หลังจากที่ Huawei จับมือกับ Leica เมื่อสองปีก่อน ทำให้ผลิตภัณฑ์กลุ่มสมาร์ทโฟนของ Huawei เองในซีรีส์ P และ Mate กลายเป็นมือถือที่มีความสามารถของกล้องถ่ายรูปโดดเด่นไม่น้อยหน้าเหล่าแบรนด์เจ้าตลาด แถมสามารถแซงหน้าขึ้นมาเป็นเบอร์ต้นๆ ของโลกเลยด้วยซ้ำ ทั้งมาจากในแง่ของการตลาด และแง่ของตัวผลิตภัณฑ์เองจริงๆ ที่ให้ภาพถ่ายซึ่งมีสไตล์โดดเด่นในสไตล์ Leica โดยในช่วงที่ผ่านมาไม่นาน Huawei ก็จัดงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของตนนั่นคือ Huawei P20 และ P20 Pro ที่มาพร้อมกล้องคุณภาพสูงกว่าเดิมขึ้นไปอีก ทั้งยังมีฟีเจอร์เพิ่มเติมที่น่าสนใจ (บางฟีเจอร์แซงกล้อง DSLR รุ่น entry ไปเลยด้วย) ซึ่งก็แน่นอนครับว่ารุ่นเด่นสุดในรอบนี้ก็ต้องเป็น Huawei P20 Pro ซึ่งเป็นตัวท็อปอย่างไม่ต้องสงสัย
แต่ถ้าหากใครที่คิดว่าไม่จำเป็นต้องซื้อรุ่นท็อปก็ได้ แต่อยากได้ฟีเจอร์ ลูกเล่นที่คล้ายๆ กัน ก็จะมีอีกรุ่นรองลงมาอย่าง Huawei P20 ที่รับรองว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน ซึ่ง SpecPhone เราก็จัดการรีวิวให้ชมอีกเช่นเคยครับ ก่อนอื่นก็มาดูสเปค Huawei P20 ก่อนเลย
สเปค Huawei P20
- ชิปประมวลผล Hisilicon Kirin 970 มี 8 คอร์ ความเร็ว 4x 2.4 GHz และ 4x 1.8 GHz ชิปกราฟิก Mali-G72 MP12 พร้อมหน่วยประมวลผลด้าน AI ในตัว
- รอม 128 GB (เพิ่ม MicroSD ไม่ได้)
- แรม 4 GB
- หน้าจอ IPS RGBW LCD ขนาด 5.8 นิ้ว ความละเอียด 2240 x 1080 อัตราส่วน 18.7:9 มีพื้นที่แหว่งสำหรับกล้องหน้าและลำโพงสนทนา
- Android 8.1 Oreo ครอบด้วย EMUI 8.1
- กล้องหลังเลนส์ Leica ทั้งคู่ มี AI ช่วยประมวลผลภาพ รองรับออโต้โฟกัส พร้อมระบบช่วยโฟกัส และระบบกันสั่น AIS (ใช้ AI ช่วยประมวลผล)
- RGB (สี) : 12 ล้านพิกเซล f/1.8 เซ็นเซอร์ขนาด 1/2.3″ เม็ดพิกเซลขนาด 1.55 ไมครอน มี OIS
- Monochrome (ขาวดำ) : 20 ล้านพิกเซล f/1.6
- รองรับการถ่ายวิดีโอ Super Slow Motion สูงสุด 960fps ที่ความละเอียด 720p
- กล้องหน้า 24 ล้านพิกเซล f/2.0 ไม่สามารถปรับระยะโฟกัสได้ (fixed focus)
- เชื่อมต่อสัญญาณ 4G ได้พร้อมกันทั้ง 2 ซิม (Dual Standby) รองรับ Dual VoLTE
- รองรับ 3CA ในไทย
- เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือที่ปุ่มโฮม มีระบบสแกนใบหน้าด้วยกล้องหน้า
- สามารถรับและปล่อย WiFi 5 GHz ได้
- USB-C 1.0 มี NFC
- ลำโพงในตัวเป็นแบบโมโน ไม่มีช่องเสียบแจ็คหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร
- แบตเตอรี่ 3400 mAh รองรับการชาร์จเร็วแบบ SuperCharge
- มี 3 สีให้เลือกคือ สีดำ สีน้ำเงินมิดไนท์ บลู และสีชมพู พิงค์โกลด์
- ราคา 19,990 บาท
สเปคของ Huawei P20 บางจุดก็จะเป็นการยกมาจาก Mate 10 Pro เช่นส่วนของชิปประมวลผล Kirin 970 ที่มีหน่วยประมวลผลด้าน AI ในตัว ทำให้ฟีเจอร์ด้านของ AI ที่ช่วยประมวลผลการทำงานทั่วไป และด้านการถ่ายภาพ ถูกยกมาอยู่ใน Huawei P20 series ด้วย แถมยังมีการพัฒนาเสริมเขี้ยวเล็บเข้าไปอีก ส่วนด้านของฮาร์ดแวร์กล้องก็แทบไม่ต้องห่วงอยู่แล้ว ไหนจะเลนส์ที่ยังได้ Leica เป็นพันธมิตรอยู่ ด้านเซ็นเซอร์รับภาพก็ได้รับการพัฒนาให้มีขนาดเม็ดพิกเซลใหญ่ขึ้นเป็น 1.55 ไมครอน ซึ่งช่วยให้การรับแสงทำได้ดีขึ้นกว่าเก่า จะมีติดก็แค่กล้องหน้าที่ปรับระยะโฟกัสไม่ได้เท่านั้นเอง
อีกส่วนที่น่าสนใจคือรอมที่จัดเต็มมาเลย 128 GB นับว่าเป็นมือถือราคาไม่ถึง 20,000 บาท ที่ให้รอมมาเยอะมากจริงๆ เพราะส่วนใหญ่แบรนด์อื่นๆ ก็มักจะเจอในรุ่นราคาเฉียดหรือเกิน 30,000 บาทขึ้นไปทั้งนั้นเลย ด้านของจอแสดงผล ประเด็นที่เป็นไฮไลท์ก็หนีไม่พ้นเรื่องจอแหว่งตรงด้านบน เพื่อเป็นพื้นที่ของกล้องหน้า ลำโพงสนทนา และเซ็นเซอร์ที่จำเป็น ยังดีที่ Huawei เองก็มีการบรรเทาปัญหาความรำคาญใจของผู้ใช้มาอยู่เหมือนกัน ซึ่งเดี๋ยวเราจะได้ดูกันในส่วนของรีวิวเต็มๆ ด้านล่างครับ
สำหรับท่านที่ยังสงสัยอยู่ว่า Huawei P20 และ P20 Pro มีอะไรที่ต่างกันบ้าง ผมสรุปไว้ในตารางนี้เลยแล้วกัน
ความแตกต่างของทั้งสองรุ่นนี้ หลักๆ แล้วที่สำคัญก็คือเรื่องกล้องครับ เพราะเลนส์ที่เพิ่มเข้ามาใน Huawei P20 Pro คือเลนส์เทเลสำหรับการถ่ายภาพระยะไกล ทำให้ลูกเล่นของการถ่ายภาพที่เพิ่มเข้ามาของ P20 Pro มันเป็นจุดที่ความสามารถของ P20 ไม่สามารถชดเชยได้ รวมถึงความละเอียดของเลนส์ RGB และ Mono ก็ต่างกันด้วย แต่ที่สำคัญเลยคือ ที่จริงแล้วภาคเซ็นเซอร์รับภาพของ P20 Pro และ P20 ก็มีความแตกต่างกันด้วย โดยของ P20 Pro จะมีขนาดใหญ่กว่า ทำให้ความสามารถในการรับแสงทำได้ดีกว่า P20 ส่งผลให้ระบบสามารถใช้ ISO ในการถ่ายรูปได้สูงสุดถึง 102,400 ต่างจาก P20 ที่ทำได้ไม่สูงเท่า
ส่วนสเปคอื่นๆ ที่แตกต่างกัน เช่น หน้าจอ แรม แบตเตอรี่ พวกนี้น่าจะเป็นปัจจัยรองมากกว่าครับ ถ้าคิดว่าต้องการมือถือกล้องดีๆ ราคาคุ้ม สเปคแรงมาใช้งาน ก็จัด Huawei P20 มาใช้งานได้เลย (สีชมพูมีเฉพาะ P20 เท่านั้นด้วยนะ) แต่ถ้าต้องการเน้นกล้องให้สุดทางไปเลย แนะนำว่าคงต้องเป็น P20 Pro เท่านั้นครับ แต่ราคาเครื่องก็ต่างกันราว 8,000 บาทเลย
Design / การออกแบบ
พูดกันตามตรง ดีไซน์ของ Huawei P20 ก็นับว่าเป็นไปตามเทรนด์ของมือถือรุ่นเรือธงในปัจจุบันเลยครับ คือเน้นขอบจอบาง 3 ด้าน โดยปล่อยให้ด้านบนแหว่งเล็กน้อยเพื่อเป็นพื้นที่ของกล้องหน้า ลำโพงสนทนา ไฟ LED แจ้งเตือนตรงกลางสุดขอบด้านบน และแผงเซ็นเซอร์วัดแสง เซ็นเซอร์วัดระยะห่าง มุมทั้งสี่ของภาพจะเป็นขอบโค้งมน ซึ่ง Huawei เรียกจอประเภทนี้ของตัวว่า FullView Display สำหรับใน Huawei P20 นี้ พาเนลจอจะเป็น LCD IPS ที่ใช้การวางเม็ดพิกเซลสีแบบ RGBW ในการผสมแสงสีต่างๆ ออกมาเป็นภาพ ซึ่งข้อดีของมันคือการที่มี W (สีขาว) เข้ามา ทำให้ภาพที่เป็นสีขาวมันขาวจริงๆ ต่างจากสีขาวที่เกิดจากการผสมของแสงสีอื่นๆ อีกหนึ่งข้อดีของจอ P20 ก็คือ ไม่ต้องกลัวปัญหาจอเบิร์นที่มักเกิดในจอ OLED อีกด้วย
ภาพที่ได้จากจอของ P20 จัดว่าสวย คมชัด สีสันสดใสดีมาก ส่วนความละเอียดก็อยู่ที่ระดับ FHD+ ที่ไม่มากไม่น้อยเกินไป อัตราส่วนจอที่เป็น 18.7:9 ก็สามารถใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชันยอดนิยมได้แบบไม่มีปัญหา ที่ดีคือสามารถอ่านเนื้อหาต่อหนึ่งหน้าได้มากขึ้นกว่าจอ 16:9 จะติดก็แค่เวลาดูคลิปวิดีโอที่เป็น 16:9 เท่านั้นเอง ที่ขอบดำจะเยอะหน่อย
ส่วนขนาดเครื่อง ด้วยหน้าจอมีขนาด 5.8″ แต่เป็นขอบบางทั้งสามด้าน ทำให้ตัวเครื่องจริงของ Huawei P20 มีขนาดไม่ใหญ่เกินไป เทียบแล้วแทบไม่ต่างจากมือถือจอ 5.5″ สมัยก่อนมากนัก ทำให้การใช้งาน การพกพาทำได้สะดวก พอจะใช้เครื่องด้วยมือข้างเดียวได้อยู่เหมือนกัน นอกจากนี้ ขอบจอยังมีความโค้งเล็กน้อยจากการใช้กระจกแบบ 2.5D ทำให้การจับถือค่อนข้างถนัดและเข้ามือมากๆ
ทีนี้มาถึงประเด็นสำคัญของจอ Huawei P20 และ P20 Pro แล้วครับ นั่นคือการแหว่งของจอด้านบน ก็อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่ามันแหว่งไว้สำหรับบรรจุฮาร์ดแวร์ที่จำเป็น ซึ่งหลีกเลี่ยงได้ยาก จะจับไปไว้ด้านล่างก็ไม่ได้ เพราะมีปุ่มโฮมอยู่ แถมยังเป็นเรื่องข้อจำกัดของเทคโนโลยีการผลิตจอด้วย เราก็เลยได้เห็นมือถือจอแหว่งออกมาในท้องตลาดมากมายหลายรุ่น สำหรับใน P20 นี้ พื้นที่ของส่วนที่แหว่งจัดว่าค่อนข้างน้อยครับ จากเท่าที่ผมใช้งานจริงมา ก็ไม่ได้พบว่ามันรบกวนสายตาหรือสร้างความรำคาญมากมายนัก เนื่องด้วยขนาดที่ค่อนข้างเล็ก ประกอบกับการใช้งานสมาร์ทโฟนแบบปกติของผม มักจะใช้สายตามองในส่วน 80-90% ของจอนับจากด้านล่างขึ้นบนมากกว่า ไม่ค่อยได้มองตรงกลางขอบจอบนนัก เลยไม่ได้รู้สึกว่าติ่งนี้มันน่ารำคาญซักเท่าไหร่ จะมีที่รบกวนการใช้งานจริงอยู่บ้างก็คือเรื่องที่มันไปลดพื้นที่แสดงไอคอนแจ้งเตือน ทำให้มีไอคอนค้างไว้ได้น้อยลง จนบางครั้งผมก็ไม่ทราบเลยว่ามี Line เข้ามา นอกจากจะลากแถบ noti ลงมาเพื่อเปิดดูเอง
อย่างไรก็ตาม Huawei เองก็มองเห็นปัญหาของจอแหว่งอยู่เหมือนกันครับ เลยใส่ฟีเจอร์ถมดำให้แถบ noti ด้านบน ทำให้เหมือนว่าเป็นขอบจอไปซะเลย ซึ่งที่จริงแล้วมันก็ยังแสดงตำแหน่งนาฬิกา ปริมาณแบต ขีดสัญญาณ ไอคอนแจ้งเตือนต่างๆ ที่ตำแหน่งเดิมเลย เพียงแต่มันมีพื้นหลังสีดำถมลงไป ช่วยลดความรู้สึกรำคาญติ่งดำที่งอกเข้ามาในจอเท่านั้นเอง โดยวิธีเข้าไปเปิด/ปิดติ่งนี้ ก็เพียงแค่เข้าไปที่เมนูการตั้งค่า (Settings) > การตั้งค่าการแสดงผล (Display) > ร่องรอย (Notch) แล้วก็ปรับเปลี่ยนได้ตามต้องการเลย ซึ่งความแตกต่างระหว่างเปิดกับปิดการถมดำของแถบแจ้งเตือน ก็ดูได้จากชุดภาพด้านบนครับ
ส่วนท่านที่สงสัยว่าระหว่างปิดกับเปิดฟีเจอร์นี้ จะส่งผลกับการแสดงผล การแคปหน้าจอมั้ย ตรงนี้ผมทดสอบแล้ว ไม่แตกต่างกันเลย เพราะตามปกติแล้วตรงพื้นหลังแถบแจ้งเตือน มันจะเป็นส่วนที่ระบบกันเอาไว้ไม่ให้แอปแสดงผลเกินขึ้นมาอยู่แล้ว โดยระบบจะเปลี่ยนพื้นหลังส่วนนี้ไปเรื่อยๆ ตามสีของแอป ดังนั้นจะเปิดหรือจะปิด ก็ไม่ส่งผลกระทบใดๆ อย่างภาพแคปหน้าจอของตอนเปิด พื้นหลังของแถบแจ้งเตือนก็จะเป็นสีดำ แต่ถ้าปิด มันก็เป็นสีของแอปนั้นเลย
ที่น่าสนใจคือ ตรงพื้นหลังที่ระบบถมดำให้ ผมลองสังเกตดู พบว่าสีตรงนั้นมันดำสนิทดีมากๆ เหมือนกับสีที่ได้จากจอประเภท OLED เลย คือมันเป็นสีดำสนิทกลืนไปกับติ่งจอที่เกินเข้ามา ทำให้มันดูกลมกลืนเหมือนกับเป็นขอบจอจริงๆ ตรงจุดนี้ถือว่า Huawei ทำมาได้ดีครับ
ลงมาดูด้านล่างกันบ้าง ก็เป็นอีกจุดที่ถูกวิจารณ์ในแง่ของการออกแบบไม่น้อยทีเดียว กับการยังคงเก็บปุ่มโฮมไว้ของ P20 และ P20 Pro โดยความเห็นส่วนใหญ่ก็คือ ไหนๆ จะทำจอขอบบาง 3 ด้านพร้อมติ่งมาขนาดนี้แล้ว ทำไมยังเหลือปุ่มโฮมไว้อีก ซึ่งตรงจุดนี้ก็เข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องข้อจำกัดของการออกแบบและเทคโนโลยีการผลิตฮาร์ดแวร์ในปัจจุบันครับ เพราะถ้าจะให้ตัดปุ่มโฮมออก ก็เท่ากับต้องเอาเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือไปไว้จุดอื่น ถ้าไว้ด้านหลัง ก็น่าจะดูไม่ค่อยลงตัวเท่าไหร่ จะตัดไปเลยก็ไม่ได้ ผลเลยตกมาที่ต้องเอามาไว้ด้านหน้า โดยพยายามทำให้ขอบจอส่วนนี้บางที่สุด ซึ่งก็ทำได้บางจริงๆ
ส่วนถ้าอยากเห็นมือถือ Huawei รุ่นปัจจุบันแบบไม่มีปุ่มโฮม แต่ยังมีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมืออยู่ ก็คงต้องไปดูที่ Huawei P20 Lite ซึ่งไม่ได้นำเข้ามาขายอย่างเป็นทางการในไทย แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีโลโก้ Huawei มาแทนที่ปุ่มโฮมอยู่ดีครับ ส่วนในอนาคต ก็คงต้องหวังว่าเหล่าผู้ผลิตจะจับเอากล้องหน้า ลำโพงสนทนา เซ็นเซอร์ต่างๆ รวมถึงตัวสแกนลายนิ้วมือไปไว้ใต้จอภาพ ถ้าทำได้เมื่อไหร่ เราน่าจะได้ใช้มือถือที่ด้านหน้าเป็นจอทั้งหมดกันอย่างแน่นอน
กลับมาที่ปุ่มโฮมของ Huawei P20 กันต่อครับ ตัวปุ่มจะเป็นแบบสัมผัส ไม่สามารถกดลงไปได้ รองรับการสั่งงานด้วยการแตะ กดค้าง ปัดนิ้วเหมือนรุ่นก่อนหน้า ทำให้ผู้ใช้สามารถซ่อนแถบปุ่ม navigation ทั้งสามปุ่มที่เป็นแบบซอฟต์แวร์ได้เลย อย่างในภาพข้างบน ผมก็ซ่อนปุ่มทั้งสาม แล้วใช้ปุ่มโฮมปุ่มเดียวทำหน้าที่แทนเลย ส่วนการสแกนนิ้วเพื่อปลดล็อคหน้าจอก็ทำได้รวดเร็วดี แต่ส่วนใหญ่ผมจะใช้สแกนใบหน้าด้วยกล้องหน้ามากกว่า ซึ่งมันเร็ว และรัศมีการทำงานค่อนข้างกว้าง บางทีไม่จำเป็นต้องให้หน้าตรงเครื่อง 100% ก็สามารถปลดล็อคได้
แต่นั่นก็คือดาบสองคมอยู่เหมือนกันครับ เท่ากับว่าการปลดล็อคเครื่องสามารถทำได้ง่ายมาก เพราะมันเป็นการสแกนใบหน้าโดยรวม ไม่ได้เจาะจงสแกนบางจุดที่เป็นเอกลักษณ์ส่วนบุคคลจริงๆ อย่างเช่น ม่านตา อีกทั้งการที่ P20 และ P20 Pro ไม่ได้มีระบบอินฟราเรดสำหรับการสแกนใบหน้าหรือม่านตาจริงๆ จึงอาจทำให้การสแกนใบหน้าเพื่อปลดล็อคในที่มืดทำได้ไม่สะดวกเท่าไหร่ ส่วนถ้าเป็นการสแกนระหว่างเดิน อันนี้พอทำได้อยู่บ้าง ขึ้นอยู่กับจังหวะครับ
มาดูด้านหลังของ Huawei P20 กันบ้าง เครื่องที่ทางเราได้รับมารีวิวคือ Huawei P20 สีชมพู Pink Gold ซึ่งโทนสีหลักจะเป็นสีชมพูสว่าง มีประกายสีทองนิดๆ แต่ถ้าตัวเครื่องสะท้อนแสง แล้วมองดีๆ จะพบว่าฝั่งด้านล่างมีประกายสีเขียวเหลือบๆ อยู่ด้วยครับ เรียกว่ามาเป็นสีแบบทูโทนก็ว่าได้ แต่อาจจะมองเห็นไม่ชัดเท่ากับสีน้ำเงิน Midnight Blue ที่เห็นชัดกว่าว่าเป็นสีน้ำเงินเหลือบเขียว แต่อย่างไรก็ตาม เครื่องสีชมพู Pink Gold นี้ จะมีเฉพาะใน Huawei P20 เท่านั้น ไม่มีใน P20 Pro จ้า
วัสดุของฝาหลังคือกระจกขอบโค้งแบบ 2.5D ทำให้รับกับสันเครื่องและฝั่งหน้าจอเป็นอย่างดี และด้วยการที่เป็นสีสว่าง ทำให้สังเกตรอยนิ้วมือได้ยาก รวมๆ แล้วจัดว่าเป็นมือถือที่สวยรุ่นหนึ่งในช่วงครึ่งปีนี้เลยครับ จะติดก็แค่กระจกมันลื่น บางทีวางบนโต๊ะอยู่ดีๆ มันก็ไถลจากตำแหน่งเดิมอยู่เหมือนกัน ทั้งนี้ก็เนื่องจากส่วนของกล้องหลังมันนูนขึ้นมา ทำให้เครื่องเอียง เป็นสาเหตุให้มันไถลได้ ก็คงต้องระวังตรงจุดนี้กันซักหน่อย แนะนำว่าให้ใส่เคสป้องกันไว้เลย เพื่อความปลอดภัย
พูดถึงกล้องหลัง อย่างที่เกริ่นไปตั้งแต่ส่วนสเปคว่า Huawei P20 มาพร้อมกล้องหลังเพียง 2 ตัว โดยตำแหน่งการวางก็จะเป็นแนวตั้งขนานไปกับด้านยาวของเครื่อง ซึ่งการวางกล้องในลักษณะนี้ จุดประสงค์มันก็คือสำหรับการถือเพื่อถ่ายรูปในแนวนอนเป็นหลัก สังเกตได้จากตัวอักษรต่างๆ ก็อยู่ในแนวเดียวกันทั้งหมด ส่วนตัวผมมองว่าการวางกล้องในลักษณะนี้จัดว่าดีเลย มันช่วยให้การประมวลผลภาพโดยใช้สองเลนส์ร่วมกันทำได้ดีขึ้น เนื่องจากภาพอยู่ในระนาบเดียวกัน ทำให้ประมวลผลได้ง่ายกว่าการวางกล้องแบบเดิมที่ถ้าหากถือเครื่องแนวนอน ภาพที่ได้จากทั้งสองเลนส์ก่อนประมวลผล มันจะมีความเหลื่อมในแนวตั้งอยู่ และอาจวัดระยะได้ยากกว่า
ส่วนข้างๆ ก็จะเป็นชุดเลเซอร์ช่วยโฟกัส ไฟแฟลช และก็เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิแสง เพื่อให้ระบบสามารถคำนวณค่าก่อนถ่ายได้แม่นยำขึ้น รวมถึงข้อความระบุประเภทเลนส์ที่ใช้ก็ยังมีอยู่เช่นเคย โดยใน P20 จะใช้เป็นเลนส์ Summilux-H ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาจาก Huawei P10 Plus ขึ้นมาอีก
สำหรับด้านข้างทั้ง 4 ทิศ ก็จะใช้วัสดุเป็นอลูมิเนียมมันวาวเสริมความโดดเด่นให้ตัวเครื่องได้ดี และถ้าสังเกตก็จะพบว่าชุดกล้องหลังมันนูนจากผิวฝาหลังพอสมควรเลย ส่วนปุ่มกดและช่องเชื่อมต่อต่างๆ ดังนี้
- ด้านบน: ช่องรับเสียงของไมค์ตัดเสียงรบกวน
- ด้านล่าง: ช่องไมค์ ช่องลำโพงหลัก และช่อง USB-C
- ด้านซ้าย: ถาดใส่ซิมการ์ด
- ด้านขวา: ปุ่ม Power และแผงปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง
ทีนี้มาดูอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่อง Huawei P20 กันบ้างครับ มีดังนี้
- เข็มจิ้มถาดใส่ซิม
- เคส TPU ใส แบบนิ่ม
- เอกสาร คู่มือการใช้งานเบื้องต้น
- อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ SuperCharge รองรับการจ่ายไฟ 5V 2A / 4.5V 5A / 5V 4.5A
- สายชาร์จ USB-A เป็น USB-C รองรับ SuperCharge
- หูฟังสมอลล์ทอล์ค
ส่วนฟิล์มกันรอย จะถูกติดมากับหน้าจอตั้งแต่โรงงาน เป็นฟิล์มแบบเต็มจอไม่ลงขอบโค้ง ใช้งานได้ดีในระดับหนึ่งเลย
Feature / ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
ส่วนฟีเจอร์ที่น่าสนใจ หลักๆ แล้วก็คือส่วนที่ปรับแต่งการทำงานเครื่องอย่างพวกการเปิดหรือปิดการถมดำที่พื้นหลังแถบแจ้งเตือนด้านบน เพื่อให้มันกลมกลืนกับติ่งหน้าจอ อีกอันที่น่าสนใจก็คือเมนูปรับแต่งการเลือกใช้ปุ่มสั่งงาน ที่ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะปิดสามปุ่มนั้นไปเลย แล้วสั่งงานผ่านปุ่มโฮมล้วนๆ หรือจะใช้เป็นแบบปุ่มยาวๆ บนหน้าจอก็ได้เช่นกัน (น่าจะมาอย่างเป็นทางการใน Android 9.0) รวมถึงเมนูการเปิดปุ่มวงกลม assistive ก็จะถูกรวมอยู่ในเมนูนี้ด้วยเช่นกัน
อีกข้อที่น่าสนใจก็คือฟังก์ชันการต่อ Huawei P20 เข้ากับจอมอนิเตอร์ จอทีวีเพื่อใช้เป็นเครื่องทำงานพื้นฐานได้ โดย Huawei จะใช้ชื่อเรียกฟังก์ชันนี้ว่า Easy Projection จุดที่น่าสนใจก็คือ มันรองรับการใช้งานร่วมกับอะแดปเตอร์แปลง USB-C to HDMI ตัวไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์เฉพาะ ต่างจาก Samsung ที่ต้องใช้ชุด DeX เท่านั้น ทำให้การใช้งาน Easy Projection ใน P20 เป็นเรื่องง่ายมาก ซึ่งผมลองเอาอะแดปเตอร์ที่ผมใช้กับคอมพิวเตอร์มาตลอดไปต่อ ก็สามารถใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องตั้งค่าเพิ่มเติม เมื่อต่อไปแล้ว ภาพที่ปรากฏขึ้นบนจอก็เหมือนกับกำลังใช้คอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งอยู่เลย ส่วนการควบคุม ผู้ใช้สามารถหาเม้าส์ คีย์บอร์ดมาต่อเพิ่มได้ทันที หรือถ้าไม่มี ก็สามารถใช้ทัชแพดและคีย์บอร์ดเสมือนจากบนหน้าจอมือถือได้เช่นกัน หรือถ้าต้องการเปลี่ยนโหมดการแสดงผลให้เป็นแบบ mirror คือโชว์ภาพจากจอมือถือบนจอใหญ่ ก็สามารถสลับได้จากในเมนูที่แถบแจ้งเตือนได้ทันที
Software / ซอฟต์แวร์ในเครื่อง
Huawei P20 มาพร้อม Android 8.1 Oreo ที่ครอบมาด้วย EMUI 8.1 การใช้งานโดยรวมก็ลื่นไหลดี แต่แอปติดเครื่องมาด้วยนั้นเยอะไปหน่อย ยังดีที่ส่วนใหญ่สามารถลบได้ สำหรับพื้นที่หน่วยความจำเครื่อง 128 GB นั้น เมื่อเปิดเครื่องมาครั้งแรกจะเหลือว่างให้ใช้ได้ราวๆ 115 GB ครับ จะถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ เก็บเพลง ลงเกมก็จัดได้เต็มที่เลย
ส่วนของการจัดการซิม ถ้าใส่ทั้งสองซิมก็จะพบว่าเมนูการตั้งค่ามันยาวเป็นพรืดเลย ทั้งนี้ก็เนื่องจาก Huawei P20 นั้นรองรับการเชื่อมต่อสัญญาณ 4G ทั้งสองซิม รวมถึงยังรองรับ VoLTE และ VoWIFI พร้อมกันทั้งสองซิมด้วย ทำให้มั่นใจได้เลยว่าเสียงสนทนาคมชัดแน่นอน
Camera / กล้องถ่ายภาพ
กล้อง คือส่วนที่เป็นพระเอกหลักของสมาร์ทโฟนซีรีส์ P ของ Huawei มาแต่ไหนแต่ไร ซึ่งในทุกๆ ปี ก็จะมีการเสริมความสามารถที่สร้างความฮือฮาได้ตลอด อย่างในการเปิดตัวที่ผ่านมา ไฮไลท์ของ Huawei P20 ก็คือการนำ AI เข้ามาช่วยในการประมวลผลภาพตั้งแต่ก่อนถ่าย เพื่อให้ผู้ใช้งานได้ภาพถ่ายที่สวยงาม มีสไตล์ คมชัด รวมถึงยังทำให้การถ่ายภาพในที่มีแสงน้อยดีขึ้นอีกด้วย สำหรับจำนวนกล้องก็จะยังคงเท่าเดิมอยู่ คือกล้องหลัง 2 ตัว แบ่งเป็นเลนส์ถ่ายภาพสี 12 ล้านพิกเซล และเลนส์ถ่ายภาพขาวดำ 20 ล้านพิกเซล แม้ว่าจำนวนเลขพิกเซลจะไม่ได้แตกต่างจาก P10 ซักเท่าไหร่ แต่ในแง่ของตัวเซ็นเซอร์รับภาพ ชิ้นเลนส์นั้นได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นไปอีก เมื่อประกอบกับการทำงานของฝั่งซอฟต์แวร์ ก็เลยทำให้ภาพถ่ายที่ได้จาก Huawei P20 ดูน่าสนใจไม่แพ้รุ่นท็อปอย่าง P20 Pro เหมือนกัน
แต่ในด้านของอินเตอร์เฟสแอปกล้องใน P20 และ P20 Pro มีการเปลี่ยนแปลงพอสมควร โดยจับเอาโหมดที่คนน่าจะใช้บ่อยๆ เช่น Photo (Auto), Portrait, Night, Pro มาไว้ด้านหน้าสุด สามารถเลือกโหมดได้ด้วยการปาดหน้าจอซ้ายหรือขวา ซึ่งคล้ายคลึงกับในสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่นในปัจจุบัน ส่วนพวกโหมดถ่ายภาพขาวดำ โหมดพาโนรามา และโหมดอื่นๆ ที่น่าจะไม่ค่อยได้ใช้ จะถูกจับไปอยู่ในหัวข้อม More ที่อยู่ทางขวาสุดแทน ซึ่งก็อาจจะดีกับคนที่ไม่ค่อยได้ใช้โหมดเหล่านี้ ซึ่งสำหรับคนที่ถ่ายภาพขาวดำบ่อยๆ ก็อาจจะลำบากซักนิดนึง แต่ที่ผมมองว่ากลุ่มคนที่อาจจะขัดใจหน่อยก็คือกลุ่มผู้ใช้มือถือ Huawei ตั้งแต่ P9 ขึ้นมา และเปลี่ยนมาใช้ P20 แทนเครื่องเก่า เพราะน่าจะเคยชินกับการเลือกโหมดกล้องในรูปแบบเดิมมากกว่า ตรงนี้ก็คงต้องค่อยๆ ปรับตัวกันไปครับ สำหรับกลุ่มผู้ใช้ Huawei ต่อเนื่องมาจากรุ่นก่อนหน้า
ระบบ AI ประมวลผลภาพ
จุดแรกคือการนำ AI มาอยู่ในซีรีส์ P เป็นครั้งแรก ซึ่งในแง่ของการใช้งาน ก็มีการปรับปรุงจาก Mate 10 Pro ให้สะดวกยิ่งขึ้น เช่น สามารถปิดการทำงานของ AI ได้ในทุกโหมดการทำงาน จากในเมนูการตั้งค่าของกล้อง ส่วนถ้าเปิดใช้งานอยู่ เวลาผู้ใช้หันกล้องไปทางใด หาก AI สามารถจับวัตถุ จับภาพในฉากว่าตรงกับ scene ที่มีบันทึกอยู่ได้ การตกแต่งภาพด้วย AI ก็จะทำงานและพรีวิวให้เห็นบนหน้าจอตั้งแต่ก่อนถ่ายเลย ซึ่งตรงนี้นับเป็นข้อได้เปรียบเหนือกว่า Pixel 2 XL ที่ผมใช้อยู่นิดหน่อย เพราะระบบ AI ของ Pixel มันจะทำงานหลังจากกดถ่ายภาพไปแล้ว ผู้ใช้ไม่สามารถคาดเดาก่อนถ่ายได้เลยว่าภาพจะออกมาเป็นอย่างไร เหมือนคุกกี้เสี่ยงทายเลยก็ว่าได้
อย่างในภาพด้านบนก็เป็นตัวอย่างการทำงานของ AI ที่จับ scene ในภาพอัตโนมัติ โดยจะมีชื่อ scene ปรากฏขึ้นมาด้านล่างของภาพ เช่น ตอนผมจะถ่ายภาพชายหาด มันก็มี Beach ขึ้นมา พร้อมกันนั้นก็แต่งภาพพรีวิวในจอให้มีสีสันเข้มขึ้น ใส่ vignette ขอบดำให้เล็กน้อย ช่วยเพิ่มมิติและอารมณ์ให้ภาพถ่ายขึ้นไปอีกนิด รวมๆ แล้วการทำงานก็จัดว่าน่าพอใจดีครับ ความแม่นยำในการจับ scene นี่หายห่วง แถมยังค่อนข้างครอบคลุมการถ่ายภาพในชีวิตประจำวันอีกด้วย
แต่บางครั้ง ตัวระบบที่จับ scene มันก็ทำงานไวไปนิด และทำให้ภาพดูแปลกไป อย่างในภาพซ้ายล่างสุด พื้นที่ของท้องฟ้าคิดเป็นประมาณ 40% ของภาพ ระบบมันก็จับใส่ scene แบบ Blue sky ให้ ซึ่งมันก็ทำงานได้ถูกต้องดี แต่ส่วนที่เหลืออีก 60% ของภาพ มันมืดไปหมดจนแทบมองไม่เห็นรายละเอียดเลย ทั้งๆ ที่ในสถานที่จริง มันสว่างมาก และมองเห็นรายละเอียดของภาพได้ชัด
ส่วนความสามารถในการโฟกัสภาพ ระบบออโต้โฟกัสทำได้ดีมาก แม่นยำ รวดเร็ว แถมยังสามารถโฟกัสล่วงหน้าไปยังจุดที่คาดว่าผู้ใช้ต้องการ โดยเฉพาะวัตถุที่เคลื่อนไหวอยู่ในภาพ ซึ่งส่วนใหญ่ถือว่าทำได้น่าพอใจเลย
ทีนี้มาดูพลังการทำงานของกล้อง Huawei P20 + AI กันบ้าง โดยผมใช้คู่เทียบคือ Google Pixel 2 XL + AI ที่เป็นหนึ่งในมือถือที่กล้องดีที่สุดรุ่นหนึ่งในขณะนี้
ในภาพด้านบน จะเห็นความแตกต่างของโทนสีได้ชัดมากๆ โดยภาพจาก P20 จะสีสดกว่า ดูสื่ออารมณ์แบบท้องทะเลได้มากกว่า แต่ตรงขอบภาพจะมีขอบดำ vignette ขึ้นมา (แบบเยอะเกินไปนิดนึง) รวมถึงตรงปลายฝั่งซ้ายของภูเขาที่ดูเหมือนมีหมอกลง
ถ้าตามจริง ภาพของ Pixel 2 XL จะตรงกับสถานที่จริงมากกว่าครับ แต่อาจจะดูหมองๆ สีไม่สดเท่า
ต่อมาก็ลองถ่ายทะเลแบบย้อนแสงกันบ้าง ซึ่ง P20 จะจัดให้เป็น scene แบบการถ่ายภาพดวงอาทิตย์ขึ้นหรือตกให้โดยอัตโนมัติ ซึ่งภาพที่ออกมาก็จะเน้นโทนสีภาพโดยรวมให้ดวงอาทิตย์เด่นขึ้นมาอีก ปรับสีน้ำทะเลให้ contrast สูงขึ้น รวมถึงยังจัดการแฟลร์ และแสงฟุ้งที่ดวงอาทิตย์ให้อีกด้วย
ส่วนภาพถ่ายเวลากลางคืน ผมใช้โหมด auto ตามปกติ ผลคือโทนสีภาพจาก P20 จะดูอุ่นกว่า ดีเทลดูคมกว่า เมื่อเทียบกับ Pixel 2 XL เล็กน้อย
ใช่ว่า AI จะทำงานได้ถูกต้อง 100% ตลอดเวลานะครับ เพราะในบางสถานการณ์ การประมวลผลภาพในโหมด auto ก็มีผิดพลาดบ้างเหมือนกัน อย่างในภาพชุดบน ภาพจาก Huawei P20 มีความผิดพลาดคือ ตัวกล้องจับภาพเสาสีเหลืองทางซ้ายได้ มันเลยพยายามชดเชย white balance โดยการใส่โทนสีฟ้าเพิ่มเข้าไป เมื่อประกอบกับภาพโดยรวมที่มีแสงโทนสีฟ้าอยู่แล้ว ภาพเลยดูอมฟ้าหนักกว่าเดิมเข้าไปอีก
ส่วนพอผมลองใช้ Pixel 2 XL ปรากฏว่าไม่ปรากฏปัญหาดังกล่าว แถมขนาดเพิ่ม % ของเสาสีเหลืองเข้าไปในภาพจนถึงเกือบ 40% แล้ว ตัวเสาก็ยังเหลืองอยู่ โทนสีภาพโดยรวมก็ไม่อมฟ้าเท่ากับภาพจาก P20 ซึ่งปัญหาในการประมวลผลภาพในลักษณะนี้ก็มีพบอยู่บ้างในบางสถานการณ์ที่สภาพแสงซับซ้อนครับ
การถ่ายหน้าชัดหลังเบลอ
ในแง่ของการเบลอหลังและรายละเอียดภาพ ผมลองทดสอบด้วยภาพชุดบนนี้ครับ คู่บนคือการถ่ายด้วยโหมด Aperture ใน P20 และโหมด Portrait ใน Pixel 2 XL ซึ่งให้ภาพในลักษณะเดียวกันคือหน้าชัดหลังเบลอ โดยแตะเลือกจุดโฟกัสที่น็อตด้านล่างเหมือนกันทั้งสองภาพ ผลคือทั้งคู่ทำได้ดีพอกัน แต่ P20 ได้เปรียบตรงที่การเก็บส่วนมืดของภาพทำได้ดีกว่า เช่น ตรงเงามืดของน็อตตัวล่างที่ดูสว่างกว่า เห็นรายละเอียดในเงามืดได้มากกว่า
เมื่อลอง crop ภาพที่ 100% เพื่อดูรายละเอียดของตัวน็อต พบว่า Pixel 2 XL ให้รายละเอียดที่คมชัดมาก และให้สีที่เหมือนวัตถุจริงกว่าภาพจาก P20 ด้วย
โหมด Night สำหรับถ่ายกลางคืน
อีกโหมดที่น่าสนใจของ Huawei P20 และ P20 Pro ก็คือโหมด Night ที่เหมาะสำหรับการถ่ายในที่มีแสงน้อย โดยหลักการของโหมดนี้จากการนำเสนอของ Huawei ก็คือการเปิดให้กล้องจับภาพนานกว่าปกติ เพื่อให้แสงเข้ามายังเซ็นเซอร์รับภาพได้นานขึ้น ส่งผลให้ภาพมีความสว่างเพิ่มขึ้น โดยใช้ความสามารถของโมดูลกันสั่น ร่วมกับระบบ AI ที่ช่วยประมวลผลภาพออกมา เพื่อให้ภาพที่ออกมายังคงคมชัด ลดอาการที่เกิดจากการสั่นไหวของเครื่องลง ทำให้สามารถถือเครื่องในมือแล้วถ่ายแบบเปิดหน้ากล้องค้างไว้ได้นานสุด 4 วินาที นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจมากๆ สำหรับกล้องมือถือเลยทีเดียวครับ สำหรับภาพด้านล่างนี้คือภาพที่ถ่ายจากโหมด auto ตามปกติ ไม่ได้มีการตั้งค่าใดๆ
ส่วนภาพด้านล่างนี้คือภาพที่ได้จากการถ่ายด้วยโหมด Night จะเห็นความแตกต่างเรื่องแสงสว่างในภาพได้ชัดเจนมากๆ จนเหมือนกับว่าเป็นภาพที่ถ่ายจากโหมด HDR เลย โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นรายละเอียดในจุดต่างๆ ที่ถูกขุดขึ้นมา
ทีนี้เรามาว่ากันต่อเกี่ยวกับรายละเอียดไฟล์ภาพกันบ้าง เมื่อผมดูจากข้อมูล EXIF ที่ฝังในภาพแล้ว พบข้อมูลดังนี้ครับ
ข้อมูลจากแอป Gallery ในเครื่อง
- ภาพโหมด Auto: ISO 320 | Speed 1/33 วินาที | f/1.8 | ขนาดไฟล์ 3.05 MB
- ภาพโหมด Night: ISO 400 | Speed 3 วินาที | f/1.8 | ขนาดไฟล์ 3.22 MB
จะเห็นว่าตัวเลขของความเร็วชัตเตอร์จากภาพถ่ายในโหมด Night จะแสดงว่าเป็น 3 วินาที (บางภาพอาจมากหรือน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับการประมวลผลของ AI ว่าจะเปิดหน้ากล้องค้างไว้กี่วินาที) ส่วนในแง่ของหลักการทำงานนั้น ถ้าใครที่ได้ลองใช้งานโหมด Night ใน P20 หรือ P20 Pro จริงๆ จะพบว่ามันเหมือนกับเป็นการถ่าย HDR หรือตามชื่อของหลักการก็คือ Exposure Bracketing เลย คือการถ่ายหลายภาพรัวๆ โดยที่แต่ละภาพจะมีการชดเชยแสงให้สว่างกว่า และมืดกว่าสภาพแสงจริง จากนั้นก็เอาภาพทั้งหมดมารวมกันเป็นภาพเดียว โดยภาพนั้นก็จะมีจุดเด่นคือการเห็นรายละเอียดในส่วนที่อยู่ใต้เงามืดได้ดีกว่า ในขณะเดียวกัน ไฮไลท์ของสีสันก็ยังคงอยู่ด้วย ซึ่งภาพที่ได้จากโหมด Night ของ P20 มันออกมาในลักษณะนี้เลย
ประกอบกับตามหลักของการถ่ายภาพแบบเปิดหน้ากล้องค้างไว้หลายวินาที (Long Exposure) แม้กล้องในปัจจุบันจะมีกันสั่นที่ดีขนาดไหน ก็ไม่น่าที่จะให้ภาพนิ่งสวยงาม จากการใช้มือจับแล้วถ่ายแบบเปิดชัตเตอร์ค้างไว้ 4-6 วินาทีได้ (ต่อให้มี AI ช่วยก็ตาม) ยิ่งการถ่ายในเวลากลางคืน จะเปิดหน้ากล้องค้างไว้ 1 วินาทีก็ลำบากแล้ว ประกอบกับในบางสถานการณ์ ผมลองถ่ายรถที่วิ่งเร็วๆ ซึ่งหากเป็นภาพที่ถ่ายแบบ long exposure จริงๆ ภาพที่ได้จะมองไม่เห็นตัวรถ จะเห็นแค่เส้นไฟเพียงอย่างเดียว แต่ภาพที่ได้จาก P20 บางภาพ ปรากฏว่ายังเห็นตัวรถแบบเป็นปื้นๆ อยู่ ไฟก็ไม่ได้วิ่งเป็นเส้นอย่างที่ควรจะเป็น ตามตัวอย่างในภาพด้านล่างนี้ครับ
ตรงจุดนี้ผมมองว่าเหมือนมันเป็นภาพที่ได้จากการนำหลายๆ ภาพที่ถูกถ่ายตามหลักการของ Exposure Bracketing มารวมกัน แล้วจับประมวลผลความสว่าง ไฮไลท์ แสงเงา ความคมชัดเข้าไปมากกว่า ไม่น่าจะมาจากการเปิดหน้ากล้องค้างไว้จริงๆ 4 วินาที แบบ 100% แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการประมวลผลภาพทำได้น่าพอใจเลยทีเดียว
ไฟล์ RAW และ JPEG
ความสามารถในการถ่ายภาพเป็นไฟล์ RAW ซึ่งก็คือไฟล์ภาพที่ได้จากเซ็นเซอร์รับภาพโดยผ่านการประมวลผลน้อยที่สุด นับเป็นหนึ่งในฟีเจอร์ที่ได้รับการให้ความสำคัญจากช่างภาพ และผู้ที่เน้นการถ่ายภาพจากมือถือไม่น้อย เพราะไฟล์ RAW จะมีความยืดหยุ่นในการตกแต่ง หรือแก้ไขภาพมากกว่าไฟล์ JPEG มาก โดยในภาพด้านบน ผมหยิบเอาภาพที่ผ่านการ crop 100% มาเพื่อเทียบให้เห็นสีสัน และรายละเอียดของจุดเดียวกัน ซึ่งก็ตามคาดครับ ไฟล์ JPEG ของ P20 จะถูกประมวลผลมาหนักพอสมควรเลย ทั้งสีสัน ความคมชัด แสงเงา
ซึ่งตัวไฟล์ JPEG ถ้าเป็นการดูภาพแบบผ่านตา ดูในหน้า Facebook ก็จัดว่าน่าพอใจ ภาพสวยเลยทีเดียว แต่ถ้าหากลองซูมเข้าไป จะพบว่าดีเทลของภาพมันถูกประมวลผลจนบางจุดเละไปเลยเหมือนกัน เพราะฉะนั้น หากคิดว่าต้องการนำภาพจาก Huawei P20 มาซูมเพื่อเข้าไปดูรายละเอียดปลีกย่อยในภาพ แนะนำว่าถ่ายเป็นไฟล์ RAW ไว้จะปลอดภัยสุดครับ แต่ถ้าแค่ต้องการภาพปกติ ไม่ได้นำภาพมาตกแต่งต่อ ก็ถ่ายเป็น JPEG ธรรมดาได้เลย
ฟังก์ชันของฝั่งกล้องหน้าก็มีจุดน่าสนใจเพิ่มเข้ามาเหมือนกัน นั่นคือ 3D Lighting ในโหมด Portrait ที่ให้ผู้ใช้สามารถเลือกรูปแบบของแสงในการถ่ายเซลฟี่ได้ ช่วยให้ภาพที่ออกมาดูมีสไตล์มากขึ้น เหมือนกับถ่ายในสตูดิโอนิตยสารดังๆ เลย รวมถึงยังสามารถนำภาพมาแต่งเพื่อปรับตำแหน่งแสงภายหลังได้อีก อย่างในภาพชุดด้านบน ผมสามารถนำภาพที่ถ่ายในโหมด Portrait ที่เปิดใช้งานฟีเจอร์ 3D Lighting มาแต่งแสงต่อทีหลังได้ ว่าจะให้แสงมาจากทางไหน โดยการเลื่อนตำแหน่งดวงอาทิตย์ได้ตามต้องการ
ส่วนด้านล่างนี้ก็คือตัวอย่างภาพถ่ายจาก Huawei P20 ครับ ภาพไหนที่มุมเดียวกันซ้ำกัน ภาพแรกจะเป็นภาพจากโหมด Auto ภาพที่สองจะเป็นภาพจากโหมด Night