Ethernet เพื่อต่อกับสาย LAN ได้ด้วย (ในบางรุ่น)
เชื่อมต่อกับ DAC Audio
ถึงแม้ว่าในสมัยก่อนนั้น จะยังไม่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับ DAC เพื่อต่อเข้ากับหูฟัง และไมค์ได้ แต่มาถึงสมัยนี้ที่ระบบ Android เวอร์ชันเกิน 5.0 ขึ้นไป จะสามารถเชื่อมต่อได้แล้ว ก็จะช่วยให้เสียงและการพูดนั้น มีเสียงที่ดีมากขึ้นกว่าการเสียบช่องปกติทั่วไป คนที่ชอบใช้หูฟังที่ต้องการรับฟังทุกเสียง จะนิยมใช้กันเยอะมาก
อุปกรณ์ที่ต้องใช้แอปฯ ในการเชื่อมต่อ
สำหรับอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อแล้วไม่สามารถใช้งานได้เลย แต่จำเป็นต้องมีแอปฯ เข้ามาช่วย ถึงจะใช้งานได้นั้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูล และสามารถถ่ายโอนข้อมูลได้ หรือพวกที่ต้องใช้แอปฯ เพื่อเข้ามาช่วยโดยเฉพาะ เพื่อการใช้งานที่ดีขึ้น มาดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง
เชื่อมต่อกับ Flash Drive
แน่นอนเลยว่าคนที่ใช้สาย OTG ส่วนใหญ่นั้น จะนำมาใช้งานในส่วนนี้เยอะที่สุดแล้ว เนื่องจากเป็นวิธีการเชื่อมต่อ และส่งข้อมูลระหว่างมือถือ กับ Flash Drive ได้ง่าย โดยไม่ต้องผ่านคอมฯ ให้เสียเวลา และในบางยี่ห้อที่เป็นมือถือระดับเรือธงอย่าง Samsung ก็สามารถเชื่อมต่อ และส่งข้อมูลกันได้เลย โดยไม่ต้องใช้แอปฯ เข้ามาช่วย แต่ในรุ่นอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รองรับ ก็อาจจะต้องใช้บางแอปฯ มาช่วยเชื่อมต่อด้วย เช่น OTG USB Driver, USB OTG Explorer, USB OTG File Manager ฯลฯ ลองดูว่าแอปฯ ไหนใช้งานได้ดีที่สุด
เชื่อมต่อกับ External
External หรือ External Hard Drive เป็นอีกหนึ่งอย่างที่สามารถเชื่อมต่อโดยใช้สาย OTG กับมือถือได้ด้วย โดยการทำงานก็จะคล้ายกับ Flash Drive เลย รวมไปถึงแอปฯ ที่ใช้เชื่อมต่อก็สามารถใช้แอปฯ ตัวเดียวกันได้ทั้งหมด แต่ความต่างกันนั้น จะไปอยู่ที่การจ่ายไฟของมือถือ ที่ต้องจ่ายไฟในปริมาณที่เยอะมาก เนื่องจาก External Hard Drive นั้นกินกำลังไฟสูง ถ้าหากต้องเชื่อมต่อเพื่อส่งข้อมูลใหญ่นานๆ แนะนำให้ต่อตัวเลี้ยงไฟช่วยด้วย หรือจะใช้ Wireless Charge ไปด้วยก็ได้
เชื่อมต่อกับ Card Reader
แน่นอนว่าจะขาดสิ่งนี้ไปไม่ได้เลย สำหรับการเชื่อมต่อด้วย Card Reader ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่หลายคนนิยมใช้อีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นถ่ายโอนย้ายรูป ย้ายวิดีโอ จะเข้ามือถือ หรือออกจากมือถือ ก็สามารถทำได้ทั้งนั้น วิธีนี้จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าเดี๋ยวนี้จะเปลี่ยนเป็นการถ่ายรูปด้วยมือถือ และรับ-ส่งกับผ่านแอปฯ แชทกันแล้ว แต่ถ้าถ่ายจากกล้อง การใช้ Card Reader ก็ยังจำเป็นอยู่เหมือนกัน ส่วนแอปฯ ที่ใช้เชื่อมต่อนั้นจะใช้เหมือนกันทั้งหมด
นอกจากนี้การเชื่อมต่อผ่าสาย OTG นั้น ก็ยังสามารถเชื่อมต่อได้อีกหลายอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นกล้อง, Printer, PTP ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่ในสมัยนี้ คนจะไม่ค่อยนิยมใช้กันแล้ว เนื่องจากสามารถทำผ่าน Bluetooth ได้เลย จึงสะดวก และง่ายกว่าการไปซื้อสายมาเชื่อมต่อให้ยุ่งยาก อันนี้ไม่รวมกับข้างบนที่บอกไปนะ เพราะบางครั้งก็ยังจำเป็นต่อการใช้งานอยู่ในบางอย่าง
แล้วทั้งหมดนี้ ก็เป็นข้อมูลแบบคร่าวๆ ว่าสาย OTG คืออะไร สามารถใช้กับอะไรได้บ้าง และวิธีเช็คว่าสามารถทำได้ยังไงบ้าง ถึงแม้ว่าการใช้สาย OTG จะเคยเป็นที่นิยมมากในสมัยก่อนนั้น และยังสามารถเชื่อมต่อได้หลากหลายอย่าง แต่เมื่อเทคโนโลยีได้เริ่มทันสมัยมากขึ้น การใช้สายเพื่อเชื่อมต่อกับสิ่งต่างๆ เพื่อโอนย้าย ถ่ายข้อมูล จึงเริ่มค่อยๆ หายไปจากการใช้งาน แต่เปลี่ยนมาเป็นการส่งผ่านอินเทอร์เน็ตแทน ไม่ว่าจะ Bluetooth หรือการส่งผ่านแอปฯ ต่างๆ ที่ช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้นเยอะ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การใช้งานที่สะดวกมากขึ้น ก็อาจจะยังไม่ตอบโจทย์การใช้งานในทุกๆ เรื่อง เนื่องจากบางอุปกรณ์ ก็ยังจำเป็นต้องใช้งานอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Flash Drive, External Hard Drive, Card Reader, DAC Audio และการเชื่อมต่อ Keyboard กับ Mouse ก็ยังคนที่ใช้งานกันอยู่ ถ้าใครที่ต้องถ่ายข้อมูล หรือรับส่งข้อมูลเป็นประจำ อย่างนักเรียน นักศึกษา ช่างภาพ หรือคนทำงานทั่วไป ก็ควรจะต้องมีติดตัวเอาไว้ใช้งาน จะยิ่งช่วยประหยัดเวลาการใช้งานได้อีกเยอะ แล้วถ้ามีเรื่องไหนน่าสนใจอีก เราก็จะนำมาฝากกันเรื่อยๆ เลยนะครับ