[Review] ASUS Zenfone AR สมาร์ทโฟนที่ ASUS จัดเต็มที่สุด Ram 8 GB รองรับทั้ง Tango และ Daydream VR

ภาพจำของหลายคนกับสมาร์ทโฟน ASUS ก็คงจะเป็นสมาร์ทโฟนที่เน้นความคุ้มค่าเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น Zenfone เจนเนอร์เรชันแรก (Zenfone 4, Zenfone 5, Zenfone 6) และ Zenfone 2 Series แต่พอมาถึงเจนเนอร์เรชันที่ 3 อย่าง ASUS Zenfone 3 Series ก็จะเห็นว่า ASUS เริ่มใส่เทคโนโลยีสุดล้ำเข้าไป รวมถึงพยายามที่จะยกระดับ Zenfone ให้มีความพรีเมียมมากขึ้น รุ่นที่สเปคจัดเต็มก็ได้แก่ ASUS Zenfone 3 Deluxe ที่เป็นสมาร์ทโฟน Ram 6 GB รุ่นแรก ๆ ของโลก

Review-Asus-Zenfone-AR-SpecPhone-00003

สมาร์ทโฟนที่เราจะมารีวิวให้เพื่อน ๆ อ่านกันก็คือ ASUS Zenfone AR ที่เรียกว่าเป็น Masterpiece ของ ASUS ณ ตอนนี้เลยก็ว่าได้ เพราะจัดเต็มตั้งแต่สเปค ไปจนถึงเทคโนโลยีที่อัดแน่น เริ่มจากการเป็นสมาร์ทโฟน Ram 8 GB เครื่องแรกในโลก และเป็นสมาร์ทโฟนเครื่องแรกที่รองรับทั้ง AR Technology (Project Tango) และ VR Technology (Support Daydream VR ของ Google) โดยรุ่นนี้เปิดตัวครั้งแรกในงาน Mobile World Congress 2017 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และตอนนี้ ASUS Zenfone AR พร้อมกับ Premium Kit ก็ได้มาอยู่ในมือของทีมงาน SpecPhone.com เรียบร้อย

สเปค ASUS Zenfone AR

  • ระบบปฏิบัติการ Android 7.0 ครอบด้วย Asus ZenUI 3.0
  • หน้าจอ Super AMOLED ขนาด 5.7 นิ้ว ความละเอียด 2K กระจกขอบโค้ง 2.5D Corning Gorilla Glass 4
  • ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 821
  • GPU Adreno 530
  • Ram 8 GB แบบ LPDDR4
  • พื้นที่เก็บข้อมูลแบบ UFS 2.0 ความจุ 128 GB (เครื่องรีวิว)
  • รองรับ MicroSD Card สูงสุด 2TB
  • กล้องหลังความละเอียด 23 ล้านพิกเซล มีระบบโฟกัสเทคโนโลยี TriTech พร้อม Dual LED Flash ระบบป้องกันภาพสั่นไหว OIS + EIS รูรับแสง f/2.0 เซนเซอร์ IMX318
  • กล้องหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล ออโต้โฟกัส มุมมองการถ่ายภาพกว้าง 85 องศา รูรับแสง f/2.0
  • เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ
  • รองรับ Wi-Fi 802.11a/b/g/n/ac, Bluetooth 4.2, NFC
  • พอร์ตเชื่อมต่อ USB Type-C 2.0
  • แบตเตอรี่ความจุ 3,300 mAh พร้อมระบบชาร์จเร็ว

Review-Asus-Zenfone-AR-SpecPhone-00006

อันดับแรกต้องบอกก่อนว่าเครื่องรีวิว ASUS Zenfone AR พร้อมกับ Premium Kit ที่เราได้มานั้น เป็นเซ็ตสำหรับส่งให้กับสื่อ หรือเว็บไซต์เอาไปทดสอบ ตัวแพ็กเกจเมื่อขายจริงอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ โดย ASUS Zenfone AR Premium Kit ที่ดูใหญ่โตเหมือนกล่องสมบัติจะประกอบไปด้วย

  • ตัวเครื่อง ASUS Zenfone AR
  • อะแดปเตอร์ รองรับเทคโนโลยี Quick Charge
  • หูฟัง ZenEar (แบบเดียวกับใน Zenfone 3 Deluxe)
  • สายชาร์จ USB-C
  • Google Daydream VR
  • การ์ดแนะนำแอปพลิเคชันที่รองรับ พร้อม QR Code ทางลัดไปดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน

Review-Asus-Zenfone-AR-SpecPhone-00024

จุดที่ผมประทับใจในกล่อง ASUS Zenfone AR Premium Kit คือการให้ข้อมูลครบครัน อย่างการ์ดแนะนำแอปพลิเคชันก็ให้ข้อมูล และแนะนำแอปพลิเคชันได้เป็นอย่างดี มีการแยกหมวดหมู่เฉพาะ อันไหนเป็น AR อันไหนเป็น VR และจัดอยู่ในหมวดไหน ถ้าอยากลองเล่นแอปไหนก็แค่เปิดกล้อง แล้วเลือกสแกน QR Code เท่านี้ก็จะลิ้งค์ไปที่ Google Play ทันที

*แอปพลิเคชันบางแอปยังไม่สามารถดาวน์โหลดใน Google Play ประเทศไทยได้*

Review-Asus-Zenfone-AR-SpecPhone-00023

ข้อดี

– รองรับเทคโนโลยี Tango และ Daydream
– ทุกอย่างอยู่ในจุดสมดุล ทั้ง CPU, แรม, หน้าจอ, แบตเตอรี่, กล้อง โดยเฉพาะแรมจัดว่าเหลือกินเหลือใช้ที่ 8 GB
– ใช้งาน 3G/4G LTE ได้อย่างไร้ปัญหา
– งานประกอบดีเยี่ยม ดีไซน์ทำได้อย่างลงตัว
– ลำโพงดีเสียงดัง ระบบเสียงอัดแน่น
– กล้องหลังเทคโนโลยีจัดเต็ม โฟกัสเร็ว
– แบตเตอรี่ใช้งานได้นาน

ข้อสังเกต

– เวลาใช้งาน Daydream VR จะมีขึ้นแจ้งเตือนความร้อนเกิน
– ยังมีบั๊กบ้างประปราย
– แอปพลิเคชันใน Tango บางแอปยังไม่สามารถโหลดได้ใน Google Play ประเทศไทย
– ณ ปัจจุบัน Tango ยังไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น
– แอบคาดหวังว่าโหมดกล้องจะหวือหวากว่านี้ แต่้ส่วนมากก็เป็นโหมดที่เคยเห็นกันแล้วในรุ่นก่อน ๆ

บทสรุป

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับรีวิว ASUS Zenfone AR สมาร์ทโฟนที่อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีแบบจัดเต็ม ชนิดที่ผมก็เชื่อว่าเพื่อน ๆ หลายคนคาดไม่ถึงว่าจะได้เห็นในสมาร์ทโฟนของ ASUS เรียกว่าเป็นรุ่นที่ประกาศให้โลกรู้เลยว่า “ASUS ไม่ได้มีดีแค่ความคุ้มค่า” เพราะ ASUS Zenfone AR ถือว่าเป็นสมาร์ทโฟนเครื่องแรกในโลก ที่รองรับทั้ง Tango กับ Daydream VR และยังเป็นสมาร์ทโฟนที่มาพร้อมกับ Ram 8 GB อีกต่างหาก ในแง่ของสเปคก็จัดว่าเหลือกินเหลือใช้ ชิปเซ็ต Snapdragon 821 ก็ยังคงใช้งานได้ดีอยู่ เมื่อรวมกับ Ram 8 GB กับพื้นที่เก็บข้อมูลแบบ UFS ก็สามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี ในด้านของงานดีไซน์ก็ออกแบบให้มีกิมมิคเรื่องฝาหลัง ที่ใช้วัสดุเป็นหนัง ให้สัมผัสที่แตกต่างไปจากโลหะ และกระจก ภาพรวมของสมาร์ทโฟน ASUS Zenfone AR ก็ถือว่าเป็นสมาร์ทโฟนอีกรุ่นที่น่าจับตามองของ ASUS เลยล่ะครับ
Editor : Jerminalz
90
BEST TECHNOLOGY

Design

Review-Asus-Zenfone-AR-SpecPhone-00002

นอกจากกล่องของ ASUS Zenfone AR จะมีความเล่นใหญ่ และพรีเมียมแล้ว ตัวเครื่อง ASUS Zenfone AR เมื่อได้สัมผัสครั้งแรกก็ให้ความรู้สึกพรีเมียมมากเช่นกัน เรื่องความแข็งแรงจะให้ความรู้สึกเหมือนตอนจับ ASUS Zenfone 3 Ultra หรือ ASUS Zenfone 3 Deluxe แต่ ASUS Zenfone AR จะได้เปรียบเรื่องความหรูหรา เพราะตัวฝาหลังใช้วัสดุเป็นหนัง ให้สัมผัสที่แตกต่างจากกระจก หรืออลูมิเนียม ส่วนตัวผมชอบสัมผัสในลักษณะนี้มากกว่า มันให้ความนุ่มมือ ไม่ลื่นเหมือนอลูมิเนียม แล้วก็ไม่ต้องระวังเรื่องรอยนิ้วมือเหมือนกระจก

Review-Asus-Zenfone-AR-SpecPhone-00001

ขนาดตัวเครื่องของ ASUS Zenfone AR ก็อยู่ในเกณฑ์ของสมาร์ทโฟนทั่วไปในปี 2017 ตัวเครื่องไม่ได้ใหญ่จนเกินไป เพราะหน้าจอของ ASUS Zenfone AR เองก็มีขนาดหน้าจอที่ใหญ่ถึง 5.7 นิ้ว เป็นหน้าจอแบบ AMOLED ความละเอียดจัดเต็มระดับ QuadHD เพื่อการแสดงผลที่ดีตอนใช้งาน Daydream VR เพราะความละเอียดหน้าจอจะถูกหาร 2 ตอนใช้งาน VR เท่ากับว่าที่หน้าจอความละเอียด Quad HD หรือหน้าจอ 2K เมื่อใช้งาน VR เราจะเห็นภาพเทียบเท่าความละเอียดประมาณ Full HD ซึ่งคมชัดใช้ได้ แต่ก็ยังเห็นเม็ดพิกเซลอยู่

Review-Asus-Zenfone-AR-SpecPhone-00015

น้ำหนักตัวเครื่องของ ASUS Zenfone AR มีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 170 กรัม ขนาดตัวเครื่องเมื่อเทียบกับขนาดหน้าจอ 5.7 นิ้ว ก็ไม่ได้ถือว่าใหญ่จนเกินไป ด้วยพื้นที่หน้าจอที่คิดเป็น 79% ของพื้นที่ด้านหน้าทั้งหมด แต่เวลาที่ประกอบร่างกับ Daydream VR น้ำหนัก 170 กรัมก็ดูจะเป็นปัญหาขึ้นมาทันที ถ้าใช้งานต่อเนื่องไปนาน ๆ ก็อาจจะเกิดอาการล้าได้

Review-Asus-Zenfone-AR-SpecPhone-00003

ด้านพอร์ตเชื่อมต่อของ ASUS Zenfone AR ก็ให้มาอย่างครบครัน พอร์ตเชื่อมต่อหลักเป็น USB-C 2.0 สายชาร์จที่ให้มาเป็นแบบ USB-C to USB-A และมีพอร์ตเชื่อมต่อหูฟังแบบ 3.5 มิลลิเมตรติดมาให้ ไม่ได้ตัดทิ้งไปแบบสมาร์ทโฟนบางรุ่น

Review-Asus-Zenfone-AR-SpecPhone-00014

ด้านปุ่มต่าง ๆ ASUS Zenfone AR ก็มีปุ่มมาให้ครบครัน Navigation Keys เป็นปุ่มแบบ Hard Key ปุ่มโฮมจะควบตำแหน่งสแกนลายนิ้วมือไว้ด้วย การปลดล็อกทำได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ส่วนปุ่มอีก 2 ปุ่มที่เหลืออย่างปุ่มย้อนกลับ และปุ่ม Recent App ก็มีไฟ LED ใต้ปุ่มติดมาให้ด้วย

Review-Asus-Zenfone-AR-SpecPhone-00010

ภาพรวมของงานดีไซน์ ASUS Zenfone AR ส่วนตัวมองว่า ASUS ได้ก้าวไปอีกขึ้นเรียบร้อย เมื่อเทียบกับตัวพรีเมียมรุ่นก่อนหน้าอย่าง ASUS Zenfone 3 Deluxe ที่โดดเด่นเรื่องวัสดุกับงานประกอบ พอมาเป็น ASUS Zenfone AR วัสดุกับงานประกอบก็ยังคงพรีเมียมสมกับความเป็นรุ่นท็อป แต่เพิ่มเรื่องดีไซน์ที่สวยงามและลงตัวมากขึ้น อย่างการจัดวางกล้องหลัง 3 ตัว ASUS ก็ทำออกมาได้ดี ดูมีความเป็นรุ่นท็อปรุ่นพรีเมียมจริง ๆ

Review-Asus-Zenfone-AR-SpecPhone-00009

Software

Review-Asus-Zenfone-AR-SpecPhone-00004

ASUS Zenfone AR มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 7.0 Nougat ครอบด้วย ASUS ZenUI เวอร์ชันล่าสุด หน้าตาของตัว UI เองก็จะเหมือน ๆ กับสมาร์ทโฟน ASUS รุ่นอื่น ทั้งในส่วนของการใช้งาน และตัว User Interface

ซอฟท์แวร์ของ ASUS Zenfone AR มี Widget ติดมาให้พอสมควร การใช้งานก็มีด้วยกัน 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือหน้า Home กับ App Drawer ที่ยังคงไว้อยู่ การใช้งานก็คือแอปพลิเคชันที่เราดาวน์โหลดมาจาก Play Store จะเก็บไว้ที่ App Drawer ส่วนหน้าโฮมอันนี้ก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละบุคคลเลยครับ สามารถเลือก Widget ได้ตามต้องการ หรือจะย้ายแอปพลิเคชันที่ใช้งานบ่อย ๆ มาไว้ที่หน้าโฮมก็ทำได้เช่นกัน โดยเราสามารถเพิ่มหน้าโฮมได้สูงสุด 7 หน้า

แอปพลิเคชันที่ลงมาให้ในรอมก็จะมีทั้งแอปพลิเคชันของ Google เอง กับแอปพลิเคชันจากฝั่ง ASUS ที่จะให้เลือกหลังจากล็อกอิน Google Account เรียบร้อยแล้ว ตรงนี้ถ้าใครไม่อยากลงก็สามารถกด Skip ได้เช่นกัน และแน่นอนว่า ASUS Zenfone AR ก็มีการ Pre-load แอปพลิเคชันที่เป็นไฮไลท์อย่าง Daydream และ Tango ไว้เรียบร้อยแล้ว

Feature

Review-Asus-Zenfone-AR-SpecPhone-00018

ไฮไลท์ของ ASUS Zenfone AR จะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจากการรองรับทั้ง Tango และ Daydream VR ต้องบอกว่าเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกในโลกด้วยซ้ำ ที่รองรับทั้ง 2 เทคโนโลยีของ Google พร้อมกัน เพราะส่วนมากจะแยกกัน อย่างตัว Tango เองก็มีสมาร์ทโฟนเพียงไม่กี่รุ่นที่รองรับ เนื่องจากต้องใช้ฮาร์ดแวร์เฉพาะทาง

Tango: สำหรับระบบดังกล่าวบน ASUS Zenfone AR จะทำงานด้วยกล้องหลัง 3 ตัว มีชื่อเรียกว่า “TriCam” โดยจะแบ่งเป็นกล้องติดตามความเคลื่อนไหวของวัตถุ (Motion Tracking), กล้องสำหรับตรวจจับความลึก (Depth Sensing) และกล้องหลักความละเอียดสูง 23 ล้านพิกเซล

Review-Asus-Zenfone-AR-SpecPhone-00008

หลักการทำงานคือสร้างระบบจำลองภาพระบบ 3 มิติ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมรวมถึงวัตถุต่าง ๆ ร่วมกับเซ็นเซอร์ตรวจวัดความลึกด้วยการฉายอินฟราเรดทำให้การแสดงผลเป็นแบบเรียลไทม์แม่นยำ (แม่นในระดับเซนติเมตร) แล้วก็ใช้กล้องติดตามการเคลื่อนไหวของวัตถุเพื่อเพิ่มความเนียม ส่วนกล้องความละเอียดสูง 23 ล้านพิกเซล จะช่วยให้แสดงผลได้อย่างสวยงาม ทั้งหมดที่ว่ามานี้จะทำพร้อมกัน เพราะฉะนั้นฮาร์ดแวร์ที่อยู่ใน ASUS Zenfone AR จึงต้องจัดเต็มเป็นพิเศษ

Review-Asus-Zenfone-AR-SpecPhone-00027

Daydream: สำหรับ Daydream ก็คือการรองรับเทคโนโลยี VR ของทาง Google ที่ ASUS ร่วมมือกับผู้ผลิตฮาร์ดแวร์อย่าง Qualcomm และ Google เอง เพื่อให้ได้สมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งาน Daydream VR ได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยตัว Daydream VR ก็จะมีความแตกต่างจาก VR ทั่วไปในเรื่องของการประมวลผลภาพ, แอปพลิเคชันเฉพาะ VR และมีตัว Controller ให้ใช้งานร่วมกัน ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงประสบการณ์ VR ได้อย่างเต็มที่

Review-Asus-Zenfone-AR-SpecPhone-00033

ส่วนฟีเจอร์อื่น ๆ ที่น่าสนใจของ ASUS Zenfone AR ก็ได้แก่ การรองรับไฟล์เพลงความละเอียดสูง Hi-Res, ระบบเสียง DTS Headphone X, DTS HD Premium Sound และลำโพง 5-magnet ที่ขับเคลื่อนด้วย NXP Smart AMP รวมถึง Game-Genie ที่เป็นแอปพลิเคชันผู้ช่วยสำหรับคนเล่นเกมโดยเฉพาะ ลักษณะของ Game-Genie จะเป็น Widget ที่ลอยอยู่ในหน้าจอขณะที่เราเปิดเกม สามารถทำ Speed Booster เพื่อเร่งความเร็วของเครื่องได้ ถ้าต้องการเล่นเกมหนัก ๆ หรือจะใช้อัดหน้าจอในขณะที่เล่นเกมก็ได้เช่นกัน และยังสามารถทำ Live Video ผ่าน Youtube Live, Twitch ตอนเล่นเกมได้ทันที

Review-Asus-Zenfone-AR-SpecPhone-00029

Camera

Review-Asus-Zenfone-AR-SpecPhone-00012

ในส่วนของกล้องถ่ายรูป ASUS Zenfone AR มีกล้องด้วยกัน 3 ตัวก็จริง แต่ในการถ่ายภาพปกติทั่วไป จะเป็นหน้าที่ของกล้องหลังความละเอียด 23 ล้านพิกเซล เซนเซอร์ IMX 318 มีค่ารูรับแสง f/2.0 พร้อมกันสั่น OIS + EIS และเทคโนโลยีการโฟกัสแบบ TriTech AF ที่เคลมว่าโฟกัสได้ใน 0.03 วินาทีเท่านั้น รองรับการถ่ายวีดีโอความละเอียดสูงสุด 4K

ซอฟท์แวร์กล้องของ ASUS Zenfone AR ในแง่ของการใช้งานเมื่อเทียบกับ Zenfone รุ่นก่อน ๆ ก็ไม่ได้มีความแตกต่างถึงขนาดที่ว่าต้องปรับตัว การใช้งานกล้องถ่ายภาพใช้เวลาในการเรียนรู้ไม่นานก็พอจะใช้ได้คล่องมือ ตัวกล้องเมื่อใช้ถ่ายภาพสามารถโฟกัสได้อย่างรวดเร็วสมกับที่เป็น TriTech AF โดยเฉพาะการถ่ายภาพในที่แสงปกติ แตะปุ๊บก็โฟกัสได้ทันที ส่วนการถ่ายภาพในที่แสงน้อยก็ไม่ได้ถือว่าช้าสักเท่าไหร่ เพราะมีการใช้ Laser เข้ามาช่วยในการโฟกัสนั่นเอง

ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้อง ASUS Zenfone AR

Shot on ASUS Zenfone AR

Performance

Review-Asus-Zenfone-AR-SpecPhone-00005

ประสิทธิภาพของ ASUS Zenfone AR ไม่น่าจะเป็นที่กังขาอยู่แล้ว ด้วยจุดเด่นที่ Ram 8 GB จับคู่กับชิปเซ็ต Qualcomm Snapdragon 821 แม้จะไม่ใช่ชิปเซ็ตรุ่นท็อปที่สุด แต่มันก็แรงพอที่จะรองรับเทคโนโลยี Tango กับ Daydream ได้อย่างไม่มีปัญหา (ASUS Zenfone AR เปิดตัวในงาน CES 2017 ต้นปี เลยไม่ได้ใช้ Snapdragon 835) และด้วยความที่อัดสเปคมาให้แบบสุด ๆ Ram มหาศาลที่ 8 GB ก็เลยส่งผลให้การทำงานแบบ Multitasking การสลับแอปพลิเคชัน หรือการเปิดหลาย ๆ แอปพร้อมกันไม่ใช่ปัญหาของ Zenfone AR

Review-Asus-Zenfone-AR-SpecPhone-00031

ด้านความร้อนจากตัวเครื่อง ASUS Zenfone AR เป็นสมาร์ทโฟนที่มีการจัดการความร้อนได้ดีในระดับหนึ่ง ด้วยระบบระบายความร้อนแบบ Vapor Cooling แต่การที่ใช้ทรัพยากรของเครื่องแบบเต็มประสิทธิภาพต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ เช่น การใช้งาน Daydream VR ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีความร้อนขึ้นสูง จนมีคำแจ้งเตือนขึ้นมาในแอปพลิเคชัน อย่าลืมว่าการต่อสมาร์ทโฟนกับ Daydream VR มันทำให้การระบายความร้อนทำได้แย่ลงอยู่แล้ว เพราะลักษณะการเชื่อมต่อคือสมาร์ทโฟนถูกประกบกับแว่น VR แล้วก็มีฝาปิดทับไปอีกที

Review-Asus-Zenfone-AR-SpecPhone-00007

การจัดการพลังงานของ ASUS Zenfone AR กับแบตเตอรี่ในตัวเครื่องความจุ 3,300 mAh กับการใช้งานในหนึ่งวันก็พอได้อยู่ แต่ถ้าเปิดเล่นบ่อย ๆ รวมถึงใช้งาน Daydream VR หรือเปิดใช้งานแอปพลิเคชัน Tango แบตเตอรี่จะไหลฮวบ ๆ เพราะมีการประมวลผลที่หนักหน่วงมากทีเดียว ส่วนเรื่องการชาร์จไฟกลับ ASUS Zenfone AR รองรับเทคโนโลยีการชาร์จเร็ว BoostMaster Fast Charging ใช้เวลาประมาณ 40 นาที ก็สามารถชาร์จไฟกลับไปได้ถึง 60% และยังรองรับอะแดปเตอร์เทคโนโลยี Quick Charge 3.0 อีกด้วย ไม่ต้องซื้อแยกเหมือนเรือธงบางยี่ห้อ

ด้านการเชื่อมต่อ 4G LTE ตามสเปคของ ASUS Zenfone AR จะรองรับ LTE Cat.11 ที่ความเร็วดาวน์โหลดสูงสุด 600 Mbps อัพโหลด 74 Mbps, 3CA และน่าจะอัดเทคโนโลยีเดียวกับใน ASUS Zenfone 3 Deluxe อย่างการเข้ารหัสขั้นสูง 256QAM การันตีว่าเป็นอีกรุ่นที่ใช้งาน 4G LTE ในประเทศไทยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแน่นอน ภาครับสัญญาณเองเทียบกับสมาร์ทโฟนเรือธงค่ายเกาหลีก็รับสัญญาณได้ดีพอ ๆ กัน

Gallery













เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก