MediaTek เปิดตัวชิปการเชื่อมต่อไร้สายอย่าง MediaTek Filogic 380 อย่างเป็นทางการในงาน Computex 2022 ตัวชิปรองรับ Wi-Fi 7 ที่ความเร็วสูงสุดเร็วกว่าใช้สาย LAN อีก จะน่าสนใจมากน้อยแค่ไหนไปติดตามกัน
MediaTek ในช่วง 2 – 3 ปีหลังมานี้นั้นเรียกได้ว่ามาแรงแบบต่อเนื่องจริงๆ หลังจากที่ตีตลาดชิปเซ็ทในฝั่งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตจากทาง Qualcomm ได้อย่างสวยสดงดงามแล้วนั้น ล่าสุดดูเหมือนกับ MediaTek จะไม่ยอมให้ทาง Qualcomm ได้มีโอกาสหายใจหายคอกันเลยทีเดียว โดยในง่าน Computex 2022 ที่กำลังจัดอยู่ในช่วงนี้นั้น ทาง MediaTek ได้ทำการเปิดตัวชิปสำหรับการเชื่อมต่อไร้สายในซีรีย์ Filogic รุ่นใหม่ออกมาถึง 2 รุ่นอย่าง Filogic 380 และ Filogix 880
สำหรับพระเอกที่เราจะให้ความสนใจในที่นี้ก็คือชิปอย่าง MediaTek Filogic 380 โดยเฉพาะเนื่องจากตัวชิปนั้นถูกออกแบบขึ้นมาให้ใช้กับอุปกรณ์รับสัญญาณต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน, สมาร์ททีวี, โน๊ตบุ๊ค, กล่อง set-top boxes ไปจนถึงอุปกรณ์ IoT ในรูปแบบต่างๆ สเปคของเจ้า MediaTek Filogic 380 จะเป็นอย่างไรและน่าสนใจมากแค่ไหนนั้นไปติดตามกัน
- รองรับเทคโนโลยีหลักๆ ของการเชื่อมต่อแบบ Wi-Fi 7 ไม่ว่าจะเป็น 4096-QAM (quadrature amplitude modulation), 320 MHz channel, MRU (multi-user resource) และ MLO (multi-link operation)
- รองรับ MLO ซึ่งทำให้ความเร็วในการเชื่อมต่อสูงสุดตามทฤษฏีมากถึง 6.5 Gbps
- รองรับความเร็วสูงสุดในการเชื่อมต่อแบบหนึ่งช่องการเชื่อมต่อถึง 5 Gbps
- รองรับการเชื่อมต่อที่คลื่นความถี่ทั้ว 2.4 GHz, 5GHz และ 6GHz
- รองรับ dual 2×2 radios สำหรับ dual-band simultaneous operation
- รองรับ Bluetooth 5.3 ตัวล่าสุดพร้อมทั้งยังรองรับเทคโนโลยี LE Audio อีกด้วย
แน่นอนว่าหากมองทางทฤษฏีแล้วนั้นเรียกได้ว่า Wi-Fi 7 นั้นน่าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่น่าจะสามารถเข้ามาแทนที่การเชื่อมต่อแบบใช้สาย(หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า LAN) ได้อย่างแท้จริง ทว่ากว่าที่เราๆ ท่านๆ จะได้ใช้งานกันอย่างจริงๆ จังๆ นั้นก็น่าจะอีกสัก 5 ปีเป็นอย่างต่ำ เพราะต้องยอมรับกันว่าขนาดเทคโนโลยีอย่าง Wi-Fi 6 นั้นในปัจจุบันเองก็ยังคงมีการใช้งานกันยังไม่แพร่หลายเท่าไรนัก โดยจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยี Wi-Fi 6 นั้นก็ยังคงถูกจำกัดอยู่กับอุปกรณ์ที่มีราคาค่อนข้างสูง แถมปัญหาเรื่องความแรงของสัญญาณจะตกลงเมื่อมีการใช้งานผ่านกำแพงนั้นก็ยังคงไม่สามารถแก้ไขได้อย่างมั่นคงเท่าไรนัก
ที่มา : notebookcheck