การลงทะเบียนว่างงานประกันสังคมออนไลน์ และรายงานตัวขอรับเงินชดเชยนั้น หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นวิธีที่ยาก และต้องทำหลายขั้นตอนกว่าจะลงทะเบียนได้ ซึ่งในความจริงแล้ว ไม่ได้มีขั้นตอนที่เยอะ และยากขนาดนั้น เดี๋ยวเราจะมาบอกวิธีทำง่ายๆ และมาเช็คสิทธิ์กันก่อนว่าใครจะได้เงินบ้าง และเงินจะเข้าเมื่อไหร่ หลังจากที่ได้รายงานตัวไปแล้ว
ถึงแม้ว่าจะผ่านช่วงเวลาที่ประเทศไทย ได้เจอกับการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 มานานเกิน 1 ปีแล้วก็ตามนับจากปีที่แล้ว ที่มีการระบาดครั้งแรก และทำให้หลายคนๆ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริษัททั่วไป หรือพนักงานโรงงาน ต่างต้องโดนพักงาน หรือต้องถูกเลิกจ้างกันเยอะมากๆ ซึ่งในตอนนั้นแม้แต่บริษัทใหญ่ๆ หลายที่ก็ยังต้องปิดตัวลง จนมาถึงในปีนี้ ทีท่าของการระบาดของ Covid-19 ก็ยังคงไม่มีวี่แววว่าจะหายไปในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน และเชื่อว่าก็ยังมีพนักงานที่ยังต้องถูกเลิกจ้างอยู่อีกไม่น้อยเช่นเดียวกัน และสำหรับคนที่ส่งเงินประกันสังคมอยู่เป็นประจำทุกเดือน ก็จะต้องได้รับเงินชดเชยในกรณีว่างงาน จากทางสำนักงานประกันสังคม ซึ่งการลงทะเบียน และการรายงานตัวเพื่อรับเงินชดเชยนั้น สามารถทำผ่านทางออนไลน์ได้เลย เดี๋ยววันนี้ทาง Specphone จะมาบอกกันว่าวิธีลงทะเบียนว่างงานประกันสังคมออนไลน์ และรายงานตัวขอรับเงินชดเชยในปี 2564 นี้มีขั้นตอนการทำอย่างไรบ้าง ไม่ได้ยากและซับซ้อนอย่างที่คิดเลย แค่มีมือถือกับเน็ตก็ใช้ได้แล้ว ไปดูกันได้เลย
- ใครบ้างที่สามารถขอรับเงินชดเชยว่างงานได้?
- เงินที่จะได้รับชดเชยจากการรายงานตัวว่างงาน จะได้เท่าไหร่บ้าง?
- ขั้นตอนการลงทะเบียนว่างงานประกันสังคมออนไลน์ (สำหรับคนที่ถูกเลิกจ้าง หรือลาออกปกติ)
- ขั้นตอนการลงทะเบียนว่างงานประกันสังคม โดยการไปยื่นเอกสารด้วยตัวเองที่สำนักงาน
- ขั้นตอนการลงทะเบียนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจากโรคระบาดไวรัสโควิด 19 รอบใหม่
- วิธีรายงานตัวว่างงานออนไลน์
- ต้องรอกี่วันถึงจะได้รับเงินชดเชย หลังจากรายงานตัวว่างงานไปแล้ว?
- ประกันสังคมมาตรา 39 คืออะไรแล้วได้สิทธิอะไรบ้าง?
- ประกันสังคมมาตรา 40 ได้สิทธิอะไรบ้าง?
- สรุป
**ในกรณีว่างงานเลิกจ้างจากเหตุสุดวิสัยจากโรคระบาดไวรัสโควิด 19 รอบใหม่ จะมีวิธีทำที่ต่างจากการลงทะเบียนทั่วไป ดูวิธีที่นี่**
ใครบ้างที่สามารถขอรับเงินชดเชยว่างงานได้?
