พรีวิว Android L บน Nexus 5: ถ้าใช้งานจริงจัง อย่าลง

IMG_20140627_104036

เมื่อคืนที่ผ่านมา Google ก็ได้เปิดให้ดาวน์โหลดไฟล์อิมเมจของระบบปฏิบัติการ Android L Developer Preview ที่เพิ่งเปิดตัวในงาน Google I/O ให้สำหรับ Nexus 5 ?และ Nexus 7 (2013) โดยตัวรอมที่ปล่อยออกมานี้เป็นรอมเวอร์ชัน Developer Preview ที่เปิดให้นักพัฒนาแอพได้โหลดไปทดสอบกับเครื่องตนเองได้ฟรีๆ ทางทีมงานเราที่มี Nexus 5 อยู่ในมือเลยได้ลองติดตั้ง Android L ลงในเครื่อง ผลและหน้าตาจะเป็นอย่างไร มาชมกันครับ โดยการเทียบทั้งหมดจะเป็นการหยิบมาเทียบระหว่าง Android L กับ Android 4.4 KitKat ตัวมาตรฐานจาก Google ใน Nexus 5 เครื่องเดียวกัน

Screen Shot 2014-06-27 at 10.43.38 AM

สำหรับวิธีการติดตั้งรอม Android L ลงบน Nexus 5 นั้น ก่อนอื่นก็ต้องไปดาวน์โหลดไฟล์อิมเมจจากเว็บ Google มาก่อน เข้าเครื่องในโหมด fastboot จากนั้นก็ทำการติดตั้งได้เลย ซึ่งถ้าใครที่พัฒนาแอพ Android อยู่แล้วก็คงสามารถทำได้เลยด้วยการรันไฟล์ flash-all.bat (ใน Windows) หรือถ้าใช้ OS X/Linux ก็ให้เข้าไปที่ Terminal แล้วรันไฟล์ flash-all.sh ได้เลย แต่ถ้าไม่เคยมาก่อน ก็ต้องทำการติดตั้ง Android SDK ก่อนด้วย เพราะขั้นตอนการแฟลชอิมเมจจะต้องทำในโหมด fastboot เท่านั้น ถ้าคอมพิวเตอร์เราไม่มีไดรเวอร์สำหรับเขียน/อ่านมือถือในโหมดนี้ก็จะไม่สามารถทำได้เลยครับ (อันที่จริงก็ต้องการแค่ไฟล์ adb กับ fastboot ในโฟลเดอร์ platform-tools ของตัว SDK เท่านั้นเอง)

ถ้าอ่านมาถึงขั้นตอนนี้แล้วงง สับสนว่า fastboot คืออะไร SDK คืออะไร แนะนำว่าอย่าติดตั้ง Android L จะดีที่สุดครับ เพราะตอนใช้งานจริง ท่านอาจจะเจอปัญหาหนักกว่านี้ก็เป็นได้

หลังจากรอระบบติดตั้งตัวเอง พร้อมการบูทเครื่องครั้งแรก (ที่นานมากกกกก) เสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็จะพบกับหน้าตาการตั้งค่าเครื่องครั้งแรกเหมือนๆ กับใน Android เวอร์ชันปกติครับ เช่นการตั้งค่าต่อ WiFi การล็อกอิน Google Account ก็ทำไปตามปกติเลย ส่วนตัวผมก็เลือกให้มัน restore แอพที่เคยลงไว้ก่อนหน้านี้กับการตั้งค่าตัวเครื่องทั้งหลายมาด้วย เพื่อความสะดวกในการใช้งานต่อจากรอม Android 4.4.4 ก่อนหน้านี้

1

เรียบร้อยแล้ว !! เครื่องพร้อมใช้งาน จากหน้าโฮมสกรีน สังเกตได้ว่าหน้าตาก็จะคล้ายๆ กับ Android 4.4 KitKat นี่แล่ะครับ อย่างที่เทียบในภาพด้านบนเลย (Android L ซ้าย Android 4.4 ขวา) จะมีจุดแตกต่างกันที่เห็นได้ชัดก็สี่จุดคือที่ปุ่มสั่งงานด้านล่างทั้งสามปุ่ม ซึ่งเปลี่ยนรูปร่างไปเป็นแบบทรงเรขาคณิตพื้นฐาน ส่วนตัวผมว่ามันไม่ค่อยจะสื่อให้เข้าใจได้ซักเท่าไรนะ โดยเฉพาะปุ่ม Recent Apps ที่เปลี่ยนเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ของเก่ายังสื่อความได้ดีกว่า ต่อมาก็คือปุ่มเข้าหน้ารวมแอพที่กลับสีจากของเดิม ส่วนจุดที่สามที่เห็นได้ชัดก็คือแอพกล้องพื้นฐานของตัวเครื่อง ที่ Android L ได้เปลี่ยนมาใช้เป็นแอพ Google Camera เป็นมาตรฐานเรียบร้อยแล้ว สุดท้ายก็คือเรื่องการเรียงไอคอนในโฟลเดอร์รวมแอพ ที่เปลี่ยนจากการวางแนวเฉียงมาเป็นการวางในแนวดิ่งแทน (แต่ภายในโฟลเดอร์ก็ยังคงเรียงแบบ 4×4 เหมือนเดิม)

2

ดูในหน้ารวมแอพกันบ้าง จะสังเกตว่าการวางตำแหน่งไอคอนจะต่างไปจากเดิมเล็กน้อย ส่วนเวลามองด้วยสายตาจริง รู้สึกเหมือนว่าความสูงของตัวอักษรจะลดลงจาก Android 4.4 KitKat เล็กน้อย ส่วนที่ภาพขวาดูมัวๆ เป็นเพราะผมเอาภาพมาจากในรีวิว Nexus 5 บทความเก่านะครับ

3

เมื่อลองเข้าไปดูใน Settings ก็พบว่าเลขเวอร์ชั่นได้ถูกยกเลิกไป เหลือบอกแต่เพียงว่าเป็นเวอร์ชั่น L เท่านั้น เมื่อลองแตะที่แถบ Android Version ถี่ๆ ที่ปกติจะเป็นการโชว์รูปมาสคอตประจำแต่ละเวอร์ชั่น ปรากฏว่ากลายเป็นแค่แท่งสี่เหลี่ยมสองแท่ง สลับรูปร่างกันไปมาเท่านั้นเอง แสดงให้เห็นว่ายังไม่เสร็จสมบูรณ์จ้า

สำหรับพื้นที่การใช้งานที่เหลืออยู่หลังติดตั้งเสร็จก็อยู่ที่ประมาณ? 12 GB เท่าๆ กับ Nexus 5 ที่ใช้ Android 4.4 KitKat เลย อาจจะน้อยกว่าก็นิดเดียว แรมที่เหลือให้ใช้หลังเปิดเครื่องใหม่ (ติดตั้งแอพต่างๆ เรียบร้อยแล้ว) จาก 2 GB ก็เหลืออยู่ 1.3 GB โดยประมาณ

ในด้านของระบบ Android L ได้เปลี่ยน runtime จากที่ใช้ Dalvik มาตั้งแต่แรกคลอด Android เวอร์ชั่นแรกๆ มาเป็น ART อย่างเต็มตัวแล้ว หลังจากที่มีให้ทดสอบใช้งานกันไปใน Android 4.4 เมื่อลองเข้าไปดูในหัวข้อ Developer Options ก็พบว่าหัวข้อที่ให้เลือก runtime ได้หายไป ดังนั้นก็เป็นที่ชัดเจนว่า โลกของ Android ได้เริ่มเดินเข้าสู่ ART อย่างเต็มตัวแล้วนั่นเอง ซึ่งสิ่งที่ ART จะมอบให้กับผู้ใช้งานก็คือ ความเร็วในการเปิดแอพ สลับแอพ การทำงานต่างๆ ที่รวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ก็อาจจะต้องแลกมาด้วยขนาดแอพที่ใหญ่ขึ้นนิดหน่อย

4

จุดที่เปลี่ยนไปอย่างมากก็คือคีย์บอร์ดเดิมๆ ของตัวเครื่องที่ปรับเปลี่ยนหน้าตา ที่เห็นชัดก็คือไม่มีเส้นแบ่งแยกแต่ละปุ่มอีกต่อไป คีย์บอร์ดทั้งหมดรวมเป็นแผ่นเดียวกันหมด ช่วงแรกๆ อาจจะสังเกตตำแหน่งปุ่มได้ยากนิดนึง ส่วนการ swipe หรือลากผ่านตัวอักษรเพื่อผสมเป็นคำ ยังคงใช้งานกับภาษาไทยไม่ได้เช่นเคย แต่จุดนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่นัก เพราะผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดคีย์บอร์ดที่ต้องการมาลงเองได้อยู่แล้ว

5

นี่คือหน้าตาของแถบ notifications แบบใหม่ โดยเมื่อลากลงมาก็จะพบกับ แถบแจ้งเตือนต่างๆ เรียงลงมาแบบที่ยังมีพื้นหลังเป็นแอพที่ใช้งานอยู่ล่าสุด ซึ่งเรายังสามารถกดเพื่อเข้าไปดูแอพที่มีการแจ้งเตือนมา หรือจะลากออกไปด้านข้างเพื่อปิดการแจ้งเตือนก็ได้เช่นเดิม

ส่วนถ้าเราลากแถบด้านบนลงมาอีกขั้นหนึ่ง หรือจะใช้การกดที่แถบด้านบน ก็จะเป็นการเปิดใช้งานแถบ quick settings จากที่แต่เดิมสามารถเรียกใช้งานได้โดยการใช้สองนิ้วลากแถบ notifications ลงมา หรือจะใช้การกดที่ปุ่ม quick settings ที่ด้านบนของแถบ noti ก็ได้ ทำให้การเรียก quick settings เพื่อปรับแต่งการทำงานของโมดูลต่างๆ ใน Android L ทำได้สะดวกยิ่งขึ้น

จุดเด่นของ quick settings ในครั้งนี้ นอกเหนือจากการดีไซน์ที่แปลกตาไปจากเดิมแล้ว ก็คือความสามารถในการเปิด/ปิดโมดูลต่างๆ ได้เพียงแค่จิ้มครั้งเดียวเท่านั้น เช่น เวลาจะปิด wifi ก็จิ้มที่สัญลักษณ์ wifi จากที่แต่เดิมต้องใช้การกดปุ่มค้างไว้

ส่วนในหน้าล็อคสกรีน ก็จะพบกับการแจ้งเตือนโผล่ขึ้นมา รวมไปถึงการปลดล็อคหน้าจอที่เปลี่ยนไปใช้การเลื่อนหน้าจอขึ้นไปด้านบน ซึ่งผู้ที่ใช้งาน iOS 7 อยู่แล้วคงจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีล่ะนะ

6

ส่วนอื่นๆ ที่น่าสนใจอีก ก็เช่นหน้าตาการแสดงผลแอพที่ใช้งานล่าสุด จะเปลี่ยนจากหน้าตาแบบแบนๆ แสดงหน้าจอที่ทำงานอยู่ของแต่ละแอพ มาเป็นแบบการ์ดเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ ที่ผู้ใช้สามารถเลื่อนขึ้นลงเพื่อดูแต่ละแอพ จะปิดก็ใช้การเลื่อนการ์ดแสดงแอพที่ต้องการจะปิดไปทางซ้ายหรือขวา หรือจะใช้การกดที่ปุ่มกากบาทตรงมุมบนขวาก็ได้เช่นเดียวกัน

ฟีเจอร์ Battery Saver ที่ช่วยลดอัตราการใช้งานแบตเตอรี่ลง โดยหลักๆ แล้วจะเป็นการลดพลังที่ใช้ประมวลผลลงเล็กน้อย แต่ไม่ได้ตัดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตลง ซึ่งฟีเจอร์นี้ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะให้ทำงานตลอดเวลา หรือจะให้ทำงานเมื่อแบตเตอรี่เหลืออยู่กี่เปอร์เซ็นต์ โดยตัวเลือกก็จะมีตั้งแต่ 20%, 15%, 10%, 5% หรือจะให้ปิดฟีเจอร์นี้ไปเลยก็ได้เช่นกัน นับว่าน่าจะเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่อำนวยความสะดวกในการใช้งานจริงได้ดี

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับ Android L ที่เป็นเวอร์ชันล่าสุด ที่ตอนนี้อาจจะยังไม่สมบูรณ์นัก เพราะยังเป็นเวอร์ชันสำหรับทดสอบเท่านั้น สำหรับใครที่อยากจะใช้งาน Android L ตัวเต็ม ก็อาจจะต้องรอช่วงปลายไตรมาสสามของปีนี้เป็นอย่างต่ำเลย ส่วนถ้าใครอยากใช้งานตอนนี้ แนะนำว่าอย่าเพิ่งลองจะดีกว่า เพราะเท่าที่ทดสอบ ก็ยังพบปัญหาบางแอพใช้งานไม่ได้ แอพเด้ง รวมถึงบั๊กต่างๆ ในการทำงานอยู่ เช่น หน้าจอเปิดไม่ติดบ้างเป็นบางครั้ง บางทีก็กระตุกบ้างก็มี ซึ่งก็นับเป็นเรื่องปกติสำหรับเวอร์ชันทดสอบใช้งาน Developer Preview ครับ

ปิดท้ายด้วยวิดีโอพรีวิวเพื่อดูความลื่นและฟีเจอร์ต่างๆ ของ Android L บน Nexus 5 ครับ รับชมกันได้เลย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก