พร้อม ๆ กับการเปิดตัว iPhone 14 series เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา Apple ได้เปิดตัวสมาร์ตวอทช์รุ่นประจำปี 2022 ด้วย ซึ่งในสายรุ่นหลักก็จะเป็น Apple Watch Series 8 ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากรุ่นก่อนหน้าขึ้นมา โดยเฉพาะในด้านของความปลอดภัยต่อสุขภาพ ในขณะที่รูปร่างหน้าตา ฟังก์ชันหลักนั้นแทบจะไม่ต่างจากเดิมที่ก็ทำได้ค่อนข้างดีอยู่แล้วมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม ในรีวิวนี้เรามาดูกันดีกว่าครับว่าเจ้า Series 8 นี้มีอะไรน่าสนใจบ้าง เผื่อจะช่วยในการตัดสินใจก่อนซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มของผู้ที่ใช้รุ่นเก่ากว่าอยู่ ว่าจะอัปเกรดมาใช้รุ่นใหม่สุดดีหรือเปล่า
อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่ารูปร่างหน้าตาภายนอก และฟังก์ชันหลักของ Apple Watch Series 8 นั้นแทบไม่ต่างจากเดิมมากนัก ซึ่งจุดที่ทำได้ดีอยู่แล้ว Apple ก็ยังคงถ่ายทอดมาได้ครบถ้วน ดังนั้นในรีวิวนี้ก็อาจจะไม่ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับฟังก์ชันพื้นฐานที่ Apple Watch มีมานานแล้วมากนัก เช่น การวัดค่าที่เกี่ยวกับการออกกำลังกาย การนับก้าวเดิน การแจ้งเตือนภาษาไทย การใช้เป็นอุปกรณ์สมาร์ตดีไวซ์รองลงมาจากสมาร์ตโฟน เพราะเรื่องเหล่านี้ ต่างเป็นสิ่งที่ Apple Watch สร้างมาตรฐานมาได้ดีเสมอมาอยู่แล้ว
แต่ที่จะเพิ่มเติมเข้ามาก็คือการเทียบกับ Apple Watch Series 6 ที่ผมใช้งานอยู่ครับ ว่ามันต่างกันขนาดไหน มีจุดไหนที่พอน่าสนใจสำหรับการอัปเกรดรุ่นบ้าง ส่วนอีกฟังก์ชันที่เพิ่มเข้ามาในรุ่นใหม่อย่าง Car Crash Detection ที่ใช้ตรวจจับการชนขณะที่นั่งอยู่ในรถ อันนี้ก็ขอละการทดสอบแล้วกันนะครับ คงเป็นที่เข้าใจกันนะ 🙂
สเปคและฟีเจอร์ที่น่าสนใจของ Apple Watch Series 8
- ชิปประมวลผล SiP S8 แบบ dual-core
- มีชิป W3 และ U1 ด้วย
- หน้าจอ (หน้าปัด) พาเนล LTPO OLED Retina แบบติดตลอด ความสว่างสูงสุด 1,000nits มีให้เลือก 2 ขนาด
- ขนาด 41 มม. 352x430px
- ขนาด 45 มม. 396x484px
- ตัวเรือนมีวัสดุให้เลือก 2 แบบคือ อลูมิเนียม (พร้อมกระจกหน้า Ion-X) และสแตนเลสสตีล (พร้อมกระจกหน้าแซฟไฟร์)
- พื้นที่เก็บข้อมูล 32 GB
- กันฝุ่นระดับ IP6X กันน้ำได้ลึกสุด 50 เมตร (ระดับ WR50) สามารถใส่ว่ายน้ำในสระ ในทะเลได้
- มีเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ วัด ECG วัดอุณหภูมิ วัดออกซิเจนในเลือด
- รองรับ GPS ทั้งย่าน L1, GLONASS, Galileo, QZSS และ BeiDou
- มีฟีเจอร์ตรวจจับการชน
- แบตเตอรี่ใช้ได้นานสุด 18 ชั่วโมง รองรับการชาร์จเร็ว
- ราคา Apple Watch Series 8 (สาย Sport Band)
- รุ่นอลูมิเนียม GPS 41 มม. 15,900 บาท / 45 มม. 16,900 บาท
- รุ่นอลูมิเนียม GPS+Cellular 41 มม. 19,900 บาท / 45 มม. 20,900 บาท
- รุ่นสแตนเลสสตีล GPS+Cellular 41 มม. 27,900 บาท / 45 มม. 29,900 บาท
ถ้าจะเทียบกับ Series 7 ก็จะมีจุดต่างกันหลัก ๆ เลยคือชิป SiP ที่ขยับมาเป็น S8 ซึ่งคุณสมบัติในภาพรวมนั้นแทบจะไม่ต่างจาก S6 และ S7 มากนัก แต่จุดที่อาจจะทำให้หลายคนลังเลอยู่ก็คือราคาเริ่มต้นที่ขยับขึ้นมาสูงกว่าตอน Series 7 อยู่ 2,000 บาทเลยทีเดียว เนื่องด้วยปัจจัยด้านค่าเงิน ซึ่งสินค้าอื่น ๆ ของ Apple เองต่างก็ปรับราคาขึ้นสูงกว่ารุ่นก่อนหน้ากันแทบทั้งนั้นเลย
แกะกล่อง Apple Watch Series 8
สำหรับ Apple Watch Series 8 ที่ทางเราได้รับมารีวิวในครั้งนี้ ก็เป็นรุ่นตัวเรือนอลูมิเนียมสีมิดไนท์ขนาด 45 มม. พร้อมสาย Sport Band สีเดียวกัน รองรับการเชื่อมต่อ GPS+Cellular สำหรับการใช้ cellular ใน Apple Watch นั้น ผู้ใช้จะต้องสมัครแพ็คเกจของผู้ให้บริการเครือข่าย และมีค่ารายเดือนเพิ่มด้วย ดังนั้นผมเลยจะไม่ได้ทดสอบในส่วนนี้นะครับ เพราะปกติใช้แต่รุ่น GPS เท่านั้น
กล่องของ Apple Watch ก็ยังคงเป็นแบบเดิม คือใช้กระดาษสีขาวห่อทั้งกล่องตัวเรือนและของสายมาในแพ็คเดียวกัน
เมื่อแกะกระดาษห่อออก ก็จะพบทั้งสองกล่องซ้อนกันอยู่ข้างในอีกที
ในกล่องของตัวเรือน Apple Watch ก็จะมีตัวเรือนที่ห่ออยู่ในกระดาษแข็งอีกที ซึ่งด้านหน้าก็จะมีบอกขนาดไว้ให้อีกรอบ และก็มีสายชาร์จแบบแม่เหล็ก ที่ปลายสายเป็นแบบ USB-C รองรับการชาร์จเร็วมาให้ด้วย
ส่วนกล่องของสายก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ มีสายให้ 2 ความยาวคือขนาด M/L และ S/M
ตัวเรือน Apple Watch Series 8
รูปร่างหน้าตาของตัวเรือน Apple Watch Series 8 ก็สรุปง่าย ๆ เลยคือเหมือนกับหลายรุ่นที่ผ่านมา กระจกด้านหน้าของรุ่นตัวเรือนขอบอลูมิเนียมจะใช้เป็นกระจก Ion-X ที่แข็งแกร่งในระดับหนึ่งเลย ขอบโค้งมนลงไปจรดขอบตัวเรือน สีสันของจอทำได้ดีมาก ส่วนที่เป็นสีดำก็ดำสนิท รองรับการแสดงผลแบบหน้าจอติดตลอด (Always-on display) ที่เมื่อไม่ได้ใช้งาน หน้าจอจะ dim ความสว่างลง พร้อมกับปรับรูปแบบการแสดงผลของ watchface แต่ละแบบให้มืดลง กินไฟน้อยลง รวมถึงยังปรับรีเฟรชเรตให้ต่ำที่สุดด้วย
ด้านหลังใช้เป็นเซรามิกที่มีความแวววาว โดยมีการสลักข้อมูลไว้ทั้งรุ่น ขนาด วัสดุ การเชื่อมต่อที่รองรับ และระดับการกันน้ำ ส่วนตรงกลางก็จะเป็นที่ตั้งของเซ็นเซอร์และหลอดไฟ LED สำหรับการตรวจจับเกี่ยวกับด้านหัวใจ อาทิ อัตราการเต้นของหัวใจ วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) และปริมาณออกซิเจนในเลือด
ฝั่งขวาจะเป็นปุ่มเม็ดมะยม digital crown ที่มีวงกลมสีแดงอยู่ด้วย เพื่อบ่งบอกว่าเป็นรุ่น GPS+Cellular ส่วนข้าง ๆ กันจะเป็นช่องรับเสียงของไมโครโฟน และริมซ้ายสุดก็คือปุ่มกดด้านข้างที่ใช้สำหรับเรียกดูแอปที่ใช้งานล่าสุด รวมถึงใช้เป็นปุ่ม Power ด้วย
ส่วนฝั่งซ้ายจะมีเพียงช่องลำโพงที่ใช้เป็นช่องระบายอากาศด้วยในตัว
เมื่อประกอบร่างกับสาย ก็พร้อมใช้งานเป็นสมาร์ตวอทช์ได้ทันที ซึ่งการถอดและใส่สายของ Apple Watch ก็ยังทำได้ง่ายเช่นเคย
และสำหรับใครที่มีสาย Apple Watch อยู่แล้ว ก็สามารถนำมาใช้กับ Series 8 ได้เลยครับ โดยรุ่นขนาด 41 มม. ก็สามารถใช้สายของรุ่นบอดี้เก่า (Series 6 ลงไป) ขนาด 40 มม. ได้เลย ส่วนรุ่นขนาด 45 มม. ก็สามารถนำสายของรุ่น 44 มม. มาใส่ได้เช่นกัน ตามภาพด้านบน ที่ผมลองเอาสาย Nike Sport Loop ของ Series 6 ที่ใช้อยู่มาลองใส่ดู ก็สามารถใส่ได้พอดีเป๊ะ
เทียบ Apple Watch Series 8 กับ Series 6
ทีนี้ลองจับ Apple Watch Series 8 (ซ้าย) มาเทียบกับ Series 6 (ขวา) ที่เป็นบอดี้เก่ากันดู ซึ่งก็เป็นไปตามหน้าสเปคครับ คือมิติในส่วนของความยาวจะมากกว่ากันอยู่ 1 มม. ส่วนด้านกว้างและความหนานั้นเท่าเดิมเลย แต่ที่สังเกตได้ชัดกว่าก็คือขนาดพื้นที่แสดงผลของหน้าจอที่มากกว่าเดิม ภาพชนขอบเรือนกว่ารุ่นเก่าอย่างชัดเจน ซึ่งจากที่ผมใช้งานมาระยะหนึ่ง ก็พบว่าความรู้สึกในตอนที่ดูเวลามันต่างกันนิดหน่อย คือเหมือนจะมองตัวเลขได้ง่ายขึ้นนิดนึง
ส่วนในเรื่องสีสันหน้าจอ อันนี้ไม่ค่อยต่างกันมากนัก มุมมองก็กว้างพอ ๆ กัน
หน้าจอ Always-on ก็ทำได้ดีทั้งคู่ ส่วนใครที่ใส่ Apple Watch นอนด้วยก็ไม่มีปัญหาครับ เพราะระบบปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติทำงานได้ดีมาก ไม่เจอปัญหาแสงแยงตาแน่นอน หรือถ้าเปิดใช้งาน Sleep mode ด้วยก็ยิ่งสบายใหญ่เลย เพราะเมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ Apple Watch ก็จะปิดหน้าจอให้เองอยู่แล้ว
ด้านหลังก็เหมือนกันมากทั้งวัสดุ การจัดเรียงอุปกรณ์ต่าง ๆ
ด้านข้างก็จะมีความต่างกันเล็กน้อย เนื่องจากของผมเป็นรุ่น GPS จึงไม่มีวงกลมสีแดงที่ปุ่มเม็ดมะยม ส่วนสีของตัวเรือน ฝั่งของ Series 8 เป็นสีมิดไนท์ที่ออกโทนน้ำเงินเข้มที่เป็นสีโทนเข้มกว่าฝั่งของ Series 6 ที่เป็นสีเทา Space Gray อยู่พอสมควร
ฝั่งของลำโพงจะมีความต่างกันชัดเจนคือ Series 8 ใช้เป็นช่องเดียวเลย แต่ Series 6 มีการแบ่งเป็นสองช่องเล็ก ด้านของเสียงที่ออกมาจากลำโพงนั้น ไม่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเท่าไหร่
ส่วนเรื่องความหนาของตัวเรือน จากในภาพจะเห็นว่า Series 6 ทางขวาดูหนากว่า อันนี้เป็นเพราะผมติดกระจกกันรอยหน้าจอเอาไว้ด้วยครับ เลยทำให้ดูหนาขึ้น แต่ตามจริงแล้วในหน้าสเปค ทั้งคู่จะมีความหนาเท่ากันที่ 10.7 มม.
รีวิว Apple Watch Series 6 GPS
ฟังก์ชันที่น่าสนใจใน Apple Watch Series 8
ระบบตรวจจับการชนกัน (Crash Detection)
ก่อนหน้านี้ Apple Watch นั้นมีระบบตรวจจับการล้มมาให้อยู่แล้ว แต่ล่าสุดในการเปิดตัว Series 8 ก็ได้มีการพูดถึงฟีเจอร์ใหม่นั่นคือระบบตรวจจับการชนของรถ ซึ่งระบบจะอาศัยการประมวลผลจากข้อมูลหลายส่วน อาทิ เซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวแบบแรง g สูง เซ็นเซอร์ไจโร 3 แกน บารอมิเตอร์ รวมถึงข้อมูล GPS มาประมวลผลแล้วเปรียบเทียบกับชุดข้อมูลการชนจริงที่ Apple เก็บรวบรวม เพื่อคำนวณว่าเกิดการชนจริงหรือไม่ ถ้าเกิดการชนจริง ก็จะถามขึ้นมาว่าให้โทรสายฉุกเฉินเพื่อขอความช่วยเหลือหรือไม่ และถ้าหากไม่มีการตอบสนอง ระบบก็จะโทรให้เองเลย
ระบบตรวจสอบเส้นทางเดินแบบย้อนกลับ (Backtrack) ที่ใช้งานง่ายขึ้น
อีกระบบที่หลายคนน่าจะชอบนั่นคือ Backtrack ที่แม้จะมีในรุ่นอื่นด้วยเช่นกัน แต่ในรอบนี้ Apple ได้นำออกมาให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น คือสามารถเรียกใช้งานได้ด้วยการกดปุ่มข้างค้างไว้
ประโยชน์ของโหมดนี้คือผู้ใช้สามารถใช้ในการปักหมุดตำแหน่งตั้งต้น ตำแหน่งระหว่างทางได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเดินย้อนตามรอยเดิม หรือเดินหาตำแหน่งที่ปักหมุดไว้ได้ โดยอาศัยการระบุตำแหน่งจาก GPS และเข็มทิศ ถ้าให้ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่น่าจะเห็นภาพได้ง่ายที่สุดก็เช่น ผมปักหมุดตำแหน่งที่จอดรถไว้ จากนั้นเข้าไปเดินในห้าง พอเจอร้าน A ที่ตั้งใจว่าจะมาซื้อของก่อนกลับ ผมก็ปักหมุดไว้อีกจุดหนึ่ง หลังจากทำธุระต่าง ๆ เสร็จ ผมก็เปิด Backtrack ขึ้นมาดูว่าควรเดินย้อนกลับตามเส้นทางไหน เพื่อเดินย้อนกลับมาตำแหน่งร้าน A จากนั้นก็เดินย้อนกลับเส้นทางเดิมที่ระบบวาดไว้ให้เพื่อกลับมาที่รถ เป็นต้น
ระบบตรวจจับอุณหภูมิร่างกาย
ฟีเจอร์ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ใน Apple Watch Series 8 ก็คือการวัดความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกายจากข้อมือ โดยจะวัดเฉพาะในขณะที่นอนหลับเท่านั้น เพื่อใช้ในการประเมินข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ใช้งาน โดยจะเห็นผลชัดสุดกับฟังก์ชันในการคำนวณรอบเดือนของผู้หญิง ที่จะทำให้ระบบสามารถประมาณการวันตกไข่ และวันที่รอบเดือนน่าจะมาวันแรกได้แม่นยำยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังใช้ช่วยประเมินอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่อุณหภูมิร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงจากระดับปกติได้ด้วย เช่น ช่วงที่ไข้ขึ้นสูง เป็นต้น
ซึ่งข้อมูลที่ได้จากระบบวัดอุณหภูมินี้จะออกมาเป็นค่าความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกาย เมื่อเทียบกับอุณหภูมิร่างกายของแต่ละคนโดยเฉพาะ เช่นในภาพด้านบน ที่ระบบแจ้งว่าคืนก่อนหน้านี้ผมมีอุณหภูมิลดลงจากระดับปกติ 0.01 องศาเซลเซียส เป็นต้น ซึ่ง Apple ระบุว่าในคนที่มีสุขภาพปกติ มักจะมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกายขณะหลับไม่เกิน 1 องศาเซลเซียส แต่ทั้งนี้ ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่ทั้งกับสภาพร่างกาย และสภาพแวดล้อมในขณะที่นอนหลับ
สำหรับการใช้งานฟีเจอร์นี้ สิ่งที่จำเป็นคือ Apple Watch Series 8 และ Ultra ขึ้นไป ที่เปิดใช้งานโหมดตรวจจับการนอนและเปิด Sleep Focus ตอนนอนด้วย โดยจะต้องใส่ Apple Watch ขณะที่นอนหลับ 5 คืน คืนละอย่างต่ำ 4 ชั่วโมง เพื่อให้ระบบประเมินอุณหภูมิร่างกายพื้นฐานของผู้ใช้ก่อน จึงจะสามารถนำมาเทียบความแตกต่างในคืนต่อ ๆ ไปได้
การใช้งานโดยทั่วไป
สำหรับใครที่ใช้งาน Apple Watch อยู่แล้ว ตัวของ Series 8 เองก็ยังเป็นแบบเดิมแทบจะ 100% เลย ด้วยทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ก็ยังทำงานสอดผสานกันได้ดี รวมถึงการทำงานร่วมกับ iPhone ที่ลงตัวมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงข้อมูลแจ้งเตือนที่แสดงได้รวดเร็ว ครบถ้วน แสดงภาษาไทยได้สมบูรณ์ การใช้งานแอปที่ออกแบบมาสำหรับ Apple Watch โดยเฉพาะ ก็ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับบางเวลาที่ไม่สะดวกในการหยิบมือถือขึ้นมาใช้งานได้ดีเหมือนเคย
จุดที่น่าสนใจคือเรื่องระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ ซึ่งถ้าไม่ได้หยิบมากดเล่นทั้งวัน แม้จะเปิดใช้งานหน้าจอ Always-on display ก็ยังมั่นใจได้ว่าจะสามารถใช้งานจนหมดวันได้แบบที่แบตยังเหลือ ๆ เลย โดยในช่วงค่ำอาจจะเหลือซักประมาณ 30% ครับ เมื่อประกอบกับการที่มีระบบชาร์จเร็ว ทำให้อาศัยการถอดชาร์จช่วงอาบน้ำในแต่ละวัน ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการใส่ใช้งานเกือบตลอดเวลาได้อยู่เหมือนกัน
Apple Watch Series 8 ทุกรุ่นมาพร้อมกับความจุภายใน 32 GB เมื่อเปิดใช้งานครั้งแรกจะเหลือให้ใช้งานประมาณ 26 GB ซึ่งพอจะใช้เก็บไฟล์เพลงที่ดาวน์โหลดมาจาก Apple Music ได้อยู่พอสมควร ทำให้สามารถใช้ฟังเพลงได้สะดวก
ถ้าดูที่หัวข้อ Safety ตั้งแต่การตั้งค่าเพื่อใช้งานครั้งแรก จะมีการนำเสนอ 2 ฟีเจอร์เพิ่มเข้ามาด้วย นั่นคือ Crash Detection ที่ใช้ตรวจจับการชนของรถ และฟีเจอร์ Backtrack ที่สามารถใช้บันทึกเส้นทางเดิน และใช้ช่วยให้สามารถเดินกลับไปยังจุดที่บันทึกไว้ได้ง่ายขึ้น
โดยตัวของฟีเจอร์ตรวจจับการชน ผู้ใช้จะสามารถตั้งค่าได้นะครับ ว่าหลังจากตรวจพบว่ามีการชน จะให้โทรเบอร์ฉุกเฉินให้อัตโนมัติหรือไม่ ซึ่งเปิดไว้ก็ได้ครับ เพราะการที่ระบบจะตัดสินใจว่ามีการชนจริง ๆ หรือไม่ มันมีเงื่อนไขที่ค่อนข้างละเอียดพอสมควร ไม่ลั่นง่าย ๆ แน่นอน
ปิดท้ายรีวิว Apple Watch Series 8
ถ้าคุณต้องการสมาร์ตวอทช์ซักเรือนเพื่อนำมาใช้กับ iPhone แน่นอนว่า Apple Watch คืออุปกรณ์ที่ทำงานเข้ากับ iPhone ได้ดีที่สุด ซึ่งตัวของ Series 8 เองก็ยังทำได้ดีตามมาตรฐานเช่นเคย ด้วยฟีเจอร์ในตัวที่ครบครันสำหรับการใช้งานทั่วไป การรองรับการสนับสนุนที่ยาวนาน รวมถึงยังหาอุปกรณ์เสริมเช่นสาย เคส กระจกกันรอยได้ง่ายด้วย
ส่วนสิ่งที่เพิ่มเข้ามาในรุ่นนี้ ก็ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยากซักนิดนึง เนื่องจากมันไม่ได้เป็นการเปลี่ยนโฉม หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งานใด ๆ แต่เป็นการเพิ่มระบบที่จะช่วยเหลือผู้ใช้งานในขณะที่เกิดอุบัติเหตุ (ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เกิด) จึงทำให้หลายคนมองว่าอาจไม่คุ้มเท่าไหร่สำหรับการซื้อมาใช้งาน
แต่ถ้าเป็นกรณีของการซื้อมาเปลี่ยนแทนเรือนเดิมที่ใช้งานอยู่ แล้วต้องการใช้ Apple Watch ต่อไป อันนี้ก็จัดว่าคุ้มเลยครับ เพราะสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องปรับตัวมากนัก แต่ได้การปกป้องที่มากขึ้น ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ที่ดีกว่าเรือนเดิม เพราะแบตเดิมอาจจะเริ่มเสื่อมไปแล้ว รวมถึงยังสามารถนำสายเดิมมาใช้ต่อได้ด้วย ในกรณีที่เป็นขนาดที่เทียบเท่ากัน
สำหรับกรณีของ Apple Watch SE 2 ที่สเปคภายในนั้นเทียบเท่ากับ Series 8 ในราคาที่ย่อมเยากว่า อันนี้ก็ต้องพิจารณาเรื่องของฟังก์ชันปลีกย่อยที่มีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร เช่น การขาดฟีเจอร์การวัดออกซิเจนในเลือด ไม่มีการวัดอุณหภูมิ หน้าจอไม่สามารถติดตลอด (always-on) ได้ รวมถึงยังไม่สามารถกันฝุ่นได้ตามมาตรฐาน IP6X ได้อีกด้วย ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้อีกทีครับ แต่ถ้าต้องการตัวจบให้ครบ ๆ สำหรับการใช้งาน Apple Watch ไปเลย Series 8 นั้นตอบโจทย์ได้ดีมากแล้ว สามารถใช้งานเป็นเครื่องมือติดตัวได้ตลอดเวลา ในขณะที่รุ่น SE อาจจะเหมาะกับการใช้งานที่เบากว่า ไม่ได้เน้นด้านสุขภาพเท่า ยกเว้นตัวของรุ่น Ultra ที่เฉพาะทางขึ้นไปอีกระดับ ในราคาที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน สำหรับการเปรียบเทียบฟีเจอร์ของแต่ละรุ่น สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่หน้าเว็บไซต์ของ Apple ครับ