[Review] Moto M สัมผัสประสบการณ์แบบ Pure Google ในวันที่ Motorola รวมตัวกับ Lenovo

ในช่วง 5-6 ปีมานี้ เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของ Motorola หนึ่งในอดีตยักษ์ใหญ่วงการมือถือระดับโลกกันอยู่ตลอด ที่เป็นข่าวใหญ่เลยก็คือการเข้าไปอยู่ภายใต้ร่มของ Google ที่ทำให้หลายๆ คนคาดหวังว่าในที่สุด Google ก็จะหันมาทำมือถือของตนเองแบบจริงจังเสียที จากการร่วมมือกับทีม Motorola ที่เคยฝากผลงานชั้นยอดเอาไว้ แต่เราก็ได้เห็นออกมาแค่ไม่เท่าไหร่ แถมยังดูเหมือนจะเป็นแค่การร่วมมือกันแบบห่างกว่าที่คาดซะด้วยซ้ำ จนในเวลาต่อมาไม่นานก็เกิดข่าวช็อคโลกขึ้นมาอีกรอบ เมื่อทีมงานฝั่งมือถือของ Motorola ถูกซื้อมาอยู่ภายใต้ร่มของ Lenovo ที่เป็นยักษ์ใหญ่จากฝั่งจีน ซึ่งตอนนี้เราก็เริ่มได้เห็นกันแล้วครับว่า Moto ที่มาอยู่กับ Lenovo มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง จากผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ ที่ออกมา อย่างในคราวนี้ SpecPhone เราก็มีเครื่องมารีวิวให้ชมกัน นั่นคือ Moto M มือถือรุ่นกลางๆ ราคาไม่ถึงหมื่นเครื่องนี้นี่เอง !!

ก่อนอื่น มาดูสเปค Moto M กันก่อนครับ

  • ชิปประมวลผล MediaTek Helio P15 (MT6755T) 8 คอร์ ความเร็ว 2.2 GHz
  • แรม 4GB
  • รอม 32GB รองรับ MicroSD สูงสุด 128GB
  • หน้าจอ IPS ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียดระดับ Full HD (1080p) กระจกหน้าจอ Gorilla Glass
  • Android 6.0 Marshmallow แบบไม่ปรุงแต่ง
  • ถาดใส่ซิมเป็นแบบไฮบริดนาโนซิม
  • แบตเตอรี่ 3050 mAh รองรับระบบชาร์จเร็ว Quick Charge ที่ 5V 2A
  • กล้องหลัง 16 ล้านพิกเซล f/2.0 ไฟแฟลชแบบคู่ ระบบโฟกัสแบบ PDAF
  • กล้องหน้า 8 ล้านพิกเซล
  • ใช้พอร์ตชาร์จแบบ USB Type-C
  • มีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือด้านหลังเครื่อง
  • เคลือบ Nano-Coating ช่วยป้องกันละอองน้ำหกและน้ำกระเซ็น
  • Bluetooth 4.1 และรองรับ WiFi 802.11ac ทั้งคลื่น 2.4 และ 5 GHz
  • ระบบเสียง Dolby ATMOS
  • ราคา 9,990 บาท
  • สเปค Moto M แบบเต็มๆ

Motorola Moto M ได้รับการวางคอนเซ็ปท์มาให้เป็นมือถือรุ่นกลางๆ ราคาคุ้มค่า ประสิทธิภาพดี ภายใต้สไตล์ที่โดดเด่น ดูทันสมัย ซึ่งต้องบอกว่าการเปิดตัวและวางจำหน่ายในไทยจะดูเงียบๆ ซักหน่อย แต่ตัวของมันเองจัดว่าอยู่ในกลุ่มเครื่องน่าสนใจมากๆ ทั้งด้วยความครบเครื่อง และความเป็น Pure Android ของฝั่งระบบปฏิบัติการ เนื่องจากมือถือรุ่นที่ขายในไทยในปัจจุบัน หารุ่นที่เป็น Pure Android ไร้การปรุงแต่งในราคาไม่ถึงหมื่นได้ยาก ที่ดูจะใกล้เคียง ส่วนใหญ่ก็จะปรุงแต่งจุดเด่นและฟีเจอร์ของแต่ละแบรนด์กันเข้ามา จึงทำให้ Moto M เป็นเครื่องที่น่าสนใจสำหรับคนที่ต้องการเครื่องที่มาพร้อมซอฟต์แวร์แบบสะอาด ไร้แอปกวนใจ ในราคาไม่แพงได้อย่างแน่นอน

Review-Moto-M-SpecPhone-February 09, 2017-1

ข้อดี

– งานประกอบ วัสดุ การสัมผัสทำได้ดี สมชื่อ Moto
– ความเป็น Pure Google ทำให้แทบไม่มีแอปส่วนเกินติดเครื่อง
– ได้รับสิทธิ์อัพโหลดภาพแบบไม่บีบอัดไปเก็บบน Google Photos ฟรี 2 ปี
– ตัวเครื่องเคลือบสาร nano coating ป้องกันละอองน้ำ (ไม่ได้กันน้ำถึงขั้นจุ่มน้ำได้)
– ได้รับอัพเดตรวดเร็ว
– ราคาดี คุ้ม สำหรับคนอยากได้มือถือใช้งานลื่นๆ แบบ Pure Google

ข้อสังเกต

– จออาจจะดูสีซีดไปซักนิด แต่สามารถปรับโทนสีให้เข้มขึ้นได้
– แบตเตอรี่อยู่ในเกณฑ์ใช้งานได้ตามปกติ ไม่ได้นานถึงระดับ Moto รุ่นอื่นๆ
– กล้องหลังให้ภาพคุณภาพระดับปานกลางเท่านั้น
– แอปตระกูล Microsoft Office ที่ติดมาในเครื่อง ไม่สามารถลบออกได้ด้วยวิธีปกติ

บทสรุป

อันที่จริง หากจะจัดให้ Moto M เป็นเสมือนมือถือตระกูล Nexus ในยุคนี้ ก็คงทำได้อยู่เหมือนกันครับ ด้วยการที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 6.0 แบบแทบจะ Pure Google 100% ทำให้แทบไม่ต้องกังวลเรื่องแอปส่วนเกินที่ผู้ผลิตมักจะใส่มาเป็นของแถม ส่วนเรื่องฟีเจอร์ Moto (Lenovo) ก็ใส่ให้มาไม่มากนัก ไปเด่นตรงด้านฮาร์ดแวร์ที่ภายนอกทำออกมาได้ดูแข็งแรง เรียบหรูตามสไตล์ของ Lenovo ที่เป็นบริษัทแม่ ส่วนฮาร์ดแวร์ภายในก็ทำออกมาได้ลงตัว ใช้งานได้ไหลลื่น ทำให้ผู้ใช้ไม่ตัองกังวลเรื่องการทำงานของระบบเลยว่าจะมีปัญหาจุกจิกน่ารำคาญใจ นับว่าเป็นการทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัวทั้งฝั่งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์อย่างแท้จริง จะติดก็แต่เรื่องกล้องหลังที่อาจจะไม่ถูกใจคนชอบลูกเล่นกล้องซักเท่าไหร่เท่านั้นเอง
Editor : ZeroSystem
94
BEST VALUE

Design

Review-Moto-M-SpecPhone-February 09, 2017-3 copy

สำหรับ Moto M อย่างที่เกริ่นไปแล้ว ว่าได้รับการออกแบบมาเป็นมือถือรุ่นกลางๆ ที่เน้นให้ผู้ใช้ได้สัมผัสประสบการณ์การใช้งานแบบคลีนๆ ไร้การปรุงแต่ง ซึ่งมันก็สะท้อนให้เห็นกันตั้งแต่การออกแบบภายนอกเลยทีเดียว กับหน้าตาที่เลือกใช้ทรงนิยมของสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน เน้นความโค้งมนที่ทั้ง 4 มุม โดยเครื่องที่ทางเราได้รับมารีวิวในครั้งนี้จะเป็นรุ่นสีทองนะครับ ด้านหน้าตัวเครื่องปิดครอบไว้ด้วยกระจก Gorilla Glass ทั้งหมด ตรงขอบกระจกจะไม่ได้เป็นแบบโค้งเหมือนที่มือถือสมัยนี้นิยมใช้กันนะครับ แต่ก็ยังถือว่าเข้ากับขอบโลหะแบบไดมอนด์คัตที่ตัดเข้ามาชนพอดี ความกว้างของขอบจอก็จัดว่าปกติ ไม่กว้างและไม่แคบเกินไปนัก ทำให้ขนาดเครื่องของ Moto M จัดว่าอยู่ในระดับมาตรฐานมือถือจอ 5.5 นิ้ว

ด้านบนก็จะมีลำโพงสนทนา เซ็นเซอร์วัดแสง/วัดระยะ และก็กล้องหน้าอยู่ฝั่งขวาของเครื่อง ส่วนด้านล่างจะมีเพียงโลโก้คำว่า moto เท่านั้น ส่วนปุ่ม navigation keys ทั้ง 3 ได้แก่ปุ่มย้อนกลับ ปุ่มโฮม และปุ่มเรียกดูแอปล่าสุด จะใช้เป็นแบบซอฟต์แวร์ฝังในจอแทน

หน้าจอขนาด 5.5 นิ้วของ Moto M เลือกใช้พาเนล IPS จากที่ทดสอบรีวิวมา พบว่าสีสันอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่สดและไม่ซีดจนเกินไป แต่สำหรับบางท่านที่คุ้นเคยกับจอแบบ AMOLED มาก่อน หรือแม้กระทั่งจอ iPhone ก็อาจจะมองว่าจอ Moto M สีซีดไปนิดนึงได้อยู่เหมือนกัน ส่วนมุมมองก็กว้างตามมาตรฐานพาเนล IPS และจากที่ผมลองใช้งานกลางแจ้ง พบว่าจอสู้แสงจ้าๆ ได้ไม่ค่อยดีนัก

ส่วนความรู้สึกระหว่างใช้งาน ผมว่าเรื่องวัสดุและงานประกอบ Moto M ทำออกมาได้ดีมากๆ จับแล้วรู้สึกแน่นหนา ไม่กร๊อบแกรบ แต่ก็มาพร้อมกับความรู้สึกว่ามันหนักมือไปนิดนึง ยังดีที่ตัวเครื่องมันค่อนข้างบาง เลยเฉลี่ยๆ คะแนนในด้านนี้ไปได้พอสมควร

Review-Moto-M-SpecPhone-February 09, 2017-21

Review-Moto-M-SpecPhone-February 09, 2017-9งานดี งานแน่น สไตล์โมโต

Review-Moto-M-SpecPhone-February 09, 2017-23

ฝาหลัง Moto M เป็นอลูมิเนียมทั้งชิ้นขึ้นรูปแบบยูนิบอดี้ โดยมีเส้นเสาอากาศพาดอยู่ทั้งด้านบนและด้านล่าง โค้งตรงขอบเพื่อรับมือเวลาสัมผัส จุดเด่นก็จะอยู่ตรงชุดกล้องหลังที่เลือกใช้แถบสีดำปิดทับด้วยกระจกอยู่ ซึ่งหากดูผ่านๆ อาจจะนึกว่าเป็นมือถือกล้องหลังแบบคู่ได้อยู่เหมือนกัน แต่ที่จริงแล้วจะมีกล้องหลังแค่ตัวเดียวคือด้านบนนะครับ ช่องล่างจะเป็นไฟแฟลช LED ที่เป็นแบบสองสี ใช้สำหรับช่วยปรับสีของแสงแฟลชให้ดูเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมแบบอัตโนมัติ โดยชุดกล้องหลังนี้จะนูนขึ้นมาจากพื้นฝาหลังเล็กน้อย แนะนำว่าควรใส่เคส ไม่อย่างนั้นเวลาวางฝั่งฝาหลังลงไปกับพื้น ตัวขอบของชุดกล้องจะสัมผัสกับพื้นแน่นอน ส่วนเคสพลาสติกใสที่แถมมาในกล่องนั้น จากที่ผมลองใช้แล้วพบว่า มันช่วยปกป้องกล้องหลังได้แน่ๆ ครับ เพราะเมื่อใช้แล้ว กล้องหลังจะเว้าเข้าไปจากตัวเคสเล็กน้อย ก็ถือว่าช่วยปกป้องได้ซักนิดนึงก็ยังดีแหละนะ

ใต้ชุดกล้องหลังก็มีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือแบบวงกลมฝังอยู่ สามารถแตะนิ้วลงไปในองศาใดก็ได้ หากสแกนแล้วพบว่าลายนิ้วมือถูกต้อง เครื่องก็จะเปิดหน้าจอพร้อมปลดล็อกให้ใช้งานได้ทันที เท่าที่รีวิว ตัวสแกนลายนิ้วมือทำงานได้รวดเร็วและแม่นยำดีครับ จะติดก็แค่บางเวลาที่ผมวางเครื่องบนโต๊ะ แล้วต้องการแค่จะดูการแจ้งเตือน เท่ากับว่าผมต้องยกเครื่องขึ้นมาแตะนิ้วที่เซ็นเซอร์ด้านหลัง หรือไม่ก็ต้องยอมกดปุ่ม Power แล้วใส่รหัสปลดล็อกแทน (Moto M ไม่รองรับการเคาะหน้าจอเพื่อเปิดจอ) ซึ่งก็เป็นปัญหาปกติของมือถือที่วางเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือไว้ตรงฝาหลังนั่นเอง

ขอบเครื่องอันบางเฉียบของ Moto M นั้นยังบรรจุพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ มาได้ครบถ้วนเช่นเคย ไล่จากด้านบนก็จะพบกับช่องรับเสียงของไมค์ตัดเสียงรบกวน ใกล้ๆ กันก็จะมีช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร ด้านซ้ายพบกับถาดใส่ซิมการ์ด ที่ต้องใช้เข็มจิ้มซิมช่วยกดให้ถาดเด้งออกมา ด้านขวามีแผงปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง และปุ่ม Power ที่ตัวปุ่ม Power จะทำพื้นผิวเป็นลาย ให้สามารถคลำหาได้ง่าย ส่วนด้านล่างก็จะมีช่องรับเสียงของไมค์สนทนา, ช่อง USB Type-C สำหรับชาร์จไฟ และก็ช่องลำโพงแบบโมโน ส่วนภาพมุมอื่นๆ ของเครื่อง Moto M เชิญรับชมจากด้านล่างนี้เลยครับ

ของที่ให้มาในกล่องก็จะมี

  • สาย USB Type-C
  • อะแดปเตอร์ 5V 2A
  • หูฟังสมอลล์ทอล์ค
  • เคสใสแบบแข็ง (แต่บิดได้)
  • ฟิล์มกันรอยหน้าจอ
  • เข็มจิ้มซิม ที่แข็งแรงมากตามสไตล์ Lenovo
  • เอกสาร คู่มือ

Software

1

ซอฟต์แวร์ของ Moto M จะจัดว่าเป็นข้อดี หรือข้อเสียก็ว่าได้ครับ เพราะมันคือ Pure Android แบบสะอาดมากๆ ไม่มีแอปกวนใจให้น่ารำคาญ แม้กระทั่งแอปของ Motorola เองยังไม่มีฝังมาให้เลยซักตัว มีมาแต่พวกเซอร์วิสของ Google ที่ติดมากับมือถือ Android ทั่วไปอยู่แล้ว  (สำหรับในภาพตัวอย่างข้างบน เป็นตัวอย่างหน้าลันเชอร์ Google Now Launcher หลังจากผมลงแอปไปแล้วนะครับ) แต่จะบอกว่าคลีน 100% ก็คงจะไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากที่หน้าโฮมของ Moto M จะมีโฟลเดอร์ Microsoft ที่ภายในรวมแอปในตระกูล Microsoft Office มาแล้วในเครื่องนั่นเอง ทั้งนี้ก็เกิดจากจากการตกลงเป็นพันธมิตรกันระหว่าง Microsoft และ Lenovo (ที่ถือเป็นบริษัทแม่ของ Motorola) ว่าจะนำแอปในตระกูล Microsoft Office มาติดตั้งอยู่ในมือถือรุ่นใหม่ๆ ของ Lenovo ทุกเครื่องนั่นเอง Moto M เลยจัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยครับ

ระบบปฏิบัติการของ Moto M ก็เป็น Android 6.0 Marshmallow พอเปิดมาครั้งแรกก็จะเจอให้อัพเดตแพทช์ความปลอดภัยกันเลย อย่างเครื่องที่ผมได้รับมารีวิวก็จะมีอัพเดตเล็กๆ มา 2 รอบ ส่วนในอนาคตนั้น Moto M รองรับการอัพเดตเป็น Android 7.0 Nougat แน่นอน เพียงแต่ต้องรอซักเล็กน้อย แต่จากประวัติที่ผ่านมา ช่วงหลังๆ นี้มือถือ Motorola รุ่นใหม่ๆ จะได้รับอัพเดตที่เร็วมากๆ ใกล้เคียง หรือเผลอๆ จะเร็วกว่ามือถือตระกูล Nexus รุ่นเก่านิดนึงด้วยซ้ำไป

ส่วนพื้นที่เก็บข้อมูลของรอมภายในเครื่อง ตามหน้าสเปคคือให้มา 32 GB พอเปิดเครื่องมาจะเหลือให้ใช้งานได้จริงประมาณ 24.71 GB ก็พอไปวัดไปวาได้อยู่สำหรับการใช้งานทั่วไป เล่นเกมนิดหน่อย เน้นฟังเพลงแบบออนไลน์จากพวก Joox หรือฟังจาก YouTube แต่ถ้าใครชอบถ่ายรูปด้วย ชอบโหลดเพลงมาเก็บไว้ฟังในเครื่องด้วย คงต้องใส่ MicroSD เพิ่มกันซักหน่อย แต่ก็ต้องแลกกับการสามารถใส่ซิมได้แค่ซิมเดียว เนื่องจากถาดเป็นแบบไฮบริด ที่ต้องเลือกระหว่าง

  • นาโนซิม 1
  • นาโนซิม 1 + นาโนซิม 2
  • นาโนซิม 1 + MicroSD

หรือจะมีอีกทางเลือกนึงก็คือ ถ้ามั่นใจในคุณภาพอินเตอร์เน็ตตนเอง ก็เลือกให้ระบบซิงค์รูปไปเก็บบนคลาวด์จากแอป Google Photos เมื่อซิงค์เสร็จแล้ว ก็ลบภาพในเครื่องไปเลยครับ เวลาจะเรียกดูภาพ ระบบก็จะโหลดภาพที่เราอัพไปเก็บไว้มาให้ดูแทน

Feature

3

ด้วยความที่ Moto M เกิดขึ้นมาภายใต้ความเป็น Lenovo ภายในจึงมีของแถมมานิดหน่อยครับ นั่นคือระบบเสียง Dolby ATMOS ที่ Lenovo นิยมใส่เข้ามาในมือถือของตนเองหลากหลายรุ่นมากๆ ซึ่งเจ้า Dolby ATMOS นี้ก็ช่วยให้เสียงมีความกลมกล่อม มีมิติมากขึ้น เสมือนว่าเราได้ไปนั่งสัมผัสอยู่ในสถานที่จริง ราวกับว่าไปนั่งฟังเสียงจั๊กจั่น นั่งฟังเสียงสายน้ำไหลอยู่ในป่ากันเลยทีเดียว โดยมันจะซ่อนอยู่ในเมนูการตั้งค่าเสียงของระบบ และมีโหมดสำเร็จรูปให้ใช้งานกัน 3 แบบ ได้แก่สำหรับการชมภาพยนตร์ สำหรับฟังเพลง และสำหรับเล่นเกม นอกจากนี้ผู้ใช้งานยังสามารถปรับแต่งสร้างโหมดที่ต้องการได้เองอีก 2 รูปแบบด้วยกัน รายละเอียดการตั้งค่าภายในก็จะมีทั้งการปรับระดับเสียงให้สมดุลกัน การเร่งโทนเสียงย่านกลาง และก็การจำลองเสียงรอบทิศทาง ซึ่งทั้งหมดนี้ จะทำหน้าที่ได้เต็ม 100% ก็ต่อเมื่อเสียบหูฟัง หรือต่อกับลำโพงผ่านช่อง 3.5 มิลลิเมตรนะครับ จากที่ผมลองมา แนะนำว่าเปิด Dolby ATMOS เถอะ เสียงดีขึ้นกว่าปกติจริงๆ

ภาพขวาสุดก็จะเป็นกลุ่มของแอปในตระกูล Microsoft Office ที่ติดมาในเครื่อง ก็ล้วนแต่มาจากโปรแกรมที่เรารู้จักกันดีทั้งนั้นครับ ไม่ว่าจะเป็น MS Word, Excel, Powerpoint, Outlook, OneNote, Skype และก็ OneDrive ที่เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ของ Microsoft เอง โดยสามารถใช้งานได้ฟรีๆ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านไฟล์ สร้างไฟล์งานใหม่ แต่ถ้าหากใครใช้งาน Office 365 ของแท้อยู่แล้วก็ยิ่งสะดวกขึ้นไปอีก เพราะสามารถดึงเอกสารจาก OneDrive มาทำต่อบน Moto M ได้เลย แต่….กลุ่มแอปเหล่านี้ ไม่สามารถลบออกจากเครื่องได้นะครับ

นอกจากนี้ ยังมีอีกฟีเจอร์ที่ Moto M ซ่อนไว้ นั่นคือ….

อัพรูปแบบไม่ย่อขนาดขึ้น Google Photos ได้แบบไม่จำกัดพื้นที่ฟรีเป็นเวลา 2 ปี

ปกติแล้ว Google เปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถอัพโหลดรูปขึ้นไปเก็บบนระบบคลาวด์ของตนผ่านแอป Google Photos ได้ 2 รูปแบบ ได้แก่

  • อัพโหลดแบบความละเอียดสูง (High quality): สามารถอัพไปเก็บได้แบบไม่จำกัดพื้นที่ เหมาะสำหรับรูปที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก หรือรูปที่ถ่ายจากกล้องมือถือความละเอียดไม่ถึง 16 ล้านพิกเซล หากรูปมีขนาดใหญ่เกินที่กำหนด ไฟล์ภาพจะถูกบีบอัดความละเอียดลง แต่ยังคงมีคุณภาพที่เพียงพอสำหรับงานพิมพ์อยู่
  • อัพโหลดแบบไม่บีบอัดไฟล์ (Original): หากเลือกโหมดนี้ในระหว่างการอัพโหลด แอป Google Photos จะไม่ทำการบีบอัดรูปของเราเลยแม้แต่น้อย แต่ตามปกติแล้วผู้ใช้ Gmail ทุกคนจะได้รับพื้นที่เก็บข้อมูลส่วนตัวเพียงบัญชีละ 15 GB เท่านั้น หากอยากได้เพิ่ม ต้องซื้อพื้นที่เพิ่ม

ซึ่งถ้าหากคุณใช้ Moto M ก็ไม่ต้องกังวลจุดนี้ไปได้เลย 2 ปีครับ อัพรูปแบบจัดเต็มไม่ต้องบีบอัดไฟล์ไปได้เลย นับว่าเป็นข้อเสนอพิเศษจริงๆ เพราะปกติจะมีแต่เครื่องในตระกูล Pixel จาก Google และเครื่องของ Motorola เองที่ได้สิทธิ์นี้ นับว่าเอาใจคนชอบถ่ายรูปจริงๆ แต่ต้องเป็นการอัพรูปที่ถ่ายจาก Moto M เท่านั้น แม้ว่าคุณจะมีมือถือเครื่องนึงเป็น Moto M ส่วนอีกเครื่องจะเป็นรุ่นไหนก็ตาม จะมีแต่ Moto M เท่านั้นที่จะได้สิทธิ์นี้ เนื่องจากเป็นการผูกสิทธิ์กับเครื่อง ไม่ได้ผูกกับบัญชี Google

Camera

Review-Moto-M-SpecPhone-February 09, 2017-22

สำหรับเรื่องกล้องของ Moto M นั้น ตัวกล้องหลังจะมีความนูนขึ้นมาจากพื้นฝาหลังเล็กน้อย โดยมีขอบเป็นโลหะช่วยป้องกันส่วนที่เป็นกระจกปิดหน้าเลนส์อยู่ ถ้ามองผ่านๆ อาจจะนึกว่าเป็นมือถือกล้องคู่กันเลยก็ได้ แต่ที่จริงแล้ว Moto M มีกล้องหลังแค่ตัวเดียวตามปกติ ส่วนอีกช่องจะเป็นแฟลช LED แบบคู่

จากที่รีวิวมา ส่วนตัวผมให้คะแนนของภาพถ่ายจาก Moto M อยู่ในระดับกลางๆ เท่านั้นครับ ไม่ได้เป็นจุดเด่นมากนัก แม้ว่าในแง่ของสเปคจะน่าสนใจ ด้วยความละเอียดภาพที่สูงถึง 16 ล้านพิกเซล เลนส์ f/2.0 พร้อมระบบโฟกัสแบบ PDAF ซึ่งให้ความเร็วโฟกัสก่อนถ่ายอยู่ในระดับค่อนข้างดี และแม่นยำในระดับหนึ่ง แต่ภาพที่ออกมานั้นกลับอยู่ในระดับกลางๆ ไม่ได้โดดเด่นขึ้นมาจากกลุ่มมือถือที่ราคาใกล้เคียงกันรุ่นอื่นเท่าไรนัก

เมนูแอปกล้องในเครื่อง ก็เป็นการนำของ Lenovo มาใช้กันตรงๆ เลย รวมถึงโหมดกล้องที่ให้มาแค่ 4 โหมด ได้แก่ โหมด Pro สำหรับปรับค่าต่างๆ ด้วยตัวผู้ใช้เอง โหมดพาโนรามา โหมดถ่ายวิวกลางคืน และโหมดเอฟเฟ็คท์ที่เป็นการใส่ฟิลเตอร์ต่างๆ เข้าไปในภาพ สำหรับใครที่อยากถ่ายรูปแนว light trail ที่เป็นการเก็บแสงวิ่งเป็นเส้นๆ อาจจะต้องมองหาแอปอื่นมาใช้งานแทนนะครับ เพราะโหมด Pro ใน Moto M สามารถปรับความเร็วชัตเตอร์ให้ช้าสุดได้แค่ 2/3 วินาทีเท่านั้นเอง

ส่วนคุณภาพของภาพถ่ายจากกล้องหลังนั้น ถ้าถ่ายในที่มีแสงปกติก็จัดว่าโอเคตามมาตรฐานอยู่ white balance ไม่เพี้ยนมากนัก จะไปพบปัญหาก็เมื่อเจอกับแสงที่ไม่ปกติ ดังนี้

  • ที่แสงน้อย เช่นในที่ร่ม ถ่ายกลางคืน: ภาพค่อนข้างมืด และเกิด noise เยอะเกินคาด
  • ที่มีความต่างของแสงสูงๆ เช่น ถ่ายขอบฟ้ายามเย็น: ต้องเลือกโฟกัสจุดใดจุดหนึ่ง ถ้าโฟกัสฟ้า วัตถุอื่นก็มืดสนิท แม้จะแก้ได้ด้วยการถ่ายแบบ HDR แต่ก็ดีขึ้นไม่มากนัก

ให้สรุปคือ Moto M อาจจะไม่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเน้นคุณภาพของภาพถ่ายจากกล้องหลังด้วยครับ ถ้าใช้ถ่ายแต่ช่วงกลางวัน สภาพแสงดีๆ ก็โอเคอยู่ แต่ถ้าถ่ายช่วงอื่นด้วย หรือต้องการตั้งค่าก่อนถ่ายแบบโหมดโปร อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่โดนใจซักเท่าไหร่ ยังไงลองชมภาพตัวอย่างจากกล้องหลังของ Moto M ด้านล่างนี้แล้วกันครับ









Performance

2

เมื่อลองวัดผลด้วยแอปทดสอบประสิทธิภาพชื่อดังที่หลายท่านให้ความนิยมอย่าง AnTuTu พบว่า Moto M สามารถทำคะแนนได้ราวๆ 54,000 คะแนน ซึ่งก็นับว่าอยู่ในกลุ่มมือถือความแรงระดับกลางๆ ครับ จากพลังประมวลผลของชิป MediaTek Helio P10 (MT6755) ร่วมกับแรมขนาด 4 GB ที่มีระบบการจัดการแรมได้เป็นอย่างดี สามารถเปิดขึ้นมาเล่นเกมต่อจากจุดเดิมได้ แม้ว่าจะสลับไปหน้าโฮม เล่นแอปอื่นนิดหน่อย แล้วปิดหน้าจอพักไปหลายชั่วโมงก็ตาม

ด้านของกราฟิกที่ประมวลผลด้วยชิปกราฟิกภายในอย่าง Mali-T860MP2 ก็ตอบสนองด้านการเล่นเกมได้แบบสบายๆ จากที่ผมลองเล่นเกมที่น่าจะกินกราฟิกหนักๆ พบว่าลื่นแบบหายห่วง แต่พอมาเจอกับเอฟเฟ็คท์ในเกม Yugi ภาคใหม่ล่าสุด ตอนที่ทั้งสองฝั่งมีมอนสเตอร์เต็มสนาม ปรากฏว่ามีช่วงที่เกมหน่วงๆ ไปอยู่บ้างเหมือนกัน

ส่วนการใช้งานโดยรวม Moto M สามารถให้ประสบการณ์ในแบบ Pure Google ได้อย่างยอดเยี่ยมเลยครับ การทำงานทั่วไปไหลลื่นมากๆ การเปิด ปิด สลับแอปทำได้รวดเร็ว เมื่อบวกกับเซอร์วิสที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ ของ Google เข้าไป ก็ยิ่งทำให้ใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้นมากๆ ดังนั้นหากใครอยากได้มือถือสำหรับใช้งานจริงๆ แบบไม่ต้องกังวลว่าจะต้องมาคอยเคลียร์แรม ไม่อยากยุ่งเรื่องการปรับแต่งระบบให้วุ่นวาย ก็จัด Moto M กันได้เลยครับ ถือซะว่าเป็นตัวแทนของตระกูล Nexus เลยก็คงไม่ผิดนัก

batt

แบตเตอรี่ 3050 mAh ของ Moto M ถือว่าอยู่ในระดับความจุมาตรฐานของสมาร์ทโฟนหน้าจอ 5.5 นิ้ว ความละเอียดระดับ Full HD ในยุคนี้ครับ ซึ่งพอเพียงกับการใช้งานทั่วไปใน 1 วัน คือสามารถถอดสายชาร์จตอนประมาณ 7 โมงเช้า แล้วใช้งานกับสแตนด์บายระหว่างทำงานได้ทั้งวันไปจนถึงราวๆ 3-4 ทุ่มได้ แต่ถ้ามีการเล่นเกมก็อาจจะลดระยะเวลาลงไปตามปกติ ยังดีที่ตัวเครื่องรองรับระบบ Quick Charge และเมื่อใช้ร่วมกับอะแดปเตอร์ 5V 2A ที่แถมมาในกล่อง ก็ทำให้การเติมพลังงานให้ Moto M เป็นไปได้เร็วกว่าการใช้อะแดปเตอร์ทั่วไปอยู่พอสมควร เหมาะมากกับการใช้ชาร์จระหว่างวัน ที่อาจมีเวลาชาร์จน้อยและฉาบฉวย

ในภาพข้างบน เป็นตัวอย่างการใช้งาน Moto M ในระหว่างรีวิวของผมครับ ด้วยการต่ออินเตอร์เน็ตตลอดเวลาทั้ง WiFi และ 4G มีเปิดมาเล่นเป็นช่วงๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการเล่นเกมกับถ่ายรูป เริ่มต้นที่แบตเตอรี่ 100% ตอนประมาณเที่ยงวัน พอถึงเวลา 5 ทุ่ม 10 นาที แบตเตอรี่ยังเหลืออีก 21% ซึ่งระบบก็ประเมินว่ายังสามารถใช้งานได้ได้อีก 3 ชั่วโมง (คงจะเน้นเรื่องการสแตนด์บาย)

จากนั้นผมเลยจัดการเล่นเกมหนักๆ ให้แบตลดเหลือ 10% แล้วเสียบสายชาร์จกับอะแดปเตอร์ 5V 2A ที่แถมมาในกล่อง เพื่อจะดูว่าชาร์จได้เร็วขนาดไหน ผลออกมาดังนี้

  • 20 นาที = 27%
  • 45 นาที = 60%
  • 1 ชั่วโมง 40 นาที = 97%
  • 1 ชั่วโมง 50 นาที = 100% ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลในแอป AccuBattery ว่าระบบใช้เวลาชาร์จ 1 ชั่วโมง 51 นาที เพื่อชาร์จไฟเข้าไป 90% (จาก 10% ตอนเริ่มต้นเป็น 100%)

ซึ่งในการชาร์จช่วงแรก จากที่ผมใช้ตัวทดสอบการจ่ายไฟจากหัว USB พบว่าอะแดปเตอร์ปล่อยไฟออกมาประมาณ 5.2V 1.9A ครับ ก็เรียกว่าจ่ายได้ตามที่ระบุมาเลยแหละ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก