ต้องบอกว่าในช่วงปีที่ผ่านมานี้ ถึงแม้ว่าจะกินเวลามาเกินปีแล้วก็ตาม แต่การระบาดของไวรัส Covid-19 นั้นก็ยังคงมีการแพร่ระบาดกันอย่างต่อเนื่อง และยิ่งเป็นสายพันธุ์ที่เกิดการวิวัฒนาการจากต่างประเทศ ก็ยิ่งมีอาการที่แตกต่างกันออกไปอีก ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์เดิม (S), T, L กับสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดอย่าง G และ V ซึ่งถ้าจะลงรายละเอียดตรงนี้ก็จะเป็นเรื่องของทางการแพทย์เกินไป เอาเป็นว่ามันคือสายพันธุ์ที่มาจากยุโรปเป็นส่วนใหญ่ และเจ้าตัวนี้เมื่อติดแล้วก็มักจะไม่แสดงอาการอะไรมาก แต่จะลงไปสู่ปอดเร็วมาก ทำให้เกิดภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน (Hypoxemia) และเสียชีวิตได้เลยหากไม่ได้รับการรักษา ในวันนี้ทาง Specphone จะมาบอกว่าค่า SpO2 คืออะไร และมันเกี่ยวข้องกับโควิด-19 อย่างไรบ้าง พร้อมทั้งแนะนำอุปกรณ์ที่วัดค่า SpO2 ได้ในตอนนี้ว่ามีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
- ค่า SpO2 เกี่ยวข้องกับโควิด-19 อย่างไร?
- อุปกรณ์ที่วัดค่า SpO2 ช่วยวัดยังไงได้บ้าง?
- อุปกรณ์ที่ใช้วัดค่า SpO2 ได้ในตอนนี้
- Smart Watch
- Smart Band
- Smart Phone ของ Samsung
SpO2 หรือ ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดคืออะไร?
ก่อนจะไปทำความรู้จักกับค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดว่าคืออะไร อย่างแรกที่ต้องรู้จักก่อนก็คือ ภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน (Hypoxemia) ว่ามันคืออะไร ซึ่งภาวะนี้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายของเรา มีปริมาณออกซิเจนในเนื้อเยื่อต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรฐาน และเมื่อเกิดภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจนจะทำให้ร่างกายมีอาการซีด มีเหงื่อออกเยอะกว่าปกติ ไอ หัวใจเต้นเร็วมากขึ้น หายใจลำบากหรือถี่ขึ้น และยังมีอาการเวียนหัวร่วมด้วย แล้วถ้ายิ่งปริมาณออกซิเจนในเนื้อเยื่อต่ำลงอย่างรวดเร็ว หรือกินเวลานานก็จะทำให้เกิดการช็อค หรือมากกว่านั้นคือเสียชีวิตได้เลย ซึ่งในตรงนี้เองที่ทำให้ไปเกี่ยวข้องกับค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด หรือค่า SpO2 (อาจเรียกอีกอย่างได้ว่า Pulse Ox) ที่วัดได้นั่นเอง
ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด หรือ SpO2 คือค่าหนึ่งที่บอกประสิทธิภาพการทำงานของปอดว่าปกติหรือไม่ โดยปกติแล้วค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด ที่อุปกรณ์วัดได้จะต้องอยู่ที่เกณฑ์ประมาณ 95-100% ของความอิ่มตัวสูงสุดในเลือดขณะพัก ก็จะหมายความว่าร่างกายของเรานั้นปกติดี แต่ถ้าต่ำกว่านั้นก็คือร่างกายผิดปกติ หรืออาจมีภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจนได้ พูดง่ายๆ ก็คือถ้ามีค่าค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด ต่ำเกินไป อวัยวะต่างๆ รวมถึงปอดก็จะมีปริมาณออกซิเจนที่ไม่เพียงพอ ส่งผลไปสู่การทำงานของระบบสมองและประสาท แต่ถ้าอยู่ในเกณฑ์ปกติที่มีออกซิเจนมากพอ อวัยวะการทำงานร่างกายก็จะสามารถนำออกซิเจนในกระแสเลือดไปใช้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายตามไปด้วย
ค่า SpO2 เกี่ยวข้องกับโควิด-19 อย่างไร?
อย่างที่บอกไปข้างต้นแล้วว่า Covid-19 สายพันธุ์ต่างๆ นั้นก็จะมีอาการที่ต่างกันไป แต่ที่กำลังระบาดอยู่ในตอนนี้เกี่ยวข้องโดยตรงสายพันธุ์ยุโรป ซึ่งมักจะไม่มีอาการอะไรออกมามากนัก แต่เพียงไม่กี่วันหลังจากได้รับไวรัสมากลับมีอาการทรุดหนัก และมีภาวะที่เรียกว่า Silent hypoxia หรือ Happy hypoxia ที่ส่งผลให้ร่างกายนั้นต้องการออกซิเจนมากกว่าปกติ ซึ่งความจริงแล้วเมื่อออกซิเจนในร่างกายลดลงผิดปกติ จะมีตัวกระตุ้นทำให้ร่างกายเริ่มหายใจถี่มากขึ้น และหายใจได้ไม่เต็มปอด ปกติอาการเหล่านี้มักจะอยู่ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอดและระบบทางเดินหายใจ แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้กับคนที่มีเชื้อไวรัส Covid-19 ด้วยเช่นกัน
แน่นอนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากทั้งในต่างประเทศ รวมถึงในประเทศไทยที่พบก็คือคนที่เป็นนั้น จะไม่ได้แสดงอาการเหล่านี้ออกมา จนกระทั่งระดับออกซิเจนลดลงมาต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานลงไปเยอะแล้ว ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนและเกิดผลเสียรุนแรงต่อร่างกายในเวลาต่อมา ตรงนี้เองทำให้การวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เมื่อเรามีอุปกรณ์ที่สามารถวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดได้ ก็จะรู้ว่าระดับออกซิเจนในร่างกายปกติอยู่หรือไม่ และถ้าเริ่มลดลงต่ำก็จะยิ่งสามารถแก้ปัญหาได้เร็วมากขึ้น ก่อนที่จะสายเกินไป ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าเกณฑ์ จะติดโควิด-19 เสมอไป แต่การวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด เป็นอีกหนึ่งวิธีในการติดตามดูอาการของคนที่ติดเชื้อ และเป็นผู้ป่วยโควิด-19 เท่านั้น เพราะค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด สามารถลดลงได้จากปัจจัยอื่นได้อีกอย่างโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคโลหิตจาง หรือโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลายได้อีก รวมไปถึงการอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากๆ อย่างบนยอดเขา หรือคนที่สูบบุหรี่มากๆ ด้วยเช่นกัน
อุปกรณ์ที่วัดค่า SpO2 ช่วยวัดยังไงได้บ้าง?
โดยหลักๆ แล้วทางการแพทย์จะวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดจากอุปกรณ์ที่เรียกว่า เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (Pulse Oximeter) หรือเก็บตัวอย่างเลือดจากหลอดเลือดแดง จากผู้ป่วยโควิด-19 ทำให้รู้ได้อย่างรวดเร็วว่าค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดมีเท่าไหร่ต่อวัน โดยกรมการแพทย์ได้แบ่งระดับของอาการไว้ 3 ระดับตาม แนวทางการคัดกรองผู้ป่วย COVID-19 ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2564 คือ
- ผู้ป่วยสีเขียว – แบ่งได้อีกสองกลุ่มคือ กลุ่มผู้สัมผัสที่ได้รับการตรวจ RT-PCR แล้วพบเชื้อและจะแจ้งตามอาการ อีกกลุ่มคือ ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่สบายดีไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยอย่างการไอ มีไข้ มีน้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ตาแดง ผื่น ฯลฯ แต่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงรุนแรง
- ผู้ป่วยสีเหลือง – คือผู้ที่ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง เริ่มมีอาการหายใจเร็ว หายใจเหนื่อย มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือโรคร่วม เช่น อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอด, หัวใจ, ไต, ภาวะอ้วน และภูมิคุ้มกันต่ำ
- ผู้ป่วยสีแดง – คือผู้ป่วยที่มีอาการหอบเหนื่อยเวลาเดิน หายใจลำบาก ปอดอักเสบ ปอดบวม และมีภาวะลดลงของค่า SpO2
การแบ่งกลุ่มเหล่านี้ช่วยให้แพทย์รู้ได้ว่าควรรักษาอย่างไรต่อไป โดยการวินิจฉัยจากค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด เพราะโควิด-19 จะส่งผลต่อปอด และระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก และนอกจากการตรวจด้วย Pulse Oximeter แล้วก็ยังสามารถตรวจค่าด้วยอุปกรณ์อื่นๆ ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น Smart Watch, Smart Band หรือจากมือถือที่มีฟีเจอร์วัดปริมาณออกซิเจนในเลือด เพื่อตรวจสอบอาการของตัวเอง และคนในครอบครัวได้ด้วยว่ามีความเสี่ยงต่อโควิด-19 หรือมีอาการมากน้อยเท่าไหน จะได้ติดตามอาการได้อย่างใกล้ชิดและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
อุปกรณ์ที่ใช้วัดค่า SpO2 ได้ในตอนนี้
สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้วัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด จะขอแบ่งเป็น 3 อุปกรณ์หลัก (ไม่รวม Pulse Oximeter) คือ Smart Watch, Smart Band และ Smart Phone ของ Samsung ที่มีฟีเจอร์นี้ติดมากับเครื่องเลย มีอยู่ดังนี้
Smart Watch
Apple Watch 6
สำหรับ Apple Watch 6 นั้นสามารถวัดค่าได้หลายอย่างรวมไปถึงค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด และอัตราการเต้นของหัวใจ, ECG คลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ทุกที่ทุกเวลา รวมไปถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับสุขภาพต่างๆ ที่ช่วยให้เราดูข้อมูลเชิงลึก และให้แพทย์วิเคราะห์ได้ทันที นอกจากนี้ก็ยังมีฟีเจอร์ที่ช่วยติดตามกิจกรรมประจำวัน และอื่นๆ อีกมากมาย ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 13,400 บาท
HUAWEI Watch
สำหรับชอง HUAWEI Watch นั้นจะมีรุ่นที่ทำออกมารองรับการวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด และอัตราการเต้นของหัวใจ และฟีเจอร์สุขภาพอย่างครบถ้วน จะมีรุ่นราคาถูกสุดคือ HUAWEI Watch Fit ราคา 2,999 บาท, HUAWEI Watch GT2e ราคา 4,990 บาท, HUAWEI Watch GT2 ราคาเริ่มต้น 5,499 บาท และ HUAWEI Watch GT 2 Pro ราคา 9,990 บาท
Garmin
แน่นอนว่านาฬิกาชื่อดัง ที่เกี่ยวกับสุขภาพคงจะขาดแบรนด์นี้ไปไม่ได้ ที่สามารถตรวจเช็คระดับต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ สุขภาพ และค่าออกซิเจนในเลือด มีรุ่นที่สามารถวัดได้คือ Garmin Vivosmart 4/ 4S, Garmin Forerunner, Garmin Vivoactive 4, Garmin Instinct Solar, Garmin Venu SQ, Garmin Legacy Hero/ Saga, Garmin Vívomove 3 ราคาของแต่ละรุ่นอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามร้านค้า หรือเวลาที่เปิดตัวออกมา
Amazfit
สำหรับคนที่ไม่ได้มีงบสูงมาก แต่อยากได้นาฬิกาสุขภาพของ Amazfit นั้นก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวเลือก ที่มีออกมาหลายรุ่นที่สามารถวัดค่าต่างๆ ได้ครบถ้วนไม่แพ้ยี่ห้ออื่นเลย มีตัวที่สามารถวัดค่าออกซิเจนในเลือดได้คือ Amazfit GTR 2, Amazfit GTR 2e, Amazfit T-Rex Pro, Amazfit Bip U, Amazfit Bip U Pro, Amazfit GTS2 หรือรุ่นอื่นๆ อีก ดูรายละเอียดได้ที่นี่
อื่นๆ
นอกจากนี้ยังมียี่ห้อและรุ่นอื่นๆ ที่สามารถตรวจค่าออกซิเจนในเลือด หรืออัตราการเต้นของหัวใจ เพื่อดูสุขภาพได้อีกมากมายให้เลือกไม่ว่าจะเป็น Samsung Galaxy Watch3, Honor Magic Watch 2, Xiaomi Mi Watch, Realme Watch S/ S Pro, Fitbit Charge 3, Fitbit Ionic, Fitbit Versa/ Lite/ Versa 2, Fitbit Sense, TicWatch 3 Pro และรุ่นอื่นๆ อีกมากมาย ควรตรวจสอบและหาข้อมูลให้ดีก่อนการซื้อทุกครั้ง
Smart Band
อีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับคนที่มีงบน้อย และอาจจะไม่ได้อยากใช้เป็นตัวนาฬิกาโดยตรง แต่อยากได้เป็น Smart Band ที่สามารถวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด หรือฟีเจอร์พื้นฐานในการวัดเกี่ยวกับสุขภาพทั้งความเครียด กิโลแคล อัตราการเต้นของหัวใจ และการนอนหลับได้คล้ายๆ กับ Smart Watch เลย ก็จะมีทั้ง HUAWEI, Honor และ OPPO ในรุ่น HUAWEI Band 4/ 4 Pro, HUAWEI Band 6, Honor Band 5 และ OPPO Band ส่วนราคานั้นอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับโปรศูนย์บริการหรือร้านค้าออนไลน์อย่าง Shopee, Lazada
Smart Phone ของ Samsung
มากันที่ Smart Phone กันบ้างกับของ Samsung ที่มีเซนเซอร์ตรงกล้องหลังติดมาให้ด้วย สำหรับการวัดค่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวัดค่าออกซิเจนในเลือด หรือว่าอัตราการเต้นของหัวใจก็ทำได้หมด โดยไม่จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์เสริมเพิ่มเลย เพียงแค่มีแอปฯ Samsung Health (โหลดที่นี่) และเปิดเข้าไปใช้งานในเมนู Blood oxygen ถ้าหาไม่เจอให้กด Manage items ด้านล่างเพื่อเพิ่มฟีเจอร์ขึ้นมาก่อน และทำการวัดโดยการวางนิ้วลงไปที่เซนเซอร์ด้านหลังของตัวเครื่อง (ตรงแฟลช LED) ก็จะทำการวัดค่าได้แล้ว ซึ่งจะมีอยู่ในซีรีส์ S และ Note ในรุ่นที่เก่าหน่อย (รุ่นใหม่ๆ เอาออกไปหมดแล้ว) และถึงแม้ว่ามือถือเครื่องอื่นจะโหลดแอปฯ มาใช้ แต่ถ้าไม่มีเซนเซอร์ก็จะวัดไม่ได้อยู่ดี รุ่นที่วัดค่าได้คือ
Samsung Galaxy S Series
- Samsung Galaxy S5
- Samsung Galaxy S6
- Samsung Galaxy S6 edge
- Samsung Galaxy S6 edge+
- Samsung Galaxy S7
- Samsung Galaxy S7 edge
- Samsung Galaxy S8
- Samsung Galaxy S8+
- Samsung Galaxy S9
- Samsung Galaxy S9+
- Samsung Galaxy S10
- Samsung Galaxy S10+
Samsung Galaxy Note Series
- Samsung Galaxy Note 4
- Samsung Galaxy Note 5
- Samsung Galaxy Note 7 FE
- Samsung Galaxy Note 8
- Samsung Galaxy Note 9
อย่างไรก็ตาม การวัดค่าออกซินเจนในเลือดหรือ SpO2 ผ่านอุปกรณ์เหล่านี้เป็นการดูค่าแบบเบื้องต้นได้เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถวัดค่าได้เป๊ะแบบ 100% แต่อย่างน้อยก็เอาไว้เป็นเครื่องเตือน หรือเอาไว้ดูค่าเพื่อความปลอดภัย หากมีเกณฑ์ที่เริ่มต่ำกว่ามาตรฐาน แนะนำว่าให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจสอบโดยอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่าง เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (Pulse Oximeter) หรือการวัดค่าเลือดทางการแพทย์เพื่อตรวจสอบ และทำการรักษาให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์อีกครั้ง สุดท้ายคือขอให้ทุกคนรักษาสุขภาพให้ดีด้วยการออกกำลังกาย อย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาค่าออกซิเจนให้สม่ำเสมอและสุขภาพที่ดีขึ้นอีกด้วย รวมไปถึงการใส่หน้ากากและล้างมืออยู่เป็นประจำ ก็จะช่วยป้องกัน Covid-19 ได้ดีในระดับหนึ่งเลยทีเดียว และถ้ามีเรื่องไหนน่าสนใจอีก เราก็จะเอามาฝากกันเรื่อยๆ เลยนะครับ