ปัญหาเรื่องกระจกหน้าจอแตกถือว่าเป็นหนึ่งในอุบัติเหตุที่เกิดได้มากที่สุดมาอย่างยาวนาน ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะมีการพัฒนากระจกที่มีความแข็งแกร่งขนาดไหนก็ตาม แต่ก็ยังมีปัญหากับการกระแทกที่ตรงจุดอยู่ดี ทำให้หลายท่านยังจำเป็นต้องติดกระจกกันกระแทกหรือฟิล์มกันรอยอยู่ดี
ล่าสุดมีทีมนักวิจัยเปิดเผยว่ากำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนากระจกหน้าจอแบบใหม่ ที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้โดยใช้เพียงแค่น้ำเปล่าเท่านั้น โครงสร้างของเนื้อกระจกจะทำมาจากการเชื่อมกดอะมิโน (เปปไทด์) เข้าด้วยกันโดยใช้น้ำจนทำให้เกิดเป็นเนื้อกระจกขึ้นมา ทั้งยังมีความใสให้แสงและอินฟราเรดส่องผ่านได้ ค่าความสะท้อนแสงก็อยู่ในระดับเดียวกับกระจกที่ใช้งานกันทั่วไปอีกด้วย
ส่วนกระบวนการซ่อมแซมในกรณีที่กระจกแตกหรือซ่อมพื้นผิวจากรอยขีดข่วน ก็ใช้เพียงน้ำแค่เล็กน้อยเข้าไปประสานโมเลกุลเปปไทด์เท่านั้น แต่ในขณะนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้างก็คือกระจกประเภทนี้จะต้องมีน้ำเป็นส่วนผสมอยู่ตลอดเวลา และอาจเกิดอาการขาดน้ำขึ้นมาได้เมื่อใช้งานมาระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเมื่อขาดน้ำ โมเลกุลเปปไทด์ก็จะแยกออกจากกัน ส่งผลให้กระจกแตก จึงอาจจะต้องพัฒนาต่อไปเพื่อให้สามารถรักษาน้ำไว้ได้นานที่สุด
อีกข้อจำกัดที่นักวิจัยเปิดเผยก็คือรูปทรงของกระจกในขณะนี้ที่ยังทำได้เฉพาะแบบที่มีความโค้งนูน เนื่องจากเมื่อน้ำถูกดูดซึมเข้าไปแล้ว กระจกก็จะมีความโค้งนูนในรูปทรงแบบหยดน้ำ จึงอาจจะยังเหมาะกับการใช้เป็นคอนแทคเลนส์มากกว่า ทำให้ทีมนักวิจัยยังต้องพัฒนาต่อไปเพื่อให้สามารถทำกระจกแผ่นเรียบได้ รวมถึงยังต้องหาวิธีในการซ่อมกระจกให้ได้ในกรณีที่นำไปใช้เป็นกระจกหน้าจอมือถือ เพราะถ้าจะนำเครื่องไปจุ่มน้ำบ่อย ๆ คงไม่ดีกับตัวเครื่องซักเท่าไหร่
สามารถชมคลิปสาธิตได้จากด้านล่างนี้เลย
ที่มา: BGR