หลายคนคงเคยสงสัยกันบ้าง ก่อนที่จะไปซื้อ TV ใหม่ ว่าจะเลือกซื้อ TV แบบไหนดี ทั้งแบบ Android TV หรือ Smart TV ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ ดูเหมือนว่าจะคล้ายๆ กัน แต่ความจริงแล้วทางด้านการใช้งานจริงนั้น ค่อนข้างที่จะแตกต่างกันอยู่พอสมควรเลย สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่า TV แบบ Android คืออะไร ยังไม่รู้ว่าทั้งสองอย่างนี้ต่างกันตรงไหนบ้าง และจะเลือกซื้อแบบไหนดี ที่เหมาะกับการใช้งานของเรามากที่สุด เดี๋ยววันนี้เราจะมาบอกกัน
ยิ่งเทคโนโลยีนั้นถูกพัฒนามากขึ้นเท่าไหร่ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็เริ่มมีการพัฒนาให้ดีมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย และสิ่งหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาเคียงคู่มากับมือถือ ก็คือ TV จากจอโค้งสีขาวดำ จนพัฒนามาเป็นจอแบน และมีความคมชัด ให้สีสันสมจริงมากกว่าแต่ก่อนเยอะมาก แน่นอนว่าแค่ความชัด หรือว่าสีสันจะสวยงามมากแค่ไหน แต่ถ้า TV ที่อำนวยความสะดวกน้อย และใช้งานเพื่อเชื่อมต่อกับมือถือได้ยาก หลายๆ คนก็มักจะต้องเลือกสิ่งที่มีความสะดวกกว่าแน่นอน อย่างเช่น ใช้แอปฯ ต่างๆ ดู Youtube, Netflix เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ต่อจากคอมไป TV ได้ หรือต่อจากมือถือเข้า TV แบบไร้สายได้ (5 วิธีต่อมือถือเข้าทีวีไร้สาย แชร์หน้าจอมือถือเข้าทีวีได้ง่ายๆ) เดี๋ยววันนี้ทาง Specphone จะมาบอกกันว่า Android TV คืออะไร และต่างจาก Smart TV ตรงไหนบ้าง และใครที่กำลังมองหา TV ที่ใช้งานได้สะดวก จะเลือกซื้อแบบไหนดีกว่ากัน ไปดูกันเลย
ข้อดีและข้อเสียของ Android TV กับ Smart TV เลือกซื้อแบบไหนดี?
Android TV คืออะไร? ต่างจาก Smart TV ตรงไหนบ้าง?
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ถึงแม้ว่าจะเป็น TV แบบ Android นั้นแต่โดยรวมแล้วมันก็คือ Smart TV รูปแบบหนึ่งเช่นกัน แต่จะมีข้อแตกต่างจาก Smart TV ทั่วไปตรงที่ TV แบบ Android นั้นคือ TV ที่ทำงานบนระบบของ Android หรือพูดได้ง่ายๆ ว่าเปรียบเสมือนมือถือ Android เครื่องนึงบนหน้าจอใหญ่ๆ เลยก็ว่าได้ แน่นอนว่าการทำงานบนระบบ Android นี้ ก็จะสามารถใช้งานแอปฯ ต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น และยังมีการอัพเดท OS อยู่สม่ำเสมอ เพื่อให้ใช้งานได้ดีขึ้นนั่นเอง
ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้ทั้งสองแบบนั้นต่างกัน เพราะถ้าเป็น Smart TV ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีระบบปฏิบัติการณ์เป็นของตัวเอง และถึงจะมีแอปฯ มาให้แล้วบ้างในตัว แต่ก็ไม่ได้หลากหลายเท่ากัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า TV แบบ Android จะดีกว่า Smart TV ไปทุกอย่างเลยนะ เพราะทั้งสองแบบก็มีข้อดีข้อเสียที่ต่างกันไปด้วย สามารถเปรียบเทียบข้อดี และข้อเสียได้จากตารางด้านล่างนี้เลย
ตารางเปรียบเทียบการใช้งานระหว่าง Android TV กับ Smart TV
ข้อมูล\ รูปแบบ | Android TV | Smart TV |
ระบบปฏิบัติการ | Android | แตกต่างกันไปตามแต่ละยี่ห้อ |
การตั้งค่าก่อนการใช้งาน | ตั้งค่าหลายขั้นตอน | ไม่ต้องตั้งค่าเยอะ |
แอปฯ | มีให้เลือกโหลดเยอะ | โหลดได้น้อย |
ดูหนัง Netflix, iFlix, Youtube | ได้ | ได้ |
รองรับภาษาไทย | รองรับ | ไม่รองรับ |
Chromecast | ได้ทันที | ได้บางรุ่น |
การอัพเดท OS | อัพเดทเสมอ | นานๆ ครั้ง |
Google Assistant | มี | ไม่มี |
สั่งเปิด-ปิดจาก Google Home | ได้ | ไม่ได้ |
เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมอื่นๆ | ได้ | ได้บางอย่าง |
ข้อดีและข้อเสียของ Android TV กับ Smart TV เลือกซื้อแบบไหนดี?
จากตารางด้านบนนี้ จะเห็นได้ว่าข้อดี และข้อเสียของทั้งสองแบบนี้มีอะไรที่ต่างกันบ้าง พอจะเป็นข้อเปรียบเทียบได้คร่าวๆ ว่าเราต้องการการใช้งานแบบไหน และเหมาะกับ TV แบบไหน เพื่อให้เข้ากับการงานของตัวเองมากที่สุด ถ้าจะบอกข้อมูลแบบละเอียดอีกครั้งก็คือ
Smart TV
เป็น TV ที่ทำงานด้วยระบบปฏิบัติการของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ เช่น Samsung จะใช้ระบบ Tizen, LG จะใช้ระบบ WebOS หรือ Panasonic ที่ใช้ระบบ Firefox OS และก็แน่นอนว่าด้วยระบบปฏิบัติการของตัวเองแบบนี้ จึงทำให้สามารถโหลดแอปฯ มาใช้งานได้น้อยกว่าของ Android TV เยอะมาก แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีแอปฯ ความบันเทิงพื้นฐานมาให้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นแอปฯ ดูหนัง Netflix หรือแอปฯ อื่นๆ ขึ้นอยู่กับว่าตอนซื้อมีอะไรมาให้บ้าง แต่การทำงานของแอปฯ ก็อาจจะไม่ได้ไหลลื่นเท่ากับระบบ Android เต็มๆ เลย
ส่วนข้อดีที่น่าสนใจก็คือ การใช้งานของ Smart TV นั้นจะไม่ต้องตั้งค่ามากมายเท่าไหร่นัก และการใช้งานก็ไม่ซับซ้อน ก็คือซื้อมาแล้วใช้งานได้ง่ายกว่า ไม่ต้องลงทะเบียน หรือเข้าสู่ระบบด้วย Email เหมือนกับการใช้ระบบ Android แต่บางรุ่นก็ยังคงสามารถเชื่อมต่อสาย LAN จากคอมฯ หรือว่าเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ตรงๆ เลย แต่ถ้าจะต้องเชื่อมต่อจากมือถือเข้าไปยังหน้าจอ TV ส่วนใหญ่แล้วจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ช่วย ไม่สามารถ Cast ขึ้นไปตรงๆ เหมือนกับ TV แบบ Android ได้ นอกจากบางรุ่นที่ทำฟีเจอร์ออกมารองรับตรงนี้ หรือต่อ Android Box เข้ากับ TV อีกที
มาที่เรื่องข้อเสียกันบ้าง อย่างที่บอกข้างต้นแล้วว่า Smart TV นั้น จะมีการอัพเดทระบบของตัวเองนานมาก หมายถึงนานๆ ทีถึงจะมีมาให้อัพเดทสักครั้ง รวมไปถึงแอปฯ ต่างๆ ก็จะได้รับผลกระทบตรงนี้ไปด้วยเหมือนกันตรงที่ จะได้รับการอัพเดทช้ากว่าทาง Android โดยตรง แถมบางแอปฯ นั้นไม่รองรับคีย์บอร์ดภาษาไทยด้วย เวลากดค้นหาจึงค่อนข้างลำบาก นอกจากจะมีรีโมทที่ใช้เสียงได้ ซึ่งก็จะมีแค่ในบางรุ่นอีกเช่นกัน
Android TV
มาทางฝั่งของ TV บนระบบ Android กันบ้างที่แน่นอนเลยก็คือ ใช้ระบบ Android ของตัวเองแน่นอน โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้ง หรือว่าใช้กล่องอะไร ก็สามารถโหลดแอปฯ ต่างๆ มาใช้งานได้เลยเยอะมากๆ โดยจะมีแอปฯ พื้นฐานมาให้ และสามารถดาวน์โหลดเพิ่มได้เลยผ่านทาง Google Play และยังสามารถติดตั้งไฟล์แบบ APK ได้ด้วย แถมยังสามารถต่ออุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคีย์บอร์ด หรืออุปกรณ์เล่นเกม เพื่อใช้งานเหมือนเป็นคอมฯ ได้ด้วย รวมไปถึงการเล่นเกม และการเชื่อมต่อมือถือเข้าทีวีแบบไร้สายด้วย Chromecast ได้ทันที ไม่จำเป็นต้องใช้สาย หรือติดตั้งกล่องอะไรทั้งสิ้น
ข้อดีอีกหลายๆ อย่างของ TV แบบ Android สำหรับคนที่ชอบความบันเทิง และต้องการใช้งาน TV อย่างเต็มรูปแบบ ก็คือการใช้งานฟีเจอร์ Google Assistants ที่ใช้เสียงในการค้นหา หรือสั่งการผ่านรีโมทได้เลย แถมยังรองรับภาษาไทยอย่างอีกด้วย ส่วนระบบก็จะมีการอัพเดทให้อยู่ตลอดเวลา โดยรวมแล้วการทำงานของ TV แบบ Android นั้นจะเหมาะกับคนที่ใช้งานมือถือ Android อยู่แล้ว และพอเข้าใจในตัวระบบบ้างเล็กน้อย เพราะการใช้งานของ TV Android นั้นจะมีวิธ๊การที่ค่อนข้างยุ่งยาก และต้องตั้งค่าก่อนการใช้งานเยอะมาก รวมไปถึงการเข้าสู่ระบบก่อนการใช้งานด้วย และก็แน่นอนว่า TV Android ก็ต้องมีความคล้ายมือถือของ Android ด้วยนั่นก็คือ หากซื้อ TV ที่มีสเปคต่ำและใส่ข้อมูลเข้าไปเยอะๆ จะทำให้เครื่องนั้นช้าลงมากๆ
ซึ่งความจริงแล้ว ก็ยังไม่ฟันธงว่าจะเลือกซื้อแบบไหนดีกว่ากัน เพราะบางคนก็ไม่ได้อยากจะใช้แอปฯ เยอะมากนัก ขอแค่เพียงดูหนัง ดู Netflix และเชื่อมต่อแอปฯ บางแอปฯ เพื่อใช้ดูเท่านั้น แถมถ้าใครที่ใช้งาน Android Box พร้อมกับ Smart TV ไปด้วย ก็จะมีการทำงานที่คล้ายกันเลย แต่ก็จะไม่ได้เหมือนกับ Android TV เต็มรูปแบบ ที่สามารถทำงานได้ดีกว่า และมีแอปฯ ให้เลือกโหลดเยอะกว่า รวมไปถึงความสะดวกในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ผ่าน TV Android นั้น ก็เป็นสิ่งที่ง่ายกว่ามาก ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการใช้งานแบบพอดีๆ หรืออยากใช้แบบเต็มที่ไปเลย นอกจากนี้ก็อย่าลืมคำนึงถึงราคาของแต่รุ่นด้วย ซึ่งของ Android ส่วนใหญ่แล้วจะมีราคาที่สูงกว่า แต่ก็มีเครื่องที่สเปคต่ำราคาพอจับต้องได้อยู่ด้วยเช่นกัน
แล้วทั้งหมดนี้ ก็เป็นข้อมูลของ Android TV และ Smart TV ที่เราได้เอามาฝาก และได้เปรียบเทียบถึงความแตกต่างของแต่ละแบบ ซึ่งก็อย่างที่บอกไปเลยว่า แต่ละแบบนั้น ก็จะมีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการใช้งานของเรา และคนในบ้าน หรือครอบครัวด้วย ว่าต้องการใช้ฟีเจอร์ หรือต้องการใช้งาน TV แบบไหนให้เข้ากับตัวเองมากที่สุด ก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อ TV สักรุ่น ก็ต้องดูหลายๆ องค์ประกอบรวมกัน แต่สุดท้ายแล้ว ก็คือเลือกตามใจตัวเองอยู่ดีนั่นแหละ ว่าอยากได้แบบไหน ถ้าได้ไปดูของจริงอาจจะถูกใจแบบอื่นๆ มากกว่าที่คิดจะซื้อในตอนแรกก็ได้ และถ้ามีเรื่องไหนน่าสนใจอีก เราก็จะเอามาฝากกันเรื่อยๆ เลยนะครับ