พรีวิวแท็บเล็ต OTPC รุ่นใหม่ล่าสุด ควบทั้งแท็บเล็ตครูและแท็บเล็ตนักเรียน ม.1

IMG_20140624_102507

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีข่าวคราวว่าโครงการแท็บเล็ต OTPC เพื่อเด็กนักเรียนจะถูกยกเลิกไป เนื่องด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ แต่ทางเรานี้ได้รับเครื่องแท็บเล็ตมาพรีวิวก่อนจะมีข่าวการยกเลิก ก็เลยต้องทำพรีวิวกันซักหน่อยครับ เอาเป็นว่ามาชมกันเพลินๆ ไปแล้วกันกับแท็บเล็ต OTPC รุ่นใหม่ที่จะแยกออกเป็นสองรุ่นย่อยคือรุ่นสำหรับครูผู้สอนและรุ่นสำหรับนักเรียน (มีข้อมูลแจ้งมาว่าสำหรับเครื่องล็อตนี้จะยังมีการส่งมอบกันอยู่ เนื่องจากดำเนินการสั่งซื้อไปเรียบร้อยแล้ว แต่ผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องรอการยืนยันข้อมูลอย่างเป็นทางการอีกทีนะครับ ทางเราก็ทำไปตามเครื่องที่ได้รับมาล่ะนะ ไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับเรื่องภายใน)

IMG_20140624_102513

IMG_20140624_103127

เรามาเริ่มกันที่แท็บเล็ต OTPC สำหรับครูผู้สอนกันก่อน (โมเดล TC08) สำหรับแท็บเล็ตจากครูก็จะมีฟีเจอร์ที่มากกว่าของนักเรียนเล็กน้อย (จะเทียบกันในภายหลัง) สำหรับหน้าตาตัวเครื่องก็เรียกว่าไม่ต่างจากแท็บเล็ตจากจีนทั่วไปเท่าไร ปุ่มสั่งงานจะใช้เป็นปุ่มแบบสัมผัสของตัว Android สำหรับเวอร์ชันของระบบปฎิบัติการก็จะเป็น Android 4.1.1 Jelly Bean หน้าตาเดิมๆ เลย โดยตัวเครื่องจะเป็นของ i-Media นำเข้าและดูแลจัดการโดยบริษัท Supreme Distribution (ประเทศไทย) จำกัด

IMG_20140624_103311

ฝาหลังของตัวเครื่องใช้วัสดุเป็นพลาสติกที่ทำพื้นผิวออกมาให้เหมือนเป็นอะลูมิเนียม ซึ่งส่วนตัวคิดว่าดูดีเอาเรื่องเลย ความแข็งแรง ความแน่นหนาของงานประกอบก็จัดได้ว่าโอเค จะมีก็เรื่องน้ำหนักที่ค่อนข้างหนักไปหน่อย เท่าที่ชั่งคือน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 450 กรัม (เบากว่า iPad Air นิดเดียว) ด้านหลังก็จะเห็นตำแหน่งกล้องและลำโพงชัดเจน ส่วนใครอยากจะแกะฝาหลัง อันนี้คงอดไปนะ

IMG_20140624_102824

ด้านข้างของตัวเครื่องก็จะมีช่อง MicroSD, ปุ่มย้อนกลับ (อันนี้สงสัยว่าให้มาทำไม), ปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง ส่วนริมท้ายสุดก็เป็นปุ่ม Power

IMG_20140624_102833

อีกข้างหนึ่งก็เป็นช่องแจ็ค 3.5 มิลลิเมตร, ช่อง Micro USB ปิดท้ายด้วยช่อง Micro HDMI ส่วนช่องเล็กๆ ตรงริมคือช่องรับเสียงของไมโครโฟนครับ เนื่องด้วยการที่มีช่อง Micro HDMI มาให้ (พร้อมสายในกล่อง) ทำให้ครูผู้สอนสามารถต่อภาพจากในแท็บเล็ตตนเองไปขึ้นยังจอทีวี จอคอมผ่านทางช่อง HDMI ได้ ส่วนถ้าจะให้สะดวกจริงๆ ก็น่าจะรองรับการต่อจอภายนอกแบบไร้สายด้วย (แต่อันนี้คงยากกว่ามาก เพราะต้องมีจอที่รองรับด้วย เอาไว้เป็นโปรเจ็กท์หน้าๆๆๆ แล้วกันนะ)

IMG_20140624_103241

หน้าจอของแท็บเล็ต OTPC ไม่ว่าจะทั้งรุ่นสำหรับครูผู้สอนและนักเรียน จัดว่าอยู่ในระดับพอใช้ได้เท่านั้น มุมมองภาพไม่กว้างนัก กระจกหน้าจอสะท้อนแสงมากๆ ถ้าใช้งานกลางแจ้งหรือใช้ในบริเวณที่มีแสงไฟตกกระทบจอ น่าจะสร้างความลำบากในการใช้งานได้ไม่น้อย ส่วนความไว ความสะดวกในการสัมผัส อันนี้ยังคงติดขัดอยู่พอประมาณ? บางทีทัชเลื่อนนิ้วแล้วตัวละครไม่ตามไปบ้างก็มี

IMG_20140624_101354

หันมาดูที่แท็บเล็ต OTPC สำหรับนักเรียนกันบ้างครับ หน้ากล่องจะมีการเขียนกำกับไว้เลยว่าเป็นแท็บเล็ตสำหรับนักเรียน (โมเดล SD08) สเปคต่างๆ ก็ใกล้เคียงกันกับแท็บเล็ตสำหรับครูผู้สอน เช่น

  • ชิปประมวลผล Rockchip RK3066 dual-core ความเร็ว 1.5 GHz ชิปกราฟิก Mali-400MP
  • แรม 1 GB
  • รอมในตัว 16 GB รองรับ MicroSD
  • หน้าจอ 8 นิ้ว ความละเอียด 1024 x 768 ไม่มีระบบปรับแสงสว่างอัตโนมัติ
  • กล้องหลัง 2 ล้านพิกเซล กล้องหน้า VGA
  • มี GPS

สเปครวมๆ ก็จัดว่าอยู่ในระดับพอใช้งานได้ ไม่แตกต่างจากแท็บเล็ตจีนทั่วไปมากนัก ยังดีที่ให้แรมมา 1 GB ครับ

IMG_20140624_101741

สำหรับอุปกรณ์ในกล่องของแท็บเล็ตนักเรียนจะแตกต่างจากแท็บเล็ตครูเล็กน้อย คือไม่มีสาย HDMI, ปากกาสไตลัสและเมม MicroSD มาให้ในกล่อง

IMG_20140624_101950

ลองเปิดเครื่องกันหน่อย

IMG_20140624_102057

IMG_20140624_102013

พบว่าหน้าตา หน้าจอและซอฟต์แวร์ภายในก็แทบไม่แตกต่างจากแท็บเล็ตครูเลย (ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากซอฟต์แวร์ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดด้วย)

IMG_20140624_101819

ฝาหลังก็ใช้พลาสติกที่บรัชลายเหมือนอะลูมิเนียมเช่นเดียวกัน แต่โทนสีจะออกดำหม่นๆ กว่าแท็บเล็ตครูอยู่เล็กน้อย ส่วนโลโก้ OTPC ที่กลางฝาหลังจะใช้เป็นการสลักลงไปเลย งานประกอบโดยรวมจัดว่าดูดีครับ ดูแน่นหนากว่าแท็บเล็ตเพื่อการศึกษารุ่นก่อนหน้านี้สำหรับเด็ก ป.1 อยู่พอตัว

IMG_20140624_101827

ดูเนื้อวัสดุกันชัดๆ

IMG_20140624_101849

IMG_20140624_101911

พอร์ตและปุ่มกดต่างๆ จะเหมือนกับในแท็บเล็ตครู แต่มีที่ต่างไปนิดหน่อยก็คือมีการตัดพอร์ต Micro HDMI ออก (สังเกตได้จากรอยการปิดทับ คาดว่าน่าจะใช้เบ้าเดียวกันหมด แล้วมาปิดช่องภายหลัง)

IMG_20140624_102217

หนึ่งในอุปกรณ์เสริมที่แถมมาให้ทั้งในแท็บเล็ตครูและแท็บเล็ตเด็ก ม.1 ก็คือเคสแบบฝาพับ การยึดตัวเครื่องแท็บเล็ตจะใช้เพียงสายอีลาสติกยึดทั้งสี่มุมของเครื่องไว้กับเคส แค่นั้นเอง ตอนถือใช้งานก็อาจต้องระวังเส้นอีลาสติกเลื่อนหลุดกันนิดนึง ผิวภายในเคสจะใช้เป็นผ้าสักหลาดขนสั้นๆ ฝาเคสสามารถพับขึ้นมาตั้ง เพื่อตั้งตัวเครื่องขึ้นมาในแนวนอนให้เหมาะกับการใช้งานบนโต๊ะได้ด้วย

IMG_20140624_102236

จะมีที่น่าแปลกใจปนติดใจนิดหน่อยก็คือตัวปิดยึดฝาเคสเข้ากับตัวเครื่อง เนื่องจากใช้เป็นจุกยางพลาสติกสูญญากาศดูดติดกับกระจกหน้าจอ ไม่ได้ใช้แม่เหล็กแต่อย่างใด เท่าที่ลองปิดฝาลงไป ก็ดูดติดแน่นพอสมควรนะ โอเคเลย ดูดแน่นกว่าใช้แม่เหล็กอีก

IMG_20140624_102300

ตัวเครื่องด้านข้างเมื่อปิดฝาเคสลงไปแล้ว

IMG_20140624_102312

ที่เคสจะมีการเจาะช่องตรงฝาหลังไว้สำหรับกล้องหลังและช่องลำโพงด้วยนะ ช่องมันพอดีเป๊ะมากๆ

IMG_20140624_102332

 

อย่างที่บอกไปแล้วว่าฝาเคสสามารถพับเพื่อตั้งเครื่องขึ้นมาได้ วิธีการพับก็ให้พับย้อน แล้วมาสอดไว้ที่ช่องนี้ครับ เพียงเท่านี้เอง โดยสามารถประยุกต์ใช้งานได้ทั้งการตั้งหน้าจอแบบ 100 องศา (เอนไปด้านหลังนิดหน่อย คล้ายๆ การเปิดใช้งานโน้ตบุ๊ค) หรือจะใช้วางในแนวนอนประมาณ 45 องศาก็ได้เช่นกัน การยึด การตั้งเครื่องทำได้มั่นคงดีระดับหนึ่ง

1

ด้านของซอฟต์แวร์ อันนี้ได้รับการแจ้งข้อมูลมาว่ายังไม่เสร็จสมบูรณ์ 100% จึงอาจจะไม่สามารถบรรยายได้เต็มที่นักนะครับ ก็ขอหยิบยกเอาแอพที่น่าสนใจสำหรับการศึกษามาแล้วกัน

3

แอพแรกที่ผมเปิดขึ้นมาก็คือแอพ OBEC ที่ภายในจะเป็นแอพรวมสื่อมัลติมีเดียต่างๆ ของ สพฐ. เอาไว้ เช่น หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book), แอพ/เกมเพื่อการศึกษา รวมไปถึงสื่อบันเทิงอื่นๆ ที่เหมาะสำหรับเด็ก โดยแอพนี้จะมีอยู่ในแท็บเล็ตครูเท่านั้น

ซอฟต์แวร์ทั้งหมดในแอพ OBEC สามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้ฟรี แต่เท่าที่ทางเราลองกดโหลดมาใช้งาน ปรากฏว่าต้องใส่รหัสติดตั้งแอพด้วย เลยไม่ได้ลองใช้งาน

4

แอพต่อมาคือแอพ OBEC EDU ซึ่งเป็นแอพรวมสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามกลุ่มวิชาสำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เอาไว้ หน้าตาก็ดูน่ารัก น่าใช้งานดีครับ มีการบรรยายทั้งแบบข้อมูลตัวหนังสือและรูปภาพ โดยรวมแล้วจัดว่าโอเคเลย แต่ส่วนตัวผมไม่แน่ใจว่าเด็ก ม.1 สมัยนี้จะยังสนใจสื่อในรูปแบบการ์ตูนแบบนี้อยู่หรือเปล่า เพราะต้องยอมรับว่าเด็กสมัยนี้ความคิดโตกันค่อนข้างเร็ว แถมยังได้รับรู้ผ่านสื่อที่หลากหลายกว่าแต่ก่อน เลยไม่แน่ใจว่าจะยังชอบสื่อในลักษณะการ์ตูนแบบนี้อยู่หรือเปล่านะ

5

อีกแอพที่น่าสนใจก็คือแอพรวมหนังสือเรียน (Books) ที่รวมหนังสือเรียนของแต่ละกลุ่มสาระวิชาสำหรับเด็ก ม.1 เอาไว้ในรูปแบบไฟล์ PDF ทำให้สามารถเปิดหนังสืออ่านได้จากในเครื่องเลย แต่รูปแบบของการเลื่อนหน้าเพื่ออ่านจะใช้เป็นแบบเลื่อนหน้าจอขึ้น/ลงนะครับ ไม่ได้เป็นรูปแบบเดียวกับการพลิกหน้ากระดาษ การเลื่อนหน้าจอทำได้ไม่ค่อยไหลลื่นทันใจเท่าไร ไม่มีระบบ index ที่ช่วยให้กระโดดข้ามไปยังส่วนที่ต้องการได้ (เช่นการลิ้งค์จากสารบัญไปบทต่างๆ) และในส่วนนี้ถ้าเป็นแท็บเล็ตนักเรียนจะมีฟังก์ชันที่ลดน้อยลงมากว่าแท็บเล็ตครูพอสมควร เช่น ไม่สามารถค้นหาข้อความในไฟล์ PDF ได้, ไม่สามารถเลือกข้อความได้ เรียกง่ายๆ ว่าไม่สามารถทำอะไรกับไฟล์ได้เลย เสมือนว่าเป็นแค่ไฟล์ PDF ในลักษณะรูปภาพเท่านั้น

สำหรับแอพอื่นๆ ที่ติดมาในเครื่องก็เช่น แอพหัดคัดลายมือ, แอพเกมฝึกทักษะ, แอพ StudentCare ที่ใช้บริหาร จัดการการเรียนในห้องอีกด้วย

ส่วนด้านบนนี้เป็นตัวอย่างภาพที่แคปจากอินเตอร์เฟสบางส่วนในแท็บเล็ตครู-นักเรียน OTPC ครับ สำหรับการใช้งานทั่วไป เมื่อใช้ไปซักพักหนึ่งก็จะอุ่นๆ ขึ้นมาตรงบริเวณด้านบนขวาของเครื่องเล็กน้อย ด้านของกล้องถ่ายรูปก็จัดว่าอยู่ในระดับไม่ดีมากนัก การโฟกัสเป็นแบบ fixed-focus ทำให้ไม่สามารถเลือกจุดโฟกัสภายในภาพได้ ภาพที่ได้ออกมาก็ถือว่าเป็นการถ่ายแบบขำๆ ไปแล้วกันนะ

จบไปแล้วนะครับกับการพรีวิวแท็บเล็ต OTPC สำหรับครูและเด็ก ม.1 ก็ต้องมารอดูกันว่าโครงการนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป จะได้แจกแท็บเล็ตจริงตามข้อมูลที่ได้มาหรือไม่ แต่ถ้าพูดในแง่ของตัวฮาร์ดแวร์อย่างเดียว ก็ต้องนับว่าดีขึ้นกว่าแท็บเล็ตรุ่นเดิมที่แจกให้กับ ป.1 มากพอตัว แต่หลายๆ จุดก็คงยังไม่ค่อยเหมาะกับการใช้งานของเด็กเท่าไรนัก เช่น หน้าจอที่สะท้อนแสงมากไปนิด, ความไวการสัมผัสของหน้าจอก็ไม่ค่อยดีนัก ยังเพี้ยนๆ อยู่บ้าง

Tags:

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก