นาทีนี้คงไม่มีใครไม่พูดถึงแอพหมอชนะ ที่เป็นประเด็นกันอยู่ในช่วงนี้ ว่าควรโหลด หรือไม่จำเป็นต้องโหลด มีวิธีการใช้งานอย่างไร มีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน และเข้าถึงข้อมูลอะไรเราบ้าง และช่วยเตือนโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ ซึ่งก็มีหลายคนที่ยังไม่เชื่อใจ และกลัวว่าจะถูกแอพนี้นำข้อมูลไปใช้งานอย่างอื่นแอบแฝงอีก เราจะมาเจาะลึกข้อมูลดูกันว่า แอพนี้ใช้งานได้จริงมากน้อยแค่ไหน
แอพนี้ เคยเปิดให้ใช้งานมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ตั้งแต่การแพร่กระจายของโควิด-19 ในช่วงแรก ซึ่งหลายคนอาจจะเคยใช้บ้างแล้ว แต่ก็มีหลายคนที่ยังไม่รู้จัก และยังไม่เข้าใจการทำงานของแอพ โดยแอพนี้ได้ถูกพัฒนาร่วมกัน ระหว่างทีมพัฒนาร่วมของประชาชน เอกชน และภาครัฐ ส่วนข้อมูลส่วนบุคคลที่เก็บไปนั้น จะเป็นหน้าที่ของกรมควบคุมโรค และผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลนั้น จะถูกควบคุมโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) อีกทีนึง นอกจากนี้ยังได้การสนับสนุนจาก เครือข่ายโรงพยาบาลและองค์กรสาธารณสุข สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรธุรกิจอีกหลายแห่ง ที่ประกอบกันจนประสบความสำเร็จ และออกมาเป็นแอพให้เราได้ใช้งานกัน วันนี้ทาง Specphone เลยจะมาแนะนำหลักการทำงานของแอพ วิธีการใช้งาน ความน่าเชื่อถือ การเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว และวิธีการปิดการเข้าถึงต่างๆ ถ้าไม่อยากให้แอพเข้าถึง ไปดูกันเลยดีกว่า
- Android : ดาวน์โหลด แอพหมอชนะ
- iOS : ดาวน์โหลด แอพหมอชนะ
วิธีการใช้งานของแอพหมอชนะ
แอพของหมอนี้ได้ถูกออกแบบมา เพื่อการใช้งานที่ง่ายอยู่แล้ว โดยจุดประสงค์หลักก็เพื่อคัดกรองความเสี่ยง ของการที่เราจะเดินทางไปในที่ต่างๆ ที่สำคัญคือ ไม่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพและข้อมูลส่วนบุคคล และด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้การลงทะเบียนตั้งแต่เข้าใช้งานแอพ ไม่จำเป็นต้องระบุตัวตน (Anonymous) และยังมีการจัดตั้งการตรวจสอบ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ด้วย จึงมั่นใจได้ในระดับหนึ่งเลยว่าข้อมูลส่วนตัวแบบละเอียดนั้น จะไม่ตกไปถึงตัวแอพแน่นอน ส่วนวิธีใช้งาน ตั้งแต่โหลดแอพมานั้น จะมีวิธีใช้ดังนี้
1. เมื่อโหลดแอพมาแล้ว หน้าแรกที่จะเจอเลยก็คือหน้าลงทะเบียน ซึ่งมีให้เลือกทั้งเมนูภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
2. เมื่อกดลงทะเบียน จะมีข้อตกลงและเงื่อนไขขึ้นมา ซึ่งมีทั้งหมด 10 ข้อ ควรอ่านให้หมดก่อนกดยอมรับ โดยส่วนใหญ่แล้วจะพูดถึงการเก็บข้อมูล สิทธิการเข้าถึงของแอพ ความปลอดภัยของข้อมูลที่เก็บไว้ เมื่ออ่านเรียบร้อยแล้วก็กดยอมได้เลย
3. หลังจากกดยอมรับแล้ว แอพจะให้ถ่ายรูปเพื่อทำหน้าโปรไฟล์ โดยการถ่ายรูปหน้าตรง (ซึ่งตรงนี้ แอพจะขอข้อมูลเข้าถึงรูป และการอัดวิดีโอทั้งหมด)
4. เมื่อถ่ายรูปเสร็จเรียบร้อยแล้ว แอพจะขอสิทธิเข้าถึงข้อมูล ตำแหน่งเพื่อคอยแจ้งเตือน หากเข้าไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง (ตรงนี้สามารถตั้งค่าได้ ว่าจะให้เปิดตลอดเวลา หรือเปิดขณะใช้งานแอพก็ได้ แนะนำให้อนุญาตขณะใช้งานเท่านั้น) และการเคลื่อนที่ เพื่อจัดการการใช้พลังงานของมือถือ
5. เมื่อกดแล้วแอพจะขอสิทธิเข้าถึง Bluetooth ตรงนี้แอพจะขอไปเพื่อคอยสแกนคนใกล้ตัว และจะแจ้งเมื่อเข้าใกล้กับคนที่มีความเสี่ยง (ตรงนี้ถึงแม้ว่าจะเอาไว้คอยตรวจ แต่ก็ต้องเปิด Bluetooth ตลอดเวลา จึงทำให้เปลืองแบตพอสมควร ถ้าไม่ได้ออกไปข้างนอกก็ปิด Bluetooth ไปก็ได้) เมื่อกดอนุญาตแอพจะขึ้นเตือนเป็น Notification ข้างบนให้ทันที
6. จากการขึ้น Notification ตรงด้านบนของมือถือนั้น จึงจำเป็นต้องเปิดการแจ้งเตือน อันนี้จะไม่ได้ให้กดอนุญาตอะไรเลย แต่จะเข้าถึงโดยอัตโนมัติ
7. เมื่อกดทุกอย่างหมดแล้ว ก็จะเริ่มต้นเข้าสู่การประเมินความเสี่ยงของเราได้แล้ว ให้กดที่ปุ่ม เริ่มประเมินได้เลย การประเมินนั้น จะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 หน้า ควรกรอกให้ถูกต้องทั้งหมดทุกหน้า คือ เลือกอาการที่ตรงกับตัวเอง (เลือกได้มากกว่า 1 ข้อ), การเดินทางไปต่างประเทศ, การอยู่ใกล้ชิดกับคนที่มีความเสี่ยง และการประกอบอาชีพว่าใกล้ชิดกับชาวต่างชาติหรือไม่
9. หลังจากทำการประเมินแล้ว ระบบจะประเมินคร่าวๆ เบื้องต้นเท่านั้นนะ ว่ามีความเสี่ยงในระดับไหน ซึ่งความจริงตรงนี้ยังไม่สามารถบอกได้ 100% ว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ถึงจะอยู่ในระดับต่ำก็ตาม ก็ควรเก็บ QR Code เอาไว้เพื่อเอาไว้เป็นหลักฐาน และนำไปประเมินความเสี่ยงกับหมออีกครั้ง หรือจะสแกน QR Code เพื่อบันทึกการเข้าใกล้ และตรวจสอบความเสี่ยงจากตรงนี้ได้ด้วยเช่นกัน
ทั้งหมดนี้จะเป็นการใช้งานของแอพตั้งแต่ติดตั้งมาเลย ซึ่งการใช้งานก็จะวนอยู่เพียงเท่านี้ แนะนำว่าให้กรอกตามจริงทุกครั้ง เพื่อนำไปให้หมอตรวจความเสี่ยงได้อีกครั้ง โดยการวัดความเสี่ยงนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราไปในจุดที่มีความเสี่ยง หรือคิดว่าตัวเองจะเป็นโควิด-19 เพราะการทำแต่ละครั้ง จะเป็นการอัพเดทข้อมูลของตัวเองไปเรื่อยๆ ด้วย
หลักการทำงานของแอพหมอชนะ
หลักการทำงานของแอพนั้น ความจริงก็ถือว่าไม่มีอะไรมากเท่าไหร่นัก ก็เพียงแค่เป็นแอพช่วยประเมินความเสี่ยง และช่วยเตือนเมื่ออยู่ในจุดเสี่ยง หรืออยู่ใกล้คนที่เสี่ยงต่อการเป็นโควิด-19 และที่สำคัญคือแอพนี้เป็นแบบ โอเพ่นซอร์ส (Open Source) ก็คือสามารถตรวจสอบได้ เพื่อความโปร่งใส และง่ายต่อการใช้ข้อมูล ส่วนข้อมูลทั้งหมดที่ให้ไปนั้น จะไม่เผยแพร่ แจกจ่าย หรือถ่ายโอนไปยังที่ใด เว้นแต่ว่าเราจะยินยอมเท่านั้น และข้อมูลจะถูกลบออกไปทันที หากหมดช่วงสถานการณ์โควิด-19 หรือผ่านไป 30 วันนับตั้งแต่ให้ข้อมูลไป และด้วยการลงทะเบียนแบบไม่ระบุตัวตนนั้น ก็จะยิ่งช่วยให้มีระดับความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือได้ และยิ่งถ้ามีคนใช้งานเยอะ ก็จะยิ่งมีฐานข้อมูลเยอะขึ้น เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงได้มากขึ้นไปอีก
การประเมินความเสี่ยงนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มแบ่งตามสีคือ
สีเขียว > คือบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำมาก เป็นคนที่ไม่มีอาการป่วย หรือมีอาการเบื้องต้น ไม่ได้เดินทางไปไหน หรือใกล้ชิดผู้ที่มีความเสี่ยงที่เป็นคนต่างชาติ
สีเหลือง > คือผู้ที่มีความเสี่ยงน้อย โดยความเสี่ยงนี้อาจเกิดจากอาการป่วย เป็นไข้ หรือใกล้ชิดผู้ที่มีความเสี่ยงในช่วงระยะใกล้ หรือเข้าใกล้คนต่างชาติ
สีส้ม > คือคนที่มีความเสี่ยง อาจเกิดจากการใกล้ชิดคนต่างชาติ ไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง โดยอาการอย่างอื่นอาจยังไม่แสดงอาการ หรือมีอาการก็ได้ แต่เมื่อขึ้นเป็นสีส้มควรกักตัวอยู่ที่บ้าน 14 วัน และเฝ้าระวังตัวเอง หากมีอาการเพิ่มเติมควรไปหาหมอให้เร็วที่สุด
สีแดง > คือคนที่มีความเสี่ยงสูงมาก ตั้งแต่การมีอาการป่วย สัมผัสคนใกล้ชิด และอาจติดจากกลุ่มคนต่างประเทศ เมื่อขึ้นสีแดงต้องไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจทันที
**แต่ต้องขอบอกไว้ก่อนเลยว่า หลังที่มีหลายคนได้ลองใช้งานดูแล้ว และใส่ข้อมูลแบบมั่วๆ เพื่อความสนุกสนาน และได้ผลออกมาเป็นสีเขียวกับสีเหลืองนั้น ก็อย่าเพิ่งคิดว่าแอพนี้บัค หรือว่าไม่มีประสิทธิภาพ ความจริงแล้วคนที่จะได้รับการประเมินว่าเป็นสีส้ม หรือสีแดง คือบุคลากรทางการแพทย์จะต้องเป็นคนประเมินเท่านั้น เพื่อป้องกันการแตกตื่น และข้อมูลที่อาจจะผิดพลาดได้ หรือป้องกันคนที่ไปป่วนแอพนั่นแหละ เราจึงไม่ควรกรอกข้อมูลเล่นๆ และควรให้ข้อมูลที่เป็นความจริงเท่านั้น เพื่อให้แพทย์ได้ประเมินข้อมูลอย่างถูกต้อง
ส่วนการแจ้งเตือนของแอพนี้นั้น จะทำงานโดยการส่งแจ้งผ่าน Notification โดยเอาข้อมูลมาจาก GPS และ Bluetooth เมื่อเข้าใกล้คนที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งตรงนี้เมื่ออกไปข้างนอก ควรเปิด Bluetooth ไปด้วยเพื่อให้ตัวแอพสามารถแจ้งเตินได้ รวมไปถึงการใช้อินเทอร์เน็ตในการใช้งานตลอดเวลา ตรงนี้ก็จะกินแบตอยู่พอสมควร
และก็อย่างที่บอกว่าเราไม่สามารถรู้ว่าใครเป็นใคร เพราะไม่ได้ระบุตัวตนตอนลงทะเบียน จึงทำให้การส่งข้อมูลระหว่างกันจำเป็นต้องใช้ Bluetooth ในการคุยกันเองระหว่างแอพ เช่น ถ้ามือถือของคนที่มีความเสี่ยงสูง และไปตรวจมาแล้วมีผลว่าติดโควิด-19 โรงพยาบาลก็จะทำการ Activate ลงไปในแอพ และเมื่อเราบังเอิญไปเจอในระยะ Bluetooth แอพก็จะแจ้งเตือนทันที ว่ามีมือถือที่เป็นโควิดอยู่ในระยะใกล้ และการเก็บข้อมูล Database ของตัวเราเองนั้น สามารถยกเลิกได้ตามกฎข้อ 8 ที่สามารถนำข้อมูลเราออกไปได้ เพียงแจ้งกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิตัล หรือ สพร
การเข้าถึงของแอพหมอชนะ
สำหรับการเข้าถึงของแอพนี้ อย่างที่บอกข้างต้นว่าตัวแอพขอเข้าถึงตอนลงทะเบียน ให้เราได้กดยอมรับอยู่แล้ว นั่นก็คือ
กล้อง ที่เอาไว้ถ่ายเซลฟี่ตัวเอง และเอาไว้สแกน QR Code
ตำแหน่ง (Location) เพื่อเอาไว้แจ้งเตือน ไม่ว่าจะเตือนตำแหน่งตัวเอง หรือเข้าไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูล และสามารถอนุญาตได้ทั้งแบบตลอดเวลา หรือขณะใช้งานแอพก็ได้
Motion Tracker การเคลื่อนที่ และสุขภาพ เพื่อจัดการการใช้พลังงานของตัวเรา และมือถือที่ใช้งานอยู่ จะเป็นการเก็บข้อมูล เพื่อดูว่าเราเคลื่อนไหวอยู่หรือไม่ด้วย
Bluetooth เพื่อเป็นการส่งข้อมูลระหว่างแอพกับแอพ และระหว่างมือถือระหว่างมือถือ โดยการส่งสัญญาณ Bluetooth เป็นระยะ เหมือนเป็นการคุยกันระหว่างเครื่อง เพื่อเช็คว่าอีกเครื่องนั้นไปอยู่ในที่เสี่ยงมาหรือไม่ หรืออยู่ในสถานะใด
ทั้ง 4 ข้อนี้เป็นสิ่งที่ทางแอพขอให้เราอนุญาต ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่ใช่เพียงแค่เท่านี้ ที่แอพจะขอเข้าถึงอีก โดยอย่างอื่นนั้นเป็นพื้นฐานของแอพ ที่ต้องเข้าถึงอยู่แล้ว ได้แก่
Database นั่นก็คือพื้นที่เก็บข้อมูล เพื่อการอ่านเนื้อหาการจัดเก็บของตัวเครื่องร่วมกัน โดยแอพนี้กินข้อมูลถึง 100 กว่า MB เลยเมื่อใช้งานเต็มที่แล้ว ซึ่งข้อมูลส่วนตัวสามารถขอให้ทางแอพลบได้ ผ่านสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิตัล หรือ สพร
การเชื่อมต่อเครือข่าย เพื่อเชื่อมต่อเข้าถึง Cellular Data + 4G และอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงการเชื่อมต่อ Wi-Fi ด้วย
Background App Refresh เพื่อให้ตัวแอพยังรันอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะปิดแอพไปแล้ว หรือเข้าอยู่ในโหมดสลีปก็ตาม
นอกจากนั้นก็จะเป็นการขอเข้าถึงสำหรับการใช้งานแอพทั่วไปแล้ว ซึ่งหลักๆ ก็จะเป็นข้อมูลที่เราสามารถอนุญาตได้ทั้ง 4 ข้อ และข้อมูลเบื้องหลังอีกเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้งานมากนัก การกินพลังงานแบตของแอพจะอยู่ที่ประมาณ 30 mAh ซึ่งถ้ากลัวว่าการเข้าถึงเหล่านี้ เรารู้สึกว่าส่งผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัว เราก็สามารถเข้าไปตั้งค่าเพื่อปิดการเข้าถึงเหล่านี้ได้ง่ายๆ สามารถทำได้ทั้งของ iOS และ Android ดังนี้
การปิดการเข้าถึงของแอพหมอชนะ
สำหรับระบบ Android สามารถเข้าไปปิดข้อมูลได้ (แต่ละรุ่นอาจมีชื่อเมนูไม่เหมือนกัน แต่ให้เข้าไปที่แอพชื่อเดียวกัน) โดยการเข้าไปที่ Setting > Apps > หมอชนะ และเข้าไปเลือกปิดหรือแก้ไขได้ในเมนู Permissions (การอนุญาต) โดยในนี้จะมีข้อมูลที่เราได้กดอนุญาตทั้งกล้อง Location และการเคลื่อนไหวของเรา และการเก็บข้อมูลของตัวเครื่องด้วย
ส่วนการใช้ Data และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั้งเบื้องหลังและ Wi-Fi นั้นสามารถเข้าไปตั้งค่าได้ที่เมนู Data usage เพื่อปิดข้อมูลได้ทั้งหมด รวมไปถึงการปิด Notifications ในเมนู Notifications ด้วยเช่นกัน
ส่วนของระบบ iOS นั้นก็สามารถเข้าไปตั้งค่าได้ทั้งหมดด้วยเช่นกัน โดยการเข้าไปที่ Setting และเลื่อนลงมาด้านล่างสุดในแอพหมอชนะ เมื่อกดเข้าไปแล้วเราก็จะสามารถตั้งค่าได้ทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็น Location, Bluetooth, Motion & Fitness, กล้อง, Notifications และที่สำคัญก็คือ Background App Refresh ที่สามารถปิดไปได้เช่นกัน
แล้วทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อมูลการใช้งานของแอพหมอชนะ หลักการทำงานของแอพ และการเข้าถึงทั้งหมดของแอพที่ขอจากเราไป ซึ่งทุกอย่างนั้นเราสามารถตั้งค่าปิดได้หมดเลย แต่ความจริงการขอเข้าถึงของแอพ ก็ไม่ได้ดึงข้อมูลความเป็นส่วนตัวของเราไปมากเกินกว่าพื้นฐานของแอพทั่วไป ถึงแม้ว่าหลายคนอาจมองว่าเป็นแอพของรัฐ แล้วจะเอาข้อมูลของเราไปทำอย่างอื่น ก็ไม่ต้องกังวลมากขนาดนั้น เพราะการไม่ระบุตัวตน และการลบข้อมูลของเราได้ทุกเมื่อ จึงทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้นพอสมควร อย่างไรก็ดีการใช้แอพนี้ ก็ยังต้องใช้ควบคู่ไปกับแอพไทยชนะด้วย เพื่อเช็คอินตามที่ต่างๆ แต่ถ้าใครไม่อยากใช้ไทยชนะ จะใช้แอพนี้ก็เพียงพอแล้ว แล้วถ้ามีเรื่องไหนน่าสนใจอีก เราก็เอามาฝากกันอีกเรื่อยๆ เลยนะครับ