Kirin 1020 นั้นถือว่าเป็นชิปเซ็ทรุ่นใหม่ที่จะใช้งานสำหรับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตระดับเรือธงของทาง Huawei ในรุ่นประจำปี 2021 ที่จะถึงนี้ โดยตัวชิปเซ็ท Kirin 1020 นั้นจะใช้กระบวนการผลิตที่ระดับ 5 nm เท่ากันกับชิปเซ็ท Apple A14 Bionic โดยจากข่าวลือล่าสุดนั้นพบว่า Kirin 1020 นั้นจะมีขนาดตัวชิปที่ใหญ่กว่า A14 Bionic ของทาง Apple แถมยิ่งไปกว่านั้นราคาของชิปนั้นจะแพงกว่าอีกด้วยต่างหาก ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นไปติดตามกัน
Kirin 1020 นั้นพัฒนาขึ้นโดยบริษัท HiSilicon ซึ่งเป็นบริษัทลูกของทาง Huawei สำหรับพัฒนาชิปเซ็ทโดยเฉพาะ ตามข้อมูลที่มีการยืนยันก่อนหน้านี้นั้นพบว่า Kirin 1020 จะใช้กระบวนการผลิตที่ระดับ 5 nm ซึ่งด้วยกระบวนการผลิตที่มีขนาดเล็กลงนี้นั้นย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่ตัวชิปเซ็ทจะมีขนาดเล็กลงตามไปด้วย ทว่าตามข่าวลือล่าสุดนั้นพบว่า Kirin 1020 จะไม่ได้มีขนาดเล็กลงหนำซ้ำมันจะใหญ่กว่าชิปเซ็ท A14 Bionic ของทาง Apple อีกต่างหากเนื่องมาจากว่าทาง HiSilicon ต้องการเพิ่มพื้นที่ในส่วนของแกนการประมวลผลของชิปกราฟิกภายในให้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อที่จะสามารถต่อกรกับ A14 Bionic ได้
Kirin 1020 นั้นจะมาพร้อมกับแกนการประมวลผลหลักที่ใช้แกนตามสถาปัตยกรรม ARM Cortex-A78 ซึ่งนั่นทำให้ประสิทธิภาพในด้านของการประมวลผลของฝั่งหน่วยประมวลผลสามารถที่จะสู้กับ A13 Bionic ของทาง Apple ได้แบบสบายๆ แต่นั่นก็ไม่ได้มากพอที่จะสามารถเอาชนะ A14 Bionic ของทาง Apple ได้เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าทาง Apple นั้นถึงแม้จะใช้ฐานสถาปัตยกรรมเป็น ARM เหมือนกันแต่ทาง Apple สามารถที่จะนำมาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพได้ดีกว่าชิปเซ็ทในฝั่งของทาง Android เสมอมา
อีกจุดหนึ่งที่ชิปเซ็ททางฝั่ง Android แพ้ Apple มาตลอดนั้นก็คือชิปกราฟิกภายในที่ทางฝั่ง Apple นั้นใช้กรรมวิธีในการเพิ่มพื้นที่สำหรับการวางแกนการประมวลผลทางด้านกราฟิกเข้าไปมากกว่า 50% ขงอพื้นที่ชิปเซ็ททั้งหมดซึ่งนั่นทำให้ชิปเซ็ทของทาง Apple สามารถที่จะประมวลผลทางด้านกราฟิกได้ดีเป็นอย่างมากและสามารถที่จะเอาชนะชิปเซ็ทฝั่ง Android มาได้โดยตลอดไม่ว่าจะเป็นของทาง Qualcomm ที่เป็นเจ้าตลาดชิปเซ็ทของฝั่ง Android เองก็ตาม
Kirin 1020 เองนั้นเพื่อที่จะทำให้สามารถแข่งขันกับชิปเซ็ท A14 Bionic ของทาง Apple จึงต้องเพิ่มขนาดของตัวชิปให้มีขนาดใหญ่มากขึ้นกว่าเดิมเพื่อที่จะเพิ่มแกนการประมวลผลทางด้านกราฟิกเข้าไปเพื่อที่จะทำให้การประมวลผลทางด้านกราฟิกนั้นดีมากขึ้น การทำเช่นนี้นั้นนอกเหนือไปจากที่จะทำให้ตัวชิปใหญ่มากขึ้นแล้วมันยังเป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิตมากเข้าไปอีกซึ่งแน่นอนว่าราคาของตัวชิป Kirin 1020 เองนั้นย่อมแพงมากขึ้นกว่าเดิมอย่างเสียมิได้
อย่างไรก็ดีแล้ว สิ่งที่ตามมานั้นก็คงต้องรอดูกันว่าทาง HiSilicon จะเลือกเส้นทางในการพัฒนาชิปเซ็ท Kirin 1020 ได้ถูกต้องหรือไม่และประสิทธิภาพนั้นจะดีมากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมเลยก็คือนั้นถึงแม้ว่าชิปเซ็ท Kirin 1020 จะแรงเพียงใด แต่การนำมาใช้งานบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตของ Huawei ที่ไม่มี Google Service แล้วนั้นน่าจะทำให้ยอดจำหน่ายของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตของทาง Huawei ไม่มากตามที่ทาง Huawei คิดเอาไว้ก็เป็นได้
ที่มา : notebookcheck