ก่อนอื่นที่จะลงทะเบียนว่างงานประกันสังคมออนไลน์ และขอรับเงินชดเชยได้นั้น ต้องทำความเข้าใจกันก่อน ว่าใครมีสิทธิได้เงินบ้าง เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนที่ว่างงาน หรือถูกเลิกจ้างแล้วจะได้เงินชดเชยเสมอไป ต้องดูด้วยว่าเรามีสิทธิที่จะได้รับหรือไม่ โดยคนที่จะได้รับนั้นต้องมีเงื่อนไขหลักๆ ดังนี้
- ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (เป็นคนที่เคยทำงานประจำ และจ่ายเงินประกันสังคม) โดยไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40
- ต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 6 เดือนภายในช่วง 15 เดือนก่อนที่จะว่างงาน ถ้าจ่ายไม่ถึงก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชย
- ต้องลงทะเบียนว่างงานประกันสังคมออนไลน์ หรือออฟไลน์ (ไปลงทะเยียนที่สำนักงาน) ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ว่างงาน โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงาน
- สิทธิที่จะได้รับนั้น จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 โดยนับจากวันที่ว่างงานวันแรก จากการทำงานกับที่ทำงานที่สุดท้าย
- ต้องไม่ใช่ผู้ที่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ
- ต้องรายงานตัวเดือนละ 1 ครั้ง (ทั้งจากทางออนไลน์ หรือที่สำนักงานก็ได้)
- ต้องไม่ได้ถูกเลิกจ้างเนื่องจากการทุจริต หรือทำให้บริษัทเสียหายร้ายแรง ฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัท หรือผิดกฎหมายร้ายแรง
เงินที่จะได้รับชดเชยจากการรายงานตัวว่างงาน จะได้เท่าไหร่บ้าง?
สำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ของคนที่ได้ทำการลงทะเบียนว่างงานประกันสังคมออนไลน์ กับประกันสังคมเรียบร้อย และรายงานตัวทุกๆ 1 เดือน จะได้รับเงินชดเชยอยู่ 2 กรณีหลัก และอีก 1 กรณี (Covid-19 รอบใหม่) ได้แก่
1. กรณีถูกเลิกจ้าง
- จะได้รับเงินชดเชยระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน (6 เดือน)
- ได้รับเงินชดเชย 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคิดจากฐานเงินเดือนเฉลี่ย จากเงินที่ส่งสมทบขั้นต่ำคือ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
*ตัวอย่างคือถ้าผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 6,000 บาท จะได้รับเงินชดเชยเดือนละ 3,000 บาท หรือผู้ที่ได้เกิน 15,000 บาท (แต่เงินที่ได้จะคิดไม่เกิน 15,000 บาทอยู่ดี) ก็จะได้รับเงินชดเชยเดือนละประมาณ 7,500 บาท ปีละไม่เกิน 6 เดือนสูงสุดคือ 45,000 บาท
2. กรณีที่ลาออกเอง หรือถูกเลิกจ้างแบบหมดสัญญาจ้าง
- จะได้รับเงินชดเชยระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน (3 เดือน)
- ได้รับเงินชดเชย 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคิดจากฐานเงินเดือนเฉลี่ย จากเงินที่ส่งสมทบขั้นต่ำคือ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
*ตัวอย่างคือถ้าผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 6,000 บาท จะได้รับเงินชดเชยเดือนละ 1,800 บาท หรือผู้ที่ได้เกิน 15,000 บาท ก็จะได้รับเงินชดเชยเดือนละประมาณ 3,000 บาท ปีละไม่เกิน 3 เดือนสูงสุดคือ 9,000 บาท
3. กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย
เหตุสุดวิสัยนี้หมายถึง เกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ และต้องหยุดงานกรณีกักตัว หรือราชการสั่งปิดสถานที่ชั่วคราว เนื่องจากเหตุสุดวิสัย Covid-19 จะได้รับเงินชดเชยในขณะที่ว่างงาน 50% จากค่าจ้างรายวัน ตลอดระยะเวลาที่ถูกกักตัว หรือระยะเวลาที่สถานที่ถูกปิดชั่วคราว รวมกันแล้วไม่เกิน 90 วัน และลูกจ้างที่จะได้รับสิทธิเงินชดเชยนั้น ต้องเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถทำงานได้ และนายจ้างไม่ได้จ่ายเงินขณะที่ปิดกิจการเท่านั้น โดยขณะที่จะได้รับสิทธิลูกจ้างจะยังไม่ได้ลาออกจากที่ทำงาน เพียงแค่ว่างงานจากการกักตัว หรือสถานที่ทำงานถูกปิดตัวชั่วคราวเท่านั้น
ขั้นตอนการลงทะเบียนว่างงานประกันสังคมออนไลน์ (สำหรับคนที่ถูกเลิกจ้าง หรือลาออกปกติ)
ขั้นตอนการลงทะเบียนว่างงานประกันสังคมนั้น จะมีอยู่ 2 แบบก็คือลงทะเบียนว่างงานประกันสังคมออนไลน์ และแบบออฟไลน์ (คือต้องไปที่สำนักงาน เพื่อยื่นใบลงทะเบียนด้วยตัวเอง) ซึ่งวิธีที่ง่าย และเร็วที่สุดในการลงทะเบียนก็คือ การลงแบบช่องทางออนไลน์ ที่สามารถทำได้บนคอมฯ หรือในมือถือที่มีบราวเซอร์และอินเทอร์เน็ตก็พอแล้ว ส่วนขั้นตอนการลงทะเบียนว่างงานประกันสังคมออนไลน์ จะมีอยู่ 2 แบบก็คือผู้ที่ใช้ระบบครั้งแรก และผู้ที่เคยเข้าสู่ระบบแล้ว แต่เราจะมาบอกวิธีทำแค่เพียง ผู้ที่ใช้ระบบครั้งแรกอย่างเดียว เพราะผู้ที่เคยใช้งานแล้วจะทำแค่เพียงเข้าสู่ระบบอย่างเดียวเท่านั้น ขั้นตอนการลงทะเบียนมีดังนี้
1. เข้าไปยังเว็บของกรมการจัดหางาน (empui.doe.go.th/auth/index) ถ้าเป็นผู้ที่ใช้งานเป็นครั้งแรกให้กดเมนูที่ 1 คือ “ลงทะเบียนเข้าใช้งาน” ถ้าใครที่เคยใช้แล้วก็กดเข้าสู่ระบบข้อ 2 ได้เลย
2. เมื่อกดเข้ามาแล้ว ให้ทำตามขั้นตอนทั้งหมดทั้ง 4 ขั้นตอน โดยขั้นตอนแรกคือการยอมรับข้อตกลงการใช้บริการ ให้อ่านให้ครบก่อนจึงกดยอมรับและเข้าใช้งาน จากนั้นจึงกดขั้นตอนต่อไป
2.1 ขั้นตอนต่อมา จะเป็นขั้นตอนของการตรวจสอบเลขบัตรประชาชน ให้เรากรอกข้อมูลใส่ไปให้ครบทุกช่อง โดยเฉพาะเลขหน้าบัตรและหลังบัตร ที่ห้ามผิดเด็ดขาด
2.2 ขั้นตอนที่ 3 จะเป็นขั้นตอนของการใส่ข้อมูลส่วนตัวทั้งหมด โดยใส่ให้ถูกต้องทุกช่อง รวมไปถึงรหัสผ่านที่ใส่แล้วห้ามลืมด้วย ในข้อมูลที่ให้กรอกใส่รูปถ่ายหน้าตรง และชุดสุภาพเข้าไปด้วย ขนาดไม่เกิน 5 MB (ถ้ามี) กดลงทะเบียน
2.3 หลังจากที่กรอกข้อมูลทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายแล้ว ทางเว็บจะให้เราดำเนินการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน เพื่อออกหนังสือรับรอง ให้เรากดปุ่ม “ดำเนินการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน” ได้เลย
3. หลังจากเลือกขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนเรียบร้อยแล้ว ให้เลือก หนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน ทางระบบจะให้เอกสารเป็นหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน และวันที่นัดรายงานตัวของผู้ประกันตน ซึ่งตรงนี้เราสามารถปริ้นออกมาได้เลย เผื่อว่าเก็บไว้เป็นหลักฐาน และจะได้ไม่ลืมวันที่ต้องรายงานตัว (รายงานตัวออนไลน์ได้)
4. พิมพ์เอกสาร เพื่อขอรับเงินประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องนำไปยื่นที่สำนักงานประกันสังคม (ถึงแม้ว่าจะลงทะเบียนออนไลน์ ก็ต้องไปยื่นที่สำนักงานอยู่ดีนะ) เอกสารที่ต้องเตรียมไปคือ
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคมกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7) ต้องปริ้นออกมา แล้วกรอกข้อมูลลงแบบฟอร์มให้ครบถ้วน สามารถกดโหลดเอกสาร ได้ที่นี่
- สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร (เฉพาะหน้าแรกที่มีชื่อ และเลขบัญชี) ของชื่อผู้ประกันตน (ของตัวเอง) ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีฯ, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารธนชาต, ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
**หากต้องการหางานจากกรมการจัดหางาน ก็ให้เข้าไปลงทะเบียนเพิ่มเติม โดยกรอกข้อมูลการศึกษา ตำแหน่งงาน และจังหวัดที่ต้องการทำงาน พร้อมทั้งเพิ่มสามารถเหตุการณ์ออกจากงานด้วย หรือเข้าไปหางานได้ที่นี่
ขั้นตอนการลงทะเบียนว่างงานประกันสังคม โดยการไปยื่นเอกสารด้วยตัวเองที่สำนักงาน
สำหรับคนที่ไม่สะดวก ที่จะลงทะเบียนว่างงานประกันสังคมออนไลน์ จะมีขั้นตอนและเอกสาร รวมถึงวิธีการที่ยากกว่านิดหน่อย แต่จะมีข้อดีตรงที่ เราสามารถมายื่นเอกสารขอรับชดเชยได้เลยในครั้งเดียว (เพราะถึงแม้ว่าจะลงทะเบียนออนไลน์ ก็ต้องมายื่นเอกสารที่สำนักงานอยู่ดี) การไปทำเรื่องครั้งเดียวให้จบที่สำนักงานไปเลย ก็จะช่วยให้ทำเรื่องได้เร็วกว่าด้วย แต่อาจจะรอคิวทำเรื่องนานนิดนึง ส่วนเรื่องขั้นตอน และเอกสารที่ต้องเอาไปด้วยนั้น จะมีดังนี้
1. ขั้นตอนแรกเลยก็คือการค้นหาสำนักจัดหางาน ที่สำนักงานจัดหางานใกล้บ้าน โดยดูจากเว็บ doe.go.th และดูข้อมูลสำนักงานของแต่จังหวัด และให้ไปขึ้นทะเบียนที่สำนักงานที่เราสะดวก
2. กรอกแบบฟอร์มที่ได้จากเจ้าหน้าที่ โดยจะได้เป็นใบแบบฟอร์มสำหรับขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน พร้อมกับต้องนำหลักฐานไปด้วย ดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนด้วย
- รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 รูป (รูปหน้าตรงที่แต่งกายสุภาพ และถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
3. กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคมกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7) พร้อมทั้งนำหลักฐานรับรองการออกจากงาน หรือนำเสาเนามาก็ได้ (สปส 6-09) (ถ้ามี) หรือนำหนังสือของนายจ้างที่รับรองการออกจากงานของตัวเราเอง พร้อมทั้งนำเสาเนาหน้าสมุดบัญชีเงินฝากแบบออมทรัพย์ (เฉพาะหน้าแรกที่มีเลขบัญชี และชื่อ)
ขั้นตอนการลงทะเบียนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจากโรคระบาดไวรัสโควิด 19 รอบใหม่
นอกจากการลงทะเบียนว่างงานประกันสังคมออนไลน์แบบทั่วไปแล้ว ยังมีกรณีพิเศษจากเหตุสุดวิสัย ที่เกิดมาจากโรคระบาดไวรัส Covid-19 ซึ่งสามารถขอชดเชยเงินระหว่างที่ว่างงานได้เช่นกัน แต่อย่างลืมว่ามีเงื่อนไขคือ ต้องยังไม่ได้ลาออกจากที่ทำงาน และต้องหยุดงานกรณีกักตัว หรือราชการสั่งปิดสถานที่ชั่วคราว โดยเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถทำงานได้ และนายจ้างไม่ได้จ่ายเงินขณะที่ปิดกิจการตามที่รัฐสั่งปิด (แต่คิดว่าช่วงนี้คงได้เปิดกันหมดแล้ว เว้นแต่บางพื้นที่ที่ยังต้องเฝ้าระวังหนักๆ อยู่) ในกรณีนี้ตัวลูกจ้างไม่ต้องทำอะไรมากนัก ส่วนใหญ่การจัดการทั้งหมดจะตกไปอยู่ที่นายจ้างอย่างเดียว
สิ่งที่ลูกจ้างต้องทำ
1. กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคมกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7) (โหลดแบบฟอร์มที่นี่) พร้อมกับแนบสำเนาหน้าสมุดบัญชี (เฉพาะหน้าแรกที่มีชื่อ และเลขบัญชี) และใส่ข้อมูลให้ถูกต้อง จากนั้นจึงส่งให้นายจ้าง
สำหรับนายจ้าง
1. ให้รวบรวมแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคมกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7) ของลูกจ้างทุกคน พร้อมเอกสารทั้งหมด จากนั้นจึงนำไปขึ้นทะเบียน โดยใส่รายละเอียดของลูกจ้างให้หมดในระบบ e-Service (สปส.2-01/7) (กดเข้าไปที่นี่) ถ้านายจ้างยังไม่เคยใช้งานให้เข้าไปลงทะเบียนกับ www.sso.go.th ก่อน พร้อมแนบเอกสารที่ต้องใช้ ได้แก่
- ข้อมูลลูกจ้างในคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7)
- หนังสือหรือเอกสารรับรอง ในกรณีที่ร้านถูกสั่งปิด หรือโดนกักตัว
2. นำแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคมกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7) ของลูกจ้างทั้งหมด ที่ได้บันทึกข้อมูลลงใน e-Service โดยส่งทางไปรษณีย์ (แบบลงทะเบียน) ไปที่สำนักงานประกันสังคม ที่อยู่ในพื้นที่ชองตัวเอง ภายใน 3 วัน นับจากวันแรกที่ได้บันทึกข้อมูลลงใน e-Service
3. หลังจากนั้น ถ้าสำนักงานประกันสังคมได้รับข้อมูลจากนายจ้างครบ และตรวจสอบถูกต้องแล้ว จะทำการอนุมัติจ่ายเงินชดเชยในรอบแรก เข้าบัญชีลูกจ้างภายใน 5 วัน (ไม่รวมวันหยุดราชการ) และส่วนที่เหลือจะโอนเข้าในทุกๆ สิ้นเดือนจนครบทั้งหมด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมต่อสายด่วน 1506
วิธีรายงานตัวว่างงานออนไลน์
มาถึงวิธีรายงานตัวกันบ้าง หลังจากที่ได้ลงทะเบียนว่างงานประกันสังคมออนไลน์ หรือว่าลงทะเบียนด้วยตัวเองเรียบร้อยแล้ว (ไม่รวมกับว่างงานจากเหตุสุดวิสัย) ต้องรายงานตัวทุกเดือน ตามนัดหมายที่ทางสำนักงานประกันสังคมออกให้ หลังจากที่ได้ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ต้น โดยการรายงานตัวนี้ สามารถทำได้เลยบนช่องทางออนไลน์ ซึ่งเราจะสามารถรายงานตัวล่วงหน้าได้ 7 วันก่อนถึงกำหนด และสามารถรายงานตัวได้หลังวันนัดรายงานตัวไม่เกิน 7 วัน ทั้งนี้การรายงานตัวล่วงหน้า หรือหลังจากวันนัดจริง อาจส่งผลต่อการรับเงินชดเชยได้ด้วยเล็กน้อย แต่ทางที่ดีก็อย่างให้เร็วไป หรือช้าเกินไปจะดีที่สุด ส่วนขั้นตอนการทำมีวิธีดังนี้
1. เข้าสู่ระบบโดยเข้าไปที่เว็บ empui.doe.go.th และเลือกข้อ 2 คือลงชื่อเข้าใช้งาน
2. กดเข้าไปที่เมนู “รายงานตัว” ที่ด้านซ้าย และกดปุ่มรายงานตัว ซึ่งตรงนี้จะมีรายละเอียดบอกเอาไว้ด้วย ว่าครั้งต่อไปเป็นวันที่เท่าไหร่ เพียงเท่านี้ก็จะเป็นการรายงานตัวเรียบร้อยแล้ว ง่ายมากๆ
ต้องรอกี่วันถึงจะได้รับเงินชดเชย หลังจากรายงานตัวว่างงานไปแล้ว?
คำถามนี้ถือว่าเป็นคำถามหลักๆ จากหลายคน หลังจากได้ทำการลงทะเบียนว่างงานประกันสังคมออนไลน์ และได้รายงานตัวเรียบร้อยแล้ว ว่าจะได้รับเงินชดเชยเมื่อไหร่ ทำไมบางคนถึงได้ช้า และบางคนก็ได้เร็วมากๆ ซึ่งปัญหานี้ทางสำนักงานประกันสังคม ได้มีคำตอบไว้อยู่แล้วว่า หลังจากการรายงานตัวว่างงาน เราจะได้รับเงินชดเชยโอนเข้ามาในบัญชีภายใน 5-7 วันทำการ (ไม่รวมวันหยุด) โดยนับจากวันที่ได้รับการอนุมัติ และรายงานตัวเรียบร้อยแล้ว ตรงนี้เองที่บอกว่าเราจะต้องรอนายจ้างยื่นเรื่องลาออก และเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ได้บันทึกข้อมูลลาออกเรียบร้อยแล้ว ถึงจะมีการอนุมัติได้ เหตุผลทั้งหมดนี้จึงเป็นองค์ประกอบที่ทำให้บางคนได้รับเงินช้า หรือได้รับเงินเร็วได้นั่นเอง
ประกันสังคมมาตรา 39 คืออะไรแล้วได้สิทธิอะไรบ้าง?
ประกันสังคมมาตรา 39 นั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับสิทธิเท่ากับมาตรา 33 ที่จะได้รับเงินชดเชย หากว่าลาออก หรือว่างงาน แต่อย่างน้อยก็ยังได้รับสิทธิจากสำนักงานประกันสังคมอยู่บ้าง อย่างแรกที่ต้องเข้าใจก็คือ ประกันสังคมมาตรา 39 ก็คือคนที่สมัครใจ ที่จะจ่ายเงินสมทบให้กับประกันสังคมต่อ หลังจากที่ได้ลาออกมาจากงานประจำ และต้องการจ่ายเงินสมทบด้วยตัวเอง โดยผู้ประกันตน จะต้องส่งเงินเข้ากองทุน 432 บาทต่อเดือนทุกวันที่ 15 ของแต่ละเดือน และรัฐจะช่วยส่งเพิ่มอีกเดือนละ 120 บาท ถ้าเกินเวลาจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม (จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ทางรัฐได้ลดค่าส่งลงจากนี้แล้ว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่) และสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง 6 สิทธิก็คือ
- คุ้มครองกรณีเจ็บป่วย
- คุ้มครองกรณีคลอดบุตร
- คุ้มครองกรณีขราภาพ
- คุ้มครองกรณีทุพพลภาพ
- คุ้มครองกรณีสงเคราะห์บุตร
- คุ้มครองกรณีเสียชีวิต
จะเห็นได้ว่าทั้ง 6 สิทธินี้จะไม่ได้คุ้มครองกรณีว่างงาน เหมือนกับมาตรา 33 ที่ได้สิทธิกรณีว่างงาน และรับเงินชดเชยด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมจ่ายเงินให้สำนักงานประกันสังคมต่างมาตรากัน แล้วถึงไม่ได้รับเงินชดเชยว่างงานเหมือนกันนั่นเอง อ่านขั้นตอนการสมัครที่นี่ และ โหลดเอกสารคำขอได้ที่นี่
ประกันสังคมมาตรา 40 ได้สิทธิอะไรบ้าง?
