ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้เวลาผู้ผลิตมือถือทำการเปิดตัวมือถือใหม่ ทุกคนจะต้องได้ยินการพูดถึง Wi-Fi 6 กันแน่นอน เพราะหลังจากนี้มันจะกลายมาเป็นมาตราฐาน Wi-Fi ตัวใหม่ที่เราจะใช้กัน ซึ่งในปัจจุบันก็มีมือถือที่รองรับอยู่บ้างแล้ว และอุปกรณ์ที่ปล่อยสัญญาณได้ก็เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นแล้ว วันนี้เราเลยจะมาทำความรู้จักกันแบบง่าย ๆ
Wi-Fi 6 คืออะไร
ก่อนจะไปเริ่มเรื่องคงต้องขอเล่าย้อนเล็ก ๆ กันก่อน โดยแต่ก่อนการเรียก Wi-Fi จะเรียกเป็นชื่อรหัส 802.11 ตามมาตราฐานที่ IEEE กำหนดเอาไว้ ซึ่งมันเป็นอะไรที่จำยากมากมาย ดังนั้นในปี 2018 Wi-Fi Alliance จึงได้ทำการตั้งชื่อเล่นให้เข้าใจกันได้ง่าย ๆ โดยใช้ตัวเลขมาแบ่งแทนดังนี้
- Wi-Fi 1 : 802.11b (ปี 1999)
- Wi-Fi 2 : 802.11a (ปี 1999)
- Wi-Fi 3 : 802.11g (ปี 2003)
- Wi-Fi 4 : 802.11n (ปี 2009)
- Wi-Fi 5 : 802.11ac (ปี 2014)
- Wi-Fi 6 : 802.11ax (ปี 2019)
โดยเทคโนโลยีตัวใหม่นี้เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนามาจาก Wi-Fi 5 หลายอย่าง โดยมีจุดประสงค์เหมือน 5G ก็คือความสามารถในการรองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้มากขึ้นและมีระยะที่กว้างขึ้น ซึ่งตอบโจทย์การใช้งานแบบ Internet of Things (IoT) เป็นอย่างมาก
เทคโนโลยีที่นำมาใช้
- การส่ง-รับข้อมูลแบบ OFDMA (Orthogonal Frequency Division Multiple Access) ซึ่งเดิมที OFDMA เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในโครงข่ายเซลลูล่าร์ (4G-LTE) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดความล่าช้าของสัญญาญ (Latency) ในการส่งข้อมูลจากเครื่องส่งสัญญาณไร้สายกับอุปกรณ์ปลายทางสำหรับพื้นที่ที่มีความต้องการสัญญาณที่หนาแน่น
- พัฒนาเทคนิค MU-MIMO (Multi-User Multiple-Input and Multiple-Output) ใน Wi-Fi 5 ให้สามารถส่ง และรับข้อมูลของอุปกรณ์ได้พร้อม ๆ กัน ในคราวเดียวกัน
- แก้ไขการกวนกันเองของสัญญาณ โดยใช้วิธี BSS Coloring (Basic Service Set Coloring) โดยจะมีการกำหนดสีของสัญญาณ ทำให้สามารถทราบได้ว่าเป็นสีของสัญญาณข้อมูลที่มาจากเครือข่ายของตนเองหรือสีของข้อมูลจากเครื่องส่งสัญญาณไร้สายบริเวณข้างเคียง
- เพิ่มค่า Modulation จากเดิมที่เป็น 256-QAM เป็น 1024-QAM (Quadrature Amplitude Modulation) ทำให้สามารถเพิ่มอัตราการส่งข้อมูลได้เพิ่มขึ้นถึง 25%
- Target Wake Time ลดการบริโภคแบตเตอรี่ของอุปกรณ์รับสัญญาณไร้สายได้ เช่น พวกอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ที่ต้องมีการรับส่งข้อมูลในแต่ละช่วงเวลา เปรียบเสมือนมี Sleep Mode ในตัว เพื่อเป็นการถนอมพลังงานของอุปกรณ์ IoT ที่ส่วนมากจะเป็น Low Power Device
ประโยชน์สำคัญ
- อัตราการส่งข้อมูลสูงขึ้น
- ความจุของสัญญาณมากขึ้น
- ประสิทธิภาพที่ดีขึ้นของการเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมากที่มีสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน
- มีการพัฒนากำลังส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ถนอมพลังงานแบตเตอรี่กับอุปกรณ์ปลายทาง
- ลดการชนกันของช่องสัญญาณ
WI-FI 6E คืออะไร
Wi-Fi 6E เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาต่อยอดมาอีกที โดยได้ทำการเพิ่มคลื่นสัญญาณ 6GHz เข้ามา แต่ทั้งหมดก็ยังคงอยู่บนมาตรฐาน IEEE 802.11ax เหมือนเดิม ซึ่งคลื่น 6GHz ช่วยให้มีช่องสัญญาณกว้างขึ้นและรองรับการจำนวนการเชื่อมต่อที่มากกว่าเดิม ส่งผลให้สามารถใช้โครงข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุก ๆ สภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น สนามกีฬา, สถานที่สาธรณะต่าง ๆ อาทิ สถานีรถไฟ/รถไฟฟ้า, สนามบิน, สถานีขนส่งผู้โดยสาร, ห้างสรรพสินค้า, โกดังเก็บสินค้า, โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
วัตถุประสงค์หลัก ๆ คือถูกออกแบบมาเพื่อให้ทำในสิ่งที่รุ่นก่อนไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานในสภาพแวดล้อมที่มีการเชื่อมต่อเป็นจำนวนมาก การที่ไปใช้คลื่น 6 GHz ทำให้ได้ความจุสัญญาณเพิ่มขึ้นถึง 1200 MHz เลย ซึ่งมันมากกว่าสองเท่าของการนำเอาความจุสัญญาณ 2.4 GHz และ 5 GHz มารวมกันเสียอีก และด้วยความกว้างขนาดนี้ทำให้เพิ่มช่องสัญญาณของคลื่น 80MHz อีก 14 ช่อง และคลื่น 160MHz อีก 7 ช่อง ทำให้มีความหน่วงที่ต่ำลงมาก ๆ ถึงแม้จะมีการเชื่อมต่ออยู่หลายอุปกรณ์พร้อม ๆ กันก็ตาม
Broadcom ได้ระบุเอาไว้ว่าสามารถทำความหน่วงได้ต่ำที่สุดไม่ถึง 1ms ในระยะห่างไม่เกิน 3 เมตร จากเราเตอร์หรือ AP (access point) อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาสัญญาณตีกันบนคลื่น 2.4GHz และ 5GHz ที่มีผู้ใช้งานเยอะในปัจจุบันอีกด้วย
จะใช้ WI-FI 6E ได้ยังไง
เราเตอร์ในปัจจุบันส่งสัญญาณได้แค่คลื่น 2.4 GHz และ 5 GHz ดังนั้นหากต้องการใช้งานคลื่น 6 GHz แล้วก็จำเป็นจะต้องเปลี่ยนเราเตอร์ใหม่เป็นตัวที่รองรับเท่านั้น นอกจากนี้อุปกรณ์ปลายทางเองก็ต้องรองรับด้วยเช่นกัน โดยตัวเราเตอร์นี้ในปัจจุบันมีวางขายอยู่ทั่วไป ถึงแม้จะยังมีให้เลือกไม่เยอะก็ตาม นอกจากนี้ทาง AIS และ True ก็ได้มีการขายเราเตอร์ที่รองรับ WiFi-6E เพิ่มอยู่แล้วด้วย หากกำลังใช้ของทั้ง 2 เครือข่ายนี้อยู่สามารถไปติดต่อขอซื้อมาติดตั้งเพิ่มได้เลย
สำหรับอุปกรณ์ที่จะรองรับ Wi-Fi 6E ได้คาดการณ์ว่าอาจจะต้องใช้เวลาอีกหน่อยถึงจะกลายเป็นมาตราฐานในอุปกรณ์ทุกเครื่อง โดยอุปกรณ์ที่จะได้ครบเป็นพวกแรกคาดว่าจะเป็นมือถือ (เป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้ว) ส่วนอุปกรณ์อื่น ๆ กว่าจะมาครบเป็นไปได้ว่าอย่างเร็วสุดก็ภายในปี 2021
ตัวอย่างมือถือที่รองรับ WiFi-6
- iPhone 11 / 11 Pro / 11 Pro Max
- iPhoneSE 2020
- Samsung Galaxy Note10 / Note10+
- Samsung Galaxy Note20 / Note20 Ultra
- Samsung Galaxy S10e / S10 / S10 Plus
- Samsung Galaxy S20 / S20+ / S20 Ultra
- Samsung Galaxy Fold / Fold 2
- HUAWEI P40 / P40 Pro / P40 Pro+
- OnePlus 8 / 8 Pro
- Realme X50 Pro
- OPPO Find X2 / X2 Pro
- Vivo NEX 3 5G
- Nubia Red magic 5G
- Poco F2 Pro
- Xiaomi Mi 10
อ้างอิง : uih.co.th, wi-fi.org, wikipedia.org