[Review] ASUS ZenFone 5 (แรม 1 GB) มือถือจอ 5? สองซิมในราคา 4,990 บาท !!

ถ้าพูดถึงมือถือ สมาร์ทโฟนที่มาแรงที่สุดในขณะนี้ และน่าจะเป็นหนึ่งตัวเลือกในใจของหลายๆ ท่านด้วย นั่นก็คือ ASUS ZenFone ที่ทั้งราคาและสเปคจัดว่าโดนใจกันไปเต็มๆ ซึ่งในขณะนี้ก็มีให้เลือกในตลาดคือตัวของ ZenFone 4 ที่วางจำหน่ายมาได้ระยะหนึ่งแล้ว (รีวิว Zenfone 4) ล่าสุดก็ถึงคราวของ ZenFone 5 รุ่นกลางๆ ที่เริ่มออกวางจำหน่ายให้กับผู้ที่สั่งจองเครื่องในงาน Thailand Mobile Expo 2014 Hi-End ครั้งล่าสุดไป ซึ่งเริ่มมีหลายๆ ท่านได้รับเครื่องไปแล้ว ทางเราก็เช่นกันครับ จึงไม่พลาดที่จัดการรีวิวให้ทุกท่านได้ชมกันอีกเช่นเคย ก่อนจะได้อ่านรีวิว ZenFone 5 แบบเต็มๆ เรามาดูกันที่สเปคของ ASUS ZenFone 5 กันก่อนเล็กน้อย

Review-Asus-Zenfone-5-SpecPhone 014

สเปค ASUS ZenFone 5

  • ชิปประมวลผล Intel Atom Z2560 ความเร็วสูงสุด 1.6 GHz dual-core รองรับ Hyper Threading ทำให้เสมือนว่ามีคอร์ประมวลผล 4 คอร์
  • ชิปกราฟิก PowerVR SGX544MP2
  • แรม 1 GB?(ในตลาดจะมีรุ่นแรม 2 GB มาวางจำหน่ายด้วยภายหลัง)
  • หน้าจอ IPS ขนาด 5 นิ้ว ความละเอียดระดับ HD (1280 x 720)
  • กระจกหน้าจอ Gorilla Glass 3
  • รอม 8 GB รองรับ MicroSD เพิ่มเติม สามารถย้ายแอพมาลงใน MicroSD ได้
  • รองรับ 2 ซิม ใช้งาน 3G ได้ทุกเครือข่าย สามารถใช้งาน 3G ได้ทั้งสองช่อง (แต่ต้องเลือกใช้ทีละซิมตามปกติ)
  • กล้องหลังความละเอียด 8 ล้านพิกเซล มาพรอ้มเทคโนโลยี PixelMaster ช่วยให้ถ่ายภายในที่มีแสงน้อยได้ดี รองรับการถ่ายวิดีโอสูงสุดระดับ Full HD
  • กล้องหน้าความละเอียด 2 ล้านพิกเซล
  • Android 4.3 Jelly Bean มาพร้อมอินเตอร์เฟส ZenUI
  • สามารถฟังวิทยุ FM ได้
  • แบตเตอรี่ความจุ 2110 mAh
  • หนัก 140 กรัม
  • ราคา 4,990 บาท
  • สเปค ASUS ZenFone 5 (RAM 1 GB) เต็มๆ

Screen Shot 2014-05-31 at 9.13.24 PM

ถ้ากล่าวถึงเรื่องสเปคล้วนๆ ก็มองว่า ZenFone 5 มาพร้อมกับสเปคทั่วไปที่ไม่หนีไปจาก ZenFone 4 มากนัก จะต่างกันก็ตรงที่ชิปประมวลผล, หน้าจอ, กล้องหลังและแบตเตอรี่เท่านั้นที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เป็นที่แน่นอนว่า ZenFone 5 ย่อมมาพร้อมกับความแรงและฟีเจอร์การทำงานที่มากกว่า ZenFone 4 ซึ่งถ้าวัดหน้าสเปคกันเพียวๆ ส่วนตัวผมมองว่าคุ้มค่าสำหรับการเพิ่มเงิน 2,000 บาทจาก ZenFone 4 (2,990) มาเป็น ZenFone 5 ตัวนี้เลยทีเดียว ส่วนเหตุผลนั้น มาชมกันต่อในรีวิวแต่ละจุดเลยครับ

Design

Review-Asus-Zenfone-5-SpecPhone 012

Review-Asus-Zenfone-5-SpecPhone 015

Review-Asus-Zenfone-5-SpecPhone 035ZenFone 5 มองด้านหน้า

ก็คือ ZenFone 4 ขยายร่าง?

Review-Asus-Zenfone-5-SpecPhone 020

ถ้าใครได้เห็นหรือลองใช้งาน ZenFone 4 มาแล้ว ก็จะรู้สึกว่าหน้าตาของ ZenFone 5 นั้นแทบจะเหมือนกันอย่างกับแกะเลยทีเดียว เนื่องด้วย ASUS ใช้คอนเซ็ปท์ในการออกแบบสมาร์ทโฟนตระกูล ZenFone ออกมาในแนวทางเดียวกัน แตกต่างกันแค่เรื่องของขนาด ทำให้เรื่องหน้าตาของ ZenFone 5 จึงไม่มีจุดเด่นที่แปลกออกไปจาก ZenFone 4 เท่าไหร่นัก นอกจากเรื่องขนาดตัวเครื่องที่ใหญ่ขึ้นตามขนาดจอ 5 นิ้ว ส่วนปุ่มกดสั่งงานทั้ง 3 ปุ่มด้านล่างคือปุ่ม Back, ปุ่ม Home (กดค้างแล้วลากขึ้น จะเป็นการเรียกใช้งาน Google Now) และปุ่ม Recent Apps ถ้าดูจากในภาพ จะรู้สึกเหมือนว่าแต่ละปุ่มมีไฟ LED อยู่ใช่มั้ยครับ แต่ความจริงแล้วทั้งสามปุ่มไม่มีไฟ LED ส่องสว่างแต่อย่างใด ซึ่งอาจจะทำให้การใช้งานในที่มืดค่อนข้างลำบากกันซักหน่อย

ปัญหาเดิมยังคงอยู่?

นอกจากนี้เรื่องของระยะห่างระหว่างปุ่มทั้งสาม ส่วนตัวผมว่ามันค่อนข้างห่างกันไปหน่อย ซึ่งอันที่จริงปัญหานี้ ตัวผมก็รู้สึกมาตั้งแต่ ZenFone 4 แล้ว ยิ่งมาเจอใน ZenFone 5 ก็ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่เลย เพราะขนาดตัวเครื่องที่ใหญ่ขึ้น ทำให้เวลาที่ถือเครื่องด้วยมือขวา แล้วต้องกดปุ่ม Back กลายเป็นว่าต้องถ่างนิ้วหัวแม่มือออกมาไกลจากตำแหน่งการวางมือปกติมากทีเดียว ขนาดมือถือรุ่นที่จอใหญ่กว่านี้ ปุ่มทั้งสามยังอยู่ชิดกันกว่าใน ZenFone 5 เลย จุดนี้คงต้องอาศัยการปรับตัวและความเคยชินสถานเดียวครับ เพราะเรื่องปุ่มนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ย้ายตำแหน่งได้เหมือนกับเครื่องรุ่นที่ใช้ปุ่มแบบซอฟต์แวร์

หน้าจอของ ASUS ZenFone 5 ได้ปรับเปลี่ยนมาใช้พาเนลเป็น IPS ทำให้เรื่องของสีสัน มุมมองภาพออกมาดูดีกว่า ZenFone 4 ซึ่งเห็นได้ชัดนับตั้งแต่เปิดใช้งานเครื่องครั้งแรกเลยทีเดียว แต่ถ้าลองหันมามองจอจากด้านข้าง จะพบว่ายังมีมุมที่สีภาพเพี้ยนอยู่บ้างเหมือนกัน ดังตัวอย่างในภาพด้านขวา แสดงว่าพาเนล IPS ที่นำมาใส่ใน ZenFone 5 อาจจะยังมีเกรดที่ไม่สูงมากนัก (แต่ก็ยังดีกว่าใช้พาเนล TFT อยู่มาก) แสงสว่างก็จัดว่าสู้แสงภายนอกได้โอเคทีเดียว มีระบบปรับแสงสว่างอัตโนมัติ แต่เท่าที่ลองเปิดใช้งาน พบว่าระบบการปรับแสงยังทำได้ไม่ดีนัก ส่วนใหญ่จะเกิดอาการหน้าจอมืดเกินไป ข้อนี้คิดว่าแก้ไขไม่ยากครับ เพราะเป็นในส่วนของซอฟต์แวร์ควบคุม ถ้ามีการอัพเดตออกมา ก็น่าจะแก้ไขได้ ส่วนในช่วงนี้ ถ้าเจอปัญหาหน้าจอปรับอัตโนมัติแล้วมืดไป ก็จัดการปรับความสว่างเองไปก่อนก็ได้ เพราะตัว ZenUI มีการสร้างทางลัดในการปรับความสว่างหน้าจอเอาไว้ที่ Quick Settings ตรงแถบ Notifications อยู่แล้ว

ด้านหลังของ ASUS ZenFone 5 ยังคงใช้งานพลาสติกผิวเรียบสีด้าน ให้ความรู้สึกที่ลื่นๆ เนียนมือเช่นเดียวกับใน ZenFone 4 อยู่ โดยดีไซน์ออกมาให้ส่วนโค้งรับกับฝ่ามือพอดีๆ ให้ความรู้สึกในการจับที่ดีมาก ผสมกับขนาดตัวเครื่องที่กำลังพอดีๆ ทำให้ ZenFone 5 เป็นมือถือที่เหมาะสมกับการใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวันมากจริงๆ อย่างที่ทางเราเคยบอกเอาไว้ในรีวิว ZenFone 4 ว่าถ้าหากอยากได้มือถือสำหรับใช้งานจริง ได้ส่วนผสมที่กำลังดีระหว่างความสะดวกในการพกพาและความสะดวกในการใช้งาน ZenFone 5 คือตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดในบรรดา 3 พี่น้อง ZenFone แล้วล่ะนะ?ส่วนโลโก้ Intel ด้านล่างนี้เป็นโลโก้ที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียวสำหรับมือถือที่ใช้ชิปประมวลผลจาก Intel ใกล้ๆ กันนั้นก็จะเป็นตำแหน่งของลำโพงในตัวเครื่อง ให้เสียงที่อยู่ในระดับไม่ต่างจากสมาร์ทโฟนทั่วไปเท่าไหร่นัก เสียงดังใช้ได้พอตัว

ความรู้สึกโดยรวมที่ใช้งานเครื่องในระหว่างรีวิว ASUS ZenFone 5 มา ส่วนตัวคิดว่าด้านฮาร์ดแวร์นั้นโอเคเลย ทั้งรูปทรง วัสดุ งานประกอบรวมๆ จัดว่าอยู่ในระดับดีเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับมือถือรุ่นอื่นๆ ที่ราคาใกล้เคียงกัน จะมีก็เรื่องปุ่มกดสั่งงานทั้งสามปุ่มที่วางห่างกันไปหน่อยนึงเท่านั้น ส่วนเรื่องซอฟต์แวร์ ยอมรับว่ายังต้องปรับปรุงแก้ไขในบางจุดอยู่บ้างเหมือนกัน เช่น เรื่องระบบปรับความสว่าง และระบบอื่นๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไปในรีวิว ZenFone 5 ครั้งนี้ครับ

?

Review-Asus-Zenfone-5-SpecPhone 023

ฝาหลังของ ASUS ZenFone 5 สามารถแกะออกได้เช่นเดียวกับ ZenFone 4?แต่ไม่สามารถถอดแบตเตอรี่ออกได้?โดยส่วนที่สามารถใส่เข้า ถอดออกได้เองก็จะมีแค่ซิมทั้งสองซิมและการ์ด MicroSD เท่านั้น สำหรับซิมที่ใช้ก็จะเป็นแบบไมโครซิมทั้งสองช่องเลย โดยการใส่ซิมใน ZenFone 5 นี้ไม่ต้องกังวลเลยว่าจะให้ซิมไหนใช้อะไร เพราะทั้งสองซิมสามารถใช้งาน 3G ได้ ใช้งานเป็นโทรศัพท์ได้ตามปกติทั้งคู่เลย ซึ่งผู้ใช้งานสามารถตั้งค่าจากระบบได้ว่าจะให้ซิมไหนใช้ 3G (ใช้ได้ทีละซิม) ซิมไหนใช้เป็นเบอร์หลักสำหรับโทรออก ต่างจากในหลายๆ รุ่นของแบรนด์อื่นที่บังคับว่าซิม 1 เท่านั้นที่สามารถใช้งาน 3G ได้ ก็นับว่าเป็นการสร้างความสะดวกให้กับผู้ใช้งานได้ดีระดับหนึ่งเลย ด้านของอุปกรณ์ที่แถมมาภายในกล่องก็จะมีสาย Micro USB, อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ 1.35A, หูฟังแบบ in-ear พร้อมจุกยางอีกสองคู่, คู่มือการใช้งานเบื้องต้นและเอกสารการรับประกัน ไม่มีแถมแบตเตอรี่มาให้แบบใน ZenFone 4 นะครับ ก็เพราะว่า ?ZenFone 5 ไม่สามารถถอดแบตเตอรี่ได้ แถมที่ติดมาในเครื่องก็ให้มา 2110 mAh แล้ว

อ้อ!! ส่วนของปุ่ม Power และแถบปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง จะอยู่ทางฝั่งขวาในตำแหน่งที่พอดีกับหัวแม่มือขวา (ถือเครื่องด้วยมือขวา หันหน้าจอเข้าหาตัว) โดยปุ่ม Power จะอยู่เหนือแถบปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงเล็กน้อย ตัวปุ่มนูนออกมาจากขอบเครื่องพอสมควร สำหรับรูปร่างหน้าตาของ ASUS ZenFone 5 ก็สามารถคลิกเพื่อรับชมได้จากแกลเลอรี่นี้กันแบบเต็มๆ ยาวๆ กันได้ ไล่ตั้งแต่อุปกรณ์ในกล่อง ไปจนถึงภาพหลังจากแกะฝาหลังเลย

