การใช้งานอุปกรณ์ที่เป็นกลุ่มโมบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตหรือโน้ตบุ๊กก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้ปวดหัวกับการใช้งานได้มากพอๆ กับการปัญหาในการเลือกซื้ออุปกรณ์เหล่านี้มาใช้ก็คือ เรื่องของแบตเตอรี่ เพราะจะสังเกตได้ว่าเมื่อไรที่เราเริ่มใช้งาน เอาง่ายๆ ว่าเป็นโทรศัพท์มือถือสักเครื่อง โดยเฉพาะที่เป็นสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน ในช่วงที่เพิ่งซื้อมาหรือเปิดใช้งานใหม่ๆ ก็จะรู้สึกว่า ทุกอย่างลื่นไหล ใช้งานได้ดี ไม่มีหน่วง ที่สำคัญแทบจะไม่ต้องกังวลเรื่องของแบตเตอรี่เลย น้อยคนที่ซื้อสมาร์ทโฟนมา แล้วรีบซื้อแบตฯ สำรองประเภท Power bank มาด้วย เหตุเพราะไม่เคยต้องกังวลกับปัญหาแบตฯ ลดลงอย่างรวดเร็วนั่นเอง
แต่ในทางกลับกัน พอได้ใช้เครื่องไปสักพักแล้วก็จะพบว่าปัญหาหนึ่งที่ทำให้ปวดหัว ที่ไม่เคยได้เจอกันในเครื่องใหม่ๆ ก็เริ่มมาหลอกหลอนให้เห็น นั่นก็คือ เรื่องของแบตเตอรี่ ที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ยิ่งใช้ไป ก็ยิ่งดูเหมือนว่าเครื่องแทบจะเก็บแบตฯ ไม่อยู่ แบตฯ หมดเร็ว รวมถึงเครื่องอาจจะร้อนมากขึ้น พอยิ่งใช้ไปก็กลายเป็นว่าใช้งานได้พักเดียว ก็ต้องรีบวิ่งหาที่ชาร์จกันบ่อยๆ เป็นแบบนี้บ่อยๆ ก็เล่นเอาบางคนถึงกับถอดใจหรือไม่ก็เปลี่ยนเครื่องกันไปเลย จากปัญหานี้ตามจริงแล้วอาจจะไมได้เกิดจากแบตฯ เสื่อมโดยตรง แต่อาจจะเป็นเรื่องของการใช้งานของผู้ใช้ที่มีการละเลยเรื่องบางอย่างไป จนส่งผลกระทบกับเครื่องกลายเป็นเรื่องบานปลาย ดังนั้นลองมาดูกันดีกว่าว่า เหตุผลกลใดที่ทำให้ส่งผลกับการใช้พลังงานและแบตเตอรี่บ้าง
1.เกิดจากเทคโนโลยีแบตเตอรี่ไม่ได้มีการพัฒนาไปมากนัก หากสังเกตดูดีๆ จะพบว่าเทคโนโลยีของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันรุดหน้าไปไกลมาก เอาแค่สมาร์ทโฟนที่ใช้กันอยู่นั้น ไม่ว่าจะเป็น ซีพียู เมมโมรี หน้าจอแสดงผล ต่างก็พัฒนากันชนิดที่เรียกว่า ตามกันแทบไม่ทัน ทั้งเร็วแรง ความจุมหาศาล แสดงผลความละเอียดสูง สีสันสดใสให้คุณภาพ พอจับทุกสิ่งอย่างเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง ทุกชิ้นมีการใช้พลังงานเท่านั้นเท่านี้กี่วัตต์ก็ว่าไป แต่หันมาดูแบตฯ ที่ใช้ ปรากฏว่าก็เป็นแบตฯ รูปแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็น Li-ion หรือจะเป็น Li-Poly ก็ตาม ใช้เทคโนโลยีเก่า ที่ไม่ได้ล้ำหน้ามากขึ้นนัก อย่างดีก็เปลี่ยนให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น จ่ายไฟได้มากขึ้น แต่ถ้าดูจากขนาดของสมาร์ทโฟนในปัจจุบันนั้น จะสามารถยัดแบตฯ ขนาดใหญ่ได้พียงใด นี่ก็ถือว่าเป็นปัจจัยแรกๆ ที่ส่งผลให้แบตเตอรี่มีประสิทธิภาพลดลง
2.แบตฯ รุ่นใหม่ มีขนาดที่บางและเล็กลง แม้ว่าในวันนี้เราต้องขอบคุณผู้ผลิตบรรดาพาร์ทต่างๆ ที่มีอยู่ในอุปกรณ์ ซึ่งมีขนาดเล็กลงและกินไฟน้อยลงแล้วก็ตาม แต่นั่นก็หมายความว่าอุปกรณ์ที่เราใช้ย่อมมีขนาดที่เล็กลงตามไปด้วย ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้พกพาสะดวกขึ้น ไม่ใหญ่เทอะทะ ไม่ต้องกังวลเรื่องการระบายความร้อน แต่สิ่งหนึ่งที่กลับเล็กตามไปด้วยก็คือ แบตเตอรี่ ที่ก็ต้องเล็กและบางลงไปตามๆ กัน เพื่อให้เหมาะกับการติดตั้งไว้บนสมาร์ทโฟนเหล่านี้ แต่จะเป็นไปได้หรือว่า แบตฯ บางลง แล้วจะใช้ได้ยาวนานขึ้น อาจจะเป็นไปได้ในแง่ของการออกแบบที่อาจทำได้ดีขึ้น แต่โอกาสก็น้อยมาก หากเปรียบเทียบกับแบตฯ ในขนาดเดียวกัน เราจึงได้เห็นปัญหาสมาร์ทโฟนแบตหมดไวมาตลอด แทบจะทุกรุ่นในตลาดเลยทีเดียว
ก็มีทางเลือกให้กับผู้ใช้ 2 ทางเลือกคือ ทางแรก เลือกซื้อแบตฯ ที่เป็นแบตฯ ขนาดใหญ่ขึ้น ในรูปแบบของ Extended Battery โดยดูจากตัวเลขที่ปรากฏอยู่บนแบตฯ เหล่านั้นเป็น xxxx mAh แต่ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ทุกรุ่นที่จะมีให้เลือกมาใช้ได้ เพราะส่วนใหญ่ก็ยังต้องอยู่ในข้อกำหนดของผู้ผลิตหรือถูกบังคับด้วยบอดี้เครื่องนั่นเอง ยิ่งสมาร์ทโฟนหลายรุ่นถูกใส่แบบปิดตายในตัว แกะเปลี่ยนก็ไม่ได้ ก็ต้องทำใจกันไป ส่วนอีกทางเลือกที่สองก็คือ ผู้ใช้ต้องหาแหล่งจ่ายไฟสำรองเอาไว้ใช้ อย่างเช่น การเลือก Power bank สำหรับชาร์จไฟเวลาอยู่ข้างนอกเอาไว้แทน ก็กลายเป็นว่าแทนที่จะพกสมาร์ทโฟนเล็กๆ บางๆ ให้คล่องตัว ก็ต้องหอบหิ้วเอาที่ชาร์จสำรองนี้ไปด้วยเช่นกัน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องช้ำใจต่อมา
3.การตั้งระบบแจ้งเตือนและการซิงก์ข้อมูล ด้วยความทันสมัยและให้ตอบโจทย์การใช้งานในยุคของข่าวสารที่รวดเร็วอย่างเช่นทุกวันนี้ ก็ไม่ต้องแปลกในที่ทำไมวันนี้สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ จะมีการตอบสนองที่ไว รวมถึงผู้ใช้เองก็ต้องการรับรู้ข่าวสารที่รวดเร็วนี้ด้วย จึงมีระบบที่เรียกว่า การแจ้งเตือน ให้กับผู้ใช้ได้รับรู้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเมล์ ข้อความ โซเชียลเน็ตเวิร์กหรือแม้กระทั่งการดาวน์โหลดข้อมูล การอัพเดตและอื่นๆ อีกมากมาย ลองคิดดูว่าในวันหนึ่งๆ มีสิ่งใดที่ Alert ขึ้นมาให้เห็นบ้างบนสมาร์ทโฟนของคุณ บอกได้เลยว่านับไม่ถ้วน ยังไม่รวมไปถึงระบบการ Sync ข้อมูล ทั้งในส่วนของอีเมล์ ข้อมูลส่วนตัว การพยากรณ์อากาศ การบอกตำแหน่ง Location แอนตี้ไวรัส ยังไม่รวมถึง Service และบริการต่างๆ ที่รันอยู่เบื้องหลังของระบบ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามากมายเหลือเกิน
สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการทำงานและแบตฯ ของอุปกรณ์โดยตรงเนื่องจาก ต้องมีการเชื่อมต่อสัญญาณกันตลอดเวลาลำพังแค่สัญญาณโทรศัพท์ที่ใช้โทรอยู่ปกติต่อวันก็ถือว่ามากพอแล้ว ยังมีเรื่องการเชื่อมสัญญญาณ WiFi หรือ GPS อีก ในส่วนของหน้าจอ เมื่อมีการเตือน ก็ต้องแสดงผลอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งหากเป็นหน้าจอขนาดใหญ่ ก็ย่อมใช้พลังงานมากขึ้นตามไปด้วย เพราะฉะนั้นทางออกของผู้ใช้ ก็คงต้องเข้าไปบริหารจัดการในเรื่องของการเชื่อมต่อ ระบบเตือน รวมไปถึงบรรดา Service ต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลัง โดยอาจจะใช้แอพฯ เข้ามาช่วยในการจัดการระบบเหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้น
4.หน้าจอใหญ่ ซีพียูสุดไว แกนหลักหลายคอร์ เรื่องของสเปกที่สุดแรง เริ่ด อลังการเหล่านี้ แม้จะเป็นผลดีต่อผู้ใช้เอง ที่จะได้สัมผัสเครื่องแรงๆ ให้ตอบโจทย์กับการทำงานร่วมกับแอพพลิชันในปัจจุบันได้ดีก็ตาม แต่สิ่งที่ตามมาก็คือ ย่อมมีการใช้พลังงานที่มากยิ่งขึ้น เป็นเรื่องที่พิสูจน์กันมาแล้วว่า หน้าจอขนาดใหญ่ ย่อมมีการใช้พลังงานที่มากตามไปด้วย แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีในด้านการแสดงผลที่ทันสมัยก็ตาม เป็นเรื่องปกติสามัญที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว ยิ่งในเวลานี้นอกจากจะมีหน้าจอขนาดใหญ่แล้ว ความละเอียดก็ยิ่งสูงตามขึ้นไปด้วย รวมถึงระบบประมวลผลอย่างเช่น ซีพียู ก็กระโดดจาก 2-Cores ไปเป็น 4-Cores และเวลานี้ก้าวไปสู่ 8-Cores บนพื้นฐานของแบตฯ ขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น ถึงแม้ว่าสถาปัตยกรรมของซีพียูจะได้รับการพัฒนาให้กินไฟน้อยลงก็ตาม แต่ก็ยังมีชิ้นส่วนอื่นๆ ในเครื่องที่ใส่เข้ามาและกินพลังงานเพิ่มขึ้นไปอยู่ดี ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่น่าจะทำให้แบตฯ มีการทำงานที่ดีขึ้น ก็คงต้องขึ้นอยู่กับเฟิร์มแวร์และระบบปฏิบัติการที่ต้องมีการอัพเดตได้อย่างเหมาะสมเป็นอีกปัจจัยหนึ่งด้วย จึงจะสามารถช่วยให้แบตเตอรี่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
5.พฤติกรรมของผู้ใช้เป็นตัวกำหนด นอกจากในเรื่องของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อแบตฯ ได้มากแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ ตัวผู้ใช้เอง ซึ่งจะเป็นผู้ที่คอยจัดการดูแล ใช้งาน ทุกสิ่งอย่างร่วมกับสมาร์ทโฟนที่ใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการชาร์จ การจัดเก็บ การปรับระบบจัดการพลังงาน รวมไปถึงเรื่องของความร้อนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แบตเตอรี่ลดความสามารถลงได้ ซึ่งผู้ใช้เองเป็นผู้ที่จะทำให้อุปกรณ์เหล่านี้ไปอยู่ในภาวะดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพกพา บางคนชอบใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกงหรือบางคนก็มักจะลืมวางตากแดดไว้ในรถ รวมถึงการใช้งานผิดประเภท ดังนั้นหากไม่ได้รับการดูแลหรือมีการใช้งานตามพื้นฐานที่เหมาะสม ก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพของแบตฯ สมาร์ทโฟนด้วยเช่นกัน