สรุปข่าว ปอท. จะเข้ามาคุมแอพ LINE ในไทย ที่อาจละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชน

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ใครที่ติดตามข่าวคงจะได้เห็นข่าวใหญ่ที่มีแววว่าจะกระทบชีวิตประจำวันของหลายๆ ท่านพอสมควรทีเดียว กับข่าวที่ว่า ปอท. จะเข้ามาตรวจสอบการใช้งานแอพพลิเคชัน LINE ซึ่งเป็นแอพยอดนิยมสำหรับการแชท พูดคุยในปัจจุบัน โดยถ้านับเฉพาะในประเทศไทย ก็มีผู้ลงทะเบียนบัญชีของ LINE กว่า 7.3 ล้านราย ยอดดาวน์โหลดแอพพลิเคชันสูงกว่า 15 ล้านครั้ง ทำให้ประเทศไทยติดอันดับ 3 ของประเทศที่ใช้งาน LINE มากที่สุดของโลก และแน่นอนว่า ถ้าหากมีการเข้ามาควบคุม ตรวจสอบการใช้ LINE ของประชาชน ก็จะย่อมมีปัญหาตามมา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเบื้องต้นในการพูดคุยสื่อสารและเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งในข่าวนี้ เราจะมาสรุปเนื้อหาที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับข่าวการคุมแอพ LINE ในไทยครั้งนี้ครับ

pod1 c

ที่มาของนโยบายการคุมแอพ LINE และท่าทีของ ปอท.

ในเรื่องนี้ มีฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วยกันหลักๆ 3 ฝ่ายด้วยกันครับ ได้แก่

  • ปอท. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) ที่มี พล.ต.ต. พิสิษฐ์ เปาอินทร์ เป็นผู้บังคับการอยู่
  • บริษัทไลน์ คอร์ปอเรชัน (LINE Corporation) ที่เป็นเจ้าของและผู้ดูแลแอพพลิเคชัน LINE ซึ่งเป็นบริษัทจากเกาหลีใต้ แต่ตั้งสำนักงานใหญ่และมีเซิฟเวอร์อยู่ที่ญี่ปุ่น
  • กระทรวง ICT และรัฐบาลไทย

โดยเรื่องนี้มีที่มาจากทาง ปอท. เล็งเห็นว่าในปัจจุบัน แนวโน้มการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย ข้อมูลที่มีแนวโน้มไปในเชิงผิดกฏหมาย กระทบต่อความมั่นคงของชาติ เริ่มมีจำนวนให้เห็นสูงขึ้น โดยเฉพาะในโลกของโซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่น Facebook, Twitter, Whatsapp รวมไปถึง?LINE ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้ทั่วกัน ซึ่งในช่วงหลังจะเห็นว่าเนื้อหาที่เข้าข่ายดังที่กล่าวไปข้างบนมีปรากฏมาให้เห็นเยอะขึ้น ซึ่ง ปอท. เองมีหน้าที่ที่ต้องดูแลจัดการส่วนเหล่านี้โดยตรง จึงจำเป็นจะต้องขอความร่วมมือจากเจ้าของโซเชียลมีเดียรายต่างๆ ในการเข้าไปตรวจสอบข้อมูล และระบุตัวผู้กระทำผิด เพื่อตัดต้นตอของปัญหาก่อนที่จะเกิดปัญหาใหญ่ตามมา โดยจะประสานงานขอข้อมูลจากทางบริษัทแม่ตามบัญชีรายชื่อที่มีอยู่แล้ว หรืออาจจะประสานงานให้บริษัทแม่ส่งรายชื่อกลุ่ม/บุคคลที่มีการพูดคุยเนื้อหาที่มีคีย์เวิร์ดในเชิงผิดกฏหมายมาให้ทาง ปอท. เพื่อดำเนินการต่อไป

ซึ่งจากการที่มีการเปิดเผยนโยบายดังกล่าว ทำให้เกิดเสียงต่อต้านจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะประเด็นของการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในการสื่อสาร ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ตามกฏหมาย ทำให้ทาง พล.ต.ต. พิสิษฐ์ เปาอินทร์ต้องออกมาชี้แจงว่า ปอท. เพียงแค่จะจับตาดูเฉพาะข้อมูลของกลุ่มคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฏหมาย มีแนวโน้มกระทบต่อความมั่นคงและศีลธรรมอันดีเท่านั้น เน้นทางด้านปัญหาอาชญากรรม โดยจะใช้การขอเข้าไปดูเป็นกรณีไป ไม่ได้เข้าไปดูข้อความของทุกๆ คน ซึ่งเท่าที่ผ่านมา ทาง พล.ต.ต. พิสิษฐ์กล่าวว่าทาง ปอท. ก็ได้เริ่มขอความร่วมมือไปทาง Facebook, Twitter, Whatsapp และ YouTube เมื่อช่วงต้นปี แต่ไม่ได้รับความร่วมมือแต่อย่างใด เนื่องจากแต่ละที่ก็ต่างมีข้อกำหนดเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอยู่ ส่วน LINE นั้น พล.ต.ต. พิสิษฐ์ กล่าวว่า ทางบริษัทแม่ของ LINE มีแนวโน้มและยินดีที่จะให้ความร่วมมือดีกว่าบริษัทอื่นๆ หลังจากได้มีการพูดคุยกันระหว่างทีมงานของ ปอท. กับตัวแทนของ LINE เมื่อวันที่ 5-9 สิงหาคมที่ผ่านมา

64146

ท่าทีของ LINE

ทางด้านบริษัทแม่ของ LINE ที่ญี่ปุ่นเองได้เปิดเผยออกมาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (13 ส.ค.) ว่า ยังไม่ได้รับคำขออย่างเป็นทางการจากทาง ปอท. แต่อย่างใด ทำให้ยังไม่สามารถให้ข้อมูลใดๆ ได้ ทาง LINE จะยังคงรักษาข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานเอาไว้เช่นเดิม โดยยึดตามหลักมาตรฐานสากล

ท่าทีของกระทรวง ICT และรัฐบาล

ด้าน น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว. กระทรวง ICT เปิดเผยว่ายังไม่ได้รับการประสานขอความร่วมมือจาก ปอท. แต่อย่างใด โดยกระทรวง ICT กับทางรัฐบาลเห็นพ้องต้องกันว่า ไม่เห็นด้วยกับการตรวจสอบการใช้งานแอพพลิเคชัน LINE เพราะไม่ใช่สิ่งจำเป็น และรัฐบาลไม่มีนโยบายปิดกั้นการสื่อสารของประชาชน

ท่าทีของฝ่ายอื่นๆ

ทั้งหมดล้วนให้ความเห็นตรงกันว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวของ ปอท. เนื่องด้วยเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยังละเมิดต่อรัฐธรรมนูญอีกด้วย

78645

สรุป

ถ้าให้สรุปเหตุการณ์ในขณะนี้ก็คือ

  • ปอท. ดำเนินเรื่องแต่เพียงฝ่ายเดียว
  • LINE ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลตามที่ ปอท. ขอความร่วมมือ ทั้งยังไม่ได้รับคำขอจากทาง ปอท. แต่อย่างใด
  • ทุกฝ่ายในไทยไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว

ก็ต้องรอติดตามข่าวกันต่อไปครับ ว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร

ที่มา: ข่าวสด, ไทยรัฐฯ, มติชน, แนวหน้า

Tags:

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก