ช่วงหลังๆ มานี้ เว็บ SpecPhone ของเราหนักไปแต่การรีวิวสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตซะเป็นส่วนใหญ่ มาในคราวนี้ขอหยิบ Accessories มารีวิวกันบ้างครับ และก็เป็นตัวที่น่าสนใจด้วยนั่นคือสายรัดข้อมือ UP จาก Jawbone ซึ่งเป็นสายรัดข้อมือที่ออกแบบมาสำหรับใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟน โดยจุดประสงค์หลักก็คือเพื่อติดตามพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การรับประทานอาหาร รวมไปถึงการนอน และนำเสนอข้อมูลให้กับผู้ใช้ เพื่อจะได้ปรับพฤติกรรมและรักษาสุขภาพตนเองให้ดีอยู่เสมอ ซึ่งน่าจะตรงใจหลายๆ คนในปัจจุบันโดยเฉพาะคนวัยทำงานที่อยากรักษาสุขภาพตนเอง
ซึ่งอันที่จริงแล้ว เทรนด์ของอุปกรณ์สวมใส่แบบสมาร์ทก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นแว่นอย่าง Google Glass, หรือพวกนาฬิกาที่เราอาจจะได้เห็น iWatch จาก Apple ในเร็วๆ นี้ อย่างในกลุ่มของสายรัดข้อมือที่ช่วยติดตามชีวิตประจำวันเองก็มีให้เลือกซื้อหลากหลายแบรนด์อยู่ เช่น FuelBand จาก Nike และ Flex จาก Fitbit ที่แต่ละตัวจะมีจุดเด่นจุดด้อยที่ต่างกันไป เอาเป็นว่าเรามาชมกันเลยดีกว่าครับ ว่าเจ้า UP จาก Jawbone จะเป็นอย่างไร
ก่อนจะชมรีวิว มาดูคลิปที่มาที่ไปและเบื้องหลังการออกแบบ Jawbone UP กันก่อนครับ ดูน่าสนใจดีทีเดียว
ก่อนอื่นเรามาดูตัวแพ็คเกจกันก่อนครับ กล่องของ Jawbone UP นั้นมาในแบบพลาสติกหนาแข็งใส มีความแข็งแรงมาก ส่วนปลอกที่หุ้มด้านนอกจะเป็นกระดาษแข็ง แพ็คเกจโดยรวมนั้นจัดว่ามีคุณภาพดีตามสไตล์ของ Jawbone ซึ่งถ้าใครเคยซื้อผลิตภัณฑ์ Jawbone มาใช้งานก็น่าจะพอเข้าใจได้ดี เอาเป็นว่าแค่ส่วนของแพ็คเกจก็ดูดึงดูดให้ควักเงินจ่ายได้เลยทีเดียว
ตัวของ Jawbone UP จะมีให้เลือกด้วยกัน 3 ไซส์ ตามขนาดข้อมือ ดังนี้
- ไซส์ S : ขนาดรอบวงข้อมือ 14 – 15.5 เซนติเมตร
- ไซส์ M : ขนาดรอบวงข้อมือ 15.5 – 18 เซนติเมตร
- ไซส์ L : ขนาดรอบวงข้อมือ 18 – 20 เซนติเมตร
ส่วนใครที่อยากลองใส่ดูก่อนว่าแต่ละขนาดตามที่วัดมาจะพอดีกับข้อมือเราหรือไม่ ตัวแพ็คเกจของ Jawbone UP นั้นก็มีแผ่นพลาสติกสำหรับทดลองใส่ให้ตามไซส์ที่กล่องระบุติดไว้ทุกกล่อง เช่น กล่องของไซส์ M ก็จะมีห่วงพลาสติกที่เจาะช่องมาพอดีกับไซส์ M ให้ได้ทดลองใส่กันก่อนได้ครับ นับว่าช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อได้มากทีเดียว เพราะอุปกรณ์ประเภทนี้จำเป็นที่จะต้องใส่ให้พอดีตัวจริงๆ ไม่อย่างนั้นจะใส่ไม่ถนัดแล้วจะกลายเป็นว่าไม่อยากใช้ไปเลย แม้ตัว Jawbone UP จะสามารถยืดหยุ่นได้เล็กน้อยก็ตาม
เมื่อดึงปลอกกระดาษด้านนอกออก จะพบว่ากล่องถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนย่อย คือส่วนที่เก็บสายรัดข้อมือด้านบน และส่วนเก็บสายแปลงจากแจ็คหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรเป็น USB สำหรับชาร์จไฟให้สายรัดข้อมือที่อยู่ส่วนล่างของแพ็คเกจ
(ภาพจาก AndroidGuy)
?คราวนี้มาดูที่ตัวสายรัดข้อมือกันบ้างครับ ซึ่งจะมีให้เลือกซื้อหลายสี (แต่ที่เข้าไทยจะเน้นไปที่สีดำและสีฟ้า)
หน้าตาของ Jawbone UP นั้น ถ้าดูผ่านๆ ก็คือสายรัดข้อมือยางสำหรับสวมใส่ข้อมือทั่วๆ ไป ไม่น่าจะมีส่วนไหนที่เป็นส่วนไฮเทคเลย ทั้งนี้ก็เนื่องจากการออกแบบที่ทำให้ดูเหมือนเป็นสินค้าแฟชั่น ดูมีสไตล์ ทั้งยังสามารถสวมใส่ได้ง่าย เพียงแค่ง้างสายรัดข้อมือออกมาเล็กน้อย แล้วก็สอดข้อมือเข้าไปในสายรัดข้อมือเท่านั้นเอง ซึ่งวัสดุภายนอกที่เป็นยางนั้น ทำให้สามารถสวมใส่ได้สบายมือเพราะมีผิวสัมผัสที่นิ่ม ยืดหยุ่นง่าย แถมยังกันน้ำกันฝนได้ดีอีกด้วย จึงเหมาะกับการใส่ติดตัวตลอดเวลา (แต่ถ้าหลีกเลี่ยงการใส่อาบน้ำหรือว่ายน้ำก็ช่วยเรื่องการยืดอายุการใช้งานได้)?ยิ่งถ้าเลือกซื้อมาขนาดที่พอดีกับตนเองแล้ว ก็จะทำให้ไม่รู้สึกรำคาญระหว่างการใช้เลย
รอบวงด้านในของ Jawbone UP จะใช้เป็นยางผิวเรียบ ต่างจากข้างนอกที่เป็นลายเส้นสลับฟันปลาแบบนูนขึ้นมา ตรงกลางมีแกะเป็นตัวอักษรและสัญลักษณ์รับรองผลิตภัณฑ์ต่างๆ อยู่ ที่น่าสนใจก็คือคำว่า MotionX ที่เป็นเทคโนโลยีตรวจจับความเคลื่อนไหวของผู้ใช้ ซึ่งเป็นหัวใจหลักสำหรับการทำงานของ Jawbone UP เลย
โดยตัวของ MotionX คือเทคโนโลยีการตรวจจับและประมวลผลสภาพแวดล้อมภายนอกจากเซ็นเซอร์หลากหลายชนิด เช่น GPS, การเคลื่อนไหว, แสง, การสัมผัส, แรงดัน และอีกหลายรูปแบบครอบคลุมแทบจะทุกรูปแบบของเซ็นเซอร์ โดยเป็นเทคโนโลยีที่บริษัท FullPower พัฒนาขึ้นมา ซึ่งทาง Jawbone เองก็ได้นำเอาเทคโนโลยี MotionX มาใช้งานกับผลิตภัณฑ์ของตน ทำให้สามารถติดตามชีวิตประจำวันของผู้ใช้ได้ดีขึ้น โดยโมเดลการทำงานของ Jawbone UP ก็คือ ให้?MotionX เป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของผู้ใช้ และส่วนซอฟต์แวร์และการคำนวณจะเป็นทางของ Jawbone เอง เพื่อให้ระบบสามารถทำงานได้อย่างเที่ยงตรงและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
(ภาพจาก iWatchApple)
แกะดูภายในของ Jawbone UP กันครับ โดยส่วนที่เป็นแท่งสี่เหลี่ยมตรงกลางนั่นคือบริเวณเซ็นเซอร์รับสัมผัสและการเคลื่อนไหวต่างๆ ส่วนที่เป็นทรงกระบอกสีเทานั้นคือมอเตอร์สั่น ปิดท้ายด้วยแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตรนั้นคือแจ็คสำหรับเสียบกับสมาร์ทโฟนเพื่อซิงค์ข้อมูล รวมไปถึงเสียบกับตัวแปลงเป็นพอร์ต USB (มีแถมมาด้วย) เพื่อชาร์จไฟให้กับแบตเตอรี่ภายในตัว (ส่วนที่เป็นก้อนดำๆ ติดอยู่ตามส่วนโค้งของสายรัดข้อมือ) ซึ่งแบตเตอรี่นั้น Jawbone เคลมว่าสามารถใช้งานได้ติดต่อกันถึง 10 วันเลยทีเดียว และใช้เวลาในการชาร์จจนเต็มเพียงแค่ประมาณ 1 ชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้น
ลองใส่เพื่อใช้งานจริงครับ ลักษณะขณะใส่ก็จะเป็นตามภาพด้านบน เห็นว่าขนาดก็ไม่ได้ใหญ่หรือหนามากนัก ไม่น่ามีปัญหาสำหรับคนที่ใส่นาฬิกาข้อมือเป็นประจำ ซึ่งถ้าในการดำเนินชีวิตทั่วๆ ไป อาจจะไม่เป็นปัญหามากนัก แต่เท่าที่ผมลองใช้งานดู? พบว่าบางครั้งสายรัดข้อมืออาจจะไปกระแทกคีย์บอร์ดหรือโต๊ะขณะพิมพ์งานบ้าง ด้วยสาเหตุที่มันจำเป็นว่าจะต้องใส่ติดตัวทั้งวัน เพราะวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อติดตามการดำเนินชีวิตของผู้ใช้นั่นเอง?ดังนั้นตอนเลือกขนาด ควรเลือกให้พอดี ไม่ใหญ่เกินไป เพราะอาจทำให้รำคาญ หรือไม่สะดวก
Jawbone UP จะมีโหมดการทำงานหลักๆ อยู่สองโหมด ซึ่งสามารถสลับโหมดได้ง่ายๆ เพียงแค่กดปุ่มสีเงินค้างไว้ นั่นคือโหมด Active และโหมด Sleep ที่การใช้งานก็ตรงตามชื่อเลย นั่นคือ
- โหมด Awake (ซ้าย) สำหรับใช้งานในช่วงที่เราตื่นอยู่ โดย Jawbone UP จะใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับว่าเราเดินหรือทำกิจกรรมไปยังไงบ้าง
- โหมด Sleep (ขวา) สำหรับใช้งานในช่วงที่เราหลับ ซึ่งระบบจะตรวจจับการหลับของเราว่าเป็นอย่างไร หลับลึก หลับตื้นเป็นช่วงเวลานานเท่าไร
นอกจากนี้ยังจะมีโหมดการใช้งานย่อยลงไปอีก ได้แก่
โหมด Stopwatch ใช้สำหรับตรวจจับการเคลื่อนไหวแบบพิเศษ เช่นการวิ่ง การออกกำลังกาย หรือการเคลื่อนไหวที่นอกเหนือจากนั่งอยู่กับที่และการเดินตามปกติ สามารถเปิดใช้งานโหมดนี้ได้โดย กดปุ่มสีเทาหนึ่งครั้ง ปล่อยปุ่ม แล้วกดค้างไว้จนสัญลักษณ์รูปดวงอาทิตย์สีเขียวกระพริบและสายรัดข้อมือสั่นขึ้นมา ส่วนการปิดโหมดนี้ก็ทำวิธีเช่นเดียวกัน (ต้องใช้งานในโหมด Awake เท่านั้น)
โหมด Power Nap เป็นโหมดสำหรับคนที่ต้องการนอนเป็นระยะเวลาสั้นๆ เช่นพักสายตาตอนกลางวันหลังทานอาหารเที่ยง เพราะตัว Jawbone UP จะสั่นเพื่อปลุกให้หลังจากเรานอนผ่านไประยะเวลาประมาณ 27 – 45 นาที ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กำลังพอดีๆ สำหรับการนอนสั้นๆ แล้วตื่นมาพร้อมทำงานได้ต่อ (ระยะเวลาสามารถตั้งเองได้ ซึ่งเวลาจะเริ่มนับตั้งแต่เรานอนหลับจริงๆไม่ใช่หลังจากตั้งปลุกเหมือนนาฬิกาทั่วไป) โดยวิธีเปิดใช้งาน Power Nap สามารถทำได้โดยกดปุ่มสีเทาสองครั้ง ปล่อยปุ่มขึ้น แล้วกดค้างไว้จนกว่ารูปพระจันทร์จะกระพริบหนึ่งครั้ง (ต้องใช้งานในโหมด Sleep เท่านั้น)
เรื่องของการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนนั้น จะใช้เชื่อมต่อด้วยแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตรเท่านั้น ซึ่งส่วนนี้ก็มีข้อดีคือประหยัดพลังงานมากกว่าใช้ Bluetooth รวมไปถึงมั่นใจได้ว่าสามารถใช้งานได้กับสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ได้แน่นอน แต่ทั้งนี้ต้องใช้งานคู่กับแอพพลิเคชันที่ชื่อว่า UP จาก Jawbone ที่มีเฉพาะบน iOS และ Android เท่านั้น
- แอพ UP สำหรับ iOS (ใช้งานได้บน iOS 5.1 ขึ้นไป)
- แอพ UP สำหรับ Android (ใช้งานได้บน Android 4.0 ขึ้นไป)
การจะใช้งาน Jawbone UP นั้น จำเป็นจะต้องมีบัญชีผู้ใช้งานของ Jawbone ด้วย ซึ่งก็สมัครไม่ยากครับ สามารถทำจากในแอพได้เลย
นอกเหนือจากแอพ UP ของ Jawbone เองแล้ว ยังมีแอพพลิเคชันอื่นๆ ที่สามารถใช้งานร่วมกับสายรัดข้อมือ Jawbone UP ได้อีก ซึ่งก็จะเป็นแอพในกลุ่มของการออกกำลังกายและการดูแลสุขภาพทั้งสิ้นครับ สามารถหาดาวน์โหลดได้จาก App Store และ PlayStore ได้เลย?
โดยในระหว่างการซิ้งค์ข้อมูลนั้น ไฟที่สายรัดข้อมือจะแสดงเป็นสีแดงกระพริบด้วย ซึ่งการซิ้งค์ข้อมูลนั้น ถ้าเราทำเป็นประจำทุกวันก็จะใช้เวลาต่อครั้งไม่นานนัก แต่ถ้าหลายๆ วันค่อยซิ้งค์ที ก็อาจจะใช้เวลานานขึ้นไปกว่าปกติเล็กน้อย
ส่วนการชาร์จแบตนั้น ก็ต้องใช้สายแปลงจากแจ็ค 3.5 มิลลิเมตรเป็น USB ซึ่งมีแถมมาอยู่แล้วในกล่อง
ต่อไป เรามาดูอินเตอร์เฟสของแอพ UP สำหรับใช้งานคู่กับตัวสายรัดข้อมือกันบ้างครับ
เมื่อเริ่มใช้งานครั้งแรกก็จะเป็นการตั้งค่าและกรอกข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ โดยข้อมูลจำเป็นก็ได้แก่เพศ ส่วนสูง น้ำหนัก อายุ ซึ่งค่าต่างๆ เหล่านี้ จะต้องใช้ในการคำนวณเพื่อประเมินหาปริมาณการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่เหมาะสมของแต่ละคน ซึ่งเมื่อกรอกข้อมูลเสร็จแล้ว ก็จะเป็นการสร้างบัญชีผู้ใช้งานของ Jawbone ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น เมื่อกรอกข้อมูลต่างๆ เสร็จ แอพก็จะทำการซิ้งค์ข้อมูลเข้าไปยังสายรัดข้อมือพร้อมๆ กับการเก็บข้อมูลของเราขึ้นไปยังเซิฟเวอร์ด้วย ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถใช้งานสายรัดข้อมือนี้กับสมาร์ทโฟนเครื่องไหนก็ได้ ขอเพียงแค่ล็อกอินเท่านั้น
ซึ่งในขั้นตอนการตั้งค่าก่อนใช้งานนั้น มีอยู่หน้าหนึ่งที่สำคัญกับการใช้งาน นั่นก็คือหน้าการตั้งค่าเป้าหมายที่จะทำในแต่ละวัน ที่ในเบื้องตันแอพจะแนะนำมาให้ว่าเราควรนอนวันละ 8 ชั่วโมง และเดินให้ได้วันละ 10,000 ก้าว แต่เราก็สามารถตั้งค่าตามความเหมาะสมของตนเองได้ครับ สำหรับคนที่ตั้งใจจะเริ่ม Active มากขึ้นจะค่อนข้างดีเพราะค่อยๆเพิ่มเป้าหมายได้จึงไม่กดดันเกินไป?ซึ่งทั้งสองจำนวนที่เราตั้งไว้นี้ จะถูกนำมาประเมินกับสิ่งที่เราทำได้จริงในแต่ละวัน ว่าจากเป้าหมาย เราสามารถทำได้จริงกี่เปอร์เซ็นต์
หลังจากตั้งค่าเสร็จ ก็จะเข้าสู่หนัาหลักของแอพ UP ที่จะแสดงข้อมูลการนอน (กราฟสีม่วง), จำนวนก้าวเดิน (กราฟสีส้ม) และข้อมูลอาหารที่บริโภค (กราฟสีเขียว) ส่วนปุ่มอื่นๆ มีหน้าที่ดังนี้
- คำว่า UP ตรงมุมบนซ้าย ใช้สำหรับเปิดเรียกเมนูด้านข้าง
- ปุ่มรูปนาฬิกาใช้สำหรับตั้งค่า Smart Alarm, Idle Alert และ Power Nap (จะกล่าวถึงในภายหลัง)
- ปุ่มเครื่องหมาย + ใช้สำหรับตั้งค่าเกี่ยวกับ Workout (กิจกรรมหนัก) ได้แก่ประเภทของกิจกรรม/กีฬา, ระยะเวลาการเล่น รวมไปถึงตั้งค่าช่วงเวลานอนโดยปกติด้วย
- ปุ่มลูกศรวน ใช้สำหรับสั่งให้ซิ้งค์ข้อมูลกันระหว่างสายรัดข้อมือกับตัวแอพ
- ปุ่มหน้ายิ้ม ใช้สำหรับบ่งบอกอารมณ์ของเรา ซึ่งมีตั้งแต่เหนื่อยหมดแรงไปจนถึงสดชื่นสุดๆ
- ปุ่มรูปมีดและส้อม ใช้สำหรับกรอกข้อมูลอาหารที่บริโภค
ซึ่งตามปกติแล้ว หน้านี้จะแสดงข้อมูลของวันนั้นๆ แต่เราก็สามารถย้อนไปดูวันที่ผ่านมาได้โดยการกดที่ลูกศรข้างๆ คำว่า Today หรือดูจากเมนูด้านข้างซ้ายที่ชื่อ Lifeline ก็ได้ครับ
อีกหนึ่งส่วนที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการออกกำลังกายและการพักผ่อนก็คือการบริโภค ที่เป็นหนึ่งในข้อมูลจำเป็นสำหรับการใช้งานร่วมกับ Jawbone UP แถมเป็นข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องทำการบันทึกเองด้วย โดยแอพจะมีวิธีให้บันทึกข้อมูลอาหารแบ่งเป็น 2 แบบใหญ่ๆ ได้แก่
1. เลือกเมนูจากรายการที่แอพมีมาให้ ซึ่งจะมีการแบ่งเป็นประเภทแยกออกไป เช่น ประเภทเครื่องดื่ม, ประเภทพืชผักผลไม้, ประเภทแซนด์วิชและซุป, ประเภทอาหารทั่วไปที่เป็นที่รู้จักกัน, ประเภทขนบขบเคี้ยว เป็นต้น โดยเมื่อเลือกประเภทแล้ว เราก็ต้องเข้าไปกรอกปริมาณสารอาหาร ปริมาณที่บริโภคด้วย
2. เพิ่มเมนู/อาหารเข้าไปเอง สำหรับแบบนี้จะมีการแบ่งวิธีการเพิ่มเมนูเป็น 3 แบบย่อยๆ ได้แก่
- สแกนบาร์โค้ด – วิธีนี้อาจจะใช้ไม่ค่อยได้ผลในบ้านเรา เพราะฐานข้อมูลอาหารส่วนใหญ่ของแอพจะเป็นของในสหรัฐฯ ครับ เท่าที่ผมลองใช้กับอาหารในบ้านเราดู มีเจออยู่ไม่กี่อย่างเอง
- พิมพ์ – เหมาะสำหรับการเพิ่มเมนูใหม่ๆ เข้าไป
- ถ่ายรูป – เป็นการเพิ่มเมนูในลักษณะเดียวกับการพิมพ์นั่นล่ะครับ เพียงแค่เพิ่มรูปถ่ายอาหารเข้าไปในเมนูด้วยเท่านั้นเอง
ซึ่งหลังจากการเพิ่มเมนูอาหารเข้าไปแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องเพิ่มข้อมูลโภชนาการของอาหารแต่ละอย่างด้วย โดยวิธีการเพิ่มข้อมูลนั้นก็มีให้เลือกทั้งจากการสแกนบาร์โค้ด (ซึ่งถ้ามีอยู่ในฐานข้อมูลของ Jawbone แล้ว ก็จะสบายมากๆ), การค้นหาจากฐานข้อมูลโดยตรง และที่เหนื่อยที่สุดก็คือการกรอกสารอาหารด้วยตนเอง (ต้องกดที่หัวข้อ Tap here to add nutritional info manually ที่เป็นสีเขียว) ซึ่งถ้าอาหารที่เราบริโภคไม่มีอยู่ในฐานข้อมูลใดๆ ก็ต้องมากรอกเอาเองครับ โดยค่าที่จำเป็นก็เช่นปริมาณโคเลสเตอรอล, แคลอรี่ของอาหาร, โปรตีน, ไขมันอิ่มตัว, โซเดียม เป็นต้น
ซึ่งในจุดนี้ ถ้าอาหารที่บริโภคมีฉลากสารอาหารอยู่แล้ว ก็คงจะไม่ลำบากมากนัก แต่ถ้าเป็นอาหารสดพวกข้าว, ก๋วยเตี๋ยว, แกงหน้าปากซอย, ขนมจากตลาดนัด อันนี้คงจะกรอกยากหน่อย ซึ่งจุดนี้ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในปัญหาพอสมควรเลยทีเดียว แต่ก็พอจะมีวิธีลดปัญหาส่วนนี้อยู่ ก็คืออาจจะต้องพยายามค้นหาอาหารที่น่าจะใกล้เคียงกันจากฐานข้อมูล เพื่อมาแทนอาหารที่เราบริโภคครับ เช่น ข้าวกะเพราะหมู ก็กรอกข้อมูลไปว่า cooked rice+basil+pork?ซึ่งก็พอทดแทนกันได้อยู่
ส่วนถ้ากดไปที่กราฟสีส้มหรือสีม่วงในหน้าแรก ก็จะเป็นการเข้ามาดูรายละเอียดการดำเนินชีวิตของเราในแง่การเดินและการนอน สังเกตได้ว่ามันจับการเคลื่อนไหวได้ค่อนข้างละเอียดทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นจำนวนก้าวเดิน (และคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากเป้าหมายที่เราตั้งไว้ด้วย), ระยะทางรวมกันที่เดินทั้งวัน, แคลอรี่ที่เผาผลาญได้โดยประมาณ ส่วนการนอนก็จะบอกข้อมูลทั้งระยะเวลาการหลับตื้น, ระยะเวลาการหลับลึก, ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มนอนจนถึงเริ่มหลับ, การตื่นระหว่างคืน เป็นต้น
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้ผู้ใช้สามารถประเมินตนเองได้ดี ว่าแต่ละวันแต่ละคืนเรามีพฤติกรรมเป็นอย่างไร สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่เราต้องการหรือไม่ เพื่อจะได้ปรับพฤติกรรมที่จะส่งผลให้สุขภาพดีขึ้นด้วย
คราวนี้มาดูฟีเจอร์อื่นๆ กันบ้างครับ จากที่ติดค้างไว้ข้างต้น คือเรื่องของการปลุกทั้ง 3 แบบ ได้แก่
Smart Alarm
อันนี้ก็คือนาฬิกาปลุกตามปกตินั่นเอง ซึ่งเมื่อถึงเวลา ตัวสายรัดข้อมือก็จะสั่นเพื่อปลุก?แต่มีความพิเศษอยู่ตรงที่ว่า สายรัดข้อมือจะประมวลผลแล้วปลุกในช่วงเวลาที่ตื่นมาแล้วเราจะสดชื่นที่สุด สมมติว่า ผมต้องการตื่น 6:00 เพื่อไปทำงานตอนเช้า และผมให้ช่วงเวลาที่จะปลุกผมได้ล่วงหน้าเป็นเวลา 30 นาที ในช่วงเวลาระหว่าง 05:30-06:00 ถ้าผมอยู่ในช่วงหลับไม่ลึก ตัวสายรัดข้อมือจะสั่นปลุกเพราะประมวลผลว่าถ้าปลุกช่วงที่กำลังหลับลึกจะส่งผลต่ออารมณ์หลังตื่น แต่หากผมหลับลึกต่อเนื่องตลอดจนถึง 06:00 ตัวสายรัดข้อมือก็จะสั่นปลุกผมที่เวลา 06:00 ที่ตั้งไว้
Idle Alert
เป็นตัวช่วยเตือนไม่ให้เราหยุดอยู่นิ่ง โดยเฉพาะคนที่ทำงานแบบนั่งโต๊ะนานๆ ซึ่งเราจะต้องตั้งค่าก่อนว่าถ้าหยุดอยู่นิ่งนานกี่นาที ในช่วงเวลาไหน ยกตัวอย่างเช่น ผมตั้งค่าไว้ให้เตือนผมถ้าผมอยู่นิ่งต่อเนื่องกันเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ในช่วงเวลาทำงานตั้งแต่ 08:00-17:00 และถ้าตัวสายรัดข้อมือพบว่าเรานั่งอยู่กับที่เป็นระยะเวลาที่ตั้งไว้ สายรัดข้อมือก็จะสั่นเตือนให้เราขยับตัวบ้าง เพื่อป้องกันอาการที่อาจจะเกิดหากนั่งกับที่นานๆ เช่นอาการปวดเมื่อย ออฟฟิศซินโดรม?รวมไปถึงความเสี่ยงที่จะอ้วนลงพุงเนื่องจากการกินอาหารแล้วนั่งอยู่กับที่เฉยๆ เป็นต้น
Power Nap
ก็คือฟีเจอร์ช่วยปลุกเมื่อเราต้องการนอนเป็นระยะเวลาสั้นๆ เช่นนอนกลางวันหลังกินข้าวเที่ยง ซึ่งได้อธิบายไปในช่วงกลางๆ ของรีวิวแล้วครับ
ส่วนภาพขวา จะเป็นเหล่าเมนูต่างๆ ของแอพ ที่น่าสนใจก็จะมี
- Lifeline (มีอธิบายในภาพต่อไป)
- Trends (มีอธิบายในภาพต่อไป)
- Team ใช้สำหรับสร้างทีมผู้ใช้งาน Jawbone UP ด้วยกัน เช่น อาจจะซื้อมาใช้กันในครอบครัว ตัว Team จะช่วยในการซิ้งค์รวมข้อมูลของแต่ละคนเข้ามาด้วยกัน เพื่อใช้เปรียบเทียบ และดูสถิติของแต่ละคน ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการแข่งขันและเป็นแรงกระตุ้นให้ออกกำลังกายมากขึ้นได้
ภาพซ้ายจะเป็นส่วนของ Lifeline ที่ใช้ดูสถิติของเราโดยแบ่งตามวัน สามารถเลื่อนซ้ายขวาเพื่อดูได้ ซึ่งจะมีรวมกันทั้งการเดิน, การออกกำลังกาย การนอน การรับประทานอาหาร รวมไปถึงอารมณ์ความรู้สึกของเราในวันนั้นๆ ด้วย
ส่วนภาพขวาเป็นหน้าจอของเมนู Trends ที่จะนำเสนอในรูปแบบของสถิติรายวัน, สัปดาห์ และรายเดือน เพื่อผู้ใช้งานจะได้สามารถดูแนวโน้มพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเองคร่าวๆ ได้ง่ายขึ้นครับ
ซึ่งเรื่องของฟีเจอร์นั้น ทาง Jawbone ก็ได้ทำสรุปในรูปแบบไอคอนไว้เรียบร้อยแล้ว ตามภาพด้านล่างนี้
สรุปปิดท้ายรีวิว Jawbone UP
ก็นับว่าเป็นอุปกรณ์อีกหนึ่งชิ้นที่น่าสนใจทีเดียว สำหรับสายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพ Jawbone UP ที่เพิ่งเข้ามาขายในไทยได้ไม่นาน เนื่องด้วยความสามารถในการตรวจจับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ค่อนข้างครบถ้วน ไม่ว่าจะการเดิน การเคลื่อนไหวร่างกาย การออกกำลังกาย การนอน รวมไปถึงการรับประทานอาหาร ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพให้ดีอยู่เสมอๆ ทั้งยังมีฟีเจอร์ปลีกย่อยเล็กๆ น้อยที่น่าสนใจอีก ไม่ว่าจะเป็น Power Nap, Smart Alarm ที่ใช้เป็นนาฬิกาปลุก รวมไปถึง Idle Alert ที่ช่วยกระตุ้นให้เรา Active อยู่ตลอดเวลา แถมสามารถใช้งานได้นานด้วย เพราะไม่ได้ใช้การเชื่อมต่อ Bluetooth ที่กินพลังงาน แต่ใช้การเสียบแจ็คเข้าช่องเสียบหูฟังที่มีเป็นมาตรฐานในสมาร์ทโฟนแทบทุกเครื่องอยู่แล้ว จึงมั่นใจได้ว่า Jawbone UP น่าจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันสมัยนี้ได้ไม่ยากนัก เพราะทั้งใช้งานได้นาน และใช้งานได้กับอุปกรณ์ที่หลากหลาย
ด้วยราคาของ Jawbone UP ซึ่งอยู่ที่ 4,990 บาท (มีขายตามร้านตัวแทนจำหน่ายของ Jawbone เช่นพวกร้านขาย Gadget, iStudio,?.life, iBeat, Jaymart, Power Buy) ก็น่าจะเป็นสินค้าที่เหมาะกับผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพจริงๆ โดยเฉพาะเหล่ามนุษย์ออฟฟิศ ที่อยากรักษาสุขภาพ แต่อาจไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกายแบบเป็นจริงเป็นจัง เพราะลักษณะการใช้งานจะเหมาะกับการแทร็กชีวิตประจำวันมากกว่า ซึ่งโดยรวมแล้วก็ทำได้ดีครับ โดยเฉพาะการแทร็กเวลานอนที่ผมชอบมาก เพราะได้รู้พฤติกรรมการนอนของตนเองได้ดีเลยล่ะ
ข้อดี
- ใช้ตรวจจับการเดิน การนอนได้ดี โดยเฉพาะการนอนที่ทำให้รู้ได้เลยว่าหลับลึก หลับตื้นนานขนาดไหน
- ตัวสายกันน้ำได้ ทำให้สามารถใส่ติดตัวได้ตลอดเวลา ไม่ต้องกลัวเปียกน้ำหรือเปียกละอองน้ำหรือเปียกเหงื่อ
- ใช้การเชื่อมต่อผ่านพอร์ตหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร ทำให้ไม่เปลืองไฟ ส่งผลให้ใช้งานแบตเตอรี่ได้นานกว่า 10 วัน
- ฟีเจอร์เสริมสามารถใช้งานได้ดี โดยเฉพาะ Power Nap ที่เหมาะกับการใช้นอนแก้ง่วงช่วงสั้นๆ มาก
- สามารถสร้างทีมกับคนรู้จักได้ ช่วยสร้างแรงกระตุ้นในการออกกำลังกายได้ดี
- สามารถใช้งานคู่กับสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ตได้แทบจะทุกรุ่นในปัจจุบัน
ข้อสังเกต
- จำเป็นต้องใส่ติดตัวตลอดเวลา อาจจะทำให้ลำบากเวลาทำงานอยู่บ้าง
- การเพิ่มข้อมูลอาหารทำได้ลำบาก (ส่วนหนึ่งก็เพราะฐานข้อมูลอาหารในบ้านเรามีไม่มากนัก)
- มีคู่แข่งที่ราคาใกล้เคียงกันอย่าง Nike+ FuelBand ซึ่งสามารถทำงานได้ใกล้เคียงกัน มีจุดเหนือกว่าเล็กน้อยตรงที่มีหน้าจอ LED อยู่ด้วย?แต่ก็ยังด้อยกว่าตรงที่ไม่สามารถเก็บข้อมูลคุณภาพการนอนหลับได้