[Review] Xiaomi Mi Pad แท็บเล็ต Android ที่แรงสุดในโลก ณ ขณะนี้

แท็บเล็ตจากจีนที่มาแรงสุด แถมด้วยสเปคสุดแรง จนแทบจะเรียกว่าเป็นแท็บเล็ต Android ที่แรงสุดในโลกเลยก็ว่าได้ ก็คือตัวของ?Xiaomi Mi Pad?ที่พ่วงมาพร้อมกับชิปประมวลผลตัวแรงอย่าง NVIDIA Tegra K1 ซึ่งนับว่าเป็นแท็บเล็ตรุ่นแรกของโลกที่ใช้ชิปตัวนี้เลยทีเดียว อีกทั้งรูปร่างหน้าตาของ Mi Pad ก็เป็นไฮไลท์ด้วย เพราะมันมาในทรงเดียวกับ iPad mini แทบจะ 100% ในคราวนี้เราเลยจัดการรีวิว Xiaomi Mi Pad ให้ได้ชมกันครับ มาดูกันเลย

Review-Xiaomi-Mi-Pad-SpecPhone 007

สเปค Xiaomi Mi Pad

  • ชิปประมวลผล NVIDIA Tegra K1 ความเร็ว 2.2 GHz พร้อมกราฟิก NVIDIA CUDA 192 คอร์
  • แรม 2 GB
  • หน้าจอ IPS ขนาด 7.9 นิ้ว ความละเอียด 2048 x 1536
  • รอม มีให้เลือกทั้ง 16 และ 64 GB (เครื่องที่รีวิวครั้งนี้เป็น 16 GB)
  • ใส่ MicroSD ได้
  • มาพร้อมรอม MIUI ที่มีฐานมาจาก Android 4.4
  • กล้องหลังความละเอียด 8 ล้านพิกเซล
  • กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล
  • แบตเตอรี่ความจุ 6700 mAh
  • หนัก 360 กรัม
  • รองรับ USB-OTG
  • มีมอเตอร์สั่นภายใน
  • ราคาเครื่องหิ้วในไทย เริ่มที่ 1x,xxx บาท
  • สเปค Xiaomi Mi Pad เต็มๆ

เรื่องของสเปค Mi Pad ทำออกมาได้ดีมากจริงๆ แค่ CPU ก็กินขาด แล้วยังมีส่วนของแรมที่ให้มา 2 GB แบบเหลือๆ หน้าจอก็ละเอียดสุดๆ ที่ระดับ 2048 x 1536 เทียบเท่ากับ iPad mini with Retina Display ทำให้ Xiaomi Mi Pad กลายเป็นแท็บเล็ต Android ที่แรงและคุ้มค่าที่สุดรุ่นหนึ่งในตลาด ด้วยราคาที่เปิดมาแค่ $240 หรือประมาณ 7,000 กว่าบาทเท่านั้น จึงทำให้เกิดกระแสฮือฮากันไปทั่วโลกเลยทีเดียว สำหรับ Xiaomi Mi Pad ตัวนี้

Design

Review-Xiaomi-Mi-Pad-Press-shot-4

Review-Xiaomi-Mi-Pad-SpecPhone 012 จอสวย เนียนกริ๊บ ? Review-Xiaomi-Mi-Pad-SpecPhone 017

เรื่องของดีไซน์ก็เป็นอีกเรื่องที่สร้างกระแสฮือฮาให้กับ Xiaomi Mi Pad ครับ เพราะรูปทรง รวมถึงการวางภาพในโฆษณา สีสันตัวเครื่อง ต้องบอกว่าได้รับแรงบันดาลใจจาก Apple มาเต็มๆ ทั้งส่วนของ iPad และ iPhone 5c จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไรที่หลายๆ คนมองว่า Xiaomi ก็คือ Apple แห่งแดนมังกร และเมื่อเราได้รับเครื่อง Xiaomi Mi Pad มารีวิวจริงๆ มันก็ไม่ได้ทำให้เราผิดหวังครับ เพราะมันเป็นแท็บเล็ตจีนที่งานประกอบทำออกมาได้ดีในสไตล์ของ Xiaomi ที่เน้นผลิตภัณฑ์คุณภาพดีในราคาประหยัด ตัวเครื่อง รูปร่าง รูปทรงต้องบอกว่าใกล้เคียงกับ iPad mini with Retina Display มากๆ ติดที่ว่าไม่มีปุ่มโฮมเป็นปุ่มกด แต่ใช้เป็นปุ่มแบบสัมผัส capacitive ที่ส่วนล่างของหน้าจอแทน ที่ปุ่มจะมีไฟ LED ส่องสว่างให้ ความสว่างของไฟก็จัดว่าโอเคดี มองเห็นกลางแจ้งได้สบายๆ สามารถตั้งค่าให้ไฟปิดระหว่างการใช้งาน เพื่อให้ดูผ่านๆ ใกล้เคียงกับ iPad ได้ด้วย ที่มุมเหนือจอด้านซ้ายบนก็มีโลโก้ Mi ติดเอาไว้อยู่นิดนึง ช่วยให้แยกความแตกต่างระหว่าง Xiaomi Mi Pad กับ iPad mini ได้ง่ายขึ้นมาหน่อย

เรื่องของหน้าจอ Mi Pad ก็ไม่ทำให้ผิดหวังจริงๆ ครับ เพราะเขาจัดเต็มทั้งขนาดและความละเอียดที่เท่ากับ iPad mini Retina Display เป๊ะๆ คือจอ 7.9 นิ้ว 2048 x 1536 ให้สีสันสวยงาม มุมมองกว้างด้วยพาเนล IPS ความรู้สึกในการใช้งานแทบไม่แตกต่างจากจอ iPad เลย จะมีก็แต่เรื่องแอพพลิเคชันสำหรับแท็บเล็ตของ Android เองที่อาจยังด้อยกว่า iOS หน่อย แต่สำหรับแอพทั่วๆ ไปก็สามารถใช้งานได้หมด ไม่มีปัญหา

ตัวเครื่องมีน้ำหนักมากกว่า iPad mini Retina Display อยู่ประมาณ 30 กว่ากรัม ทั้งยังหนากว่าด้วย ซึ่งก็ค่อนข้างสัมผัสได้ว่ามันต่างกันจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องความหนา ด้านของการวางตำแหน่งปุ่มกด พอร์ตเชื่อมต่อก็จะคล้ายๆ กับมือถือ Android หลายๆ รุ่นคือให้ปุ่ม Power และแถบปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงอยู่ด้านขวาของเครื่อง พอร์ต Micro USB อยู่ด้านล่าง ช่องเสียบหูฟังอยู่ด้านบน ส่วนฝั่งซ้ายก็มีช่องใส่ MicroSD อยู่ โดยจะต้องใช้เข็มแทงเข้าไปในช่อง เพื่อให้ถาดเด้งออกมาก่อน จึงจะสามารถใส่ได้นะครับ การกดปุ่มก็ทำได้สะดวกพอสมควร ถ้าถือใช้งานเครื่องด้วยมือขวา ปุ่ม Power ก็จะอยู่บริเวณนิ้วชี้พอดี แต่ด้วยการที่ขอบเครื่องโค้ง และปุ่มก็นูนออกมาจากขอบเครื่องเพียงนิดเดียว ทำให้อาจจะกดพลาด กดลำบากอยู่บ้างนิดหน่อย ทั้งยังไม่มีปุ่มอื่นที่สามารถเปิดหน้าจอขึ้นมาได้เหมือนกับ iPad ที่ยังใช้ปุ่มโฮมทดแทนได้ จึงทำให้การปลดล็อกหน้าจอไม่ค่อยสะดวกในบางครั้ง ยิ่งมือลื่นๆ ก็ยิ่งลำบากนิดนึง อีกจุดที่น่าสนใจก็คือ ภายในตัวของ Mi Pad มันมีมอเตอร์สำหรับสั่นแจ้งเตือนเหมือนกับในมือถือด้วย ซึ่งนับว่าหาได้ยากที่จะมีในแท็บเล็ต

Review-Xiaomi-Mi-Pad-SpecPhone 025

Review-Xiaomi-Mi-Pad-SpecPhone 022

ฝาหลังของ Xiaomi Mi Pad ใช้วัสดุเป็นพลาสติกผิวมันวาวให้สีสันสดใส โดยจะมีให้เลือกซื้อด้วยกัน 5 สี เรื่องของวัสดุนี่อาจจะทำให้ดูไม่ค่อยพรีเมียมเท่าไร คล้ายกับ iPhone 5c ที่ใช้พลาสติกสีสันสดใสเป็นฝาหลัง แต่ก็จะได้เรื่องความโดดเด่น ความน่าดึงดูดใจเวลาพบเห็นเครื่องแทน อย่างที่ทราบแล้วว่าฝาหลัง Mi Pad ใช้พลาสติกมันวาว อยากบอกอีกอย่างนึงครับว่ามันมาพร้อมความลื่นด้วย บางทีจับๆ ใช้งานอยู่ มันก็ค่อยๆ เลื่อนลงมาจากมือที่กำลังจับได้เหมือนกัน รวมถึงยังทำให้กดปุ่มด้านข้างเครื่องได้ลำบากขึ้นด้วย จุดนี้เรียกว่าเป็นจุดที่ทำให้แตกต่างจาก iPad mini อย่างเห็นได้ชัด เพราะ iPad mini เลือกใช้วัสดุเป็นอะลูมิเนียมที่ผ่านการอะโนไดซ์มาแล้ว ทำให้สามารถจับพื้นผิวได้กระชับ ติดมือมากกว่า Mi Pad ที่เห็นได้ชัดก็ตอนถ่ายรูปที่จะมาลงในรีวิวนี้ล่ะครับ อย่างภาพบนสุดของรีวิวนี้ ต้องบอกว่าถ่ายค่อนข้างยากทีเดียว เพราะตัวเครื่องแทบจะลื่นหล่นจากมือได้ทุกเวลา จุดนี้จึงน่าจะเป็นหนึ่งในข้อที่ทำให้การใช้งาน Xiaomi Mi Pad ออกมาลำบากซักเล็กน้อย

สังเกตดีๆ จะเห็นลำโพงอยู่ด้านล่างตัวเครื่องด้วยกันสองจุด ให้เสียงในระบบสเตอริโอ เสียงที่ได้ก็ดังถึงใจเลยทีเดียว คุณภาพเสียงก็อยู่ในระดับที่โอเคครับ ไม่เด่นมากนัก อยู่ในระดับแท็บเล็ตทั่วๆ ไป เสียงที่ได้จากการฟังผ่านหูฟังก็ใช้ได้ แต่ยังขาดฟีเจอร์ของซอฟต์แวร์ด้านการปรับเสียงไปซะหน่อย

1

รูปร่างหน้าตากล่องของ Mi Pad ก็ยังคงมาในแนวเดียวกับมือถือรุ่นอื่นๆ ของ Xiaomi คือมาเป็นกล่องกระดาษแข็งสีน้ำตาล ขนาดที่สามารถใส่ตัวเครื่องได้พอดีกล่อง ภายในมีอุปกรณ์ให้มาเท่าที่จำเป็นจริงๆ นั่นคือสาย Micro USB, อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ 2A, เอกสารคู่มือและเข็มจิ้มถาดใส่ MicroSD ไม่มีหูฟังให้มาด้วย ด้านล่างนี้ก็เป็นแกลเลอรี่รวมภาพตัวเครื่อง Xiaomi Mi Pad นะครับ รับชมกันได้เลย

ส่วนภาพชุดนี้ เป็นการเทียบ Xiaomi Mi Pad กับ iPad mini (รุ่นแรก) และ iPad Air เทียบกันไปเลยว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง

Software

2 เป็นที่ขึ้นชื่ออยู่แล้วว่ามือถือ แท็บเล็ต Xiaomi จะมาพร้อมรอมจากทีม MIUI ที่ขึ้นชื่อเรื่องของความสวยงาม ความลื่นไหล และการได้รับอัพเดตที่ค่อนข้างสม่ำเสมอแทบจะยิ่งกว่าอินเตอร์แบรนด์ด้วยซ้ำไป ซึ่งจากที่ทางเราได้เล่น ได้รีวิว Xiaomi Mi 3, Xiaomi Redmi Note มาจนถึง Xiaomi Mi Pad ตัวนี้ พบว่ามันก็ยังลื่นไหลเหมือนเดิม แต่มีบางส่วนที่อาจจะยังเป็นบั๊กอยู่บ้าง บางครั้งแอพก็เด้งออกเอง บางครั้งก็มีอาการหน่วงๆ ไปบ้าง?อาจจะเนื่องมาจากทีมพัฒนารอมอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับชิป NVIDIA Tegra K1 ซักเท่าไร การปรับแต่งโค้ดต่างๆ จึงอาจจะยังไม่สมบูรณ์นัก แต่ถ้าไม่มีบั๊กรบกวน Mi Pad ก็สามารถทำงานได้รวดเร็วทันใจมากๆ การตอบสนองต่อการสั่งงาน การเปิดแอพ การสลับแอพใช้งานก็ทำได้ว่องไว คล่องตัวแทบจะไม่แตกต่างจาก iPad เลย?เวลาใช้งานจริง แรมจะเหลือประมาณ 300 – 400 MB?ส่วนพื้นที่รอมให้ใช้งานนั้น เมื่อเปิดเครื่องครั้งแรก จะเหลือพื้นที่ราวๆ 12.8 GB?ก็นับว่าเพียงพอต่อการใช้งาน การลงแอพ ลงเกมอยู่แล้ว แถมยังย้ายแอพ ย้ายเกมบางส่วนไปลง MicroSD ได้ด้วย ก็จัดว่าโอเคครับสำหรับราคานี้ แต่ถ้าใครไม่ชัวร์ว่ารอม 16 GB จะพอมั้ย ก็มีรุ่น 64 GB ให้เลือกซื้อด้วยเช่นกัน แต่สำหรับในไทยอาจจะต้องลองเสาะหาตามร้านรับหิ้วกันดีๆ หน่อยครับ ราคาก็คงบวกไปเป็นหลักพันเหมือนกัน
สมบูรณ์ แต่ยังไม่สมบูรณ์แบบ

กลับมาที่เรื่องรอมและซอฟต์แวร์กันต่อ เท่าที่ทางเรารีวิว Xiaomi Mi Pad มา พบว่าอินเตอร์เฟส UI ต่างๆ ของรอม MIUI ที่ติดตั้งมาจะยังดูใช้งานบน Mi Pad ได้ไม่เต็มที่นัก อย่างหน้าจอเมนูตั้งค่า (Settings) นี่ก็มีแต่ตัวหนังสือเต็มไปหมด ต่างจากในมือถือที่ยังพอมีไอคอนช่วยสังเกตและจดจำได้บ้าง การวางวิดเจ็ตต่างๆ ก็จะดูแปลกไปซักหน่อย เพราะจะมีวิดเจ็ตอยู่สองแบบครับ

แบบแรกคือวิดเจ็ตทั่วๆ ไปอย่างที่เราคุ้นเคยบนมือถือ แท็บเล็ต Android ทั่วไป สำหรับวิดเจ็ตแบบนี้ ระบบจะบังคับให้วางไว้ในหน้าจอด้านซ้ายของหน้าแรกเท่านั้น ตัวอย่างก็ในรูปเล็กซ้ายล่างสุด ถ้าวางเต็มหน้าแล้ว ก็จะเป็นการเพิ่มหน้าไปทางซ้ายของหน้านั้น ก็นับว่าแปลกๆ นิดหน่อย แต่ถ้าใครใช้งาน OS X อยู่ ก็จะพอนึกออก กับการปัด trackpad จากซ้ายไปขวา เพื่อเข้าไปหน้ารวมวิดเจ็ตที่อยู่ทางซ้ายของหน้าจอทำงานปกติ

ส่วนวิดเจ็ตอีกแบบ จะมีเฉพาะพวกตัวเปิด/ปิดโมดูล, ตัววิดเจ็ตสำหรับเคลียร์แรมและวิดเจ็ตแสดงข้อมูลผู้ติดต่อเท่านั้น โดยจะมาในรูปแบบไอคอนแอพ มาอยู่รวมกับกลุ่มแอพในหน้าโฮมปกติ เช่นเราอาจลากไอคอนเปิด/ปิด WiFi มารวมไว้ในหน้าโฮมได้ ทำให้สามารถเปิดหรือปิด WiFi ได้ด้วยการกดที่ไอคอนแบบง่ายๆ ได้เลย ไม่ต้องลากแถบ quick settings ลงมา ก็นับว่าช่วยอำนวยความสะดวกได้ดีในระดับหนึ่งนะ

Screenshot_2014-07-25-11-18-35

และแน่นอนว่า รอมเดิมๆ ของ Mi Pad ย่อมจะไม่ได้มาพร้อมกับ Play Store จุดนี้ผู้ใช้สามารถติดตั้งเองได้อยู่ครับ วิธีการติดตั้งก็ตามนี้เลย

1) เปิด Market เดิมในตัวเครื่องขึ้นมา พิมพ์ในช่องค้นหาว่า Google

2) ติดตั้งแอพตัวแรกสุดที่มีไอคอนสีแดง มีตัว g อยู่ภายใน สร้างโดยนักพัฒนาที่มีชื่อว่า Eric Xiang (เอ้า กราบบบบบ)

3) เปิดแอพที่เพิ่งติดตั้งขึ้นมา เราจึงได้รู้ว่ามันมีชื่อ Google installer จากนั้นก็ไล่ติดตั้งเซอร์วิสและแอพจาก Google ที่ต้องการได้เลย โดยที่สำคัญสุดก็คือ Play Store นั่นเอง ในขั้นตอนระหว่างการติดตั้งนั้น จะมีการติดตั้ง Google Play Service ด้วย ซึ่งตัวนี้ล่ะครับ ตัวสำคัญที่สุดเลย จำเป็นต้องติดตั้งด้วย จึงจะสามารถใช้งานเซอร์วิสต่างๆ จาก Google ได้

4) เมื่อติดตั้ง Play Store เสร็จ ก็ล็อกอิน แล้วจัดการโหลดแอพที่ต้องการจาก Play Store ที่คุ้นเคยกันได้เลย ส่วนตัวผมก็ลองโหลดแอพต่างๆ จาก Google มาใช้เช่นในภาพขวาสุด ก็สามารถใช้งานได้เป็นปกติดีทุกตัว ไร้ปัญหา ระบบการซิงค์ข้อมูลปฏิทิน รายชื่อเพื่อน ก็สามารถทำงานได้ทั้งหมด

เพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องกลัวปัญหาเรื่องแอพบน Xiaomi Mi3 แล้ว จะดาวน์โหลดคีย์บอร์ดภาษาไทยก็ทำได้สบายๆ เลือกตัวที่ชอบกันได้เลย สำหรับเวลาติดตั้ง ถ้าหากมีปัญหา เช่น โหลดพวก framework ไม่ได้ เปิด Play Store ไม่ขึ้น หรือ Google Play service ไม่ทำงาน แนะนำว่าลองรีสตาร์ทเครื่องซักรอบ แล้วเปิดหรือทำตามขั้นตอนใหม่ดูครับ เท่าที่ผมเคยทำมาสี่ห้ารอบก็เจอปัญหาพวกนี้ประจำ แก้ด้วยการรีสตาร์ทเครื่องซักรอบ ทีเดียวหายเลย ใช้งานได้ปกติในทันที

ส่วนเรื่องภาษาของเมนูในตัวเครื่อง ถ้าเป็นรอมเดิมๆ จะมีให้เลือกแค่ภาษาจีนกับภาษาอังกฤษเท่านั้น ถ้าใครที่ใช้งานเมนูภาษาอังกฤษได้ก็ไม่น่าห่วงเท่าไรครับ เพราะการแปลเมนูนั้นค่อนข้างจะครบถ้วนดี มีแค่บางหน้าจอเท่านั้น เช่นพวกป๊อปอัพให้เลือกว่าจะทำต่อหรือยกเลิก บางหน้าก็ยังคงเป็นภาษาจีนอยู่ ก็เดาๆ กันไป แต่ทั้งนี้ ผู้รับเครื่องมาหิ้วบางรายก็มีบริการอัพเดตเมนูเป็นภาษาไทยให้ด้วยเช่นกัน ก่อนซื้อก็ลองสอบถามดีๆ นะครับว่ามีการลงเมนูไทยให้หรือเปล่า เพราะจะมาลงเองก็คงไม่ค่อยสะดวกซักเท่าไร

Camera

Review-Xiaomi-Mi-Pad-SpecPhone 008

ด้านของกล้องถ่ายรูป Xiaomi Mi Pad เองก็ใช่ย่อยเหมือนกัน เพราะมันมาด้วยกล้องหลังความละเอียด 8 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์ BSI จาก Sony ชุดเลนส์ f/2.0 ทำให้สามารถถ่ายภาพได้ดีในหลายๆ สภาพแสง จะถ่ายหน้าชัดหลังเบลอก็ทำได้ง่าย เรื่องของฮาร์ดแวร์นับว่าหายห่วงเลยทีเดียว แต่เรื่องซอฟต์แวร์ อันนี้อาจจะยังเป็นจุดที่ทำให้ Mi Pad ยังไม่โดดเด่นมาจากกล้องแท็บเล็ตทั่วไปนัก เพราะแอพกล้องเดิมๆ ของมันปรับแต่งแทบไม่ค่อยได้เลย สามารถเลือกได้แค่ฟิลเตอร์แต่งภาพที่มีมาให้ในตัวอยู่แล้ว (ดีที่สามารถเห็นภาพที่ผ่านฟิลเตอร์ได้ตั้งแต่ตอนถ่ายเลย) กับสามารถเลือกความเนียนของผิวตัวแบบได้ เสมือนใช้โหมด beauty เท่านั้นเอง ไม่มีเมนูปรับแต่งอื่นๆ เลย ต่างจากในกลุ่มของมือถือเช่น Mi 3 และ Redmi Note ที่ปรับแต่งได้หลากหลายกว่ามากๆ

 

Performance

3จุดเด่นที่สำคัญสุดของ Xiaomi Mi Pad ก็คือเรื่องของประสิทธิภาพ เนื่องด้วยสเปคที่จัดเต็มไล่มาตั้งแต่ชิปประมวลผล NVIDIA Tegra K1 ที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นชิปที่แรงสุดๆ ทั้งในด้านการประมวลผลทั่วไปและการประมวลผลกราฟิก แรมก็ใส่มา 2 GB ทำให้ผลการทดสอบจากในหลายๆ แอพออกมาสูงมากๆ แซงหน้ามือถือ แท็บเล็ตรุ่นท็อปแบบทิ้งขาด ทำให้ Mi Pad สามารถทำงานได้อย่างไหลลื่น ไม่ว่าจะเป็นการใช้แอพทั่วๆ ไป เล่นเน็ต เล่นเกม หรือจะใช้งานแอพที่ต้องเน้นการประมวลผล การเรนเดอร์สูงๆ บนแท็บเล็ตได้เป็นอย่างดี แต่ก็อาจจะยังมีปัญหาในการใช้งานทั่วไปอยู่บ้าง อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นแล้ว ดังนั้นข้อสรุปเรื่องประสิทธิภาพของ Xiaomi Mi Pad ก็สั้นๆ คือว่า “มันแรงมาก”

Screenshot_2014-07-26-00-03-35

ส่วนเรื่องการใช้พลังงานแบตเตอรี่ เท่าที่ผมรีวิวมา จากลักษณะการใช้งานทั่วๆ ไป เช่น เล่นโซเชียล เปิดหน้าเว็บ ถ่ายรูป ฟังเพลง มีเล่นเกมบ้างนิดหน่อย ก็สามารถใช้งานข้ามวันได้อย่างสบายๆ เรียกว่าแทบไม่ต่างจากแท็บเล็ตทั่วไปซักเท่าไร แต่อาจจะไม่นานถึงขั้น iPad นัก ส่วนถ้าใช้งานติดๆ กัน เปิดหน้าจอนานๆ อันนี้แบตเตอรี่จะลดค่อนข้างเร็วเลยล่ะครับ สังเกตจากกราฟด้านบนก็ได้ ถ้าใช้งานด้วยอัตรานี้ตลอดๆ รับรองว่าไม่ถึงวัน แบตหมดแน่นอน เพราะส่วนที่กินไฟสูงสุดก็คือหน้าจอ โดยถ้าคำนวณคร่าวๆ จากส่วนที่แบตเตอรี่ลดหนักๆ ก็น่าจะได้ราวๆ 8 ชั่วโมงอยู่นะ สำหรับการชาร์จไฟ แนะนำว่าควรจะใช้อะแดปเตอร์ที่จ่ายไฟได้ค่อนข้างแรงหน่อย ซัก 2A อย่างที่แถมมาในกล่องน่าจะกำลังดีครับ เพราะแบตเตอรี่มีความจุสูง ถ้าใช้ที่ชาร์จมือถือปกติ น่าจะใช้เวลานานมากๆ กว่าจะชาร์จจนเต็ม เดี๋ยวจะพาลเบื่อซะก่อน

Overall

Review-Xiaomi-Mi-Pad-Press-shot-3

เป็นอย่างไรบ้างครับกับรีวิว Xiaomi Mi Pad ของเราในครั้งนี้ ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ น่าจะตอบข้อสงสัยของหลายๆ ท่านเกี่ยวกับ Mi Pad ไปได้พอสมควร โดยเท่าที่รีวิวมา ทางเราก็สรุปได้ว่ามันเป็นแท็บเล็ต Android ที่ยอดเยี่ยมเครื่องหนึ่งเลยทีเดียวครับ ตั้งแต่เรื่องความคุ้มค่าที่คงหาคู่แข่งมาเทียบได้ยากจริงๆ กับสเปคระดับท็อป ในราคาหมื่นนิดๆ (ราคาจริงแค่ 7,000 กว่าบาทด้วยซ้ำไป) บอดี้ งานประกอบก็ไม่ใช่เล่นๆ ด้วยมาตรฐานของ Xiaomi ที่จัดเป็นแบรนด์จีนระดับคุณภาพรายหนึ่งในตลาด หน้าตาก็ถือว่าโอเค อาจจะมีข้อติเรื่องฝาหลังที่ลื่นไปซะหน่อยก็ตาม ?ส่วนเรื่องที่ว่าหน้าตาดูละม้ายคล้ายคลึงกับ iPad mini มากๆ นั้น ก็ยกให้เป็นเรื่องของแรงบันดาลใจละกันเนอะ ก็เขาบอกว่าไม่ลอกนี่นา อิอิ

จะมีที่น่าห่วงหน่อยก็แต่เรื่องช่องทางการวางจำหน่ายและการรับประกันในไทยครับ เพราะอย่างที่หลายๆ ท่านทราบกันว่า Xiaomi ยังไม่ได้เข้ามาทำตลาดในไทยอย่างเป็นทางการ ทำให้เราต้องหาซื้อผ่านทางร้านที่รับหิ้ว ส่งผลให้ทุกเครื่องที่นำมาขายกลายเป็นเครื่องหิ้วที่ไม่มีศูนย์บริการคอยซัพพอร์ตเวลาเครื่องมีปัญหา ถ้าหากเครื่องเกิดมีปัญหาขึ้นมา ผู้ซื้อจะต้องติดต่อกับทางร้านที่เราซื้อมาเอง ทางร้านจะรับเคลมให้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องของทางร้านเท่านั้นละนะครับ เพราะต้องส่งเคลมยังประเทศต้นทางที่ซื้อมาเท่านั้น ก็แบกรับความเสี่ยงกันซะหน่อยแล้วกัน

ข้อดี

  • สเปคแรงมาก ราคาไม่แพงเท่าไร คุ้มสุด
  • จอสวย คมชัด
  • กล้องจัดว่าโอเคเลย เสียที่มีฟีเจอร์ให้เล่นน้อยไปหน่อย (หาแอพกล้องมาลงก็โอเคละ)
  • รอมมีการอัพเดตอยู่เรื่อยๆ ไม่ต้องห่วงเรื่องโดนลอยแพ

ข้อสังเกต

  • ฝาหลังลื่นไปหน่อย ถ้าหาเคสมาใส่คงจะดีขึ้น
  • บางแอพยังมีปัญหาอยู่บ้าง แต่การใช้งานทั่วไปก็โอเคดี
  • ยังไม่มีศูนย์บริการและตัวแทนจำหน่ายในไทยอย่างเป็นทางการ

เทียบกับแท็บเล็ตรุ่นอื่นๆ

Screen Shot 2014-08-10 at 9.23.44 AM

ครั้งนี้นับว่าเป็นการหาคู่ชกที่ใกล้เคียงได้ยากที่สุดแล้วครับ สำหรับ Xiaomi Mi Pad เนื่องด้วยราคาที่สามารถจัดได้สองช่วง คือช่วงราคาจริงที่ประมาณ 7,000 กว่าบาท กับช่วงราคาเครื่องหิ้วที่ขายในไทยคือประมาณหมื่นต้นๆ ดังนั้นจึงขอเทียบในช่วงราคาหลังแล้วกันนะครับ ดูจะสูสีมากกว่า

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคู่แข่งจริงๆ ของ Xiaomi Mi Pad ก็คือ iPad mini with Retina Display ด้วยความเหมือนกันในหลายๆ จุด เช่นหน้าจอ ความละเอียดจอ ดีไซน์ตัวเครื่องที่ใกล้เคียงกัน จะมีจุดที่ต่างกันก็เช่น แรมที่ iPad mini 2 ให้มาเพียง 1 GB เท่านั้น แต่กลับทำคะแนนเรื่องประสบการณ์การใช้งานได้แทบไม่แตกต่างจาก Mi Pad ที่ให้แรมมา 2 GB เลย ทั้งนี้ก็เนื่องจากการปรับแต่งซอฟต์แวร์ของ Apple ที่ทำออกมาได้ดีกว่า ประกอบกับแอพสำหรับแท็บเล็ตที่ทำออกมาให้ iOS ได้ดีกว่าแอพบน Android ที่ยังง่อยๆ อยู่ในหลายจุด เรื่องนี้จึงนับเป็นจุดที่ iPad mini with Retina Display เหนือกว่า (รวมถึงเรื่องวัสดุด้วยนะ)

ส่วนจุดที่ Mi Pad ชนะขาดก็คงเป็นเรื่องความละเอียดทั้งกล้องหน้าและกล้องหลังที่ทำออกมาได้ดีเกินระดับแท็บเล็ตทั่วๆ ไป ความจุเครื่องที่สามารถเพิ่มได้ด้วย MicroSD ซึ่งถ้าเอาราคามาวางเป็นไม้บรรทัดตัดคะแนนแล้วล่ะก็ Mi Pad ชนะขาดครับ เพราะไม่ว่าจะราคาจริงหรือราคาเครื่องหิ้วก็ยังถูกกว่า iPad mini อยู่ดี

สำหรับแท็บเล็ตอีกรุ่นที่พอฟัดพอเหวี่ยงกับ Xiaomi Mi Pad ได้สมน้ำสมเนื้อก็คือ Nexus 7 (2013) ครับ โดยรุ่นที่ขายอย่างเป็นทางการในไทยจะเป็นรุ่น cellular 32 GB ราคาก็จัดว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ Mi Pad แต่ได้จุดที่เหนือกว่ากันก็หลายด้านอยู่ เช่นเรื่องของการเชื่อมต่อที่สามารถใส่ซิมใช้งาน 3G/4G LTE ได้ ศูนย์บริการที่มีแน่นอน สเปคก็จัดว่าแรงเหลือเฟือสำหรับการใช้งานทั่วไปอยู่แล้ว และที่สำคัญที่สุดก็คือความเป็น Nexus ที่การันตีเรื่องการอัพเดตเวอร์ชัน Android ในอนาคตแน่นอน อย่างในขณะนี้ก็มี Android L รุ่นเวอร์ชันทดสอบ (Developer Preview) ออกมาให้ลองใช้งานกันอยู่ด้วย ถ้าใครอยากได้เรื่องความเสถียร ความแรงแบบ Pure Google ตัวของ Nexus 7 (2013) cellular ก็เป็นตัวเลือกอีกรุ่นที่น่าสนใจเลยทีเดียว ในช่วงราคาที่ใกล้เคียงกับ Xiaomi Mi Pad

ปิดท้ายด้วย Samsung Galaxy 4 8.0 (cellular) ที่มีราคาใกล้เคียงกับ Mi Pad เครื่องหิ้วมากที่สุด แม้ว่าในเรื่องสเปคอาจจะดูด้อยกว่าหลายด้าน แต่ก็มาพร้อมความสามารถในการใช้งาน 3G ได้ จึงสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ทั่วถึงและง่ายกว่า Mi Pad อยู่นิดนึง ที่สำคัญคือหาซื้อได้ง่ายด้วยครับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก