เมื่อคืนที่ผ่านมา Google ได้ฤกษ์ปล่อย Android Q รุ่นทดสอบในเวอร์ชัน Beta 1 ออกมาให้ผู้ใช้งานมือถือในตระกูล Google Pixel ที่สนใจทดสอบได้ติดตั้งและใช้งานบนมือถือของตนเองเรียบร้อยแล้วครับ ซึ่งลักษณะการเข้าร่วมทดสอบก็เหมือนกับ Android Beta Program ที่ Google เคยเปิดเมื่อตอนทดสอบ Android Pie เมื่อปีที่แล้วนั่นเอง
โดยในรอบนี้ มือถือที่สามารถร่วมทดสอบ Android Q Beta 1 ได้ มีดังนี้
- Google Pixel
- Google Pixel XL
- Google Pixel 2
- Google Pixel 2 XL
- Google Pixel 3
- Google Pixel 3 XL
ส่วนมือถือรุ่นอื่น ๆ คงต้องรอทาง Google ประกาศตามมาในภายหลังนะครับ โดยการเข้าร่วมโปรแกรม Android Beta Program นั้น ให้เข้าไปที่เว็บไซต์นี้ ซึ่งถ้าหากมือถือของคุณสามารถเข้าร่วมโปรแกรมนี้ได้ ก็ให้เลือกรุ่นที่ตรงกัน แล้วกดปุ่ม Opt in ได้เลย จากนั้นก็ค่อยมากดเช็คอัพเดตเฟิร์มแวร์ที่มือถือ แล้วก็รออัพเดตไปยาว ๆ ครับ
ถ้าหากคุณเข้าร่วมโปรแกรมนี้ไปแล้ว ติดตั้ง Android Q Beta ไปแล้ว แต่อยากกลับไปใช้ Android 9.0 รุ่นปกติ ก็ให้เข้าไปที่เว็บไซต์เดิม กด Opt out จากนั้นก็กดเช็คอัพเดตเฟิร์มแวร์ในมือถือ แล้วทำการติดตั้งเฟิร์มแวร์ซะ แต่ระบบจะล้างข้อมูลในเครื่องทั้งหมดออกด้วยนะครับ
ซึ่งก่อนอื่น ขอบอกก่อนเลยว่า ด้วยความที่เป็นซอฟต์แวร์รุ่น beta ที่ทำออกมาสำหรับทดสอบการทำงาน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดปัญหาและความไม่สะดวกในการใช้งาน รวมถึงอาจมีความเสี่ยงที่อาจกระทบการทำงานทั่วไปของเครื่องได้ด้วยเหมือนกัน ดังนั้น หากท่านไม่มีเครื่องสำรอง หรือข้อมูลในเครื่องนี้มีความสำคัญมาก แนะนำว่าควรสำรองข้อมูลก่อนติดตั้งเฟิร์มแวร์เวอร์ชัน beta หรือไม่ก็ หลีกเลี่ยงการทดสอบนี้จะปลอดภัยกว่าครับ
ส่วนถ้าพบปัญหาการทำงานในระหว่างทำการทดสอบ ตัวเฟิร์มแวร์ก็จะมีแอปที่ให้ผู้ใช้แจ้งปัญหากลับไปให้ทาง Google ด้วย ก็เสมือนว่าเป็นการช่วยแจ้งบั๊กไปในตัว
สำหรับตัวผมเองที่ใช้ Google Pixel 2 XL อยู่แล้ว ก็เข้าร่วมโปรแกรมนี้เพื่อทดสอบเหมือนเช่นเคย
แต่เดิม Pixel 2 XL ผมใช้เฟิร์มแวร์เวอร์ชันล่าสุด ซึ่งก็คือ Android 9.0 Pie แพตช์ความปลอดภัยเดือนมีนาคม 2019 ที่เป็นเวอร์ชันใหม่ล่าสุด เมื่อกดเข้าร่วมโปรแกรมแล้ว ก็จะมีเฟิร์มแวร์ของ Android Q Beta 1 มาให้ดาวน์โหลดและติดตั้งทันที โดยมีขนาดไฟล์ใหญ่ถึงกว่า 1.2 GB ดังนั้น แนะนำว่าควรดาวน์โหลดโดยใช้ WiFi ที่เร็วและก็เสถียรนะครับ รวมถึงควรเสียบสายชาร์จทิ้งไว้ด้วย เพราะนอกจากจะโหลดไฟล์นานแล้ว ระบบยังต้องแตกไฟล์ ติดตั้งไฟล์อีก ซึ่งใช้เวลาหลายสิบนาทีอยู่เหมือนกัน
เมื่อติดตั้ง รีสตาร์ทเครื่องเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปัญหาแรกที่ผมพบเลยก็คือ ระบบไม่สามารถบันทึกรูปแคปหน้าจอได้ วิธีแก้ไขก็คือ รีสตาร์ทเครื่องอีกซักรอบ จากนั้นก็ใช้งานได้ปกติแล้วครับ
สำหรับเลขเวอร์ชันเฟิร์มแวร์ของ Android Q Beta 1 บน Pixel 2 XL ก็ยังใช้เป็นตัว Q อยู่ครับ โดยมี build number เป็น QPP1.190205.018.B4 ใช้แพตช์ความปลอดภัยวันที่ 1 มีนาคม 2019 เหมือนเดิม
ความแตกต่างด้านของหน้าตาที่ผมสัมผัสได้แบบเห็นได้ชัดที่สุด เมื่อเปรียบเทียบ Android Q Beta 1 กับ Android 9.0 แยกเป็นข้อ ๆ ได้ตามนี้ครับ
- สีดำของธีมสีเข้ม (dark) ให้สีดำสนิทขึ้นกว่าเดิม ซึ่งด้วยการที่ตัวเครื่องใช้จอ p-OLED อยู่แล้ว ทำให้ contrast ของภาพดูจัดจ้านขึ้น
- โทนสีของปุ่มกด เปลี่ยนไปใช้สีฟ้าที่โทนอ่อนลง ดูเป็นสีแนว pastel มากขึ้น
- เมนูตั้งค่าธีมสีของระบบหายไป (ของเดิมสามารถปรับได้ 3 แบบคือ auto, white และ dark
- มีเมนู Privacy เพิ่มเข้ามาในหน้ารวมเมนูตั้งค่าระบบ ช่วยให้ผู้ใช้สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของข้อมูลได้สะดวกขึ้น
- เพิ่มปุ่มลัด Emergency ที่ปรากฏขึ้นเมื่อผู้ใช้กดปุ่ม Power ค้างไว้ ใช้สำหรับโทรหาเบอร์ฉุกเฉิน
ส่วนด้านล่างนี้ เป็นฟีเจอร์ต่าง ๆ ของ Android Q Beta 1 ที่ทางสื่อต่างประเทศรวบรวมมาครับ
ฟังก์ชันการแคปหน้าจอแบบวิดีโอ (ยังซ่อนเอาไว้อยู่ ต้องเข้าไปเปิดใน developer mode ก่อน)
ปรับให้หน้าต่างพรีวิวแอปในหน้าจอสลับแอป ให้เป็นแบบมุมโค้ง จากของเดิมที่เป็นแบบเหลี่ยม
หน้าจอแสดงรายละเอียดแอป ได้รับการปรับหน้าตาใหม่
หน้าจอกรอกรหัสพินล็อกเครื่อง มีการปรับรายละเอียดเล็กน้อย
หน้าจอติดตั้งแอปจากไฟล์ APK เปลี่ยนจากเดิมที่เป็นแบบเต็มหน้าจอ เหลือแค่เป็นป๊อปอัพกลางจอ
เพิ่มฟังก์ชันการแชร์/เชื่อมต่อ WiFi ผ่าน QR code
เพิ่มฟังก์ชันปรับโทนสี ปรับ font และปรับรูปร่างไอคอน (ซ่อนอยู่ในเมนู Developer options)
เปลี่ยนตำแหน่งตัวเลขแสดงปริมาณแบตเตอรี่บนหน้าจอ Always on display จากด้านล่างสุด ไปไว้ตรงมุมขวาบน
ระบบสนับสนุนการทำงานร่วมกับมือถือจอพับมาตั้งแต่แรก
รองรับฟังก์ชัน Desktop mode อย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้ ยังมี Android Q Beta ยังได้รับการปรับปรุงในอีกหลาย ๆ ส่วน ทั้งในแง่การทำงาน ประสิทธิภาพ และตัวช่วยที่อำนวยความสะดวกให้กับนักพัฒนา ซึ่งเราน่าจะได้เห็นฟังก์ชันใหม่ ๆ ตามมาอย่างแน่นอน
ที่มา: 9to5Google, XDA, Android Developers Blog