รีวิว NVIDIA Shield เครื่องเล่นเกม Android ชิป Tegra 4 พร้อมจอยเกมในตัว

สำหรับใครที่ติดใจการเล่นเกม Android บนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต น่าจะมีไม่น้อยทีเดียวที่รู้สึกลำบากเวลาเล่นเกมอยู่บ้างเหมือนกัน โดยเฉพาะเกมที่ต้องอาศัยการจิ้มหน้าจอบ่อยๆ นานๆ เหตุเพราะพื้นผิวหน้าจอที่ไม่ได้ช่วยรับแรงสัมผัสจากนิ้วมือเท่าปุ่มจริงๆ ทำให้หลายคนต้องไปหาซื้ออุปกรณ์เสริมเช่น ชุดปุ่มกดติดหน้าจอ ชุดจอยเกมมาใช้งานร่วมกับเครื่อง Android ของตนเพื่อให้สามารถเล่นเกมได้สนุกสนานขึ้น แต่ก็พบปัญหาในเรื่องของการพกพาหรือการสูญหายเพิ่มขึ้นมาแทน

ซึ่ง NVIDIA ก็มองเห็นปัญหาจุดนี้ของนักเล่นเกม Android จึงเริ่มเปิดตลาดเครื่องเล่นเกม Android ออกมา นับเป็นครั้งแรกของ NVIDIA ในการผลิตอุปกรณ์ Android เข้ามาสู่ตลาดด้วย หลังจากที่เป็นแต่เพียงผู้ผลิตชิปประมวลผลตระกูล Tegra มาโดยตลอด ซึ่งเจ้าเครื่องเล่นเกมดังกล่าวก็มีชื่อว่า NVIDIA Shield?ที่เคยเป็นข่าวมายาวนานตั้งแต่ระยะที่กำลังพัฒนาจนมาถึงการเปิดตัวจริงๆ และตอนนี้ มันก็จะเริ่มเข้ามาขายในไทยอย่างเป็นทางการในงาน Thailand Mobile Expo 2013 Showcase (TME 2013) ในช่วงวันที่ 3-6 ตุลาคมนี้ที่ศูนย์สิริกิติ์ด้วย ทางเราจึงขอหยิบเครื่องเดโมมารีวิวให้ได้ชมกันก่อนครับ เผื่อจะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจซื้อของหลายๆ ท่านได้

NVIDIA Shield Review Specphone 010

แพ็คเกจที่เราได้รับมาก็มีเพียงแค่กระเป๋าที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ กับตัวเครื่องเท่านั้น แต่ในแพ็คเกจที่ขายจริงตามเอกสารของ NVIDIA ก็จะมีสาย Micro USB และอะแดปเตอร์สำหรับชาร์จไฟให้มาด้วย ตามมาตรฐานของอุปกรณ์โมบายล์ในปัจจุบัน ส่วนกระเป๋าน่าอาจจะต้องซื้อแยกครับ ต้องดูการวางจำหน่ายในไทยอีกที

เนื้อของกระเป๋าก็คือภายนอกเป็นผ้า เนื้อกระเป๋าขึ้นโครงแข็งแรงมาก ช่วยป้องกันแรงกระแทกให้กับตัวเครื่องได้เป็นอย่างดี ใช้ซิปในการปิดฝากระเป๋าสองข้างเข้าด้วยกัน ดูจากลักษณะแล้วน่าจะกันน้ำได้ในระดับหนึ่งครับ

NVIDIA Shield Review Specphone 011

ด้านหน้ามีติดคำว่า Shield ไว้ชัดเจน

NVIDIA Shield Review Specphone 012NVIDIA Shield Review Specphone 013

ด้านหลังมีฝาปิดทำมาจากยางปิดช่องเอาไว้ ซึ่งช่องนี้จะอยู่ตำแหน่งตรงกับพอร์ต Micro USB ด้านหลังเครื่อง ทำให้สามารถชาร์จแบตได้แม้เก็บเครื่องไว้ในกระเป๋า

NVIDIA Shield Review Specphone 014

เปิดขึ้นมาแล้วครับ ภายในก็จะเจอกับ Shield ที่รอคอยอยู่ ก่อนจะไปดูตัวเครื่อง เรามาดูสเปคกันก่อน

สเปค NVIDIA Shield

  • ชิปประมวลผล NVIDIA Tegra 4 Quad-core + 1 (สำหรับใช้งานเบาๆ) ความเร็ว 1.9 GHz
  • มาพร้อมชิปกราฟิก NVIDIA GeForce 72 core
  • แรม 2 GB
  • หน้าจอสัมผัสมัลติทัชขนาด 5 นิ้ว ความละเอียด 1280 x 720
  • หน่วยความจำภายใน 16 GB มีช่องใส่ microSD
  • รองรับการเชื่อมต่อ WiFi, Bluetooth, Mini HDMI และการส่งภาพออกจอแบบไร้สายผ่านมาตรฐาน Miracast
  • ไม่มีช่องใส่ซิม ใช้โทรและ 3G ไม่ได้
  • Android 4.2 Jelly Bean
  • ติดตั้งลำโพง Stereo ในตัว
  • แบตเตอรี่ 28.8 WHr
  • มีพัดลมระบายอากาศในตัว
  • น้ำหนัก 579 กรัม
  • ราคากลางในต่างประเทศ $299 หรือประมาณ 9,000 กว่าบาท

ในแง่ของสเปคตัวเครื่อง จัดว่า NVIDIA Shield เป็นเครื่อง Android เครื่องแรกที่ใช้ชิปประมวลผล Tegra 4 แล้วมีวางจำหน่ายในตลาด แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีจำหน่ายอย่างเป็นทางการแค่ในสหรัฐฯ และแคนาดาก็ตาม ส่วนเรื่องความแรงนั้น จะพูดถึงในส่วนของผลการทดสอบในลำดับต่อๆ ไป

นอกจากนี้ Shield ยังมาพร้อมฟีเจอร์เด็ดอีกตัวหนึ่ง นั่นก็คือความสามารถในการสตรีมมิ่งภาพเกมจาก Steam มาเล่นบนจอของ Shield ถ้าให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือ เราสามารถเล่นเกมที่เรามีในโปรแกรม Steam (เป็นโปรแกรมในคอม) บนจอและจอยของ Shield ได้เลยนั่นเอง ซึ่งเราก็จะมาดูกันในส่วนท้ายของรีวิวว่ามันเป็นอย่างไรอีกทีครับ ตอนนี้มาดูตัวเครื่องกันก่อน

NVIDIA Shield Review Specphone 015

วัสดุโดยรวมของ NVIDIA Shield จะเป็นพลาสติกสีดำ เนื้อลื่นมือเล็กน้อย งานประกอบแข็งแรง มั่นคงดี ส่วนด้านล่างที่จะสัมผัสกับมือเราโดยตรงนั้นใช้ยางหุ้มเอาไว้ ทำให้สามารถจับเครื่องได้ถนัดมือขึ้น ไม่ลื่นหลุดมือง่ายๆ เรียกว่าออกแบบมาเพื่อคอเกมจริงๆ

ส่วนฝาด้านบนที่เป็นสีเทาในภาพ เป็นโลหะ สามารถถอดออกจากตัวเครื่องได้ครับ

NVIDIA Shield Review Specphone 016

NVIDIA Shield Review Specphone 032

ด้านหน้าของตัวเครื่อง จะมีช่องระบายอากาศอยู่ในแถบสีเขียวๆ ครับ

NVIDIA Shield Review Specphone 034NVIDIA Shield Review Specphone 035
NVIDIA Shield Review Specphone 039NVIDIA Shield Review Specphone 040

มาดูด้านข้างของเครื่องก่อน รูปทรงอาจจะดูอ้วนๆ ไปซะหน่อย อาจเป็นเพราะดีไซน์ที่เอื้อให้กับฝรั่งที่มือใหญ่กว่าเราครับ แต่เวลาถือจริงๆ ก็จัดว่าโอเคดี ไม่ใหญ่เทอะทะเกินไป

ด้านหลังของเครื่องจะเห็นว่ามี 4 ปุ่มบนอยู่ แบบเดียวกับปุ่ม L1/L2 และ R1/R2 ในเครื่อง PlayStation เลย (ขอยกจากฝั่ง PS นะครับ เพราะคนคงคุ้นเคยมากกว่าฝั่ง Xbox)

NVIDIA Shield Review Specphone 038

ซึ่งทั้งสี่ปุ่มนี้ ในการใช้งานทั่วไปจะใช้สองปุ่มหน้า (L1/R1) ในการเลื่อนหน้าแอพสำหรับหน้ารวมแอพครับ ส่วนในเกมนี่ก็ต้องแล้วแต่เกมด้วยว่าออกแบบมาให้ใช้งานปุ่มด้านบนทั้งสี่ด้วยหรือเปล่า

สัมผัสในการกด สำหรับสองปุ่มหน้าถือว่าโอเค ไม่ลึกมากสามารถกดได้สบายๆ แต่สองปุ่มหลังค่อนข้างลึกพอสมควร

NVIDIA Shield Review Specphone 036NVIDIA Shield Review Specphone 037

ด้านหลังของตัวเครื่องเต็มๆ นอกจากจะมีปุ่มสี่ปุ่มนั้นแล้ว ยังมีส่วนของพอร์ตเชื่อมต่ออีก ดังนี้

  • ด้านบนสุดคือช่องระบายอากาศ ข้างในมีพัดลมอยู่ ซึ่งจะทำงานเมื่อมีการใช้งานกราฟิกหนักๆ
  • ช่องเสียบการ์ด MicroSD
  • ช่อง Mini HDMI (ซ้ายล่าง)
  • ช่อง Micro USB
  • ช่องเสียบแจ็คหูฟังและไมค์ขนาด 3.5 มิลลิเมตร

ลักษณะการวางพอร์ตจัดว่าโอเคดี เพราะรวมเอามาไว้ด้านหลังทั้งหมด ทำให้ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับคนที่ต้องการเล่นเกมไป ชาร์จแบตไป แถมช่องพัดลมระบายอากาศก็ไม่ได้ปล่อยลมใส่มือหรือใส่ตัวผู้เล่นอีกด้วย

NVIDIA Shield Review Specphone 042

NVIDIA Shield Review Specphone 041NVIDIA Shield Review Specphone 043

หน้าจอของ Shield สามารถกางได้เกือบจะ 180 องศา สังเกตว่าจอค่อนข้างหนา แต่ดูแล้วน่าจะเป็นเฉพาะส่วนของกรอบที่หนาเท่านั้น เพราะพาเนลจอ LCD/LED ในมือถือสมัยนี้มีความบางมากๆ อยู่แล้ว แถมจอของ Shield เองก็ไม่ได้มีความสามารถพิเศษแต่อย่างใด

NVIDIA Shield Review Specphone 018

หน้าจอสัมผัสของ NVIDIA Shield จัดว่าเป็นจอที่คุณภาพดีตัวหนึ่งสำหรับเครื่อง Android เลยทีเดียว ทั้งเรื่องสีสันและความกว้างของมุมมอง (ในภาพถ่ายอาจจะเห็นได้ไม่ค่อยชัดนักนะครับ) แต่จุดที่ด้อยกว่าหลายๆ เครื่องก็คือมันไม่มีเซ็นเซอร์วัดความสว่างภายนอกมาให้ในตัว ทำให้ระบบไม่สามารถปรับความสว่างจออัตโนมัติได้เลย ซึ่งจะมีปัญหาเมื่อเราต้องย้ายบริเวณใช้งานเครื่องไปที่มีแสงสว่างแตกต่างกัน เช่นนั่งเล่นอยู่ในบ้านกับนั่งเล่นขณะรอเพื่อนตรงหน้าตึก ทำให้ผู้ใช้จำเป็นจะต้องปรับความสว่างของจอด้วยตนเองทุกครั้ง

NVIDIA Shield Review Specphone 020

NVIDIA Shield Review Specphone 019NVIDIA Shield Review Specphone 021

NVIDIA Shield Review Specphone 023

NVIDIA Shield Review Specphone 024NVIDIA Shield Review Specphone 027

ถัดจากจอก็มาดูที่จอยที่นับเป็นจุดเด่นของ NVIDIA Shield กันบ้าง ด้วยการที่มาพร้อมปุ่มกดจริงๆ แน่นอนว่ามันทำให้สามารถเล่นเกมได้อย่างสะดวกขึ้นกว่าการจิ้มนิ้วบนจอมากๆ โดยเฉพาะกับเกมแนว FPS,? RPG ที่ต้องบังคับตัวละครเดินไปในเกม, เกมกีฬา เป็นต้น โดยปุ่มที่จะได้ใช้บ่อยๆ ก็เช่นปุ่ม D-Pad ทิศทางทั้งสี่, คันโยกอนาล็อกทั้งสองอัน และก็ปุ่ม A/B/X/Y ครับ ซึ่งปุ่ม A ยังสามารถใช้แทนการกดเลือก, B แทนการยกเลิก (Back) และปุ่ม Y ยังแทนปุ่มเมนูสำหรับ Android ได้ด้วย

ส่วนห้าปุ่มตรงกลางก็มี

  • ปุ่มปรับเสียง (ซ้ายบน) เมื่อกดแล้ว ก็สามารถกด + หรือ – บนจอเพื่อปรับระดับเสียงได้ ส่วนถ้ากดค้าง จะเป็นการสลับกันระหว่างการเปิด/ปิดเสียง
  • ปุ่ม Back (ซ้ายล่าง) ใช้แทนปุ่ม Back ปกติ
  • ปุ่ม NVIDIA (กลาง) ใช้สำหรับเข้าเมนู TegraZone และถ้ากดปุ่ม NVIDIA พร้อมกับปุ่มปรับเสียง จะเป็นการถ่ายภาพหน้าจอ (Screen Capture)
  • ปุ่ม Start (ขวาบน) ใช้สำหรับเริ่มเกมในบางเกม
  • ปุ่มโฮม (ขวาล่าง) ใช้แทนปุ่มโฮมปกติ ถ้ากดค้างจะเป็นการเรียกหน้าจอ Recent Apps ขึ้นมา

ลักษณะการวางปุ่ม จัดว่าโอเคดีครับ อยู่ในตำแหน่งที่สามารถกดได้ค่อนข้างง่าย ใครที่เคยใช้จอย PlayStation มาก่อนก็คงคุ้นชินกันเป็นอย่างดี แต่ถ้าใครเคยใช้งานจอย Xbox มาก่อนจะพบว่ามีเรื่องคันอนาล็อกที่อยู่คนละตำแหน่งกัน (สลับตำแหน่งอนาล็อกซ้ายกับปุ่ม D-Pad กัน) ซึ่งถ้าในการเล่นเกมจริงๆ ตำแหน่งอนาล็อกแบบจอย Xbox จะเหมาะกับการเล่นเกมที่ใช้อนาล็อกเป็นหลักมากกว่าครับ ส่วนใครที่สงสัยว่าเวลาพับฝาปิดลงมา แกนอนาล็อกจะกระแทกจอหรือเปล่า อันนี้เท่าที่เรารีวิวมา พบว่ามันสัมผัสกับจอพอดีครับ ไม่ส่งผลกระทบต่อเรื่องแรงกระแทกหรือจะทำให้จอแตก แต่อาจจะทำให้มีคราบขอบยางทิ้งไว้บนจอได้ ทางที่ดี หลังจากเปิดฝาพับขึ้นมา พยายามหมั่นเช็ดทำความสะอาดจอก็จะดีมาก และอย่าพับเครื่องเก็บไว้อย่างเดียว ไม่อย่างนั้นยางที่อนาล็อกจะเกาะติดกับจอไปได้ครับ

NVIDIA Shield Review Specphone 029

NVIDIA Shield Review Specphone 028

ลองวางมือในลักษณะถือเครื่องขึ้นมาเล่นเกมดูซะหน่อย มันก็พอดีมือนะครับ แต่ถ้าจะเอื้อมมือไปกดปุ่มตรงกลางก็ลำบากบ้างเล็กน้อย

NVIDIA Shield Review Specphone 045NVIDIA Shield Review Specphone 046
NVIDIA Shield Review Specphone 047NVIDIA Shield Review Specphone 048

เทียบขนาดกับจอย PS3

NVIDIA Shield Review Specphone 049

ลองเทียบกับ iPad mini ครับ ความกว้างของเครื่องพอๆ กันเลย

NVIDIA Shield Review Specphone 033

รูปตัวเครื่อง NVIDIA Shield หมดแล้วนะครับ ส่วนต่อไปมารับชมด้านซอฟต์แวร์กันบ้าง

NVIDIA Shield เครื่องที่เราได้รับนี้ มาพร้อมกับ Android 4.2.1 Jelly Bean ครับ พร้อมกับชุดซอฟต์แวร์ TegraZone ที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของ NVIDIA เอง ซึ่งจะมีติดตั้งมาในเครื่องที่ใช้ชิปประมวลผลตระกูล Tegra ส่วนภาพตัวอย่างอินเตอร์เฟสด้านล่างนี้ ส่วนใหญ่ภาพจะเป็นแนวนอนนะครับ เพราะตอนแคปเจอร์หน้าจอผมลืมพลิกเครื่องให้จอเป็นแนวตั้ง

Screenshot 2013 09 12 11 08 53

Screenshot 2013 09 12 11 09 58Screenshot 2013 09 12 11 07 20
Screenshot 2013 09 12 11 07 00Screenshot 2013 09 12 11 07 54

รูปซ้ายล่างเป็นพื้นที่หน่วยความจำภายในเครื่องแบบใหม่ๆ ยังไม่มีการลงแอพใดๆ เพิ่มเติมครับ จาก 16 GB เหลือให้ใช้งานได้จริง 12 GB กว่าๆ ก็จัดว่าค่อนข้างเยอะอยู่ สามารถเก็บเกมได้สบายๆ ส่วนภาพขวาล่างเป็นส่วนของการปรับแต่งคอนโทรลเลอร์ ซึ่งข้อบนสุด เราสามารถเลือกได้ด้วยว่าจะเปิดการใช้งานอนาล็อกขวาให้เป็นเสมือนเม้าส์ด้วยหรือเปล่า ซึ่งถ้าเปิดใช้งาน ก็จะทำให้เราแทบไม่จำเป็นต้องสัมผัสหน้าจอเพื่อสั่งงานเลย

Screenshot 2013 09 12 11 25 01

หน้าตาของ TegraZone ครับ แบ่งเป็นสามหัวข้อย่อยดังนี้

SHIELD Game

เป็นหัวข้อที่ใช้สำหรับรวมเกมที่เรามีใน TegraZone ส่วนเกมที่เราโหลดจาก Play Store ทั้งหมด จะไม่เข้ามารวมอยู่ในนี้ แต่ก็สามารถเลือกเล่นได้จากเมนู Android เอง

SHIELD Store

เป็นร้านขายเกมของ NVIDIA เอง มีทั้งเกมฟรีและเกมเสียเงิน ซึ่งทั้งหมดก็คือเกม Android นี่ล่ะครับ

PC Games

เป็นฟีเจอร์สำหรับเชื่อมต่อ Shield เข้ากับ PC เพื่อเล่นเกมจาก Steam ผ่านการสตรีมมิ่งในวงแลน โดยในปัจจุบันฟีเจอร์นี้ยังอยู่ในสถานะ beta อยู่ การทำงานจึงอาจจะยังไม่สมบูรณ์นัก

Screenshot 2013 09 12 11 24 52

ตัวอย่างเกมที่อยู่ใน Shield Store ครับ ซึ่งเกมทั้งหมดที่โชว์ในนี้ก็เป็นเกมบน Android นี่ล่ะครับ เพียงแต่มันถูกปรับแต่งมาให้เข้ากับชิป Tegra ของ NVIDIA เองได้ดี?

Screenshot 2013 09 12 11 10 11Screenshot 2013 09 12 11 10 15
Screenshot 2013 09 12 11 10 19Screenshot 2013 09 12 11 10 22

เมื่อลองเช็คข้อมูล CPU จาก CPU-Z ปรากฏว่ามันยังมองเห็นชื่อชิปเป็น Tegra 2 อยู่เลย (อันที่จริงต้องเป็น Tegra 4) แต่ข้อมูลอื่นๆ ถือว่าแสดงได้ถูกต้องดีครับ

ด้านของผลการทดสอบประสิทธิภาพนั้น ขอลงเป็นภาพแสดงคะแนนดิบๆ แล้วกันนะครับ เหตุเพราะยังไม่ใช่เครื่องขายจริง ดังนั้นคะแนนอาจจะยังไม่ตรงกับเครื่องจริงก็เป็นได้

Screenshot 2013 09 22 00 01 14

ผลทดสอบการคำนวณของ CPU ผลออกมาอยู่ในกลุ่มท็อปใกล้เคียงกับ iPhone 5s เลยทีเดียว ทำเวลาได้ดีกว่า Galaxy S4 มากพอสมควรเลย

Screenshot 2013 09 22 00 21 47

การทดสอบด้วย Browsermark ก็ให้ผลออกมาเช่นเดียวกับ SunSpider ครับ คือได้คะแนนสูงมากๆ

Screenshot 2013 09 12 13 44 11

ด้านการประมวลผลกราฟิกก็ไม่มีอะไรต้องห่วง คะแนนสูงมาก เฟรมเรตก็เหลือเฟือ สามารถเล่นเกม Android ในปัจจุบันได้ทุกเกมอย่างไม่มีปัญหา

Screenshot 2013 09 12 13 45 25

Screenshot 2013 09 12 13 35 50Screenshot 2013 09 12 13 49 06

Screenshot 2013 09 22 00 23 32

ลองเล่นเกมที่มีใน SHIELD Store ดูครับ ตัวอย่างเช่น Reaper

Screenshot 2013 09 12 17 42 33

การเล่นเกมด้วยจอยและปุ่มกดจริงๆ นับว่าเหมาะกับเกมมากๆ เพราะทำให้เราสามารถมองภาพเกมได้เต็มจอ โดยที่ไม่มีนิ้วบัง

Screenshot 2013 09 12 12 23 45

ลองเล่น Sonic ดูบ้างครับ เป็นเกมที่แถมมาเป็น bundle ในเครื่องเลยด้วย เล่นได้เพลินๆ ดี ภาพจริงจากจอสวยมากๆ

สำหรับตัวเครื่องระหว่างการเล่นเกมนั้น ถ้ามีการประมวลผลกราฟิกหนักๆ บางครั้งพัดลมในเครื่องจะดังขึ้นมาด้วยเหมือนกัน เพื่อช่วยระบายความร้อนจากตัวชิปออกไป แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ระหว่างเล่นผมไม่รู้สึกร้อนมือเลย สามารถเล่นเป็นเวลานานได้สบายๆ

Screenshot 2013 09 12 15 25 53

ส่วนตัวผมเองนึกสนุก เลยลองโหลดแอพ PPSSPP ที่เป็นอีมูเลเตอร์สำหรับเล่นเกม PSP บน Android มาลองดู ผลออกมาก็คือพอเล่นได้ครับ เฟรมเรตมีกระตุกเป็นช่วงๆ แต่ต้องปรับ effect ในเกมไม่ให้สูงมากนัก อย่างในภาพด้านบนตรงมุมขวาบน จะเห็นว่าได้เฟรมเรตที่ 30 fps เลย ซึ่งเพียงพอต่อการเล่นเกม แต่พอผ่านไปหลายวัน ลองมาเล่นอีกที ปรากฏว่าเกมกระตุกมากๆ ส่วน God of War: Chain of Olympus อันนี้เล่นไม่ไหวครับ เกมมันใช้กราฟิกหนักมาก แนะนำว่าไปยืม PSP เพื่อนมาเล่นน่าจะดีกว่า

ต่อไปเป็นการทดสอบการสตรีมมิ่งเกมจาก Steam มาเล่นบน Shield ครับ ซึ่งฟีเจอร์นี้ยังอยู่ในขั้น beta เท่านั้น คือยังไม่สมบูรณ์และอาจมีบั๊กอยู่ อีกทั้งถ้าเป็นตัวเต็ม จะสามารถสตรีมมิ่งเกมอื่นที่ไม่ได้อยู่ใน Steam ได้ด้วย ผ่านทางซอฟต์แวร์บนคอมพิวเตอร์ที่มีชื่อ GeForce Experience ครับ

สิ่งที่จำเป็นในการใช้งานฟีเจอร์สตรีมมิ่งเกม PC

  • คอมพิวเตอร์ที่เป็นเครื่องแม่ ต้องใช้การ์ดจอ NVIDIA GeForce ในซีรี่ส์ GTX เท่านั้น ถ้าในซีรี่ส์ปัจจุบันก็คือ GeForce GTX 650 ขึ้นไป (GTX ในโน้ตบุ๊กไม่สามารถใช้ได้)
  • สเปคเครื่องโดยรวมต้องแรงพอตัวที่จะเล่นเกมความละเอียด 720p ได้ลื่น
  • ใช้งานได้ทั้ง Windows 7, 8 และ 8.1
  • จำเป็นต้องติดตั้งซอฟต์แวร์ GeForce Experience ด้วย
  • ต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตทั้งเครื่อง PC และ Shield เข้าในวงแลนวงเดียวกัน สัญญาณต้องเสถียร ส่วนความเร็ว อย่างต่ำต้องได้ตามมาตรฐาน 802.11a/g

ก็พอดีกับที่ออฟฟิศเรามี PC เครื่องหนึ่งที่ใช้การ์ดจอซีรี่ส์ GTX ของ NVIDIA อยู่พอดี ทางเราก็เลยจัดการทดสอบเล่นเกมดูซะเลย

NVIDIA Shield Review Specphone 001

NVIDIA Shield Review Specphone 002

ในเวอร์ชัน Beta นี้ สามารถเชื่อมต่อกับ Steam ได้เท่านั้นครับ โดยเมื่อเลือกการเชื่อมต่อจากใน Shield แล้ว ที่เครื่อง PC ก็จะเปิด Steam ในโหมด Big Picture ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เมื่อซอฟต์แวร์ต่างๆ พร้อม ภาพจากจอ PC ก็จะมาโผล่อยู่บนจอของ Shield ครับ แต่ทั้งนี้ที่เครื่อง PC จะถูกปรับให้แสดงผลที่ความละเอียด 1280 x 720 เท่ากับจอของเครื่อง Shield เท่านั้น ไม่ว่าความละเอียด native ของจอจะเท่าไรก็ตาม

NVIDIA Shield Review Specphone 004

ลองเล่นเกม Devil May Cry (DmC) ดูแล้วกันนะครับ เป็นเกมที่อยู่ในรายชื่อเกมที่ NVIDIA แนะนำสำหรับการสตรีมมิ่งด้วย (จะเล่น DotA 2 ก็คงไม่ไหว จอเล็กเกิน)

NVIDIA Shield Review Specphone 006

NVIDIA Shield Review Specphone 008NVIDIA Shield Review Specphone 009

การเล่นเกมบนจอของ Shield ก็จัดว่าทำได้ดีครับ แต่ภาพอาจจะเล็กไปหน่อย แล้วก็ในช่วงที่ทดสอบ มีบางช่วงที่เกิดดีเลย์ระหว่างจอคอมกับจอ Shield ทำให้ผมกะจังหวะคอมโบผิดก็มี แต่เปอร์เซ็นต์การดีเลย์มีไม่เยอะมาก ปัญหาใหญ่มันอยู่ที่จอ Shield เล็กไปซะมากกว่า เลยแก้ปัญหาด้วยการกดจอยที่ Shield แต่ตามองจอใหญ่ พบว่าสามารถเล่นได้สบายๆ ครับ อัตราการดีเลย์ไม่สูงมากนัก (ขึ้นอยู่กับสัญญาณในวงแลนเป็นหลัก) หลักๆ ก็คือสามารถเล่นโชว์ชาวบ้านได้สบาย

ส่วนใครที่คิดว่าเครื่อง Shield มันเล่นเกม PC ไหวได้อย่างไร ข้อนี้ตอบง่ายๆ เลยครับ คือเกมทั้งหมด เครื่อง PC เป็นตัวรัน ประมวลผลทั้งหมด ส่วน Shield ทำหน้าที่แค่รับภาพและใช้เป็นจอยควบคุมแบบไร้สายเท่านั้นเอง ทำให้ในการเล่นเกม Shield แทบไม่ได้ใช้พลังในการประมวลผลเลย

Screenshot 2013 09 13 14 05 32ภาพด้านบนนี้เป็นตัวอย่างของการควบคุมในโหมดสตรีมมิ่งเกมครับ

Screenshot 2013 09 13 14 18 33

Screenshot 2013 09 13 14 19 21

อันนี้เป็นภาพสกรีนช็อตเกมที่อยู่บนจอ Shield ครับ 720p คมชัดใช้ได้เลย

ด้านการใช้งานแบตเตอรี่นั้น โดยทั่วๆ ไปก็สามารถอยู่ข้ามวันได้อย่างไม่มีปัญหาครับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมันไม่มี 3G/4G มาคอยสูบแบต แถมเมื่อพับจอลงไปก็มีอัตราการกินพลังงานที่ต่ำ แบตเตอรี่ในตัวก็ให้มาค่อนข้างเยอะอยู่แล้วด้วย จึงไม่มีปัญหาเรื่องการใช้งานหรือเล่นเกมนานๆ ส่วนเท่าที่ลองในโหมดสตรีมมิ่งเกม จัดว่าเป็นที่น่าพอใจมาก เล่นเกมกว่า 2 ชั่วโมง แต่แบตเตอรี่ลดไปไม่เท่าไรเอง

NVIDIA Shield Review Specphone 044ก็ผ่านไปแล้วนะครับสำหรับรีวิว NVIDIA Shield เครื่องเดโมในครั้งนี้ ถ้าในภาพรวมแล้ว มันเป็นเครื่องเล่นเกม Android ที่ดีเลยล่ะ ทั้งด้านของประสิทธิภาพที่อยู่ในระดับหัวกะทิของเครื่อง Android ในขณะนี้ ทั้งยังเรื่องของดีไซน์ที่ออกแบบมาเพื่อเกมเมอร์อย่างแท้จริงอีกด้วย แต่อาจจะต้องแลกมาด้วยการพกพาที่ไม่ค่อยสะดวกนัก เนื่องจากตัวเครื่องค่อนข้างหนามาก

สำหรับใครที่สนใจ สามารถไปลองเล่นลองสัมผัส หรือจะซื้อหามาเล่น ก็เชิญได้ที่งาน Thailand Mobile Expo 2013 Showcase ที่ศูนย์สิริกิติ์วันที่ 3-6 ตุลาคมนี้นะครับ ราคาคาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงหมื่นต้นๆ

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก