Apple A16 Bionic ที่จะอยู่บนสมาร์ทโฟน iPhone 14 Pro มีผลการทดสอบแรกผ่านทาง Geekbench แอปทดสอบประสิทธิภาพยอดนิยมหลุดออกมาแล้ว พบเอาชนะชิปเซ็ทฝั่ง Android ขาดลอย
เปิดตัวและเปิดให้จองกันแล้วกันสมาร์ทโฟนสุดแรงของฝั่ง Apple อย่าง iPhone 14 ซีรีย์ซึ่งจะมีทั้งรุ่นที่ใช้ชิปเซ็ทเก่าและชิปเซ็ทใหม่อย่าง Apple A16 Bionic (บน iPhone 14 Pro) ล่าสุดมีผลการทดสอบความแรงของ Apple A16 Bionic บนแอปพลิเคชันทดสอบประสิทธิภาพชื่อดังอย่าง Geekbench หลุดออกมาแล้ว ซึ่งผลการทดสอบนั้นต้องบอกเลยว่าแรงกว่าชิปเซ็ทของฝั่ง Android ทุกแบรนด์เลยทีเดียว
จากผลการทดสอบนั้นจะเห็นว่าในการทดสอบแบบ single-core Apple A16 Bionic สามารถที่จะทำคะแนนไปได้ที่ 1887 คะแนน ซึ่งจัดได้ว่าสูงมากอยู่แล้ว ทว่าเมื่อไปดูที่ผลการทดสอบแบบ multi-core ที่ได้ไปถึง 5455 คะแนนนั้นคงบอกได้คำเดียวว่าน่าสนใจเอามากๆ เพราะสูงกว่าผลการทดสอบในห้องทดสอบที่ทาง Apple เคยทำหลุดออกมาก่อนหน้ารอบแล้วอีก(ในช่วงแรกมีการเผยว่าคะแนนของ Apple A16 Bionic กับการทดสอบ multi-core นั้นจะอยู่ที่ประมาณ 4664 ซึ่งน้อยกว่า Apple A15 Bionic แต่คะแนนจากเครื่องจริงนี้คาดว่าน่าจะได้รับการปรับแต่งตัวเครื่องให้รองรับเรียบร้อยแล้ว)
ยิ่งหากไปเทียบกับทางฝั่งชิปเซ็ทของ Android แล้วนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึงเพราะชิปเซ็ทระดับท๊อปสุดของทางฝั่ง Android อย่าง Qualcomm Snapdragon 8+ Gen 1 ยังคงไม่สามารถทำคะแนนในส่วนของ multi-core สู้กับชิปเซ็ท Apple A13 Bionic เมื่อ 3 ปีที่แล้วยังไม่ได้เลย หากเทียบเป็นเปอร์เซ็นแล้วนั้น Apple A16 Bionic จะแรงกว่า Qualcomm Snapdragon 8+ Gen 1 อยู่ทีjประมาณ 25-30%
มีการคาดการณ์กันเอาไว้ว่าสำหรับ Apple A17 Bionic ที่จะใช้งานในปีหน้านั้นทาง Apple น่าจะเน้นไปพัฒนาในเรื่องของประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานมากขึ้นกว่าการเพิ่มประสิทธิภาพความแรงของตัวแกนการประมวลผล ตามมาด้วยการใช้กระบวนการผลิต TSMC’s cutting-edge N3E node แล้วนั้นเชื่อได้ว่าในปีหน้านี้ Apple A17 Bionic จะน่าสนใจมากกว่าเดิมอย่างแน่นอน
หมายเหตุ – นี่อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทาง Apple ยังคงเลือกใช้ Apple A15 Bionic กับสมาร์ทโฟนรุ่นเล็กของ iPhone 14 เพราะหากจะว่าไปแล้วนั้น Apple A15 Bionic เองนั้นก็ยังแรงอยู่(ส่วนเหตุผลหลักๆ ที่ยังคงเลือกใช้อยู่นั้นก็น่าจะมาจากการที่การผลิตชิปเซ็ทขาดแคลนมากกว่าในช่วงที่ผ่านมาทำให้ทาง Apple เองต้องเอาของเก่าที่มีอยู่ออกมาใช้ไว้ก่อน)
ที่มา : notebookcheck