การยื่นภาษีประจำปี 2563 หรือยื่นภาษีประจำปีทุกๆ ปี และการคำนวณภาษี ผ่านแอพคำนวณภาษีนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอยู่ไม่น้อยเลย สำหรับคนทำงานทั่วไป ตั้งแต่พนักงานเงินเดือน ขายของออนไลน์ ขายของทั่วไป รายได้เสริม เล่นหุ้น นักลงทุน และอีกหลากหลายอาชีพที่ต้องได้เงินมา แน่นอนว่าทุกคนที่อยู่ในเกณฑ์เข้าข่าย ว่าจะต้องเสียภาษีนั้น ก็จำเป็นต้องยื่น ภ.ง.ด. ให้กับกรมสรรพากร เพื่อเสียภาษีประจำปีกันต่อไป อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงไปได้
ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ทุกครั้ง หลายๆ คนก็จำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลรายได้ประจำปี และเอกสารการยื่นภาษีกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกินเกณฑ์ หรือผู้มีรายได้เกินเกณฑ์ไปก็ตาม โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้สุทธิเกินกว่ากำหนด ที่จำเป็นต้องเสียภาษีนั้น ก็ยิ่งต้องรีบทำการยื่นกันให้เร็วที่สุด ก่อนที่จะลืม และไม่ได้จ่ายภาษี ซึ่งระยะเวลาการขอยื่นภาษีนั้น ก็จะอยู่ในช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม ของทุกๆ ปี สิ่งที่ปวดหัวสำหรับมือใหม่ที่ยังไม่เคยยื่นภาษีเลย ก็คือการคำนวณภาษีของแต่ละปี และยังไม่รู้ว่าการยื่นภาษีออนไลน์นั้น มีวิธีการทำอย่างไรได้บ้าง ต้องใช้เอกสารอะไรในการยื่น และตัวเองนั้นจำเป็นต้องยื่นหรือไม่ เงินเดือนเท่าไหร่ถึงต้องยื่นภาษีกับกรมสรรพากร วันนี้ทาง Specphone เลยจะมาแนะนำแอพที่เอาไว้คำนวณภาษี และวิธีการยื่นภาษีออนไลน์สำหรับ ภ.ง.ด 90, ภ.ง.ด. 91 และ ภ.ง.ด. 94 ซึ่งก็มีวิธีการที่ง่ายมาก ไม่ได้ยากอย่างที่ใครหลายคนคิด ตามมาดูกันได้เลยว่ามีแอพไหนบ้างที่น่าสนใจ และมีวิธีการยื่นอย่างไรได้บ้าง
- แอพคำนวณภาษี
- เงินเดือนเท่าไหร่ ถึงต้องเสียภาษี?
- วิธียื่นภาษีออนไลน์
- เช็คสิทธิลดหย่อนภาษี
- ถ้าไม่จ่ายเงินภาษี และไม่ยื่นภาษีจะเป็นอย่างไรบ้าง?
แอพคำนวณภาษีประจำปี
สำหรับแอพที่เราจะมาแนะนำกันในวันนี้ จะมีอยู่ด้วยกัน 2 แอพหลักๆ ซึ่งสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี และทำมาสำหรับเรื่องที่เกี่ยวกับภาษีโดยเฉพาะ ซึ่งในความจริงแล้ว ก็ยังมีแอพที่สามารถคำนวณได้อยู่อีกนิดหน่อย แต่โดยหลักๆ แล้ว การใช้งานก็จะคล้ายกันนิดหน่อย จะต่างกันก็เพียงฟีเจอร์ในการใช้งาน และหน้าตาของตัวแอพ ของแต่ละแอพเท่านั้น ไปดูแอพที่น่าใช้งานกันได้เลย
1. RD Smart Tax
มาเริ่มกันที่แอพคำนวณภาษีตัวแรกก่อนเลย แอพนี้เป็นแอพที่ทำขึ้นโดยกรมสรรพากรเองทั้งหมด จึงมั่นใจได้เลย ว่าสามารถคำนวณออกมาได้อย่างเป็นอย่างดี และมีความแม่นยำ ในเรื่องของข้อมูลและความครบถ้วน สำหรับการยื่นภาษีแน่นอน นอกจากจะสามารถคำนวณภาษีให้ได้แล้ว ตัวแอพยังมีการบอกข่าวสาร เกี่ยวกับเรื่องภาษี ที่อัพเดทให้รู้ข่าวใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการยื่นภาษี กฎหมายการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย ที่สำคัญเลยก็คือ สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ โดยการยื่นผ่านแอพนี้ได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาไปเข้าเว็บ ถ้ามีเอกสารครบเรียบร้อยทั้งหมด และคำนวณเรียบร้อยแล้ว จำเป็นต้องเสียภาษี ก็จะสามารถยื่นข้อมูลได้ทันที ช่วยให้การใช้งานนั้นสะดวกมากยิ่งขึ้น
จากการที่ได้ใช้งานจริงสำหรับแอพ RD Smart Tax ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นแอพทางการของกรมสรรพากร แต่ก็ไม่ได้มีการใช้งานที่ดูยากมากนัก แถมหน้าตาการใช้งาน ก็ไม่ได้มีความซับซ้อนเลย จะมีขัดใจเล็กน้อยก็ตรงที่กดแล้วไม่ค่อยไปตามการกดเท่าไหร่ ในหน้าเลือกเมนูหน้าแรกเท่านั้นนะ แต่ถ้าเข้ายังการใช้งานหลัก หรือการคำนวณภาษีแล้ว ก็ใช้งานได้เร็วดีปกติ ซึ่งการคำนวณในแอพนี้ สามารถเข้าไปเลือกใช้งานได้ในเมนู บริหารจัดการภาษี เมื่อเข้าไปแล้ว ตัวแอพจะมีการอธิบายวิธีใช้งานไว้อย่างขัดเจน จะสร้างข้อมูลใหม่ หรือจะใช้ข้อมูลเดิมที่เคยทำไว้ก่อนแล้วก็ได้ รวมไปถึงการใส่ข้อมูลผู้ใช้ และการเลือกค่าลดหย่อนภาษี เพื่อใช้ในการคำนวณข้อมูลทั้งหมด เมื่อคำนวณแล้วแอพจะบอกเลยว่าต้องชำระภาษีเท่าไหร่ และถ้าเข้าเกณฑ์การจ่าย ก็จะสามารถเตรียมยื่นภาษีได้ทันที ถือว่าเป็นแอพที่ดี และครบที่สุดแล้วก็ว่าได้
- Android : ดาวน์โหลดแอพ RD Smart Tax
- iOS : ดาวน์โหลดแอพ RD Smart Tax
2. iTax
แอพคำนวณภาษีตัวต่อมานี้ เป็นแอพที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูง ซึ่งตัวแอพได้ถูกทำขึ้นมาโดยเว็บ iTax ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมาย การบริการด้านภาษี การลงทุน การประกัน และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาษีโดยเฉพาะโดยผู้เชี่ยวชาญ แน่นอนว่าการคำนวณภาษีของแอพนี้ต้องมีความแม่นยำ และมีข้อมูล พร้อมฟีเจอร์รองรับการใช้งาน ที่ครบถ้วนมากๆ สำหรับการคำนวณภาษีนะ ซึ่งการคำนวณนั้นจะคำนวณเป็นปีต่อปี อย่างเช่นปี 2564 นี้ก็จะคำนวณให้แค่ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 31 ธ.ค. ของปี 2563 เท่านั้น นอกจากการคำนวณแล้ว ยังสามารถดูค่าลดหย่อนภาษี และวางแผนภาษีผ่านตัวแอพได้ด้วย ช่วยเพิ่มความสะดวก และช่วยให้การวางแผนที่จะจ่ายภาษี เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นมากๆ
จากการที่ได้ลองใช้งานดู เมื่อเข้ามาใช้งานต้องสมัครสมาชิกก่อนทุกครั้ง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับการใช้งาน แต่ก็ต้องเข้าสู่ระบบใหม่ทุกรอบ เมื่อกดออกจากแอพแล้วด้วย จึงอาจจะทำให้ช้านิดหน่อย แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหามากนัก การใช้งานของตัวแอพนั้นง่ายมากๆ แค่เข้ามาก็สามารถเข้าใจการใช้งานได้เลย เพราะหน้าแรกก็เป็นหน้าคำนวณแล้ว สามารถใส่จำนวนรายได้ได้เลย โดยรายได้ที่สามารถใส่เข้าไปได้นั้น ตัวแอพได้ใส่มาให้ค่อนข้างครบเลย ไม่ว่าจะเป็นพนักงานที่ได้เงินเดือนทั่วไป ฟรีแลนซ์ ร้านค้าออนไลน์ ขายอาหาร ได้รับดอกเบี้ย หรือเงินจากการเล่นหุ้น รวมไปถึงค่าลิขสิทธิ์ และพวกรายได้จากค่าเช่าต่างๆ แอพก็มีฟีเจอร์รองรับหมดเลย ช่วยให้เราสามารถแยกรายได้เป็นส่วนๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น และถ้ารายได้ที่ได้รับนั้นเกินเกณฑ์ และต้องเสียภาษีเท่าไหร่บ้าง แอพก็จะขึ้นบอกไว้ด้านบนเลย เป็นแอพคำนวณภาษีที่แนะนำให้โหลดติดเอาไว้ได้เลย
- Android : ดาวน์โหลดแอพ iTax
- iOS : ดาวน์โหลดแอพ iTax
นอกจากทั้ง 2 แอพคำนวณภาษีที่เราได้เอามาแนะนำกันนี้ ก็ยังมีแอพคำนวณภาษีที่สามารถคำนวณภาษีแยกไปได้อีก อย่างเช่นแอพ PIT 90 ที่เอาไว้คำนวณภาษ๊สำหรับผู้ที่เตรียมจะยื่น ภ.ง.ด. 90 ที่มีหน้าตาการใช้งานที่ง่ายมากๆ เพียงแค่ใส่ตัวเลขลงไป ตัวแอพก็จะคำนวณออกมาให้ได้หมดเลย และก็ยังมี PIT 91 สำหรับผู้ที่เตรียมจะยื่น ภ.ง.ด. 91 ด้วยเช่นกัน การใช้งานก็จะเหมือนกันทั้งหมด เพียงแต่ว่าเป็นคนละรูปแบบการใช้งาน สำหรับบุคคลที่มีรายได้ต่างกันเท่านั้นเอง ภ.ง.ด. 90 และ 91 นั้นต่างกันอย่างไรบ้าง เราจะมาทำความรู้จัก และอธิบายต่อจากนี้ ตามไปดูกันต่อได้เลย
เงินเดือนเท่าไหร่ ถึงต้องเสียภาษี?
เรื่องจำนวนเงินเดือนที่ได้รับนี้ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากเลยสำหรับการยื่นภาษี เพราะหลายคนก็ยังคงสับสนอยู่ ว่าเงินเดือนของตัวเองนั้น เข้าข่ายที่จะต้องเสียภาษีหรือไม่ ซึ่งต้องขอบอกก่อนเลยว่า เงินที่ได้มาในแต่ละเดือน ที่เป็นเงินสำหรับพนักงานนั้น เราจะเรียกกันว่า “เงินได้” ซึ่งเงินตรงนี้ จะยังไม่เอามานับรวมกับการเสียภาษี เพราะการจะเสียภาษีนั้น จะนับจาก “รายได้สุทธิ” อีกทีนึง ที่ต้องแยกกันก็เพราะว่าทุกคนต้องมีภาระค่าใช้จ่ายปกติทั่วไปกันทุกคน จึงต้องตัดค่าใช้จ่ายทั่วไปกับการลดหย่อนภาษีออกไปก่อน แล้วจึงนำรายได้ที่เหลือ ที่เรียกว่ารายได้สุทธินั้น มาดูเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี ว่าต้องเสียเงินเท่าไหร่บ้าง โดยเทียบจากตารางนี้
เงินได้สุทธิ ช่วงเงินได้สุทธิของแต่ละขั้น อัตราภาษี (ที่ต้องเสีย) 1 – 150,000 บาท 150,000 บาท ได้รับการยกเว้น 150,001 – 300,000 บาท 150,000 บาท ร้อยละ 5 300,001 – 500,000 บาท 200,000 บาท ร้อยละ 10 500,001 – 750,000 บาท 250,000 บาท ร้อยละ 15 750,001 – 1,000,000 บาท 250,000 บาท ร้อยละ 20 1,000,000 – 2,000,000 บาท 1,000,000 บาท ร้อยละ 25 2,000,001 – 5,000,000 บาท 3,000,000 บาท ร้อยละ 30 5,000,001 บาทขึ้นไป – ร้อยละ 35
พูดง่ายๆ เลยก็คือเงินที่จะต้องเสียภาษีตามอัตรารายได้ของบุคคลทั่วไป ก็คือเกิน 150,000 บาทต่อปีขึ้นไป เมื่อลบค่าใช้จ่ายเป็นรายได้สุทธิแล้ว แล้วค่าใช้จ่ายที่จะโดนหักออกไปนั้นมีอะไรบ้าง? เงินที่จะถูกตัดออกจากเงินได้นั้น ได้แก่
- ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 100,000 บาท
- หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
- เงินสะสมกองทุนประกันสังคม 9,000 บาท
ทั้งหมดนี้นับเป็นต่อปีนะ ไม่ใช่ต่อเดือน จะเห็นได้ว่าถ้าเรานำเงินทั้งหมดมารวมกัน ทั้งเงินได้และรายได้สุทธิต่อปีก็คือ 150,000 + 100,000 + 60,000 + 9,000 บาท จะได้เท่ากับ 319,000 บาท (แต่ถ้าไม่ได้จ่ายประกันสังคมก็ไม่ต้องคิด 9,000 บาท จะเป็น 310,000 บาท) เมื่อหารจำนวนปีคือ 12 เดือน ก็จะได้เท่ากับเงินเดือน 26,583.33 บาทนั่นเอง ซึ่งถ้ามากกว่านี้ก็ต้องเสียภาษี แต่ถ้าน้อยกว่านี้ก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่ต้องยื่นภาษีเหมือนกันนะ เพื่อให้กรมสรรพากรนั้นรู้ว่าเรามีตัวตนอยู่ และเพื่อแสดงรายการภาษีว่ามีรายได้ ถ้ายังงงอยู่จะสรุปให้อีกทีง่ายๆ ดังนี้ (สำหรับผู้มีรายได้ทางเดียว)
- บุคคลที่มีเงินเดือนไม่เกิน 10,000 บาท คือ ไม่ต้องยื่นภาษี
- บุคคลที่จ่ายประกันสังคมและมีเงินเดือนไม่เกิน 26,583.33 บาท คือ ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี
- บุคคลที่จ่ายประกันสังคมและมีเงินเดือนเกิน 26,583.33 บาท คือ ต้องยื่นภาษี และต้องเสียภาษี
- บุคคลที่ไม่ได้จ่ายประกันสังคมและมีเงินเดือนไม่เกิน 25,583.33 บาท คือ ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี
- บุคคลที่ไม่ได้จ่ายประกันสังคมและมีเงินเดือนเกิน 25,583.33 บาท คือ ต้องยื่นภาษี และต้องเสียภาษี
ทั้งนี้จำเป็นต้องดูด้วยว่าเรามีรายได้ทางเดียว หรือว่ามีรายได้จากทางอื่นเข้ามาเพิ่มเติมด้วยหรือไม่ ซึ่งก็จะไปสัมพันธ์กับรูปแบบของภาษีเงินได้ หรือ ภ.ง.ด. อีกเช่นกันที่เงินได้ของแต่ละคน ก็จะไม่เหมือนกันด้วย จะให้ง่ายก็ใช้แอพคำนวณภาษีจะดีที่สุด โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้ (แค่ ภ.ง.ด. 90,91,94)
- ภ.ง.ด. 90 คือ สำหรับบุคคลที่มีเงินได้ 2 ประเภทขึ้นไป และรายได้อื่น นอกจากการได้รับเงินเดือนประจำ หรือบุคคลที่ไม่ได้รับเงินเดือนประจำ เช่น ฟรีแลนซ์ เล่นหุ้น เงินปันผลจากกองทุน นักลงทุน ขายของ มรดก ฯลฯ (ยื่นภาษีประจำปีครั้งเดียว)
- ภ.ง.ด. 91 คือ สำหรับบุคคลที่มีเงินได้เป็น “เงินเดือน” เพียงอย่างเดียว และเป็นรายได้ทางเดียว (ยื่นภาษีประจำปีครั้งเดียว)
- ภ.ง.ด. 94 คือ สำหรับบุคคลที่มีเงินได้ สำหรับผู้ที่ไม่มีเงินเดือนประจำ แต่มีรายได้อื่นแทน เช่น ขายของ เล่นหุ้น เงินปันผลกองทุน เก็บค่าเช่า ทำธุรกิจ ตามมาตรา 40(5) – (8) (ต้องยื่นภาษีแบบครึ่งปี ตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึง มิ.ย. เมื่อยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 เรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงปลายปี ก็ให้นำรายได้ทั้งปีมายื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 อีกครั้ง โดยนำยอดเงินที่เสียภาษี ภ.ง.ด. 94 มาลบออก)
วิธียื่นภาษีออนไลน์ปี 2563
เมื่อใช้แอพคำนวณภาษีของตัวเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องยื่นภาษี หรือเสียภาษีให้กับกรมสรรพากร ก็สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ง่ายๆ เลย ไม่จำเป็นต้องออกไปข้างนอก หรือออกไปเจอรถติดให้เสียเวลา ซึ่งสิ่งที่ต้องเตรียมตัวเป็นอย่างแรกเลยก็คือ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50ทวิ) อันนี้ทางบริษัทที่ทำงานอยู่จะเป็นคนให้เรามา และเมื่อมีเอกสารพร้อมเรียบร้อยแล้ว ก็จะสามารถยื่นออนไลน์ผ่านทางเว็บ www.rd.go.th แบบ E-Filling หรือแอพ RD Smart Tax ของกรมสรรพากรได้ทันที จะมีวิธีการที่เหมือนกันเลย มีวิธีการทำดังนี้
1. เข้าไปยังเว็บ www.rd.go.th หรือแอพ RD Smart Tax และเลือก “ยื่นออนไลน์” ซึ่งจะเป็นการยื่น ภ.ง.ด 90 และ ภ.ง.ด. 91 เท่านั้น (ถ้ายื่นแบบอื่น กดที่นี่)
2. กดยื่นภาษี ภ.ง.ด. 90/91 เพื่อยื่นแบบรายการภาษีเงินได้แบบบุคคลธรรมดาปี 2563
3. เข้าสู่ระบบ หรือสมัครสมาชิกก่อนเข้าใช้งานทุกครั้ง และกดยอมรับข้อตกลงของกรมสรรพกรว่าเป็นบุคคลดังกล่าวจริง
4. เมื่อเข้ามาแล้วจะเจอกับหน้าข้อมูล แบบแสดงรายการภาษีเงินได้แบบบุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นข้อมูลของเราเองทั้งหมด ถ้าใครไม่เคยใส่ข้อมูล ก็ให้ใส่ให้ครบทุกช่อง และห้ามใส่มั่วเด็ดขาด (ถ้าเคยใช้งานแล้ว สามารถแก้ไขข้อมูลส่วนตัวได้เช่นกัน) เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ตรวจดูให้ดีอีกครั้งเพราะเมื่อกด ทำรายการต่อไป จะไม่สามารถกลับมาแก้ไขได้อีก
5. เมื่อกดเข้ามา จะเจอกับหน้าจอบันทึกข้อมูลการยื่นแบบ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 6 หน้าคือ
- หน้าหลัก
- เลือกเงินได้/ลดหย่อน
- บันทึกเงินได้
- บันทึกลดหย่อน
- คำนวณภาษี
- ยืนยันการยื่นแบบ
ให้ใส่ข้อมูลตามความจริงให้ครบทุกหน้าอย่างละเอียด ไม่งั้นจะไม่สามารถเลือกไปยังหน้าต่อไปได้ (เมื่อกดหน้าถัดไปแล้ว สามารถกดย้อนกลับมาแก้ไขได้) หากไม่เข้าใจว่าความหมายของช่องที่ให้ใส่คืออะไร สามารถกดเครื่องหมาย ? เพื่อดูคำอธิบายได้
6. เมื่อใส่ข้อมูลทุกอย่างเรียบร้อยหมดแล้ว จนมาถึงหน้าสุดท้ายคือ ยืนยันการยื่นแบบ ให้กดเลือกยืนยันการยื่นแบบ จะมีหน้าของผลการยื่นแบบมาให้ ให้เรากดพิมพ์แบบ เพื่อเก็บเอาไว้เป็นหลักฐานทุกครั้งด้วย โดยจะได้มาเป็นไฟล์ PDF
7. ในกรณีที่จ่ายภาษีเกิน สามารถขอคืนเงินภาษีได้จากการเลือกเมนูด้านล่างคือ มีความประสงค์จะขอคืนเงินภาษี ระบบจะส่งเงินคืนมาในรูปแบบพร้อมเพย์
8. ในกรณีของผู้ที่มีเงินได้และต้องชำระภาษีเพิ่มเติม (เกิน 310,000 บาทต่อปี) ระบบจะคำนวณออกมาให้ในขั้นตอนที่ 5 (คำนวณผ่านแอพคำนวณภาษีก่อนได้) และสามารถแบ่งชำระได้ 3 งวด หากมียอดเกิน 3,000 บาทขึ้นไป ซึ่งจะมีสรุปให้ในขั้นตอนสุดท้ายอีกครั้ง และเมื่อกดยืนยันการยื่นแบบ ระบบจะเข้าสู่ขั้นตอนการชำระภาษี และมี QR Code มาให้เพื่อนำไปชำระได้ผ่านช่องทางดังนี้
- ชำระแบบเชื่อมต่อเว็บไซต์ (ระบบชำระเงิน) ของธนาคารโดยตรงผ่านบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต
- ตู้ ATM ของธนาคารที่ร่วมโครงการ
- ผ่านทาง Internet Banking ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ
- Counter Service
- Tele Banking, Phone Banking และ Mobile Banking ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ
โดยในหน้านี้สามารถกดพิมพ์แบบ เพื่อเก็บเอาไว้เป็นหลักฐานได้ด้วยเช่นกัน
เช็คสิทธิลดหย่อนภาษี
สำหรับการเสียภาษีโดยปกติแล้ว ทางกรมสรรพากร ก็ยังให้มีการลดหย่อนภาษีได้ด้วยเช่นกัน โดยการลดหย่อนภาษีนั้น จะสามารถลดหย่อนได้ เฉพาะผู้ที่มีเงินได้เกิน 310,000 บาทต่อปี (หรือ 319,000 บาทต่อปี สำหรับบุคคลที่ส่งเงินประกันสังคม) ซึ่งถ้าใช้แอพคำนวณภาษีและต้องจ่ายภาษีนั้น ก็สามารถดูสิทธิลดหย่อนภาษี เพื่อที่จะได้สิทธิรับเงินคืนจากกรมสรรพากรได้เช่นกัน เพียงแค่ใช้เอกสารหลักฐานตามข้อที่จะลดหย่อน ซึ่งสิทธิต่างๆ สามารถกดเข้าไปดูผ่านทางเว็บของกรมสรรพากรได้โดยตรง ดูรายละเอียดได้ ที่นี่
ถ้าไม่จ่ายเงินภาษี และไม่ยื่นภาษีจะเป็นอย่างไรบ้าง?
หากคำนวณภาษีจากเว็บ หรือจากแอพคำนวณภาษีและมีเงินเกิน ที่จำเป็นต้องชำระ แต่ยังไม่สะดวกชำระ จ่ายไม่ครบ ยื่นแบบล่าช้า หรือหลีกเลี่ยงการยื่นแบบภาษี จะมีความผิดที่ต้องเสียเงินเพิ่ม และเสียค่าปรับตามกฎหมายกำหนด และถ้าหากไม่จ่ายเลย จะมีความผิดทางอาญาและมีบทลงโทษดังนี้
1. หากไม่จ่ายภาษ๊ภายในเวลาที่กำหนด จะต้องเสียเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องจ่าย นับตั้งแต่วันที่หมดเวลาการยื่นภาษีจนถึงวันจ่ายภาษี
2. หากมีการออกหมายเรียก และไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้ หรือยื่นแบบรายการแต่จ่ายขาดหรือไม่ครบ นอกจากจะเสียเงินเพิ่มแล้ว จะต้องเสียค่าปรับ 1 หรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องจ่ายแล้วแต่กรณีตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
3. หากไม่ยื่นภาษี ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ตามเวลาที่กำหนด จะโดนโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
4. หากตั้งใจให้ข้อมูลผิด หรือแสดงหลักฐานเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพายามหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
5. หากละเลยไม่ยื่นภาษี และตั้งใจหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ทีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
เป็นยังไงกันบ้าง กับการคำนวณภาษีผ่านแอพคำนวณภาษี และการยื่นภาษีสำหรับบุคคลทั่วไป ซึ่งความจริงแล้ว ก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด หรือไม่ได้มีวิธีที่ซับซ้อนอะไรเลย เพียงแต่ว่าต้องใส่ข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วนเท่านั้นเอง ซึ่งก็อาจจะมีข้อมูลที่ค่อนข้างเยอะพอสมควรในการกรอกทั้ง 6 ข้อ ก่อนส่งแบบยื่นภาษี แต่ก็ทำเพียงครั้งเดียวต่อปี หรือสองครั้งต่อปี (สำหรับ ภ.ง.ด. 94) เท่านั้น ถ้าผ่านการทำครั้งแรกไปแล้ว ครั้งต่อๆ ไปก็จะง่ายขึ้นอีก ที่สำคัญคือการใส่รหัสเพื่อเข้าระบบ ควรใส่รหัสที่จำง่าย เพราะใช้เพียงปีละครั้ง อาจทำให้ลืมรหัสได้ และการขอเปลี่ยนรหัส ก็จำเป็นต้องใช้คำถามส่วนตัวที่เคยกรอกไปตอนสมัครครั้งแรกด้วย หากลืมไปแล้วก็จะวุ่นวายไปกันใหญ่อีก สำหรับข้อมูลการยื่นภาษี และแอพคำนวณภาษีที่นำมาฝากกันในวันนี้ ก็หวังว่าจะช่วยให้หลายๆ คนที่ยังไม่เคยยื่นภาษี สามารถทำได้ด้วยตัวเองและยื่นได้สำเร็จ แล้วถ้ามีเรื่องไหนน่าสนใจอีก เราก็จะนำมาฝากกันเรื่อยๆ เลยนะครับ