ฟอนต์ไทยน่ารักๆ และฟอนต์ที่สวยๆ ฟรี เอามาใช้งานกับมือถือ หรือในคอมฯ นั้นมีเยอะมากๆ แถมส่วนใหญ่ก็ทำออกมาให้ใช้งานกันแบบฟรีๆ เว้นแต่ว่าจะเอาไปใช้งานในเชิงพาณิชย์ อันนั้นต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อฟอนต์ก่อนด้วย ซึ่งแต่ละลายที่ทำออกมา ก็จะมีเอกลักษณ์และลายเส้นที่ต่างกันไป แล้วแต่ว่าคนออกแบบต้องการให้ฟอนต์เหล่านั้น จะอยู่ในกลุ่มฟอนต์ไหน ตั้งแต่ฟอนต์ลายไทย หรือแบบการ์ตูนน่ารักๆ ที่วันนี้เราจะเอามาฝากกันถึง 30 ฟอนต์เลย
สำหรับฟอนต์ต่างๆ ที่ทาง Specphone จะเอามาฝากกันในวันนี้นั้น เป็นฟอนต์ที่สามารถเอามาใช้งานได้ฟรีๆ (ยกเว้นแต่จะเอาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ต้องเสียเงินซื้อก่อน) และยังสามารถนำมาใช้งานได้กับมือถือระบบ iOS หรือในคอมฯ ได้เลย (สำหรับ Android มีวิธีที่ค่อนข้างยุ่งยาก ถ้าไม่รูท) วันนี้เลยจะมาบอกแค่วิธีใช้งานฟอนต์ไทย ที่เอาไว้ลงเครื่อง iOS เพื่อใช้งานได้บนแอปฯ ต่างๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเปลี่ยนฟอนต์ทุกเมนูการใช้งานนะ จะใช้ได้กับงานเอกสาร หรืองานที่ต้องพิมพ์ใส่เข้าไปเท่านั้น พร้อมแล้วก็ไปดูกันได้เลย ว่ามีฟอนต์ไทยน่ารักๆ สวยๆ อันไหนน่าใช้งานบ้าง
แนะนำฟอนต์ไทย 30 ฟอนต์ฟรี!
สำหรับฟอนต์ที่เราจะเอามาแนะนำกันในวันนี้ จะแบ่งเป็น 6 แบบคือ แบบมาตรฐาน, แบบน่ารักๆ, แบบโหดๆ, แบบสติกเกอร์, แบบโบราณ และแบบอ่านง่ายๆ ใครอยากได้แบบไหน ก็ลองกดเลือกที่สารบัญด้านล่างนี้ และไปเลือกฟอนต์ไทยที่ชอบกันได้เลย แต่ก็อย่าลืมว่าฟอนต์เหล่านี้ให้โหลดฟรีก็จริง แต่บางฟอนต์ก็ไม่ได้ให้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ (ต้องซื้อก่อน) ควรอ่านรายละเอียดให้ดีก่อนนำไปใช้งานด้วย
- ฟอนต์ไทยแบบมาตรฐาน
- ฟอนต์ไทยแบบน่ารักๆ
- ฟอนต์ไทยแบบโหดๆ
- ฟอนต์ไทยแบบสติกเกอร์
- ฟอนต์ไทยแบบโบราณ
- ฟอนต์ไทยแบบอ่านง่ายๆ
ฟอนต์แบบมาตรฐาน
1. เอฟซี ฟรายเดย์ (FC Friday) โหลดที่นี่
ฟอนต์กึ่งทางการ ที่อ่านออกง่าย และมีความสนุกสนานปนอยู่ด้วย ถ้าต้องการนำไปใช้เชิงพาณิชย์ต้องสนับสนุน 500 บาท
2. เอกมัย นิว (Ekkamai New) โหลดที่นี่
ฟอนต์ที่มีความเรียบง่าย อ่านได้สบายตา เว้นช่องว่างระหว่างตัวอักษรที่สวยงาม ใช้ได้ทั้งทางการ และไม่ทางการ ฟอนต์นี้สามารถนำไปใช้งานได้ฟรีทุกประเภท ไม่ว่าจะใช้เพื่อเชิงพาณิชย์ หรือใช้ทำงานส่วนตัวก็ตาม
3. พริ้นท์เอเบิ้ลฟอร์ยู (PrintAble4U) โหลดที่นี่
ฟอนต์ไม่มีหัวแบบมาตรฐาน ที่ใช้งานได้หลากหลาย และครอบคลุมทุกการใช้งาน ตัวอักษรอ่านได้ง่าย สามารถใช้งานทั่วไปได้ฟรี แต่ถ้าใช้งานในเชิงพาณิชย์ต้องเสียค่าสนับสนุน 500 บาท
4. CS PraJad (ประจาด) โหลดที่นี่
ฟอนต์แบบมาตรฐานที่มีอักษรสวยงามมาก เหมือนเป็นตัวพิมพ์ที่ถอดแบบมาตรฐานมาอย่างแท้จริง เหมาะสำหรับนำไปใช้ในงานจริงจัง หรือต้องการความเป็นระเบียบสูงมากๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นตัวเหลี่ยมแต่ก็สามารถอ่านได้ง่าย และยังสามารถใช้งานได้ฟรี
5. เอฟซี เซฟสเปซ (FC SaveSpace) โหลดที่นี่
ฟอนต์แบบมาตรฐาน สำหรับคนที่ต้องการ Space หรือใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า โดยประหยัดเนื้อที่ได้มากถึง 35% เมื่อเทียบกับฟอนต์ที่มีขนาดเท่ากัน จึงเหมาะกับใครที่อยากใช้งานให้มีพื้นที่มากขึ้น แต่ยังคงมีความสวยงามอยู่ หากต้องการใช้เชิงพาณิชย์ต้องสนับสนุน 500 บาท
ฟอนต์แบบน่ารักๆ
1. เอฟซี แคนดี้ (FC Candy) โหลดที่นี่
ฟอนต์ที่มีความน่ารักเหมือนรูปทรงขนมกลมๆ อ้วนๆ เหมือนลูกอมอ้วนกลม เหมาะสำหรับการใช้ตั้งเป็นหัวเรื่อง แถมยังมีฟอนต์ที่มีสีสันสวยงาม สมกับเป็นแคนดี้จริงๆ ฟอนต์นี้สามารถใช้งานได้ฟรี แต่ถ้านำไปใช้เชิงพาณิชย์ต้องสนับสนุน 500 บาท
2. เอฟซี พาเลท (FC Palette) โหลดที่นี่
ฟอนต์น่ารักๆ ที่มีความสนุกไปในตัว เหมือนการไปเที่ยวเล่นด้วยความสนุกสนาน และยังมีการใส่สีสันให้กับตัวฟอนต์ด้วย จะใช้พาดหัว หรือใส่เข้าไปในบทความก็ทำให้น่าสนใจ และน่าอ่านมากขึ้น ฟอนต์นี้ใช้งานได้ฟรี แต่ถ้าใช้เชิงพาณิชย์ต้องสนับสนุน 500 บาท
3. maaja (หมาจ๋า) โหลดที่นี่
ฟอนต์น้องหมาจากเพจชื่อดัง “หมาจ๋า” ซึ่งเกิดจากลายมือของผู้ทำเพจ และวาดภาพน้องหมาขึ้นมา ซึ่งผู้เขียนบทความนี้ก็เป็น FC เพจนี้ตั้งแต่สมัยยุคเริ่มต้นสร้างเพจเลย ถึงแม้ว่าจะเป็นฟอนต์แบบลายมือ แต่ก็มีความน่ารักผสมมาด้วย สามารถนำไปใช้ได้ฟรีทุกรูปแบบ แต่ถ้านำไปใช้เชิงพาณิชย์หรือหารายได้ ให้ช่วยแบ่งเงินเล็กๆ น้อยๆ ช่วยหมาแมวจรจัดบ้าง
4. สนามเด็กเล่น | SanamDeklen_chaya โหลดที่นี่
ฟอนต์ที่เป็นเหมือนลายมือเด็ก ให้อารมณืสนุกสนาน ใช้ได้กับทุกผลงาน ไม่ว่าจะนำไปตั้งชื่อพาดหัว หรือเขียนเป็นเนื้อเรื่อง เป็นนิทานก็สวยงาม และได้ความน่ารักไปเต็มๆ ฟอนต์นี้สามารถนำไปใช้งานได้ฟรีๆ โดยไม่มีข้อแม้ใดเลย
5. เอฟซี มัฟฟิน (FC Muffin) โหลดที่นี่
