ถ้าย้อนไปซัก 2-3 ปีก่อน เราคงยังนึกภาพกันไม่ออกว่าสมาร์ทวอทช์จะออกมาเป็นอย่างไร เพราะนาฬิกาข้อมือของเราก็ยังใช้งานกันได้ดีอยู่ สมาร์ทโฟนก็มีใช้กันแทบทุกคน จนบางท่านแทบจะไม่ต้องใส่นาฬิกาข้อมือกันแล้ว เพราะสามารถควักมือถือขึ้นมาดูนาฬิกาได้แบบสบายๆ แต่แล้วก็มีสมาร์ทวอทช์นามว่า Pebble ก่อกำเนิดขึ้นมา แล้วก็เหมือนเป็นการสร้างมาตรฐานให้กับนาฬิกาอัจฉริยะว่ามันควรจะทำอะไรได้บางนอกจากดูเวลา และก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีครับ เริ่มจากยอดลงขันสนับสนุนใน KickStarter ที่ทำยอดได้ถล่มทลาย มาจนถึงยอดขายจริงในปัจจุบัน
และล่าสุด Pebble ก็ปล่อยนาฬิกาสมาร์ทวอทช์รุ่นสองของตนเองออกมาแล้ว นั่นก็คือ Pebble Time ที่มีการปรับปรุงจากรุ่นเดิมไปหลายจุดมากๆ โดยยังคงเปิดระดมทุนบนเว็บไซต์ KickStarter เหมือนเดิม และยอดการลงขันสนับสนุนก็ถล่มทลายเช่นเดิมด้วย แม้ว่า Apple จะเปิดตัว Apple Watch ออกมา แต่ก็ไม่ได้ทำให้กระแสความสนใจในตัว Pebble Time ตกลงไปมากนัก เพราะ Pebble Time ยังมีจุดเด่นอยู่นั่นคือ “เป็นนาฬิกาที่ไม่ต้องชาร์จแบตเตอรี่ทุกวัน” นั่นเอง
ซึ่งตัวผมเองก็ร่วมลงเงินในโครงการไปเหมือนกันครับ และก็ได้นาฬืกา Pebble Time มาใช้งานแล้วด้วยเช่นกัน สำหรับตัวแพ็กเกจ และข้อมูลประกอบคร่าวๆ ผมเขียนเอาไว้แล้วในบทความพรีวิวแกะกล่อง Pebble Time นะครับ ตามไปชมกันได้เลย สำหรับในนี้ก็จะเป็นการรีวิว วิธีการใช้งาน และฟีเจอร์ที่น่าสนใจต่างๆ จะเป็นอย่างไร มาชมกันครับ
หน้าตาโดยรวมของ Pebble Time ต้องบอกว่าก็ออกมาเป็นแนวเหมือนก้อนหินก้อนกรวด สมชื่อ Pebble ล่ะครับ ออกมนๆ หน่อย สำหรับสีที่ผมสั่งไปก็เป็นสีดำ ซึ่งจะได้กรอบเป็นพลาสติกสีเทาเข้ม ผิวสัมผัสคล้ายก้อนกรวดจริงๆ สายซิลิโคนสีดำ ให้ความเป็นสปอร์ตพอสมควร ตัวสายนี่บอกเลยว่านิ่มมาก ใส่สบาย ส่วนใครที่อยากใช้สายอื่นก็สบายใจได้เลย เพราะมันสามารถหาสาย 22 มิลลิเมตรมาใส่แทนได้ แถมน่าจะมีคนทำสายสำหรับ Pebble Time โดยเฉพาะมาให้ซื้อหาใช้งานกันในอนาคตด้วยแน่นอน
คุณสมบัติที่น่าสนใจของ Pebble Time ก็มีดังนี้ครับ
- หน้าจอ e-paper ขนาด 1.25 นิ้ว มีไฟ LED Backlight
- รุ่นปกติเป็นสายซิลิโคน รุ่น Steel เป็นสายหนังกับสแตนเลสสตีล
- ตัวเรือนของรุ่น Steel ทำมาจากสแตนเลสสตีล CNC 316L
- มีไมโครโฟน ระบบสั่งงานด้วยเสียงในตัว เช่นใช้สั่งพิมพ์ข้อความ (ยังใช้งานได้กับมือถือ Android เท่านั้น)
- มีมอเตอร์สั่นในตัว
- มีเซ็นเซอร์วัดแสง มีเซ็นเซอร์ 3D accelerometer
- ใช้งานร่วมกับ Misfit และ Jawbone ได้
- กันน้ำได้ 30 เมตร ใส่ว่ายน้ำได้
- สามารถถอดสายเปลี่ยนได้ ใช้สายขนาด 22 มิลลิเมตรมาตรฐาน
- มีแอพพลิเคชันให้ติดตั้งได้ เปลี่ยนลายหน้าปัดนาฬิกาได้ (มีรวมกันไม่ต่ำกว่า 6,500 แอพ/แบบให้ใช้งาน)
- ทำงานได้กับ iOS 8 และ Android 4.0 ขึ้นไป
- เชื่อมต่อผ่าน Bluetooth 4.0
- รุ่นปกติมีให้เลือก 3 สี ได้แก่ ดำ-สายดำ, ขาว-สายขาว และดำแดง-สายแดง ขนาดตัวเรือน 40.5 x 37.5 x 9.5 มิลลิเมตร
- รุ่น Steel มีให้เลือก 3 สี ได้แก่ ดำ-สายหนังดำ, เงิน-สายสแตนเลสเงิน และทอง-สายหนังแดง ขนาดตัวเรือนเท่ากัน ยกเว้นความหนาที่ 10.5 มิลลิเมตร
เรื่องจอ นับเป็นจุดที่ Pebble Time อัพเกรดขึ้นมาจาก Pebble รุ่นแรกอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากได้เปลี่ยนจากจอ e-paper ที่มีแต่สีขาวดำ มาเป็นจอ color e-paper ที่มีสีแล้ว แต่สีที่แสดงบนจอของ Pebble Time ก็ไม่ได้ถึงขั้นแบบจอมือถือ หรือจอ Apple Watch นะครับ สีจะออกคล้ายพวกฟีเจอร์โฟนจอสีสมัยก่อน ที่ความละเอียดไม่สูงมากนัก สีก็ไม่สดแบบพวกจอ LED แต่ก็อยู่ในระดับที่เพียงพอสำหรับการใช้ดูเวลา ดูข้อมูลนิดๆ หน่อยๆ เพราะเราคงไม่ได้มานั่งจ้องนาฬิกากันตลอด จึงไม่จำเป็นว่าต้องเน้นคุณภาพจอให้มากนัก เอาไปเน้นเรื่องการกินไฟต่ำ เพื่อให้ใช้งานแบตเตอรี่ได้นานๆ จะดีกว่า ส่วนใครที่สงสัยว่าแอนิเมชันการเคลื่อนไหวบนจอ Pebble Time จะลื่นขนาดไหน ลองชมคลิปตัวอย่างการทำงานที่ Pebble ทำออกมาดูครับ
ซึ่งตรงนี้ก็จัดว่าเป็นจุดเด่นของ Pebble Time เลย เพราะจอแบบ e-paper เองก็ขึ้นชื่อเรื่องของการกินไฟต่ำ และสามารถเปิดไว้ตลอดเวลาได้ ทำให้ Pebble Time สามารถเปิดหน้าจอไว้ได้ตลอดเวลา ต่างจากสมาร์ทวอทช์หลายๆ รุ่นที่มักจะต้องปิดจอเมื่อผ่านไปซักระยะหนึ่ง เพื่อประหยัดแบตเตอรี่ แต่ถึงกระนั้น ส่วนใหญ่ก็จะใช้แบตเตอรี่ได้กันซัก 2-3 วันเป็นอย่างมาก แต่ Pebble Time สามารถใช้งานเป็นสัปดาห์ได้เลย (ตามที่โฆษณา)
ซึ่งถ้าเป็นจอ e-paper ตามปกติ มักจะใช้งานในที่มีแสงมากหรือในเวลากลางวันได้ยอดเยี่ยมมากๆ ให้ภาพที่คมชัดและสบายตาเพียงพอต่อการใช้ดูตัวอักษร แต่ในเวลากลางคืน หรือในที่มีแสงน้อยมักทำได้ไม่ดี เพราะจำเป็นต้องมีแสงเพื่อช่วยในการมองเห็นด้วย (เพราะมันก็ทำงานคล้ายๆ กระดาษปกตินี่เอง) อันนี้ก็ไม่ใช่ปัญหาของ Pebble Time ครับ เพราะในตัวมีใส่หลอดไฟ LED ให้แสงสว่างมาให้ด้วย จึงทำให้สามารถใช้งานได้ทุกที่ทุกสถานการณ์
โดยในส่วนของการตั้งค่า เราก็สามารถตั้งได้ว่าจะให้ไฟ LED ทำงานหรือเปล่า ถ้าคิดว่ายังไงๆ ตอนกลางคืนคงไม่ได้ใช้ดูเวลาอยู่แล้ว ก็ปิดไฟ LED ไปเลยก็ได้ ยิ่งประหยัดแบตเข้าไปอีก นอกจากนี้ ตัว Pebble Time เองก็มีฟีเจอร์ในการเปิดไฟ LED อัตโนมัติเวลาเรายกแขนขึ้นมาดูนาฬิกาอยู่เหมือนกันนะครับ เช่นเวลายกแขนจากที่เราปล่อยข้างลำตัว ขึ้นมาอยู่ในระนาบตั้งฉากกับตัวเพื่อดูเวลา ไฟ LED หน้าจอก็จะสว่างขึ้นมา เพื่อให้เรามองเวลาได้ง่ายขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับตอนที่ต้องดูนาฬิกาในที่มีแสงน้อย แต่ถ้าอยู่กลางแจ้ง แสงสว่างดีๆ ก็ไม่ต้องเปิดไฟ LED เลย เพราะมันมองเห็นง่ายมากจริงๆ (ภาพที่ถ่ายในรีวิวนี้ ถ่ายกลางแจ้ง ไม่ได้เปิดไฟ LED ที่จอ Pebble เลย)
ถ้าอยากบังคับเปิดไฟ LED ก็ให้กดที่ปุ่มด้านซ้ายของตัวเรือน ที่มีอยู่ปุ่มเดียวนั่นแหละครับ ไฟหน้าจอก็จะติดขึ้นมาประมาณ 4 วินาที ซึ่งก็เพียงพอกับการดูเวลาโดยทั่วไปแล้วนะ
ด้านหลังตัวเรือนที่เป็นพลาสติกโค้งมนสีดำก็มีส่วนสำคัญอยู่ครับ นั่นคือขั้วทองเหลืองสำหรับชาร์จแบตเตอรี่ ซึ่งจะต้องใช้สายชาร์จเฉพาะของ Pebble Time เท่านั้น ไม่สามารถใช้สายของ Pebble รุ่นเก่า หรือสมาร์ทวอทช์ตัวอื่นชาร์จได้เลย ส่วนที่เป็นขั้วสีเงินด้านข้างนั้น คือจุดที่เป็นแม่เหล็ก สำหรับช่วยดูดให้ขั้วชาร์จติดอยู่กับตัวเรือนระหว่างชาร์จ จากที่ใช้งานมา มันก็ดูดติดได้ค่อนข้างดีครับ แต่ก็แกะออกง่ายด้วยเหมือนกัน แค่สะกิดนิดหน่อยก็หลุดออกมาแล้ว เรื่องของระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่นั้น ถ้าใช้แบบดูเวลานิดๆ หน่อยๆ มี notifications เข้ามาเรื่อยๆ เปิดเชื่อมต่อ Bluetooth ตลอดเวลา ก็สามารถใช้งานได้ราวๆ 5-7 วัน ตกแล้วก็แบตลดประมาณวันละสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนถ้าอยากประหยัดแบตเตอรี่จริงๆ ก็สามารถปิด Bluetooth แล้วใช้งานเป็นเหมือนนาฬิกาปกติทั่วไปได้ ก็ช่วยยืดระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ได้อีกเป็นวันเหมือนกัน ส่วนระยะเวลาการชาร์จก็ไม่นานมากครับ ผมชาร์จจากแบตประมาณ 20% ใช้เวลาๆไม่ถึงชั่วโมงก็เต็มแล้ว (ไม่ได้จับเวลาแน่นอน)
ถัดลงมาหน่อยก็จะเป็นการสกรีนว่านาฬิกาเรือนนี้เป็นรุ่นสำหรับผู้ร่วมลงขันในโครงการระดมทุนของ Pebble บนเว็บไซต์ KickStarter ด้วย ซึ่งจะมีให้กับผู้ที่ร่วมลงเงินเพื่อให้ Pebble Time เกิดขึ้นมาเท่านั้นนะครับ ถ้าหาซื้อหลังจากเปิดวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ จะไม่มีการสกรีนส่วนนี้ให้แล้ว (นอกจากไปซื้อมือสองมาจากคนที่มีรุ่นนี้) ซึ่งทาง Pebble ก็เริ่มเปิดให้สั่งจองล่วงหน้าแล้ว ในราคา $199.99 (ประมาณ 6,700 บาท) ซึ่งสูงกว่าตอนที่ผมร่วมลงเงินในล็อตแรกอยู่ประมาณ 1,400 บาท แต่เมื่อรวมค่าส่ง ค่าภาษีนำเข้าแล้วก็พอๆ กันนะ
อ้อ!! ถ้าสั่งจองล่วงหน้าตอนนี้ ยังไงตอนได้รับของ เราก็ต้องเสียค่าภาษีนำเข้าอยู่ดี หรือจะซื้อหน้าร้านที่นำมาขาย ก็ไม่ได้ราคา 6,700 บาทแน่นอน สรุปว่ายอมเสี่ยงลงเงินไปตอนโครงการ KickStarter จะได้ในราคาถูกสุดครับ (แต่ก็เสี่ยงจะไม่ได้ของ ได้ของช้ากว่ากำหนดอยู่เหมือนกัน)
เมื่อลงมาดูตรงข้อต่อสาย จะเห็นว่ามีช่องเล็กๆ และมีหมุดสีเงินอยู่ข้างใน ตรงนี้คือตัวช่วยปลดสลักล็อกสาย ซึ่งทำให้เราสามารถปลดสาย Pebble Time ออกได้ง่ายขึ้น เพราะในอนาคตรับรองว่ามีคนทำสายออกมาขายมากมายแน่นอน ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีออกมาแล้วเหมือนกันครับ เหมาะสำหรับคนที่ชอบเปลี่ยนสายบ่อยๆ หรือสายเก่าเกิดมีปัญหา จะได้ถอดเปลี่ยนได้โดยง่าย รวมถึงถ้าหาสายขนาด 22 มิลลิเมตรที่มีขั้วแบบเดียวกันได้ ก็สามารถนำมาใช้งานร่วมกับ Pebble Time ได้เลยเหมือนกัน
สำหรับความรู้สึกตอนใส่ ผมว่ามันใส่สบายดีนะ ตัวเรือนเบามาก สายก็นิ่ม ใส่แล้วไม่รู้สึกระคายเคือง ผู้หญิงใส่ได้ ผู้ชายใส่ดี
อึกส่วนที่สำคัญก็คือปุ่มกดด้านข้างครับ สำหรับภาพซ้ายมือ อันนี้จะเป็นปุ่มกดที่อยู่ฝั่งขวาของตัวเรือน จะมีแบ่งออกเป็น 3 ปุ่ม ถ้าในเรื่องของการบังคับทิศทางก็ตามปกติเลยครับ ปุ่มบนสุดคือปุ่มขึ้น ปุ่มล่างคือปุ่มลง ปุ่มกลางคือปุ่มตกลง/เลือก ส่วนถ้าในโหมดปกติแล้ว จะเป็นการเลื่อนดู Timeline ซึ่งเป็นแกนระบบของ Pebble Time เลย ซึ่งจะไว้กล่าวถึงในส่วนหลังแล้วกันนะครับ ถัดลงมานิดหน่อยก็เป็นช่องรับเสียงของไมโครโฟน ซึ่งเราสามารถใช้สั่งงานมือถือผ่านนาฬิกาได้ แต่มือถือเครื่องนั้นจะต้องเป็นมือถือ Android เท่านั้น ฝั่ง iPhone ยังใช้งานไม่ได้
ส่วนภาพขวาก็จะเป็นปุ่มที่อยู่ฝั่งซ้ายของตัวเรือน ปุ่มนี้หน้าที่หลักคือเป็นปุ่มเปิดไฟ LED อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น และใช้เป็นปุ่มย้อนกลับเวลาเปิดเมนูต่างๆ อยู่ ส่วนถ้ากดค้างไว้ ก็จะเป็นการเปิดเข้าหน้ารวมเมนูครับ
ทีนี้เรามาดูเมนูและหน้าจอต่างๆ ของ Pebble Time กันบ้างครับ ผมขอเริ่มด้วยส่วนของเมนูการตั้งค่าก่อนแล้วกัน ซึ่งสามารถเข้าถึงได้โดยการกดปุ่มกลางขวา แล้วกดขึ้นมาด้านบนสุด เมื่อมาถึงก็จะพบหน้าจอแบบในรูปซ้ายบนเลย ซึ่งจะมีบอกเปอร์เซ็นต์แบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ กับสถานะการเชื่อมต่อ Bluetooth กับสมาร์ทโฟนของเรา ถ้าเชื่อมต่ออยู่ก็จะเป็นสัญลักษณ์แบบในภาพครับ แต่ถ้าไม่ได้เชื่อมต่อ ก็จะเป็นรูปกากบาทแทน พอกดเข้าไปข้างใน ก็จะพบเมนูต่างๆ แบบในภาพกลาง ซึ่งก็มีเมนูอยู่ดังนี้
- Bluetooth: สำหรับเปิด/ปิด Bluetooth และดูได้ด้วยว่า Pebble มันต่อกับมือถือเครื่องไหนอยู่
- Notifications: ใช้ตั้งค่าว่าจะให้ปิดการแจ้งเตือน (Do not disturb) หรือเปล่า รวมถึงตั้งค่าได้ด้วยว่าจะให้ Pebble สั่นเวลามีการแจ้งเตือนเข้ามาหรือเปล่า ซึ่งบอกเลยว่าการสั่นของ Pebble Time นั้นแรงมาก เผลอๆ จะสั่นแรงกว่ามือถือบางรุ่นซะอีก
- Activity: ใช้ตั้งค่าว่าจะให้แอพไหนมาใช้ในการตรวจจับการเคลื่อนไหว เช่นพวก UP ของ Jawbone, Misfit เป็นต้น
- Quick Launch: ใช้ตั้งค่าว่าจะให้ปุ่มลัดทำงานหรือไม่ ได้แก่การกดปุ่มบนหรือปุ่มล่างค้างไว้ เช่น อาจให้กดปุ่มบนค้างไว้ เพื่อเข้าหน้าจอรีโมทควบคุมการเล่นเพลงบนมือถือไปเลยก็ได้
- Date & Time: ใช้ตั้งค่าการแสดงเวลา ว่าจะให้แสดงแบบ 12 หรือ 24 ชั่วโมง และสามารถตั้งได้ว่าจะใช้โซนเวลาไหน
- Display: ตั้งค่าได้ว่าจะให้ไฟ LED backlight ทำงานหรือเปล่า รวมถึงตั้งค่าได้ว่าจะให้การตรวจจับเวลายกข้อมือมาแล้วไฟติด ทำงานหรือเปล่า
- System: ใช้แสดงข้อมูลเฟิร์มแวร์, ซีเรียลนัมเบอร์ รวมถึงใช้ปิดการทำงาน และใช้รีเซ็ต Pebble Time ได้ด้วย
ส่วนในภาพขวาบนสุดก็เป็นหน้าจอรีโมทควบคุมการเล่นเพลงของมือถือครับ สามารถสั่งหยุดเล่น สั่งเปลี่ยนเพลง ปรับระดับเสียงได้ในตัว ซึ่งการปรับก็ค่อนข้างทันใจดีครับ ทีนี้ใครใช้หูฟังแบบไม่มีรีโมทควบคุมการเล่นเพลงก็ไม่ต้องกลัวละ กดเปลี่ยนเพลงจากนาฬิกาได้เลย
ในภาพบนซ้ายสุดเป็นภาพจากในเมนูรวมการแจ้งเตือน (notifications) ที่เคยเด้งขึ้นมาทั้งหมดครับ สำหรับในเวลาใช้งานจริง เมื่อมีการแจ้งเตือนเด้งขึ้นมาในมือถือ มันก็จะมาปรากฏบน Pebble Time พร้อมการสั่น (ถ้าเราเปิดให้มันสั่นด้วยนะ) แบบแทบจะทันทีกับในมือถือเลย ทำให้เราสามารถพลิกข้อมือดูได้ว่ามีใครส่งอะไรมา หรือมีแอพตัวไหนแจ้งเตือนบ้าง ซึ่งหน้าจอที่ขึ้นมาใน Pebble Time ก็จะมีไอคอนแอพขึ้นมา พร้อมทั้งมีชื่อคนส่งมา (ในกรณีที่เป็นอีเมล หรือแชท) และก็มีตัวอย่างข้อความช่วงแรกมาให้ด้วย ทำให้เราสามารถอ่านและพอทราบเรื่องราวคร่าวๆ ได้เลย ไม่ต้องหยิบมือถือขึ้นมาดูทุกครั้ง แถมถ้าใช้ร่วมกับมือถือ Android เรายังสามารถใช้เสียงสั่งงานและตอบกลับไปได้อีกด้วย สำหรับแอพที่แสดงขึ้นมาเป็นการแจ้งเตือนนั้น บอกเลยว่าได้ทุกแอพ อย่างพวกแอพหลักๆ เช่น Facebook, Twitter, LINE, Instagram, Gmail, SMS, สายเรียกเข้า พวกนี้จะมีไอคอนเฉพาะของตัวเอง ทำให้เข้าใจได้ทันทีว่ามาจากไหน ส่วนแอพที่ไม่มีไอคอนบน Pebble Time เช่น Ebay ก็จะใช้เป็นไอคอนรูปกระดิ่งแทน ส่วนข้อความพรีวิวก็ขึ้นมาตามปกติครับ โดยจะมีการเก็บข้อมูลการแจ้งเตือนไว้ให้ย้อนดูได้ 1 สัปดาห์ แถมยังเก็บสถานะเอาไว้ด้วยว่าตอนนั้น แบตเตอรี่ของ Pebble Time เหลือกี่เปอร์เซ็นต์
จะติดก็แค่เฟิร์มแวร์ของ Pebble Time ตอนนี้มันยังไม่สามารถแสดงภาษาไทยได้ครับ ภาษาญี่ปุ่นก็เช่นกัน แต่คาดว่าน่าจะมีเฟิร์มแวร์ที่อ่านภาษาไทยได้ออกมาในภายหลังแน่ๆ เหมือนกับใน Pebble รุ่นแรกที่มีคนทำเฟิร์มแวร์อ่านภาษาไทยได้ออกมาให้โหลดมาใช้งานกัน
ภาพกลางก็เป็นแอพนาฬิกาปลุกที่ฟังก์ชันก็เหมือนๆ นาฬิกาปลุกทั่วไปครับ โดยมันจะใช้การสั่นเพื่อปลุก ไม่มีเสียงนะ
ภาพริมขวาสุดก็เป็นเมนู Watchfaces ที่ใช้สำหรับเปลี่ยนหน้าปัดนาฬิกาจากคอลเลคชั่นที่เราโหลดไว้แล้ว โดยในนี้สามารถเปลี่ยนรูปแบบได้อย่างเดียวนะครับ ที่อยากตั้งค่า ปรับการแสดงผล ตามที่แต่ละรูปแบบรองรับ ต้องเข้าไปปรับจากแอพบนมือถืออย่างเดียว
มาดูตัวอย่างแอพบน Pebble Time กันบ้าง ภาพแรกคือแอพ Swarm ครับ ซึ่งชาวผู้ใช้ Foursquare และ Swarm บนมือถือคงคุ้นเคยกันดี กับแอพเช็คอินและหาข้อมูลสถานที่ต่างๆ สำหรับบน Pebble Time เราก็สามารถใช้เช็คอินในบริเวณใกล้เคียงได้เลย คนชอบกดเช็คอินคงชอบน่าดู เพราะทีนี้ก็ไม่ต้องมากดมือถือแล้ว กดผ่านนาฬิกาแทน แต่ถ้าชื่อสถานที่ดันเป็นภาษาไทยซะหมดก็คงยากหน่อย เพราะจอ Pebble Time มันแสดงภาษาไทยยังไม่ได้นั่นเอง มันจะขึ้นเป็นตัวสี่เหลี่ยมเหมือนกันไปหมด
ส่วนภาพที่สองและสามก็เป็นเกม Tiny Bird ที่คุ้นเคยกันนี่เอง การเล่นก็ไม่ยากครับ แค่กดปุ่มบนเพื่อให้นกบินสูงขึ้นเท่านั้นเอง วิธีการเล่นก็เหมือนที่เป็นเกมบนมือถือเลย
ซึ่งทั้งสองแอพนี้ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่มีบน Store ของ Pebble เท่านั้นเอง โดยตัว Pebble Time นี้ก็สามารถดาวน์โหลดแอพของ Pebble รุ่นแรกที่เป็นภาพขาวดำมาใช้งานได้ด้วยเช่นกัน ทำให้จำนวนแอพและเกมมีให้เลือกใช้งานมากมายจนแทบเล่นไม่หมดเลยแหละ
ข้อมูลอีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ แอพพลิเคชันเหล่านี้ จะมีแค่บางส่วนที่ติดตั้งบนหน่วยความจำของ Pebble Time โดยตรงนะครับ บางส่วนจะใช้การเก็บข้อมูลบนมือถือ พอเวลาเปิดแอพขึ้นมาบน Pebble มันก็จะไปดึงข้อมูลจากในมือถือมาผ่านทาง Bluetooth ที่เชื่อมต่อกันอยู่ จากนั้นจึงสามารถใช้งานได้ ถ้าหากเราไม่ได้เชื่อมต่อ Bluetooth ก็จะใช้งานแอพเหล่านี้ไม่ได้ด้วยนะ โดยเฉพาะพวกแอพที่ต้องดึงข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตมาแสดง เช่นแอพแสดงฟีดข่าว เป็นต้น
ทีนี้ก็เป็นเรื่องของระบบหลักใน Pebble Time แล้วครับ จากแต่เดิมในรุ่นแรกจะใช้เป็นระบบการอิงจากแอพพลิเคชันเป็นหลัก แต่ในคราวนี้ระบบได้เปลี่ยนไปเป็นการอิงตามช่วงระยะเวลา หรือที่ใช้ชื่อว่า Timeline แทน โดยจะยึดว่าเราอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเราสามารถย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ นัดหมาย ปฏิทินต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตด้วยการกดปุ่มบน (ทางขวาของตัวเรือน) ย้อนๆๆ ขึ้นไป ซึ่งตัวผมเองลงแอพฟีดข่าวต่างประเทศเอาไว้ด้วย ดังนั้นจึงมีการแสดงข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาอย่างในภาพซ้ายบนเลย
ส่วนถ้าอยากดูเหตุการณ์ นัดหมายต่างๆ ที่วางแผนไว้ในอนาคต ก็ให้กดปุ่มล่างลงมาเรื่อยๆ ก็จะพบข้อมูลหลายๆ อย่างเช่น เวลาดวงอาทิตย์ตก/ขึ้นที่จะเกิดในวันนี้และวันพรุ่งนี้ ส่วนพวกตารางนัดหมายต่างๆ รวมถึงวันเกิด ก็จะอิงตามปฏิทินในมือถือครับ ซึ่งเราสามารถเข้าไปตั้งค่าได้ว่าจะให้ดึงข้อมูลจากปฏิทินใดบ้างได้จากในตัวแอพพลิเคชันที่ใช้ร่วมกับ Pebble Time ส่วนถ้าอยากดูข้อมูลของแต่ละนัดหมายเพิ่มเติม ก็ให้กดปุ่มกลางตกลงเข้าไปดูข้อมูลต่อได้ครับ ดังนั้นถ้าจะลงตารางนัดหมายอะไร แนะนำว่าลงข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษจะดีกว่า เพราะสามารถอ่านบน Pebble Time ได้ ตัวอย่างของระบบ Timeline ก็ทำความเข้าใจได้จากภาพของ Pebble ได้เลยครับ
ดูแล้ว Pebble Time น่าจะเหมาะกับคนที่ต้องมีนัดหมายเยอะๆ เพราะมันมีตัวช่วยให้เราสามารถดูตารางนัดหมายได้ง่าย และมีตัวช่วยแจ้งเตือนได้ดีครับ ก็สมกับความเป็นสมาร์ทวอทช์ดีนะ เพราะมันช่วยให้เราทำงานได้สะดวกขึ้นจริงๆ
ขึ้นชื่อว่าเป็นสมาร์ทวอทช์ก็ย่อมต้องใช้งานคู่กับสมาร์ทโฟนเพื่อซิงค์ข้อมูลซึ่งกันและกัน โดยจำเป็นจะต้องซิงค์กันเวลาเปิดใช้งานครั้งแรก ส่วนถ้าหลังจากนั้นแล้ว อยากจะใช้เป็นนาฬิกาข้อมือปกติ ไม่รับข้อมูล ไม่ใช้ฟีเจอร์ต่างๆ ก็ตามสบายเลย ไม่ต้องเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนก็ได้ แต่ก็คงจะไม่คุ้มเงินที่เสียไปอย่างแน่ๆ เนอะ
สำหรับแอพพลิเคชันที่ใช้ก็มีชื่อว่า Pebble Time ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากทั้งบน App Store สำหรับ iOS และ Play Store สำหรับ Android ครับ ส่วนแอพที่มีชื่อว่า Pebble เฉยๆ นั้นจะใช้ได้กับ Pebble รุ่นแรกเท่านั้นนะ ไม่ต้องโหลดให้เสียเวลา โหลดตัว Pebble Time ไอคอนสีเงินๆ มาใช้ได้เลย
เมื่อเปิดใช้งานครั้งแรก เราก็ต้องจัดการจับคู่นาฬิกาของเราเข้ากับมือถือก่อน โดยการเปิด Bluetooth ที่ตัวเครื่อง จากนั้นก็จับคู่กัน เมื่อเรียบร้อยแล้ว ตัวแอพในมือถือก็จะจัดการเช็คเวอร์ชันเฟิร์มแวร์ ถ้ายังไม่ล่าสุดก็จะดาวน์โหลดและติดตั้งให้อัตโนมัติครับ ระหว่างนั้นก็จะมีการขอ permission ในการทำงานกับฟังก์ชันต่างๆ ของเครื่องด้วย เช่นขอการใช้งานเรื่องการระบุตำแหน่ง ขอการใช้งานในการแสดง notifications เป็นต้น
หลังจากจับคู่ จัดการเรื่องการเชื่อมต่อเรียบร้อยแล้ว ก็จะพบกับหน้าหลักของแอพครับ โดยถ้ากดปุ่มเมนูทางมุมซ้ายบน ก็จะเป็นเมนูหลักให้เลือกด้วยกัน 5 ข้อ ได้แก่
- My Pebble: เป็นหน้าปรับแต่งหลักของ Pebble Time มีแท็บให้ปรับทั้งส่วนของหน้าปัดและแอพพลิเคชัน
- Get Watchface: ไปยังหน้า Store รวมหน้าปัด
- Get Apps: ไปยังหน้า Store รวมแอพพลิเคชัน
- Settings: ไปหน้าตั้งค่าของแอพ Pebble Time (มีเมนูเปิดโหมดสำหรับนักพัฒนา และเมนูเปิด/ปิดการส่งข้อมูลกลับไปยังผู้ผลิต)
- Support: รวมข้อมูล ช่องทางการติดต่อ รวมถึงใช้ทดสอบและใช้อัพเดตเฟิร์มแวร์ Pebble Time ด้วย
สำหรับในเมนู My Pebble ก็จะแบ่งเป็นสองแท็บอย่างที่กล่าวไปข้างต้นครับ แท็บแรกคือ Watchfaces ที่เป็นศูนย์รวมหน้าปัดที่เราดาวน์โหลดจาก Store ลงมาในมือถือแล้ว ซึ่งเราสามารถเลือกเปลี่ยนได้จากในแอพเลยเหมือนกัน รวมถึงถ้าแบบไหนมีสัญลักษณ์รูปเฟืองอยู่ตรงมุมซ้ายบนของอันนั้นๆ เราก็สามารถปรับแต่งรูปแบบการแสดงผลของมันได้อีก อย่างในสองภาพแรกครับ ผมลองกดเลือกปรับหน้าตาของหน้าปัดลาย Implode ดู ก็จะเห็นเลยว่ามันปรับได้หลากหลายมากๆ ซึ่งก็แล้วแต่ทางผู้สร้างแต่ละลายแต่ละรูปแบบด้วยนะครับ ว่าจะปรับอะไรได้ขนาดไหนบ้าง บางลายปรับไม่ได้เลยก็มีเหมือนกัน
ส่วนสองภาพขวา จะเป็นแท็บ Apps/Timeline ที่เป็นแท็บรวมแอพพลิเคชันที่ติดตั้งบน Pebble Time ของเรา สามารถจัดเรียงลำดับ ตั้งค่าการทำงาน รวมถึงสามารถลบแอพจากในนี้ได้เท่านั้น ไม่สามารถสั่งลบจากบนนาฬิกาได้
ภาพด้านบนนี้ก็เป็นตัวอย่างหน้า Store ของทั้งแอพและหน้าปัดนาฬิกาครับ หน้าตาก็ค่อนข้างเฟรนด์ลี่ เข้าใจง่ายอยู่นะ มีการจัดแยกเป็นหมวดหมู่ สามารถเข้าไปดูข้อมูลรายละเอียดของแต่ละตัวได้ มีภาพตัวอย่างให้ดู ถ้าต้องการดาวน์โหลดก็กดปุ่ม ADD ได้เลย ส่วนแอพบางตัว อาจจะต้องการแอพที่ออกแบบมาให้ใช้งานคู่กันบนมือถืออีก อันนี้ที่ตัวแอพจะมีเขียนบอกแต่แรกเลยว่า “Companion App Required” ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกแอพกลุ่มเพื่อสุขภาพ Health & Fitness ครับ ที่ต้องการแอพคู่กันของมันเองบนมือถือด้วย
ส่วนตรงสัญลักษณ์ Android + iOS นั้นก็เป็นสัญลักษณ์บอกว่าสามารถใช้งานได้ทั้งกับมือถือ Android และ iOS จะมีก็แค่แอพบางตัวเท่านั้นที่ใช้งานได้เฉพาะบน iOS หรือ Android เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเกิดมาจากข้อจำกัดของแอพบนมือถือที่ใช้งานร่วมกันเท่านั้น ที่มีลงเฉพาะบาง OS เท่านั้น
เป็นอย่างไรบ้างครับกับ Pebble Time สมาร์ทวอทช์ที่ครบครันที่สุดตัวหนึ่งในขณะนี้ ด้วยความสามารถที่พัฒนาขึ้นมาจากรุ่นแรกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจอสี แอพพลิเคชัน รวมถึงหน้าตาที่ดูเป็นนาฬิกามากขึ้น สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 5,000 – 7,000 บาท จะติดก็ตรงที่เรื่องสถานที่วางจำหน่าย เพราะตอนนี้ยังมีแต่เปิดรับสั่งจองล่วงหน้าบนเว็บไซต์ getpebble.com เท่านั้น ส่วนถ้าหลังเริ่มวางจำหน่ายทั่วไปแล้ว ก็น่าจะหาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายแก็ดเจ็ตชื่อดังทั้งหลายครับ แต่จะมาที่ราคาเท่าไหร่ก็ไม่ทราบเหมือนกันนะ แต่คงมีบวกจากราคาตั้งต้นพอสมควรเหมือนกัน เพราะ Pebble ยังไม่มีผู้แทนจำหน่ายในไทยอย่างเป็นทางการ
ส่วนเรื่องการรับประกันนั้น Pebble Time จะได้รับระยะการรับประกันนาน 1 ปีเต็ม ถ้าหากของมีปัญหา ก็ต้องส่งอีเมลไปหาทาง Pebble เพื่อแจ้งปัญหาครับ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีคนเคยทำเรื่องแจ้งไปนะ เสร็จแล้วทาง Pebble ก็ส่งเรือนใหม่มาให้เลย โดยที่ไม่ต้องส่งเรือนเก่ากลับไปด้วย เรียกว่าเซอร์วิสกันสุดๆ (แต่ขอให้ไม่มีปัญหาน่าจะดีกว่า)
ปิดท้ายด้วยภาพเปรียบเทียบหน้าตาระหว่าง Pebble Time กับ Sony Smartwatch 3 ที่เป็น Android Wear นะครับ