ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ใครที่ติดตามข่าวคงจะได้เห็นข่าวใหญ่ที่มีแววว่าจะกระทบชีวิตประจำวันของหลายๆ ท่านพอสมควรทีเดียว กับข่าวที่ว่า ปอท. จะเข้ามาตรวจสอบการใช้งานแอพพลิเคชัน LINE ซึ่งเป็นแอพยอดนิยมสำหรับการแชท พูดคุยในปัจจุบัน โดยถ้านับเฉพาะในประเทศไทย ก็มีผู้ลงทะเบียนบัญชีของ LINE กว่า 7.3 ล้านราย ยอดดาวน์โหลดแอพพลิเคชันสูงกว่า 15 ล้านครั้ง ทำให้ประเทศไทยติดอันดับ 3 ของประเทศที่ใช้งาน LINE มากที่สุดของโลก และแน่นอนว่า ถ้าหากมีการเข้ามาควบคุม ตรวจสอบการใช้ LINE ของประชาชน ก็จะย่อมมีปัญหาตามมา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเบื้องต้นในการพูดคุยสื่อสารและเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งในข่าวนี้ เราจะมาสรุปเนื้อหาที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับข่าวการคุมแอพ LINE ในไทยครั้งนี้ครับ
ที่มาของนโยบายการคุมแอพ LINE และท่าทีของ ปอท.
ในเรื่องนี้ มีฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วยกันหลักๆ 3 ฝ่ายด้วยกันครับ ได้แก่
- ปอท. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) ที่มี พล.ต.ต. พิสิษฐ์ เปาอินทร์ เป็นผู้บังคับการอยู่
- บริษัทไลน์ คอร์ปอเรชัน (LINE Corporation) ที่เป็นเจ้าของและผู้ดูแลแอพพลิเคชัน LINE ซึ่งเป็นบริษัทจากเกาหลีใต้ แต่ตั้งสำนักงานใหญ่และมีเซิฟเวอร์อยู่ที่ญี่ปุ่น
- กระทรวง ICT และรัฐบาลไทย
โดยเรื่องนี้มีที่มาจากทาง ปอท. เล็งเห็นว่าในปัจจุบัน แนวโน้มการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย ข้อมูลที่มีแนวโน้มไปในเชิงผิดกฏหมาย กระทบต่อความมั่นคงของชาติ เริ่มมีจำนวนให้เห็นสูงขึ้น โดยเฉพาะในโลกของโซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่น Facebook, Twitter, Whatsapp รวมไปถึง?LINE ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้ทั่วกัน ซึ่งในช่วงหลังจะเห็นว่าเนื้อหาที่เข้าข่ายดังที่กล่าวไปข้างบนมีปรากฏมาให้เห็นเยอะขึ้น ซึ่ง ปอท. เองมีหน้าที่ที่ต้องดูแลจัดการส่วนเหล่านี้โดยตรง จึงจำเป็นจะต้องขอความร่วมมือจากเจ้าของโซเชียลมีเดียรายต่างๆ ในการเข้าไปตรวจสอบข้อมูล และระบุตัวผู้กระทำผิด เพื่อตัดต้นตอของปัญหาก่อนที่จะเกิดปัญหาใหญ่ตามมา โดยจะประสานงานขอข้อมูลจากทางบริษัทแม่ตามบัญชีรายชื่อที่มีอยู่แล้ว หรืออาจจะประสานงานให้บริษัทแม่ส่งรายชื่อกลุ่ม/บุคคลที่มีการพูดคุยเนื้อหาที่มีคีย์เวิร์ดในเชิงผิดกฏหมายมาให้ทาง ปอท. เพื่อดำเนินการต่อไป
ซึ่งจากการที่มีการเปิดเผยนโยบายดังกล่าว ทำให้เกิดเสียงต่อต้านจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะประเด็นของการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในการสื่อสาร ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ตามกฏหมาย ทำให้ทาง พล.ต.ต. พิสิษฐ์ เปาอินทร์ต้องออกมาชี้แจงว่า ปอท. เพียงแค่จะจับตาดูเฉพาะข้อมูลของกลุ่มคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฏหมาย มีแนวโน้มกระทบต่อความมั่นคงและศีลธรรมอันดีเท่านั้น เน้นทางด้านปัญหาอาชญากรรม โดยจะใช้การขอเข้าไปดูเป็นกรณีไป ไม่ได้เข้าไปดูข้อความของทุกๆ คน ซึ่งเท่าที่ผ่านมา ทาง พล.ต.ต. พิสิษฐ์กล่าวว่าทาง ปอท. ก็ได้เริ่มขอความร่วมมือไปทาง Facebook, Twitter, Whatsapp และ YouTube เมื่อช่วงต้นปี แต่ไม่ได้รับความร่วมมือแต่อย่างใด เนื่องจากแต่ละที่ก็ต่างมีข้อกำหนดเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอยู่ ส่วน LINE นั้น พล.ต.ต. พิสิษฐ์ กล่าวว่า ทางบริษัทแม่ของ LINE มีแนวโน้มและยินดีที่จะให้ความร่วมมือดีกว่าบริษัทอื่นๆ หลังจากได้มีการพูดคุยกันระหว่างทีมงานของ ปอท. กับตัวแทนของ LINE เมื่อวันที่ 5-9 สิงหาคมที่ผ่านมา
ท่าทีของ LINE
ทางด้านบริษัทแม่ของ LINE ที่ญี่ปุ่นเองได้เปิดเผยออกมาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (13 ส.ค.) ว่า ยังไม่ได้รับคำขออย่างเป็นทางการจากทาง ปอท. แต่อย่างใด ทำให้ยังไม่สามารถให้ข้อมูลใดๆ ได้ ทาง LINE จะยังคงรักษาข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานเอาไว้เช่นเดิม โดยยึดตามหลักมาตรฐานสากล
ท่าทีของกระทรวง ICT และรัฐบาล
ด้าน น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว. กระทรวง ICT เปิดเผยว่ายังไม่ได้รับการประสานขอความร่วมมือจาก ปอท. แต่อย่างใด โดยกระทรวง ICT กับทางรัฐบาลเห็นพ้องต้องกันว่า ไม่เห็นด้วยกับการตรวจสอบการใช้งานแอพพลิเคชัน LINE เพราะไม่ใช่สิ่งจำเป็น และรัฐบาลไม่มีนโยบายปิดกั้นการสื่อสารของประชาชน
ท่าทีของฝ่ายอื่นๆ
ทั้งหมดล้วนให้ความเห็นตรงกันว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวของ ปอท. เนื่องด้วยเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยังละเมิดต่อรัฐธรรมนูญอีกด้วย
สรุป
ถ้าให้สรุปเหตุการณ์ในขณะนี้ก็คือ
- ปอท. ดำเนินเรื่องแต่เพียงฝ่ายเดียว
- LINE ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลตามที่ ปอท. ขอความร่วมมือ ทั้งยังไม่ได้รับคำขอจากทาง ปอท. แต่อย่างใด
- ทุกฝ่ายในไทยไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว
ก็ต้องรอติดตามข่าวกันต่อไปครับ ว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร