หลังจาก Ice Cream Sandwich ออกมา เรื่องประเด็นการอัพเดท Android ก็กลับมาเป็นเรื่องที่น่าสนใจอีกครั้ง หลังจากที่ Google ได้ประกาศโครงการ Android Update Alliance เเต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตเท่าไรนัก สุดท้ายเเล้วก็ยังมี Android จำนวนหนึ่งไม่ได้ตัวอัพเดทอยู่ดี
เเน่นอนว่าผู้ใช้ Android หลายคนคงต้องเกิดความไม่พอใจเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะเมื่อยิ่งเทียบกับ Apple นั้นจะเห็นว่าสนับสนุนเรื่องการอัพเดทดีกว่ามาก (สำหรับคนที่จะ Jailbreak อาจจะต้องรอช้ากว่าพอสมควร) สำหรับ Android นั้นเมื่อตัวอัพเดทออกมาทีหนึ่งก็อาจจะต้องนั่งลุ้นกัน เเต่ยังไงเครื่องไฮเอนด์ก็มีโอกาสได้รับตัวอัพเดทมากกว่าเครื่องระดับกลางหรือล่างอยู่ดี
ถ้ามองในมุมของผู้ผลิตเเล้ว ความเป็นไปได้ที่จะไม่ออกตัวอัพเดทให้กับเครื่องก่อนหน้ามีดังนี้
1. เครื่องบางรุ่นขายไปจำนวนไม่มากนัก จนดูไม่คุ้มทุนในการพัฒนาตัวอัพเดท จึงนำทรัพยากรไปใช้ในส่วนอื่นมากกว่า เช่น พัฒนารอมเวอร์ชันใหม่สำหรับเครื่องอื่นๆ ที่ขายดีกว่าหรือเครื่องที่ยังไม่ออกวางจำหน่าย
2. ข้อจำกัดทางฮาร์ดเเวร์ บางครั้งเครื่องที่วางจำหน่ายเรียกว่ามีสเปคที่ ?พอดี? สำหรับในขณะนั้นเเล้ว ถ้าลงตัวอัพเดทใหม่ไปมีเเนวโน้มว่าจะกระตุกมากหรือใช้งานไม่ได้ บางครั้งก็เป็นที่พื้นที่ System ROM มีขนาดเล็กเกินไป (เช่น HTC Desire กับรอม 2.3 ที่ตัดฟีเจอร์บางอย่างออกไปเพื่อให้ใส่ใน System เดิมได้)
3. นโยบายของบริษัท อย่างในกรณี Galaxy S ที่ไม่ได้ตัวอัพเดท ICS เพราะว่าใส่ TouchWiz เข้าไปไม่ได้ ทั้งๆ ที่ Nexus S ได้รับ ICS เหมือนกันเเละมีสเปคเหมือนกับ Galaxy S
ในเรื่องของตัวอัพเดทของเเต่ละรุ่นนี้ ทางตัวเเทนจำหน่าย (HTC Thailand, Samsung Thailand เเละอื่นๆ) นั้นทำอะไรไม่ได้มากนัก นอกจากส่ง feedback กลับไปยังบริษัทเเม่ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเท่านั้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสำนักงานใหญ่อยู่ดีว่าจะนำข้อเสนอของตัวเเทนจำหน่ายไปพิจารณาหรือไม่ เท่าที่คุยกับตัวเเทนของหลายๆ เเบรนด์เเล้ว พบว่าพวกเขาเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นค่อนข้างดี เพียงเเต่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเท่านั้น ตรงนี้ก็อยากให้เห็นใจเวลาเข้าไปถามเรื่องตัวอัพเดทสำหรับตัวเเทนจำหน่ายในไทยด้วย เพราะพวกเขารู้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างเเน่นอนเเละไม่ได้นิ่งเฉยเเต่อย่างใด เเต่เป็นเพราะสำนักงานใหญ่เลือกที่จะเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งตัวเเทนจำหน่ายไม่ได้อยู่ในฐานะจะทำอะไรได้นอกจากส่งความคิดเห็นกลับไป
ส่วนเเนวคิดเรื่องการนำ Android ไปปรับเเต่งให้หน้าตาเเตกต่างจากเดิมนั้น เป็นเเนวคิดหนึ่งที่ผู้ผลิตทำโดยตลอด (HTC Sense, Samsung TouchWiz) เเละคิดว่ามันจะเป็นการ “เพิ่มมูลค่า” หรือ “สร้างความเเตกต่าง” กับคู่เเข่ง เเต่โดยธรรมชาติ Android ไม่ใช้ระบบปฏิบัติการณ์ที่มีความเร็วสูงอยู่เเล้ว การเพิ่มส่วนที่ไม่จำเป็น (หรืออาจจะไม่สวยด้วยซ้ำ) มันทำให้ประสบการณ์ใช้งานเเย่ลงกว่าเดิมอีก
ในเเง่ของเเบรนด์ที่จะประสบความสำเร็จในเรื่องการอัพเดทนั้น ?Sony Ericsson ดูน่าสนใจมาก จากเเผนเเรกนั้นเริ่มด้วยการนำสมาร์ทโฟนทุกตัวของตนใช้ชิปของ Qualcomm MSM8255 ที่เป็นตัวประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับโทรศัพท์คอร์เดี่ยวกับมือถือของตนทั้งหมดในปี 2011 ตั้งเเต่รุ่นราคาระดับพันจนไปถึงระดับหมื่น ผลของการเลือกชิปตัวนี้เเค่ตัวเดียว นั้นทำให้ Sony Ericsson น่าจะได้ต้นทุนที่ค่อนข้างจะถูกเนื่องจากสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก (Economic of Scale) อย่างที่เราเห็นว่ามือถือของ Sony Ericsson ในปีนี้นั้นไม่ได้เเพงเหมือนปีก่อนเลย ทำให้เเฟนๆ ของ Sony Ericsson กลับมามีความศรัทธาได้ดีขึ้นพอสมควร
เด้งสองที่ทำให้ Sony Ericsson ได้ใจผู้บริโภคไปอีกคือ การประกาศอัพเดท Android ทุกรุ่นในปี 2011 ให้เป็น Ice Cream Sandwich ทั้งหมด ถ้าถามว่าทำได้อย่างไร นั้นเป็นเพราะว่ารอมของ Sony นั้นไม่มีลักษณะที่เป็น Bloatware มากเหมือนกับค่ายอื่นๆ ส่วนที่ทำให้ SE เเตกต่างกับค่ายอื่นๆ มีเเค่ Timescape ซึ่งมีการทำงานเป็นเพียง Widget หรือเเอพเพียงเเอพหนึ่งเท่านั้น เมื่อเทียบกับมือถือบางเจ้านั้นที่มีเเอพติดเครื่องมาเต็มไปหมด บางเเอพนั้นเราก็เเทบไม่เคยเปิดใช้เลยด้วยซ้ำ ทำให้รอมของ SE นั้นไม่กินทรัพยากรของเครื่องมากนัก
อีกประการหนึ่งนั้น โดยตัวสเปคของ Qualcomm MSM8255 นั้นยังคงมีประสิทธิภาพพอที่จะรันตัวอัพเดทใหม่ได้ เพราะโดยธรรมชาติของมันนั้นเป็นซีพียูตัวท็อปของปีที่เเล้ว ในปีนี้ก็ถูกลดลงมาเหลืออยู่ในระดับกลางเนื่องจากมีตัว Dual Core ทั้งหลายในปีนี้ ซึ่งมันสะท้อนธรรมชาติของ Android ว่าจะซื้อก็ต้องดูในเรื่องของสเปคเป็นหลักด้วย การซื้อมือถือในระดับกลาง หรือล่างในปี้นั้นๆ มีสิทธิ์ที่จะถูกทิ้งในเรื่องตัวอัพเดทได้สูง เครื่องระดับกลางน่าจะได้รับตัวอัพเดทหลักอีก 1 รุ่น
ข้อดีของการใช้ตัวประมวลผลตัวเดียวนั้นคือ ทำให้เวลาทำการอัพเดทนั้นสามารถทำได้ง่ายเพราะใช้ชิปเดียวกัน ถึงเเม้เครื่องเเต่ละรุ่นจะเเตกต่างกันบ้างตามโมดูลอื่นๆ เช่น ขนาดหน้าจอ กล้อง Bluetooth หรือ Wi-Fi ที่เเต่ละรุ่นต้องอัพเดทไดรเวอร์เพื่อให้เข้ากับตัวอัพเดทใหม่ด้วย การเลือกใช้ชิ้นส่วนเดียวกันถ้าเป็นไปได้ ก็ทำให้ประหยัดเวลาในการพัฒนาไปได้มาก เมื่อเทียบกับมือถือบางเเบรนด์ที่ใช้ตัวประมวลผลที่เเตกต่างกัน ทำให้การ Optimized รอมให้ดีขึ้นทำได้ลำบาก เนื่องจากตัวประมวลผลเเต่ละรุ่นก็มีชุดคำสั่งที่เเตกต่างกัน
การที่ Sony Ericsson เลือกที่จะใช้หน้าตาของ Android ให้เเตกต่างน้อยที่สุดกับของ Stock นั้น นอกจากจะเสียเวลาในการพัฒนาน้อยเเล้ว (ลองคิดเทียบงานที่ต้องพัฒนาเมื่อเทียบกับ HTC Sense หรือเจ้าอื่นดู) ยังทำให้ตัวอัพเดทออกมาได้เร็วอีกด้วย ลองดูตัวอย่างรอม ICS ของ Sony Ericsson นั้นเเทบจะไม่ต่างกับ ICS จาก Google เลย
สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการสำหรับ Android คือตัวอัพเดทใหม่ เร็ว ไม่หน่วง (ถึงเเม้ปัญหาเรื่องหน่วงจะน้อยลงไปมากเเล้วในปีนี้) ตัว Ice Cream Sandwich เองนั้นสวยงามมากพอที่จะไม่ต้องตกเเต่งอะไรเพิ่มเเล้ว ถ้าผู้ผลิตยังยืนกรานในการทำ ?ตัวครอบ? ออกมา ก็ควรจะให้ความสำคัญในการพัฒนารอมมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาหรือในเรื่องการออกเเบบให้ดูเเล้วน่าใช้งานมากกว่าเดิม ไม่ใช่ดูเเล้วเเย่กว่าเดิม
ทางเลือกง่ายๆ สำหรับผู้ผลิตที่กังวลในเรื่องตัวอัพเดท ขอเเค่เพียงนำตัว Stock Android ตัวใหม่ออกมาให้ได้ใช้สำหรับมือถือทุกรุ่นที่ออกมาสำหรับการอัพเดทใหม่ทุกครั้ง การที่ผู้ผลิตบอกว่าการใช้ Stock Android จะทำให้สินค้าตัวเองไม่มีจุดขาย โดยยกตัวอย่างเรื่อง Local Brand ที่เน้นสเปคเเละใส่สเปคมาสูงๆ เป็นการทำลายเเบรนด์นั้นเป็นเพียงมายาคติของตนเองเท่านั้น
ถ้าการบอกว่าทำตัวครอบเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเเล้ว ก็ต้องดูว่าตัวครอบนั้นมันทำให้สินค้าดูดีขึ้น หรือเเย่ลงด้วย
ถ้าสถานการณ์ตรงนี้ไม่ดีขึ้น ผู้บริโภคมีทางเลือกไม่มากนัก เท่าที่ทำได้คือ
1. เลือกซื้อเครื่องโดยดูจากตัวประมวลผลไว้ก่อน ตัวไฮเอนด์หรือตัวท็อปมักจะได้รับตัวอัพเดทก่อนเสมอ (ส่วนใหญ่จะได้ Major Update สองรอบ อย่าง HTC Desire, Samsung Galaxy S ได้ 2.2 เเละ 2.3)
2. เลือกดูตามประวัติการปล่อยตัวอัพเดทของผู้ผลิต อย่างของ Sony Ericsson มีเเนวทางที่ชัดเจนมากอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ในส่วนของ HTC เเละ Samsung เครื่องระดับ Hi end หรือ Flagship (HTC Sensation, Samsung Galaxy S II) จะได้รับตัวอัพเดทเเน่นอน ส่วนเครื่องรองๆ ก็รองรับเเต่อาจจะช้าหน่อย(ถึงมาก)
3. เลือกเครื่องตระกูล Nexus เพราะได้ตัวอัพเดทจาก Google โดยตรง อุ่นใจได้ในระดับหนึ่ง (เเต่ Nexus One ก็ไม่ได้ตัวอัพเดทเนื่องจากซีพียูต่ำเกินไป เป็นข้อจำกัดทางฮาร์ดเเวร์)
4. ดูเครื่องจากรอมโม อย่างเช่นตามบอร์ด XDA-Developers หรือ CynaogenMod เครื่องที่บอร์ดเหล่านี้มีความเคลื่อนไหวมากเเละมีรอมให้เลือกใช้เยอะจะมีโอกาสโดนทิ้งได้น้อย เเต่ต้องมีความกล้าได้กล้าเสียเเละความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ในระดับหนึ่ง (ภาษาอังกฤษเเข็งพอตัวจะดีมาก)
นอกจากว่าจะมีเเนวโน้มว่าผู้ผลิตจะเริ่มนำให้ตัวเลือกว่าจะใช้เเบบ Stock การเลือกใช้ Android โดยไม่ให้โดนทิ้งเรื่องตัวอัพเดทก็ต้องใช้ความรู้เเละติดตามข่าวคราวเป็นระยะครับ