วงการขายภาพออนไลน์ นั้นมีมานานมากแล้ว ซึ่งโดยส่วนใหญ่การขายภาพ จะใช้กล้องที่เป็นมือโปรหน่อย แต่เดี๋ยวนี้เมื่อมือถือมีกล้องที่ดีขึ้น การขายภาพผ่านแอปฯจึงเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น
เคยมั้ย? กับการไปเที่ยวหลายๆ ที่แล้วถ่ายรูปกลับมาเต็มไปหมด หรือถ่ายรูปเล่นๆ เก็บเอาไว้เป็น Stock Photo แล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ในมือถือ ไม่เคยไปแตะต้องอะไรมันอีกเลย ซึ่งรูปเหล่านั้น อาจจะดูไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อเราสักเท่าไหร่ แต่ถ้ามันมีประโยชน์สำหรับคนอื่นล่ะ? ถ้ามีคนที่กำลังอยากได้รูป ในแบบที่เราได้ถ่ายเก็บไว้พอดี เราจะทำยังไงดี
เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินมาบ้าง เกี่ยวกับการขายภาพออนไลน์ แต่ก็ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไรกันแน่ และจะเอาไปขายที่ไหน หรือขายอย่างไรดี แล้วถ้าวางขายไปแล้ว จะได้เงินจริงหรือไม่ เราจะได้เงินเข้ามาจากทางไหนบ้าง เดี๋ยววันนี้เราจะมาบอกกันว่า การขายภาพทางออนไลน์นั้น สามารถทำได้จริงหรือไม่ มาดูกันเลย
การขายภาพออนไลน์คืออะไร?
ก่อนอื่น เราต้องมาทำความรู้จักกับการขายภาพกันก่อน จริงๆ จะเรียกว่าการขายภาพตรงๆ เลยก็คงไม่ได้เสียทีเดียว แต่การลงภาพ Stock Photo ในเว็บ หรือแอปฯขายภาพ จะเป็นการให้เช่า เพื่อนำไปใช้มากกว่า เพราะว่ายิ่งภาพของเราน่าสนใจ และมีความเกี่ยวข้องกับ Trending ที่คนกำลังต้องใช้รูปแนวนั้นอยู่ ก็ยิ่งทำให้คนอยากได้รูปเรามากขึ้น เช่น เราถ่ายรูปแมว แล้วนำไปลงขายทิ้งไว้ เมื่อมีคนกำลังอยากได้รูปแมว เพื่อนำไปโปรโมทสินค้า หรือนำไปใช้ประกอบผลงาน เขาก็จะมาซื้อภาพเราไป โดยไม่มีค่าลิขสิทธิ์
นั่นหมายความว่า ถ้ามีหลายๆคนอยากได้รูปแมว เราก็จะยิ่งได้เงินจากลูกค้าหลายๆ คน ที่ต้องการรูปแมวของเรานั่นเอง และภาพ Stock Photo ของเรานั้น สามารถใช้ซ้ำได้ไม่จำกัด ก็คือมีคนเข้ามาซื้อได้เรื่อยๆ นั่นแหละ อาจจะฟังดูง่ายๆ ที่เพียงลงรูปเอาไว้แล้วเดี๋ยวก็มีคนมาซื้อเอง แต่มันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะบางเว็บอย่างเว็บดังๆ ที่มีคนเข้าไปค้นหารูปเยอะๆ ก็จะต้องมีการทดสอบก่อนจะสมัคร และลงรูปเพื่อขายได้ ถ้าส่งไปแล้วไม่ผ่านก็จะไม่ได้ลงขาย หรือถ้าเป็นเว็บที่สมัครได้ง่ายๆ ก็อาจจะมีคนเข้าไปใช้งานน้อย และถ้าอย่างน้อยเรามีฝีมือพอสมควร ก็จะยิ่งทำให้คนสนใจรูปเรามากขึ้นด้วย โดยส่วนใหญ่เราจะเรียกเว็บขายภาพออนไลน์พวกนี้ว่า “Microstock”
ได้เงินทางไหน จากการขายภาพออนไลน์
การได้รับเงินนั้น จะได้รับเงิน และจ่ายเงินผ่านทาง PayPal ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ ที่ใช้กันอย่างสากล โดยเมื่อเราทำการสมัคร PayPal เรียบร้อยแล้ว ให้นำข้อมูล Email ที่เป็นของ PayPal ไปลงไว้ในแอปฯ ที่เราต้องการขายภาพนั้น แต่ละแอปฯนั้น ก็จะมียอดขั้นต่ำที่ไม่เหมือนกัน แล้วแต่ว่าทางแอปฯ จะกำหนดขั้นต่ำเท่าไหร่ เราถึงจะขอถอนเงิน (Withdraw) เพื่อนำมาใช้งานได้ หรือบางแอปฯอาจโอนเงินให้โดยอัตโนมัติ ถ้าหากเงินถึงยอดขั้นต่ำ ที่ได้กำหนดไว้แล้ว
การสมัคร PayPal ให้เชื่อมกับบัตรนั้น สามารถทำได้ทั้งบัตรเครดิต และบัตรเดบิต ส่วนขั้นตอนการสมัครก็ไม่ได้ยากมากนัก เพียงทำตามขั้นตอนของทางเว็บ PayPal ซึ่งจะมีบอกเอาไว้ แต่ล่าสุด ตอนนี้ทาง PayPal ได้ระงับการสมัครการใช้งานอยู่ ประเทศไทยอาจต้องรอถึงปีหน้า ถึงจะเปิดรับสมัครใหม่อีกครั้ง ถ้ามีข่าวอัพเดท เราจะมาบอกกันอีกที ส่วนลูกค้าเดิม ก็ยังสามารถเข้าไปใช้งาน และชำระเงินได้ตามปกติ
5 แอปฯขายภาพออนไลน์
เขียนมายาวเหยียด ในที่สุดก็มาถึงแอปฯ ที่จะนำมาฝากกัน ความจริงแล้วมีหลายแอปฯมาก ที่ทำขึ้นมาเพื่อให้เราได้ลงรูป เอาไว้ให้คนอื่นมาซื้อ แต่เราจะแนะนำแอปฯ ที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง และมีหลายคนให้ความสนใจกันมากหน่อย ก็คือมีคนเข้ามาซื้อ-ขายกันเยอะ ซึ่งแต่ละอันนั้น ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่ หรือว่าเป็นมือโปรฯ ก็สามารถใช้ได้เหมือนกัน แถมบางแอปฯยังมี Challenges ให้ร่วมเล่นไปกับคนที่อยู่ในแอปฯด้วย ทางที่ดีควรค่อยๆ หาแนวทางของตัวเองก่อน หรือจะดูตัวอย่าง (Reference) ของคนอื่นก่อนก็ได้ เพราะบางแอปฯ ก็มีให้กดติดตาม เพื่อดูผลงาน ของคนที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษได้ มาเริ่มกันเลยดีกว่า
เชื่อว่าคนที่เคยค้นหารูปภาพ เพื่อนำไปใช้งาน ไม่ว่าจะใช้ตอนเรียนหรือตอนทำงาน ก็ต้องคุ้นเคยกับเว็บ Shutterstock ที่มักจะมีลายน้ำ ติดอยู่ที่รูปหลายๆอันบน Google ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าไม่อยากได้ลายน้ำ ก็ต้องทำการซื้อภาพนั่นเอง
Shutterstock นั้น โด่งดังมานานมากแล้ว กับเรื่องของการขายภาพผ่านเว็บไซต์ ซึ่งก็มีคนที่ให้ความสนใจมากมาย ไปสมัครสมาชิกกัน เพื่อที่จะเอาภาพของตัวเอง มาลงไว้ในเว็บนี้ เพื่อให้คนเข้าไปซื้อ และเมื่อมาถึงในยุคของมือถือ ที่กำลังรุ่งเรืองอยู่ในตอนนี้ ทาง Shutterstock ก็ได้ทำแอปฯ แยกออกมาอีก 1 ตัว นั่นก็คือ Shutterstock Contributor ที่ทำขึ้นมาสำหรับการลงภาพเพื่อขายออนไลน์เท่านั้น ทั้งมือใหม่และมือโปรฯก็สามารถมาอัพโหลด เพื่อทำการขายได้เหมือนกัน แต่ต้องขอบอกก่อนว่า การสมัครเป็นสมาชิกเพื่อขายภาพผ่านแอปฯ Shutterstock Contributor จำเป็นต้องผ่านการทดสอบก่อน โดยจะให้ทดสอบโดยการส่งรูปไปเพื่อพิจารณา ตามกฎของ Shutterstock และถ้าผ่านเพียง 1 รูป ก็จะสามารถลงขายได้เลย
ภาพโดยรวมแล้วแอปฯ นี้คนใช้งานเยอะมาก ซึ่งก็มีทั้งข้อดี และข้อเสีย ข้อดีคือคนเข้าถึงเยอะ หากเราลงรูปเยอะๆก็มีโอกาสทำให้คนมาซื้อเยอะเช่นกัน แต่ด้วยความเยอะของผู้ใช้งาน หากภาพของเราไม่สะดุดตาจริงๆ หรือใส่ข้อมูลไม่ครบ การแท็กคีย์เวิร์ดไม่ตรง ก็อาจจะทำให้ภาพที่เราลงไว้ไม่มีคนเห็นก็ได้ ต้องลองศึกษา และลงรูปเรื่อยๆ เพื่อ Stock เป็นผลงานให้คนเข้ามาตัดสินใจซื้อภาพของเรา ได้ง่ายขึ้น
Android : โหลดแอปฯ Shutterstock Contributor
iOS : โหลดแอปฯ Shutterstock Contributor
2. Foap
แอปฯ ขายภาพออนไลน์อย่าง Foap นั้น มีมานานพอสมควร เรียกได้ว่าเป็นแอปฯ ยุคแรกๆ ของการขายรูปออนไลน์ ผ่านมือถือเลยก็ว่าได้ และค่อนข้างเป็นที่นิยมในต่างประเทศ เนื่องจากความง่ายต่อการใช้งาน และแอปฯ นี้ทำขึ้นมาเพื่อขายภาพที่ถ่ายด้วยมือถือก็ได้ ถ้าจะพูดเปรียบกับแอปฯ ที่คุ้นเคยกันดี ก็คล้ายๆ กับ Instagram อะไรแบบนั้นเลย มีให้ Follow คนที่เราอยากติดตามผลงาน และโปรไฟล์ของตัวเองด้วย
แต่ความต่างจากแอปฯ โพสต์รูปทั่วๆไปคือ มันสามารถขายได้ด้วย โดยเราสามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ในภาพ ให้มีอะไรที่น่าสนใจ และคนอยากเข้ามา เพื่อซื้อภาพของเราไปใช้งานได้ การโพสต์ลงไปในแต่ละครั้ง ก็ไม่มีระยะเวลาด้วย เพียงแค่ลงรูปไว้แล้วรอคนมาซื้อนั่นแหละ หรือบางครั้งอาจมีแบรนด์ ที่ต้องการภาพเป็นแคมเปญ ก็สามารถเข้ามาโปรโมทสินค้า โดยให้คนที่เล่นแอปฯ นี้ส่งภาพเข้าไปประกวดก็ได้
ข้อดีของแอปฯ Foap คือ สามารถสมัคร และใช้งานได้ในทันที ไม่จำเป็นต้องมีการสอบใดใดทั้งสิ้น แต่ในเรื่องการขายภาพนั้น จะต้องมีคนมาให้คะแนนก่อน ถ้าคะแนนถึงเกณฑ์ ถึงจะลงขายได้ ความแฟร์ของแอปฯ นี้อีกเรื่องคือ ทุกๆภาพจะถูกขายในราคา 10$ (ประมาณ 300 กว่าบาท) และแบ่งให้เรา 5$ ผ่านทาง PayPal เท่านั้น ก็เหมือนค่าฝากขายอะไรแบบนั้น วินวินกันไป พอถึงยอดขั้นต่ำที่เบิกได้ ก็เอาเงินออกมาใช้ได้เลย ข้อสำคัญคือ การที่จะขายภาพได้นั้น ต้องมีความน่าสนใจ และลงข้อมูลรายละเอียดให้ครบ หากลงไปเล่นๆ ก็คงยากที่จะมีคนมาสนใจได้
Android : โหลดแอปฯ Foap
iOS : โหลดแอปฯ Foap
3. Snapwire
แอปฯ ขายภาพออนไลน์ ที่แหวกแนว และมีความคิดสร้างสรรค์มากๆ สำหรับแอปฯ ที่ชื่อว่า Snapwire เนื่องจากการขายภาพของเรา จะได้สนุกมากขึ้นกว่าการขายปกติ ด้วย ฟีเจอร์ Requests และ Challenges ซึ่งตัวอย่างของการ Requests ก็คือจะมีคนที่ตั้งโจทย์มาให้ แล้วถ้าตรงกับที่เราถนัดพอดี เราก็สามารถกดรับงาน แล้วไปถ่ายภาพมาให้ เพื่อนำมาขายได้ อันนี้เหมาะกับพวกเริ่มโปรแล้ว ถ้ามือสมัครเล่นก็อย่าเพิ่งไปลอง เดี๋ยวจะทำให้คะแนนในแอปฯ ของเราตกต่ำลงไปมากกว่า ควรไปลองเล่นอย่างอื่นก่อน
ส่วนอีกอันก็น่าสนใจไม่น้อย นั่นก็คือ Challenges ซึ่งจะมีคนตั้งโจทย์มาให้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น Playing Video Games, Home Gardens ฯลฯ แล้วแต่ว่าตอนนั้นจะมี Challenges อะไรบ้าง เราก็แค่ถ่ายภาพให้ตรงตามโจทย์ และแข่งกับคนอื่นๆ ถ้าภาพไหนถ่ายออกมาได้ดีที่สุด ก็จะถูกซื้อไป โดยมีมูลค่ามากถึง 75$ เลยทีเดียว เงินที่ได้เราจะได้ 70% ส่วนที่เหลือแอปฯ จะหักไป ก็ถือว่าคุ้มนะ ถ้าชนะขึ้นมาได้ แต่ก็ไม่ได้มีแค่การแข่งกันเท่านั้น เราสามารถขายภาพได้ปกติ โดยให้เลือกภาพที่คิดว่าดีที่สุดของเรา เพื่อลงขายใน MarketPlace ถ้ามีคนชอบเยอะ และให้คะแนนเยอะ เลเวลเราก็จะเพิ่มขึ้น และทำให้ผู้ซื้อสนใจภาพเรามากขึ้นนั่นเอง
ข้อดีของแอปฯ นี้คือ สามารถลงขายได้เลย ไม่ต้องทดสอบอะไร และสามารถถอนเงินไปโดยผ่าน PayPal เมื่อถึงเกณฑ์ที่แอปฯ กำหนดไว้ แต่อาจจะต้องมีฝีมือนิดนึงในการเล่น Challenges ต่างๆ เนื่องจากมีหลายคนที่ส่งเข้าไปแข่ง ยิ่งถ้าเรามีเลเวลเยอะ ก็ยิ่งทำให้ภาพเราน่าสนใจมากขึ้นได้ด้วย
Android : โหลดแอปฯ Snapwire
iOS : โหลดแอปฯ Snapwire
แอปฯ ที่สายถ่ายภาพ หรือทำกราฟิกต้องรู้จักกันบ้างแหละ สำหรับแอปฯ ขายภาพออนไลน์อย่าง Getty Images ที่มีมานาน และเป็นคู่แข่งตัวสำคัญของทาง Shutterstock เลยก็ว่าได้ ซึ่งในปัจจุบัน ก็ได้รวมตัวเข้ากับ iStockphoto ไปแล้วด้วย เว็บนี้เหมาะกับคนที่เป็น Professional แล้วเท่านั้น เนื่องจากการสอบเข้าเพื่อลงรูปขายนั้น เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร โดยจะเลือกให้ผ่านถึง 3 ภาพด้วยกัน จากทั้งหมด 6 ภาพ แต่ก็ง่ายกว่าแต่ก่อนเยอะพอสมควร ตอนนี้ก็สามารถให้ทดสอบ และลงรูปผ่านแอปฯ ได้แล้วด้วย
การขายภาพแต่ละภาพนั้น ส่วนใหญ่จะถูกใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือ Commercial ที่เป็นทางการ เพราะว่าภาพแต่ละภาพในเว็บนั้นมีราคาที่สูงมาก บางภาพราคาขึ้นไปถึงหลักหมื่นเลย เนื่องจากความเข้มงวดของทางเว็บด้วย และก็ฝีมือช่างภาพแต่ละคนก็ไม่ธรรมดาจริงๆ บางคนอาจได้รับคำเชิญให้ไปถ่ายลงไว้ในเว็บ แต่บางคนก็สามารถผ่านการสมัครได้เลย ถ้าใครคิดว่าตัวเองเจ๋งพอ และอยากประลองฝีมือกับ Getty Images ก็ลองสมัครแล้วส่งผลงานไปทดสอบได้ เผื่อได้ลงขายขึ้นมา รับรองว่าได้รับเงินเยอะแน่นอน
ข้อดีของแอปฯนี้คือ สามารถขายภาพได้ในราคาที่มีเรทสูง และมีคนต้องการภาพจาก Getty Images เป็นจำนวนมาก ถ้าผ่านการรับรองยิ่งทำให้มีโอกาสขายภาพได้สูง แต่ความยากของการทดสอบก็เป็นสิ่งที่ท้าทายพอสมควร เราสามารถส่งภาพไปทดสอบได้เรื่อยๆ จนกว่าจะผ่าน และถ้าผ่านก็ลงรูปแล้วรอรับเงินได้เลย
Android : โหลดแอปฯ Contributor Getty Images
iOS : โหลดแอปฯ Contributor Getty Images
5. EyeEm
แอปฯสุดท้ายที่จะมานำเสนอ ก็คือแอปฯ EyeEm แอปฯขายภาพออนไลน์สำหรับมือใหม่ก็ใช้ดี มือโปรก็ใช้ได้ เพราะตัวแอปฯออกแบบมาให้ใช้งานง่าย และเป็นแอปฯที่ใครๆก็บอกกันว่า สามารถทำเงินได้จริงๆ โดยไม่จำเป็นต้องถึงขั้นมือโปร แบกกล้องตัวใหญ่ไปถ่ายด้วยความชัดสูงขนาดนั้น แค่เพียงใช้มือถือ ก็สามารถนำภาพมาลงขายได้แล้ว โดยเราสามารถกำหนดได้ว่า ภาพที่ลงไปนั้นจะเป็นภาพที่เก็บ Stock ไว้เฉยๆ เพื่อให้คนเข้ามาดูผลงาน หรือจะลงราคาขายไว้ก็ได้ ภาพในแอปฯนี้จะมีราคาค่อนข้างสูงด้วย มีฟีเจอร์ให้กดติดตาม เพื่อดูผลงานของคนอื่นๆ
นอกจากนี้ยังมีการให้เล่น Missions เพื่อชิงเงินรางวัลอีกด้วย โดยจะคล้ายๆ Snapwire ที่มีคนตั้งโจทย์ขึ้นมา แล้วให้เราสามารถทำ Challenges กับคนอื่นๆ ใครที่สามารถถ่ายรูปได้ดีที่สุด ก็จะได้รับรางวัลไป มีทั้ง Challenges จากแอปฯและจากบริษัทเอเจนซี่ที่เข้ามาตั้งโจทย์ให้ รางวัลได้มากถึง 500$ เลยทีเดียว แอปฯที่ทำขึ้นมานี้ เอาไว้อัปโหลดรูปขึ้นโดยเฉพาะ ไม่สามารถซื้อภาพผ่านแอปฯได้ ต้องทำการซื้อในเว็บเท่านั้น ส่วนราคาที่ได้จะแบ่งกัน 50% ของราคาที่ขายได้ และจะได้รับเงินผ่านทาง PayPal เท่านั้น
ข้อดีของแอปฯนี้คือ เมื่อสมัครงานแล้ว สามารถใช้งานได้เลย โพสต์รูปลงได้เลย ไม่ต้องทดสอบอะไรทั้งสิ้น แต่ทางที่ดีควรจะศึกษาดูก่อนว่า ควรจะถ่ายเป็นแนวไหน และควร Stock ภาพไว้เยอะๆ เพื่อเก็บเป็นผลงานให้คนเข้ามาสนใจเยอะขึ้น ก่อนจะขายได้ แต่ถ้ามั่นใจฝีมือก็ลองลงขายไปเลย ไม่ว่ากัน
Android : โหลดแอปฯ EyeEm
iOS : โหลดแอปฯ EyeEm
สรุป
สำหรับคนที่เป็นมือใหม่ แล้วอยากลองขายภาพ ผ่านทางออนไลน์ แนะนำให้ลองใช้ EyeEm และ Snapwire ดูก่อน เนื่องจากเหมาะกับการทดลองขาย เริ่มต้นก่อน ค่อยๆเก็บประสบการณ์ไปก่อน ลอง Stock ไว้ก่อนสัก 200 – 300 รูป ให้คนเริ่มรู้จักเรา แล้วอาจจะขยับไปเล่นพวกที่เป็นโปรมากขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวเองด้วย ว่ามั่นใจหรืออยากลองไปแอปฯ ใหญ่เลยหรือไม่ เพราะเป็นเพียงคำแนะนำเท่านั้น
แต่สำหรับคนที่มีประสบการณ์ และถ่ายรูปเป็นประจำ รู้มุม รู้สภาพแสง และจัดองค์ประกอบได้ดีแล้ว จะลองขายผ่านแอปฯ Contributor Getty Images, Shutterstock Contributor และ Foap ก็ได้ เนื่องจากจำเป็นต้องสอบ ก่อนที่จะขายได้ อย่างน้อยผู้ที่เป็นคนสอบ ก็จะได้มั่นใจได้ว่า เราถ่ายเป็นจริงๆ โดยเฉพาะของ Getty Images ที่หลายๆ คนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สอบเข้ายากมากๆ เพราะจะผิดเพี้ยนไปนิดเดียวก็ไม่ได้ ต้องสวยเป๊ะเท่านั้น แต่ถ้าสามารถสอบผ่าน ก็รับรองได้เลยว่า ทำเป็นอาชีพได้แน่นอน
ตัวอย่างการขายภาพได้จริง
ภาพนี้คือตัวอย่างภาพที่ขายได้จริง จากแอปฯ Shutterstock สังเกตว่าภาพซ้ายนั้น ถึงจะดูไม่มีอะไรเลยก็จริง แต่ถ้ามีคนที่กำลังอยากได้รูปแบบนี้อยู่พอดี ก็จะมีคนซื้อไปใช้งาน หรือภาพทางขวา ถ้าถ่ายมือถือปกติใครๆ ก็คงถ่ายได้ แต่ถ้าใส่ Maps เข้าไปด้วย ก็เป็นการเพิ่มลูกเล่นเล็กๆ น้อยๆ และทำให้คนเข้ามาซื้อรูปของเราได้เช่นกัน
ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นถึง ยอดของการดาวน์โหลด ที่มีคนเข้ามากดซื้อภาพอย่างเรื่อย ถึงแม้จะลงไว้เป็นเวลานานแล้ว แต่ก็ยังมีคนเข้ามาซื้อไปอยู่ดี และข้อสำคัญอีกอย่างที่ทำให้คนเข้าถึงมากขึ้นก็คือ Keyword ที่เกี่ยวข้องกับภาพ ยิ่งละเอียดก็ยิ่งทำให้คนเข้าถึงง่ายขึ้นไปด้วย
หลักสำคัญในการถ่าย เพื่อขายภาพนั้น ก็คือ เราควรจะตั้งโจทย์กับตัวเองก่อนว่า ถ้าคนที่มาเห็นรูปที่เราถ่ายไว้นี้ เค้าจะเอาไปทำอะไรต่อได้บ้าง ไม่ควรถ่ายมั่วๆ ไม่มีจุดหมายปลายทางเกินเหตุ แต่ควรจะมี Theme มีจุดน่าสนใจอยู่บ้าง อีกเรื่องนึงที่สำคัญก็คือ การตั้งชื่อภาพให้น่าสนใจ และการให้ แฮชแท็ก หรือใส่ Keyword เข้าไปในภาพด้วย ยิ่งใส่เยอะ และเกี่ยวข้องกับภาพ ก็ยิ่งทำให้คนที่เข้ามาค้นหา สามารถเข้าถึงภาพของเราได้มากขึ้น ส่วนการ Stock ภาพเอาไว้เยอะๆ ก็มีประโยชน์เช่นกัน อย่างน้อยคนที่เข้ามาดู และตัดสินใจจะซื้อภาพจากเราไป ก็จะได้มีความมั่นใจมากขึ้นไปด้วย
ส่วนอันไหนดีกว่าและคุ้มกว่ากัน ก็ต้องลองทำด้วยตัวเองดูก่อน บางคนทำเป็นอาชีพรายได้หลักหมื่น หลักแสนต่อเดือนก็มี แต่ก็ต้องค่อยๆเริ่มดูก่อน แล้วทั้งหมดนี้ก็เป็นแอปฯขายภาพออนไลน์ที่ specphone ได้รวบรวมมาฝากกัน ถ้ามีเรื่องราวอะไรน่าสนใจอีก ก็จะนำมาฝากกันเรื่อยๆ นะครับ