ช่วงปีสองปีหลังมานี้ เทรนด์ของสมาร์ทโฟนเริ่มกระจายความกว้างขึ้น จากที่แต่เดิมเราจะเห็นสมาร์ทโฟนรุ่นท็อปเท่านั้นที่เป็นกระแสหลัก และได้รับความสนใจ ก็เนื่องมาจากความห่างของระดับสเปคระหว่างรุ่นบนกับรุ่นล่างที่กว้างมากๆ ในขณะที่เครื่องรุ่นล่างนั้นแทบจะทำอะไรไม่ได้มากอย่างที่สมาร์ทโฟนควรจะเป็น แต่พอในช่วงหลังมานี้ เทคโนโลยีสเปคมือถือพัฒนาไปไกลมาก จนทำให้สามารถผลิตอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในระดับที่น่าพอใจ ด้วยต้นทุนต่ำลงกว่าอดีต เราจึงได้เห็นสมาร์ทโฟนรุ่นล่างและรุ่นกลางเข้ามาอยู่ในเทรนด์ผู้ใช้งานมากขึ้น สังเกตได้จากยอดขายสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเป็นกลุ่มของรุ่นราคาไม่แพงซะเป็นส่วนใหญ่ ด้วยความที่มันสามารถทำงานทั่วไปได้ทั้งหมด และราคาที่ไม่แพง
ซึ่งบรรดาสมาร์ทโฟนราคาไม่แพงเหล่านี้ มีหลายรุ่นทีเดียวที่ออกแบบมาสำหรับเป็นตัวเลือกให้ผู้ต้องการเริ่มใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยใช้งานฟีเจอร์โฟนมาก่อน และอยากเปลี่ยนเป็นสมาร์ทโฟน เพราะช่วงราคามันก็ไม่ได้ห่างกันมากนัก อย่างในคราวนี้ SpecPhone เราก็ได้รับสมาร์ทโฟนรุ่นหนึ่งมารีวิวครับ นั่นคือ Acer Liquid Z3 ที่ออกแบบมาสำหรับผู้เริ่มต้นเปลี่ยนมาใช้งานสมาร์ทโฟนได้เป็นอย่างดีทีเดียว ไม่ว่าจะเรื่องราคาที่เปิดมาเพียง 2,590 บาท แต่ได้พลังประมวลผลจากชิปแบบ Dual-core?รวมไปถึงเรื่องดีไซน์ภายนอกและภายใน เอาเป็นว่าเราไปชมกันเลยดีกว่าครับ กับรีวิว Acer Liquid Z3 ในครั้งนี้
Acer Liquid Z3 นั้น อย่างที่เกริ่นไปในช่วงต้นของรีวิวแล้ว นั่นก็คือได้ถูกวางไลน์ไว้ให้เป็นสมาร์ทโฟนสำหรับผู้เริ่มต้นเปลี่ยนมาใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นหลัก มันจึงมาพร้อมกับฟีเจอร์ที่จำเป็นสำหรับผู้ใช้งานแต่ละกลุ่ม และนอกเหนือจากมิติของตัวผลิตภัณฑ์ที่เราจะพูดถึงในรีวิวแล้ว ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจครับ นั่นคือ Acer Liquid Z3 นี้เป็นการร่วมมือกันทำตลาดระหว่าง Acer ไทย กับ AIS ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือรายใหญ่ในไทย เรียกว่าซื้อ Acer Liquid Z3 เครื่องเดียวก็ได้รับทั้งตัวเครื่องและบริการ 3G/ค่าโทรจาก AIS ไปใช้งานด้วยเลย ในชื่อแคมเปญว่า AIS 3G Super Combo โดยจะมีโปรโมชันดังนี้
โปรโมชันสำหรับผู้ใช้รายเดือน
ลดค่าบริการรายเดือน 50% จากแพ็ก 3G iSmart 599 บาท เหลือเพียง 299 บาท/เดือน นาน 10 เดือน รวมมูลค่า 3,000 บาท
โปรโมชันสำหรับผู้ใช้แบบเติมเงิน
ค่าโทรฟรีมูลค่า 2,400 บาท
นอกเหนือจาก Acer Liquid Z3 จะมาพร้อมโปรโมชัน AIS แล้ว ยังมีการติดตั้งแอพพลิเคชันของ AIS มาให้อีก ไม่ว่าจะเป็น AIS Live TV, AIS mySticker, AIS Photobox, AIS Privilege และ AIS eService
ก็นับว่า Acer Liquid Z3 เป็นสมาร์ทโฟนที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่จะใช้งานเครือข่าย AIS อยู่แล้ว (หรือจะเอาซิมเครือข่ายอื่นมาใช้งานก็ได้นะ) โดยนอกเหนือจากจะเป็นพาร์ทเนอร์หลักแล้ว AIS จะเป็นผู้แทนจำหน่าย Acer Liquid Z3 ตาม AIS ช็อป, ร้านเทเลวิซและตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศด้วย ซึ่งก็เป็นนโยบายช่วยกระจายสินค้าที่ดีครับ
มาพูดกันถึงรีวิว Acer Liquid Z3 กันบ้าง ตัวกล่องนั้นจะเป็นกล่องกระดาษสีน้ำตาลธรรมดา เปิดมาภายในก็จะมีตัวเครื่องอยู่ส่วนบนสุด ภายในกล่องก็มีอุปกรณ์พื้นฐานอย่างสาย Micro USB สำหรับชาร์จไฟ มาพร้อมกับอะแดปเตอร์ ส่วนด้านล่างก็เป็นพวกเอกสารคู่มือต่างๆ ไม่มีหูฟังมาให้นะครับ
ดูที่ตัวเครื่อง Acer Liquid Z3 กันบ้าง จุดเด่นที่สุดก็คือฝาพับที่เป็น cover ด้านหน้า ซึ่งเป็นฝาที่ติดตั้งมากับตัวเครื่องเลย ไม่สามารถแกะออกได้ โดยสาเหตุที่มีฝาปิดมาให้เลย ทาง Acer ก็ให้เหตุผลว่าเพื่อความสะดวกของผู้ใช้งาน จะได้ไม่ต้องไปวุ่นหาฟิล์มกันรอยหรือเคสมาใส่เครื่องอีก เพราะเชื่อว่าหลายๆ ท่านที่ใช้สมาร์ทโฟนรุ่นที่ไม่ใช่รุ่นท็อปหรือรุ่นที่ได้รับความนิยมสูง คงจะหาอุปกรณ์เสริมเหล่านั้นได้ยาก หรือหาได้แต่ก็มีราคาที่แพง ประกอบกับกลุ่มเป้าหมายหลักของ Acer Liquid Z3 คือกลุ่มผู้ที่เปลี่ยนมาใช้สมาร์ทโฟนเป็นครั้งแรก การที่จะไปหาซื้อเคสหรือฟิล์มกันรอยคงเป็นเรื่องลำบากแน่นอน Acer จึงจัดการ build-in ฝาปิดจอมาให้ซะในตัวเลยนั่นเอง (ดูหรูดีด้วยนะ) โดยผิวด้านนอกจะเป็นผ้าลายทางไม่อุ้มน้ำ สามารถเช็ดทำความสะอาดได้ง่าย ส่วนบนมีการเว้นไว้เป็นโลโก้ AIS 3G 2100 ส่วนด้านล่างเป็นโลโก้ Acer โดยด้านในของฝาพับที่เป็นส่วนสัมผัสกับจอนั้น จะใช้เป็นผ้ากำมะหยี่ขนสั้น
สเปค Acer Liquid Z3
- ชิปประมวลผล MediaTek MT6572 Dual-core ความเร็ว 1 GHz มาพร้อม GPU เป็น Mali-400
- แรม 512 MB
- หน้าจอขนาด 3.5 นิ้ว ความละเอียด 480 x 320
- กล้องหลังความละเอียด 3 ล้านพิกเซล ไม่มีกล้องหน้า
- รองรับ 2 ซิม
- รองรับ 3G คลื่นความถี่ 900 (AIS) และ 2100 MHz (ใช้ได้ทุกเครือข่ายในอนาคต)
- Android 4.2.2 Jelly Bean สามารถใช้งาน Play Store เพื่อเข้าไปดาวน์โหลดแอพได้ตามปกติ
- แบตเตอรี่ความจุ 1500 mAh
- ราคา 2,590 บาท พร้อมโปรโมชันจาก AIS
- สเปค Acer Liquid Z3
ในด้านสเปค อาจจะไม่ใช่จุดเด่นของเครื่องนี้ซักเท่าไรนัก เนื่องด้วยถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานธรรมดาทั่วไปสำหรับกลุ่มผู้เริ่มต้น ดังนั้นในรีวิว Acer Liquid Z3 เราจะเน้นไปที่ฟีเจอร์มากกว่าความแรงของเครื่องนะครับ
ได้เวลาเปิดฝาพับแล้ว เมื่อเปิดออกก็จะพบกับตัวเครื่อง Acer Liquid Z3 ที่รูปทรงก็จะดูคล้ายสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นของ Acer โดยด้านบนเป็นตำแหน่งของลำโพงสนทนาและยังมีเซ็นเซอร์วัดระดับแสง สำหรับปรับความสว่างจออัตโนมัติอีกด้วย ซึ่งนับว่าน่าสนใจทีเดียว เพราะสมาร์ทโฟนรุ่นราคาประหยัดส่วนใหญ่จะไม่ได้ติดตั้งเซ็นเซอร์วัดความสว่างเอาไว้ในตัว นอกจากนี้ยังมีหลอดไฟ LED แสดงสถานะอยู่ดวงเล็กๆ ด้วย ซึ่งจะแสดงสถานะของแบตเตอรี่เป็นหลัก เช่นขณะกำลังชาร์จอยู่ เป็นต้น
ส่วนด้านล่างจอก็จะเป็นแถบของปุ่มกดแบบ capacitive ซ้ายสุดคือปุ่ม back ตรงกลางคือปุ่มโฮมที่หากกดค้างไว้จะเป็นการเปิดใช้งาน Google Now ส่วนปุ่มขวาสุดคือปุ่ม Recent Apps ครับ
ส่วนของหน้าจอแสดงผล เท่าที่ผมรีวิว Acer Liquid Z3 มา การแสดงผลของจอก็ใช้งานได้ในระดับหนึ่งครับ ถ้าใช้งานในที่ร่มนั้น สมารถใช้งานได้ดีทีเดียว แต่ถ้ากลางแจ้งก็คงลำบากนิดหน่อย เพราะกระจกจอค่อนข้างจะสะท้อนแสงพอสมควร มุมมองด้านข้างก็ถือว่าทำได้ดีเลย สำหรับพาเนลจอแบบ TFT ส่วนด้านของความละเอียดจอ ถ้าหากคุณเคยใช้งานสมาร์ทโฟนที่จอความละเอียดสูงมาก่อน แล้วมาเจอจอความละเอียด 480 x 320 ของ Acer Liquid Z3 ก็คงจะรู้สึกว่าภาพมันแตก ไม่ค่อยสวยเท่าไร แต่สำหรับผู้ที่เริ่มเปลี่ยนการใช้งานจากฟีเจอร์โฟนที่จอเล็กกว่านี้มาเป็นสมาร์ทโฟน ก็ไม่น่าจะมีปัญหามากนัก แถมถ้าหากอัดความละเอียดจอให้สูงกว่านี้ ตัวอักษรและภาพที่แสดงบนจอก็คงจะเล็กกว่านี้ลงไปอีกแน่ๆ ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงมาก เพื่อที่จะให้ราคาขายไม่สูงเกินไป ง่ายต่อการซื้อหา ดังนั้นกับจอขนาด 3.5 นิ้ว ความละเอียด 480 x 320 จึงค่อนข้างจะเหมาะสมอยู่แล้ว
พลิกมาดูด้านหลังของ Acer Liquid Z3 กันบ้าง ฝาหลังทำมาจากพลาสติกแข็ง ผิวลื่น สีดำด้านๆ ให้สัมผัสที่นิ่มและเนียนมือ เนื่องด้วยตรงขอบเครื่องออกแบบมาให้เป็นขอบโค้ง ทำให้สามารถถือใช้งานได้สบายมือมากๆ ส่วนบนมีกล้องหลังความละเอียด 3 ล้านพิกเซลแบบ fixed focus คือไม่สามารถปรับจุดโฟกัสได้ ที่มีข้อดีคือสามารถใช้งานง่าย ถ่ายได้เร็วเพราะถ่ายไปตรงไหนก็ชัดหมด ขอแค่ให้ไม่ใกล้เกินระยะโฟกัสก็เพียงพอ เหมาะสำหรับถ่ายรูปทั่วๆ ไปที่ไม่จำเป็นต้องเน้นจุดใดจุดหนึ่งของรูปเป็นพิเศษ
ส่วนด้านล่างก็เป็นตำแหน่งของลำโพง โดยจุดที่น่าสนใจที่สุดก็คือโลโก้ dts ครับ เพราะนั่นหมายถึงว่า Acer Liquid Z3 มาพร้อมกับระบบเสียง DTS ในตัวนั่นเองครับ จัดว่าน่าสนใจทีเดียวกับสมาร์ทโฟนราคาไม่ถึง 3,000 บาท แต่มาพร้อมระบบเสียงคุณภาพที่มีเพียงไม่กี่รุ่นในตลาดเท่านั้นที่ใช้งานระบบเสียง DTS ซึ่งจากที่รีวิว Acer Liquid Z3 มา ไม่ว่าจะทั้งฟังเพลงจากลำโพงของเครื่องหรือจากหูฟัง พบว่าเสียงอยู่ในระดับที่น่าพอใจทีเดียว แถมยังมีทูลปรับแต่งอย่าง DTS Sound ที่สามารถปรับระดับเสียง Equalizer, Bass และ Treble ได้ตามใจชอบ ช่วยให้ฟังเพลงได้สนุกดีเลย และแน่นอนว่าสามารถฟังวิทยุ FM ได้ด้วย แต่ต้องเสียบหูฟังด้วยนะครับ
เมื่อแกะฝาหลังออกมาดู ก็จะเห็นได้ชัดเลยว่าแผ่นปิดจอได้ถูกติดตั้งมากับฝาหลังเรียบร้อย ไม่สามารถแกะออกเองได้ นอกเสียจากว่าจะตัดออก ส่วนของตัวเครื่องนั้นก็จะพบกับแบตเตอรี่ Li-ion ความจุ 1500 mAh ก่อนเลย ซึ่งกับสมาร์ทโฟนเครื่องเล็กขนาดนี้ ก็ถือว่าไม่มากไม่น้อยจนเกินไปสำหรับการใช้งานธรรมดาทั่วไป ใต้แบตเตอรี่ก็มีช่องใส่ซิมการ์ดขนาดปกติ 2 ช่อง และช่อง microSD ตามมาตรฐาน
เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องฝาปิดจอหน่อยนะครับ ภายใต้ฝาไม่ได้มีการฝังแถบแม่เหล็กใดๆ ไว้ทั้งสิ้น ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้การปิดฝาจอเพื่อปิดหน้าจอ รวมไปถึงไม่สามารถเปิดฝาจอออก แล้วให้จอเปิดขึ้นมาเพื่อใช้งานได้ทันที ตัวฝาปิดจอมีหน้าที่แค่ “ปิดคลุมหน้าจอ” จริงๆ นะครับ ไม่ได้มีฟีเจอร์สั่งงานพิเศษใดๆ
ด้านข้างของ Acer Liquis Z3 ก็มีช่องเชื่อมต่อทั่วๆ ไป ไล่จากด้านบนจะมีปุ่ม Power และช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร ด้านล่างมีช่อง Micro USB สำหรับเสียบสายชาร์จ รวมไปถึงใช้ในการแงะฝาหลังออกมาด้วย ส่วนด้านข้างก็จะมีแต่ฝั่งขวาที่มีปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงเท่านั้น
ขนาดตัวเครื่องค่อนข้างเล็กครับ สำหรับผู้ที่เคยใช้งานสมาร์ทโฟนจอใหญ่ๆ มาก่อน
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจที่สุดในรีวิว Acer Liquid Z3 ครั้งนี้ก็คือ Quick Mode นี่ล่ะครับ เพราะมันคือฟีเจอร์ที่ออกแบบมาให้เหมาะสำหรับผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนแต่ละกลุ่มที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของ Acer Liquid Z3 โดยจะเป็นการปรับเปลี่ยนหน้าจอแสดงผลให้เป็นไปตามรูปแบบที่เหมาะสมต่อการใช้งานและความต้องการของผู้ใช้แต่ละกลุ่ม ซึ่งจะมี 4 กลุ่มด้วยกัน ดังนี้
Basic Mode (ซ้ายบน)
เป็นโหมดที่ออกแบบมาสำหรับให้เด็กใช้ โดยบนหน้าจอจะมีไอคอนที่เราสามารถตั้งค่าเบอร์และชื่อผู้ติดต่อที่เราอยากจะให้เด็กโทรออก เช่น พ่อ แม่ ครู เป็นต้น ซึ่งการโทรออกก็ง่ายมาก เพียงแค่กดที่รูปไอคอน ก็จะสามารถกดโทรออกได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องกดเบอร์หรือหาจากสมุดรายชื่อ นอกจากนี้ยังสามารถส่ง SMS แบบฉบับเดียว หรือจะส่งแบบ forward ไปหลายๆ ฉบับพร้อมกันก็ยังได้
Senior Mode (ขวาบน)
โหมดนี้ออกแบบมาสำหรับให้ผู้สูงอายุใช้งาน เนื่องด้วยมีการจัดเรียงไอคอนบนหน้าจอเป็นแอพพลิเคชันที่จำเป็น เช่นการส่ง SMS, ฟังวิทยุ FM, ข้อมูลสภาพอากาศ, แว่นขยายสำหรับช่วยอ่านหนังสือ (ก็คือการเปิดใช้งานกล้องถ่ายรูปนั่นเอง) และแน่นอนว่าจะมีไอคอนทางลัดสำหรับโทรออกคล้ายกับใน Basic Mode ด้วย แม้ว่าเราอาจจะเห็นว่ามีแค่ 3 ไอคอน แต่อันที่จริงแล้ว เราสามารถเลื่อนแถบไอคอนแถวนั้นไปซ้าย/ขวาได้ โดยเราสามารถตั้งค่าเบอร์โทรได้สูงสุด 10 เบอร์ด้วยกัน หรือถ้าต้องการจะกดเบอร์ตามแบบปกติ ก็สามารถกดที่ไอคอนรูปโทรศัพท์ด้านล่างได้เช่นเคย
Keypad Mode (ซ้ายล่าง)
สำหรับผู้ที่เพิ่งเปลี่ยนจากฟีเจอร์โฟนมาใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นครั้งแรก น่าจะเหมาะกับโหมดนี้ครับ เพราะจะมีการแสดงปุ่มตัวเลขให้สามารถกดใช้ได้เลยตั้งแต่หน้าแรก พร้อมกับยังมีไอคอนแอพจำเป็นมาให้ใช้งานอีกด้วย ซึ่งก็น่าจะช่วยปรับรูปแบบการใช้งานจากฟีเจอร์โฟนมาเป็นสมาร์ทโฟนได้ในระดับหนึ่ง
Classic Mode (ขวาล่าง)
ส่วนโหมด Classic ก็เป็นการใช้งานในรูปแบบสมาร์ทโฟนนี่ล่ะครับ แต่จะจัดเรียงไอคอนแอพเป็นหมวดหมู่ให้สามารถค้นหาได้ง่าย เช่นแบ่งเป็นหมวด Utilities, Social, Internet, Media, Info Center ทั้งรูปแบบการใช้งานก็สามารถทำได้เหมือน Android หน้าตาปกติ เช่นสามารถโหลดแอพจาก Play Store ได้ด้วย เหมาะสำหรับคนที่อยากใช้สมาร์ทโฟนแบบง่ายๆ แถมอินเตอร์เฟสก็ดูใหญ่ สบายตา รับรองว่าใช้ได้กับทุกวัยแน่นอน
สำหรับใครที่กลัวว่า ตั้งค่า Quick Mode ให้กับคนที่เราซื้อ แล้วเขาจะไปกดเปลี่ยนโหมด เปลี่ยนการตั้งค่าตามใจชอบ อันนี้ก็หมดห่วงไปได้เลยครับ เพราะถ้าหากใช้งาน Quick Mode อยู่ แล้วต้องการจะปรับการตั้งค่า ก็จำเป็นจะต้องใส่รหัสผ่าน 4 ตัวก่อนทุกครั้ง ซึ่งรหัสผ่านชุดนี้ ระบบจะบังคับให้ตั้งเอาไว้ตั้งแต่เปิดใช้งาน Quick Mode ครั้งแรกอยู่แล้ว
ตัวอย่างอินเตอร์เฟสในรีวิว Acer Liquid Z3
จุดที่น่าสนใจก็คือส่วนของ DTS Sound ที่ใช้ตั้งค่าระบบเสียง DTS ซึ่งสามารถปรับแต่งระดับเสียง Bass และ Treble ได้ค่อนข้างอิสระ ทั้งยังใช้ปรับ Equalizer ได้อีกด้วย ซึ่งจากที่รีวิว Acer Liquid Z3 มา ก็พบว่าสามารถใช้ฟังเพลงได้ดีไม่ว่าจะจากลำโพงในเครื่องหรือจากหูฟังอย่างที่กล่าวไปในข้างต้นแล้ว
ส่วนคีย์บอร์ดที่ติดตั้งมาใน Acer Liquid Z3 จะเป็นคีย์บอร์ดชื่อว่า Swype ที่สามารถลากตัวอักษรให้เป็นคำได้ แต่ปุ่มภาษาไทยอาจจะดูเล็กกดใช้งานลำบากไปซักหน่อย เพราะจอที่มีขนาดเพียง 3.5 นิ้วเท่านั้น
การใช้งานเว็บเบราเซอร์สำหรับเปิดเว็บใน Acer Liquid Z3 นั้น ถ้าเป็นหน้าเว็บแบบเต็มรูปแบบ (แบบ desktop) คงจะค่อนข้างลำบากทีเดียว เพราะหน้าจอที่มีชนาดเล็ก ตัวอักษรก็เลยต้องถูกบีบขนาดตามมา เวลาจะอ่านจริงๆ เลยต้องซูมเข้าซูมออกกันสักเล็กน้อย แต่ถ้าเว็บไหนมาพร้อมการแสดงผลในหน้าโมบายล์ อันนี้ก็สบายไปครับ เพราะส่วนใหญ่จะปรับขนาดตัวอักษรให้เหมาะสมกับหน้าจออยู่แล้ว ปิดท้ายด้วยแอพ Facebook อันนี้ไม่ต้องห่วงเลย เพราะตัวอักษรสามารถอ่านได้ง่าย สบายตามากทีเดียว
เรื่องประสิทธิภาพนั้น คงไม่ใช่ประเด็นใหญ่สำหรับ Acer Liquid Z3 เท่าไรนัก เพราะมันถูกออกแบบมาให้เป็นสมาร์ทโฟนที่จะเข้ามาแข่งกับฟีเจอร์โฟนโดยตรง จึงไม่จำเป็นที่จะต้องแรงมากนัก ขอแค่อยู่ในระดับที่สามารถใช้งานธรรมดาๆ ทั่วไปได้ไหลลื่นก็เพียงพอแล้ว ซึ่ง Acer Liquid Z3 ก็สามารถตอบโจทย์ตรงส่วนนี้ได้ดี การใช้งาน การเลื่อนหน้าแอพทำได้ไหลลื่นดี ด้วยพลังของชิปประมวลผลแบบ Dual-core จาก MediaTek แถมถ้าใช้งานใน Quick Mode ก็ยิ่งสบายใหญ่เลย เพราะหน้าจอแทบจะไม่มีการเคลื่อนไหวอนิเมชันมากนัก แถมถ้าให้เทียบความไวในการตอบสนองกับฟีเจอร์โฟน ถือว่าตัวนี้ไวกว่าด้วยซ้ำไป
ส่วนระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ เท่าที่ลองใช้งานแบบเบาๆ คล้ายฟีเจอร์โฟน เช่นหยิบมาใช้แค่ตอนจะโทร ใช้งานไม่บ่อย เปิดดู Facebook บ้าง ไม่ได้ใช้ติดกันนานๆ ถี่ๆ เหมือนสมาร์ทโฟน รวมไปถึงเปิดใช้งาน 2 ซิม ผลออกมาก็คือสมารถใช้งานได้เกินวันแบบสบายๆ (แถมอยู่ได้ร่วม 2 วันกว่าๆ ด้วยซ้ำ)
อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่น่าสนใจในการรีวิว Acer Liquid Z3 ก็คือ Float Caller ที่ถ้าหากมีคนโทรเข้ามา สำหรับ Android ปกติแล้วก็จะเปลี่ยนหน้าเป็นหน้าจอของสายเข้าแบบเต็มจอ แต่กับ Float Caller นั้น จะแสดงผลเป็นแค่แถบเล็กๆ อย่างในภาพขวา ที่แสดงแค่ว่าใครโทรมา และมีตัวเลือกว่าจะรับสายหรือไม่ คล้ายกับในแบบเต็มจอปกติ ซึ่งการแสดงผลแบบนี้จะใกล้เคียงกับพวก Mini Apps ในสมาร์ทโฟนตัวแรงๆ บางรุ่น ซึ่งก็มีประโยชน์ในบางกรณี เช่น เรายังไม่อยากรับสาย เพราะต้องการอ่านข้อมูลที่อ่านอยู่ให้หมดก่อน เป็นต้น
ตัวอย่างภาพถ่ายจากรีวิว Acer Liquid Z3
สรุปรีวิว Acer Liquid Z3
ก็จบไปอีกหนึ่งรุ่นนะครับ สำหรับรีวิว Acer Liquid Z3 ที่ออกแบบมาให้เป็นสมาร์ทโฟนสำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนจากฟีเจอร์โฟนมาใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นครั้งแรก ด้วยหลายๆ ฟีเจอร์ที่ทำมาได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอ Quick Mode ที่สามารถเลือกใช้งานโหมดต่างๆ ได้ตามกลุ่มของผู้ใช้งาน รูปร่างตัวเครื่องที่ออกแบบมาในระดับพอดีๆ รวมไปถึงฝาปิดหน้าจอที่ติดตั้งมากับตัวเครื่อง ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องไปซื้อหาเคสและฟิล์มกันรอยเพิ่มเติม และสุดท้ายก็คือราคาที่เปิดมาเพียง 2,590 บาท สามารถตัดสินใจซื้อได้ง่าย เพราะราคามันต่างจากฟีเจอร์โฟนไม่เท่าไรเอง
และการจับมือกับ AIS ก็เรียกว่าน่าสนใจทีเดียว เพราะนอกจากจะได้ในเรื่องของโปรโมชันอย่างที่กล่าวไปในข้างต้นแล้ว ยังจะได้ในเรื่องของช่องทางการจัดจำหน่ายที่จะมีวางขายตาม AIS ช็อปและร้านเทเลวิซ ซึ่งปกติก็มีอยู่แทบจะทั่วประเทศอยู่แล้ว จึงน่าจะเป็นสมาร์ทโฟนที่สามารถหาซื้อได้ง่ายตามต่างจังหวัด ส่วนการส่งศูนย์บริการก็สามารถทำได้ง่ายดาย เพราะสามารถส่งเครื่องเข้ารับบริการได้ที่ศูนย์บริการของ Acer ที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศครับ
ข้อดี
- ราคาย่อมเยา สามารถตัดสินใจซื้อได้่ง่าย เป็นสมาร์ทโฟนจากอินเตอร์แบรนด์ที่ราคาถูกที่สุดรุ่นหนึ่งในตลาด
- Quick Mode สามารถใช้งานได้ดี เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม
- สเปคเครื่องที่มาพร้อมชิปประมวลผลแบบ Dual-core ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้งาน เหมาะกับการนำมาแทนฟีเจอร์โฟนได้เป็นอย่างดี
- มาพร้อมแผ่นปิดหน้าจอ ทำให้ไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อเคสและฟิล์มกันรอยเพิ่มก็ได้
- มาพร้อมโปรโมชันจาก AIS ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น
ข้อสังเกต
- หน้าจอขนาดเล็กไปหน่อย ถ้าขนาด 4 นิ้ว น่าจะกำลังดี
- แผ่นปิดจอไม่สามารถดึงออกได้ ถ้าจะเอาออก จำเป็นต้องตัดจากฝาหลังเลย