เมื่อไม่นานมานี้ ทาง ASUS ไทยได้นำชุดโทรศัพท์มือถือที่เพียบพร้อมทั้งการเป็นสมาร์ทโฟนและเป็นแท็บเล็ตอย่าง ASUS Padfone เข้ามาจำหน่ายในไทย ซึ่งก็สร้างความสนใจในตลาดได้พอสมควร เนื่องด้วยความแปลกใหม่ของตัวผลิตภัณฑ์ เนื่องจากมีจุดเด่นที่สามารถใช้งานเป็นได้ทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในชุดเดียว ไม่จำเป็นต้องแยกซิมเพื่อใช้งาน
ซึ่งต่อมาไม่นาน ทาง ASUS ก็ได้เปิดตัว ASUS Padfone 2 ซึ่งเป็นตัวต่อยอดมาจากรุ่นแรก ที่ยังคงคอนเซ็ปท์เดิมนั่นคือสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามลักษณะการใช้งาน โดยมีการปรับเปลี่ยนทั้งรูปร่างหน้าตาบางส่วน และทั้งด้านอุปกรณ์ภายใน และที่สำคัญคือจะเริ่มวางขายในอีกไม่นานนี้แล้วด้วย เรียกได้ว่า Padfone รุ่นแรกเพิ่งจำหน่ายได้ไม่นาน ก็มีรุ่นสองมาให้หาซื้อกันต่อเลย ซึ่งก็แน่นอนว่าน่าจะมีคำถามเกิดขึ้น ว่า Padfone 2 มันดีกว่ารุ่นแรกอย่างไร ดังนั้นทาง SpecPhone เราก็เลยจัดการจับ ASUS Padfone 2 มาพรีวิวให้ชมกันคร่าวๆ ครับ ไปดูกันเลย
ตัวของ ASUS Padfone 2 นั้นก็ยังยึดหลักการออกแบบเดิมอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นครับ นั่นคือฮาร์ดแวร์ส่วนที่ประมวลผลจริงๆ จะอยู่ที่ตัวสมาร์ทโฟน ดังนั้นถ้าจะใช้งาน Padfone ในโหมดแท็บเล็ต ก็ต้องนำตัวมือถือเสียบเข้าไปที่ช่องของแท็บเล็ตเท่านั้น โดยในด้านของสเปกเครื่องคร่าวๆ ก็มีดังนี้
- ชิปประมวลผล?Qualcomm Snapdragon S4 Pro APQ8064 แบบ Quad-core ความเร็ว 1.5 GHz ที่เป็นชิประดับท็อปๆ ในขณะนี้เลย มาพร้อมชิปกราฟิก Adreno 320
- RAM 2 GB
- พื้นที่หน่วยความจำในเครื่องมีให้เลือกทั้ง 16, 32 และ 64 GB (ไม่มีช่องใส่ microSD เพิ่ม)
- จอตัวมือถือเป็นแบบ IPS+ ขนาด 4.7″ ความละเอียด 1280 x 720 ความหนาแน่นเม็ดพิกเซล 312 ppi
- จอตัวแท็บเล็ตเป็นแบบ IPS ขนาด 10.1″ ความละเอียด 1280 x 800?
- Android 4.0.4 Ice Cream Sandwich รองรับการอัพเดตเป็น Jelly Bean
- กล้องหลังความละเอียด 13 MP กล้องหน้าความละเอียด 1.2 MP
- ใช้ซิมแบบ microSIM รองรับ 3G ทุกเครือข่าย และรองรับ 4G LTE ด้วย
- มี NFC
- แบตเตอรี่ตัวมือถือความจุ 2,140 mAh
- แบตเตอรี่ตัวแท็บเล็ตความจุ 5,000 mAh 19 Whr
- ราคาสุดท้ายยังไม่ออก (29/11/55)
ตัวของแท็บเล็ตนั้น ด้านหน้าก็ยังคงใช้กระจกเช่นเดิม ตรงมุมบนซ้ายในแนวนอนมีโลโก้ ASUS ส่วนตรงกลางเหนือจอก็เป็นตำแหน่งของกล้องหน้าและเซ็นเซอร์วัดแสง
ตัวส่วนของแท็บเล็ตนั้น หน้าตาของจอจะคล้ายๆ กับ Padfone รุ่นแรกครับ เพียงแต่คราวนี้ปรับส่วนขอบเครื่องซ้าย/ขวาให้เป็นกระจกชิ้นเดียวกับกรอบจอไปเลย
แต่ส่วนของด้านหลังนี่ละครับ ที่แตกต่างจาก Padfone รุ่นแรกอย่างเห็นได้ชัด โดยได้มีการตัดฝาปิดมือถือออกไป ทำให้เวลาเสียบตัวมือถือใช้งานกับแท็บเล็ต (มีชื่อว่า Padfone Station) จะไม่มีอะไรปิดบังมือถืออีกต่อไป ซึ่งการตัดฝาปิดออกไปนี้ ช่วยทำให้ขนาดตัวเครื่องโดยรวมมีความบางลงไปพอสมควร อีกทั้งยังสะดวกต่อการใช้งานกว่าเก่าอีกด้วย อีกทั้งยังเปลี่ยนแนวของช่องเป็นแนวตั้งอีก ซึ่งก็สอดคล้องกับตำแหน่งพอร์ตเชื่อมต่อของตัวมือถือ เรียกว่าเป็นการปรับดีไซน์ที่ทำให้สะดวกต่อการใช้งานจริงหลายๆ ด้านมากขึ้นครับ นับว่าดีเลยตรงจุดนี้ ส่วนวัสดุหลักของฝาหลังก็เป็นพลาสติกเนื้อแข็งดีทีเดียว ให้ความมั่นคงในเวลาจับ แต่ก็อาจมีปัญหาเรื่องคราบรอยนิ้วมืออยู่บ้างเหมือนกัน
ส่วนองค์ประกอบต่างๆ ของด้านหลังที่น่าสนใจก็มีดังนี้
- ปุ่มล็อกเครื่องอยู่ตรงมุมซ้ายบนของเครื่อง (หันจอเข้าหาตัว)
- ปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง รวมไปถึงลำโพงติดตั้งอยู่ทางซ้ายของเครื่องเช่นกัน โดยอยู่ถัดลงมาจากปุ่มล็อกเครื่องเล็กน้อย
- ไมค์หลังอยู่ทางฝั่งขวา
- ด้านล่างเป็นช่องสำหรับเสียบสาย microUSB สำหรับชาร์จไฟ ซึ่งสายที่ ASUS ให้มาจะมีการเพิ่มส่วนของโลหะครอบพอร์ตให้ยาวออกมาอีกเล็กน้อย คาดว่าใช้สำหรับช่วยให้เสียบติดกับพอร์ตที่เครื่องได้แน่นหนาขึ้น แต่ทั้งนี้ผู้ใช้ก้สามารถใช้สาย microUSB แบบปกติมาเสียบได้เช่นเดิม (แต่สายของ Padfone 2 เอาไปเสียบเครื่องอื่นไม่ได้เลย)
ผิวสัมผัสของช่องใส่มือถือจะเป็นแบบเรียบลื่น สามารถสอดตัวเครื่องเข้าไปได้ง่ายและไม่บาดจอของเครื่อง โดยเมื่อใส่เข้าไปแล้ว จะพบว่าตัวโทรศัพท์จะนูนขึ้นมาจากหลัง Padfone Station เล็กน้อย ส่วนใครที่กลัวว่า Padfone จะหลุดจาก Padfone Station ง่ายขนาดไหน ตรงจุดนี้ไม่ต้องกังวลเลยครับ เพราะเอาจริงๆ แล้วมันยึดไว้ค่อนข้างแน่นทีเดียว ถ้าเสียบเครื่องเข้าไปสุด ไม่เหวี่ยงแรงๆ ถี่ๆ รับรองว่าเครื่องไม่หลุดออกมาแน่นอน
ขนาดของ Padfone 2 เมื่อเทียบกับ iPad mini ครับ
ด้านในของช่องเชื่อมต่อระหว่างมือถือ Padfone 2 กับ Padfone Station นั้น ใช้การเชื่อมต่อผ่านทางพอร์ต microUSB ที่มีการดัดแปลงเพิ่มชุดล็อกเข้ามา ทำให้สามารถยึดตัวเครื่องไว้ด้วยกันได้ค่อนข้างแน่นหนา
มาดูกันที่ตัวมือถือ Padfone 2 กันบ้าง หน้าตาก็มีการปรับเปลี่ยนจากรุ่นเก่าไปเล็กน้อยเท่านั้น โดยยังคงสไตล์แบบเรียบหรูไว้อย่างเดิม ปุ่มกดสั่งงานเป็นปุ่มแบบ capacitive ซึ่งเป็นไฟติดขึ้นมาขณะใช้งาน?จอของตัวเครื่องก็จัดว่าเป็นจอที่ดูดี ให้สีสันสวยงาม สมกับที่เป็น IPS+ อย่างที่ ASUS โฆษณา
(รีวิว ASUS Padfone รุ่นแรก)?
ด้านหลังเป็นส่วนที่ได้รับการปรับปรุงจากรุ่นเดิมเล็กน้อยคือในเรื่องของพื้นผิว ที่แม้จะยังเป็นวงๆ อยู่เหมือนเดิม แต่ดูเหมือนจะไม่นูนขึ้นมามากเท่ารุ่นก่อนหน้า ความรู้สึกในการจับไม่ต่างกันมากครับ ออกจะลื่นๆ มือบ้างในการใช้งาน แต่เวลาสะท้อนกับแสงนั้นจัดว่าสวยไม่น้อยเลย เพราะจะสะท้อนแสงเป็นเงาๆ ออกมา ดูพรีเมี่ยม ซึ่งการออกแบบในส่วนนี้ก็ได้แนวคิดมาจากในกลุ่มสินค้าโน้ตบุ๊กของ ASUS เองอย่างตระกูลของ Zenbook
ด้านข้างของตัวเครื่องก็ยังคงคล้ายๆ รุ่นแรก นั่นคือใช้ขอบสีเทารูปลิ่ม ที่ทำให้ดูเหมือนว่าตัวเครื่องบางเฉียบ ซึ่งดูแล้วสวยโฉบเฉี่ยวเช่นเดิม แต่จุดที่น่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขก็คือตรงส่วนใกล้ๆ ปลายลิ่ม จะมีรอยอย่างเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นรอยต่อและเชื่อมต่อกันดูไม่ค่อยเนียนตานัก ทางที่ดีน่าจะใช้เป็นวัสดุชิ้นเดียวไปเลย หรือไม่ก็หาอะไรมาติดคั่นกลางไปเลยน่าจะดีกว่าครับ
ส่วนตัวพอร์ตเชื่อมต่อนั้น อาจจะมองว่าแปลกๆ เล็กน้อย แต่นั่นก็คือพอร์ต microUSB ครับ ส่วนด้านข้างนั้นน่าจะใช้สำหรับล็อกตัวเครื่องให้ติดแน่นกับ Padfone Station ปิดท้ายด้วยตัวเครื่องด้านบนที่มีช่องใส่ซิมการ์ด ส่วนตรงกลางเป็นช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร
ด้านของน้ำหนักนั้น เมื่อลองชั่งดูแล้วพบว่าตัวของมือถือ Padfone 2 มีน้ำหนักอยู่ที่ราวๆ 135 กรัม ซึ่งหนักกว่า Padfone รุ่นแรกอยู่เล็กน้อย (รุ่นแรกหนัก 129 กรัม) ส่วนน้ำหนักเมื่อรวมกับ Padfone Station แล้วอยู่ที่ราวๆ 640 กรัม ซึ่งเบากว่า Padfone รุ่นแรกที่ชั่งรวมกันแล้วมีน้ำหนักถึง 724 กรัม (iPad หนักราว 650 กรัม)
ส่วนด้านล่างนี้เป็นภาพเทียบระหว่าง Padfone 2 กับ iPhone 5 ครับ
ต่อมาเป็นจุดของซอฟต์แวร์ที่น่าสนใจของ ASUS Padfone 2 ครับ
นั่นก็คือ Padfone Station ?Assistant ที่เป็นตัวช่วยจัดการการใช้พลังงานของเครื่อง เช่นการตั้งค่าการพุชอัพเดตต่างๆ หรือจะเป็นการตั้งค่าการใช้งานแบตเตอรี่ของตัว Padfone Station ก็สามารถทำได้ด้วย สามารถใช้งานได้เฉพาะใช้งานเป็นแท็บเล็ตอยู่ โดยมีให้ใช้สามโหมด ได้แก่
- Intelligent mode – ระบบจะจัดการการใช้พลังงานเอง
- Phone prefered mode – ในขณะใช้งาน ตัวมือถือจะใช้ไฟจากแท็บเล็ตเท่านั้น
- Power pack mode – ใช้งานแท็บเล็ตเป็นเพียงแบตสำรองสำหรับชาร์จไฟให้มือถือเท่านั้น โดยถ้าใช้งานโหมดนี้ เราจะไม่สามารถใช้งานแท็บเล็ตได้เลย เพื่อให้ระบบนำไฟมาชาร์จให้กับมือถือได้อย่างเต็มที่
สรุปพรีวิว ASUS Padfone 2
ASUS Padfone 2 นี้ จัดว่าเป็นตัวต่อยอดมาจาก ASUS Padfone รุ่นแรก ทั้งในด้านของการออกแบบที่ออกแบบมาให้สามารถใช้งานทั่วๆ ไปได้ง่ายขึ้น แม้ว่าจะไม่แตกต่างจากเดิมอย่างชัดเจน แต่ถ้าเวลาใช้งานจริงจะพบว่ามันง่ายขึ้น สะดวกขึ้น โดยเฉพาะการเสียบแท็บเล็ตเพื่อใช้งานเป็นแท็บเล็ต ส่วนในด้านของประสิทธิภาพ แม้ว่าเราจะไม่ได้ทดสอบแบบเต็มๆ มากนัก แต่เท่าที่ลองทดสอบด้วย SunSpider เพื่อทดสอบพลังการประมวลผลของ CPU ก็พบว่ามันเร็วขึ้นกว่ารุ่นก่อนจริง การใช้งานต่างๆ ก็ไหลลื่น เว้นแต่จะมีกระตุกบ้างบางครั้งเวลาปาดหน้า launcher ไปหน้าอื่น ซึ่งในจุดนี้คงไม่ใช่เป็นเพราะฮาร์ดแวร์แน่ๆ ครับ แต่น่าจะเป็นที่ตัวของ Android 4.0 ที่ติดตั้งอยู่มากกว่า ก็หวังว่าเมื่อได้รับการอัพเดตเป็น Jelly Bean ก็น่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างสบายๆ เพราะตัวฮาร์ดแวร์ภายในนั้นแรงเหลือเฟืออยู่แล้ว
ข้อดี
- น้ำหนักเบา ตัวเครื่องบาง
- สเปกภายในแรง รองรับการใช้งานได้อีกนาน
- เหมาะสำหรับคนที่อยากใช้งานทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต แต่ไม่อยากใช้งานหลายซิมเพื่อใช้ 3G
- การใช้งานโดยรวมจัดว่าง่ายกว่าเดิม
ข้อสังเกต
- ใช้สาย microUSB แบบแปลกๆ
- งานประกอบน่าจะทำได้ดีกว่านี้อีกนิดหนึ่ง
- ไม่มีคีย์บอร์ดแยกมาให้เป็นอุปกรณ์เสริมแล้ว