Software

Review-Asus-Zenfone-5-SpecPhone 032

เรื่องซอฟต์แวร์ ASUS ZenFone 5 มาพร้อมกับ Android 4.3 Jelly Bean ครอบมาด้วยอินเตอร์เฟสที่ ASUS พัฒนาเอง นั่นคือ ZenUI ที่หน้าตา การจัดวางต่างๆ ทำออกมาได้ลงตัว โทนสีออกไปในทางสีอ่อนๆ แบบพาสเทล ทั้งในส่วนของไอคอน หน้าจอแต่ละแอพ ทำให้โทนโดยรวมออกมาค่อนข้างสบายตา พื้นที่เก็บข้อมูลในตัวให้มา 8 GB เหลือให้ใช้ตอนเริ่มต้นที่ประมาณ 4.9 GB ด้วยกัน ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วๆ ไป ลงแอพ ลงเกมนิดหน่อย ส่วนเพลง หนังหรือไฟล์เอกสารต่างๆ แนะนำว่าให้ลงไว้ใน MicroSD จะดีกว่า แถมยังสามารถย้ายแอพที่ติดตั้งไปไว้ใน MicroSD ได้ด้วยเช่นกัน ก็ช่วยลดปัญหารอมเครื่องเต็มได้สบายๆ

สำหรับปัญหาของฝั่งซอฟต์แวร์จากที่รีวิว ZenFone 5 มานี้ ก็ยังคงเป็นปัญหาเดิมที่เคยพบมาแล้วใน ZenFone 4 เลยครับ ที่เห็นได้ชัดสุดก็คือคีย์บอร์ดของ ASUS เอง ที่เมื่อเปลี่ยนจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย ก็มักจะมาพร้อมกับการกด shift ค้างไว้อยู่บ่อยครั้ง จุดนี้นับเป็นจุดเล็กน้อยที่สร้างความรำคาญใจได้บ้างเหมือนกัน แต่ยังดีที่แก้ไขได้ง่ายครับ เพียงแค่ดาวน์โหลดคีย์บอร์ดภาษาไทยตัวอื่นจากใน Play Store มาใช้งานเท่านั้นเอง หรือจะใช้คีย์บอร์ด Google ที่ติดมาให้อยู่แล้วในเครื่องก็สามารถใช้งานได้เช่นกัน ส่วนอีกปัญหาหนึ่งที่ผมพบในการใช้งานคีย์บอร์ดพิมพ์ข้อความบน ZenFone 5 (ไม่ว่าจะใช้คีย์บอร์ดไหนก็ตาม) คือความแม่นยำของการตรวจจับนิ้วที่กดปุ่ม เพราะบางทีก็เกิดอาการกดปุ่มผิดเอาได้ง่ายๆ ทั้งที่มั่นใจว่าวางนิ้วตรงปุ่มแล้ว

ส่วนเรื่องการตั้งค่าใช้งานเมื่อเปิดเครื่องครั้งแรก สามารถทำตามขั้นตอนในบทความนี้ได้เลยครับ

Feature

feature

ฟีเจอร์ที่เด่นๆ ของ ASUS ZenFone 5 ก็จะเป็นในส่วนของซอฟต์แวร์ที่ทำออกมาอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานได้อย่างน่าสนใจทีเดียว เช่นในภาพซ้ายสุด จะเป็นตัวเลือกในการปรับโหมดเสียงได้ตามความต้องการ เช่นถ้าจะฟังเพลง ก็ปรับเป็นโหมด Music เสียงที่ออกมาก็จะเป็นโทนเสียงที่เหมาะสำหรับการฟังเพลงทั้งจากลำโพงในตัวเครื่องและจากหูฟัง (แนะนำว่าใช้หูฟังจะเห็นผลต่างชัดเจนกว่า) ถ้าอยากเน้นฟังเสียงสัมภาษณ์ ก็ใช้โหมด Speech เพื่อเน้นเสียงพูดให้เด่นมากขึ้น ซึ่งก็ช่วยได้มากทีเดียว ภาพที่สองถัดมาเป็นส่วนของ MyASUS ที่ในบ้านเราอาจจะไม่ค่อยได้ผลประโยชน์จากตรงนี้มากนัก แถมตัวแอพก็มาเป็นภาษาจีนเลยด้วย ทั้งๆ ที่ตั้งค่าเครื่องให้เป็นภาษาอังกฤษแล้ว ดังนั้นขอข้ามไปแล้วกันนะ

ภาพที่สามคือหน้าจอแอพจัดการพลังงานซึ่งได้เคยกล่าวถึงไปแล้วในรีวิว ZenFone 4?ซึ่งตัวมันจะช่วยปรับระบบเรื่องการใช้งานแบตเตอรี่ให้สอดคล้องกับที่เราต้องการ โดยสามารถเลือกปิดหรือเปิดก็ได้ ถ้าหากเปิด ก็จะมีโหมดประหยัดพลังงานให้เลือก 3 ระดับ ได้แก่

  • Ultra-saving mode: ประหยัดพลังงานขั้นสุด ตัดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตทุกรูปแบบลงเมื่อปิดหน้าจอ
  • Optimized mode: ประหยัดพลังงานระดับปกติ ไม่มีตัดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต
  • Customized mode: ผู้ใช้งานสามารถเลือกได้เอง ว่าจะตั้งค่าแบบใดบ้าง (ตัวอย่างในภาพที่สอง) โดยหลักๆ จะเน้นเรื่องการปรับความสว่างหน้าจอต่อการใช้งานแต่ละรูปแบบ และการปรับรูปแบบการรับ push notification แจ้งเตือน ว่าจะให้ทำงานเป็นเบื้องหลัง (ใช้งานอินเตอร์เน็ตตลอดเวลาหรือจะให้หยุดการเชื่อมต่อเมื่อปิดหน้าจอลง)

ซึ่งโดยรวมแล้วก็จัดเป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์ดีครับ แถมยังเข้าถึงได้ง่ายด้วย เพราะมีเป็นไอคอนแอพในหน้ารวมแอพมาเลย ปิดท้ายด้วย Easy Mode ที่เป็นโหมดการแสดงผลแบบเน้นไอคอน เน้นความชัดเจนและการใช้งานเครื่องที่ง่ายกว่าหน้าจอ Android ปกติ เด็กใช้ได้ ผู้ใหญ่ใช้ดีเลยล่ะโหมดนี้ ช่วยลดความซับซ้อนของเมนู หน้าต่างลงไปได้เยอะ

IMG_20140531_224224

อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่น่าสนใจมากก็คือตัวของ PC Link ที่มีมาเป็นแอพพลิเคชันให้ในเครื่อง (ไม่มีใน ZenFone 4) โดยคุณสมบัติหลักๆ คือช่วยให้เราสามารถสั่งงานมือถือได้จากในคอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้ใช้จะต้องมีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ถึงจะใช้งานได้

  • มือถือ ZenFone ที่ติดตั้งแอพ PC Link (มีมาให้อยู่แล้วในตัวรอม)
  • สาย Micro USB สำหรับเชื่อมมือถือกับคอมพิวเตอร์
  • คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน Windows และติดตั้งโปรแกรม PC Link เอาไว้แล้ว (สามารถดาวน์โหลดได้จาก pclink.asus.com)

เมื่อพร้อมแล้วก็เปิดโปรแกรมในคอมและแอพในมือถือ แล้วเชื่อมต่อผ่านสาย USB ได้เลย เมื่อเชื่อมต่อแล้ว ที่มือถือจะมีตัวเลือกว่าเราจะอนุญาตให้ทำการเชื่อมต่อหรือไม่ ก็กดตกลงไป เพียงเท่านี้ก็สามารถใช้งานได้แล้ว สำหรับความสามารถที่ทำได้ก็คือการใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมมือถือ อาจจะเหมาะกับคนที่ต้องการใช้งานบางแอพ แต่ใช้งานบนมือถือไม่ค่อยสะดวกนัก เช่นการพิมพ์ข้อความ เพราะระบบจะเปลี่ยนไปใช้งานคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ในการพิมพ์แทน ทั้งนี้ในระหว่างที่ใช้งาน PC Link ความเร็วเครื่องก็อยู่ในระดับปกติ และยังเป็นการชาร์จไฟให้ตัว ZenFone 5 ได้ด้วย

Camera

Review-Asus-Zenfone-5-SpecPhone 038

Review-Asus-Zenfone-5-SpecPhone 028

P_20140531_135946

P_20140531_145004

กล้องหลังของ ASUS ZenFone 5 จัดว่าเป็นจุดเด่นที่ใช้ในการโปรโมตเพื่อโฆษณาเลยทีเดียว ด้วยเทคโนโลยี PixelMaster ที่มีคุณสมบัติเด่นคือทำให้สามารถเก็บแสงสว่างได้มากขึ้น ทำให้สามารถถ่ายภาพในที่มีแสงน้อยได้ดีกว่ามือถือสมาร์ทโฟนทั่วๆ ไป ซึ่งหลายๆ ท่านคงได้เห็นกันไปแล้วในบทความ hands-on ของเรา ซึ่งจากที่ได้ลองใช้งานในการถ่ายภาพจริง ในช่วงกลางวันภาพที่ออกมาก็จัดว่าโอเคทีเดียว โหมดการตั้งค่า การปรับแต่งต่างๆ ก็เอื้อให้สามารถถ่ายภาพออกมาได้หลากหลาย ตัวอย่างโหมดที่มีให้ใช้งานก็เช่น HDR, โหมดเลือกจุดเบลอ (มีระยะชัดตื้น-ลึก), โหมดพาโนรามา, โหมดถ่ายกลางคืน, โหมดถ่ายในที่แสงน้อย (ภาพจะเหลือความละเอียดแค่ 2 ล้านพิกเซล) ซึ่งระบบการปรับ การชดเชยแสงอัตโนมัติก็ทำงานได้โอเคดี ถ้าสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย เช่นแสงน้อย ก็จะมีตัวเลือกมาให้อัตโนมัติว่าจะเปลี่ยนไปถ่ายแบบ HDR หรือถ่ายด้วยโหมดแสงน้อยหรือเปล่า ก็นับว่าเป็นการให้คำแนะนำของระบบที่ใช้ได้เลยทีเดียว?ส่วนการถ่ายวิดีโอ ก็สามารถถ่ายได้สูงสุดที่ระดับ 1080p เช่นเดียวกับใน ZenFone 4 เลย

P_20140531_142908

แต่จุดที่น่าขัดใจของการใช้งานกล้อง ZenFone 5 ก็คือความช้าในการเรียกใช้งานกล้อง การประมวลผลและการเก็บภาพที่ไม่ค่อยทันใจ ยิ่งถ้าถ่ายภาพด้วยโหมดอื่นเช่น โหมดแสงน้อย ระบบก็จะยิ่งใช้เวลาในการประมวลผลภาพนานเข้าไปอีก กว่าจะถ่ายซ้ำอีกครั้งได้ก็ใช้เวลาเป็นวินาที (ไม่รวมเวลาช่วงระหว่างการถ่าย) เรียกว่าจะถ่ายแต่ละช็อต ต้องวางแผนดีๆ กะจังหวะดีๆ ไปเลย กันพลาด ส่วนตัวอย่างภาพถ่ายจาก ZenFone 5 ก็รับชมได้จากแกลเลอรี่ด้านล่างนี้ได้เลย

?

Performance

perf

ASUS ZenFone 5 มาพร้อมพลังประมวลผลจาก Intel Atom Z2560 dual-core มี Hyper Threading ทำให้เสมือนว่ามี 4 คอร์ประมวลผล ความเร็วสูงสุด 1.6 GHz พ่วงมาพร้อมกับชิปกราฟิก PowerVR SGX544MP2 ซึ่งประสิทธิภาพโดยรวมก็จัดว่าอยู่ในระดับที่ใช้งานทั่วไปได้อยู่แล้ว เท่าที่ลองทดสอบเล่นเกม Asphalt 8 พบว่าต้องปรับกราฟิกที่ระดับกลางลงมาเท่านั้นถึงจะเล่นได้ ปรับสูงสุดจะกระตุกจนเล่นไม่ได้เลย ส่วนถ้าระดับกลางก็สามารถเล่นได้พอโอเคอยู่ แต่ถ้าหากชนหรือเข้าฉากที่มีเอฟเฟ็คท์เยอะๆ อันนี้จะเห็นได้ชัดเลยว่ากระตุก ถ้าอยากเล่นอย่างสบายใจ แนะนำว่าปรับ Low ไปเลยจ้า ส่วน Cookie Run นั้นสามารถเล่นได้แบบไม่มีปัญหา ไม่ต้องปรับไปเล่นแบบสเปคต่ำด้วย คงถูกใจนักวิ่งทั้งหลายแน่ๆ จอใหญ่ภาพสวย เล่นลื่นๆ ส่วนเรื่องความร้อน เมื่อเล่นเกมหรือใช้งานหนักๆ ไปซักพัก ก็จะรู้สึกอุ่นๆ ขึ้นมาตรงบริเวณกึ่งกลางเครื่องไล่ไปถึงใต้กล้องหลัง

ในด้านการใช้งานจริง เท่าที่ทางเรารีวิว ZenFone 5 เครื่องนี้มา พบว่าเรื่องแรมที่ให้มา 1 GB ไม่ใช่ปัญหา เพราะในระหว่างการใช้งาน แรมจะเหลือว่างอยู่ราวๆ 100 – 200 MB กว่าๆ แทบจะตลอด แต่ถ้ามีงบมากพอ จะจัดรุ่นแรม 2 GB ไปเลยก็ดีครับ เหลือดีกว่าขาดล่ะนะแบบนี้ แถมมาเพิ่มเองทีหลังก็ไม่ได้ด้วย แต่ถ้าใครงบประมาณจำกัด จะจัดรุ่นแรม 1 GB ก็โอเคครับ เรื่องปริมาณแรมไม่ใช่ปัญหา

ปัญหาไม่ใช่ที่แรม ผู้ร้ายตัวจริงอยู่ที่ CPU ต่างหาก !!!

แต่จุดที่มีปัญหา ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นที่ CPU ซะมากกว่า เพราะจากเท่าที่ใช้งาน ผมไม่เจออาการเครื่องกระตุกนะ แต่พบกับปัญหาการเรนเดอร์ภาพ การประมวลผลที่ไม่ทันใจซะมากกว่า ถ้าให้นิยามสั้นๆ ก็คือเหมือนกับ ZenFone 5 มัน “คิดช้า” ไปหน่อย เวลาเปิดแอพ ก็จะใช้เวลาในการโหลดแอพที่นานกว่ามือถือหลายๆ รุ่น บางครั้งก็ค้างที่หน้าจอสีดำ (หน้าจอระหว่างสลับไปใช้งานแอพ) ที่นิ่งไปอย่างเห็นได้ชัดซักระยะ แล้วหน้าแอพที่เรียกใช้งานถึงจะปรากฏขึ้นมา ถ้าใครที่เคยใช้งานมือถือเครื่องแรงกว่านี้มาก่อน อาจจะมีขัดใจกับ ZenFone 5 บ้างแน่ๆ การตอบสนองการสั่งงานบางครั้งก็ไม่ทันใจอย่างที่ควรจะเป็น โดยที่ในการใช้งาน แรมก็ยังเหลือว่างอยู่ตลอดเวลา ที่เห็นได้ชัดสุดก็คือการใช้งานกล้องถ่ายรูปที่เปิดใช้งานครั้งแรกก็ช้า การเก็บและประมวลผลภาพก็ใช้เวลานาน ถ้าต้องรีบหยิบมือถือมาถ่ายในช็อตสำคัญคงจะลำบากพอสมควรแน่ๆ นับว่าน่าเสียดายมากๆ ในจุดนี้ หวังว่าจะมีการอัพเดตซอฟต์แวร์ที่ออกมาแก้ไขปัญหานี้ได้ในอนาคตครับ

อีกปัญหาหนึ่งที่พบในการรีวิว ZenFone 5 เครื่องนี้ก็คือเรื่องการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ในด้านของการใช้งาน 3G จะมีบางช่วงที่โหลดข้อมูลไม่ได้ค่อยได้ ทั้งๆ ที่เครื่องอื่นที่ใช้สัญญาณเครือข่ายเดียวกัน ในเวลาใกล้เคียงกัน สามารถใช้งานได้ปกติ ส่วนการเชื่อมต่อ WiFi อันนี้หนักเลยครับ เพราะมันเกิดอาการหลุดจากการเชื่อมต่อหน้าตาเฉย ทั้งๆ ที่เปิดหน้าจอใช้งานอยู่ ไม่ได้ใช้งานโหมดประหยัดพลังงานเพื่อให้ตัดการเชื่อมต่อแต่อย่างใด บางทีผมนั่งเล่นมือถือแบบต่อ WiFi อยู่เฉยๆ โดยที่ตัว Access point ซึ่งกระจายสัญญาณ WiFi อยู่ห่างจาก ZenFone 5 ไม่ถึงหนึ่งเมตร ปรากฏว่ามือถือดันหลุดจากการเชื่อมต่อ WiFi ไปต่อ 3G หน้าตาเฉย พร้อมกับขึ้นป๊อปอัพขึ้นมาบอกว่าไม่สามารถเชื่อมต่อได้ จะเปลี่ยนไปต่อ WiFi อันอื่นมั้ย หรือจะปิด WiFi ไปเลยดี? ข้อนี้ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่เลยนะ เพราะใช้งานกับคอม, มือถือหรือแท็บเล็ตเครื่องอื่น ก็สามารถใช้งานได้ปกติสุขดี

batt

การใช้งานแบตเตอรี่ของ ASUS ZenFone 5 นั้น น่าแปลกใจที่มันก็ยังซดแบตได้ไม่แพ้ ZenFone 4 เลย จากเท่าที่ผมเริ่มถอดสายชาร์จช่วงเที่ยงๆ แล้วออกไปข้างนอก การใช้งานก็อยู่ในระดับทั่วๆ ไป เชื่อมต่อ 3G ตลอดเวลา สถานที่ที่ใช้งานก็อยู่ในแถบเส้นรถไฟฟ้า BTS ในตัวเมือง (เอกมัย – จตุจักร) ใช้แอพ Facebook, Twitter, LINE, เปิดอ่านหน้าเว็บบน Chrome, หน้าจอใช้การปรับความสว่างอัตโนมัติ ผลคือสามารถใช้งานได้แค่ 6 ชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้นเอง ถ้าวันไหนจำเป็นต้องออกนอกบ้านทั้งวัน รับรองว่าต้องพกแบตเสริม power bank ไปด้วยแน่นอน เพราะแบตในตัวเครื่องเพียวๆ คงไม่พอกับการใช้งาน ยิ่งถ้าใครมีเล่นเกม หรือแชทหนักๆ ด้วยแล้ว เตรียมหา power bank กับสายชาร์จไว้พกออกนอกบ้านได้เลย

Overall

Review-Asus-Zenfone-5-SpecPhone 030

ก็ผ่านไปแล้วนะครับสำหรับรีวิว ASUS ZenFone 5 จากเรา หลายๆ ท่านคงได้เห็นกันไปแล้วว่า ZenFone 5 เป็นอย่างไร จุดไหนดี จุดไหนเด่น จุดไหนที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ซึ่งจะว่าไปแล้ว จุดที่เป็นปัญหามันก็ยังคงเป็นจุดเดิมที่พบมาใน ZenFone 4 เช่นเรื่องการวางปุ่มกดด้านล่าง เรื่องปัญหาจุกจิกเล็กๆ น้อย ซึ่งหลายจุดนั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับปรุงซอฟต์แวร์ ตรงนี้ก็หวังว่าจะได้รับการแก้ไขจาก ASUS โดยเร็วแล้วกันนะ

ส่วนจากประเด็นที่ยกไปในข้างต้น ถึงสาเหตุที่น่าจะยอมเพิ่มเงิน 2,000 บาทจาก ZenFone 4 มาเป็น ZenFone 5 (แรม 1 GB) ก็คงได้เห็นกันไปแล้วถึงสิ่งที่ได้รับเพิ่มเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น สวยขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขนาดเครื่องที่จับได้ถนัดมือยิ่งขึ้น ประสิทธิภาพที่แตกต่างจากรุ่นเล็ก และที่ชัดเจนที่สุดก็คือเรื่องกล้องถ่ายรูป ที่มีเทคโนโลยี PixelMaster เพิ่มเข้ามา ทำให้สามารถเก็บภาพในสภาพแวดล้อมที่มีแสงน้อยได้ดีอย่างเห็นได้ชัด แถมยังมาพร้อมกับโหมดกล้องที่น่าสนใจหลายๆ โหมดอีก เพียงเท่านี้ก็น่าจะคุ้มกับเงิน 2,000 บาทที่น่าจะจ่ายเพิ่มขึ้นมาแล้วล่ะนะ ส่วนข้อสงสัยที่ว่า จะเลือก ZenFone 5 รุ่นแรม 2 GB ดี หรือจะแค่ 1 GB ก็พอ ลองไปอ่านต่อได้จากบทความนี้เลยครับ

ข้อดี

  • จอสวย คมชัด มุมมองภาพกว้างพอสมควร
  • ราคาคุ้มค่ามากๆ
  • ตัวเครื่อง งานประกอบจัดอยู่ในเกณฑ์ดีเลย
  • รองรับ 3G ทุกเครือข่ายทั้งสองช่องซิม
  • กล้องหลังให้ภาพที่มีคุณภาพดี ทั้งยังมี PixelMaster ช่วยให้ถ่ายภาพในที่มีแสงน้อยได้ดีกว่ามือถือหลายๆ รุ่นในช่วงใกล้เคียงกัน

ข้อสังเกต

  • ยังคงซดแบตเอาเรื่อง ถ้าเปิดใช้งานเครื่องติดต่อกัน เปอร์เซ็นต์แบตลดฮวบๆ เลย
  • ยังมีปัญหาจุกจิกด้านซอฟต์แวร์อยู่
  • ปุ่มกดด้านล่างทั้งสามปุ่มอยู่ห่างกันเกินไป

Screen Shot 2014-06-01 at 8.40.04 PM

ส่วนถ้าเทียบกับมือถือรุ่นอื่นๆ ในราคาไม่เกิน 5,000 บาท ก็ต้องบอกว่าตัวคุ้มสุดคงหนีไม่พ้น ASUS ZenFone 5 นี่ล่ะครับ เพราะรุ่นอื่นๆ นั้นเห็นความแตกต่างในเรื่องสเปคชัดเจนมากๆ ทั้งเรื่องของหน้าจอ, ความละเอียดหน้าจอ, แรม, กล้องถ่ายรูปและแบตเตอรี่ที่ ZenFone 5 (แรม 1 GB) ชนะขาดลอยไปเลย

Gallery

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก