ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อสองถึงสามปีทีผ่านมาก็คงเห็นว่าสมาร์ทโฟนนั้นมีการเปลี่ยนเเปลงด้านเทคโนโลยีที่สูงมาก ทำให้มีคำศัพท์ด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตามชื่อของผู้คิดค้นเเละพัฒนา ซึ่งผลของมันนั้นทำให้สมาร์ทโฟนในปัจจุบันมีความสามารถสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับในอดีต เเละทำงานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานด้าน Productivity อย่างงานเอกสาร เช็คอีเมล์ การใช้งานด้าน Social Network ในการติดตามข้อมูลข่าวสารทั่วไป เเละด้านมัลติมีเดียอย่างการดูหนังฟังเพลง เล่นเกมภาพความละเอียดสูงได้บนมือถือเเบบสบายๆ เเล้วในปัจจุบัน
ถ้าเปรียบภาพรวมให้เข้าใจได้ง่ายๆ สมาร์ทโฟนในปัจจุบันมีลักษณะที่เหมือนกับคอมพิวเตอร์ ที่มีตัวประมวลผลเป็นส่วนกลางในการคำนวณคำสั่งต่างๆ ที่เราป้อนเข้าไปในโทรศัพท์ มีหน้าจอไว้เเสดงผลเเละปุ่มต่างๆ ไว้ควบคุมการทำงานของเครื่อง เเรมไว้เก็บข้อมูลที่เราเรียกใช้งานชั่วคราว รวมไปถึงฟีเจอร์อื่นๆ ที่ทำให้สมาร์ทโฟนใช้งานได้หลากหลาย อย่างกล้องถ่ายรูป เซนเซอร์ต่างๆ รวมไปถึงระบบ GPS นำทาง ทำให้สมาร์ทโฟนกลายเป็นอุปกรณ์สารพัดประโยชน์สามารถใช้งานได้หลายด้านตามความต้องการ
ตัวประมวลผล
ถ้าพูดถึงส่วนที่สำคัญที่สุดของสมาร์ทโฟนในปัจจุบันอาจจะกล่าวได้ว่าคือตัวประมวลผล ซึ่งในปัจจุบันตัวประมวลผลบนมือถือนั้นประกอบไปด้วย CPU เเละ GPU ในตัวเดียวกัน ซึ่งตัวประมวลผลนี้ส่งผลโดยตรงต่อความเร็วเเละความลื่นไหลในการใช้งานโดยตรงของเครื่อง ซึ่งปกติเเล้วเครื่องระดับไฮเอนด์จะใช้ตัวประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูงทำให้การใช้งานนั้นมีความเร็วสูงตามไปด้วย ในขณะที่เครื่องรุ่นล่างเเละกลางก็จะใช้ตัวประมวลผลที่มีประสิทธิภาพรองลงมา องค์ประกอบหลักๆ มีสามส่วนดังนี้ครับ
- ความเร็วซีพียู ถูกวัดด้วยค่า MHz เเละ GHz จำนวน 1000 MHz จะถูกนับเป็น 1 GHz จำนวนยิ่งมากยิ่งประสิทธิภาพสูง
- จำนวนคอร์ จำนวนคอร์ยิ่งมากยิ่งสามารถรองรับการทำงานได้ดีขึ้น เเบ่งเป็น Single Core, Dual Core เเละ Quad Core (1 คอร์ 2 คอร์ เเละ 4 คอร์) เห็นผลได้ชัดในการสลับเรียกโปรเเกรมหรือมีโปรเเกรมทำงานพื้นหลังอยู่
- สถาปัตยกรรม เรียงจากจำนวนตัวเลข โดยเริ่มจาก ARM Cortex A5, A8, A9 เเละ A15 ในความเร็วเท่ากัน ถ้าสถาปัตยกรรมดีกว่าจะมีความเร็วที่สูงกว่า เช่น Cortex A9 ที่ความเร็ว 1 GHz ประสิทธิภาพจะสูงกว่า ARM Cortex A5 ความเร็ว 1 GHz เเต่ Qualcomm นั้นมีสถาปัตยกรรมที่เเยกต่างหากจาก ARM โดย Scorpion จะเทียบเท่า Cortex A8 ส่วน Krait จะอยู่เหนือกว่า Cortex A9 แต่ไม่ถึง Cortex A15 ครับ
- เทคโนโลยีการผลิต ในปัจจุบันเเบ่งเป็น 40 นาโนเมตร 32 นาโนเมตร 28 นาโนเมตร และ 22 นาโนเมตร จำนวนยิ่งต่ำยิ่งประหยัดพลังงานเเละมีประสิทธิภาพดีกว่าในจำนวนความเร็วซีพียูที่เท่ากัน
- GPU ส่วนใหญ่วัดจากชื่อรุ่น โดยดูจากผลเทสว่าทำคะเเนนได้ดีกว่ารุ่นอื่นๆ เเค่ไหน
โดยในช่วงหลังๆ เราจะได้เห็นชิปประมวลผลที่มีคอร์ในการประมวลผลสูงสุดถึง 8 คอร์ด้วยกัน (Octa Core) โดยตัวอย่างชิปประมวลผลที่เราจะได้เห็นบ่อยๆ จากแต่ละค่ายก็เช่น
Qualcomm
สำหรับชิปล็อตเก่าจะมีด้วยกัน 4 ไลน์ย่อย ได้แก่ Play, Plus, Pro และ Prime (เรียงลำดับความแรงจากน้อยไปมาก) ซึ่งตัวอย่างของชิปที่ได้รับความนิยมของแต่ละไลน์ก็เช่น
- Play : MSM8225 (Dual Core)
- Plus : MSM8227 (Dual Core), MSM8260A (Dual Core), MSM8960 (Dual Core)
- Pro : APQ8064 (Quad Core)
- Prime : MPQ8064 (Quad Core)
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นชิปประมวลผลรุ่นใหม่ของ Qualcomm ที่ปรับการเรียกชื่อซีรี่ย์ให้เป็นตัวเลข 3 หลัก เช่น Snapdragon 800, Snapdragon 600, Snapdragon 400 และ Snapdragon 200
NVIDIA Tegra 4
ด้านของ NVIDIA เอง ก็ได้ทำการเปิดตัวชิปประมวลผลรุ่นใหม่ของตนออกมา นั่นก็คือ Tegra 4 ซึ่งยังคงคอนเซ็ปท์การแบ่งคอร์ประมวลผลเป็นสองชุดอยู่เช่นเดียวกับ Tegra 3 คือมี 1 คอร์สำหรับประมวลผลงานเบาๆ ทั่วไป และระหว่างสแตนด์บาย ส่วนอีก 4 คอร์ที่เหลือจะเก็บไว้ใช้สำหรับการประมวลผลหนักๆ ซึ่งช่วยให้ในระหว่างการทำงานทั่วไป ระบบจะไม่กินพลังงานมากนัก ส่วนด้านการประมวลผลกราฟิก ก็มีการเพิ่มคอร์ของ GPU ทำให้ประสิทธิภาพการประมวลผลกราฟิกสูงขึ้นกว่า Tegra 3 ถึงหกเท่า
Samsung Exynos
ส่วนของ Samsung เองก็ได้จัดการเปิดตัวชิปประมวลผล Exynos รุ่นใหม่ของตนด้วยเช่นกัน ในชื่อ Exynos Octa ที่น่าสนใจก็คือมีคอร์ประมวลผลสูงสุดถึง 8 คอร์ แต่จะแบ่งคอร์ออกเป็นสองชุด คือชุดที่ใช้สถาปัตยกรรม Cortex A7 จำนวน 4 คอร์ ไว้สำหรับประมวลผลงานเบาๆ ธรรมดาทั่วไป ส่วนอีก 4 คอร์เป็นสถาปัตยกรรม Cortex A15 โดยเอาไว้ใช้ประมวลผลงานหนักๆ ซึ่งตัวของ Exynos Octa นี้น่าจะลงมาอยู่ในสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ตรุ่นไฮเอนด์ของ Samsung อย่างเช่น Galaxy Note 3 ตัวรหัส?SM-N900
Intel Atom
Intel Atom processor คือชื่อของซีพียูตระกูลใหม่ของอินเทลที่ออกแบบมาสำหรับอุปกรณ์พกพาขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็น Mobile Internet Devices หรือ Sub notebook ?ซึ่งมีเทคโนโลยีการผลิตสูงที่สุดแบบ 22 นาโนเมตร มีทั้งแบบ Single Core, Dual Core ไปจนถึงระดับ Quad Core
ชิปประมวลผลจากผู้ผลิตรายอื่นๆ
ชิปประมวลผลประเภทนี้จะพบมากในเครื่องราคาประหยัด หรือที่เรียกง่ายๆ ว่ามือถือจีน แท็บเล็ตจีน รวมไปถึงแท็บเล็ตราคาประหยัดจากอินเตอร์แบรนด์หลายๆ รายที่หันลงมาเล่นตลาดนี้ด้วย ซึ่งเครื่องกลุ่มนี้มักจะใช้ชิปประมวลผลจาก MediaTek เป็นหลัก ซึ่งประสิทธิภาพก็อยู่ในระดับที่สามารถใช้งานทั่วไปได้สบายๆ แต่อาจจะมีกระตุกบ้างถ้ามีการใช้งานหนักๆ ซึ่งก็เป็นไปตามราคาเครื่องครับ
เเรม
เเรมหรือหน่วยความจำนั้นเป็นที่เก็บข้อมูลชั่วคราวที่เรากำลังเรียกใช้งานอยู่ ซึ่งปกติเเล้วเเรมจะมีความเร็วสูงกว่าข้อมูลที่เก็บเอาไว้ในพื้นที่เก็บข้อมูลปกติ (รอม) ทำให้สามารถใช้งานเเบบมัลติทาสก์ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้เเล้วเเอพลิเคชันบางตัวมีการใช้งานหน่วยความจำที่สูง จึงไม่มีเเรมเพียงพอที่จะรันเซอร์วิสในเเบคกราวด์อื่นๆ ทำให้เกิดอาการเเอพลิเคชันไม่รันในเเบคกราวด์เพราะโปรเเกรมที่อยู่ในพื้นหลังจะปิดตัวเองอัตโนมัติถ้าเเรมไม่พอ ทำให้ไม่สามารถใช้งานมัลติทาสก์ได้อย่างเต็มที่ถ้าเเรมมีน้อยเกินไป เพราะเมื่อสลับเเอพนั้นจะเหมือนเราเปิดเเอพขึ้นมาใหม่เสมอ ไม่ใช่สภาพล่าสุดที่เราใช้งานเเรมมาตรฐานถ้าต้องการใช้งานได้ดีขั้นต่ำควรอยู่ที่ 512 MB ขึ้นไปครับ โดยในปัจจุบันแรมของสมาร์ทโฟนจะมีแบ่งตามระดับราคาคร่าวๆ ดังนี้
- สมาร์ทโฟนช่วงราคาไม่เกิน 10,000 บาท โดยมากจะมีแรมอยู่ที่ 512 MB
- สมาร์ทโฟนช่วงราคา 10,001 บาท – 15,000 บาท โดยมากจะมีแรมอยู่ที่ 1 GB
- สมาร์ทโฟนช่วงราคา 15,001 บาท ? 20,000 บาท โดยมากจะมีแรมทั้ง 1 GB และ 2 GB (ในตัวระดับท็อปบางยี่ห้ออาจมีแรมมากถึง 3GB)
รอม
รอมหรือพื้นที่เก็บข้อมูลนั้นในปัจจุบันได้พัฒนาความจุไปมาก โดยส่วนใหญ่เเล้วในรุ่นระดับกลางก็จะเห็นตั้งเเต่ 8 GB ขึ้นไป ซึ่งจะเเบ่งออกเป็นสองส่วนคือ System Partition ที่เป็นส่วนของระบบในการติดตั้งตัวรอมเเละพื้นที่ติดตั้งเเอพลิเคชันในเครื่อง ส่วนที่เหลือก็เป็นที่เก็บข้อมูลเเบบปกติเหมือนกับ SDcard ทั่วไป เช่น เอาไว้เก็บรูปหรือเพลงได้
ขนาดเเละความละเอียดของหน้าจอ
ในปัจจุบันหน้าจอของสมาร์ทโฟนมีตั้งเเต่ขนาด 3 นิ้วไปจนถึง 6 นิ้ว ซึ่งมีให้เลือกตามความเหมาะสม สำหรับคนที่ไม่ใช้งานบ่อยมากในการพกพาอาจจะเลือกตัวที่มีหน้าจอตั้งเเต่ 3.7 นิ้วลงมา นอกจากนี้เเล้วหน้าจอที่มีขนาดเล็กมักจะมีราคาต่ำกว่าอีกด้วย สำหรับมือถือชนิดนี้่หน้าจอความละเอียดสูงสุดจะอยู่ที่ 480 x 320 พิกเซลลงมา
สำหรับคนที่ต้องใช้งานสมาร์ทโฟนบ่อยรวมไปถึงอ่านข่าวสารจากสมาร์ทโฟนเป็นหลักนั้น ควรเลือกหน้าจอที่มีขนาด 4 นิ้วขึ้นไป เพราะตัวอักษรจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเเละอ่านได้สบายตากว่าในระยะเวลานาน ส่วนความละเอียดหน้าจอนั้นควรจะอยู่ที่ 800 x 480 พิกเซลขึ้นไป โดยในปัจจุบันนี้มีหน้าจอขนาด 4.8 นิ้วไปจนถึง 5.5 นิ้วสำหรับคนที่ต้องการหน้าจอขนาดใหญ่เป็นพิเศษ
โดยช่วงหลังมานี้ เราจะได้เห็นสมาร์ทโฟนที่มีจอใหญ่ระดับ 5 นิ้วขึ้นไปมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ทำให้สามารถทำให้มีพื้นที่ว่างตรงขอบจอน้อยมาก ทำให้ตัวเครื่องมีขนาดไม่เทอะทะเหมือนแต่ก่อน เผลอๆ ขนาดอาจจะใกล้เคียงกับสมาร์ทโฟนหน้าจอ 4.7 นิ้วรุ่นเก่าๆ เสียด้วยซ้ำ ส่วนความละเอียดจอนั้น ในสมาร์ทโฟนรุ่นท็อปส่วนมากก็จะมีความละเอียดจอระดับ 1920 x 1080 จากนั้นก็ลดหลั่นลงมา เช่น 1280 x 720 เป็นต้น
เทคโนโลยีหน้าจอ
ปัจจุบันนี้หน้าจอเเยกออกเป็นสองเเบบใหญ่ๆ คือ LCD เเละ AMOLED โดย LCD นั้นจะเป็นเทคโนโลยีเเบบดังเดิมคือมีเเสงไฟปล่อยจากข้างหลังจอเเละมีการเปิดปิดของพิกเซลในการเเสดงสี ส่วน AMOLED นั้นพิกเซลจะเปล่งเเสงได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยไฟ Backlit เหมือน LCD
โดยธรรมชาตินั้นข้อดีของ LCD คือสามารถเเสดงสีได้เป็นธรรมชาติเเละมีอายุการใช้งานยาวนาน อีกทั้งยังมีต้นทุนที่ต่ำเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีมานานเเล้ว ข้อจำกัดคือไม่สามารถเเสดงสีดำได้สนิทนักโดยจะเห็นว่ามีเเสงสีขาวเเสดงขึ้นมาบ้าง
ส่วน AMOLED นั้นมีข้อดีคือสามารถเเสดงสีดำได้สนิทเนื่องจากเป็นการ ปิดการเเสดงสีของพิกเซลที่เเท้จริง เเละไม่มีเเสงไฟปล่อยจากด้านหลังเหมือนหน้าจอ LCD เเต่ส่วนใหญ่เเล้วจอ AMOLED นั้นจะมีการเเสดงคอนทราสที่สูง ทำให้สีนั้นมีความสดกว่าต้นฉบับ ซึ่งอาจจะกระทบต่อการใฃ้งานสำหรับคนที่ต้องการความเที่ยงตรงของสีได้
จอ LCD ในปัจจุบันเเบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ
- TN Panel (Twisted nematic) เป็นหน้าจอเเบบปกติที่ใช้กันทั่วไป ส่วนใหญ่ใช้ในเครื่องระดับล่าง – กลาง
- IPS Panel (In-Plane-Switching) เป็นพาเนลที่ถูกพัฒนาในเรื่องของมุมการมองที่กว้างขึ้นกว่า TN เเละสร้างเม็ดสีที่ออกมาคมชัดเเละเที่ยงตรงกว่าเเบบ TN โดยจอ IPS ส่วนใหญ่ถูกใช้ในเครื่องระดับกลางไปทางสูงเเละเครื่องระดับสูง
ส่วนจอ OLED นั้นปัจจุบันที่ถูกใช้กันอย่างเเพร่หลายมีเฉพาะของ Samsung เท่านั้นโดยในชื่อเครื่องหมายการค้าของ Samsung ที่ชื่อ Super AMOLED ซึ่งข้อดีชองจอชนิดนี้ก็อย่างที่กล่าวมาข้างต้นคือ นอกจากนี้เเล้วยังมีการประหยัดพลังงานที่ยืดหยุ่นตามการใช้งาน คือจะใช้พลังงานเมื่อเฉพาะมีการเปล่งเเสงสีอื่นที่ไม่ใช่สีดำออกมา เเต่ถ้ามือถือมีการเปล่งเเสงอื่นๆ (ขาว เเดง เขียว น่้ำเงิน เเละอื่นๆ) ออกมามากที่ไม่ใช่สีดำก็มีอัตราการกินพลังงานไม่ต่างกับหน้าจอชนิดอื่นเช่นกัน
จอ Super AMOLED ในปัจจุบันเเบ่งออกมาสองประเภทหลักๆ คือ
- การเรียงพิกเซลเเบบ Pentile การเรียงพิกเซลโดยใช้จำนวน Subpixel ที่ไม่ใช่ตามปกติ (RGB) โดยมีการเพิ่ม Subpixel เข้าไปทำให้พิกเซลนั้นไม่ได้เรียงตัวเเบบปกติเเละมีรอยหยักที่เห็นได้ชัดเจนเเละไม่คมชัดเท่าเเบบ RGB เเบบปกติ จอที่มีการเรียงเเบบ Subpixel จะมีสีที่เพี้ยนตามจำนวน Subpixel ที่เพิ่มเข้ามา เช่นถ้าเป็น RGBG ภาพก็จะออกมาเป็นโทนเขียวมากกว่าปกติ เเม้จะเเสดงสีขาวก็จะเป็นเเบบสีขาวอมเขียว ซึ่งทาง Samsung ได้บอกว่าการเรียงพิกเซลเเบบนี้จะทำให้จอ Super AMOLED มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้นเพราะจะมีพิกเซลสีน้ำเงินน้อยกว่าปกติซึ่งเป็นเม็ดพิกเซลที่เสื่อมสภาพก่อนเม็ดอื่นๆ
- การเรียงพิกเซลเเบบ RGB เป็นการใช้การเรียงพิกเซลเเบบมาตรฐานเหมือนกับจอ LCD ทำให้ไม่ภาพที่ได้ออกมาไม่มีรอยหยักเเละมีความคมของภาพมากกว่า
กล้อง
เทคโนโลยีกล้องสำหรับมือถือในตอนนี้ส่วนใหญ่เเล้วจะเเข่งกันที่ความละเอียดพิกเซลเสียส่วนใหญ่ เเต่ก็มีการพัฒนาในเรื่องของค่ารูรับเเสงที่ดียิ่งขึ้นทำให้ถ่ายรูปในที่เเสงน้อยได้ดีกว่าเดิม โดยดูจากค่า F ที่มีจำนวนยิ่งน้อยถือว่ายิ่งรับแสงสว่างได้ดี เช่น F2.2 นั้นดีกว่ากล้องที่มีค่า F ที่ 2.4 ซึ่งนอกเหนือจากค่า F ที่มีเลขน้อยจะช่วยให้รับแสงสว่างได้ดีขึ้นแล้ว ยังจะช่วยให้สามารถถ่ายภาพแบบ “หน้าชัดหลังเบลอ” ได้ดีขึ้นอีกด้วย เเละส่วนใหญ่ก็มี LED Flash มาให้สำหรับเพิ่มเเสงสว่างเวลาถ่ายในที่มืดเหมือนกันหมด
อย่างไรก็ตามกล้องที่มีคุณภาพดีนั้น ปัจจัยหลักที่สำคัญคือเรื่องของเซนเซอร์ที่ยังไม่มีการพูดถึงกันมากนักสำหรับผู้ผลิต ทำให้ส่วนใหญ่ต้องดูจากภาพถ่ายของเครื่องจริง หรือข้อมูลเฉพาะรุ่นเป็นส่วนใหญ่ว่าเน้นเรื่องกล้องมากเเค่ไหน ส่วนใหญ่เเล้วมือถือที่กล้องมีคุณภาพสูงจะมาจาก Nokia เเละ Sony เป็นส่วนมาก นอกจากนี้ยังมีอีกปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของภาพถ่ายก็คือเรื่องของซอฟต์แวร์และกระบวนการประมวลผลภาพในตัวเครื่อง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตอีกเช่นกัน ว่าจะทำส่วนนี้ออกมาได้ดีขนาดไหน ไล่มาตั้งแต่ก่อนถ่ายภาพเลย ว่าจะคำนวณค่าความสว่าง, White Balance, ISO ได้ดีขนาดไหน รวมไปถึงกระบวนการประมวลผลหลังถ่ายภาพแล้วอีก ทำให้ไม่สามารถฟันธงได้ 100% ว่ากล้องตัวไหนจะดีจะแย่ขนาดไหน ต้องชมจากภาพตัวอย่างที่เอามาเปิดบนจอเดียวกัน ไม่ใช่เปิดบนจอมือถือเครื่องใครเครื่องมันครับ
อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่เรียกได้ว่าสวนกระแสในวงการถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟนก็คือเทคโนโลยี UltraPixel จาก HTC ที่เริ่มเปิดตัวใน HTC One เป็นรุ่นแรก โดยเป็นเทคโนโลยีที่ไม่เน้นตัวเลขความละเอียดภาพ แต่ไปเน้นที่คุณภาพของเซ็นเซอร์แทน ทำให้ภาพถ่ายมีความละเอียดสูงสุดเพียง 4 MP เท่านั้น แต่ HTC เคลมว่าภาพที่ออกมามีคุณภาพเทียบได้กับกล้อง 8 หรือ 13 MP ได้อย่างสบายๆ ส่งผลให้เลขความละเอียดไม่สามารถบ่งชี้ถึงคุณภาพของกล้องสมาร์ทโฟนได้ 100% อีกต่อไป
การเชื่อมต่อ 3G และ 4G
ปัจจุบันนั้นในประเทศไทยจะมีผู้ให้บริการเครือข่ายเเบ่งเป็นของ true เเละ dtac ในความถี่ 850/2100 MHz, AIS ที่ 900/2100 MHz เเละ ซึ่งต้องมีการเชคให้ดีโดยเฉพาะเครื่องในระดับกลาง (ช่วงราคา 8000 – 14000 บาท) ว่าสนับสนุน 3G ที่คลื่นไหนบ้าง โดยสามารถดูได้จากหน้าดาต้าเบสครับ ส่วนเครื่องระดับไฮเอนด์ส่วนใหญ่จะรองรับทุกเครือข่ายอยู่เเล้ว
อีกความเเตกต่างหนึ่งคือความเร็วสูงสุดของ 3G ที่รองรับ โดย HSPA จะรองรับที่ความเร็วสูงสุด 7.2 Mbps ส่วนเครื่องที่รองรับ HSPA+ นั้นจะได้ความเร็วสูงสุดถึง 21 Mbps
และอีกหนึ่งรูปแบบการเชื่อมต่ออย่าง 4G LTE ที่ทาง True ก็ได้เปิดให้ใช้บริการได้บางจุดในกรุงเทพฯ ได้แล้ว ก็ต้องมาดูว่าสมาร์ทโฟนนั้นรองรับการเชื่อต่อแบบ 4G LTE หรือไม่ แต่ส่วนมากรุ่นท็อปหลายๆ รุ่นมักจะรองรับกันค่อนข้างครบครัน เว้นแต่ในรุ่นที่บางทีทำออกมา 2 รหัส เช่น Galaxy Note 3 รหัส SM-N9005 (รองรับ 4G LTE) กับรหัส SM-N900 (ไม่รองรับ 4G LTE) ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากหน้าสเปคของเราได้เช่นกันว่ามีรุ่นไหนรองรับ 4G LTE บ้าง?
Bluetooth
สิ่งที่เเตกต่างในเเต่ละเลขเวอร์ชันของ Bluetooth คือความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลระหว่างอุปกรณ์กับเครื่อง ในเวอร์ชันล่าสุดคือ Bluetooth 4.0 นั้นถูกออกเเบบมาให้ใช้พลังงานต่ำเเละมีความเร็วในการเเพร์อุปกรณ์ที่เร็วกว่าเดิม อีกทั้งยังมีระยะทำการที่กว้างขึ้น
Wi-Fi
เป็นการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตจากอุปกรณ์กระจายสัญญาณ Wi-Fi อย่างเราเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่เเล้วรองรับกับอุปกรณ์กระจายสัญญาณ Wi-Fi ที่รองรับเทคโนโลยีใหม่สุดคือ 802.11n ที่กำลังจะเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมในอีกไม่นานนี้ ไม่มีความเเตกต่างกันระหว่างรุ่นมากนัก ส่วนมาตรฐาน 802.11ac นั้นก็เริ่มมีลงมาในสมาร์ทโฟนรุ่นท็อปบางรุ่นบ้างแล้ว แต่อุปกรณ์ส่งคลื่น (เช่นพวก router) ยังไม่มีอยู่ในตลาด ดังนั้นก็ยังไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อสมาร์ทโฟนในปีนี้ครับ
GPS
ระบบจับตำเเหน่งของผู้ใช้โดยใช้สัญญาณดาวเทียม ซึ่งจริงๆ เเล้ว GPS นั้นหมายถึงระบบดาวเทียมระบุตำเเหน่งของสหรัฐ โดยมีดาวเทียมทั้งหมด 31 ดวงในการช่วยระบุตำเเหน่ง เเต่จริงๆ เเล้วระบบดาวเทียมยังมีของ GLONASS ที่ใช้บริการดาวเทียมของรัสเซียอีก 24 ดวงฝนการระบุตำเเหน่งเช่นเดียวกัน
โดยสรุปเเล้วมือถือที่รองรับ GPS เเละ GLONASS นั้นจะสามารถระบุตำเเหน่งได้รวดเร็วเเละเที่ยงตรงกว่า โดยมือถือที่ใช้ก็มีของ Sony, Apple, Samsung, Motorola เเละตัวที่ใช้ชิปเซทของ Qualcomm Snapdragon S4 ก็สนับสนุน GLONASS เเล้วเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องดูเป็นรายตัวไป (ยกเว้นตัวที่ใช้ Snapdragon S4 นั้นสนับสนุนเเน่นอน)
เเบตเตอรี่
ในปัจจุบันเเบตเตอรี่ที่ใช้ส่วนใหญ่นั้นมีสองประเภทใหญ่ๆ คือ Li-ion เเละ Li-Po ที่ไม่เเตกต่างกันด้านการใช้งานเท่าไรนัก เเต่ Li-Po จะมีข้อได้เปรียบตรงที่ไม่เกิดอาการเเบตเตอรี่ระเบิดเเบบ Li-ion ทำให้มั่นใจได้ว่าปลอดภัยกว่าเเน่นอน
ค่าของเเบตเตอรี่ในสมาร์ทโฟนนั้นถูกนับหน่วยเป็น mAh มียิ่งมากยิ่งถือว่าใช้งานได้ยาวนานขึ้น เเต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ อย่างหน้าจอเเละตัวประมวลผลด้วย