นอกจากจะมีมาตรา 33, 39 ที่คุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคมแล้ว คนที่ส่งเงินในมาตรา 40 ก็ได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกัน โดยจะมีให้เลือกอยู่ 3 ทางเลือกการส่งเงินสำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานประจำ อย่างเช่น อาชีพอิสระ ค้าขาย ฯลฯ ส่วนรายละเอียดการส่งเงิน และสิทธิประโยชน์ที่คุ้มครอง ได้แก่
ทางเลือกที่ 1 จ่ายเดือนละ 70 บาท สิทธิประโยชน์ที่คุ้มครองมี 3 กรณีคือ
- กรณีเจ็บป่วย และประสบอันตราย
- กรณีทุพพลภาพ
- กรณีเสียชีวิต
ทางเลือกที่ 2 จ่ายเดือนละ 100 บาท สิทธิประโยชน์ที่คุ้มครองมี 4 กรณีคือ
- กรณีเจ็บป่วย และประสบอันตราย
- กรณีทุพพลภาพ
- กรณีชราภาพ (รับบำเหน็จ)
- กรณีเสียชีวิต
ทางเลือกที่ 3 จ่ายเดือนละ 300 บาท สิทธิประโยชน์ที่คุ้มครองมี 5 กรณีคือ
- กรณีเจ็บป่วย และประสบอันตราย
- กรณีทุพพลภาพ
- กรณีชราภาพ (รับบำเหน็จ)
- กรณีสงเคราะห์บุตร
- กรณีเสียชีวิต
สำหรับการสมัครสามารถสมัครได้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ หรือเข้าไปสมัครลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ www.sso.go.th ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่
สรุป
เป็นยังไงกันบ้างกับวิธีลงทะเบียนว่างงานประกันสังคมออนไลน์ และลงทะเบียนด้วยตัวเอง รวมไปถึงวิธีรายงานตัวแบบออนไลน์ ที่เราได้แนะนำกันไป ซึ่งขั้นตอนจริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีเยอะเลย เพียงแต่ว่าบางข้อนั้น มีหลักการและเงื่อนไขที่อาจจะเข้าใจยาก โดยเฉพาะเรื่องของทางกฎหมาย และการจ่ายเงินประกันสังคม ที่บางครั้งเราอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิได้เงินแบบไหน ตรงตามมาตราที่จะได้รับหรือไม่
ถ้าจะสรุปง่ายๆ สั้นๆ เลยก็คือ คนที่ส่งเงินประกันสังคมตามมาตรา 33 เป็นประจำทุกเดือน โดยจ่ายมาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และอยู่ภายในช่วง 15 เดือนก่อนที่จะว่างงาน จะมีสิทธิได้รับเงินชดเชย แต่ถ้าเป็นมาตรา 39 และ 40 จะไม่ได้ ส่วนเงินที่จะได้รับหลังจากที่รายงานตัวแล้ว ขึ้นอยู่กับการอนุมัติ และขึ้นอยู่กับนายจ้างที่จะส่งเรื่องไปเร็วแค่ไหน ดังนั้นถ้าทำครบ และถูกต้องทุกขั้นตอน ยังไงก็ได้รับเงินชดเชย 100% ส่วนช่องทางในการลงทะเบียน การลงทะเบียนว่างงานประกันสังคมออนไลน์จะสะดวกที่สุดแล้ว และถ้ามีเรื่องไหนน่าสนใจอีก เราก็จะเอามาฝากกันเรื่อยๆ เลยนะครับ