[Review] ASUS ZenFlash แฟลชแยกซีนอนไฟแรง อุปกรณ์ exclusive เฉพาะ Zenfone เท่านั้น

Review-ASUS-ZenFlash-SpecPhone 001

ปีนี้ นอกจาก ASUS จะเปิดตัวมือถือรุ่นท็อปฮิตอย่าง Zenfone 2 แล้ว พร้อมๆ กันนี้ก็มีการเปิดตัวอุปกรณ์เสริมออกมาอีกหลายๆ ตัวให้ได้เลือกซื้อหามาใช้กันด้วย หนึ่งในนั้นก็คือแฟลชแยกอย่าง ASUS Zenflash นี่เองครับ ซึ่งทางเราก็ได้มาตัวนึง เลยขอหยิบมารีวิวแบบคร่าวๆ ให้ได้ชมกันครับ ว่ามันเป็นยังไง ใช้งานยังไง ทำอะไรได้บ้าง มาชมกันเลย

Review-ASUS-ZenFlash-SpecPhone 003

ตัวแพ็กเกจของ Zenflash ก็มาในกล่องกระดาษขนาดไม่ใหญ่มากครับ แกะออกมา ภายในก็จะพบกับแผงกระดาษที่ใช้เก็บ Zenflash อยู่ ส่วนช่องข้างๆ นั้นจะมีแผ่นพลาสติกใสอยู่ ด้านหนึ่งจะเป็นพลาสติกปกติ อีกด้านหนึ่งก็เป็นแถบกาว ซึ่งประโยชน์ของมันคือใช้สำหรับยึดเอา Zenflash เข้ากับฝาหลังของ Zenfone ครับ โดยด้านที่เป็นกาวนั้น ก็ไม่ต้องห่วงว่าเวลาติดฝากหลังเครื่องแล้วจะเสียไปเลย เพราะมันเป็นแถบกาวที่พอลอกออกและติดใหม่ได้อยู่เหมือนกัน

Review-ASUS-ZenFlash-SpecPhone 006

ตัวของ ASUS Zenflash เองก็มีขนาดเล็กและเบามากๆ ครับ สามารถติดกับตัวเครื่องได้แบบไม่ได้เพิ่มน้ำหนักเท่าไหร่นัก แต่คงติดไว้ตลอดเวลาไม่ไหว เพราะมันหนาและนูนมาจากตัวเครื่องมากๆ จนใช้งานไม่สะดวกอยู่เหมือนกัน

สำหรับวัสดุของ Zenflash ก็เป็นพลาสติกธรรมดาๆ นี่แหละครับ จุดเด่นคือหลอดไฟซีนอนที่เป็นแท่งยาวๆ ตรงหน้า ซึ่งตัวของหลอดซีนอนก็มีจุดเด่นตรงที่ให้ไฟแฟลชที่สว่างกว่าหลอดไฟ LED ที่ใช้กันในแฟลชมือถือปกติอย่างเห็นได้ชัด ส่วนจุดที่เป็นวงกลมตรงหน้านั้นก็เป็นเซ็นเซอร์รับแสง (ambient light sensor)

ส่วนข้อมูลจำเพาะอย่างพวกสเปค ก็ตามนี้เลยครับ

  • ขนาด 48 x 30 x 15.7 มิลลิเมตร
  • การเชื่อมต่อ ผ่าน Micro USB OTG
  • Guide number (หน่วยวัดความสว่างของแฟลช) สูงสุด 4.8 คำนวนมาจาก ขนาดรูรับแสง x ระยะครอบคลุมของแฟลช อย่างในกรณีของ Zenfone 2 ก็จะเป็น 2.0 x 2.4 เมตร
  • ให้ความสว่างกว่าแฟลช LED ถึง 100 เท่า
  • ระยะครอบคลุมของแฟลช 2.4 เมตร (ที่ ISO 100, f/2.0)
  • โหมดการทำงาน รองรับทั้งอัตโนมัติ, แมนนวล
  • ระยะเวลาที่ใช้ในการรอสำหรับการยิงแฟลชอีกครั้ง ประมาณ 5-6 วินาที
  • ใช้ไฟ 5V 300 mA
  • รุ่นที่ใช้งานกับ Zenflash ได้
    • Zenfone 4.5 (A450CG)
    • Zenfone 5 (A500CG)
    • Zenfone 5 LTE (A500KL)
    • Zenfone 5 (A501CG)
    • Zenfone 6 (A600CG)
    • Zenfone 2 ทุกรุ่น
  • หากใช้ติดต่อกันเกินกว่า 10 ครั้งใน 1 นาที ตัว Zenflash อาจจะร้อนเกินไป ควรปล่อยให้คลายความร้อนลงก่อน
  • ตอนใช้งาน ไม่ควรจ่อ Zenflash เข้าดวงตาโดยตรง

Review-ASUS-ZenFlash-SpecPhone 007

ด้านหลังก็จะเป็นจุดที่ใช้ติดกับฝาหลังมือถือครับ โดยใช้เป็นจุกยางสุญญากาศเล็กๆ 6 จุด ทางที่ดีก่อนติดใช้งานทุกครั้ง แนะนำว่าเช็ดทำความสะอาดจุกก่อนก็จะดีครับ เพราะถ้ามีฝุ่นอยู่ มันจะติดไม่อยู่นั่นเอง ส่วนถ้าเอา Zenflash ไปติดกับเครื่องตรงๆ อันนี้ผมลองแล้วก็ติดไม่ค่อยอยู่นะ (ลองกับโมเดล ZE551ML ที่ฝาหลังเป็นพลาสติกบรัชลายเหมือนอลูมิเนียม) ยังไงๆ ก็ต้องใช้แผ่นพลาสติกใสที่แถมมาในกล่องช่วยด้วยอยู่ดึ

Review-ASUS-ZenFlash-SpecPhone 008

สำหรับการเชื่อมต่อ Zenflash เข้ากับ Zenfone จะใช้เป็นผ่านทางสาย Micro USB ที่ซ่อนอยู่ข้างตัว Zenflash นะ ทำให้ตอนจะใช้งาน จำเป็นต้องต่อสายไว้ตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถใช้ตอนชาร์จแบตได้ ซึ่งตรงนี้ผมว่าน่าเสียดายนิดหน่อย ถ้ามันเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth คงจะดีมาก เพราะมันจะสะดวกเวลาการใช้งานกว่ามากจริงๆ แต่ก็เข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องจำเป็นครับ เพราะ Zenflash จะทำงานได้ก็จากแบตเตอรี่ของ Zenfone เนื่องจากในตัวมันเองไม่มีแบตเตอรี่ จะให้ใส่แบตเข้ามาใน Zenflash ก็คงเป็นการเพิ่มน้ำหนักเข้าไปอีก ทีนี้เวลาใช้งานก็ไม่สะดวก เพราะนอกจากมือถือจะหนักแล้ว ยังต้องมาพ่วงน้ำหนัก Zenflash เข้าไปอีก ผลก็เลยออกมาเป็นรูปแบบนี้ล่ะนะ

Review-ASUS-ZenFlash-SpecPhone 004

ภาพด้านบนนี้ก็มาจากในเอกสารคู่มือนะครับ เป็นการแนะนำวิธีการติด Zenflash เข้ากับฝาหลัง Zenfone 2 แบบที่ทำให้ได้ประสิทธิภาพการทำงานดีที่สุด ซึ่งก็มีคำแนะนำว่าควรจะติดให้สันบนสุดของ Zenflash อยู่ห่างจากแฟลชหลักของเครื่องประมาณ 4 เซนติเมตร ก็ลองกะๆ ดูแล้วกัน

Review-ASUS-ZenFlash-SpecPhone 009

Review-ASUS-ZenFlash-SpecPhone 010

สองภาพด้านบนนี้ก็เป็นภาพของ Zenfone 2 ที่ติดตั้ง Zenflash เข้าไปแล้วครับ

Review-ASUS-ZenFlash-SpecPhone 011

ดูความหนากันหน่อย

Review-ASUS-ZenFlash-SpecPhone 005

การจะใช้งาน Zenflash นั้น ไม่ใช่ว่าเสียบกับเครื่องแล้วก็ใช้งานได้เลยนะ ต้องไปดาวน์โหลดแอพ ZenFlash จากใน Play Store ก่อน ซึ่งเครื่องที่จะโหลดได้ จะจำกัดเฉพาะ Zenfone เท่านั้น (เว้นแต่ว่าจะเข้าไปแก้โค้ดของระบบ) โดยเจ้าแอพนี้ก็จะมากลายเป็นแอพกล้องอีกตัวหนึ่งของเครื่องไปเลยนะครับ

Review-ASUS-ZenFlash-SpecPhone 012

เมื่อเปิดใช้งานครั้งแรก ก็จะมีคำเตือนขึ้นมาก่อนเลย บอกว่าถ้าเราไม่ได้ใช้งาน Zenflash นานๆ ไม่ได้จะใช้งานในเร็วๆ นี้ ก็แนะนำว่าให้ถอดสาย Micro USB ของ Zenflash ออกก็จะดีกว่าครับ เพราะระหว่างที่เสียบสาย Zenflash อยู่ มันก็จะดึงแบตจาก Zenfone 2 ออกไปด้วยเรื่อยๆ นั่นเอง

Review-ASUS-ZenFlash-SpecPhone 013

หน้าตาของแอพ ZenFlash ครับ หน้าตามันก็คือแอพกล้องปกตินี่ล่ะ แต่มีการโชว์ตัวปรับแต่งเฉพาะสำหรับ Zenflash ขึ้นมาด้วย

1

ถ้าอยากปรับการทำงาน ปรับความละเอียดภาพ ก็ให้กดที่ไอคอนรูปเฟือง จากนั้นก็เลือกที่หัวข้อ Advanced Settings ซึ่งภายในก็จะมีตัวปรับแต่งอยู่หลายหัวข้อเลย เช่น เรื่องของความละเอียดภาพ คุณภาพของภาพถ่าย ตำแหน่งเก็บไฟล์ภาพถ่าย เป็นต้น

ส่วนสองภาพล่างนี้ก็จะเป็นตัวปรับแต่งก่อนถ่ายที่มีให้เลือกตอนติดตั้ง Zenflash เข้าไปแล้วเท่านั้น ภาพซ้ายคือการปรับ white balance ส่วนภาพขวาคือตัวปรับความแรง ความสว่างของไฟ Zenflash ครับ โดยสามารถเลื่อนปรับได้ตามใจชอบเลย ซึ่งถ้า GN 1 ก็คือไฟแฟลชความสว่างต่ำสุด (แต่ก็ยังสว่างก็ไฟแฟลชเครื่องของ Zenfone 2 อยู่ดี) ส่วน GN 4.8 คือไฟแรงสุด ซึ่งโหมดการทำงานแฟลชนี้ สามารถกดเปลี่ยนได้หลายแบบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปิดไปเลย, เปิดอัตโนมัติ หรือจะเป็นแบบแมนนวลที่ปรับระดับความสว่างแฟลชเองก็ได้เหมือนกัน

ด้านของกระบวนการใช้งานนั้น เมื่อเราเปิดใช้งาน Zenflash แล้วกดถ่ายภาพ ถ้าเป็นในที่มืด ระบบจะยิงแฟลชของตัวเครื่องออกมาก่อน เพื่อช่วยให้สามารถจับจุดโฟกัสได้ จากนั้นจึงค่อยยิงแฟลชซีนอนของ Zenflash แล้วค่อยเก็บภาพครับ ก็คือเราจะเห็นแฟลชยิงออกมา 2 จังหวะ แต่แฟลชครั้งหลังจะแรงกว่านั่นเอง โดยหลังจาก Zenflash ยิงแฟลชไปแล้ว จะต้องใช้เวลาซักพักในการชาร์จไฟเข้าไปใหม่นะครับ ซึ่งที่ปุ่มกดถ่ายรูปก็จะมีหลอดให้สังเกตได้ง่ายว่ากำลังชาร์จไฟอยู่นะ รอซักนิดนึง

สำหรับใครที่สงสัยว่า ถ้าหากเอาไฟล์ apk ของแอพ ZenFlash ไปลงในมือถือเครื่องอื่นที่นอกเหนือจากรายชื่อข้างบน แล้วจะใช้งาน ZenFlash ได้หรือเปล่า อันนี้ผมลองให้แล้วครับ คือเครื่องและตัวแอพก็จะตรวจพบ Zenflash ตามปกติ เปิดแอพกล้องได้ ถ่ายรูปได้ แต่ Zenflash จะไม่ทำงานเลย เรียกง่ายๆ ว่าเสียบไปเปลืองไฟซะเปล่าก็ว่าได้

2

ข้างบนนี้ก็เป็นภาพถ่ายจากหน้าจอ Zenfone 2 ที่ติดตั้งและใช้งาน Zenflash ที่ปรับระดับความสว่างไฟแฟลชแตกต่างกันไป 5 ระดับ ถ่ายในห้องที่ค่อนข้างมืดครับ

ข้างบนนี้ก็เป็นไฟล์ภาพถ่ายจาก Zenfone 2 ตัวจริงเลยกับการลองปรับความสว่างแฟลชแตกต่างกันไป

ด้านบนนี้ก็เป็นการถ่ายภาพในห้องมืดสนิทนะครับ ส่วนภาพเทียบระหว่างแฟลชตัวเครื่อง กับแฟลชจาก Zenflash เดี๋ยวจะมีมาเพิ่มเติมให้ทีหลังนะครับ

4

ทีนี้ กลับมาดูที่แอพ ZenFlash กันอีกครั้ง จะบอกว่า ผมมาเจอความแตกต่างระหว่างตอนที่เสียบใช้งาน Zenflash กับตอนที่ไม่ได้เสียบใช้งานอยู่เหมือนกัน สำหรับภาพชุดบนนี้ก็เป็นตอนเสียบ Zenflash อยู่ จะเห็นว่าที่ปุ่มถ่ายรูป จะมีรูปกล้อง DSLR พร้อมแฟลชติดอยู่ ส่วนการปรับตั้งค่าก่อนถ่าย (กดที่ปุ่มสัญลักษณ์สี่เหลี่ยม 4 อัน) ก็จะมีให้ปรับแค่ white balance อย่างเดียวเท่านั้น

3

แต่พอถอด Zenflash ออก จะพบว่าแอพ ZenFlash มันเปลี่ยนหน้าตาไปพอสมควร เริ่มจากปุ่มถ่ายรูป กลายเป็นรูปกล้องธรรมดา พื้นหลังสีเทาขาว สัญลักษณ์รูปแฟลชตรงมุมบนขวาก็เป็นแบบธรรมดา และที่สำคัญคือ เมื่อกดปุ่มปรับค่า ก็จะมีให้ปรับค่ามากขึ้นกว่าเดิม โดยสามารถปรับได้ทั้ง white balance, ค่า ISO (ปรับได้สูงสุดเป็น 800) รวมถึงสามารถปรับ EV ชดเชยแสง ได้อีก 2 สต็อปทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงอีกด้วย เรียกว่าใกล้เคียงกับแอพกล้องทั่วไปเลยแหละ แต่ถ้าถามว่าจะใช้ตัวนี้เป็นแอพกล้องหลักเลยดีมั้ย ผมว่าไม่ค่อยเหมาะนะ ใช้แอพกล้องตัวเดิมของ Zenfone 2 ยังจะปรับได้มากกว่า แอพ ZenFlash ตัวนี้ไว้ใช้เฉพาะตอนเสียบใช้งาน Zenflash จะดีกว่า

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก