ปัจจุบัน เป็นยุคเติบโตของเทรนด์การใช้งานอุปกรณ์เสริมร่วมกับการออกกำลังกาย เพื่อช่วยตรวจจับว่าเราทำไปได้เท่าไรแล้ว กิจกรรมในระหว่างเราเป็นอย่างไร เผาผลาญแคลอรี่ไปเท่าไร ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถรับรู้สมรรถภาพของตนเองไปพร้อมๆ กับจะได้วางแผนการออกกำลังกายได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น ทำให้อุปกรณ์ในกลุ่มนี้ได้รับความนิยมและมีความหลากหลายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ?ทั้งยังสามารถใช้งานได้สะดวกอีกด้วย เพราะมันสามารถทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนแพลตฟอร์มหลักๆ ในปัจจุบันได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ตัวที่ได้รับความนิยมก็คือ?Jawbone UP24?และ Fitbit Flex นั่นเอง ในบทความนี้เราจะมาเทียบกันในฟีเจอร์หลักๆ ระหว่างสองตัวนี้ครับว่ามีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันอย่างไร
เทียบกันที่หน้าตาก่อนเลย ตัวของ Jawbone UP24 จะใช้เป็นสายรัดเส้นเดียวตลอดทั้งชิ้น โครงสร้างแข็งแรง ไม่น่าจะหักได้ง่าย มีปุ่มกดเพื่อสั่งงานอยู่ที่ปลายสาย ส่วนปลายสายอีกข้างจะมีแจ็คขนาด 2.5 มิลลิเมตรสำหรับใช้ชาร์จไฟอยู่ (ต้องใช้สายแปลงจาก 2.5 เป็น USB ในการชาร์จ) โดยตอนเลือกซื้อจะต้องเลือกซื้อตามขนาดที่มีให้เลือกได้แก่ S, M หรือ L ไม่สามารถปรับขนาดภายหลังได้ สำหรับใครต้องการอ่านรีวิว Jawbone UP24 ฉบับเต็ม สามารถเข้าไปอ่านกันต่อได้ที่นี่ครับ ราคาค่าตัวอยู่ที่ $149.99 ราคาในไทยก็อยู่ที่ราวๆ 6,290 บาท แต่ถ้าหากอยากได้รุ่นที่ฟีเจอร์เหมือนๆ กัน แต่ราคาย่อมเยากว่า ก็จะมีตัวเลือกเป็น Jawbone UP รุ่นแรกที่มีราคาอยู่ที่ 4,990 บาท (ล่าสุดมีโปรโมชัน ลดราคาเหลือแค่ 3,590 บาท เท่านั้น !!) โดยจุดต่างกันก็อยู่ที่ UP ตัวแรกจะใช้การซิงค์ข้อมูลผ่านช่องเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร ไม่รองรับการเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth เหมือน UP24 อ้อ! ราคานี้จะมีถึงแค่ช่วงปลายเดือนกันยายนเท่านั้นนะครับ ซื้อหากันได้ที่ร้าน?iStudio, .life, iBeat, Jaymart, Power Buy, Ari, Gizman, Health Choice หรือ True Shop ได้เลย
ส่วน Fitbit Flex จะมีจุดเด่นตรงที่มีหน้าจอเล็กๆ อยู่บนตัวสายด้วย ซึ่งหน้าจอนี้จะแสดงได้แค่จุดวงกลมเล็กๆ เท่านั้น การแสดงผลหลักๆ ก็จะเป็นการแสดงจำนวนก้าวเดินเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์จากเป้าหมายที่เราตั้งไว้ เช่นถ้าเราเดินได้ 4,023 ก้าว ไฟก็จะขึ้นสองดวง ดวงที่สามจะกระพริบ รวมถึงใช้ในการแจ้งเตือนได้ด้วย ส่วนการสั่งงานจะมีรูปแบบเดียวคือการเคาะสองครั้งที่ตัวเซ็นเซอร์ (อยู่ใต้หน้าจอลงมาเล็กน้อย) เพื่อแสดงจำนวนก้าวเดินเมื่อเทียบกับเป้าหมายอย่างที่กล่าวไปแล้ว สำหรับแพ็คเกจที่วางจำหน่ายจะมีสายให้มาสองขนาดมาในกล่องเลย ราคาอยู่ที่ $99.95 (ในไทยอยู่ที่ 3,990 บาท)ซึ่งถือว่าถูกกว่า Jawbone UP24 พอสมควร
ตัวของ Fitbit Flex จริงๆ แล้วมีแค่นี้เองครับ เป็นตัวเซ็นเซอร์เก็บข้อมูล หน้าจอและแบตเตอรี่ในตัวเลย การใช้งานก็ให้เสียบตัวนี้เข้าไปในสายที่ให้มาในกล่อง สำหรับการชาร์จแบตจะใช้อะแดปเตอร์เฉพาะ แบตเตอรี่อยู่ได้นานเป็นสัปดาห์เหมือนกับ Jawbone UP24 โดยตารางด้านล่างนี้เป็นตารางสรุปคุณสมบัติและความแตกต่างคร่าวๆ ของ Jawbone UP24 กับ Fitbit Flex นะครับ
โดยรวมๆ แล้ว ความสะดวกในการใช้งานของทั้ง Jawbone UP24 และ Fitbit Flex จะแตกต่างกันไปครับ ตัว UP24 จะสะดวกในเรื่องการเพิ่มข้อมูล เช่น ข้อมูลอาหาร การสร้างกลุ่มเพื่อนที่ออกกำลังด้วยกัน เพราะแอพพลิเคชันที่ใช้งานร่วมกันอย่าง UP by Jawbone ทำในส่วนนี้ออกมาได้ดี สามารถเพิ่มข้อมูลอาหารเข้าไปได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาจากฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้ว การสแกนบาร์โค้ด แถมยังสามารถกรอกข้อมูลเองได้ ถ่ายรูปประกอบเมนูได้ ฐานข้อมูลอาหารก็มีค่อนข้างหลากหลาย (แต่ในไทยยังน้อยอยู่) ซึ่งในส่วนของอาหารก็จัดเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการออกกำลังกาย การลดน้ำหนักมากทีเดียว ความสะดวกในส่วนนี้ก็นับเป็นหนึ่งในจุดที่ต้องใส่ใจครับ และ Jawbone ก็ทำออกมาได้ดีเลย
ส่วนของ Fitbit Flex นั้น จะเน้นความสะดวกในการใช้งานทั่วๆ ไป เช่นการมีหน้าจอแสดงผลเล็กๆ เพื่อแสดงความคืบหน้า (progress) ของจำนวนก้าวเดินและระยะเวลาการนอนเป็นหลัก การเปิดแอพก็สามารถทำได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่นำตัวเซ็นเซอร์ของ Fitbit Flex ไปไว้ใกล้ๆ จุดที่มี NFC ของมือถือที่เราใช้งานอยู่ ตัวแอพก็จะเปิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติแล้ว รวมถึงยังสามารถซิงค์ข้อมูลไปดูบนคอมพิวเตอร์ได้อัตโนมัติอีกด้วย แต่ในเรื่องของฟีเจอร์การเพิ่มข้อมูลอาหารยังไม่สะดวกเท่า Jawbone เพราะฐานข้อมูลมีค่อนข้างน้อย การเพิ่มข้อมูลก็ไม่ค่อยยืดหยุ่นเท่า ส่วนการเพิ่มเพื่อน สร้างกลุ่มเพื่อนก็ทำได้ใกล้เคียงกัน ?แต่ตัว?Jawbone จะทำได้มากกว่า เพราะสามารถเข้าไปดูข้อมูลอย่างละเอียดของเพื่อนแต่ละคนได้เลย
ทีนี้เรามาดูหน้าตาของตัวแอพพลิเคชันหลักที่ใช้งานร่วมกับทั้งสองกันบ้างครับ ทางซ้ายจะเป็นแอพสำหรับ Jawbone UP24 ส่วนทางขวาเป็นของ Fitbit Flex ซึ่งจะมีข้อดีแตกต่างกันไป แอพของ Jawbone จะเน้นสีสัน ดูมีลูกเล่น เน้นการแสดงผล feed ข้อมูลของเราและของเพื่อนในกลุ่มเดียวกันเป็นหลัก มีสรุปจำนวนก้าวเดิน ระยะเวลาในการนอนและแคลอรี่เอาไว้ในรูปแบบกราฟแท่งของแต่ละวัน ซึ่งก็ดูง่ายดี เพราะมีข้อมูลเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ถ้าอยากดูข้อมูลฉบับเต็มก็ค่อยแตะเข้าไปดูในแต่ละส่วนเอง อารมณ์จะเหมือนว่ากำลังเล่น social network อยู่ซะมากกว่า
ส่วนหน้าแรกของ Fitbit จะเป็นการแสดงข้อมูลทั้งหมดเอาไว้เลย โดยมีการจัดเรียงที่ดูเรียบง่าย อ่านเข้าใจง่าย ดูหน้าเดียวก็ได้ข้อมูลที่จำเป็นครบเลย เหมาะสำหรับคนที่ไม่อยากเปิดดูนู่นนี่นั่นมากมาย หน้าเดียวบอกหมด
มาพูดถึงความแม่นยำกันบ้าง ซึ่งอาจจะไม่สามารถบอกได้ว่าตัวไหนแม่นยำ 100% (เพราะก็ไม่เป๊ะทั้งคู่) แต่ก็จะใช้การเทียบกับอุปกรณ์อื่นดูนะครับ โดยเป็นการนำมาเทียบกับแอพ LG Health ที่มีใน LG G3 ซึ่งเป็นมือถือรุ่นที่มีเซ็นเซอร์นับก้าวเดินติดตั้งมาให้ในตัว ผลออกมาก็คือจำนวนก้าวเดินที่นับได้ของ Jawbone UP24 กับ LG Health ออกมาใกล้เคียงกัน จะมี Fitbit ที่นับก้าวได้มากกว่าร่วม 100 ก้าวเลย แต่ระยะทางที่ได้ดันออกมาเท่ากันคือ 1.13 กิโลเมตร ซึ่งเท่าที่ลองดูหลายๆ วัน แนวโน้มก็เป็น Jawbone UP24 ที่ตรงกับแอพอื่นๆ มากกว่า ส่วนจำนวนก้าวเดินของ Fitbit Flex จะมากกว่าแอพอื่นทุกวันเลย และมักจะมากกว่าเป็นหลักร้อยเลย
สำหรับการวัดการนอนหลับ ก็ทำออกมาได้ใกล้เคียงกัน แต่สังเกตว่ากราฟของ Fitbit ออกแบบมาได้ไม่ค่อยดีเท่าไร ดูข้อมูลได้ยาก ต่างจาก Jawbone ที่ทำออกมาเข้าใจง่ายกว่ากันมาก มีบอกสถิติแบบละเอียดว่าตื่นกี่ครั้ง หลับลึกนานขนาดไหน ซึ่งถ้าจะดูข้อมูลแบบละเอียดๆ จาก Fitbit จะต้องเข้าไปดูที่หน้า dashboard ของเราบนเว็บไซต์ Fitbit จุดนี้นับว่า Jawbone ทำได้ดีกว่ามาก เพราะทุกอย่างทำได้จบในแอพพลิเคชันเลย
ส่วนที่ลองเทียบกันอีกรอบ คราวนี้พบว่า FitBit นับเวลาการนอนจริงๆ ได้เยอะเกินความเป็นจริงไปพอสมควรเลย ทั้งที่จริงแล้วมีช่วงเวลานอนหลับจริงๆ แค่ประมาณครึ่งหนึ่งของช่วงที่นอนเท่านั้นเอง
จากเท่าที่ลองใช้งานมาทั้งสองตัว ต้องบอกว่าทั้ง Jawbone UP24 และ Fitbit Flex ก็มีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกันไปครับ ที่เห็นชัดสุดก็ตามนี้
Jawbone UP24
- หน้าตาแอพดูดีกว่า ใช้งานง่าย อ่านง่าย
- การเพิ่มข้อมูลอาหารทำได้ง่าย
- การสลับโหมดระหว่างโหมด Active กับโหมด Sleep ทำได้ง่ายกว่า แค่กดปุ่มบนตัวสายรัดค้างไว้
- น่าจะมีความแม่นยำมากกว่า Fitbit Flex
Fitbit Flex
- ราคาสบายกระเป๋ากว่า
- มีหน้าจอแสดง progress ในตัว
- สามารถถอดสายมาล้างได้ง่าย
- หน้าตาแอพดูเรียบง่าย
- การดูข้อมูลแบบละเอียดทำได้ยาก ที่แสดงในตัวแอพก็ดูลำบาก จะดูฉบับเต็มต้องไปดูบนเว็บเท่านั้น
- การเพิ่มข้อมูลอาหารที่รับประทานทำได้ยากกว่า