ในการเลือกซื้อมือถือนั้น นอกจากเรื่องของรูปร่างหน้าตาแล้ว การพิจารณาสเปคเครื่องก็เป็นอีกจุดที่ควรให้ความสนใจด้วยเช่นกัน เพราะสเปค ความแรง คุณสมบัติ และประสิทธิภาพของตัวเครื่องถือเป็นจุดที่จะบ่งชี้เลยว่ามือถือแต่ละเครื่องจะรองรับการใช้งานได้ครอบคลุมขนาดไหน รวมถึงยังเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาด้วย ดังนั้นการพิจารณาสเปคจึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการเลือกมือถือมาตลอด โดยเฉพาะในยุคของสมาร์ตโฟนนับตั้งแต่แรกเริ่มมาจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งในบทความนี้เราจะมาพูดถึงประเด็นต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการเลือกซื้อมือถือในปี 2020 กับประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- การอ่านข้อมูลสเปคที่มักเจอโดยทั่วไป ว่าอะไรหมายถึงอะไร
- สเปคมือถือที่เหมาะกับการใช้งานในปี 2020
- แนวทางของสเปคมือถือที่ควรเลือก ตามลักษณะการใช้งานรูปแบบต่าง ๆ
เรามาเริ่มกันที่หัวข้อการอ่านสเปคมือถือเลยแล้วกันครับ
การอ่านสเปคมือถือ
ปกติแล้ว ข้อความที่ผู้ขายมักใช้ในการโฆษณาสเปคมือถือมักจะใช้ข้อความสั้น ๆ อาจจะเนื่องจากพื้นที่เขียนมีน้อย หรือต้องการใส่ข้อมูลเข้าไปให้ได้มากที่สุด จึงทำให้เราได้เห็นการย่อสเปคให้สั้นลง ซึ่งถ้าใครที่เป็นมือใหม่ หรือไม่ได้เชี่ยวชาญก็อาจจะงงได้ว่าที่คนขายเขียนนั้นหมายถึงอะไร ตัวอย่างก็เช่น
ที่หัวข้อจากในภาพข้างบนจะมีการใส่สเปคแบบคร่าว ๆ เอาไว้ ซึ่งจุดที่น่าสนใจก็ได้แก่
4GB + 64GB
ตรงนี้เป็นจุดที่บอกปริมาณหน่วยความจำและพื้นที่เก็บข้อมูลในเครื่อง โดยเลขตัวที่น้อยกว่า (4GB) จะหมายถึงแรม ที่เป็นหน่วยความจำสำหรับเก็บข้อมูลชั่วคราวเพื่อการทำงานของเครื่อง และตัวเลขที่มากกว่า (64GB) จะหมายถึงพื้นที่เก็บข้อมูล หรือที่มักเรียกกันว่ารอม ซึ่งไว้ใช้เก็บข้อมูลต่าง ๆ ไว้ในเครื่อง เช่น ระบบปฏิบัติการ แอป/เกมที่ติดตั้ง รูปภาพ วิดีโอ
แน่นอนว่าหน่วยความจำทั้งสองแบบนี้ ยิ่งมีเยอะก็ยิ่งดี ด้านของแรมจะเปรียบเสมือนกระดาษทดเลข ยิ่งมีเยอะก็ยิ่งรองรับการทำงานของหลายแอปพร้อมกันได้มากขึ้น สลับแอปไปมาได้สะดวก ส่วนพื้นที่เก็บข้อมูล (รอม) ถ้ายิ่งมีเยอะ ก็ยิ่งทำให้โหลดแอปได้มากขึ้น เก็บรูปได้มากขึ้นเป็นต้น
สำหรับการเขียนบอกปริมาณแรมและหน่วยความจำนั้น นอกจากจะเขียนเต็มแบบข้างต้นแล้ว บางทีเราอาจเจอการย่อเหลือเพียงแค่ 4+64 หรือ 4/64 เท่านั้น แต่หลักการอ่านก็ยังเหมือนเดิมครับ
หน้าจอขนาด 6.35 นิ้ว FHD+
เป็นจุดที่บอกขนาดหน้าจอเมื่อวัดตามแนวทะแยง ว่าสามารถวัดได้ 6.35 นิ้ว ส่วนคำว่า FHD+ นั้นคือระดับความละเอียดของหน้าจอครับ ย่อมาจาก Full HD+ ซึ่งก็คือความละเอียดที่เกินระดับ Full HD ขึ้นไปเล็กน้อย แต่ยังไม่ถึงระดับ QHD หรือ 4K อันเป็นระดับความละเอียดที่พบได้ค่อนข้างมากในมือถือยุคปัจจุบัน
แบตเตอรี่ 5,000 mAh
โดยทั่วไปจะใช้บ่งบอกความจุของแบตเตอรี่ในเครื่อง ซึ่งพิจารณาแบบง่าย ๆ ก็คือ ยิ่งตัวเลขนี้เยอะ ก็เท่ากับมือถือเครื่องนั้นมีแบตความจุสูง แต่การที่มือถือแบตความจุสูงนั้น ไม่ได้หมายถึงว่ามือถือเครื่องนั้นจะแบตอึด ใช้งานได้นานเสมอไปนะครับ ยังมีปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น อัตราการกินไฟของฮาร์ดแวร์ ลักษณะการใช้งาน และสภาพแวดล้อมระหว่างการใช้งานด้วย
กล้องหน้า 16MP
บ่งบอกถึงความละเอียดของภาพถ่ายที่ได้จากกล้องหน้า ว่ามีความละเอียดสูงสุดที่ 16 ล้านพิกเซล (MP = Million Pixels) ยิ่งเลขเยอะ ก็จะทำให้ภาพดูมีรายละเอียดมากขึ้น ถ่ายแล้วซูมดูในภาพได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ตัวเลขความละเอียด ไม่ได้บ่งบอกถึงคุณภาพทั้งหมดของกล้องในมือถือแต่ละรุ่นนะครับ เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย จนทำให้บางครั้ง มือถือรุ่นที่มีกล้องความละเอียดน้อยกว่า แต่ยังให้ภาพที่คุณภาพดีกว่าได้เหมือนกัน
กล้องหลัง AI 3 ตัว
เป็นเรื่องปกติไปแล้วที่มือถือยุคนี้จะมาพร้อมกล้องหลังมากกว่า 1 ตัว พร้อมระบบ AI ที่เป็นซอฟต์แวร์ซึ่งทำงานร่วมกับชิปในเครื่อง ช่วยประมวลผลภาพให้ออกมามีคุณภาพดีขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ขายก็มักจะนำเรื่องจำนวนกล้องขึ้นมาเป็นหนึ่งในจุดขายครับ แต่ถ้าจะเลือกซื้อมือถือซักเครื่อง คงต้องดูรายละเอียดเพิ่มเติมกันหน่อย ว่ากล้องแต่ละตัวนั้นเป็นเลนส์แบบไหนบ้าง แล้วมันเหมาะกับการใช้งานที่เราต้องการหรือเปล่า ซึ่งจะพูดถึงในหัวข้อถัดไป
ส่วนภาพในตัวอย่างที่สองด้านบนนี้ หลักการอ่านสเปคแบบย่อก็จะคล้ายกับในรูปแรกครับ แต่จะมีจุดที่ต้องดูเพิ่มเติมนิดนึง เช่น
สมาร์ตโฟน 4 กล้อง AI ความละเอียด 48 MP
ถ้าเจอการบอกจำนวนกล้องมากว้าง ๆ แบบนี้ อาจต้องเข้าไปดูสเปคแบบละเอียดกันนิดนึง ว่าที่ผู้ขายระบุว่า 4 กล้องนั้นหมายถึงกล้องอะไรบ้าง เพราะในกรณีอาจจะเป็นการโฆษณาโดยการรวมจำนวนของกล้องหลังและกล้องหน้ามาด้วยกัน ทำให้จำนวนกล้องมันดูเยอะ แต่สำหรับในภาพนี้ สเปคเครื่องนี้ กล้องหลังมันมา 4 ตัวครับ
ส่วนความละเอียดที่บอกมาว่า 48MP นั้น โดยมากแล้วจะเป็นการกล่าวถึงความละเอียดสูงสุดของกล้องหลักเพียงตัวเดียว ถ้าอยากดูความละเอียดของกล้องตัวอื่น ก็ต้องเข้าไปเช็คสเปคแบบเต็ม ๆ กันอีกที แต่ก็จะมีบางครั้งที่มีการระบุมาให้ในรูปแบบชุดตัวเลขเรียงกันมา เช่น “48+13+8+8” ซึ่งเลขตัวแรกจะหมายถึงความละเอียดกล้องหลัก (มักจะมีตัวเลขสูงสุดในชุด) ส่วนเลขตัวอื่น ๆ ก็ต้องไปดูสเปคอยู่ดี
ชิปเซ็ต Qualcomm SD 665
เป็นการบอกถึงชิปเซ็ต (หรือชิปประมวลผล หรือ CPU) ของตัวเครื่องว่าใช้รุ่นไหน อย่างเครื่องนี้ก็จะเป็น Qualcomm Snapdragon 665 โดยคำว่า SD ก็มักจะใช้เป็นคำย่อของชื่อ Snapdragon ครับ สำหรับชิปจาก Qualcomm ในบางครั้งเราอาจจะเห็นการย่อยมาเหลือแค่ SD665 หรือ S665 ก็มี
ส่วนชิปของยี่ห้ออื่น นอกเหนือจากการลงชื่อเต็มแล้ว ก็จะมีการย่อ หรือใช้คำแทนที่แตกต่างกันไป เช่น
- Exynos ของ Samsung มักลงเป็นชื่อเต็ม หรือใช้ประโยคบอกจำนวนคอร์ประมวลผลแทน เช่น Octa core processor
- Kirin จากฝั่ง Huawei จะคล้ายกับ Samsung ครับ แต่ส่วนใหญ่จะใช้เป็นชื่อเต็มมากกว่า
- MediaTek เมื่อก่อนมักใช้การลงเป็นชื่อรหัสเช่น MT6735 หรือ MTK6735 แต่หลังจากเปิดตัวชิปซีรีส์ Helio ก็มักจะเขียนชื่อซีรีส์ + ชื่อรุ่นย่อย เช่น Helio P35 และล่าสุดก็เป็นซีรีส์ Dimensity เช่น Dimensity 1000
- A-series จาก Apple จะใช้การเขียนตรง ๆ เลย ไม่มีรหัสตัวเลขให้สับสน เช่น Apple A13 Bionic เป็นต้น ซึ่งในแต่ละปีก็จะบวกขึ้นมาทีละ 1 ไล่มาตั้งแต่ยุค A4
Octa-core Processor
เป็นประโยคที่ใช้บอกจำนวนคอร์ประมวลผลของ CPU ในมือถือแต่ละรุ่น โดยคำหน้านั้นจะดัดแปลงมาจากภาษากรีกกับละตินครับ ซึ่งที่พบกันได้บ่อย ๆ ก็เช่น
- Dual-core = 2 คอร์
- Quad-core = 4 คอร์
- Hexa-core = 6 คอร์
- Octa-core = 8 คอร์
ทั้งนี้ จำนวนคอร์ที่มากกว่า ไม่ได้หมายถึงประสิทธิภาพจะสูงกว่าเครื่อง/ชิปที่มีจำนวนคอร์น้อยกว่าเสมอไปนะครับ เพราะมันขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีของตัว CPU ด้วย ซึ่งต้องเจาะลึกกันลงไปอีกพอสมควรเลย
ในบางกรณีเราอาจเห็นการระบุความเร็ว CPU เข้ามาด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีด้วยกันสองรูปแบบครับ
- บอกความเร็วสูงสุด ของกลุ่มคอร์ที่เร็วสุดภายในชิปเดียวกัน เช่น “Up to 2.0GHz”
- บอกความเร็วสูงสุด ของแต่ละกลุ่มคอร์ย่อยทั้งหมดภายในชิปเดียวกัน เช่น “CPU Speed 2.73GHz, 2.5GHz, 2GHz”
ซึ่ง CPU มือถือในยุคนี้มักจะเป็นแบบนี้กันแทบทั้งหมดแล้ว คือในตัวชิปจะมีการแบ่งเป็นกลุ่มคอร์ความเร็วสูง กลุ่มคอร์ความเร็วต่ำ ที่จะแบ่งกันทำงานตามลักษณะของงาน ถ้างานง่าย ๆ ไม่ได้ใช้การคำนวณมากนัก ก็จะให้กลุ่มความเร็วต่ำทำงาน รวมถึงยังมีเทคโนโลยีในการปรับลดความเร็วให้เหมาะสมได้อีก เพื่อลดการกินไฟโดยรวมลง ทำให้การระบุความเร็ว CPU ในยุคนี้จะค่อนข้างซับซ้อนกว่าเมื่อก่อนครับ
แต่สำหรับการเลือกซื้อมือถือทั่ว ๆ ไปนั้น แทบไม่ต้องสนใจเรื่องตัวเลขความเร็วมากนักก็ได้ พิจารณาแค่รุ่น CPU ก็พอได้อยู่ เพราะส่วนใหญ่ตัวเลขก็มักไม่ค่อยหนีกันเท่าไหร่
สเปคและการเลือกซื้อมือถือที่เหมาะกับการใช้งาน
ในหัวข้อนี้เราจะมาดูสเปคในแต่ละจุดกันครับ ว่าถ้าจะเลือกมือถือในปี 2020 นี้ เราควรเลือกสเปคแต่ละจุดอย่างไรบ้าง ขั้นต่ำควรจะเป็นยังไง ถึงจะสามารถใช้งานได้แบบราบรื่น
ระบบปฏิบัติการ (OS)
เป็นสิ่งที่ควรคิดเป็นอันดับแรกเลยครับ หลัก ๆ ก็คือเราจะเลือกฝั่ง Android หรือ iOS โดยปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณาก็เช่น งบประมาณ แอปที่ต้องใช้ งานที่ต้องทำ เป็นต้น เพราะจะมีงานบางอย่างที่ต้องใช้แอปที่มีแต่ในฝั่ง iOS เท่านั้น ซึ่งถ้ามีข้อกำหนดมาในลักษณะนี้ ก็คงหนีไม่พ้นว่าต้องเลือก iPhone แหละครับ แต่ถ้าพิจารณาแล้วไม่ได้มีข้อจำกัดดังกล่าว ก็จะมีตัวเลือกของฝั่ง Android เพิ่มขึ้นมาอีกเยอะเลย ซึ่งคำแนะนำในการเลือกมือถือของแต่ละ OS ก็คือ
- iOS: เน้นเลือก iPhone รุ่นใหม่ล่าสุดในแต่ละปี หรือถ้าต้องเลือกรุ่นเก่ากว่านิดนึง ก็ควรเป็นรุ่นที่มีอายุในตลาดมาไม่เกิน 2 ปี เพื่อการใช้งานที่ราบรื่นที่สุด
- Android: เลือกสเปคให้ตอบโจทย์แนวทางการใช้งานที่ต้องการ และสอดคล้องกับงบประมาณที่มี ซึ่งเราจะมาขยายรายละเอียดของสเปคแต่ละส่วนกันในลำดับถัดไปครับ
ส่วนแง่ของการอัพเดตนั้น ถ้าฝั่ง iOS ก็มั่นใจได้เลยว่าได้อัพเดตต่อเนื่องกันไม่น่าจะต่ำกว่า 4 ปี ด้านของฝั่ง Android ส่วนใหญ่ถ้าเป็นเครื่องจากแบรนด์ใหญ่หน่อย น่าจะได้อัพเดต OS ไปอย่างน้อย 1-2 ปี และก็ได้รับการอัพเดตแพทช์ความปลอดภัยไปซัก 2-3 ปี แต่เอาจริง ๆ ก็ค่อนข้างเฉลี่ยยากครับ เพราะความหลากหลายของฝั่ง Android เอง
ชิปประมวลผล (CPU)
หลัก ๆ แล้วระดับของชิปประมวลผลจะค่อนข้างสัมพันธ์กับระดับราคามือถือแต่ละรุ่นอยู่แล้ว เช่น เครื่องรุ่นท็อปราคาสูงก็มักมาพร้อมชิประดับท็อป ส่วนเครื่องราคาเบา ๆ ก็จะเลือกใช้ชิปรุ่นระดับเริ่มต้น จะมีแค่มือถือบางรุ่นเท่านั้นเองที่ราคาไม่สูงมาก แต่มาพร้อมชิประดับท็อป ซึ่งก็ต้องมาดูรายละเอียดปลีกย่อยอื่นอีกที
สำหรับชิปในมือถือที่ทางเราขอแนะนำสำหรับการเลือกซื้อมือถือ Android ในปี 2020 จะแบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้
- กลุ่มชิประดับท็อป: Snapdragon 865+ / Snapdragon 865 / Snapdragon 855 / Kirin 990 / Exynos 990
- กลุ่มชิประดับกลาง: Snapdragon 765G / Snapdragon 730 / Exynos 9611 / Kirin 980 / Kirin 985
- กลุ่มชิประดับเริ่มต้นถึงเกือบกลาง: Snapdragon 450 / Snapdragon 665 / Kirin 710F / Helio G85 / Helio G35 / Helio P22
การรองรับ 5G
กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการพิจารณาเลือกซื้อมือถือไปแล้วครับ กับการรองรับเครือข่าย 5G ซึ่งถ้าคิดว่าจะใช้มือถือนาน ๆ ไม่เปลี่ยนเครื่องบ่อย การลงทุนซื้อมือถือที่รองรับ 5G ไปเลยก็ดี เพราะตอนนี้ก็เริ่มมีหลายรุ่นที่ราคาเป็นมิตรมากขึ้น ส่วนถ้าคาดว่าน่าจะใช้ไม่นานมาก หรือปีหน้าก็เปลี่ยนเครื่องแล้ว การเลือกมือถือ 5G ในตอนนี้อาจจะยังไม่ได้เป็นจุดที่จำเป็นมากนัก ทั้งเรื่องปัจจัยพื้นที่ครอบคลุมของสัญญาณที่ยังอยู่ในระหว่างการขยายโครงข่าย รวมถึงเรื่องเทคโนโลยีที่ยังเปิดใช้งานกันอย่างไม่เต็มรูปแบบนักทั้ง 3 เครือข่ายหลัก เช่นการเปิดใช้งานคลื่นความถี่ที่ประมูลไป รวมถึงการเปิดใช้งานระบบ 5G SA ที่เป็นการวางโครงข่ายบนพื้นฐาน 5G ล้วน ๆ เป็นต้น
และในประเด็นเรื่องของเทคโนโลยีนั้น ถ้าคุณต้องการมือถือ 5G มาใช้งานแบบจัดเต็ม ก็ควรจะเลือกรุ่นที่รองรับเทคโนโลยี mmWave กับ Sub6 ด้วย เพื่อให้สามารถจับคลื่นได้ช่วงกว้างขึ้น ซึ่งก็จะเป็นเทคโนโลยีที่มาให้ใช้งานในอนาคตด้วยเช่นกัน
สรุปคือ ถ้าต้องการมือถือ 5G แบบจัดเต็มในตอนนี้ ก็ควรเลือกมือถือ 5G รุ่นท็อปสุดไว้ก่อน ส่วนถ้าต้องการซื้อมาลอง เน้นใช้งาน 5G ได้ในราคาคุ้ม ๆ ไม่เน้นความเร็วมาก (แต่ก็ยังเร็วกว่า 4G ทั่วไปอยู่ดี) การเลือกซื้อมือถือ 5G ช่วงราคาระดับหมื่นต้นถึงหมื่นกลางก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจครับ แต่ถ้ายังไม่สนใจเรื่อง 5G เท่าไหร่ อาจจะใช้เครื่องปัจจุบันไปก่อน เพื่อรอตลาดมือถือ 5G มันขยายตัวมากกว่านี้ซักนิดนึง
RAM
แรมก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญครับ เพราะจะช่วยให้การใช้งานโดยรวมดูไหลลื่นขึ้น สามารถสลับแอปไปมาได้ไม่ค่อยสะดุด ซึ่งถ้าในปี 2020 นี้ หลักการเลือกซื้อมือถือซักเครื่องก็ควรจะเลือกเครื่องที่มีแรมซัก 4 GB ขึ้นไป หรืออย่างน้อย ๆ เลยก็ 3 GB ไว้ก่อนครับ แต่ถ้างบประมาณจำกัดจริง ๆ มือถือแรม 2 GB ก็พอไหวนะ แต่แนะนำว่ายอมเพิ่มเงินอีกนิดหน่อย (หลักร้อยหรือพันนิด ๆ) เพื่ออัพเป็นรุ่นที่แรมซัก 3 GB ไปเลยดีกว่า
พื้นที่เก็บข้อมูล (Storage)
ความจุของตัวเครื่องที่แนะนำในปี 2020 นี้ ขั้นต่ำก็จะเป็น 32 GB แบบที่มีช่องใส่ MicroSD ด้วยครับ เพื่อให้สามารถเก็บรูป วิดีโอ หรือเก็บไฟล์ที่กินพื้นที่ได้เพียงพอ แต่ถ้าจะให้เหมาะจริง ๆ ก็ควรเลือกซื้อมือถือที่ให้ความจุมาซัก 64 GB จะอุ่นใจกว่า หรือถ้าสูงกว่านั้นได้ก็ดี เนื่องจากไฟล์รูป แอป เกมในปัจจุบันก็มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นมาก รวมถึงเป็นการหลีกเลี่ยงหนึ่งในปัญหาที่หลายท่านมักพบก็คือการที่ไม่สามารถอัพเดต OS ได้ เนื่องจากพื้นที่เก็บข้อมูลไม่เพียงพอ ทำให้ต้องมานั่งลบแอป ลบเกมกันวุ่นวาย
ดังนั้น ถ้าเป็นปี 2020 นี้ แนะนำว่าควรเลือกมือถือ 64 GB ขึ้นไป จะสบายใจที่สุด
หน้าจอ
ประเด็นของหน้าจอจะมีอยู่ 3 ข้อที่ต้องพิจารณาครับ
- ขนาดหน้าจอ – เลือกตามที่ถนัดเลยครับ พยายามหาลองจับเครื่องจริงดูก่อน จะได้ทราบว่าถือไหวมั้ย หน้าจอใหญ่พอหรือเปล่า
- ดีไซน์หน้าจอ – เนื่องจากผู้ผลิตพยายามจับเอากล้องหน้ามาอยู่ในหน้าจอแสดงผลด้วย เราเลยได้เห็นหน้าจอแบบเจาะรูในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งก็เหมือนกับข้อแรกครับ คือลองไปดูเครื่องจริงก่อนว่าโอเคกับดีไซน์ของหน้าจอ การวางตำแหน่งรูกล้องหน้าหรือเปล่า รวมถึงขอบจอแบบโค้งด้วยครับ เพราะบางคนก็ไม่ชอบขอบโค้งเหมือนกัน
- ความละเอียด พาเนลและรีเฟรชเรตหน้าจอ – ถ้าจะเลือกซื้อมือถือสำหรับใช้งานทั่วไป มีงบปานกลาง แนะนำว่าควรเลือกมือถือที่ใช้จอความละเอียดอย่างต่ำ FHD+ พาเนลแบบ IPS หรือกลุ่ม OLED ก็ได้ครับ เพื่อภาพที่สวยและสบายตาหน่อย ส่วนถ้าต้องการมือถือมาใช้เล่นเกมแบบจริงจัง ก็ควรพิจารณาเรื่องรีเฟรชเรตหน้าจอด้วย โดยอาจจะเลือกอย่างต่ำซัก 90Hz ไว้ก่อนครับ
ส่วนถ้าจะเลือกซื้อมือถือระดับเริ่มต้นในราคาประหยัด ก็แนะนำว่าควรจะเลือกจอความละเอียดซักระดับ HD ขึ้นไป อาจจะเป็น HD+ ก็ได้ครับ ขึ้นอยู่กับอัตราส่วนหน้าจอ ส่วนพาเนล ถ้าได้ IPS ก็จะดีหน่อยครับ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ ก็อาจจะเจอกระจกหน้าจอที่สะท้อนแสงเยอะหน่อย อาจจะทำให้ใช้งานกลางแจ้งได้ไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่
แบตเตอรี่
เกณฑ์ความจุของแบตเตอรี่ที่แนะนำสำหรับการเลือกซื้อมือถือในปี 2020 ก็ควรจะเป็นอย่างต่ำซัก 3000 mAh ซึ่งเป็นความจุแบตที่โดยมากแล้วมักจะสามารถใช้งานทั่วไปได้ตลอดวันครับ แต่ถ้าคิดว่าจะซื้อมาเล่นเกมหนัก ๆ ก็หาพวกซัก 4000 mAh ขึ้นไป ที่ตอนนี้เราได้เห็นอยู่ในมือถือราคาไม่แพงมากแล้ว และเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
ส่วนถ้าต้องการเล่นเกมแบบยาว ๆ แต่ไม่ได้ต้องการเน้นให้ภาพสวย เฟรมเรตลื่นสุด ๆ อาจจะพิจารณามือถือสเปคระดับกลางที่ใช้ชิปใหม่หน่อย ให้แบตมาเยอะ ๆ ครับ จะได้เล่นเกมได้นานนิดนึง
อีกจุดที่สำคัญก็คือฟังก์ชันการชาร์จเร็วครับ ซึ่งหลัก ๆ ก็จะขึ้นกับชิปที่ใช้ และบริษัทผู้ผลิต อย่าง Huawei กับ OPPO ก็จะใช้เทคโนโลยีการชาร์จเร็วของตนเอง ส่วนถ้าอยากได้มือถือที่รองรับการชาร์จเร็วที่มีอุปกรณ์ให้เลือกหลากหลายหน่อย สำหรับยุคนี้คงต้องมองหาเครื่องที่รองรับการชาร์จแบบ USB-PD (Power Delivery) เพราะเป็นมาตรฐานกลางที่หลายแบรนด์รองรับ มีอะแดปเตอร์ สายชาร์จและก็ powerbank ที่หาซื้อใช้งานได้ง่าย ใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ของแบรนด์อื่นได้สะดวก
ส่วนกำลังไฟฟ้าในการชาร์จเร็วที่รองรับ ถ้าในปัจจุบันก็มักจะเริ่มกันที่ 10W 12W 18W ขึ้นไป ไปจนถึงระดับสูงสุดหลักร้อยวัตต์เลยทีเดียว
ดังนั้น ถ้าคุณต้องการเลือกซื้อมือถือในยุคนี้ นอกจากการเลือกเครื่องที่มีแบตความจุเยอะแล้ว ฟังก์ชันการชาร์จเร็วก็ควรเป็นหนึ่งในปัจจัยสำหรับการพิจารณาด้วยเช่นกัน เพื่อจะได้ชาร์จไฟเข้าได้เร็วทันใจครับ
กล้องถ่ายรูป
ด้วยความที่มือถือยุคนี้มักมาพร้อมกล้องหลายเลนส์ในเครื่องเดียว โดยเฉพาะกล้องหลัง ก็ต้องพิจารณากันก่อนครับว่าอยากจะใช้มือถือถ่ายรูปในแนวไหนบ้าง เช่นถ้าต้องการถ่ายคนด้วยโหมด portrait บ่อย ๆ ก็อาจจะต้องเลือกซื้อมือถือที่มาพร้อมเลนส์เทเล หรือมีเลนส์ที่ช่วยในการถ่าย portrait ได้มีมิติมากยิ่งขึ้น เช่น เลนส์ portrait เลนส์ depth เป็นต้น หรือถ้าต้องการเอามือถือมาถ่ายรูปวัตถุชิ้นเล็ก ๆ เช่น ถ่ายพระเครื่อง ก็คงต้องเลือกรุ่นที่มีเลนส์มาโครในตัว ซึ่งก็มักจะอยู่ในมือถือช่วงราคาเกือบหมื่นไปจนถึงหมื่นกลาง ๆ ในหลายรุ่นอยู่เหมือนกัน
อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าพิจารณา โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการเน้นคุณภาพเรื่องกล้องแบบสุด ๆ นอกเหนือจากเลนส์ที่ให้มาแล้ว ก็เป็นเรื่องเซ็นเซอร์รับภาพครับ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเป็นรุ่นที่ผู้ผลิตชูกล้องเป็นจุดขาย ก็มักจะมีการระบุรุ่นของเซ็นเซอร์รับภาพมาให้ครบถ้วน โดยเซ็นเซอร์ที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงมายาวนานหน่อยก็จะเป็นตระกูล IMX จาก Sony ครับ ที่ท็อปหน่อยก็จะเป็นกลุ่ม IMX686, IMX689, IMX700 ส่วน ISOCELL ของ Samsung ก็โอเคอยู่เหมือนกัน
จะมีฝั่ง Huawei ที่ตอนนี้ต้องบอกว่าอัดเทคโนโลยีกล้องมาแบบจัดเต็มมาก ๆ ทั้งการยกระดับเซ็นเซอร์รับภาพไปใช้เป็นแบบ RYYB เพื่อการรับแสงที่ดีขึ้น รวมถึงพวกซอฟต์แวร์ช่วยประมวลภาพ ซึ่งคงต้องไปดูรายละเอียดของแต่ละรุ่น และรีวิวแบบเจาะลึกกันอีกที
ปัจจัยเสริมต่อมาเกี่ยวกับเรื่องกล้องก็คือระบบกันสั่นแบบ OIS ซึ่งจะมีประโยชน์มาก ๆ สำหรับการถ่ายวิดีโอ โดยในมือถือรุ่นราคาสูงหน่อยก็มักจะใส่ OIS มาให้ทั้งในเลนส์ไวด์ปกติและเลนส์เทเลด้วย เพื่อการถ่ายภาพซูมที่ง่ายขึ้น ลดการสั่นไหวได้มากขึ้น
ส่วนเรื่องของความสามารถในการซูม ถ้าเป็นรุ่นมีราคาหน่อยก็จะมาพร้อมการซูมแบบออปติคอลจากการใช้เลนส์เสริม ซึ่งให้คุณภาพ ความคมชัดในแต่ละรายละเอียดที่ดีกว่าการซูมแบบดิจิตอลด้วย ดังนั้น ถ้าคุณต้องการมือถือไปถ่ายซูมไกล ๆ เช่น ถ่ายในคอนเสิร์ต ก็คงต้องมองหามือถือที่มีเลนส์เทเลมาให้ รองรับการซูมออปติคอลจากเลนส์ได้ไกลซัก 5x ขึ้นไป
ปิดท้ายด้วยเรื่องความละเอียดของภาพ อันนี้เป็นปัจจัยที่อาจจะจำเป็นน้อยลงในยุคปัจจุบัน ด้วยคุณภาพของกล้องที่พัฒนาขึ้นในหลาย ๆ จุดจนมาชดเชยเรื่องความละเอียดไปได้บ้าง ซึ่งถ้าสำหรับการใช้งานทั่วไป อัพลงโซเชียล มือถือกล้องซัก 12MP ก็ใช้งานได้สบาย ๆ แล้ว แต่ถ้าคุณต้องการมือถือที่ถ่ายภาพเพื่อนำมาใช้ทำงานต่อ ก็แนะนำว่าควรเลือกมือถือรุ่นสูง ๆ หน่อย ความละเอียดกล้องสูงซักนิดนึง เพื่อจะได้มีปริมาณพิกเซลมากพอสำหรับการนำภาพมาซูม มา crop ต่อในภายหลัง
WiFi 6
เป็นมาตรฐานการเชื่อมต่อ WiFi ที่ได้รับการเสริมประสิทธิภาพให้ดีขึ้นกว่า WiFi 802.11ac ที่หลาย ๆ ท่านคงจะคุ้นเคยกันแล้ว ทั้งเรื่องความเร็ว ความเสถียร ความสามารถในการรองรับการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ เป็นต้น ทำให้ WiFi 6 เป็นฟังก์ชันที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการใช้มือถือที่ต่อ WiFi ได้เสถียร ปิงน้อย เช่นสำหรับการเล่นเกม การดูหนังผ่านการสตรีมมิ่งภายในบริเวณที่มีการใช้อุปกรณ์ WiFi พร้อมกันหลาย ๆ เครื่อง แต่ทั้งนี้ อุปกรณ์เครือข่ายอย่าง router และ access point ก็ต้องรองรับการปล่อยสัญญาณแบบ WiFi 6 ด้วยเช่นกันนะครับ (ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายรุ่นที่ราคาจับต้องได้แล้ว)
ส่วนในฝั่งมือถือนั้น ผู้ผลิตหลายรายก็เริ่มจับ WiFi 6 มาใส่ในมือถือรุ่นใหม่ของตนเองแล้ว โดยหลัก ๆ ก็จะอยู่ในมือถือรุ่นพรีเมียมนิดนึง เช่น รุ่นท็อป รุ่นราคา 20,000 บาทขึ้นไป แต่ตอนนี้เราก็เริ่มเห็นมือถือราคาหมื่นนิด ๆ ที่มี WiFi 6 มาบ้างในบางรุ่นเหมือนกันครับ ดังนั้นถ้างบถึงและเป็นไปได้ ก็ควรเลือกซื้อมือถือที่มี WiFi 6 มาด้วยเลยก็จะดีครับ จะได้ไม่ต้องเสียเที่ยว แต่ถ้างบไม่ถึง หรือรุ่นที่อยากได้มันไม่มี WiFi 6 ก็ไม่เป็นไรครับ เพราะ WiFi 802.11ac หรือ 802.11n ก็ยังพอไหวอยู่
ฟังก์ชันเสริม
มือถือบางรุ่นก็จะมีฟังก์ชันเสริมที่ตอบโจทย์การทำงานเฉพาะอย่างมาด้วย เช่น มีปากกาสไตลัสมาในเครื่อง เพื่อการจดบันทึก วาดรูปได้แบบสะดวก ๆ บางรุ่นมาพร้อมระบบกันสั่นในแบบ gimbal ในตัว เป็นต้น ซึ่งแต่ละฟีเจอร์ก็จะมีจุดขายแตกต่างกันไปครับ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้งานต้องการแบบไหน
แนวทางการเลือกสเปคมือถือ ตามรูปแบบการใช้งาน
การเลือกซื้อมือถือสำหรับเด็ก / เรียนออนไลน์
- บอดี้พลาสติก เพื่อความทนทานและน้ำหนักที่ค่อนข้างเบา เสียบชาร์จแบตได้ไม่ต้องกังวลเรื่องไฟดูด
- พยายามเลือกซื้อมือถือที่มีแสงสะท้อนจากกระจกจอที่ต่ำ เพื่อถนอมสายตา
- CPU รุ่นไม่ต่ำจนเกินไป เพราะบางครั้งอาจต้องใช้เล่นเกม หรือใช้แอปที่เกี่ยวกับการศึกษา
- มีระบบช่วยจำกัดการใช้งานโดยผู้ปกครอง เช่น Kid mode หรือมีฟังก์ชันพวก Parental control เพื่อช่วยกำหนดระยะเวลาการใช้มือถือ ป้องกันการเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก เป็นต้น
การเลือกซื้อมือถือสำหรับผู้สูงอายุ
- เน้นจอใหญ่ สบายตาไว้ก่อน
- สามารถปรับขนาดตัวอักษรได้ ทางที่ดีควรไปลองเล่นเครื่องจริงก่อน ว่าสามารถปรับได้ใหญ่ขนาดไหน ตรงกับความต้องการหรือไม่
- ความจุพื้นที่เก็บข้อมูลความจุเยอะหน่อย ขั้นต่ำควรจะซัก 128 GB เพื่อให้รองรับพวกรูปที่ส่งตาม Line ได้แบบสบาย ๆ
- ลำโพงเสียงดัง มีเสียงสเตอริโอได้ก็จะดี
- แบตเตอรี่อึด ใช้งานได้นานข้ามวันแบบไม่ต้องกังวลเรื่องการชาร์จบ่อย ๆ
- รองรับการชาร์จผ่านพอร์ต USB-C หรือ Lightning เพื่อจะได้สามารถเสียบสายได้ง่าย ไม่ต้องมาคอยเล็งว่าเสียบสายถูกด้านหรือเปล่า
การเลือกซื้อมือถือสำหรับใช้ทำงาน เทรดหุ้น
- เลือก OS โดยพิจารณาจากประเภทของงาน และแอปที่ใช้งาน เพราะบางแอปก็มีเฉพาะบนบาง OS เท่านั้น
- CPU และ RAM ค่อนข้างสูงหน่อย เพราะอาจต้องรองรับการทำงานหลายแอปพร้อมกัน และการทำงานที่เร็วทันใจ
- พื้นที่เก็บข้อมูล ตามลักษณะงานที่ทำ เช่นถ้าหากต้องทำงานด้านวิดีโอ ก็ต้องเลือกซื้อมือถือที่ความจุเยอะหน่อย 256 GB ขึ้นไปได้ก็ดี ส่วนถ้าเป็นงานที่ทำบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ก็เลือกความจุลดลงมานิดนึงได้ (แต่แน่นอนว่ายิ่งเยอะยิ่งสะดวก)
- มี Desktop mode ให้ใช้งานก็จะดี ทำให้สามารถนำมือถือไปต่อกับสาย เพื่อส่งภาพขึ้นจอ ต่อคีย์บอร์ดเมาส์ใช้งานในลักษณะคอมพิวเตอร์ได้เลย ซึ่งเหมาะกับงานพวกไฟล์เอกสาร ทำงานผ่านเว็บเบราเซอร์
- รองรับการเชื่อมต่อ WiFi 6 ไว้ก่อน เพื่อให้รองรับการใช้งานได้ยาว ๆ ส่วน 5G เป็นตัวเลือกเสริม
- รองรับการชาร์จเร็ว
การเลือกซื้อมือถือสำหรับเล่นเกม
- CPU (พร้อม GPU) รุ่นบน ๆ และ RAM แบบจัดเต็ม ขั้นต่ำซัก 4 GB
- จอรีเฟรชเรตสูง (ไม่น้อยกว่า 90Hz) และถ้าให้ดีก็ควรจะเป็นจอที่มีความไวต่อการสัมผัส (touch sensitivity) สูงด้วย
- รองรับ WiFi 6 เพื่อการเชื่อมต่อที่เสถียร
- มี Game mode เพื่อช่วยจัดการทรัพยากรในเครื่องให้ดียิ่งขึ้นขณะเล่นเกม
- แบตเตอรี่อึด และรองรับการชาร์จเร็ว ซึ่งมือถือสำหรับเล่นเกมรุ่นใหม่ ๆ มักจะออกแบบให้ตำแหน่งของพอร์ตนั้นเลี่ยงมือด้วย เพื่อให้สามารถจับเครื่องเล่นเกมได้ถนัดขณะเสียบสายชาร์จอยู่
- การออกแบบ เช่น น้ำหนักตัวเครื่อง หรือขอบจอ ว่าลองจับแล้วนิ้วจะบังจอขนาดไหน
- การออกแบบกล้องหน้า ว่าโอเคกับรูปแบบหรือเปล่า เช่น การเจาะรูกล้องหน้า หรือถ้าอยากได้ภาพเต็ม ๆ ก็คงต้องเป็นมือถือรุ่นที่ใช้การซ่อนกล้องหน้าไปเลย
- เทคโนโลยีการระบายความร้อน โดยในมือถือเล่นเกมรุ่นใหม่ ๆ จะใช้ของเหลวมาช่วยระบายความร้อนด้วย รวมถึงบางรุ่นยังมีอุปกรณ์เสริมเป็นชุดพัดลมระบายความร้อนมาให้ใช้ด้วย
การเลือกซื้อมือถือใช้ดูหนัง ดู Netflix ฟังเพลง
- จอใหญ่ ความละเอียดระดับ FHD ขึ้นไป พาเนลจอแบบ OLED / AMOLED หรือ IPS คุณภาพสูง มีแสงสะท้อนต่ำ
- รองรับ Widevine L1 ไว้ก่อน
- ลำโพงสเตอริโอ รองรับระบบเสียงเพื่อช่วยเพิ่มความสมจริง เช่น Dolby Atmos ซึ่งบางรุ่นจะใช้ได้กับทั้งลำโพงและหูฟัง
- มีช่อง 3.5 มม. (ได้ก็จะดี เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้งาน)
- แบตเตอรี่อึด ใช้งานได้นาน
- การออกแบบกล้องหน้า ว่าโอเคกับรูปแบบของติ่งหน้าจอ รูกล้องหน้าหรือเปล่า
การเลือกซื้อมือถือสำหรับใช้นำทาง รับงานส่งของ
- CPU ระดับท็อปหน่อย RAM เยอะ เพื่อจะได้ประมวลผลงาน รับงาน สลับแอปได้เร็ว โดย CPU อาจจะเป็นรุ่นท็อปของปีก่อนหน้าเช่นพวก Snapdragon 855 / 855+ ก็ได้
- จับ GPS และรับสัญญาณ 5G/4G/3G ได้ดี ซึ่งคงต้องอาศัยการดูรีวิวของผู้ที่ใช้งานจริงครับ ว่าทำได้ดีขนาดไหน แต่ส่วนใหญ่แล้วพวกมือถือราคาสูงหน่อย มักจะทำได้ค่อนข้างดี
- มี GMS เพื่อให้รองรับแอปในการรับงานได้หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มแอปที่อาศัยแผนที่ เพราะหลาย ๆ แอปยังใช้เซอร์วิสจาก Google อยู่
- แบตเตอรี่อึด รองรับการชาร์จเร็ว เพราะทั้งรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์รุ่นใหม่ ๆ ก็มีช่องจุดบุหรี่สำหรับเสียบอะแดปเตอร์ชาร์จมาให้ เพื่อจะได้ใช้งานได้ต่อเนื่อง ไม่ต้องกังวลหรือแบตหมด
การเลือกซื้อมือถือสำหรับใช้ถ่ายรูป วิดีโอ
- พิจารณาเลือกเซ็นเซอร์กล้อง เน้นรุ่นท็อป ๆ ไว้ก่อน
- เลนส์ครบช่วง ตอบโจทย์ความต้องการใช้งาน
- แอปกล้องติดเครื่องสามารถปรับแต่งค่าพื้นฐานได้ และมีโหมดโปร/โหมด manual
- พื้นที่เก็บข้อมูลเยอะ จะได้ถ่ายรูปและวิดีโอได้แบบสบาย ๆ
- จอสว่างสู้แสง จะได้สามารถใช้งานกลางแจ้งได้
- CPU เร็ว ประมวลผลภาพได้ไว
การเลือกซื้อมือถือใช้ขายของออนไลน์
- เน้นกล้องชัดไว้ก่อน
- รองรับแอปธนาคารได้ครบตามที่ต้องการ
- CPU และ RAM อยู่ในระดับที่ใช้งานได้ดี ตอบสนองได้ทันใจ
การเลือกซื้อมือถือแบบเน้นราคาประหยัด
- จอความละเอียดขั้นต่ำระดับ HD+
- RAM ควรจะเริ่มต้นขั้นต่ำที่ 3 GB (ถ้าไม่ไหว 2 GB ก็ใช้งานได้)
- ควรจะรองรับการชาร์จผ่านพอร์ต USB-C ได้แล้ว
- กล้องหลัง ควรรองรับการโฟกัสอัตโนมัติ
ซึ่งคุณสามารถเข้าไปหามือถือซักเครื่องที่ตรงใจจากหน้านี้ได้เลยครับ