ฟอนต์ขนมน่ารักๆ แบบตัวผอมที่นำไปใช้กับงานไหน ก็ทำให้งานเหล่านั้นดูน่ารักตามไปด้วย เหมาะกับการนำไปพาดหัว หรือนำไปใช้งานทั่วไปได้หมดเลย ตัวฟอนต์มีความโค้งมน ทำให้อ่านง่าย แม้จะพิมพ์ติดๆ กันหลายตัวก็ยังดูได้อย่างสบายตา ฟอนต์นี้เปิดใช้งานฟรี แต่ถ้าใช้งานเชิงพาณิชย์ต้องสนับสนุน 500 บาท
ฟอนต์แบบโหดๆ
1. MAX somsin โหลดที่นี่
ฟอนต์สยองขวัญที่ให้อารมณ์น่ากลัว แบบขรุขระ ไม่เรียบเนียน แต่ก็ยังคงนำมาใช้งานได้ โดยที่ไม่ได้ดูน่ากลัวจนเกินไป เหมาะกับการนำมาพาดหัว หรือทำเป็นเนื้อหาที่ใช้ตัวหนังสือไม่เยอะมากนัก สามารถนำไปใช้งานได้ฟรี
2. KC Nightmare โหลดที่นี่
ฟอนต์ที่มีความน่ากลัว ปนสยองขวัญ ซึ่งตัวหนังสือจะออกแนวเหมือนกับใช้ปากกาฝน ให้เป็นตัวฟอนต์ออกมา จึงทำให้ได้รับถึงอารมณ์ความน่ากลัวของฟอนต์ตามไปด้วย จะใช้ตั้งหัวเรื่อง หรือว่าจะทำเป็นเนื้อหาก็ได้ สามารถนำไปใช้งานได้ฟรี
3. เอฟซี รีเบล (FC Rebel) โหลดที่นี่
ฟอนต์ที่ดูโหดๆ แต่ก็ยังมีความซอฟท์ด้วยความชัดเจนของตัวหนังสือ แต่ตัวฟอนต์ไม่ได้มีความโค้ง โดยใช้สื่อถึงความหักงอของโลกนี้ เหมาะกับการนำไปใช้เป็นหัวพาด มากกว่าการนำมาพิมพ์เยอะๆ ในเนื้อหา เพราะอาจทำให้อ่านได้ยาก ฟอนต์นี้ใช้งานได้ฟรี แต่ถ้าใช้ในเชิงพาณิชย์ต้องสนับสนุน 500 บาท
4. iannnnnPDA ผีดีเอ (2006) โหลดที่นี่
ฟอนต์ที่ให้อารมณ์น่ากลัวได้ดีมากๆ ซึ่งจะออกแนวไปทางด้านผีๆ หน่อย และความสยองขวัญเป็นหลัก เหมาะกับการนำไปตั้งชื่อเรื่อง หรือจะใช้พิมพ์เป็นเนื้อเรื่อง ก็ยังสามารถอ่านได้ง่ายปนสยองๆ ไปด้วย ฟอนต์นี้เปิดให้โหลดใช้งานกันฟรีๆ ได้เลย
5. Layiji จระเข้ฟาดหาง โหลดที่นี่
ฟอนต์ที่ไม่ได้ดูน่ากลัวหรือสยองขวัญมากนัก แต่เมื่อนำไปใส่ฉาก หรือพรีเซนต์งานและใช้เป็นเนื้อเรื่อง กลับทำให้ได้ความรู้สึกที่มีความโหดได้เลย จะนำไปพาดหัวหรือว่าใช้เป็นเนื้อเรื่องก็อ่านง่ายสบายตา แต่มีความดิบอยู่ในนั้นด้วย สามารถโหลดมาใช้งานได้ฟรี
ฟอนต์แบบสติกเกอร์
1. เอสดีโปรเทคเตอร์ (sd protector) โหลดที่นี่
สาย protector ต้องถูกใจสิ่งนี้ด้วยการทำฟอนต์ที่เป็นตัวเหลี่ยม โดยมีความเอียงเล็กน้อย เพื่อให้เหมาะกับการทำสติกเกอร์ หรือทำเป็นคำแปะเป็นป้ายโปสเตอร์ลงไปก็ได้ทั้งนั้น สามารใช้งานได้ฟรีๆ ทุกกรณี
2. เอสดี แรงเวอร์ (sd rangver) โหลดที่นี่
ฟอนต์คุ้นหูคุ้นตากันดีบนท้องถนน เพราะเป็นฟอนต์ที่ฮิตมากๆ ในการทำสติกเกอร์มาใช้งาน ไม่ว่าจะนำไปเป็นสติกเกอร์แปะรถ หรือว่าจะทำเป็นป้ายร้านค้า ก็ช่วยให้ดูเด่นและสวยงามได้ทันที สามารถโหลดมาใช้งานได้ฟรี ไม่ว่าจะเชิงพาณิชย์หรือไม่ก็ตาม แต่สามารถสนับสนุนคนทำฟอนต์ได้ด้วยเช่นกัน
3. SD Performance (เอสดี เพอร์ฟอร์แมนซ์) โหลดที่นี่
ฟอนต์แนวรถซิ่ง ที่ออกแบบมาได้อย่างลงตัว เหมาะกับการทำเป็นสติกเกอร์เป็นอย่างมาก ตัวฟอนต์จะมีความเหลี่ยม และเอียงไปข้างหลังเล็กน้อย แต่เมื่อนำมาเขียนรวมกันแล้วก็ยังทำให้อ่านได้ง่าย แถมยังมีพื้นหลังมารองรับให้ดูเด่นชึ้นด้วย ใช้งานได้ฟรีๆ หรือจะสนับสนุนคนทำก็ได้
4. sd hall โหลดที่นี่
ฟอนต์ที่เหมาะกับการทำป้าย หรือทำสติกเกอร์อีกหนึ่งอัน โดยตัวหนังสือจะมีหัวออกมาเล็กน้อย เป็นตัวอักษรไทยที่ดูดี มีระเบียบและอ่านได้ง่ายขึ้น ถึงแม้ว่าจะพิมพ์ติดๆ กันก็ตาม สามารถโหลดไปใช้งานได้ฟรีๆ ทุกกรณี
5. KJR-Krajidrid PHARMAI โหลดที่นี่
ฟอนต์ตัวสุดท้าย ที่น่านำมาทำเป็นสติกเกอร์ หรือจะขึ้นเป็นป้ายไปเลยก็ทำได้ เหมาะกับการใช้เพื่อคำสั้นๆ หรือเป็นคำคมพร้อมกับใส่รูปภาพ จะทำให้ตัวฟอนต์ดูเด่นมากขึ้น สามารถใช้งานได้ฟรีเลย
ฟอนต์แบบโบราณ
1. SOV_Rataphan2498 (รัตพันธุ์ พ.ศ.๒๔๙๘) โหลดที่นี่
ฟอนต์ลายไทยที่ทำออกมาได้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เหมาะกับการใช้เป็นหัวเรื่อง หรือจะใช้เป็นเนื้อเรื่องก็ยังพอได้อารมณ์หนังโบราณๆ ได้ดีเลย ฟอนต์นี้สร้างมาจากลายมือจริงๆ ด้วย น่าสนใจมากๆ โหลดมาใช้งานได้ฟรี
2. จารึก (SOV_Jaruk) โหลดที่นี่
ฟอนต์แบบไทยโบราณ โดยเลียบแบบมาจากสมุดข่อย ลิลิตพระลอ และไม่รองรับภาษาละติน ตัวอักษรจะมีความหวัดสวยงาม มองดูแล้วสบายตา ถึงแม้ว่าจะพิมพ์ติดกันก็ตาม สามารถโหลดเพื่อนำไปใช้งาน หรือดัดแปลงได้ตามสะดวก เพื่อเป็นการอนุรักษ์ให้คงอยู่ต่อไป
3. kt_smarn โหลดที่นี่
ฟอนต์ที่เกิดจากการคิดขึ้นมาเองตามแบบที่เคยเป็นคนทำป้ายมาก่อน จึงสามารถนำไปใช้งานทำป้าย หรือ งานประเพณี งานแต่ง งานบวช ต่างๆ เพื่อช่วยให้ดูสวยงามมากยิ่งขึ้น ฟอนต์นี้อ่านง่าย ถึงแม้ว่าจะเป็นคำยาวๆ ก็ตาม โหลดมาใช้ได้ฟรี
4. อัสดง (SOV_ASSADONG) โหลดที่นี่
ฟอนต์ที่ได้ต้นแบบมาจากตัวหนังสือโฉนดที่ดิน ที่เก่าแก่มากๆ กว่า 100 ปี ตัวฟอนต์จึงมีความโบราณที่มีสวยงามแบบโมเดิร์นนิดๆ ผสมอยู่ด้วย สามารถนำไปใช้ได้ทุกรูปแบบงาน ไม่ว่าจะเป็นหัวเรื่อง หรือว่าเนื้อเรื่องก็ช่วยให้ดูดีได้ทั้งนั้น โหลดมาใช้งานได้ฟรี
5. ฟอนต์ไทยย่อ๒๒๗๙ (ThaiYor2279) โหลดที่นี่
ฟอนต์ที่ให้ความรู้สึกถึงความโบราณได้อย่างแท้จริง เพราะถอดแบบมาจาก สมุดไทยเรื่องนันโทปนันทสูตรคำหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2279 ตัวอักษรนั้นดูเหมือนว่าจะอ่านยากก็จริง แต่ถ้านำไปขึ้นป้าย หรือว่าใช้เป็นหัวเรื่อง ก็จะทำให้งานนั้นดูเด่นขึ้นมาได้เยอะมากเลย โหลดมาใช้งานได้ฟรี
ฟอนต์แบบอ่านง่ายๆ
1. ทีเอช ชรา (TH-Chara) โหลดที่นี่
ฟอนต์แบบไทยที่อ่านง่ายมากๆ ด้วยโครงสร้างของฟอนต์ ที่ทำตัวให้ออกมาห่างกันเล็กน้อย และมีความกว้างทำให้อ่านได้ง่ายขึ้น จะใช้ในงานเนื้อหา หรือว่าจะเป็นงานทางการก็ทำได้สวยงามทั้งนั้น สามารถโหลดไปใช้งานแบบทั่วไปได้ฟรี แต่ถ้าจะใช้งานเชิงพาณิชย์ต้องสนับสนุน 500 บาท
2. ละมุน (FC Lamoon) โหลดที่นี่
ฟอนต์ที่ละมุนสมชื่อ ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษรที่ดูโค้งมน ช่วยให้อ่านได้ง่ายขึ้น และการแยกตัวอักษรได้ชัดเจน ถึงแม้ว่าจะพิมพ์ตัวติดกันมากแค่ไหน ก็ยังเชิญชวนให้น่าอ่าน น่ามองเป็นอย่างมาก สามารถโหลดมาใช้งานได้ฟรีแบบทั่วไป แต่ถ้าจะใช้งานเชิงพาณิชย์ต้องสนับสนุน 500 บาท
3. CS ChatThai (ชาติไท) โหลดที่นี่
ฟอนต์ที่มีความเป็นทางการสูงมาก ด้วยตัวอักษรที่ตรง และอ่านออกได้ง่าย จึงทำให้การใช้งานทั่วไป หรือว่าทำเป็นรายงานด้วยตัวหนังสือเยอะๆ ก็ยังสามารถอ่านได้เข้าใจง่ายอยู่ เหมาะกับทุกการใช้งานอย่างแท้จริง สามารถโหลดมาใช้ได้ฟรีๆ
4. บุญจด (BoonJot) โหลดที่นี่
ฟอนต์แบบไทยที่ดูน่ารัก และมีลูกเล่นกลมมนน่าใช้งาน แต่ถึงแม้ว่าตัวอักษรจะดูน่ารัก ก็ยังมีความอ่านง่าย และเมื่อพิมพ์เยอะๆ แล้วตัวไม่ติดกันมาเกินไป ช่วยให้อ่านได้สบายตามากยิ่งขึ้น สามารถใช้งานได้ฟรีทุกกรณี ทั้งใช้งานทั่วไป หรือนำไปดัดแปลงปรับปรุงแก้ไขก็ได้
5. WR Tish Kid โหลดที่นี่
ฟอนต์น่ารักๆ ที่อ่านง่ายมากอีกด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นลายมือของคนสร้างเองก็ตาม แต่ก็ทำออกมาได้สวยงาม และเป็นตัวอักษรชัดเจน อ่านง่ายในแต่ละคำ ถึงแม้ว่าจะพิมพ์ตัวติดกันมากแค่ไหนก็ตาม ฟอนต์นี้สามารถโหลดไปใช้งานได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
วิธีเปลี่ยนฟอนต์บนเครื่อง iOS ด้วยแอปฯ iFont
ก่อนอื่นเหนือสิ่งอื่นใดเลยก็คือ ต้องไปโหลดแอปฯ iFont มาก่อน (ใช้ได้ทั้ง iPhone หรือ iPad) กดโหลดที่นี่ จากนั้นก็ลงไปเลือกโหลดฟอนต์ต่างๆ ที่ชอบ และเข้าไปโหลดจากเว็บต้นทางคือเว็บ f0nt.com เพื่อเอามาเก็บไว้ในเครื่องก่อน หลังจากนั้นให้ทำตามวิธีดังนี้
1. เมื่อโหลดไฟล์มาได้แล้ว ให้เข้าไปดูที่รายการดาวน์โหลด (ไอคอนรูปโหลดมุมขวาบน) จะได้เป็นไฟล์ .ZIP มาให้เรากดค้างที่ไฟล์ และเลือกเมนูแชร์ จากนั้นเลือกแชร์ไปยังแอปฯ iFont
2. ระบบจะย้ายไปยังหน้าแอปฯ iFont ให้เลย ก็ให้กดเลือก Import to iFont ระบบจะทำการ Import เข้ามาทางแอปฯ จะให้เรานั้น Install ฟอนต์นั้นลงเครื่อง ก็กด Install -> Continue และอนุญาตให้ติดตั้งฟอนต์ที่โหลดมาได้เลย
3. หลังจากที่ Install เรียบร้อยแล้ว ให้เราไปที่แอปฯ ตั้งค่า และเลือกเมนู General -> Profiles ก็จะพบกับฟอนต์ที่เราได้ลงไปข้างต้น
4. ให้เลือกฟอนต์แล้วกด Install อีกครั้ง (ใส่รหัสปลดล็อคหน้าจอด้วย) และกด Install ไปจนครบ (กด 3 รอบ) และให้กด Done ในขั้นตอนสุดท้าย
เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถใช้ฟอนต์ที่โหลดมาใช้งานได้แล้ว แต่ก็มีข้อแม้อยู่บ้างนิดหน่อยตรงที่แอปฯ เหล่านั้นจะต้องรองรับการให้เปลี่ยนฟอนต์ได้ด้วย อย่างเช่น แอปฯ ที่เกี่ยวกับการจดบันทึก หรือแอปฯ ที่พิมพ์ตัวอักษรต่างๆ ได้ ซึ่งบางครั้งการติดตั้งโปรไฟล์นี้อาจจะหายไป ให้ลงตามขั้นตอนเดิมใหม่อีกครั้ง ก็จะใช้ได้แล้ว
แล้วทั้งหมดนี้ ก็เป็นฟอนต์แบบไทยที่เราได้เอามาแนะนำกันทั้งหมด 30 ฟอนต์ตามสารบัญที่เราได้คัดแยกไว้ให้แล้ว สามารถเลือกโหลดไปใช้งานกันได้เลยฟรีๆ ถ้าไม่ได้งานในเชิงพาณิชย์ ซึ่งถ้าต้องการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ก็ต้องมีค่าสนับสนุนผู้ทำฟอนต์สักหน่อย ไม่ได้ถือว่าแพงมากไป ส่วนใครจะเอาไปใช้ในงานอะไร หรือใช้เพื่ออะไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละจุดประสงค์การใช้งานได้เลย จะโหลดไปใช้บนคอมฯ หรือจะใช้มาลงมือถือ, แท็ปเล็ต อย่างเช่น iPhone หรือ iPad เราก็ได้บอกวิธีการลงเครื่อง พร้อมกับวิธีการ Install ก่อนจะใช้งานได้จริงด้วย แต่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละแอปฯ ด้วยเช่นกัน ว่าจะรองรับการใช้งานฟอนต์ที่ลงไปหรือไม่
ส่วนของ Android นั้น แนะนำว่าให้โหลดแอปฯ ที่มีฟอนต์ภาษาไทยอยู่แล้ว ที่มีอยู่บน Google Play Store จะมีให้เลือกอยู่หลายแอปฯเลย ทั้งฟอนต์ภาษาไทย หรือฟอนต์ภาษาอังกฤษ แต่ก็จะมีน้อยกว่าแบบทั่วไป หรืออาจจะไม่ได้ดั่งใจตามแบบที่อยากได้เท่าไหร่ เนื่องจากการลงเครื่องของ Android นั้นค่อนข้างยาก และไม่มีแอปฯ มารองรับการ Install จากภายนอกได้ หรือถ้าใครมีวิธีที่สามารถทำได้ง่ายๆ ก็ลองคอมเมนต์ หรือส่งข้อความมาบอกเราก็ได้ จะได้ใส่วิธีการทำไว้ให้ด้วยเลย แล้วถ้ามีเรื่องไหนน่าสนใจอีก เราก็จะเอามาฝากกันเรื่อยๆ เลยนะครับ