Close Menu
    Facebook X (Twitter) YouTube TikTok
    SpecPhone
    • ข่าวล่าสุด
    • รีวิว
    • ค้นหามือถือ
    • วิดีโอ
    • บทความ
    • ติดต่อเรา
    Facebook YouTube TikTok X (Twitter)
    SpecPhone
    Home»Gadgets»Accessories Review»รีวิว Jawbone JAMBOX และ BIG JAMBOX ลำโพงบลูทูธที่มาพร้อมดีไซน์สุดเก๋ และแบตเตอรี่ในตัว
    Accessories Review

    รีวิว Jawbone JAMBOX และ BIG JAMBOX ลำโพงบลูทูธที่มาพร้อมดีไซน์สุดเก๋ และแบตเตอรี่ในตัว

    ZeroSystemBy ZeroSystem23 กรกฎาคม 2013Updated:27 กรกฎาคม 2013
    Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Tumblr Email
    Share
    Facebook Twitter LinkedIn Pinterest Email

    สำหรับผู้ที่ชอบฟังเพลงจากสมาร์ทโฟน แต่ไม่อยากใช้หูฟัง ทางเลือกที่มีก็คือการใช้ลำโพงจากตัวเครื่อง ซึ่งลำโพงในสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่มักจะให้เสียงที่ไม่ค่อยดีนัก เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านขนาดของตัวเครื่อง จึงไม่สามารถใส่ลำโพงที่มีขนาดใหญ่ได้ การที่จะไปหาชุดลำโพงให้เข้ากันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ไหนจะเรื่องดีไซน์ เรื่องคุณภาพเสียงที่ต้องคิดเป็นปัจจัยหลักอยู่แล้ว ยังมีเรื่องของความเข้ากันได้ระหว่างสมาร์ทโฟนของเรากับลำโพงอีก โดยเฉพาะลำโพงที่เน้นอำนวยความสะดวกให้กับอุปกรณ์ในมือ เช่น อาจจะมีพอร์ต USB ให้เสียบได้ ซึ่งก็อาจจะรำคาญเรื่องสาย แถมลำโพงแนวนี้ส่วนใหญ่จะออกแบบมาให้เหมาะกับการใช้งานร่วมกับ iDevice เสียอีกด้วย ชาว Android และแพลตฟอร์มอื่นๆ ก็คงอดใช้กันไปตามระเบียบ

    ซึ่งแน่นอนว่าอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจและใช้งานได้ทุกคน ก็คงต้องเป็นลำโพงที่ใช้การเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth ที่สมาร์ทโฟนในปัจจุบันทุกเครื่องจะต้องมีให้ใช้กันหมดแล้ว ด้วยข้อดีของมันคือสามารถใช้งานกับอุปกรณ์ได้หลากหลาย ทั้งยังตัดปัญหาเรื่องสายพะรุงพะรังได้อีก อย่างเช่นลำโพงที่เราหยิบมารีวิวในครั้งนี้ นั่นคือ Jawbone JAMBOX และ Jawbone BIG JAMBOX ครับ เรามาดูกันเลยดีกว่าว่าทั้งคู่เป็นอย่างไร

    ก่อนอื่นขอจำแนกรุ่นก่อนนะครับ ตัวสีแดงคือ Jawbone JAMBOX ส่วนสีดำคือ Jawbone BIG JAMBOX คงไม่สับสนเนอะ


    ทีนี้เรามาเริ่มดูจากตัวเล็กอย่าง Jawbone JAMBOX ก่อนครับอุปกรณ์ที่ให้มาก็จะมี

    • ตัวลำโพง JAMBOX เอง
    • สาย Micro USB
    • สายแจ็ค 3.5 มิลลิเมตร
    • อะแดปเตอร์สำหรับชาร์จแบตเตอรี่
    • ปลอกผ้ากำมะหยี่ สามารถพับให้แบนลงได้เพื่อสะดวกต่อการเก็บ ส่วนเวลาใช้งานก็แค่กางออกมาแล้วจับตัวลำโพงใส่ลงไปในซอง จากนั้นก็ปิดฝาข้างลงมาครับ ตัวฝาข้างจะปิดกับซองด้านล่างด้วยแม่เหล็กที่ติดอยู่ภายใน

     

    ตัวของ Jawbone JAMBOX นั้น ใช้วัสดุภายนอกสองแบบ คือส่วนของตะแกรงจะใช้เป็นสแตนเลสสตีลที่ออกแบบให้มีรอยยุบลงไปและส่วนของฝาปิดบนล่าง (ที่เห็นเป็นแถบสีแดงเรียบๆ) จะใช้เป็นยางขึ้นรูป จับแล้วให้ความรู้สึกแข็งแรงมากๆ

    ข้อมูลทั่วไปของ Jawbone JAMBOX

    • ภายในติดตั้งลำโพง acoustic คู่ พร้อมซับวูฟเฟอร์ตัวเล็ก (แบบ passive bass radiator)
    • ตอบสนองย่านความถี่เสียงที่ 60 Hz – 20,000 Hz
    • มีไมโครโฟนในตัว
    • รองรับการเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth 2.1 ขึ้นไป
    • รองรับมาตรฐาน EDR, A2DP 1.2, HFP 1.5 และ HSP 1.1
    • น้ำหนัก 347 กรัม
    • แบตเตอรี่ภายในเป็นแบบ Li-ion ใช้งานติดต่อกันได้นานประมาณ 10 ชั่วโมง
    • รองรับการใช้งานร่วมกับแอพ Jawbone Companion บน ?Android
    • สามารถอัพเดตเฟิร์มแวร์ได้
    • มีให้เลือก 4 สี คือดำ เทา ฟ้าและแดง
    • ราคา 6,990 บาท

    ด้านบนของ JAMBOX จะมีปุ่มอยู่สามปุ่ม โดยปุ่มวงกลมจะเป็นปุ่มฟังก์ชันของตัวลำโพง มีชื่อว่า TALK Button ที่โดยปกติแล้วเมื่อกดลงไป จะมีเสียงพูดแจ้งปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ของลำโพงออกมา เช่น เหลืออีก 3/4 ของทั้งหมด เหลือครึ่งหนึ่งของทั้งหมด เป็นต้น (เป็นภาษาอังกฤษนะครับ) หรือถ้าเราเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน Android ผ่านทางแอพ Jawbone Companion แล้ว มันยังสามารถแจ้งเตือนนัดหมาย แจ้งเวลาได้อีกด้วย ส่วนปุ่ม + กับ – คือปุ่มปรับระดับความดังเสียง

    ข้างขวาของลำโพงจะเป็นตำแหน่งของปุ่มและพอร์ตเชื่อมต่อ ไล่จากด้านบนคือสวิทช์เปิด/ปิดและยังใช้สำหรับการ pair ลำโพงเข้ากับอุปกรณ์อื่นด้วย โดยถ้าสวิทช์อยู่ล่างสุด จะเป็นการปิดลำโพง ถัดลงมาเป็นช่องเสียบสาย 3.5 มิลลิเมตร ที่เราสามารถนำอุปกรณ์เล่นเพลงของเรามาต่อกับลำโพงโดยตรงแบบใช้สายได้ โดยตัวสายจะมีปลายทั้งสองสายเป็นแจ็คเสียบหูฟังตัวผู้ทั้งคู่นะครับ ส่วนช่องล่างสุดคือช่อง Micro USB ใช้สำหรับชาร์จไฟให้แบตเตอรี่ในลำโพง

    วิธีการเชื่อมต่อลำโพง JAMBOX เข้ากับสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ก็ไม่ยากครับ แค่เปิดลำโพงให้ตัวสวิทช์มีไฟสีขาวขึ้นมา จากนั้นก็ดันสวิทช์ขึ้นไปจนสุดแล้วดันค้างไว้ซักครู่ จนลำโพงพูดขึ้นว่า “The device is in pairing mode, waiting for device to connect” (คำอาจจะไม่เป๊ะ แต่ไม่หนีไปจากนี้แน่นอน) และสังเกตว่าไฟที่ตัวสวิทช์จะกระพริบเป็นสีสลับกันระหว่างขาวกับแดง ในจังหวะนี้ก็ให้มาจัดการ pairing ที่อุปกรณ์ของเรา โดยทำการเปิด Bluetooth จากนั้นก็กด pair กับลำโพง (ตามปกติจะถูกตั้งชื่อไว้ว่า JAMBOX by Jawbone) เมื่อกดแล้วก็รอซักครู่ รอจนลำโพงพูดว่า pairing เรียบร้อยแล้ว ประกอบกับไฟที่สวิทช์หยุดกระพริบ ก็แสดงว่าสามารถใช้งานลำโพงได้แล้วครับ ส่วนการใช้งานไมโครโฟนนั้น ก็คือเราสามารถใช้ลำโพง Jawbone JAMBOX (BIG JAMBOX ด้วย) ?ในการเป็นลำโพงสนทนาเวลามีสายโทรศัพท์เข้ามาที่มือถือของเรา ขณะที่เชื่อมต่อกับลำโพงผ่าน Bluetooth ได้ด้วย

    หรือจะ pairing กับคอมพิวเตอร์ก็ได้เช่นกัน โดยหลังจาก pairing แล้ว ก็ให้ไปปรับอุปกรณ์ output เสียง ให้ output เปลี่ยนเป็น JAMBOX by Jawbone ด้วยนะครับ ทั้งใน Windows และ OS X เลย อย่างของ Windows ก็ให้คลิกขวาที่ไอคอนแสดงความดังเสียบที่อยู่บน taskbar ใกล้นาฬิกา แล้วเลือก Output device เมื่อมีหน้าต่างขึ้นมาก็เลือก JAMBOX by Jawbone แล้วกดปุ่ม Set default เสร็จแล้วก็กด OK เพื่อใช้งาน

    ส่วนของเสียงที่ได้จาก Jawbone JAMBOX รุ่นเล็กนั้น โดยรวมก็ให้ย่านเสียงออกมาค่อนข้างครบ แต่จะเน้นไปที่เสียงเบสให้มากกว่าย่านอื่นพอสมควร ลักษณะเสียงมีความขุ่นๆ เล็กน้อย ไม่ถึงกับเคลียร์ในทุกๆ ย่าน จุดเด่นคือเรื่องความดังของเสียงที่เมื่อเปิดสุดแล้วจะดังมากๆ แต่คุณภาพเสียงยังจัดว่าอยู่ในระดับที่โอเคอยู่แม้จะเปิดเสียงดัง แต่เรื่องคุณภาพเสียงโดยรวมนั้น อุปกรณ์เล่นเพลงที่นำมาเชื่อมต่อก็เป็นปัจจัยสำคัญด้วย เพราะเท่าที่ลองเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่อง ผลออกมาแตกต่างกันพอสมควร

    จุดเด่นอีกข้อของ Jawbone JAMBOX ก็คือมีแบตเตอรี่ติดตั้งอยู่ในตัว ผู้ใช้จึงสามารถพกพาออกไปใช้งานนอกสถานที่ได้อย่างสบายๆ โดยเท่าที่ผมลองใช้งานจริงในช่วงค่ำๆ เพื่อฟังเพลง เฉลี่ยวันละ 4-5 ชั่วโมง เปิดเสียงไม่ดังมาก ก็สามารถใช้งานได้กว่า 3 วัน แบตเตอรี่ถึงจะหมด การชาร์จก็ไม่ยุ่งยากด้วย เพราะสามารถใช้อะแดปเตอร์/สายชาร์จเดียวกับสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ในปัจจุบันได้เลย เพราะใช้การชาร์จผ่านพอร์ต Micro USB ที่เป็นมาตรฐานการเชื่อมต่อในปัจจุบันไปแล้ว


    ต่อมาก็ถึงคิวรุ่นใหญ่อย่าง Jawbone BIG JAMBOX กันบ้างครับ ซึ่งถ้าเราสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ เราสามารถเลือกสีเองได้ด้วย ว่าจะให้ส่วนของตะแกรงกับฝาข้างเป็นสีอะไร แต่ใช้ได้ในสหรัฐฯ เท่านั้น ถ้าของในไทยก็ต้องเลือกซื้อจากสีที่มีอยู่ตามร้านตัวแทนจำหน่ายครับ (JAMBOX รุ่นเล็กก็สามารถสั่งสีพิเศษได้เช่นกัน)

    ดีไซน์โดยรวมก็จะคล้ายกับ JAMBOX รุ่นเล็ก คือเป็นกล่องทรงกระบอกสี่เหลี่ยม แต่ภายนอกจะใช้เป็นตะแกรงสแตนเลสสตีลเกือบทั้งหมด มีแต่เพียงด้านข้างซ้าย-ขวาเท่านั้นที่ใช้พลาสติกแข็ง

    ด้านบนของ BIG JAMBOX จะมีแถบปุ่มสั่งงานอยู่ด้วยกัน 6 ปุ่ม ดังนี้

    • ปุ่มซ้ายสุด (Talk Button) ใช้เป็นปุ่มสำหรับฟังปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ ลักษณะการทำงานคล้ายกับปุ่ม TALK Button ของ JAMBOX รุ่นเล็ก
    • ปุ่ม Play/Pause ใช้สำหรับสั่งเล่นหรือหยุดเล่นเพลงชั่วคราวได้
    • ปุ่ม Previous สำหรับย้อนไปเล่นเพลงก่อนหน้า
    • ปุ่ม Next สำหรับข้ามไปเล่นเพลงต่อไป
    • ปุ่ม – สำหรับลดความดังเสียง
    • ปุ่ม + สำหรับเพิ่มความดังเสียง

    ข้อมูลทั่วไปของ Jawbone BIG JAMBOX

    • ติดตั้งลำโพง acoustic คู่ พร้อมซับวูฟเฟอร์แบบ Passive bass radiator อีก 2 ตัว
    • มาพร้อมไมโครโฟนรองรับการใช้สนทนาในตัว
    • รองรับการเชื่อมต่อ Bluetooth 2.1 ขึ้นไป
    • รองรับมาตรฐาน EDR, A2DP 1.2, HFP 1.5, HSP 1.1 และ SPP
    • น้ำหนัก 1.23 กิโลกรัม
    • แบตเตอรี่ในตัวเป็นแบบ Li-ion สามารถใช้งานติดต่อกันได้นาน 15 ชั่วโมง
    • รองรับการใช้งานร่วมกับแอพ Jawbone Companion บน Android
    • สามารถอัพเดตเฟิร์มแวร์ได้
    • ราคา 13,990 บาท

    Jawbone-Jambox-Review-Specphone 197

    โดยชุดที่ได้รับมาทดสอบ มีอะแดปเตอร์สำหรับชาร์จไฟให้มาด้วยครับ ซึ่งช่องสำหรับชาร์จไฟจะเป็นช่องแยกออกไปจาก Micro USB เลย

    Jawbone-Jambox-Review-Specphone 191 Jawbone-Jambox-Review-Specphone 192
    Jawbone-Jambox-Review-Specphone 193 Jawbone-Jambox-Review-Specphone 194

    ด้านข้างขวาของ BIG JAMBOX จะมีแผงปุ่มและพอร์ตเชื่อมต่ออยู่ ไล่จากบนลงมาล่างดังนี้

    • ปุ่มบนสุดใช้สำหรับเปิด/ปิดเครื่อง โดยกดค้างเพิ่มเปิดหรือปิด
    • ปุ่มสำหรับสั่ง pair ลำโพงเข้ากับเครื่องเล่นเพลง
    • ช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร ใช้สำหรับต่อเครื่องเล่นเข้ากับลำโพงผ่านสาย 3.5 มิลลิเมตรโดยตรง (แบบเดียวกับใน JAMBOX)
    • ช่อง Micro USB สำหรับเชื่อมต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์
    • ช่องเสียบสำหรับชาร์จไฟ

    ขั้นตอนการ pairing ระหว่าง BIG JAMBOX กับสมาร์ทโฟน, แท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์นั้นก็จะคล้ายๆ กับ JAMBOX คือให้เปิดลำโพงขึ้นมาก่อน เมื่อเปิดแล้วก็ให้กดปุ่ม pairing ค้างไว้ซักครู่ รอจนลำโพงพูดว่า?”The device is in pairing mode, waiting for device to connect” และไฟตรงปุ่มเปิด/ปิดกระพริบสลับกันระหว่างสีขาวและสีส้ม จากนั้นก็มากด pair จากในอุปกรณ์ฟังเพลงของเราครับ เมื่อ pair เสร็จเรียบร้อยแล้ว ไฟที่ปุ่มเปิด/ปิดก็จะกลายเป็นไฟสีขาวจางๆ ส่วนการปิดลำโพงนั้นสามารถทำได้โดยกดปุ่มเปิด/ปิดค้างเอาไว้ครับ

    เสียงที่ได้จาก Jawbone BIG JAMBOX นั้น เน้นหนักไปที่เสียงโทนต่ำ ไม่ว่าจะเสียงเบส หรือ impact ก็จัดมาให้อย่างถึงใจ ส่วนเสียงย่านอื่นๆ ก็ยังคงออกมาค่อนข้างครบถ้วน แต่อาจจะมีถูกเสียงเบสกลบไปบ้าง โทนเสียง คุณภาพเสียงรวมๆ ออกมาค่อนข้างครบและดีกว่า JAMBOX ตัวเล็กครับ โดยเฉพาะปลายเสียงที่ออกมาคมชัดกว่าอย่างเห็นได้ชัด ส่วนความดังของเสียง อันนี้รับรองได้เลยว่าใช้เปิดแทนลำโพงสเตอริโอตัวย่อมๆ ได้เลย ถ้าเปิดดังสุด รับรองว่าดังลั่นบ้านแน่นอน เรื่องระยะการใช้งานแบตเตอรี่นั้น ก็สามารถใช้งานได้หลายวัน (เปิดเพลงวันละไม่นานเท่าไร และเปิดเสียงดังพอประมาณ)

    นอกจากนี้ ทั้ง JAMBOX และ BIG JAMBOX ยังมีเว็บแอพพลิเคชันให้ใช้งานได้อีก ในชื่อว่า MyTALK ซึ่งอยู่ในเว็บไซต์ของ Jawbone เอง (http://mytalk.jawbone.com/) ที่ผู้ใช้จำเป็นจะต้องสมัครบัญชีใช้งานของ Jawbone จากในเว็บไซต์ก่อน จากนั้นก็ติดตั้งทูลเสริมที่มีชื่อว่า Jawbone Updater คราวนี้ก็จะสามารถใช้งานแอพ MyTALK ที่อยู่บนหน้าเว็บไซต์ได้แล้วครับ ซึ่ง MyTALK มีหน้าที่ไว้สำหรับช่วยปรับการตั้งค่าเล็กๆ น้อยๆ รวมไปถึงใช้ในการอัพเดตโปรแกรม อัพเดตเฟิร์มแวร์ให้กับ JAMBOX และ BIG JAMBOX ของเราด้วย

    การเชื่อมต่อลำโพงเข้ากับแอพ MyTALK นั้น ใช้สาย Micro USB เชื่อมต่อระหว่างลำโพงกับคอมพิวเตอร์ของเรา โดยก่อนจะเชื่อมต่อ ต้องปิดลำโพงก่อนนะครับ จากนั้นจึงเสียบสาย Micro USB เชื่อมทั้งสองเครื่องเข้าด้วยกัน หรือถ้ามีปัญหากับการเชื่อมต่อ ก็ลองทำตามขั้นตอนในภาพด้านบนได้เลย?

    ตัวอย่างการตั้งค่าใน Jawbone JAMBOX (รุ่นเล็ก) ที่น่าสนใจก็คือฟีเจอร์ LiveAudio ซึ่งช่วยจำลองระบบเสียง surround รอบทิศทาง ทั้งยังช่วยให้เสียงดูมีมิติ และให้รายละเอียดเสียงออกมาได้ดีกว่าเดิมอีกด้วย ส่วน Caller ID ก็คือถ้าหากเราเชื่อมต่อลำโพงไว้กับสมาร์ทโฟน แล้วมีโทรศัพท์เข้ามา ลำโพงก็จะอ่านชื่อที่เราบันทึกไว้ของคนที่โทรเข้ามาให้ฟังได้

    ส่วนด้านบนนี้ก็เป็นตัวอย่างหน้าการตั้งค่าของ BIG JAMBOX ครับ ค่อนข้างใกล้เคียงกัน แต่จุดที่น่าสนใจและเป็นจุดเด่นของ BIG JAMBOX ก็คือหัวข้อ Simultaneous Connections ซึ่งถ้าหากเปิดใช้งานไว้ ก็จะสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์เข้ากับลำโพงได้สูงสุด 2 ชิ้นพร้อมกัน เช่นอาจจะเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ทโฟนและโน้ตบุ๊กของเรา ในขณะที่ใช้ฟังเพลงจากโน้ตบุ๊ก ถ้ามีโทรศัพท์เข้ามา เราก็จะได้ยินเสียงโทรศัพท์จากลำโพง BIG JAMBOX ด้วย

    แอพอื่นๆ ที่ออกแบบมาให้ทำงานร่วมกับปุ่ม TALK บนตัว Jawbone ครับ เช่นแอพช่วยให้เราสามารถสั่งงานผ่านเสียงได้ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการใช้งานได้พอสมควรเลย แต่กับในไทยอาจจะใช่ประโยชน์ได้ไม่เต็ม 100% นัก

    ส่วนด้านบนนี้ เป็นหน้าตาแอพ Jawbone Companion บน Android ที่สามารถติดตั้งได้จาก Play Store หน้าที่หลักๆ ก็คือใช้สำหรับตั้งค่าการทำงานต่างๆ เช่นระบบการแจ้งเตือน ระบบการ sync เข้ากับปฏิทินภายในเครื่อง รวมถึงยังสามารถตั้งค่าการทำงานของปุ่ม TALK ได้ด้วย ว่าจะให้ใช้ทำหน้าที่อะไรบ้าง โดยก่อนจะใช้งานแอพ Jawbone Companion ได้ จำเป็นจะต้องเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน Android ของเราเข้ากับลำโพง Jawbone JAMBOX หรือ BIG JAMBOX ผ่านทาง Bluetooth ก่อนทุกครั้งนะครับ

    Jawbone-Jambox-Review-Specphone 196

    Jawbone-Jambox-Review-Specphone 216

    Jawbone-Jambox-Review-Specphone 213

    สรุปปิดท้ายรีวิว

    ขอรวบยอดเลยแล้วกันนะครับ สำหรับตัวของ Jawbone JAMBOX และ Jawbone BIG JAMBOX ที่เรียกได้ว่าเป็นลำโพง Bluetooth อีกรุ่นหนึ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องของดีไซน์ที่ทำออกมาได้โดดเด่น ดูแปลกตาจากแบรนด์อื่นๆ ในตลาด ส่วนเรื่องของคุณภาพเสียงนั้น เชื่อได้ว่าน่าจะถูกใจคนที่รักการฟังเพลงแบบสนุกๆ แน่นอน เนื่องด้วยพลังเสียงเบสที่ให้มาอย่างถึงใจ อีกทั้ง impact ที่จัดว่าทำออกมาได้หนักแน่นกว่าลำโพง Bluetooth หลายๆ รุ่นในท้องตลาด

    และจุดเด่นอีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจมาก ก็คือการที่ทั้งสองรุ่นต่างมีแบตเตอรี่ในตัว ทำให้สามารถพกพาไปใช้นอกสถานที่ได้โดยไม่ต้องต่อสายให้เกะกะ ทั้งยังสามารถใช้งานติดต่อกันได้เป็นระยะเวลานานอีกด้วย จะเอาไปออกทริปนอกสถานที่ เอาไปนั่งฟังเพลงริมทะเล หรือเอาไปใช้ในงานปาร์ตี้ก็ได้อย่างสบายๆ ถูกใจคนสมัยใหม่แน่นอน ถ้าใครสนใจจะหาซื้อหรือทดลองใช้งานดูก่อน สามารถเข้าไปแวะชมสินค้าได้ที่ตามร้านตัวแทนจำหน่ายของ Jawbone เช่นพวกร้านขาย Gadget, iStudio,?.life, iBeat, Jaymart หรือ Power Buy เป็นต้น

    Gadget Jawbone Phone Review speaker
    Share. Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Tumblr Email
    ZeroSystem

    Related Posts

    20 อันดับความแรงการ์ดจอ 2025 ทั้ง NVIDIA และ AMD ที่แรงที่สุดช่วงกลางปีนี้มีรุ่นไหนบ้าง

    26 เมษายน 2025

    แนะนำ 10 Powerbank Magsafe แบตสำรองแบบแม่เหล็กยี่ห้อไหนดี ชาร์จไวได้ พกพาสะดวกในปี 2025

    24 เมษายน 2025

    รีวิวคู่หูพันธุ์แบตอึด!! vivo V50 Lite และ Watch GT แบตอึดเกินใคร ฟีเจอร์แน่น ในราคาที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้

    22 เมษายน 2025

    Comments are closed.

    หัวข้อทั้งหมด

    วิธียกเลิกบริการเสริม AIS ที่เสียเงิน ยกเลิกข้อความเสียเงินจาก AIS ทำยังไง อัพเดท 2568

    13 พฤษภาคม 2025

    วิธียกเลิกแอพเสียเงิน iOS/ Android ยกเลิกสมัครแอพต่างๆ ทั้งหมดทำยังไงบ้างแบบง่ายๆ ปี 2025

    13 พฤษภาคม 2025

    Samsung Galaxy S25 Edge มาแล้ว เปิดราคา 36,xxx บาง 5.8mm แต่แรงด้วย SD 8 Elite for Galaxy

    13 พฤษภาคม 2025

    Apple อาจใช้ AI ช่วยประหยัดพลังงาน คาดใส่เข้ามาใน iOS 19

    13 พฤษภาคม 2025

    มือถือรุ่นยอดนิยม

    Honor X7

    Honor X7

    6,299 บาท
    Honor X8

    Honor X8

    7,999 บาท
    Honor X9

    Honor X9

    9,299 บาท
    HTC Desire 22 Pro

    HTC Desire 22 Pro

    0 บาท
    Huawei Nova 10 Pro

    Huawei Nova 10 Pro

    24,990 บาท
    ดูมือถือทั้งหมด
    Facebook YouTube TikTok X (Twitter)

    Type above and press Enter to search. Press Esc to cancel.

    เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

    ยอมรับ
    X