ช่วงต้นปีนี้ เรียกว่าทาง OPPO นั้นจัดเต็มเลยทีเดียว ด้วยการเปิดตัวมือถือสองรุ่นใหม่อย่าง OPPO N3 ที่เน้นกล้องหมุนได้ และ OPPO R5 ที่เน้นความบาง โฉบเฉี่ยว ซึ่งก็จัดว่าทำออกมาได้น่าสนใจทั้งคู่ โดยในครั้งนี้ ทางเราก็ได้รับ?OPPO R5?มารีวิวให้ทุกท่านได้ชมกัน จะเป็นอย่างไรบ้าง มาดูกันเลย
สเปค OPPO R5
- ชิปประมวลผล Snapdragon 615 (MSM8939) octa-core ความเร็ว 1.5 GHz ชิปกราฟิก Adreno 405
- แรม 2 GB
- หน้าจอ AMOLED ขนาด 5.2 นิ้ว ความละเอียด 1920 x 1080
- รอม 16 GB ไม่มีช่อง MicroSD
- กล้องหลัง 13 ล้านพิกเซล
- กล้องหน้า 5 ล้านพิกเซล แฟลช LED
- ใช้งานได้ 1 ซิม รองรับ 4G LTE ใช้งาน 3G ได้ทุกเครือข่าย
- แบตเตอรี่ 2000 mAh
- ตัวเครื่องหนาแค่ 4.85 มิลลิเมตร
- Android 4.4.4 KitKat ครอบมาด้วย ColorOS
- รองรับการชาร์จไฟเร็ว (VOOC mini)
- มีเทคโนโลยี Cool Element ช่วยระบายความร้อน
- ราคา 15,990 บาท
- สเปค OPPO R5 เต็มๆ
ในแง่ของสเปคนั้น OPPO R5 ก็จัดออกมาได้ค่อนข้างดีพอสมควร อัดแน่นมาด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ หลายตัวทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นชิปประมวลผลรุ่นใหม่อย่าง Snapdragon 615 ที่ทั้งรองรับการประมวลผลแบบ 64 บิท มีคอร์ประมวลผลให้มา 8 คอร์ แบ่งเป็นสองชุด คือ 4 คอร์สำหรับประมวลผลหนักๆ อีก 4 คอร์สำหรับประมวลผลงานเบาเพื่อเน้นการประหยัดพลังงาน หน้าจอก็ให้มาขนาด 5.2 นิ้ว Full HD กำลังดี ภาพชัดสดใส ทั้งยังรองรับการเชื่อมต่อ 4G LTE ในตัว ทำให้สามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตบนมือถือได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญคือมาพร้อมความบางเพียง 4.85 มิลลิเมตรเท่านั้น ติดอันดับต้นๆ ของสมาร์ทโฟนที่บางเฉียบที่สุดของโลกในขณะนี้เลยด้วย
ว่าถึงตัวเครื่อง เรามาดูรีวิวดีไซน์ OPPO R5 กันเลยดีกว่าครับ
ข้อดี
ข้อสังเกต
บทสรุป
THINNEST PHONE
Design
ดีไซน์โดยรวมของ OPPO R5 ต้องบอกว่าเน้นความเรียบแบนมากๆ เริ่มตั้งแต่ส่วนของหน้าจอที่เป็นจุดเด่นที่สุดด้านหน้าของเครื่องเลย เนื่องจากเป็นหน้าจอ AMOLED ที่ความละเอียดสูงถึงระดับ Full HD ทำให้ภาพหน้าจอนั้นสวยเนียนจนแทบจะเหมือนเอาสติ๊กเกอร์มาแปะหน้าจอเอาไว้เลย เรื่องสีสัน โทนสี เฉดสีก็ไม่ต้องห่วง เนื่องจากใช้เป็นจอ AMOLED ทำให้ภาพที่ออกมาดูสวย มีมิติ contrast ออกมาได้ดี โดยเฉพาะภาพโทนสีดำ ที่ให้สีดำออกมาสมจริง จะติดก็แต่ตรงขอบๆ จอที่มีขอบดำอยู่เท่านั้นเอง ถ้าทำเป็นขอบภาพอยู่ติดกับขอบขาวของตัวเครื่องเลย น่าจะสวยกว่านี้มากแน่ๆ ส่วนมุมมองภาพก็ทำออกมาได้ดีมาก เนื่องจาก OPPO R5 เลือกใช้พาเนลจอที่มีคุณภาพดี ทำให้สามารถมองหน้าจอได้อย่างชัดเจนในแทบทุกมุมมอง จะใช้งานกลางแจ้งก็ทำได้น่าพอใจ
หันมาดูด้านล่าง ก็จะพบปุ่มกดสั่งงานทั้งสามปุ่ม ที่เป็นปุ่มแบบสัมผัส โดยเป็นปุ่มเมนู (กดค้างเพื่อเปิดหน้า recent apps), ปุ่มโฮม (กดค้างเพื่อเปิด Google Now) และปุ่มย้อนกลับที่อยู่ด้านขวาสุด ที่ตัวปุ่มจะไม่มีไฟ LED ส่องสว่างนะครับ ส่วนด้านบนก็เป็นเหล่าเซ็นเซอร์วัดแสง วัดระยะ และกล้องหน้าตามปกติ ระยะการวางนิ้วสำหรับกดปุ่มก็ค่อนข้างโอเค ไม่ห่างเกินไป พอใช้งานได้สะดวกครับ
ความรู้สึกเมื่อได้สัมผัส OPPO R5 ครั้งแรก ส่วนตัวผมรู้สึกว่ามันหนักมือไปนิด แต่แน่นมากๆ ด้วยการที่ต้องเน้นออกแบบให้ตัวเครื่องบางเฉียบเพียง 4.85 มิลลิเมตร จึงทำให้ต้องอัดชิ้นส่วนลงไป ประกอบกับต้องใช้วัสดุที่แน่นหนา แข็งแรง จึงทำให้ OPPO R5 ออกมาค่อนข้างจะหนักมือไปนิด แต่ถ้าถามถึงเรื่องความแข็งแรง อันนี้บอกเลยว่ามั่นใจได้สบายๆ เลยครับ ด้วยการเลือกใช้อะลูมิเนียมเป็นวัสดุหลัก และใช้ขอบเป็นโลหะเพื่อเสริมความแข็งแรง รับรองว่าไม่มีงอ ไม่มีหัก เหมือนมือถือหลายๆ รุ่นแน่นอน ขนาดผมลองจับงอเครื่องเล่นๆ ยังปวดนิ้ว แต่เครื่องนี่แทบจะไม่บิดตามเลย
ส่วนถ้ามาดูด้านหลังของ OPPO R5 ก็จะมองว่าหน้าตาไปดูคลับคล้ายคลับคลาสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่นในตลาดอยู่พอสมควร ด้วยการออกแบบให้เกือบ 90% เป็นสีเงิน ปิดหัวท้ายด้วยพลาสติกสีขาวเพื่อช่วยในการรับสัญญาณ แต่ในตัวของ OPPO R5 ต้องบอกว่ามันแข็งแกร่งกว่าทุกๆ รุ่นที่ดีไซน์คล้ายกันมากๆ ครับ ด้วยความหนาแน่นของเครื่อง ผสมกับวัสดุคุณภาพดีที่ OPPO เลือกใช้ ทำให้รู้สึกแตกต่างไปจากที่เคยสัมผัสจริงๆ ส่วนคุณภาพงานประกอบก็สมราคามากๆ ทำออกมาได้ยอดเยี่ยม ไม่มีส่วนที่เป็นตำหนิ หรือดูไม่สวยงามโผล่ออกมาเลย ต้องยอมรับเลยว่าปัจจุบันนี้ บริษัทจีนใส่ใจเรื่องพวกนี้มากขึ้นจริงๆ ครับ เผลอๆ จะทำออกมาได้ดีกว่าพวกอินเตอร์แบรนด์หลายรายด้วยซ้ำไป
จะติดก็ตรงที่โมดูลกล้องนูนออกมาจากฝาหลังพอสมควร ทำให้ในการใช้งานจริง การจับถือ รวมถึงการวางเครื่องจะต้องระมัดระวังอยู่เหมือนกัน แต่ยังดีที่ขอบกระจกปิดหน้าเลนส์มีขอบอะลูมิเนียมอยู่ ช่วยป้องกันการกระแทกกระจกได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าใส่เคสก็ไม่ต้องห่วงเลยครับ เพราะเคสตามปกติจะหนาขึ้นมาปิดส่วนกล้องไว้เรียบร้อยอยู่แล้ว
ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าที่ขอบเครื่องมีการตัดและเจียขอบโลหะให้แวววาว เพิ่มความหรูหราเข้าไปอีก ซึ่งลักษณะก็จะคล้ายๆ กับที่เราเห็นบน iPhone 5/5s แต่ทำออกมาได้เนียน ไม่บาดมือ ทำให้ทั้งดูสวย และเมื่อมองจากด้านข้างก็จะดูว่าเครื่องบางมากๆ อีกด้วย รวมๆ แล้วโอเคเลยล่ะ ใช้งานง่าย ไม่คมจนเกินไป
นอกเหนือจากโครงสร้างภายนอกที่แข็งแกร่ง สวยงามแล้ว ภายในของ OPPO R5 ก็ยังได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดีอีกต่างหาก ด้วยระบบ Cool Element ที่พิถีพิถันทั้งการเลือกใช้วัสดุ และการออกแบบโครงสร้างให้สามารถระบายความร้อน และรักษาประสิทธิภาพของตัวเครื่องให้สามารถทำงานได้เต็มที่ แม้ภายในจะมีความร้อนสูงขึ้นมาก็ตาม เนื่องจากระบบ Cool Element จะช่วยให้สามารถระบายความร้อนได้เร็วขึ้น ความร้อนไม่สะสมในตัวเครื่อง ซึ่งนับว่าช่วยลดอาการเสื่อมสภาพของแผงวงจรและแบตเตอรี่ได้ด้วย สำหรับในจุดนี้ เราอาจจะยังมองไม่เห็นในระยะสั้นๆ ครับ เพราะจะให้ผลต่อเมื่อใช้เครื่องซักระยะหนึ่งมากกว่า แต่เท่าที่สัมผัสและใช้งานในช่วงรีวิว ก็พบว่าตัวเครื่องสามารถระบายความร้อนได้เร็วจริง ถึงจะร้อนก็ร้อนไม่นาน เพราะสามารถระบายได้ทั้งส่วนของแผงอลูมิเนียมด้านหลัง และส่วนของขอบโลหะด้านข้างเลย
เมื่อมองด้านข้างของ OPPO R5 ก็จะเห็นเลยว่าตัวเครื่องบางมากๆ มีการวางให้ถาดใส่ซิมอยู่ทางฝั่งซ้ายล่างของเครื่อง ซึ่งต้องใช้เข็มจิ้มซิมดึงออกมา มีช่อง Micro USB อยู่ด้านล่าง ปุ่มกดทั้งปุ่ม Power และปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงอยู่ด้านขวา ในตำแหน่งที่สามารถใช้นิ้วหัวแม่มือกดได้สะดวก ส่วนช่องที่หายไปก็คือช่องเสียบแจ็คหูฟัง ซึ่งจะต้องใช้ช่องเดียวกับ Micro USB (มีตัวแปลงให้มาในกล่อง)
Software
OPPO R5 เครื่องนี้มาพร้อมกับรอม Android 4.4.4 KitKat ที่ครอบด้วยอินเตอร์เฟส ColorOS เวอร์ชันล่าสุด ซึ่งได้รับการปรับแต่งไอคอน และเมนูในบางจุดให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น เน้นสีสันสวยงาม ดูเรียบง่ายดี การใช้งานโดยรวมก็ไหลลื่นเป็นอย่างดี การเปิด/ปิดแอพก็ทำได้เร็ว ด้วยทั้งซอฟต์แวร์ที่ปรับแต่งมาได้ดี และด้วยแรมที่ให้มา 2 GB จึงทำให้สามารถใช้งาน OPPO R5 ได้สบายๆ ไม่ต้องกังวลเลยว่าจะหนืด จะเอื่อย ช้าไม่ทันใจ
จะติดก็แต่เรื่องความจุรอมนี่ล่ะครับ เพราะ OPPO R5 มีพื้นที่มาให้ 16 GB เหลือใช้งานได้จริงราวๆ 10 กว่า GB แถมไม่รองรับ MicroSD ทำให้อาจจะต้องจัดสรรพื้นที่กันดีๆ ซะหน่อย จะใส่หนัง ใส่เพลง ใส่ไฟล์งานก็ลองดูดีๆ หรือยังไงก็อาจจะต้องพึ่งพาพื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์อย่างพวก DropBox อะไรทำนองนี้เพิ่มเติมเอานะ
ฟีเจอร์อื่นๆ ที่น่าสนใจในรอมของ OPPO R5 ก็คือการสั่งงานด้วยท่าทาง (gesture & motion) ที่มีให้ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การสั่งงานระหว่างหน้าจอเปิดอยู่ เช่น การเปิดใช้งานกล้องด้วยการขยุ้มหลายๆ นิ้วบนหน้าจอ การสั่งล็อคหน้าจอด้วยการแตะจอสองครั้งติดๆ กัน การแคปภาพหน้าจอด้วยการใช้สามนิ้วเลื่อนจอไปข้างบน แล้วเลื่อนกลับลงมาข้างล่างทันที เป็นต้น หรือถ้าปิดหน้าจออยู่ ก็สามารถแตะนิ้วที่จอสองครั้งติดๆ กันเพื่อเปิดหน้าจอขึ้นมาก็ได้ด้วย จะโบกมือเหนือหน้าจอเพื่อเลื่อนหน้า หรือเปลี่ยนรูปที่กำลังดูอยู่ก็สามารถทำได้บน OPPO R5 เครื่องนี้เลย ชอบตัวไหน อยากใช้ตัวไหน ก็สามารถเปิดหรือปิดฟีเจอร์ได้ตามใจชอบด้วยนะ
ส่วนในด้านของการจัดการพลังงาน ก็จะมีหน้าจอพิเศษเพิ่มขึ้นมาครับ และแน่นอนว่ามันมีโหมดประหยัดพลังงานแบบพิเศษมาให้ด้วย (Super Power-saving) ที่จะตัดการเชื่อมต่อ และการทำงานที่กินพลังงานสูงออก เหลือแต่ให้สามารถใช้โทรศัพท์ รับส่งข้อความและดูนาฬิกาได้เท่านั้น สำหรับระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่?OPPO R5 ก็จัดว่าทำได้ดีพอสมควรครับ ถ้าใช้งานจริงก็สามารถอยู่ได้จนเกือบหมดวันอยู่นะ กับรูปแบบการใช้งานทั่วๆ ไป เล่นเน็ต ฟังเพลง แชท เล่น Facebook ถ่ายรูป อัพรูปลงไอจี
แต่จากในภาพด้านบน ผมลองปล่อยสแตนด์บายไว้ ต่อเน็ต WiFi เป็นหลัก ผลคือสามารถอยู่ได้ 5 วันครึ่ง แถมยังเหลือแบตอีก 31% ซึ่งระบบก็คำนวณมาแล้วว่าจะสามารถใช้งานได้อีกเกินครึ่งวันเลย อันนี้ไม่ได้เปิดโหมดประหยัดพลังงานเลยนะครับ
Feature
สำหรับ OPPO R5 เรื่องที่จะไม่พูดถึงคงจะไม่ได้เลยก็คือเรื่องของความบาง ความแข็งแกร่งนี่ล่ะครับ เพราะเป็นจุดเด่นที่สุดของเครื่องเลย จากภาพด้านบนก็จะเห็นเลยว่าตัวเครื่องบางมาก มีความหนากว่าเหรียญ 10 บาทสองเหรียญซ้อนกันนิดเดียวเอง บางกว่าดินสอและปากกาที่ใช้กันทั่วไปซะด้วยซ้ำ รับรองว่าถ้าใครอยากได้มือถือเครื่องบางๆ พกง่าย OPPO R5 ตอบโจทย์ได้อย่างแน่นอน
ส่วนถ้าพูดเรื่องของความแข็งแกร่ง เห็นตัวเครื่องบางๆ แบบนี้ แต่ขอบอกเลยว่าทนเหลือเชื่อครับ เนื่องด้วยบอดี้ภายนอกที่เป็นอะลูมิเนียม ขอบเครื่องก็เป็นโลหะ โครงสร้างภายในแข็งแรง งานประกอบก็ทำมาได้ดี ทำให้ OPPO R5 เป็นหนึ่งในมือถือที่แข็งแกร่งที่สุดรุ่นหนึ่งเลย จะขนาดไหน ลองชมจากคลิปโฆษณาของ OPPO ด้านบนครับ ใช้ผ่าผลไม้ได้สบายๆ รถทับก็ไม่พัง
อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่น่าสนใจมากก็คือ VOOC ที่ทำให้สามารชาร์จแบตเตอรี่ได้เร็ว ชาร์จ 5 นาที ก็สามารถใช้คุยโทรศัพท์ได้นานถึง 2 ชั่วโมง รับรองว่าหมดปัญหาเรื่องแบตหมดแน่ๆ (หลายคนอาจจะไม่ค่อยชอบนะ 555+) หรือถ้าชาร์จครึ่งชั่วโมง ก็สามารถเพิ่มปริมาณแบตเตอรี่ได้ถึง 75% เลยทีเดียว นับว่าเป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์มากๆ โดยเฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องใช้งานมือถือเกือบตลอดเวลา จนแทบไม่มีเวลาชาร์จแบต ขอเวลาแค่ไม่กี่สิบนาทีเท่านั้นเอง
แต่ฟีเจอร์นี้ก็ย่อมมีข้อจำกัดอยู่บ้างเหมือนกันครับ เพราะจะต้องใช้อะแดปเตอร์และสาย Micro USB ของ OPPO เอง โดยเฉพาะตัวสายที่จะได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ ให้สามารถจ่ายไฟได้มากกว่าสายปกติ สังเกตที่บริเวณหัว Micro USB จะเป็นสีเขียว ซึ่งจะต้องใช้สายนี้เท่านั้นในการใช้งานฟีเจอร์ VOOC ส่วนถ้าใช้สายอื่น ก็จะเป็นการชาร์จในความเร็วระดับปกตินะครับ แต่ก็ยังชาร์จเข้านะ ไม่มีปัญหา
ส่วนถ้าจะเอาสายและอะแดปเตอร์ของ OPPO R5 ไปชาร์จมือถือเครื่องรุ่นอื่นๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่จะชาร์จได้เร็วไม่เท่ากับใช้บน OPPO R5 เหตุเพราะที่ตัวเครื่องไม่มีชิปที่รองรับฟีเจอร์ VOOC ซึ่งก็อาจจะทำให้ชาร์จได้เร็วขึ้นแค่นิดหน่อยเท่านั้น ไม่เต็มที่ 100%
Camera
กล้องถ่ายรูปของ OPPO R5 ก็ยังคงยกจุดเด่นมาจากรุ่นก่อนๆ อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะกล้องหน้าที่มีโหมดบิวตี้ฟรุ้งฟริ้งให้เลือกใช้งานแบบง่ายๆ ใส่ฟิลเตอร์กันตั้งแต่ตอนถ่ายเลย รับรองว่าออกมาหน้าใสเนียนเลยทีเดียว หรือจะเป็นกล้องหลังที่มีโหมดให้เลือกถ่ายกันได้มากมาย ไม่ว่าจะโหมดธรรมดา โหมด advance ขึ้นมานิดนึง โหมดพาโนรามา โหมดมาโคร รวมถึงยังมีโหมดถ่ายภาพความละเอียดสูง ซึ่งให้ภาพที่มีความละเอียดสูงสุดถึง 50 ล้านพิกเซล ด้วยเทคโนโลยี Pure Image 2.0 ที่จะถ่ายภาพทั้งหมด 10 ภาพอย่างรวดเร็ว แล้วนำภาพมาประมวลผลรวมกัน เพื่อให้ได้ภาพความละเอียดสูงมากๆ เหมาะกับการนำมาซูมเพื่อเลือกส่วนที่ดีที่สุด หรือจะนำไปพิมพ์ติดเป็นแผ่นบิลบอร์ดเลยก็ยังไหว
อีกจุดที่ OPPO R5 ทำได้ถูกใจก็คือเรื่องความเร็วในการโฟกัสนี่ล่ะครับ เพราะสามารถโฟกัสได้เร็วมาก จากข้อมูลในเว็บไซต์ OPPO มีบอกว่าใช้เวลาโฟกัสสูงสุดเพียง 0.18 วินาที ทำให้สามารถถ่ายภาพได้อย่างรวดเร็ว รับรองว่าไม่พลาดทุกช็อตสำคัญแน่นอน ส่วนตัวอย่างภาพถ่ายจะเป็นอย่างไร มาดูกันเลย
Performance
ปิดท้ายด้วยผลทดสอบประสิทธิภาพซักเล็กน้อยครับ ตรงจุดนี้ OPPO R5 ก็ทำได้ดีพอสมควรนะ ด้วยชิปประมวลผล Snapdragon 615 ซึ่งก็ทำคะแนนได้เหนือกว่า Galaxy S4 ที่ใช้ชิป Snapdragon 600 อยู่พอสมควร (GeekBench) ส่วนคะแนนกราฟิกจาก 3DMark ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ใช้งานทั่วไปได้สบาย จะเล่นเกม 3D ก็เหลือๆ ครับ