รีวิว Jawbone UP24 สายรัดข้อมือตามติดชีวิตรุ่นอัพเกรด พร้อมการเชื่อมต่อ Bluetooth สุดสะดวก

เมื่อช่วงกลางปีก่อน Jawbone ได้เปิดตัวพร้อมวางจำหน่ายสายรัดข้อมือ Jawbone UP ที่มีไว้ใช้สำหรับติดตามการเคลื่อนไหว การดำเนินชีวิตประจำวันนับตั้งแต่การนอนหลับ การเดิน การออกกำลังกาย รวมไปถึงการรับประทานอาหาร เพื่อให้สามารถตามติดการใช้ชีวิตในแต่ละวันได้ว่าเป็นอย่างไร จะได้นำไปปรับปรุงเพื่อดูแลสุขภาพร่างกายให้ดีขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่หลายๆ คนให้ความสนใจ เนื่องด้วยเทรนด์การรักษาสุขภาพด้วยอุปกรณ์สมัยใหม่กำลังเป็นที่นิยม

ในปีนี้ Jawbone ก็ยังคงส่งสายรัดข้อมือรุ่นใหม่ออกมาทำตลาดอย่างต่อเนื่องครับ โดยจะเรียกว่าเป็นรุ่นอัพเกรดจาก UP รุ่นแรกก็ว่าได้ กับตัวของ Jawbone UP24 สายรัดข้อมือที่มีการปรับปรุงทั้งส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ให้สามารถใช้งานได้สะดวกสบาย มีฟีเจอร์เพิ่มขึ้นมาหลายอย่างทีเดียว เรามาดูกันจากในรีวิว Jawbone UP24 ตัวนี้กันเลยดีกว่าว่าจะเป็นอย่างไร เริ่มที่ด้านของฮาร์ดแวร์กันก่อน

แกะกล่อง Jawbone UP24

Review Jawbone UP24 SpecPhone 002

สำหรับแพคเกจจิ้งของ Jawbone UP24 จะใช้เป็นพลาสติกแข็งใสครอบไว้ด้านหน้า ทำให้สามารถมองเห็นตัวสายรัดได้ชัดเจน?

Review Jawbone UP24 SpecPhone 001

Review Jawbone UP24 SpecPhone 004

ตรงหัวด้านบนกล่องจะมีฟีเจอร์ต่างๆ แสดงในแบบไอคอนเล็กๆ ทำให้สามารถเข้าใจได้ง่ายว่า UP24 รองรับการทำงานพื้นฐานใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็น การตรวจจับเวลานอนหลับ, การตรวจจับการเดิน, การตรวจจับจากการรับประทานอาหาร รวมไปถึงการเชื่อมต่อที่เปลี่ยนไปใช้แบบ Bluetooth ทำให้สามารถใช้งานได้สะดวกมากขึ้น จากที่ใน Jawbone UP รุ่นแรกจะทำการเชื่อมต่อซิงค์ข้อมูลกับสมาร์ทโฟนได้ก็ต่อเมื่อเสียบผ่านช่องหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรเท่านั้น

Review Jawbone UP24 SpecPhone 005จากกล่องก็จะเห็นหน้าตาของ Jawbone UP24 ได้ชัดเจน รับรองว่าซื้อไปไม่มีผิดสีแน่ๆ?

Review Jawbone UP24 SpecPhone 006

ข้างกล่องก็จะมีป้ายบอกด้วยว่าไซส์ของสายรัดข้อมือในกล่องนั้นมีขนาดใด โดยทางเราได้รับมาสองขนาดคือคือ S กับ L

Review Jawbone UP24 SpecPhone 007

สำหรับใครที่สงสัยว่า “เอ๊ะ แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าควรเลือกซื้อ UP24 ไซส์ไหนถึงจะโอเค” จุดนี้ก็ไม่ต้องห่วงเลย เพราะที่แพ็คเกจของ Jawbone UP24 แต่ละกล่องจะมีแผ่นพลาสติกใสไว้สำหรับให้ลองสวมข้อมือเพื่อกะขนาดดูว่าจะสามารถใช้งานสายรัดข้อมือ Jawbone UP24 ขนาดดังกล่าวได้พอดีหรือไม่ ซึ่งถ้าตามปกติแล้วข้อมือผู้ชายขนาดตัวปกติก็น่าจะใส่ไซส์ M ขึ้นไป ส่วนผู้หญิงก็น่าจะเริ่มได้ตั้งแต่ไซส์ S เลย

Review Jawbone UP24 SpecPhone 008

Review Jawbone UP24 SpecPhone 009

ด้านหลังกล่องก็จะมีบอกคุณสมบัติคร่าวๆ ของ Jawbone UP24 เอาไว้ ถ้าสังเกตดีๆ ตรงฝั่งขวาของภาพจะมีส่วน System Requirements ซึ่งแสดงถึงอุปกรณ์ที่สามารถใช้งานร่วมกับ UP24 เอาไว้ โดยจะมีแต่เฉพาะอุปกรณ์ iOS อย่าง iPhone, iPad และ iPod Touch เท่านั้น จุดนี้ชาว Android ไม่ต้องตกใจไปครับ เพราะ Jawbone UP24 สามารถใช้งานร่วมกับ Android ได้แล้ว แต่สาเหตุที่ข้างกล่องมีแต่ iOS เท่านั้นก็เนื่องจากในช่วงแรกตัวแอพพลิเคชัน UP ที่ใช้งานร่วมกับ UP24 ได้ จะมีเฉพาะของ iOS เท่านั้น แต่มาในภายหลังก็ได้อัพเดตเวอร์ชันแอพบน Android ให้รองรับการใช้งานร่วมกับ UP24 ได้ในที่สุด

สรุปแล้ว Jawbone UP24 สามารถใช้งานได้ทั้งบน iOS และ Android แล้วนะครับ

Review Jawbone UP24 SpecPhone 010

แกะดูภายใน ก็จะพบกับกล่องกระดาษรีไซเคิลสีขาว มีแยกช่องไว้สองส่วนชัดเจน ส่วนล่างคือช่องสำหรับเก็บสายรัดข้อมือ ส่วนช่องบนจะเป็นที่เก็บอุปกรณ์ประกอบการใช้งาน

Review Jawbone UP24 SpecPhone 011

ชิ้นแรกคือเอกสารคู่มือการใช้งานเบื้องต้นของ Jawbone UP24

Review Jawbone UP24 SpecPhone 012

13

เมื่อหยิบเอกสารออกก็จะพบกับสาย USB – ช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 2.5 มิลลิเมตรเอาไว้สำหรับเชื่อมต่อสายรัดข้อมือ UP24 เข้ากับคอมพิวเตอร์เพื่อชาร์จแบตเตอรี่ให้ UP24 เท่านั้น ไม่สามารถซิงค์ข้อมูลใดๆ ได้นะครับ ตัวสายสามารถโค้งงอได้เล็กน้อย ขนาดไม่สั้นไม่ยาวเกินไป พกพาสะดวกมากๆ แต่ก็อาจต้องระวังหายกันซักหน่อย เพราะถ้าหายไป คงจะหาอุปกรณ์มาแทนลำบากไม่น้อยทีเดียว แต่ก็ไม่ต้องกลัวครับ เพราะสามารถติดต่อสอบถามหาซื้อได้ที่ศูนย์บริการของ Jawbone ได้ครับ

Review Jawbone UP24 SpecPhone 017

Review Jawbone UP24 SpecPhone 018

ที่แพ็คเกจจะมีตัวล็อคพลาสติกสำหรับยึด UP24 ให้ติดกับกล่องไว้ค่อนข้างแน่นหนาดี การจะดึงเอา Jawbone UP24 ออกมา แนะนำว่าให้ดึงส่วนปลายออกมาในแนวขนานกับกล่อง สวนทางกับตัวสายรัดของแต่ละด้าน วิธีนี้จะง่ายกว่าการดึงขึ้นมาข้างบนตรงๆ มากทีเดียว เมื่อดึงส่วนปลายทั้งสองออกมาได้แล้ว ก็ค่อยดึงส่วนหนาของสายรัดออกมาตรงๆ ได้เลย

ทีนี้มาดูที่ตัวสายรัดข้อมือ Jawbone UP24 กัน

Review Jawbone UP24 SpecPhone 021

สำหรับตัว Jawbone UP24 ที่เราได้มาในครั้งนี้จะเป็นไซส์ S (สีส้ม) และไซส์ L (สีดำ) นะครับ ซึ่งตัวของ UP24 จะมีแค่สองสีนี้เท่านั้น ต่างจาก UP รุ่นแรกที่มีให้เลือกหลากหลายสีกว่า

Review Jawbone UP24 SpecPhone 022

Review Jawbone UP24 SpecPhone 026

เทียบขนาดไซส์ S กับ L กันหน่อย

Review Jawbone UP24 SpecPhone 023Review Jawbone UP24 SpecPhone 025

Review Jawbone UP24 SpecPhone 033

ตัวสายรัดก็จะยังคงมีหน้าตาละม้ายคล้ายกับ Jawbone UP รุ่นแรก?เลย ถ้าดูแต่หน้าตาภายนอกก็คงแยกความแตกต่างได้ยากพอสมควร การสวมใส่ทำได้ง่ายดาย เพียงแค่ง้างสายรัดข้อมือออกมาเล็กน้อย จากนั้นก็สอดข้อมือเข้าไปในสายรัดข้อมือ?ซึ่งวัสดุภายนอกที่เป็นยางนั้น ทำให้สามารถสวมใส่ได้สบายมือเพราะมีผิวสัมผัสที่นิ่ม ยืดหยุ่นง่าย แถมยังกันน้ำกันฝนได้ดีอีกด้วย จึงเหมาะกับการใส่ติดตัวตลอดเวลา (แต่ถ้าหลีกเลี่ยงการใส่อาบน้ำหรือว่ายน้ำก็ช่วยเรื่องการยืดอายุการใช้งานได้) ส่วนตัวผมเคยถอดมาล้างน้ำ ก็ยังสามารถใช้งานได้ปกติดี ยิ่งถ้าเลือกซื้อมาขนาดที่พอดีกับตนเองแล้ว ก็จะทำให้ไม่รู้สึกรำคาญระหว่างการใช้เลย

Review Jawbone UP24 SpecPhone 024

จุดที่จะช่วยแยกได้อย่างชัดเจนว่าเป็น UP รุ่นแรกหรือ UP24 ก็คือตรงจุดนี้เลย จะเห็นได้คำว่า UP24 ติดอยู่ แต่ถ้าเป็นรุ่นแรกก็จะเป็นแค่คำว่า UP ธรรมดา

ที่น่าสนใจก็คือคำว่า MotionX ที่เป็นเทคโนโลยีตรวจจับความเคลื่อนไหวของผู้ใช้ ซึ่งเป็นหัวใจหลักสำหรับการทำงานของ Jawbone UP24 เลย?โดยตัวของ MotionX คือเทคโนโลยีการตรวจจับและประมวลผลสภาพแวดล้อมภายนอกจากเซ็นเซอร์หลากหลายชนิด เช่น GPS, การเคลื่อนไหว, แสง, การสัมผัส, แรงดัน และอีกหลายรูปแบบครอบคลุมแทบจะทุกรูปแบบของเซ็นเซอร์ โดยเป็นเทคโนโลยีที่บริษัท FullPower พัฒนาขึ้นมา ซึ่งทาง Jawbone เองก็ได้นำเอาเทคโนโลยี MotionX มาใช้งานกับผลิตภัณฑ์ของตน ทำให้สามารถติดตามชีวิตประจำวันของผู้ใช้ได้ดีขึ้น โดยโมเดลการทำงานของ Jawbone UP24 ก็คือ ให้ MotionX เป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของผู้ใช้ และส่วนซอฟต์แวร์และการคำนวณจะเป็นทางของ Jawbone เอง เพื่อให้ระบบสามารถทำงานได้อย่างเที่ยงตรงและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

Review Jawbone UP24 SpecPhone 029

สำหรับด้านนี้จะยังคงเป็นปุ่มกดสำหรับสั่งงาน UP24 ในหลายๆ คำสั่ง ไม่ว่าจะเป็นการสลับโหมดระหว่างโหมด Active สำหรับตอนดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติกับโหมด Sleep สำหรับตอนนอนหลับ รวมไปถึงใช้ปิดการแจ้งเตือน ปิดนาฬิกาปลุกของตัว Jawbone UP24 ด้วย

Review Jawbone UP24 SpecPhone 031

Review Jawbone UP24 SpecPhone 030

สำหรับการเปลี่ยนโหมดระหว่างโหมด active กับโหมด sleep ให้กดที่ปุ่มค้างไว้จนตัว UP24 สั่น จากนั้นจะมีไฟ LED ดวงเล็กๆ สว่างขึ้นมา ทางเราขอใช้เส้นสีดำในการแสดงตัวอย่างนะครับ จะได้เห็นชัดเจนว่าเป็นอย่างไร ถ้าเป็นรูปคล้ายๆ ดวงอาทิตย์ ก็คือโหมด active ส่วนถ้าเป็นรูปดวงจันทร์ก็คือเปลี่ยนมาใช้งานในโหมด sleep

Review Jawbone UP24 SpecPhone 028

ส่วนปลายอีกข้างจะมีปลอกสีเทาปิดเอาไว้อยู่อย่างแน่นหนา เมื่อดึงออกก็จะพบกับแจ็คหูฟังขนาด 2.5 มิลลิเมตร (ไม่สามารถใส่กับสมาร์ทโฟนทั่วไปที่เป็นช่อง 3.5 มิลลิเมตรได้) โดยในตัวของ UP24 จะใช้แจ็คนี้ในการชาร์จแบตเตอรี่ในตัว

Review Jawbone UP24 SpecPhone 019

Review Jawbone UP24 SpecPhone 020

การชาร์จก็ให้ใช้ร่วมกับสาย USB ที่ให้มาในกล่องครับ แล้วไปเสียบชาร์จกับคอมพิวเตอร์ หรือจะชาร์จกับอะแดปเตอร์ชาร์จไฟของมือถือก็ได้ สำหรับการชาร์จจนเต็มหนึ่งครั้งจะใช้งาน UP24 ได้ประมาณ 1 สัปดาห์ (หรืออาจมากกว่านั้น) ลดลงจาก UP รุ่นแรกที่ใช้งานได้กว่า 10 วัน ทั้งนี้ก็เนื่องมาจาก UP24 มาพร้อมการเชื่อมต่อแบบ Bluetooth ที่ทำให้สามารถซิงค์ข้อมูลได้สะดวกกว่าเดิม แต่ก็แลกมาด้วยการใช้พลังงานที่มากกว่าเดิมนิดหน่อย ส่วนตัวผมมองว่าก็คุ้มดีครับ เพราะจะได้ไม่เสียเวลาเอาสายมาเสียบกับมือถือทุกวันเพื่อซิงค์ข้อมูล แถมการใช้งานได้กว่า 1 สัปดาห์มันก็เพียงพอแล้วนะ อาจจะชาร์จช่วงวันเสาร์ อาทิตย์ที่อยู่บ้าน พอวันจันทร์-ศุกร์ก็เอาไปใช้ตอนออกไปทำงาน รับรองว่าแบตเหลือเฟือ

สำหรับ Bluetooth ที่ใช้ใน Jawbone UP24 ก็มีชื่อว่า Bluetooth Smart ที่จะทำการเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ตไม่ว่าจะ iOS หรือ Android ตลอดเวลา เพื่อทำการซิงค์ข้อมูลการเดิน การนอนและกิจกรรม ข้อมูลต่างๆ ได้ตลอดเวลา โดยที่ไม่กินแบตเตอรี่มากนัก ทั้งนี้ก็เนื่องจากเป็นการหยิบนำ Bluetooth 4.0 Low Energy ที่ออกแบบมาให้เหมาะสำหรับการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนเข้ากับอุปกรณ์อื่นๆ แบบที่จำเป็นต้องเชื่อมต่อตลอดเวลาโดยไม่กินพลังงานมากนัก?แต่ทั้งนี้ แม้ว่าสมาร์ทโฟนที่ใช้อยู่จะรองรับ Bluetooth เวอร์ชันต่ำกว่า 4.0 แต่ก็สามารถใช้งานได้แบบไม่มีปัญหาครับ แค่อาจจะใช้แบตมากกว่ากันหน่อย

โดยเท่าที่ผมใช้งานร่วมกับ Nexus 5 ที่รองรับ Bluetooth 4.0 LE ก็พบว่าไม่ได้กินแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นจากเดิมเท่าไรเลย สามารถใช้งานมือถือได้นานเท่าๆ กับตอนไม่ได้เปิด Bluetooth เพื่อใช้งาน UP24 เลยทีเดียว (เปิด Bluetooth เพื่อซิงค์ข้อมูลกับ UP24 ทั้งวันทั้งคืน)

คราวนี้มาดูหน้าตาของ Jawbone UP24 ระหว่างใส่ใช้งานกันครับว่าจะอยู่ในลักษณะใด

Review Jawbone UP24 SpecPhone 034

Review Jawbone UP24 SpecPhone 037

การสวมใส่ UP24 จะใช้เป็นการใส่แบบให้ด้านที่เป็นปลอกพลาสติกอยู่ด้านล่างของปลายด้านที่มีปุ่มกดอยู่ แต่ถ้าถามว่าจะสลับกันได้มั้ย อันที่จริงก็พอได้ครับ แต่มันจะไปขัดกับรูปทรงที่ออกแบบมาให้ใส่ในลักษณะนี้ ทำให้ตัวสายมีการหักงอมากกว่าปกติ อาจส่งผลต่อชิ้นส่วนภายในได้เหมือนกันในระยะยาว

สำหรับความแน่นในการสวมใส่ สำหรับตัวผมเองคิดว่าไซส์ M น่าจะกำลังดีที่สุด L ก็หลวมไปหน่อย S ก็ใส่ได้แต่แน่นเกิน ดังนั้นก่อนจะซื้อ Jawbone UP24 มาใช้งาน แนะนำให้ลองเทียบขนาดข้อมือเข้ากับแผ่นพลาสติกใสที่ติดมากับหน้ากล่องด้วยจะดีที่สุด

Review Jawbone UP24 SpecPhone 038

Review Jawbone UP24 SpecPhone 036

ด้วยหน้าตาที่ดูทันสมัย แปลกตา ทำให้ Jawbone UP24 ดูจะไม่ใช่แค่อุปกรณ์เทคโนโลยีสวมใส่ทั่วไปเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องประดับได้สบายๆ เลย รับรองว่าใส่แล้วดูเป็นคน active ขึ้นทันตาเห็นเลยทีเดียว

การใช้งาน Jawbone UP24 ร่วมกับสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ต

Review Jawbone UP24 SpecPhone 039

เนื่องด้วยตัวของ Jawbone UP24 ใช้การเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ทโฟนผ่านทาง Bluetooth ทำให้การใช้งานร่วมกันเป็นเรื่องที่ง่ายดายขึ้นมากกว่าใน UP รุ่นแรกมากๆ ส่วนแอพพลิเคชันที่ใช้ก็จะมีชื่อว่า UP ครับ สามารถดาวน์โหลดได้จากทั้ง iOS App Store และ Android Play Store เลย

นอกจากแอพ UP ของ Jawbone เองแล้ว UP24 ก็ยังรองรับการใช้งานร่วมกับแอพพลิเคชันอื่นๆ อีก ซึ่งก็เป็นแอพในกลุ่มที่เกี่ยวกับการออกกำลังกายกันทั้งนั้น เลือกใช้กันได้ตามสะดวกเลยจ้า

up24

Review Jawbone UP24 SpecPhone 041

ต่อไปเราจะมาดูหน้าตาของแอพพลิเคชัน UP กันนะครับ เริ่มตั้งแต่การ pair ตัวสายรัดข้อมือ UP24 เข้ากับเครื่องเลย โดยจะเป็นภาพที่มาจากแอพเวอร์ชันบน iOS

15

เมื่อเปิดแอพขึ้นมา ก็ให้ปัดหน้าจอแอพจากขวาไปซ้าย แล้วกดปุ่ม Add new band เพื่อจัดการ pair สายรัดข้อมือ Jawbone UP24 เข้ากับสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ตก่อนเลย โดยแอพจะให้เลือกครับว่าเราใช้ UP24 หรือ Up รุ่นแรก เพราะการเชื่อมต่อจะแตกต่างกัน (UP24 ผ่าน Bluetooth ส่วน UP รุ่นแรกจะต่อผ่านพอร์ตหูฟัง) เมื่อเลือก UP24 แล้วก็ให้กดปุ่มบนสายรัดข้อมือเลย

24

ถ้าเครื่องใครปิด Bluetooth อยู่ ก็จะมีเตือนว่าให้เปิด Bluetooth ก่อนด้วย

33

ตัวแอพพลิเคชันจะทำการค้นหา UP24 ที่มีอยู่ในบริเวณนั้น ถ้าเจอก็ดีไป ถ้าไม่เจอก็ลองค้นหากันต่อไปนะ :D

42

เมื่อเจอแล้ว แอพพลิเคชัน UP จะบอกให้เรากดปุ่มบน UP24 เพื่อทำการ pair สายรัดข้อมือของเราเข้ากับแอพพลิเคชันในมือถือ เมื่อเรียบร้อยแล้วก็พร้อมใช้งานได้ทันทีจ้า

52

สำหรับเมนูการตั้งค่าหลักๆ จะซ่อนอยู่ สามารถเรียกออกมาได้ด้วยการปาดหน้าจอจากขวาไปซ้ายเช่นเดียวกับการ pair ครั้งแรกนั่นเอง ถ้าหากเราต้องการดูข้อมูลของ UP24 ที่เราใช้งานอยู่ ก็ให้กดปุ่มขวาบนสุดที่เป็นรูปสายรัดข้อมือ?หน้าแอพพลิเคชันก็จะแสดงข้อมูลจำเป็นต่างๆ เช่นปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ว่าจะใช้งานได้อีกประมาณกี่วัน, ซีเรียลนัมเบอร์, สี, ขนาด รวมทั้งยังสามารถใช้ค้นหาเมื่อเราเผลอถอดแล้วลืมวางเอาไว้ได้ด้วย ถ้าใครต้องการยก UP24 ไปให้คนอื่นใช้ แล้วอยากลบข้อมูลของเราก็สามารถกดที่หัวข้อ Erase Band Data ได้เช่นกัน

61

คราวนี้มาดูโหมดการทำงานต่างๆ ที่ Jawbone UP24 สามารถทำงานได้กันครับว่ามีอะไรบ้าง เริ่มจาก

Power Nap

ก็คือฟีเจอร์ช่วยปลุกเมื่อเราต้องการนอนเป็นระยะเวลาสั้นๆ เช่นนอนกลางวันหลังกินข้าวเที่ยง ซึ่งจะเป็นช่วงระยะเวลาการงีบที่พอดีๆ เมื่อตื่นมาแล้วจะไม่ง่วงเกินไป กำลังสดชื่น เหมาะสำหรับการใช้หลังทานอาหารเที่ยงก่อนเริ่มงานช่วงบ่าย สำหรับการเปิดใช้งานโหมด Power Nap ก็ให้กดที่ปุ่มบน UP24 ติดๆ กันสองครั้ง พอครั้งที่สามก็ให้กดค้างไว้จนกระทั่งไฟรูปดวงจันทร์ติดขึ้นมาเป็นแบบกระพริบและสายรัดสั่น

Smart Sleep Alarms

ก็คือการตั้งปลุกตื่นนอนตามปกติครับ แต่มีฟีเจอร์เสริมคือสามารถตั้งได้ว่าจะให้ปลุกก่อนเวลาที่เราอยากตื่นเป็นเวลานานเท่าไร เพื่อให้ไม่พลาดเวลาตื่น รวมถึงยังช่วยให้เรารู้สึกสดชื่นเมื่อถึงเวลาตื่นจริงๆ อีกด้วย เช่นเราอาจจะตั้งปลุกก่อนเวลาตื่นจริงประมาณ 10 นาที เป็นต้น แต่ถ้าใครอยากตื่นแบบตรงเวลาเป๊ะๆ ก็สามารถตั้งค่าให้ UP24 ปลุกตามเวลาเลยก็ได้ สำหรับการปลุกก็จะเป็นการสั่นเตือนเท่านั้นนะครับ ไม่มีเสียง การปิดก็ให้กดที่ปุ่มแค่นี้เอง

7

Screen Shot 2014 03 26 at 5.16.45 PM

Track Sleep

เป็นโหมดสำหรับติดตามพฤติกรรมการนอนของเราว่าเป็นอย่างไร โดยจะจับได้ค่อนข้างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาก่อนหลับ, ช่วงเวลาที่หลับปกติ, ช่วงเวลาหลับลึก, ช่วงเวลาที่ตื่นระหว่างนอน เป็นต้น ช่วยทำให้สามารถนำข้อมูลการนอนไปวิเคราะห์ได้เป็นอย่างดี

Activity Alert

โหมดนี้ใช้สำหรับช่วยในการแจ้งเตือนเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่จะช่วยดูแลสุขภาพร่างกายให้ดีขึ้น โดยวิเคราะห์หาเป้าหมายที่เราควรทำให้ได้จากข้อมูลร่างกายของเราเอง เช่นสำหรับใครที่นอนน้อย ก็จะมีเป้าหมายเรื่องการนอนให้ได้ตามที่ควรจะเป็นมาให้เลือกทำ ถ้าเรายอมรับ ก็จะเหมือนเป็นการแข่งขันกับตัวเองไปในตัว โดย UP24 จะคอยเตือนให้เราทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งถ้าทำได้ แอพพลิเคชันก็จะแสดงความดีใจกับเราด้วย แต่ก็คงไม่เท่ากับสุขภาพของเราที่จะดีขึ้นแน่นอนครับ อันนี้สำคัญมากจริงๆ

Stopwatch

ใช้สำหรับช่วยในการจับเวลาระหว่างทำกิจกรรม การใช้งานก็เพียงแค่กดปุ่มสองครั้ง โดยครั้งที่สองให้กดค้างไว้

Idle Alert

สำหรับใครที่ต้องนั่งทำงานกับที่นานๆ น่าจะเหมาะกับฟีเจอร์นี้ครับ เพราะมันจะคอยแจ้งเตือนด้วยการสั่นถ้าหากเราไม่ได้ขยับไปไหนเลยเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเราสามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้เช็คเป็นรอบระยะเวลานานเท่าไร เริ่มเช็คตั้งแต่ช่วงเวลาเริ่มงานกี่โมง ถึงช่วงเลิกงาน ซึ่งถ้าใครที่อยากรักษาสุขภาพร่างกาย (เพราะการนั่งกับที่นานๆ ไม่เป็นผลดีกับสุขภาพ) ก็คงชอบใจดีเลยทีเดียว

Reminder

เป็นโหมดที่ใช้ช่วยในการเตือนความจำในแต่ละวันด้วยการสั่นเมื่อถึงเวลาที่ตั้งไว้ครับ เช่นอาจจะตั้งให้เตือนเมื่อถึงเวลาทานยาประจำวัน นับว่ามีประโยชน์ทีเดียวสำหรับคนที่มีกิจวัตรต้องทำเป็นประจำทุกๆ วัน แต่อาจจะยุ่งจนลืม การมีอุปกรณ์ช่วยเตือนที่อยู่ติดตัวตลอดเวลาแบบนี้ รับรองว่าไม่ลืมแน่นอน

8

ในตัวแอพพลิเคชัน สามารถดูข้อมูลส่วนตัวของเราได้ว่าวันนี้เดินไปเท่าไร นอนไปเท่าไร ทานอะไรไปบ้าง นอกจากนี้ในการใช้งานครั้งแรก เราจำเป็นต้องกรอกอายุ น้ำหนักและส่วนสูงด้วย เพื่อจะได้ให้แอพพลิเคชัน UP สามารถคำนวณและประเมินสุขภาพจากการออกกำลังกายได้อย่างถูกต้องที่สุด

9

ใช่ว่าใส่ Jawbone UP24 แล้วจะใช้งานเรื่อยๆ ก็คงไม่สนุกเท่าไร ตัวแอพพลิเคชัน UP ก็มีตัวเลือกในการตั้งเป้าหมายทั้งการนอนและจำนวนก้าวเดินในแต่ละวันให้อีกด้วย โดยหลักๆ คือมันจะตั้งจากปริมาณที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละวัน เช่นควรจะนอน 7-9 ชั่วโมง เดินอย่างต่ำให้ได้วันละ 10,000 ก้าว แต่เราก็สามารถตั้งค่าตามการใช้งานของตนเองได้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีการสรุปการนอนและการเดินในรูปแบบกราฟเปรียบเทียบแต่ละวัน, สัปดาห์, เดือนให้ดูแนวโน้มความขยันของตัวเราเองอีกต่างหาก

10

หน้าจอ Settings ก็มีให้ตั้งค่าการทำงานของแอพในหลายๆ จุด โดยหัวข้อ User Settings จะเป็นหัวข้อใช้สำหรับกรอก/แก้ไขข้อมูลอายุ ส่วนสูงและน้ำหนักของเรา ถ้าช่วงไหนน้ำหนักลดก็ให้เข้าแก้ไขข้อมูลที่ตรงนี้นะครับ

111

อีกหนึ่งปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการรักษาสุขภาพนอกเหนือไปจากการออกกำลังกายและการนอนแล้ว ก็คือเรื่องของการรับประทานอาหาร ตัวแอพพลิเคชัน UP ที่ใช้งานร่วมกับ Jawbone UP24 ก็ถูกออกแบบมาให้ผู้ใช้งานเพิ่มข้อมูลอาหารที่ทานเข้าไปด้วยเช่นกัน โดยจะมีวิธีการบันทึกข้อมูลอาหารที่ทานด้วยกันสองแบบ

1. เลือกเมนูจากรายการที่แอพมีมาให้ ซึ่งจะมีการแบ่งเป็นประเภทแยกออกไป เช่น ประเภทเครื่องดื่ม, ประเภทพืชผักผลไม้, ประเภทแซนด์วิชและซุป, ประเภทอาหารทั่วไปที่เป็นที่รู้จักกัน, ประเภทขนบขบเคี้ยว เป็นต้น โดยเมื่อเลือกประเภทแล้ว เราก็ต้องเข้าไปกรอกปริมาณสารอาหาร ปริมาณที่บริโภคด้วย

2. เพิ่มเมนู/อาหารเข้าไปเอง สำหรับแบบนี้จะมีการแบ่งวิธีการเพิ่มเมนูเป็น 3 แบบย่อยๆ ได้แก่

  • สแกนบาร์โค้ด ? วิธีนี้อาจจะใช้ไม่ค่อยได้ผลในบ้านเรา เพราะฐานข้อมูลอาหารส่วนใหญ่ของแอพจะเป็นของในสหรัฐฯ ครับ เท่าที่ผมลองใช้กับอาหารในบ้านเราดู มีเจออยู่ไม่กี่อย่างเอง
  • พิมพ์ ? เหมาะสำหรับการเพิ่มเมนูใหม่ๆ เข้าไป
  • ถ่ายรูป ? เป็นการเพิ่มเมนูในลักษณะเดียวกับการพิมพ์นั่นล่ะครับ เพียงแค่เพิ่มรูปถ่ายอาหารเข้าไปในเมนูด้วยเท่านั้นเอง

ซึ่งหลังจากการเพิ่มเมนูอาหารเข้าไปแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องเพิ่มข้อมูลโภชนาการของอาหารแต่ละอย่างด้วย โดยวิธีการเพิ่มข้อมูลนั้นก็มีให้เลือกทั้งจากการสแกนบาร์โค้ด (ซึ่งถ้ามีอยู่ในฐานข้อมูลของ Jawbone แล้ว ก็จะสบายมากๆ), การค้นหาจากฐานข้อมูลโดยตรง และที่เหนื่อยที่สุดก็คือการกรอกสารอาหารด้วยตนเอง ซึ่งถ้าอาหารที่เราบริโภคไม่มีอยู่ในฐานข้อมูลใดๆ ก็ต้องมากรอกเอาเองครับ โดยค่าที่จำเป็นก็เช่นปริมาณโคเลสเตอรอล, แคลอรี่ของอาหาร, โปรตีน, ไขมันอิ่มตัว, โซเดียม เป็นต้น

ซึ่งในจุดนี้ ถ้าอาหารที่บริโภคมีฉลากสารอาหารอยู่แล้ว ก็คงจะไม่ลำบากมากนัก แต่ถ้าเป็นอาหารสดพวกข้าว, ก๋วยเตี๋ยว, แกงหน้าปากซอย, ขนมจากตลาดนัด อันนี้คงจะกรอกยากหน่อย ซึ่งจุดนี้ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในปัญหาพอสมควรเลยทีเดียว แต่ก็พอจะมีวิธีลดปัญหาส่วนนี้อยู่ ก็คืออาจจะต้องพยายามค้นหาอาหารที่น่าจะใกล้เคียงกันจากฐานข้อมูล เพื่อมาแทนอาหารที่เราบริโภคครับ เช่น ข้าวกะเพราะหมู ก็กรอกข้อมูลไปว่า cooked rice+basil+pork ซึ่งก็พอทดแทนกันได้อยู่

121

ในแต่ละวัน ตัวแอพพลิเคชันก็จะสรุปความก้าวหน้าของเรามาให้ดูว่าเราเดินและนอนไปแล้วเท่าไร คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของที่เราตั้งเป้าหมายไว้ ทานอาหารไปกี่แคลอรี่แล้ว ช่วยให้เราสามารถตามติดชีวิตตนเองได้สะดวกดี และถ้าหากปาดหน้าจอจากบนลงล่าง ก็จะพบกับเส้น Recent Activities ที่จะบอกความเคลื่อนไหวของเราเป็น timeline เรียงตามวันลงมาเลย สังเกตจากภาพขวาจะเห็นว่ามันถามผมด้วยว่าช่วงห้าทุ่มยี่สิบนาทีไปจนถึงเก้าโมงยี่สิบ ผมหลับไปหรือเปล่า สาเหตุที่แอพถามก็เนื่องจากผมหลับจริงแบบลืมเปลี่ยนเป็นโหมด sleep ก่อนนอนนั่นเอง แสดงให้เห็นว่าทั้งตัว Jawbone UP24 และแอพพลิเคชัน UP ทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ช่วยติดตามการดำเนินชีวิต พร้อมทั้งให้คำแนะนำเพื่อสุขภาพกับเราได้พอตัวเลยด้วย

131

ทีนี้มาดูสรุปภาพรวมในหนึ่งวันทั้งการเคลื่อนไหวและการนอนบ้าง แต่ละอย่างจะแจกแจงสถิติออกมาอย่างละเอียดเลยทั้งส่วนของระยะเวลาและแคลอรี่ที่เผาผลาญไป ส่วนการนอนก็จะจับพฤติกรรมจากการขยับตัวครับ

IMG 0034 2

นอกจากจะมีข้อมูลแจ้งในแอพแล้ว ยังมีระบบการแจ้งเตือนแบบ notification เป็นระยะๆ ด้วย เช่นว่าเราเดินไปแล้วกี่ก้าว คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของที่เราตั้งเป้าไว้ รวมถึงถ้าเราไม่ได้ซิงค์ข้อมูลนานๆ ก็จะมีเตือนให้เปิดแอพเพื่อซิงค์ข้อมูลด้วยเช่นกัน

Review Jawbone UP24 SpecPhone 021

สรุปปิดท้ายรีวิว Jawbone UP24

ปีนี้ เทรนด์ของอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะน่าจะเป็นที่จับตามองขึ้นเป็นพิเศษ สังเกตได้จากหลายๆ รายที่กระโดดเข้ามาอย่างเต็มตัว ทำให้ทาง Jawbone ต้องปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น ซึ่งก็ทำได้ดีเลยทีเดียวกับ Jawbone UP24 ชิ้นนี้ ที่ถึงแม้จะดูเป็นการเปลี่ยนแค่เล็กน้อยอย่างการเปลี่ยนไปใช้ Bluetooth เพื่อซิงค์ข้อมูลกับสมาร์ทโฟน แทนที่จะใช้ช่องเสียบหูฟังแบบในรุ่นก่อนหน้า แต่ในจุดนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้สะดวกในการใช้งานขึ้นจริงๆ เพราะในยุคที่อุปกรณ์เน้นการเชื่อมต่อไร้สายเป็นหลักเช่นนี้ จะมามัวนั่งเสียบพอร์ตอยู่ก็คงดูไม่เข้ายุคกันซักเท่าไร แถมตัวของแอพพลิเคชันยังมีฟีเจอร์เด่นๆ เพิ่มเข้ามาอีก ไม่ว่าจะเป็น Reminder สำหรับแจ้งเตือน รวมไปถึง Activity Alert ที่คงเหมาะกับผู้มีความตั้งใจจะออกกำลังกายจริงๆ กันแน่นอน ส่วนฟีเจอร์ที่เป็นจุดเด่นเดิมของ Jawbone UP รุ่นแรกก็มากันอย่างครบถ้วน เช่น Power Nap, Smart Alarm ก็ยังคงมีให้ใช้งานกันอย่างเคย เหมาะกับมนุษย์ออฟฟิศเป็นอย่างยิ่งทีเดียว ^^

สำหรับผู้ที่สนใจจะซื้อหา Jawbone UP24 มาใช้งานกันก็สามารถสอบถามได้จากร้านตัวแทนจำหน่ายชั้นนำ ได้แก่ iStudio, dot life, iBeat, Jaymart, Power Buy, Ari และ Gizman สนนราคาอยู่ที่ 6,290 บาท ด้วยกันครับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก