แม้จะเปิดจำหน่ายในไทยช้าไปซักเล็กน้อย สำหรับตัวของ LG Optimus G ที่ช่วงเปิดตัวครั้งแรกได้รับความสนใจมาก เพราะเป็นสมาร์ทโฟนที่เลือกใช้ชิปประมวลผล Snapdragon S4 Pro (Quad-core) และการเชื่อมต่อ LTE เป็นตัวแรกของตลาด ส่งผลให้ขึ้นแท่นเป็นสมาร์ทโฟนที่แรงที่สุดของโลกในช่วงเวลาหนึ่งเลยทีเดียว ทาง SpecPhone เราก็ไม่พลาดที่จะมารีวิวให้ทุกท่านได้ชมกัน (แม้ว่าเครื่องจะมาช้าไปซักนิดก็ตาม) เรามาชมกันเลยดีกว่าครับ
สเปค LG Optimus G
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon S4 Pro (APQ8064) Quad-core ความเร็ว 1.5 GHz มาพร้อมชิปกราฟิก Adreno 320
- RAM 2 GB
- หน้าจอพาเนล IPS ขนาด 4.7 นิ้ว ความละเอียด 1280 x 720 มาพร้อมเทคโนโลยี True HD IPS+ ที่ช่วยให้ภาพสวยสมจริง และความสว่างจอที่ดี
- พื้นที่หน่วยความจำ 32 GB ไม่มีช่อง microSD
- กล้องหลังความละเอียด 13 MP กล้องหน้าความละเอียด 1.3 MP
- มาพร้อม Android 4.1.2 และ UI แบบ Optimus เวอร์ชัน 3.0
- แบตเตอรี่แบบ Li-polymer ความจุ 2100 mAh
- รุ่นโค้ดเนม E975 จะรองรับ 3G เฉพาะคลื่น 900/2100 ส่วน E975K จะรองรับทุกความถี่ ยกเว้น 2100 MHz
- น้ำหนัก 145 กรัม
- ราคา 17,900 บาท
- สเปค LG Optimus G เต็มๆ
ซึ่งในด้านของสเปคแล้วจะถือว่า LG Optimus G เป็นฝาแฝดของ Nexus 4 ก็ไม่ผิดนัก จะต่างกันก็ตรงที่ Optimus G มีกล้องความละเอียดสูงกว่า, จอสวยกว่า รวมไปถึงบางจุดที่เหนือกว่า Nexus 4 อย่างชัดเจน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนัก เพราะ LG ก็คงอยากให้ Optimus G ขายดีกว่า (เพราะ Nexus 4 นั้นต้องแบ่งกำไรส่วนหนึ่งให้ Google ด้วย ผิดกับ Optimus G ที่ LG รับกำไรเต็มๆ) จึงได้จัดเต็มด้านฟีเจอร์มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด
ตัวกล่องเป็นกระดาษแข็งสีขาว มีลวดลายสะท้อนแสงอยู่ ซึ่งก็ตรงกับการออกแบบของตัวเครื่องที่ใช้ลวดลายสะท้อนแสงเช่นกันอุปกรณ์ในกล่องก็ให้มาเป็นแบบพื้นฐานครับ คืออะแดปเตอร์, สาย Micro USB, หูฟัง Quadbeat ที่ให้เสียงในระดับคุณภาพดีเลยทีเดียว แล้วก็เอกสารคู่มือต่างๆ ตามปกติ
ลักษณะหน้าตาของตัวเครื่องจะออกเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน ใช้ขอบข้างจอเป็นอะลูมเนียมเพื่อเพิ่มความสวยงามและขับให้ตัวเครื่องด้านหน้าดูเด่นขึ้นมา ผิวหน้า(และหลังเครื่อง)ใช้เป็นกระจก Gorilla Glass 2 ที่มีคุณสมบัติป้้องกันรอยขีดข่วนได้ดี ทำให้สามารถใช้งานทั่วไปได้แม้ไม่ติดฟิล์มกันรอย นอกจากนี้ยังมาพร้อมคุณสมบัติ Zero Gap Touch ซึ่งจะลดความหนาของชั้นกระจกลง ทำให้รับสัมผัสจากผู้ใช้ได้ดีขึ้น
ด้านบนของจอจะมีโลโก้ LG เด่นอยู่ตรงกลาง ถัดขึ้นไปจะเป็นลำโพงสนทนาที่อยู่เป็นแนว ชิดของเครื่อง จุดสีดำด้านซ้ายสองจุดนั้นคือเซ็นเซอร์รับแสงสว่างจากภายนอก ส่วนที่เป็นจุดวงกลมสีขาวด้านขวาคือกล้องหน้าครับ ซึ่งตำแหน่งของจุดต่างๆ ในส่วนนี้จะเป็นรูปแบบเดียวกับ Nexus 4 เป๊ะเลย เว้นแต่โลโก้ LG ที่ไม่มีใน Nexus 4
ส่วนด้านล่างนั้นจะเป็นตำแหน่งของปุ่มสั่งงานทั้งสามปุ่ม คือ Back, Home และ Menu ที่เป็นปุ่มแบบ Capacitive โดยไฟจะติดขึ้นมาในระหว่างการใช้งาน (หรือตามแต่การตั้งค่าว่าจะให้ติดนานกี่วินาที) ส่วนการจะเรียกดู Recent App นั้น ให้ใช้การกดปุ่ม Home ค้างไว้
ด้านของหน้าจอนั้น เป็นหนึ่งในจุดที่ LG หยิบมาใช้โฆษณา เนื่องด้วยการใช้งานเทคโนโลยี True HD IPS+ ที่ช่วยให้จอมีสีสันสดใส เป็นธรรมชาติและให้มุมมองที่กว้างตามแบบฉบับของพาเนล IPS รวมถึงความสว่างจอที่ทำออกมาได้ดีมาก สามารถใช้งานกลางแจ้งได้อย่างไม่มีปัญหา แถมยังกินแบตเตอรี่น้อยกว่า ซึ่งเรื่องของคุณภาพจอนี่เอง ที่เป็นจุดเด่นเหนือกว่าฝาแฝดอย่าง Nexus 4 โดยจากเท่าที่ LG ทำการสำรวจและวิเคราะห์ออกมา พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ให้ความพึงพอใจกับคุณภาพจอเทคโนโลยี True HD IPS+ ของ LG มากกว่าจอของมือถือรุ่นอื่นๆ ซึ่งส่วนตัวผมเอง หลังจากได้ลองใช้งานดู ก็รู้สึกชอบนะ สีสันดีเลยล่ะ
มาดูด้านหลังกันต่อ พื้นผิวโดยรวมก็จะรู้สึกเรียบๆ เนื่องจากใช้กระจก Gorilla Glass 2 ปิดเป็นฝาหลังไปเลย โดยใต้กระจกก็จะซ่อนลายสะท้อนแสงแบบ glister เอาไว้ ต้องส่องให้สะท้อนกับแสงจึงจะเห็น ซึ่งช่วยเพิ่มความหรูหราและความโดดเด่นขึ้นมาเหนือรุ่นอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด และเราก็น่าจะได้เห็นการออกแบบในลักษณะเดียวกันนี้กับสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ ของ LG ในปีนี้ด้วย
ด้านบนนั้น จะเป็นตำแหน่งของกล้องหลัง ความละเอียด 13 MP ที่จัดว่าเป็นความละเอียดระดับสูงของสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน มีขัอสังเกตเล็กน้อยก็คือกระจกปิดหน้ากล้องจะนูนขึ้นมาจากฝาหลังพอสมควร ทำให้จุดนี้ต้องให้ความระมัดระวังในการใช้งานเพิ่มขึ้นด้วยครับ เพราะถ้าหากวางเครื่องโดยให้ฝาหลังนาบไปกับพื้น ก็มีโอกาสที่บริเวณกระจกปิดหน้าเลนส์ได้รับรอยขีดข่วนไปบ้างถ้าใช้ไปนานๆ ส่วน LED แฟลชนั้นถูกฝังไปในตัวเครื่องเลย จึงไม่น่ากังวลเท่าไร
ลงมาด้านล่างจะพบกับเหล่าโลโก้รับรองและก็บาร์โค้ดของเครื่อง ใกล้ๆ กันนั้นเป็นช่องลำโพงซึ่งเป็นช่องลึกลงไปจากฝาหลัง ซึ่งเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์การออกแบบของ LG ที่มักให้ช่องลำโพงอยู่บริเวณจุดนี้ของตัวเครื่องหลายๆ รุ่น และแน่นอนว่าข้อจำกัดก็จะเหมือนๆ กัน นั่นคือถ้าวางฝาหลังนาบไปกับพื้น จะทำให้เสียงจากลำโพงถูกกลบหายไปมาก ส่งผลให้ทั้งความดังและคุณภาพเสียงหายไป ซึ่งอาจจะส่งผลมากเวลาที่ริงโทนหรือเสียงแจ้งเตือนดังขึ้น แล้วกลายเป็นว่าเราไม่ได้ยิน เนื่องจากเสียงถูกกลบไป
อันที่จริง ในมือถือของ LG รุ่นก่อนหน้านี้อย่าง Optimus VU เอง ได้มีการออกแบบเพื่อลดปัญหานี้ลงด้วยการเพิ่มจุดนูนเล็กๆ ขึ้นมาบริเวณลำโพง ช่วยยกลำโพงให้สูงขึ้นจากพื้นเล็กน้อย เพื่อให้เสียงสามารถกระจายออกมาได้ดีขึ้น แต่พอมาใน Optimus G (รวมถึง Nexus 4) ปรากฏว่าจุดนี้หายไป ทำให้ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการใช้งานขึ้นมาชัดเจนกว่าปกติ ดังนั้นวิธีการแก้ไขระหว่างใช้งานที่ดีที่สุดก็คือการวางมือถือคว่ำหน้าลงไปกับพื้นครับ น่าจะเป็นวิธีการใช้งานที่ดีที่สุด (และดูแล้วมันน่าจะถูกออกแบบมาให้วางแบบนี้ด้วย)
ส่วนเสียงที่ได้จากลำโพงของ LG Optimus G นั้น ก็จัดว่าธรรมดา ไม่มีจุดเด่นอะไร
ต่อกันที่ด้านข้าง เริ่มด้วยแถบบนเครื่อง จะมีช่องรับเสียงของไมค์ตัดเสียงรบกวน ส่วนฝั่งเยื้องไปทางซ้าย (เมื่อหันจอเข้าหาตัว) จะเป็นช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร
ส่วนแถบล่างนั้นจะมีช่อง Micro USB อยู่ตรงกลาง ใกลๆ กันเป็นช่องรับเสียงของไมค์สนทนา ความชัดเจนของเสียงระหว่างการใช้โทรศัพท์ก็โอเคดีครับ ส่วนตรงสุดขอบทั้งสองด้านนั้น จะเป็นน็อตสำหรับยึดเครื่อง
ด้านขวาของเครื่องจะมีปุ่ม Power อยู่ ซึ่งวางไว้ตรงตำแหน่งของนิ้วหัวแม่มือพอดี (ถ้าถือเครื่องไว้ในมือขวา) ทำให้สะดวกกับการใช้งานมากทีเดียว
ส่วนด้านซ้ายก็จะมีปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงอยู่ในตำแหน่งของปลายนิ้วชี้พอดี (เมื่อวางเครื่องไว้ในมือขวา) ถัดลงมาเล็กน้อยจะเป็นถาดใส่ไมโครซิม ที่ต้องใช้เข็มแทงลงไปในช่อง จึงจะดึงถาดซิมออกมาได้ (สามารถใช้เข็มของ iPhone ได้)
ภาพถ่ายจากกล้อง LG Optimus G
ภาพที่ถ่ายออกมาจากกล้องของ LG Optimus G นั้นจัดว่าธรรมดาๆ ครับ
ฟีเจอร์และการทำงานที่น่าสนใจของ LG Optimus G
? | |
?? | |
? |
ปัจจุบัน LG Optimus G รองรับรอมศูนย์ได้ถึงเวอร์ชัน 4.1.2 และน่าจะรองรับการอัพเดตเพิ่มเติมในอนาคตอีก อันเนื่องมาจากสเปคเครื่องนั้นเป็นแบบเดียวกับ Nexus 4 ที่เป็นเครื่อง reference ของ Google เอง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าทาง LG จะปล่อยออกมาให้อัพเดตเมื่อไรครับ
ส่วนในการใช้งาน ถ้า kill app จนหมด เหลือแต่ส่วนที่ทำงานเบื้องหลังพบว่าจะยังมีแรมเหลือให้ใช้งานอีกเกือบๆ 1 GB (ระบบกินไป 1 GB) ซึ่งก็เพียงพอต่อการทำงานทั่วไปอยู่แล้ว ด้านของการเชื่อมต่อนั้นก็รองรับครบแทบจะทุกรูปแบบของสมาร์ทโฟนในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น WiFi, Bluetooth, NFC, Miracast (สำหรับสตรีมภาพไปยังทีวีแบบไร้สาย) รวมไปถึงรองรับการทำ WiFi Tethering เช่นเดียวกับสมาร์ทโฟนแทบทุกรุ่นในตลาดตอนนี้
อีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจก็คือมีระบบ Power Saver ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถปรับการทำงานของเครื่องให้กินแบตเตอรี่น้อยลงได้ จุดประสงค์ก็เพื่อทำให้สามารถใช้งานแบตเตอรี่ได้ยาวนานขึ้น ซึ่งหนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจก็คือ Quad core control ที่สามารถเปิด/ปิดระบบจัดการการควบคุมการทำงานของ CPU เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะงาน ซึ่งจะช่วยยืดระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ขึ้นด้วย โดยจากเท่าที่ลองใช้งาน ก็พบว่าสามารถใช้งานทั่วๆ ไป ใช้บ้าง พักบ้าง ก็สามารถอยู่ได้เกินวันแบบสบายๆ
ตัว LG Optimus G มีอยู่หนึ่งฟีเจอร์ที่เป็นจุดเด่นของเครื่องก็คือ QSlide ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานแอพได้พร้อมกันมากกว่า 1 แอพบนหน้าจอ ซึ่งแอพที่ว่าเหล่านั้นจะเป็นในรูปแบบของ small app คล้ายๆ กับพวก widget บนจอ ตัวอย่างแอพที่ใช้งานเป็น QSlide ได้ก็คือ Videos, Web Browser, Memo สำหรับจดบันทึก, ปฏิทิน และเครื่องคิดเลข
การเรียกใช้งานก็สามารถเรียกออกมาได้จากแถบ Notifications ตามภาพด้านซ้าย เมื่อคลิกเลือกมาแล้ว แอพก็จะปรากฏขึ้นบนหน้าจอ โดยสามารถเลือกมาใช้งานได้ 2 แอพพร้อมกัน ส่วนจุดเด่นที่ทำให้ได้ชื่อว่า QSlide นั้นก็คือตรงแถบเลื่อนด้านบนของแอพ ผู้ใช้สามารถเลือกปรับการทำงานว่าจะให้แอพนั้นทำงาน (active) หรือรันไว้เบื้องหลัง (inactive) โดยถ้าเลื่อนให้แอพจางลง ก็คือให้ inactive ไป ส่วนถ้าจะใช้งาน ก็ให้เลื่อนแถบมาทางขวาสุด ซึ่งแอพก็จะสว่างขึ้นมาครับ โดยพวกแอพ QSlide นี้ จะลอยเหนือทุกๆ แอพที่ทำงานอยู่ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเรียกขึ้นมาใช้ได้ตลอด เมื่อใช้เสร็จแล้ว จะปรับให้จางลงก็ยังได้ ตัวอย่างสถานการณ์ก็เช่น เราอาจจะเล่น Facebook อยู่ แต่มีเพื่อนอยากนัดหมายล่วงหน้า เราก็สามารถเรียกปฏิทินขึ้นมาดูวันที่ได้โดยไม่ต้องปิด Facebook ลง รวมไปถึงยังสามารถจดโน๊ตลงใน Memo ได้พร้อมๆ กันด้วย จุดนี้น่าจะเป็นที่ถูกใจคนที่ต้องทำงานกับแอพหลักหลายๆ แอพพร้อมกันครับ ส่วนประสิทธิภาพของเครื่องนั้น ก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ถือว่าทำระบบมาได้ดีทีเดียว ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะชิปประมวลผลที่ใช้เป็นชิป Quad-core รุ่นท็อปๆ ซึ่งมีกำลังการทำงานเหลือเฟือ ส่วนที่ว่า QSlide จะไปลงในมือถือ LG รุ่นอื่นหรือไม่ อันนี้ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันครับ เพราะพวก small app เหล่านี้ ปัจจุบันยังมีอยู่แต่ในเครื่องรุ่นท็อปแทบทั้งนั้น (ยกเว้น ASUS Fonepad ที่ใช้ชิป Intel Atom ซึ่งกำลังการประมวลผลค่อนข้างดีอยู่แล้ว)
ด้านของคีย์บอร์ดเดิมๆ ที่ติดเครื่องมานั้น ปุ่มภาษาไทยจะดูไม่ค่อยคุ้นตาเท่าไรครับ วิธีการใช้ก็คือให้กดย้ำๆ ไปบนปุ่ม จนกว่าจะเจอตัวอักษรที่ต้องการ ซึ่งหลักการมันก็คล้ายๆ กับมือถือฟีเจอร์โฟนที่ไม่มีคีย์บอร์ดแบบ QWERTY นั่นเอง ส่วนใครที่ไม่ถนัดก็สามารถดาวน์โหลดคีย์บอร์ดแบบอื่นมาใช้งานได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้คีย์บอร์ดของ LG เองมาพร้อมการรองรับการเขียนแล้วแปลงเป็นตัวอักษรด้วย
ผลทดสอบประสิทธิภาพ
Sunspider (หน่วยเวลาเป็น ms ยิ่งน้อยยิ่งดี)
Sunspider เป็นการทดสอบประสิทธิภาพการประมวลผลชุดคำสั่ง Javascript บนเว็บเบราเซอร์ โดยจะวัดผลออกมาเป็นเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการประมวลผล ซึ่ง LG Optimus G ทำเวลาออกมา 2,329 ms จัดว่าไม่ค่อยดีนักเมื่อเทียบกับรุ่นอื่นๆ ที่ใช้ชิปประมวลผลรุ่นเดียวกัน
Browsermark (หน่วยเป็นคะแนน ยิ่งมากยิ่งดี)
ส่วน Browsermark นั้นเป็นการทดสอบการประมวลผลชุดสคริปต์ CSS และการเรนเดอร์กราฟิกบนเว็บเบราเซอร์ ซึ่งใช้พลังของ CPU ผลออกมาก็คือ LG Optimus G ทำได้อยู่ในเกณฑ์เดียวกับเครื่องรุ่นอื่นๆ ที่ใช้ชิปรุ่นเดียวกันครับ เหนือกว่า HTC Butterfly เล็กน้อย
GLBenchmark 2.5 On-screen (หน่วยเป็นเฟรมเรต ยิ่งมากยิ่งดี)
GLBenchmark 2.5 Off-screen (หน่วยเป็นเฟรมเรต ยิ่งมากยิ่งดี)
ส่วนโหมด Off-screen นั้น เป็นการทดสอบเรนเดอร์แบบบังคับให้รันที่ความละเอียด 1080p ดังนั้นจึงสามารถนำปริมาณเฟรมเรตของแต่ละเครื่องมาเทียบกันได้โดยตรง ผลก็คือ Optimus G สามารถรีดได้ 26 fps เกาะกลุ่มอยู่ในช่วงเดียวกับที่ Adreno 320 ในเครื่องรุ่นอื่นๆ ทำได้ แต่อาจจะได้เฟรมเรตน้อยกว่านิดหน่อยครับ
3DMark
Geekbench
สรุปปิดท้ายรีวิว
LG Optimus G นั้น ถือว่าเป็นสมาร์ทโฟนตัวท็อปของ LG ที่สามารถสู้กับแบรนด์อื่นๆ ได้ เนื่องด้วยสเปคที่ถือว่าจัดเต็ม (ในขณะนี้) ประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมที่ไหลลื่นในเกณฑ์ดีและรองรับการใช้งานไปอย่างต่ำได้อีก 1-2 ปีสบายๆ รวมไปถึงฟีเจอร์เสริมอย่างเช่น QSlide ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเรียกใช้งานแอพเสริมการทำงานได้ตลอดเวลาที่ใช้งานอยู่ หรือจะเป็นเรื่องดีไซน์ที่จัดว่าทำออกมาได้ดีตามฉบับของ LG ที่มักทำเรื่องการออกแบบมาได้ดูหรูหราอยู่แล้ว ด้านของราคาเครื่องศูนย์ล่าสุดก็ลงมาอยู่ที่ 17,900 บาทเท่านั้น ถือว่าน่าจับจองมาเป็นเจ้าของไม่น้อยทีเดียว เมื่อเทียบกับตัวท็อปรุ่นอื่นๆ ที่โดยมากจะมีราคาตั้งแต่ 20,000 บาทเป็นต้นไป น่าเสียดายที่เข้ามาจำหน่ายในไทยช้าไปหน่อย ทำให้ถูกรุ่นอื่นแย่งตลาดไปซะเยอะ ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นหนึ่งในมือถือที่น่าสนใจมากทีเดียว
ข้อดี
- QSlide สามารถใช้งานได้ดี ช่วยอำนวยความสะดวกได้จริง
- จอสว่าง คมชัด สีสันสดใสดีมาก เป็นหนึ่งในจอที่ดีของสมาร์ทโฟนในขณะนี้
- ปุ่มกดข้างตัวเครื่องวางตำแหน่งมาได้ดี ใช้งานง่าย
- ราคาดี ค่อนข้างคุ้มค่า
ข้อสังเกต
- กล้องหลังที่นูนจากฝาหลังมากไปนิด กับลำโพงที่อาจถูกบังมิด ถ้าวางเครื่องหงายกับพื้น
- ผลทดสอบประสิทธิภาพเป็นรอง Nexus 4 ที่เป็นฝาแฝดกัน (รวมถึงรุ่นอื่นที่ใช้สเปคใกล้เคียงกัน) ในทุกๆ การทดสอบ